Skip to main content

วันศุกร์ที่ผ่านมา (20 กพ. 58) ผมไปร่วมกิจกรรม 4 กิจกรรมด้วยกัน ทั้งหมดเกี่ยวกันบ้าง ไม่เกี่ยวกันบ้าง แต่อยากเล่าให้ฟังว่ามันชวนคิดและชวนตกใจมากทีเดียว 

(1) ความสุข 

ตอนสายๆ ผมฝ่าลมหนาว -20 เซลเซียสไปพบนักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่ง เขาเป็นคนม้งอเมริกัน มาขอสัมภาษณ์เพื่อเป็นการบ้านวิชาภาษาไทยที่เขาเรียนอยู่ เขาทำรายงานสั้นๆ เรื่อง "ความสุข" นักศึกษาคนนี้ถามผมไม่กี่คำถาม แต่เป็นคำถามที่ตอบยากมากเลย เขาถามว่าความสุขคืออะไร ความสุขของคุณคืออะไร ตอนนี้มีความสุขหรือยัง คิดว่าความสุขของแต่ละคนแตกต่างกันหรือไม่  

ผมตอบไปว่า ก็อย่างที่ผมเป็นอยู่ตอนนี้แหละ ผมถือว่ามีความสุขแล้ว เขาถามต่อว่า แล้วคนที่เข้าหาศาสนาหรือมีครอบครัวแล้วมีลูกล่ะ คิดว่าเป็นความสุขไหม ผมก็ตอบว่า ก็แล้วแต่เขาสิ ความสุขแต่ละคนก็คงแตกต่างกัน บางทีเราก็คิดว่าชีวิตคนอื่นมีความสุข ชีวิตเราไม่มีความสุข ผมบอกเขาไปอีกว่า บางทีคนที่คิดถามเรื่องความสุขคงเป็นคนที่มีเวลาว่างมากๆ คนทำงานหนัก คนหาเช้ากินค่ำคงมีความสุขแบบของเขาที่ไม่ได้มาคิดอ่านเป็นระบบ แค่มีความสุขประจำวัน ได้ดูหนัง ดูละคร ได้กินของอร่อย หรือไม่ก็ความสุขรายปี ได้หยุดตรุษจีน สงกรานต์ ปีใหม่ นานๆ ได้พบเพื่อนฝูง พบญาติที่น้องที เขาก็พอใจแล้วก้ได้ 

บางคนอาจตั้งเป้าชีวิตไว้อย่างหนึ่ง แต่อาจไม่มีความสุขสักทีเพราะไม่สามารถบรรลุเป้าได้สักที อย่างคนที่อยากรวย ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะรวยสักที เขามั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ไม่หยุดสร้างความมั่งคั่ง เขาก็อาจไม่มีความสุขกันสักที บางทีความสุขก็เป็นเรื่องการมองชีวิตคนอื่น ผมบอกเขาไปว่า อย่างคนอยู่ในเมืองบางคนก็มองว่าชีวิตบนดอย ชีวิตชนบทมีความสุข ส่วนคนบนดอยบางคน คนชนบทบางคน ก็มองว่าชีวิตชาวเมืองมีความสุข คนสองกลุ่มก็อาจมีความสุขเมื่อได้มาอยู่ในที่ที่พวกเขาคิดว่าดีสักชั่วระยะหนึ่ง แต่เมื่อตั้งใจจะอยู่จริงๆ ก็ไม่มีความสุข 

(2) อาวุธอวกาศ

ตอนเที่ยง เหมือนทุกเที่ยววันศุกร์ มีรายการ "ศุกร์เสวนา" ของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา วันศุกร์นี้ผมไปฟังบรรยายของนักประวัติศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่ง เขาศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เฮโรอีนมาก่อน เชี่ยวชาญเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และการเมืองอเมริกัน สนใจความรุนแรงโดยรัฐ ความรุนแรงทางการเมือง ล่าสุดเขากำลังเขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีสงครามของสหรัฐอเมริกา เขาแบ่งยุคการสงครามของสหรัฐฯ ตามเทคโนโลยีออกเป็นสี่ยุค  

หนึ่ง คือยุคแรกรเิ่มใช้เทคโนโลยีในปลายศตวรรษที่ 19 ในสงครามในฟิลิปปินส์ ตอนนี้ผมฟังไม่ค่อยถนัดเพราะง่วง สอง คือช่วงสงครามเวียดนาม ตอนนี้ผมหูผึ่งหน่อยเพราะสนใจเรื่องเวียดนามอยู่แล้ว เป็นการใช้เทคโนโลยีการคำนวนทางสถิติและมีเครื่องมือไฮเทคหลายอย่าง สาม คือยุคปัจจุบันที่ใช้การโจมตีทางอากาศ การหาเป้าที่แม่นยำ และเทคโนโลยีโดรน ซึ่งที่จริงสหรัฐฯ พัฒนามาตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนามแล้ว สี่ คือเทคโนโลยีอวกาศ ที่พัฒนาเครือข่ายดาวเทียม การแข่งกันระหว่างหรัฐฯ กับจีน ในการสร้างดาวเทียมและเครือข่ายเคเบิลที่ทั้งเพื่อโจมตีและป้องกัน และพร้อมที่จะทำงานแทนที่กันทันที 

ข้อสรุปของนักประวัติศาสตร์คนนี้น่าสนใจมากตรงที่ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชัดเจนว่าทั่วโลกสร้างอำนาจแบบใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า อำนาจอธิปไตย (sovereignty) ซึ่งป้องกันการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก แต่สิ่งที่สหรัฐอเมริกาและประเทศมหาอำนาจกำลังทำกันในขณะนี้คือการสร้างอำนาจข้ามอำนวจอธิปไตยเหล่านี้ เป็นเหมือนการสร้างจักรวรรดิผ่านอำนาจทางเทคโนโลยีระดับสูงที่มีอำนาจทำล้ายล้างแม่นยำและทรงพลังด้วย  

แม้หลายคนจะเห็นว่าเรื่องนี้ก็ดูเหมือนรู้ๆ กันอยู่ แต่ผมว่าการที่นักประวัติศาสตร์แท้ๆ มาทำวิจัยเรื่องแบบนี้ แล้วเชื่อมประเด็นไปยังการเมืองโลกในปัจจุบัน แล้วลากกลับไปในอดีตให้เห็นความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ แบบที่มีหลักฐานหนาแน่น เป็นเรื่องแปลกใหม่มากทีเดียว 

(3) สงครามลับ 

ตกบ่าย เดิมทีผมรับหน้าที่ฉายภาพยนตร์ในห้องเรียน "มานุษยวิทยาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่อาจารย์คนหนึ่งฝากไว้ แล้วอาจารย์อีกคนหนึ่งก็จะมาบรรยายต่อ แต่อาจารย์ที่จะมาบรรยายต่อขอเปลี่ยนโปรแกรม ขอบรรยายคนเดียวเต็มๆ เลย ผมก็เลยได้โอกาสนั่งฟังบรรยายของอาจารย์ท่านนี้ เป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจมาก เขาบรรยายประกอบภาพถ่ายที่น่าตกใจหลายภาพเรื่อง "สงครามลับหลังสงครามลับ" ในลาว คำบรรยายช่วยให้เข้าใจเรื่องหลายๆ เรื่องมากยิ่งขึ้น และล้วนเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินใครที่ไหนพูดถึงอย่างเป็นระบบจากงานวิจัยที่ละเอียดครอบคลุมอย่างนี้มาก่อน 

ผมขอเล่าแค่สั้นๆ เพราะเป็นงานที่อาจจะยังไม่ได้มีการเผยแพร่ดีนัก และหากเล่ามากผมอาจจะลำบากไปด้วยเพราะจะกระทบใครหลายคนมาก แต่เรื่องนี้น่าจะเป็นวิทยานิพนธ์ของอาจารย์คนนี้มาก่อน เขาเล่าถึงกองกำลังติดอาวุธที่ทำสงครามกองโจรพยายามโค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของลาว กองกำลังเหล่านี้ปฏิบัติการอย่างแข็งขัน มากบ้างเล็กบ้าง ตั้งแต่หลังสหรัฐฯ ถอนทหารในปี 1975  

กองกำลังเหล่านี้มีหลายกลุ่ม ที่ใหญ่ๆ มีสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งพัฒนามาจากกลุ่มที่เคยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ มีเป้าหมายฟื้นฟูประเทศลาวแบบเก่า อีกกลุ่มมีเป้าหมายสร้างรัฐใหม่ขึ้นมาของคนกลุ่มหนึ่ง กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศ นอกจากนั้นยังมีกองกำลังย่อยๆ อีกมากมาย ทั้งที่สร้างกันขึ้นมาเองโดยมีฐานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และที่ได้รับการสนับสนุนจากบางประเทศในยุโรป  

จนกระทั่งปี 1989 ที่รัฐบาลชาติชายมีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า กองกำลังเหล่านี้ทั้งหมดทุนไปเองและต้องเลิกไปเพราะผู้นำถูกล่าสังหารด้วยการร่วมมือกันของรัฐบาลมากกว่าหนึ่งประเทศ ในสหรัฐฯ บางกลุ่มยังเคลื่อนไหวอยู่จนกระทั่งในทศวรรษ 2000 ก็ยังมีบางกลุ่มมีปฏิบัติการทางทหารอยู่  

ฟังเรื่องนี้แล้วนอกจากเข้าใจอะไรมากขึ้นยังทำให้ได้ภาพประเทศลาวที่แทบจะไม่ต่างจากพม่า ที่กลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ มีกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลมากมาย 

(4) แคปิตะลิสม์ 

ตกเย็น ผมนัดเจอกับนักศึกษาปริญญาเอกชาวอเมริกันผิวขาวคนหนึ่ง เขากำลังสนใจอ่าน "แคปิตะลิสม์" ของสุภา ศิริมานนท์ เขาให้ผมช่วยอ่านและถกเถียงกับเขา อ่านกันมาได้ไม่มากหน้านัก ผมตั้งใจว่าหากอ่านจบหรือใกล้จบก็ว่าจะเขียนอะไรบันทึกไว้สักหน่อยว่าได้อะไรบ้าง 

ที่น่าสนใจคือ เมื่ออ่านหนังสือภาษาไทยที่ซับซ้อนกับคนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา แล้วก็ได้คิดกับภาษาตัวเองมากขึ้น แล้วทำให้การอ่านมีรสชาติอีกแบบหนึ่ง คำบางคำที่ไม่เคยสนใจจริงจังหรือบางทีมองข้ามไปเนื่องจากอ่านเร็วๆ เพราะถือว่าเป็นเจ้าของภาษา แต่เมื่อต้องมาอธิบายให้คนต่างภาษาฟัง ก็กลับต้องคิดมากขึ้น ยิ่งเป็นคำศัพท์ทางวิชาการและคำศัพท์ประดิษฐ์ประดอยของนักเขียนรุ่นสุภา ยิ่งมีคำยากหลายคำ 

ผมอ่านหนังสือนี้กับนักศึกษาคนนี้มาได้สักเดือนกว่าแล้ว แต่ด้วยวิธีอ่านอย่างละเอียด ขณะนี้จึงไปได้แค่เพียง 2 บทเท่านั้น แต่ก็มีอะไรสนุกมากมาย เช่นวันนี้ อ่านแล้วเกิดคำถามมากมายว่า ทำไมสุภาจึงเลือกเขียนถึงสังคมทุนนิยมในสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นในอังกฤษอย่างที่มาร์กซ์สนใจ สงสัยต่อไปว่ามาร์กซ์เขียนถึงสหรัฐฯ อย่างไร แค่ไหน มาร์กซิสต์ยุคแรกๆ เขียนถึงสหรัฐฯ เมื่อไหร่ อย่างไร นึกได้คนเดียวคือกรัมชีที่วิเคราะห์ Fordism อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก แล้วในสมัยที่สุภาเขียนหนังสือเล่มนี้ เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมอะไร เขาเริ่มเห็นอิทธิพลของสหรัฐฯ จึงเขียนถึงหรือ หรือว่ามีบริบททางวิชาการอะไร  

แล้วการเขียนถึงสหรัฐฯ ของสุภากยังน่าสนใจที่ว่า เขาเลือกเขียนถึง "กำเนิด" ประเทศสหรัฐฯ โดยเชื่อมการค้าทาสกับกำเนิดทุนนิยมในสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากการขยายพลังการผลิตจากยุโรป ประเด็นที่น่าสนใจในคำอธิบายพัฒนาการประวัติศาสตร์สายเดี่ยวเส้นตรงแบบมาร์กซ์คือ จะเข้าใจ "การค้าทาส" แบบสหรัฐฯ อย่างไร แล้วสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เป็นสังคมที่ค่อยๆ วิวัฒนาการมาเป็นลำดับแบบยุโรปแบบที่มาร์กซ์ศึกษา ทำให้การอธิบายสหรัฐฯ ก็ไม่ต่างจากรัสเซียหรือจีน ที่เป็นสังคมก้าวกระโดด ไม่ได้มีสังคมฟิวดัลมาก่อน ไม่ได้ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วจึงเป็นสังคมทุนนิยม แล้วกลับมีทาสมาคั่นกลาง นี่ทำให้งานของสุภาดูมี originality ขึ้นมาทีเดียว 

จบวันศุกร์ จากเรื่องความสุข จักรวรรดิ์นิยมใหม่กับเทคโนโลยีสงคราม ไปถึงเรื่องสงครามกองโจรหลังยุคสงครามเวียดนาม แล้วจบวันด้วยประวัติศาสตร์นิพนธ์มาร์กซิสม์ของสุภา ทำให้ผมก็ยังงงไม่หายว่าวันนี้ทำไมเกิดเรื่องราวแปลกใหม่ไม่ปะติดปะต่อกันมากนัก แต่ทั้งหมดก็ทำให้มองโลกเปลี่ยนไปไม่น้อยทีเดียว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้