Skip to main content

สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน

แต่เร็วๆ นี้ได้ฟังบรรยายของนักมานุษยวิทยาหญิงแกร่งเก่งกาจที่เชี่ยวชาญเรื่องพม่า ฉาน ไทย คนหนึ่ง ชื่อเจน เฟอร์กูสัน เมื่อเธอผ่านมายังมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เธอเล่าเรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับคติชนในสนามบิน การบิน เครื่องบิน แล้วก็ทำให้มองการบินเปลี่ยนไปบ้าง 

นักมานุษยวิทยาหรือนักภูมิศาสตร์หรือนักประวัติซาสตร์ศิลป์ที่สนใจสถาปัตยกรรม แล้วไปศึกษาสนามบิน มักเสนอว่า สนามบินเป็นพื้นที่กลางๆ เป็นที่ซึ่งคนหลากหลายพบปะกันแบบแทบจะไร้ตัวตน เป็นที่ที่คนไม่รู้สึกรู้สากับความหมายเฉพาะของมัน เป็นที่ซึ่งคนไม่ผูกพันด้วย นักต่างๆ เหล่านี้บางคนจึงนับพื้นที่อย่างสนามบินว่าเป็น ที่ไม่ใช่ที่ หรือ non-space แต่เฟอร์กูสันไม่เห็นด้วย 

แม้การบินจะเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด แต่ก็ดูจะเป็นการเดินทางที่คนกลัวมากที่สุด แล้วแต่ละสังคมก็แสดงความกลัวนั้นออกมาต่างกัน นั่นคือคำถามใหญ่คำถามหนึ่งของงานวิจัยนั้น 

เรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับการบินจึงมีทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เรื่องยูเอฟโอ เรื่องเล่าต่อเนื่องจาก 9/11 จนกระทั่งเรื่องผีในสนามบิน เรื่องเหตุเครื่องบินตกแบบลึกลับ เรื่องสารพัด หังไปฟังมาแล้วก็ให้สงสัยว่า ทำไมนักวิชาการแถวบ้านเราถึงไม่หาหัวข้อวิจัยเท่ๆ แบบนี้ทำกันมั่งนะ 

ผมว่า ที่จริงความกังวลจากการบินคงไม่ใช่มีแค่กลัวอุบัติเหตุ แต่ยังมีความกังวลอื่นๆ กลัวตกเครื่องบิน กลัวลืมบัตรประจำตัว กลัวกระเป๋าน้ำหนักเกิน กลัววีซ่าไม่ผ่าน กลัวเข้าเมืองไม่ได้ กลัวกระเป๋าหาย กลัวต่อเคนื่องบินไม่ทัน กลัวหาประตูทางออกไม่เจอ 

นอกจากความกลัว แต่ละคนคงมีเรื่องเล่าขำๆ ขื่นๆ แปลกๆ เปิ่นๆ เกี่ยวกับการบินมากมาย รวมทั้งเรื่องราวเฉพาะถิ่นของสนามบิน ตลอดจนลูกเรือและการบริการบนเครื่องบิน  

ประสบการณ์หนึ่งที่ผมคงจดจำไปไม่ลืมคือการต่อเครื่องบินที่บินจากบอสตัน ไปแมดิสัน ที่ต้องต่อเครื่องที่ซินสิเนติ เนื่องจากเครื่องที่ออกจากบอสตันบินจากที่อื่นมาถึงช้า ผมก็เลยมีเวลาแค่ 15 นาทีเมื่อเครื่องลงจอดกับเวลาที่อีกเครื่องหนึ่งจะออก เมื่อตัดเวลาจัดการต่างๆ แล้ว ก็เหลือเวลาวิ่งจากเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่งเพียง 5 นาที  

พอเครื่องลงจอดปุ๊บ มีคนอยู่ในสถานการณ์เดียวกันสัก 10 กว่าคนได้ กัปตันประกาศว่าใครไม่รีบให้นั่งรอก่อน ผู้คนที่เดินทางบ่อยคงรู้ คนไม่รีบก็ยังไม่ลุก คนลุกขึ้นยืนมองหน้ากันเหมือนจรดมือเข้าเส้นเตรียมวิ่งร้อยเมตรพร่อมคว้ากระเป๋า เมื่อประตูเครื่องเปิด สิบกว่าคนนั้รก็กรูกันออกไปคนละทิศคนละทาง ไปสู่เส้นชัยของตนเอง ผมตาบีตาเหลือกดูทาง ดูเกต เห็นเค้าท์เตอร์ยังมีคนอยู่ บริกรให้ขึ้นเครื่องอย่างอบอุ่น แล้วก็ได้ขึ้นไปนั่งหอบบนเครื่องบิน 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบหากมีเวลาคือ หาของกินท้องถิ่นของสนามบินต่างๆ กรณีนี้จะชัดเจนเมื่อบินไปประเทศต่างๆ แต่ทร่จริงการบินในประเมศอย่างประเทศไทย ก็ให้ความบันเทิงเรื่องอาหารถิ่นได้เหมือนกัน ไม่เหมือนที่สหรัฐอเมริกา ที่อาหารสนามบินมักครือๆ กันจนสุดท้ายส่วนใหญ่ก็พึ่งแซนด์วิช 

อยู่เมืองไทย ถ้าบินไปหาดใหญ่ ผมก็หาซื้อลูกหยีกวนไร้เมล็ดกลับบ้าน สนามบินท่าศาลาเมืองนครฯ มีร้านอาหารใต้พอพึ่งได้อยู่ สนามยินเชียงใหม่แทบไม่มีใครเสียเวลาในสนามบิน คงเพราะใกล้เมืองจนคนมาถึงได้เร็ว แต่ก็มีร้านของฝากเชียงใหม่มากมายที่สนามบิน ทางอีสาน สนามบินอุบลฯ แม้จะดูไม่มีอะไร ร้านเล็กๆ ที่มีหมูยอร้อนๆ ขายก็มักเป็นที่พึ่งได้ ราคาก็ไม่ได้แตกต่างจากข้างนอกมากนัก 

แน่นอนว่าสนามบินนานาชาติก็มักจะมีอาหารที่คนทั่วโลกยอมกินกัน พวกไก่ทอด เบอร์เกอร์ กาแฟ แต่บางที่ก็หาของกินท้องถิ่นได้เช่นกัน อย่างที่หนึ่งที่ผมว่าเขาโปรโมตอาหารถิ่นดีที่หนึ่งคือสนามบินไทเป ที่นั่นมีอาหารจีนแบบไต้หวัน ซึ่งคงไม่ใช่มีเฉพาะที่ไต้หวัน เพียงแต่เจอมากในไต้หวัน พวกเกี๊ยวซ่า เสี่ยวหลงเปา บะหมี่เนื้อตุ๋น อาหารพวกนี้ขายราคาไม่ต่างจากข้างนอกนัก  

หรือที่มาเลเซีย สนามบินเปิดโล่งไร้เคาื่องประบอากาศของสายการยินราคาประหยัดสายหนึ่ว มีร้านอาหารถิ่นร้านหนึ่ง ที่คนท้องถิ่นหลายคนไม่ชอบนัก เพราะเป็นที่นั่งชิลของคนชั้นกลางที่ดูไม่เคร่งครัดรสนิยมนัก แต่ผมชอบบรรยากาศร้านแบบร้านน้ำชาตามย่านคนจีนสมัยก่อน โต๊ะ-เก้าอี้ไม้ พื้นกลม ปูพื้นโต๊ะ-เก้าอี้ด้วยหินอ่อน ขายชานมรสจัด มีก๋วยเตี๋ยวแปลกๆ ที่ไม่ทีทางรู้ว่าเป็นรสชาติอย่างที่คนท้องถิ่นชอบจริงไหม  

แต่ที่ขัดใจมากคือขนมปังทางเนยผสมน้ำตาลหวานเจี๊ยบ ถึงอย่างนั้นมันก็ชวนให้คิดว่า นี่คงเป็นการ "แปล" ขนมปังให้เป็นกึ่งอาหารกึ่งขนม แบบเดียวกับที่คนไทยเอามาจารีน (มาการีน) ทาขนมปังย่างเตาถ่านแล้วโรยน้ำตาล หรือเอาขนมปังไปนึ่งจนนุ่มแล้วจิ้มสังขยา หรือตักไอติมโปะขนมปัง "บัน" ที่คนอเมริกันไว้กินกับฮ็อตด็อก  

ที่เกาหลี ผมตื่นตาตื่นใจกับร้านอาหารเกาหลีซึ่งมีของกินดูดี ดูเกาหลีๆ ให้ชิมมากมาย แม้เกาหลีมักจะเป็นทางผ่าน มากกว่าเป็นปลายทางที่เคยไปเพียงครั้งเดียว ร้านอาหารที่สนามบินสำหรับต่อเครื่องก็ชวนให้สนุกลิ้นได้เช่นกัน  

ส่วนที่ญี่ปุ่น นอกจากบะหมี่และเบียร์หลายยี่ห้อแล้ว สงสัยว่าสำหรับชาวญี่ปุ่น ระหว่างเดินทางคงไม่อำนวยให้กินอาหารญี่ปุ่นที่ลึกซึ้งมากนัก ส่วนใหญ่ผมมักได้กินราเมนสักชาม กับซื้อบรรดาขนมโมจิ หรือที่เดี๋ยวนี้คนไทยมักเรียกชื่อไดฟูกุ เป็นของฝาก  

ของกินที่เป็นของฝากน่าสนุกจากญี่ปุ่นได้อีกอย่างหนึ่งคือ บรรดาปลาหมึกแห้ง ที่ช่างสรรหาวิธีดัดแปลง และหลากหลายพันธ์ุ ส่วนใหญ่ก็ไม่หนีกับที่พอจะจินตนาการได้จากในภูมิทัศน์ปลาหมึกแห้งแบบไทย เพียงแต่ไม่รู้ทำไมคนญี่ปุ่นขยันจับของขบเคี้ยวเหล่านี้ใส่ห่อพลาสติกให้ชวนชิมได้มากนัก 

อาคารสนามบิน เครื่องบินในฐานะพาหนะ ความสัมพันธ์ระหว่างคนเดินทาง ไม่ได้ว่างเปล่าชวนเหนื่อยหน่ายจนกลายเป็น ที่ไม่ใช่ที่ ไปเสียทุกที่ทุกการเดินทาง ขึ้นอยู่กับว่าคนเดินทางสื่อสารอะไรกับเส้นทาง ขึ้นอยู่กับว่าที่ระหว่างทางต่างๆ พยายามสร้างความหมายและสายสัมพันธ์ุให้สัมผัสกับผู้คนอย่างไร  

ในระหว่างการเดินทาง ผมก็แค่เขียนเพื่อหาความหมายให้กับการเคลื่อนย้ายไปมา แล้วก็ชวนให้ตนเองอยากท่องเที่ยวไปเพียงบนเส้นทาง ซึ่งต่างก็สร้างความเป็นปลายทางให้กับตัวเองไปพร้อมๆ กับการเป็นที่ผ่านทาง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้