Skip to main content

สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน

แต่เร็วๆ นี้ได้ฟังบรรยายของนักมานุษยวิทยาหญิงแกร่งเก่งกาจที่เชี่ยวชาญเรื่องพม่า ฉาน ไทย คนหนึ่ง ชื่อเจน เฟอร์กูสัน เมื่อเธอผ่านมายังมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เธอเล่าเรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับคติชนในสนามบิน การบิน เครื่องบิน แล้วก็ทำให้มองการบินเปลี่ยนไปบ้าง 

นักมานุษยวิทยาหรือนักภูมิศาสตร์หรือนักประวัติซาสตร์ศิลป์ที่สนใจสถาปัตยกรรม แล้วไปศึกษาสนามบิน มักเสนอว่า สนามบินเป็นพื้นที่กลางๆ เป็นที่ซึ่งคนหลากหลายพบปะกันแบบแทบจะไร้ตัวตน เป็นที่ที่คนไม่รู้สึกรู้สากับความหมายเฉพาะของมัน เป็นที่ซึ่งคนไม่ผูกพันด้วย นักต่างๆ เหล่านี้บางคนจึงนับพื้นที่อย่างสนามบินว่าเป็น ที่ไม่ใช่ที่ หรือ non-space แต่เฟอร์กูสันไม่เห็นด้วย 

แม้การบินจะเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด แต่ก็ดูจะเป็นการเดินทางที่คนกลัวมากที่สุด แล้วแต่ละสังคมก็แสดงความกลัวนั้นออกมาต่างกัน นั่นคือคำถามใหญ่คำถามหนึ่งของงานวิจัยนั้น 

เรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับการบินจึงมีทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เรื่องยูเอฟโอ เรื่องเล่าต่อเนื่องจาก 9/11 จนกระทั่งเรื่องผีในสนามบิน เรื่องเหตุเครื่องบินตกแบบลึกลับ เรื่องสารพัด หังไปฟังมาแล้วก็ให้สงสัยว่า ทำไมนักวิชาการแถวบ้านเราถึงไม่หาหัวข้อวิจัยเท่ๆ แบบนี้ทำกันมั่งนะ 

ผมว่า ที่จริงความกังวลจากการบินคงไม่ใช่มีแค่กลัวอุบัติเหตุ แต่ยังมีความกังวลอื่นๆ กลัวตกเครื่องบิน กลัวลืมบัตรประจำตัว กลัวกระเป๋าน้ำหนักเกิน กลัววีซ่าไม่ผ่าน กลัวเข้าเมืองไม่ได้ กลัวกระเป๋าหาย กลัวต่อเคนื่องบินไม่ทัน กลัวหาประตูทางออกไม่เจอ 

นอกจากความกลัว แต่ละคนคงมีเรื่องเล่าขำๆ ขื่นๆ แปลกๆ เปิ่นๆ เกี่ยวกับการบินมากมาย รวมทั้งเรื่องราวเฉพาะถิ่นของสนามบิน ตลอดจนลูกเรือและการบริการบนเครื่องบิน  

ประสบการณ์หนึ่งที่ผมคงจดจำไปไม่ลืมคือการต่อเครื่องบินที่บินจากบอสตัน ไปแมดิสัน ที่ต้องต่อเครื่องที่ซินสิเนติ เนื่องจากเครื่องที่ออกจากบอสตันบินจากที่อื่นมาถึงช้า ผมก็เลยมีเวลาแค่ 15 นาทีเมื่อเครื่องลงจอดกับเวลาที่อีกเครื่องหนึ่งจะออก เมื่อตัดเวลาจัดการต่างๆ แล้ว ก็เหลือเวลาวิ่งจากเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่งเพียง 5 นาที  

พอเครื่องลงจอดปุ๊บ มีคนอยู่ในสถานการณ์เดียวกันสัก 10 กว่าคนได้ กัปตันประกาศว่าใครไม่รีบให้นั่งรอก่อน ผู้คนที่เดินทางบ่อยคงรู้ คนไม่รีบก็ยังไม่ลุก คนลุกขึ้นยืนมองหน้ากันเหมือนจรดมือเข้าเส้นเตรียมวิ่งร้อยเมตรพร่อมคว้ากระเป๋า เมื่อประตูเครื่องเปิด สิบกว่าคนนั้รก็กรูกันออกไปคนละทิศคนละทาง ไปสู่เส้นชัยของตนเอง ผมตาบีตาเหลือกดูทาง ดูเกต เห็นเค้าท์เตอร์ยังมีคนอยู่ บริกรให้ขึ้นเครื่องอย่างอบอุ่น แล้วก็ได้ขึ้นไปนั่งหอบบนเครื่องบิน 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบหากมีเวลาคือ หาของกินท้องถิ่นของสนามบินต่างๆ กรณีนี้จะชัดเจนเมื่อบินไปประเทศต่างๆ แต่ทร่จริงการบินในประเมศอย่างประเทศไทย ก็ให้ความบันเทิงเรื่องอาหารถิ่นได้เหมือนกัน ไม่เหมือนที่สหรัฐอเมริกา ที่อาหารสนามบินมักครือๆ กันจนสุดท้ายส่วนใหญ่ก็พึ่งแซนด์วิช 

อยู่เมืองไทย ถ้าบินไปหาดใหญ่ ผมก็หาซื้อลูกหยีกวนไร้เมล็ดกลับบ้าน สนามบินท่าศาลาเมืองนครฯ มีร้านอาหารใต้พอพึ่งได้อยู่ สนามยินเชียงใหม่แทบไม่มีใครเสียเวลาในสนามบิน คงเพราะใกล้เมืองจนคนมาถึงได้เร็ว แต่ก็มีร้านของฝากเชียงใหม่มากมายที่สนามบิน ทางอีสาน สนามบินอุบลฯ แม้จะดูไม่มีอะไร ร้านเล็กๆ ที่มีหมูยอร้อนๆ ขายก็มักเป็นที่พึ่งได้ ราคาก็ไม่ได้แตกต่างจากข้างนอกมากนัก 

แน่นอนว่าสนามบินนานาชาติก็มักจะมีอาหารที่คนทั่วโลกยอมกินกัน พวกไก่ทอด เบอร์เกอร์ กาแฟ แต่บางที่ก็หาของกินท้องถิ่นได้เช่นกัน อย่างที่หนึ่งที่ผมว่าเขาโปรโมตอาหารถิ่นดีที่หนึ่งคือสนามบินไทเป ที่นั่นมีอาหารจีนแบบไต้หวัน ซึ่งคงไม่ใช่มีเฉพาะที่ไต้หวัน เพียงแต่เจอมากในไต้หวัน พวกเกี๊ยวซ่า เสี่ยวหลงเปา บะหมี่เนื้อตุ๋น อาหารพวกนี้ขายราคาไม่ต่างจากข้างนอกนัก  

หรือที่มาเลเซีย สนามบินเปิดโล่งไร้เคาื่องประบอากาศของสายการยินราคาประหยัดสายหนึ่ว มีร้านอาหารถิ่นร้านหนึ่ง ที่คนท้องถิ่นหลายคนไม่ชอบนัก เพราะเป็นที่นั่งชิลของคนชั้นกลางที่ดูไม่เคร่งครัดรสนิยมนัก แต่ผมชอบบรรยากาศร้านแบบร้านน้ำชาตามย่านคนจีนสมัยก่อน โต๊ะ-เก้าอี้ไม้ พื้นกลม ปูพื้นโต๊ะ-เก้าอี้ด้วยหินอ่อน ขายชานมรสจัด มีก๋วยเตี๋ยวแปลกๆ ที่ไม่ทีทางรู้ว่าเป็นรสชาติอย่างที่คนท้องถิ่นชอบจริงไหม  

แต่ที่ขัดใจมากคือขนมปังทางเนยผสมน้ำตาลหวานเจี๊ยบ ถึงอย่างนั้นมันก็ชวนให้คิดว่า นี่คงเป็นการ "แปล" ขนมปังให้เป็นกึ่งอาหารกึ่งขนม แบบเดียวกับที่คนไทยเอามาจารีน (มาการีน) ทาขนมปังย่างเตาถ่านแล้วโรยน้ำตาล หรือเอาขนมปังไปนึ่งจนนุ่มแล้วจิ้มสังขยา หรือตักไอติมโปะขนมปัง "บัน" ที่คนอเมริกันไว้กินกับฮ็อตด็อก  

ที่เกาหลี ผมตื่นตาตื่นใจกับร้านอาหารเกาหลีซึ่งมีของกินดูดี ดูเกาหลีๆ ให้ชิมมากมาย แม้เกาหลีมักจะเป็นทางผ่าน มากกว่าเป็นปลายทางที่เคยไปเพียงครั้งเดียว ร้านอาหารที่สนามบินสำหรับต่อเครื่องก็ชวนให้สนุกลิ้นได้เช่นกัน  

ส่วนที่ญี่ปุ่น นอกจากบะหมี่และเบียร์หลายยี่ห้อแล้ว สงสัยว่าสำหรับชาวญี่ปุ่น ระหว่างเดินทางคงไม่อำนวยให้กินอาหารญี่ปุ่นที่ลึกซึ้งมากนัก ส่วนใหญ่ผมมักได้กินราเมนสักชาม กับซื้อบรรดาขนมโมจิ หรือที่เดี๋ยวนี้คนไทยมักเรียกชื่อไดฟูกุ เป็นของฝาก  

ของกินที่เป็นของฝากน่าสนุกจากญี่ปุ่นได้อีกอย่างหนึ่งคือ บรรดาปลาหมึกแห้ง ที่ช่างสรรหาวิธีดัดแปลง และหลากหลายพันธ์ุ ส่วนใหญ่ก็ไม่หนีกับที่พอจะจินตนาการได้จากในภูมิทัศน์ปลาหมึกแห้งแบบไทย เพียงแต่ไม่รู้ทำไมคนญี่ปุ่นขยันจับของขบเคี้ยวเหล่านี้ใส่ห่อพลาสติกให้ชวนชิมได้มากนัก 

อาคารสนามบิน เครื่องบินในฐานะพาหนะ ความสัมพันธ์ระหว่างคนเดินทาง ไม่ได้ว่างเปล่าชวนเหนื่อยหน่ายจนกลายเป็น ที่ไม่ใช่ที่ ไปเสียทุกที่ทุกการเดินทาง ขึ้นอยู่กับว่าคนเดินทางสื่อสารอะไรกับเส้นทาง ขึ้นอยู่กับว่าที่ระหว่างทางต่างๆ พยายามสร้างความหมายและสายสัมพันธ์ุให้สัมผัสกับผู้คนอย่างไร  

ในระหว่างการเดินทาง ผมก็แค่เขียนเพื่อหาความหมายให้กับการเคลื่อนย้ายไปมา แล้วก็ชวนให้ตนเองอยากท่องเที่ยวไปเพียงบนเส้นทาง ซึ่งต่างก็สร้างความเป็นปลายทางให้กับตัวเองไปพร้อมๆ กับการเป็นที่ผ่านทาง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด