Skip to main content

สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 

ถ้าไม่นับว่างานเขียนของนักศึกษามีปัญหาตั้งแต่การตั้งโจทย์ของการศึกษาแล้ว คือถ้ายกปัญหาของการค้นคว้าวิจัยออกไปก่อน สมมติว่าคุณทำวิจัยเป็นแล้ว หรือทำยังไม่เป็นก็แล้วแต่ ขอให้เข้าใจว่า ปัญหาการเขียนเป็นคนละส่วนกับปัญหาการทำวิจัย แม้ว่ามันจะแยกออกจากกันได้ยากยิ่งนักก็ตาม ในข้อเขียนนี้ ผมอยากจะเสนอเฉพาะปัญหาของงานเขียนที่พบบ่อย  

จากประสบการณ์การอ่านงานนักศึกษาและอาจารย์ตลอดเกือบ 20 ปี ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของผม (นับดูแล้วน่าตกใจเหมือนกัน ผมเริ่มเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 28) ผมอยากจะแบ่งปันปัญหาของงานเขียนที่พบดังนี้ 

1. ปัญหาการเรียบเรียงความคิด  

ปัญหานี้เห็นได้จากการเขียนโดยไม่แบ่งย่อหน้า นักศึกษาจำนวนมาก แม้ในระดับปริญญาโทหรือเอก หรือนักศึกษาต่างประเทศในประเทศที่การอุดมศึกษาดีมากก็ตาม บางคนก็เขียนแบ่งย่อหน้าไม่เป็น รายที่เลวร้ายที่สุดที่ผมเคยเจอคือ เขียนเรียงความยาว 5 หน้าโดยไม่แบ่งย่อหน้าเลย 

หากใครจำคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ตั้งแต่เด็ก ๆ ได้ก็จะทราบว่า การเขียนเรียงความต้องแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บทนำ เนื้อหา และบทสรุป ในส่วนของเนื้อหา หากมีประเด็นอภิปรายหลายประเด็น แต่ละประเด็นก็ควรจะแบ่งออกเป็นย่อหน้า  

นอกเหนือการรูปแบบการนำเสนอ ผมบอกนักศึกษาเสมอว่าการแบ่งย่อหน้าแสดงการจัดระบบความคิด แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนแยกแยะประเด็นที่นำเสนออย่างชัดเจน หากจะเรียนการเขียนงานวิชาการจากนักวิชาการอาชีพ บทความที่ดีให้ดูประโยคแรกของแต่ละย่อหน้า จะเป็นประโยคที่สรุปใจความสำคัญของย่อหน้า ถ้าอ่านตามแค่ประโยคแรกไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นเค้าโครงของงานทั้งหมด แต่หากจะเข้าใจว่า เค้าโครงนั้นได้รับการอธิบาย ถูกให้เหตุผล ให้ข้อมูลสนับสนุน ได้รับการขยายความให้น่าเชื่อถืออย่างไร ก็ต้องอ่านเนื้อความรายละเอียดของแต่ละย่อหน้า  

ฉะนั้น งานเขียนทางวิชาการจึงต้องเริ่มด้วยการวางเค้าโครง แล้วแตกแต่ละประเด็นใหญ่เป็นประเด็นย่อย ๆ หากแต่ละประเด็นย่อยมีรายละเอียดมาก ก็แตกลงเป็นประเด็นย่อย ๆ อีก แต่ละประเด็นเหล่านั้นก็จัดแบ่งเป็นส่วนๆ ตามประเด็นใหญ่ ส่วนประเด็นย่อย ๆ ก็เรียบเรียงเป็นย่อหน้าย่อย ๆ ลดหลั่นกันไป 

ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่ผมพบในงานเขียนของนักศึกษา เช่น การไม่เข้าใจรูปแบบการประพันธ์ทางวิชาการ เช่นว่า แยกไม่ออกระหว่างบทคัดย่อ บทนำ และบทสรุป หรือไม่เข้าใจว่าจะเขียนบททบทวนวรรณกรรมอย่างไร เขียนบททบทวนทฤษฎีอย่างไร ตลอดจนปัญหาการการอ้างอิง ระบบการอ้างอิง การใช้ภาษา การใช้คำ การใช้เครื่องหมายวรรคตอน รูปแบบฟอนต์และการจัดวางหน้ากระดาษ ฯลฯ นี่ยังไม่นับว่า ในการเขียนงาน ethnography ทางมานุษยวิทยาปัจจุบันยังมีบทพรรณนาหลายแบบ เช่น การเล่าสถานที่ การเล่าบุคคลิกคน การใช้คำเรียกคน ฯลฯ 

2. ปัญหาแนวการประพันธ์ทางวิชาการ  

นักศึกษาไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกฝึกให้อ่านและเขียนงานวิชาการมากพอ จึงไม่คุ้นเคยและไม่เข้าใจวิธีการเขียนหลายๆ แบบ  

งานเขียนทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มี "genre" หรือแนวการประพันธ์หลายแบบ นี่ผมกำลังพูดถึงเฉพาะงานเขียนที่อยู่ในขนบแบบ realism คือประจักษ์นิยม ซึ่งเป็นแบบงานประพันธ์ส่วนใหญ่ของงานวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เท่านั้นนะครับ ยังไม่ได้พูดถึงแนวการเขียนแบบนอกลู่นอกทางเป็นแนวทดลองอะไร (หากมีเวลาและหากจำได้ว่าได้ทิ้งประเด็นนี้ไว้ค่อยว่ากัน) แต่ถึงอย่างนั้น ในผลงานชิ้นเดียวกันนั้นก็ยังอาจประกอบไปด้วยหลายแนวการประพันธ์ 

ยกตัวอย่างเช่น บทคัดย่อ บทนำ บทสรุป สามบทนี้อาจจะดูคล้าย ๆ กัน หากแต่ว่า แต่ละบทจะ "สรุป" อะไรแตกต่างกัน โดยทั่ว ๆ ไปผมใช้หลักดังนี้ 

- "บทคัดย่อ" ต้องบอกคำถามหรือโจทย์หลักหรือสาระหลักของบทความ ควรสรุปได้ประโยคเดียว จากนั้นต้องบอกกรอบการศึกษาหรือทฤษฎีที่ใช้อย่างละประโยค บอกวิธีการศึกษา และบอกว่าเค้าโครงหลักของบทความอีกอย่างสังเขป  

- "บทนำ" อาจจะเท้าความถึงความสำคัญของประเด็นที่จะเขียนถึง บอกข้อเสนอของบทความพร้อมอธิบายเหตุผลสั้นๆ แล้วบอกเค้าโครงของบทความ ซึ่งสามารถขยายความออกมาจากบทคัดย่อได้  

- "บทสรุป" ไม่ใช่แค่สรุปเนื้อหา แต่ต้องกลับมาสร้างข้อถกเถียงทางทฤษฎี ถกเถียงกับโจทย์ที่ตั้งไว้ และสรุปให้เห็นว่าบทความนี้ให้อะไรเพิ่มเติมไปจากที่เคยศึกษากันมาแล้วบ้าง 

สำหรับบทพรรณนานั้น ก็ยังมีแนวการประพันธ์หลายแบบ เช่น "ข้อถกเถียงทางทฤษฎี" กับ "การทบทวนวรรณกรรม" แม้จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็แตกต่างกันอย่างสำคัญที่วัตถุประสงค์ นั่นคือ การทบทวนทฤษฎีทำเพื่อให้รู้ว่าเราวางกรอบการศึกษาของเราอย่างไร วางอยู่ตรงไหนในโลกของข้อถกเถียงเรื่องนี้ ส่วนการทบทวนวรรณกรรมทำเพื่อให้รู้ว่า เราจะทำอะไรที่แตกต่างหรือเสริมเพิ่มเข้าไปในกลุ่มงานที่ทำเรื่องเดียวกันอยู่แล้วอย่างไร 

"บทความทบทวนความรู้" (review article) กับ "บทความวิจัย" (research article) มีความแตกต่างกัน แต่ผมไม่ได้ใช้หลักการแบ่งแบบที่หน่วยราชการไทยใช้ เพราะชาวโลกเขาไม่ใช้วิธีนี้กัน ถ้าอยากรู้ว่าชาวโลกเขาเขียน review article กันอย่างไร ก็ให้ไปหาบทความจากวารสารที่มีชื่อขึ้นต้นด้วย annual review of อะไรก็แล้วแต่ตามแต่สาขาที่คุณสนใจ ก็จะได้แนวทางการเขียน หลักสำคัญคือ การเข้าใจความเป็นมาและตื้นลึกหนาบางของความรู้ในประเด็นที่เราสนใจอยู่ แต่ว่าสัดส่วนของบททบทวนวรรณกรรมที่เขียนในบทความวิจัย กับสัดส่วนในงานวิจัยขนาดใหญ่อย่างวิทยานิพนธ์ ย่อมต่างกัน 

ส่วนบทความวิจัย ปัจจุบันนี้สิ่งหนึ่งที่ผมเบื่อหน่ายและไม่อยากเป็น reviewer งานบทความวิจัยของวารสารไทยอีกต่อไปก็เพราะวิธีการเขียนรายงานการวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเข้ามาครอบงำการเขียนบทความวิจัยในวารสารภาษาไทย อิทธิพลนี้มากเสียจนงานเขียนทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์หมดเสน่ห์เฉพาะตัวไปเลย  

งานเขียนแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ หรือ hard sciences มักแยกข้อมูลออกจากบทวิเคราะห์ นำเสนอข้อมูลก่อนแล้วค่อยเสนอบทวิเคราะห์หรือข้อค้นพบ แต่การเขียนทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเชื่อในคนละหลักปรัชญาความรู้กัน วิธีการเขียนจึงต้องนำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กัน แล้วจึงค่อยๆ ยกระดับการวิเคราะห์ให้นำไปสู่การสังเคราะห์ความรู้ขึ้นมาจนสามารถตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้แต่แรก หรือสามารถบอกเล่า อธิบายรายละเอียด จนนำมาสู่ข้อสรุปที่เราเสนอไว้แต่แรกได้ในที่สุด  

ถ้าถามว่า สิ่งที่ชาวโลกเขาทำกัน ทำไมเราไม่ทำ ข้อนี้สันนิษฐานอย่างปรามาสได้ว่า เพราะผู้ใหญ่ที่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยไม่รู้ว่าชาวโลกปัจจุบันเขาทำกันอย่างไร หากพวกท่านไม่ได้ไปเสนอผลงานวิชาการต่อชาวโลกมานานแล้ว ไม่ได้พิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับโลกมานานแล้ว พวกท่านเหล่านั้นก็คงไม่ได้อ่านงานวิชาการของชาวโลกมานานแล้ว ก็จึงไม่รู้ว่าวิธีที่พวกท่านกำหนดให้นักวิชาการผู้น้อยเดินตามนั้น มันตกยุคตกสมัยไปแค่ไหน มันผิดขนบความรู้ไปแค่ไหน จริงหรือเปล่าลองไปค้นหาดูว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นเป็นใครกัน 

หากจะเรียนรู้วิธีการเขียนเหล่านี้ให้ดี นักศึกษาก็ต้องอ่านให้มาก แล้วไม่ใช่อ่านเฉพาะเนื้อหา แต่อ่านรูปแบบด้วย อ่านแนวการประพันธ์ด้วย อ่านขนบการเขียนงานวิชาการด้วย 

3. ปัญหาการอ้างอิง  

ปัญหานี้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่พอ ๆ กับปัญหาการเรียบเรียงบทความเลยทีเดียว หากไม่เข้าใจว่ามีอะไรบ้างที่ต้องอ้าง แล้วทำไมต้องอ้างอิง ก็จะไม่เข้าใจการอ้างอิง 

มีอะไรบ้างที่ต้องอ้างอิง มีอะไรบ้างที่พูดลอย ๆ โดยไม่ต้องอ้างใครก็ได้ หลักการง่ายๆ ข้อหนึ่งคือ ข้อความหรือความรู้อะไรที่ "รู้กันทั่วไปแล้ว" เช่น "สังคมมีสถานะบางอย่างแตกต่างจากปัจเจกบุคคล" "ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียที" ประโยคเหล่านี้เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว เป็นความเห็นทั่ว ๆ ไปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอ้างว่าใครพูดก็ได้  

แต่ประโยคประเภทที่ว่า "สังคมมีลักษณะเชิงโครงสร้าง" ข้อนี้อาจจะต้องอ้าง Emile Durkheim เพราะมีแนวคิดที่แย้งทัศนะอย่างนี้แบบตรงไปตรงมา เช่นทัศนะแบบ symbolic interactionism ที่จะแย้งว่า "สังคมเป็นผลมาจากการตีความกันและกันของคู่ปฏิสัมพันธ์แล้วปรับบทบาทกันไปเรื่อย ๆ" หรือบอกว่า "มนุษย์ล้วนมีความขัดแย้งในจิตใจระหว่างแรงปรารถนาทางเพศกับแรงกดทับครอบงำจากสังคม" ข้อนี้ก็ต้องอ้าง Freud เพราะมีคนเห็นเป็นอย่างอื่น เช่น Gille Deleuze เห็นว่า "แรงปรารถนาเป็นรากฝอยที่เลื้อยไปได้เรื่อย ๆ"  

แต่นั่นคือ statement ทางทฤษฎีใหญ่ ๆ ยังมีข้อความที่บางครั้งเป็นความเห็นหรือข้อสรุปย่อย ๆ ต่อปรากฏการณ์บางอย่างหรือต่อการตีความเรื่องบางเรื่อง เช่น "ความขัดแย้งในประเทศไทยขณะนี้มีที่มาจากความกังวลต่อภาวะเปลี่ยนผ่านของอำนาจชนชั้นนำ" ทัศนะทำนองนี้เป็นข้อเสนอที่ยอมรับกันในระดับหนึ่ง แต่ยังสามารถถกเถียงได้ว่าถูกต้องแค่ไหน หรือมีนำ้หนักมากน้อยแค่ไหน หากคุณเขียนข้อความลักษณะนี้ ก็ต้องบอกที่มาที่ไปว่าคิดตามใครหรือไปเอาความคิดใครมา แม้แต่เรื่องที่ผู้เขียนเองค้นคว้ามาเองในการวิจัยหรือบทความก่อนหน้านี้ หากตีพิมพ์แล้วก็ควรอ้างอิงงานตนเองด้วย 

นั่นอาจจะช่วยตอบได้บ้างว่า ทำไมจึงต้องอ้างอิง การอ้างอิงส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือหรือเพื่อให้ข้อความที่เราอ้างถึงมีความหนักแน่น หลายครั้งนักศึกษาไม่รู้ว่าควรอ้างใคร หรือแทนที่จะอ้างต้นตอความเห็นหรือความคิด ก็กลับไปอ้างใครก็ไม่รู้ที่อ้างต่อ ๆ มาอีกที ก็แสดงว่านักศึกษายังไม่ได้ค้นคว้าจนถึงต้นตอความคิดจริง ๆ  

แต่เหนือขึ้นไปกว่านั้น การอ้างอิงยังทำเพื่อเป็นการให้เกียรติ ให้เครดิต ให้ความเคารพนับถือแก่เจ้าของความคิด นี่เป็นความคิดที่ด้านหนึ่งคือการมองว่า ความรู้คือสินทรัพย์ (property) มีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่อีกประการคือความคิดที่ว่า ความรู้มีไว้ต่อยอดไปเรื่อยๆ หากไม่อ้างอิงความรู้ ก็จะไม่รู้ที่มาที่ไปและตื้นลึกหนาบางของความรู้ที่มาอยู่แล้ว พร้อม ๆ กันนั้น การอ้างอิงยังเป็นการเผื่อแผ่พร้อมกับเปิดโอกาสให้คนตรวจสอบเรา ช่วยให้คนที่มาอ่านงานเราสามารถไปค้นคว้าต่อ หรือไปตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำได้  

ในงานเขียนวิชาการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เอกสารที่อ้างอิงมักมี 2 ลักษณะคือ 1. แนวคิด 2. หลักฐานข้อมูล อันที่จริงแนวคิดก็ถือว่าเป็นหลักฐานข้อมูลได้เช่นกัน ในกรณีที่เขียนบททบทวนทฤษฎี การอ้างอิงแนวคิดก็คล้าย ๆ กับการอ้างอิงหลักฐานว่า นักคิดคนนั้น ๆ เขาพูดอย่างที่เรานำคำกล่าวเขามาหรือสรุปความคิดเขามาจริง เขาพูดเอาไว้ที่ไหน  

ข้อความที่อ้างจึงอาจมีทั้ง ข้อความที่ยกมาอย่างตรงไปตรงมาเลย (direct speech) หรือข้อความที่สรุปคำพูดมาอีกที (indirect speech) อาจสรุปจากส่วนหนึ่งของงาน ซึ่งก็ต้องระบุหน้าให้ชัดว่าจากหน้าไหนถึงหน้าไหน หรือสรุปจากทั้งเล่ม เล่มไหนบ้าง ของใคร ข้อความที่สรุปมานั้นกลายมาเป็นข้อความในผลงานของเราจากตรงไหนถึงตรงไหน ก็ต้องระบุให้ชัด 

ส่วนการอ้างถึงหลักฐานข้อมูลก็มักจะเป็นการใช้ข้อมูลที่ได้จากเอกสารทั้งที่ตีพิมพ์และไม่ตีพิมพ์แต่มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น เอกสารจากหอจดหมายเหตุ บันทึกข้อความของหน่วยราชการ ส่วนการอ้างข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในงานเขียนจากการวิจัยเชิงคุณภาพ หากผู้ให้ข้อมูลขอให้ปกปิดแหล่งที่มาของข้อมูล และผู้เขียนประเมินแล้วว่าเป็นข้อมูลที่จะนำความเสื่อมเสีย ก่อความสุ่มเสี่ยงมาสู่สวัสดิภาพของผู้ให้ข้อมูล ก็ควรปกปิด ทั้งนี้ขึ้นกับวิจารณญาณ ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป 

ทีนี้มาถึงวิธีอ้าง ข้อนี้เหมือนไม่เห็นจำเป็นต้องบอก แต่นักศึกษาก็เขียนไม่เป็นกันมากเสียจนอ่านทีไรก็หงุดหงิดทุกที หากเป็นถ้อยคำ (terms) ประโยคหรือข้อความสั้น ๆ ที่ไม่ได้เป็นคำพูดใหญ่โตที่จะต้องอธิบายยืดยาวหรือต้องทำให้เห็นชัดเจนต่างหาก ก็สามารถอ้างแทรกเข้าไปในบทพรรณนาของเราได้เลยโดยคั่นข้อความไว้ด้วยอัญประกาศ ("...") แต่หากเป็นคำพูดหรือข้อเขียนยาว ๆ ก็ต้องแยกย่อหน้าต่างหาก ทำย่อหน้าให้เป็นย่อหน้าอ้างอิงให้ชัดเจน ซึ่งก็มักใช้วิธีร่นย่อหน้าเข้ามาจากย่อหน้าปกติสัก tap หนึ่ง แล้วเมื่อกลับเข้าสู่การอภิปรายของตนเองต่อ ก็กลับมาใช้ย่อหน้าปกติ 

แล้วจะอ้างอย่างไร โดยทั่ว ๆ ไปมีการอ้างอิงสองแบบ คือ อย่างแรก เอกสารที่ใช้อ้างอิงหรือบรรณานุกรม (references หรือ bibliography) ที่จะอยู่ท้ายบทความหรือท้ายหนังสือ และ อย่างที่สอง การอ้างอิง (citation) สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน  

- อย่างแรก เป็นเอกสารทั้งหมดที่เราใช้ แต่ให้เลือกเฉพาะที่เราอ้างอิงถึงในงานจริงๆ เท่านั้น นักศึกษาบางคนเขียนวิทยานิพนธ์แล้วอ้างหนังสือที่อ่านมาทั้งชีวิตการเรียน อย่างนั้นไม่ใช่บรรณานุกรม 

- อย่างที่สอง เป็นการอ้างถึงข้อความที่เรายกมาหรือสรุปมา ให้วางตำแหน่งของการอ้างอิงอยู่ท้ายข้อความที่ยกหรือสรุปมา ไม่ใช่วางไว้ข้างหน้าหรือก่อนข้อความที่ยกมาหรือสรุปมา ข้อความที่ยกมาหรือสรุปมาสิ้นสุดประโยคตรงไหน ก็วางไว้ตรงนั้น จะได้รู้ว่า ตรงไหนแน่ที่ยกหรือสรุปมาจากคนอื่น 

ทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่องที่ดูเหมือนน่าจะรู้กันอยู่แล้วแต่นักศึกษาก็มักไม่รู้ คือระบบการอ้างอิง สำหรับบรรณานุกรม (references or bibliography) มีหลายระบบ แต่ละสถาบันการศึกษาและแต่ละวารสารหรือสำนักพิมพ์จะเลือกระบบที่ตนเองถนัดหรือนิยมชื่นชอบมาใช้ นักศึกษาต้องหาคู่มือการอ้างอิงของแต่ละแห่งมาศึกษาเพื่อปฏิบัติตาม เรื่องนี้ต้องฝึกไว้ตั้งแต่การเขียนบทความส่งในชั้นเรียน เพราะเมื่ออาชีพการงานก้าวหน้าขึ้นก็จะต้องเขียนบทความลงวารสารหรือเขียนหนังสือ ก็จะต้องทำตามข้อเรียกร้องของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดเช่นกัน  

เนื่องจากระบบการอ้างอิงค่อนข้างซับซ้อนและมีหลายสำนัก หลายระบบ เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาจึงเริ่มมีโปรแกรมจัดระบบการอ้างอิงในรูปแบบของฐานข้อมูล (database) โปรแกรมเหล่านี้มีทั้งที่เป็น open source software และ commercial software บางสถาบันมีโปรแกรมพวกนี้ให้ใช้ฟรี ข้อดีคือ หากกรอกข้อมูลที่จำเป็นลงในฐานข้อมูลแล้ว โปรแกรมก็จะมีรูปแบบการอ้างอิงของสำนักต่าง ๆ ให้เราเลือก โปรแกรมสามารถจัดให้รูปแบบของการอ้างอิงเป็นแบบที่เราต้องการได้ นอกจากนั้น ยังสามารถเก็บข้อมูลไว้ใช้ได้ตลอดเวลา ผมเองสะสมฐานข้อมูลนี้ไว้ใช้ตั้งแต่เริ่มเรียนปริญญาเอกแล้ว เมื่อไหร่ต้องอ้างอิงก็กลับไปหารายชื่อเอกสารได้ เมื่อไหร่มีเอกสารใหม่ ๆ ก็เพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูล 

ส่วนการอ้างอิง (citation) มี 2 ระบบ แบบ in-text หรือ social science citation คืออ้างแบบย่อแทรกในเนื้อหา เช่น (ยุกติ 2558: 15) กับอีกแบบคือการอ้างในเชิงอรรถ (footnote) ในบันทึกท้ายบทความ (endnote) แบบนี้มักเรียกกันว่า humanities citation จะแทรกตัวเลขอ้างอิงไว้ตรงท้ายข้อความที่ยกมาหรือสรุปมา แล้วจะมีระบบที่ค่อนข้างซับซ้อนในการเขียนถึงเอกสาร แต่หากใช้บ่อยๆ ผู้เขียนก็จะคุ้นเคยไปเอง  

ในโลกวิชาการภาษาอังกฤษ งานเขียนทางมานุษยวิทยา สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา ฯลฯ หรือแม้แต่วรรณคดีวิจารณ์และภาษาศาสตร์ มักใช้ social science citation ส่วนงานเขียนทางมนุษยศาสตร์ โดยมากคือประวัติศาสตร์ มักใช้ humanities citation แต่ในประเทศไทย ผมไม่ทราบว่าทำไมสำนักพิมพ์ต่าง ๆ มักนิยมใช้ humanities citation กันโดยทั่วไป ผมเขียนบทความทีไร ก็ต้องไปปรับระบบแทบทุกครั้งที่พิมพ์งาน เว้นแต่ในวารสารด้านสังคมศาสตร์ ที่ใช้ social science citation กันมากขึ้น 

ถ้าอ้างอิงมาก ๆ บางคนอาจสงสัยว่า แล้วตกลงความรู้เราอยู่ตรงไหน ส่วนหนึ่งวัดได้จากการประกอบความเห็นที่มาจากคนอื่น ๆ เช่น หากทบทวนทฤษฎีหรือทบทวนวรรณกรรมก็ตาม เราประกอบความเห็นจากหลาย ๆ คนแล้วสังเคราะห์ขึ้นเป็นอะไรของเราเองอย่างชัดเจนหรือไม่ หรือนำไปสู่ข้อเสนอหรือคำถามใหม่ ๆ ที่นักคิดหรือนักวิจัยก่อนหน้าเหล่านั้นยังไม่ได้เสนออย่างไร นั่นจึงจะวัดได้ว่ามีอะไรใหม่ในงานของเรา  

ฉะนั้น ประโยคที่จะต้องมีในท้ายที่สุดคือ ผู้เขียนบทความในฐานะที่เป็นประธานของการกล่าวสรุป กล่าวแสดงทัศนะ จะมีความเห็นว่าอย่างไร หากไม่มีประโยคเหล่านี้ บทความก็จะเป็นเพียงการนำเอาคำพูดคนอื่นมาวางเรียงกันโดยไม่มีข้อเสนอหรือข้อสรุปของผู้เขียนเอง

4. ปัญหาการใช้ภาษา  

นักศึกษามีปัญหาการใช้ภาษาไม่น้อยไปกว่าปัญหาอื่น ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาไทย นักศึกษาอเมริกันก็มีปัญหาไปอีกแบบของเขาเอง ที่พูดอย่างนี้เพราะอยากบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของภาษาหรือไม่ก็มีปัญหาการใช้ภาษาได้ทั้งสิ้น ข้อจำกัดของการใช้ภาษาน่าจะมาจากการอ่านหนังสือและเขียนหนังสือน้อย ภาษาที่ใช้จึงไม่เป็นภาษาเขียน ไม่เป็นภาษาทางการ ในงานเขียนของนักศึกษาบางคน แม้ว่าจะเขียนภาษาแม่ของตนเองอยู่ ก็เขียนกระทั่งราวกับเป็นคนต่างประเทศเขียนภาษาตนเองอยู่เลยทีเดียว  

ขอเริ่มที่การใช้คำ ปัญหาที่ผมพบบ่อยที่สุดคือปัญหาการใช้คำเชื่อม โดยเฉพาะคำว่า "ซึ่ง" นักศึกษาและนักวิชาการที่มีประสบการณ์การเขียนน้อย จะใช้ "ซึ่ง" โดยไม่จำเป็นบ่อยมาก ที่แย่ที่สุดคือการใช้คำนี้ขึ้นต้นประโยค หรือกระทั่งใช้คำนี้ขึ้นต้นย่อหน้าใหม่ คำว่า "ซึ่ง" ควรใช้เพื่อเริ่มส่วนขยายของประโยค หรือเพื่อเขึ้นต้นประโยครอง เช่น "ประเทศไทยเป็นประเทศสมัยใหม่ซึ่งยังหลุดไม่พ้นประเพณีทางการเมืองที่ล้าหลัง"  

นอกจากนั้นยังมีคำว่า "โดย" อีกคำที่นักศึกษาใช้อย่างไม่จำเป็นกันบ่อยมาก บางคนอาจใช้ "โดย" เพื่อสร้างคำวิเศษณ์ (ทั้ง adjective และ adverb) หรือใช้หมายความว่า "เพราะ" ทำให้ประโยคต่อมากลายเป็นประโยคขยายที่เป็นสาเหตุของของประโยคหลัก นอกจากนั้น "โดย" ยังใช้ระบุผู้กระทำการในประโยค  

คำทั้งสองนั้น หากใช้บ่อยๆ ถ้าไม่เป็นการทำให้ประโยคซ้อน ๆ กันไปเรื่อยๆ จนยืดยาวอ่านแล้วเหนื่อยและมีส่วนทำลายสาระของเนื้อหา ก็จะเป็นการเชื่อมประโยคเต็ม ๆ หลาย ๆ ประโยคโดยไม่จำเป็น การเขียนไม่จำเป็นต้องร้อยประโยคไปด้วยคำเชื่อมอย่างไม่รู้จบ แต่ควรเชื่อมกันด้วยสาระของเนื้อหาในแต่ละย่อหน้า 

ส่วนคำเชื่อมอย่าง "และ" และ "แต่" ก็เป็นคำที่ไม่ควรใช้ขึ้นต้นประโยคหรือขึ้นต้นย่อหน้าด้วยซ้ำ ทั้งสองคำมีคำอื่น ๆ ที่สามารถใช้แทนได้ในฐานะและศักดิ์ศรีที่ดีกว่าเมื่อต้องขึ้นประโยค เช่นคำว่า "นอกจากนั้น" "ยิ่งกว่านั้น" "พร้อม ๆ กันนั้น" หรือหากจะปฏิเสธก็ได้แก่คำว่า "อย่างไรก็ตาม" "แม้กระนั้น" "แต่ทว่า" "หากแต่ว่า" คลังคำที่เป็นตัวเลือกของทั้ง "และ" และ "แต่" อาจจะมีมากกว่านี้ ผู้เขียนงานวิชาการควรรู้จักนำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขึ้นต้นประโยคและขึ้นต้นย่อหน้า 

การใช้คำที่มีปัญหามากอีกกลุ่มได้แก่ การใช้คำที่ใช้เป็นภาษาปากในงานวิชาการ อย่างเช่นคำว่า "เยอะ" "แยะ" การใช้คำเน้นย้ำ เช่น "นั้น" และการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยไม่จำเป็นราวกับคนเขียนกำลังพูดคำภาษาอังกฤษปนไทยในภาษาพูดอย่างไม่ระมัดระวัง  

การปรากฏของคำเหล่านี้ในงานเขียนทางวิชาการทำให้งานหมดความเข้มข้นของการเป็นงานเขียนทางวิชาการ อาจารย์ฝรั่งของผมคนหนึ่งสอนเสมอว่า งานเขียนทางวิชาการเป็นข้อเขียนที่เป็นทางการ ฉะนั้นจึงต้องใช้ภาษาทางการ แม้แต่การใช้อักษรย่อ ยังต้องระวังการใช้ หรือที่จริงควรหลีกเลี่ยงที่จะใช้ด้วยซ้ำ (ธรรมเนียมการใช้คำในการเขียนงานวิชาการภาษาอังฤษยังมีเรื่องราวเฉพาะตัวของมันเองอีกมาก ขอไม่เขียนถึง) 

เรื่องที่ดูไม่เป็นเรื่อง แต่ก็เป็นปัญหาที่พบบ่อยและชวนหงุดหงิดเวลาอ่านคือการเขียนชื่อคนในงานเขียนทางวิชาการ ชื่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ปรากฏครั้งแรก จะต้องเขียนทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล แต่หากเป็นชื่อภาษาไทย ครั้งต่อ ๆ ไปก็อาจเรียกเฉพาะชื่อตัวก็ได้ ส่วนชื่อภาษาอังกฤษ หากเอ่ยถึงครั้งต่อ ๆ ไปก็ไม่จำเป็นต้องเรียกเต็ม เพียงแต่นักศึกษาไทยจำนวนมากไม่รู้ว่า จะต้องเรียกชื่อสกุลเท่านั้น ห้ามเรียกชื่อคนโดยเรียกชื่อตัวโดด ๆ ในงานเขียนที่เป็นทางการ  

สำหรับชื่อไทย นักศึกษาและนักวิชาการบางคนอาจจะต้องการยกย่องให้เกียรตินักวิชาการที่อ้างชื่อถึง ก็จึงใส่ตำแหน่งทางวิชาการอย่างรุงรังไปหมด ตำแหน่งทางวิชาการเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน บางคนเปลี่ยนตำแหน่งสูงขึ้น บางคนเลิกใช้ตำแหน่ง นอกจากนั้น ยังมีความลักลั่นที่บางครั้งผู้เขียนใส่ตำแหน่งทางวิชาการให้เฉพาะนักวิชาการไทย แต่นักวิชาการต่างประเทศกลับไม่ใส่ หรือบางคนก็ใส่ตำแหน่งยกย่องเกินจริง เพราะไม่รู้ว่าเวลานั้นนักวิชาการผู้นั้นตำแหน่งใดกันแน่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความสับสนลักลั่นเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องใส่ตำแหน่งทางวิชาการของผู้ที่ถูกอ้างถึงก็ได้ 

ข้อปลีกย่อยแต่ก็เป็นธรรมเนียมที่ทำกันคือ เมื่อกล่าวถึงใครครั้งแรก ๆ แล้ว ก็ควรแนะนำเขาสักเล็กน้อยว่าเป็นนักวิชาการสาขาไหน สัญชาติอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่ไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยดีนัก อย่างเช่น หากกล่าวถึง Karl Marx คงแทบจะไม่ต้องแนะนำอะไร แต่หากกล่าวถึงนักมานุษยวิทยารุ่นใหม่อย่าง David Graeber คงต้องแนะนำกันสั้น ๆ ก่อนที่จะกล่าวว่าเขาเสนออะไร

ปัญหาใหญ่ของงานเขียนนักศึกษาอีกข้อคือการเขียนไม่เป็นประโยค นอกจากการเขียนด้วยการใช้คำเชื่อมต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าประโยคจะสิ้นสุดตรงไหนแล้ว ยังมีประโยคประเภทที่ไม่มีประธานและประโยคขาดอีก 

นักศึกษาหลายคนเขียนโดยแทบจะไม่รู้สึกตัวว่ากำลังเขียนภาษาไทยอยู่ จึงเขียนโดยไม่ตระหนักว่าจะต้องเขียนให้เป็นประโยค ประโยคภาษาไทยจะต้องมีประธาน กิริยา และอาจจะต้องมีกรรม ขึ้นกับว่ากิริยานั้นต้องการกรรมหรือเปล่า นักศึกษาจำนวนมากละประธานของประโยค หรือเขียนโดยไม่ตั้งต้นประโยคใหม่ แต่อาศัยประธานของประโยคแรกแล้วใช้คำเชื่อม เชื่อมประโยคต่อไปเรื่อย ๆ วิธีเขียนแบบนี้ทำให้ผู้อ่านสับสน จับไม่ได้ว่าใครหรืออะไรกันแน่ที่เป็นประธานของประโยค  

เป็นไปได้ที่ส่วนหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากการที่ภาษาไทยไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนช่วย อย่างน้อยการใช้ . เพื่อระบุว่าประโยคสิ้นสุดตรงไหนในภาษาอังกฤษและภาษายุโรปอื่น ๆ หรือในภาษาที่ใช้วิธีการเขียนแบบภาษายุโรป อย่างภาษาเวียดนาม อาจจะช่วยให้การเขียนให้เป็นประโยคทำได้ดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม นักเขียนภาษาไทยควรมีโครงสร้างประโยคอยู่ในใจเสมอ อย่างน้อยในการเขียนงานวิชาการเป็นการใช้ภาษาทางการ การเรียบเรียงประโยคให้ถูกไวยากรณ์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงแทบจะไม่ได้ คงมีกรณียกเว้นน้อยมากจนเกือบไม่มีเลยที่แวดวงวิชาการจะอนุญาตให้งานเขียนคุณเป็นงานแนวทดลอง 

การใช้สรรพนามก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน นี่เป็นปัญหาสากล เกิดขึ้นกับทั้งการเขียนภาษาอังกฤษและภาษาไทย อย่างเช่น บางคนเขียนถึงนักคิดคนหนึ่ง แล้วประโยคต่อมาให้สรรพนามเรียกเขาหรือเธอ แล้วเปลี่ยนไปพูดถึงนักคิดอีกคนหนึ่ง แล้วใช้สรรพนามเหมือนกับคนแรก คนอ่านก็อาจจะสับสนได้ว่า ตกลงกำลังพูดถึงคนไหนกันแน่ บางครั้งอาจต้องระบุชื่อให้ชัดเจนไปเลยหากว่ากำลังสร้างข้อถกเถียงระหว่างนักคิดอยู่  

การเขียนประโยคโดยไม่จบประโยคเกิดจากการที่นักเขียนงานวิชาการมือใหม่ไม่แม่นยำกับรูปประโยคเชิงซ้อน ซึ่งต้องมีท่อนแรกและท่อนต่อมาจึงจะจบประโยคสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่เป็นเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ "หาก...แล้ว..." "ถึงแม้...หากแต่ว่า..." "เนื่องจาก...จึง..." เช่น บางทีนักศึกษาก็ขึ้นต้นประโยคว่า "หากประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย" โดยไม่มีอีกท่อนหนึ่งของประโยคว่า "แล้วล่ะก็..." ตามมา ก็ถือว่ายังไม่เป็นประโยคหรือเขียนขาดครึ่ง ๆ กลาง ๆ  

งานเขียนทางวิชาการมักเป็นงานเขียนที่สร้างข้อถกเถียงที่เป็นเหตุเป็นผลกัน ฉะนั้นจึงมีประโยคเชิงซ้อนที่เป็นเงื่อนไขมากมาย นักศึกษาหรือนักเขียนมือใหม่จึงต้องฝึกฝนจากทั้งการอ่านและการเขียนในการที่จะถอดและประกอบประโยคเหล่านี้จนชำนาญด้วย 

ปัญหาใหญ่ของการใช้ภาษาอีกข้อคือการเว้นวรรค การเว้นวรรคในภาษาไทยเป็นสิ่งที่ไม่มีระบบชัดเจน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ  

1. จะต้องเว้นวรรคเมื่อจบประโยคเสมอ

2. บางครั้งในประโยคเดียวกัน หากมีความซับซ้อนมาก ก็มักจะต้องมีการเว้นวรรคบ้าง แต่ไม่ใช่ต้องเว้นวรรคบ่อย บางคนเว้นวรรคถี่เสียจนเสียอรรถรสของการเขียน และทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วรู้สึกเหนื่อย

3. ในกรณีที่ต้องการแสดงรายการของสิ่งที่กำลังกล่าวถึงอยู่ เช่น "ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้แก่ ไทย เวียดนาม และลาว" การเว้นวรรคจะต้องเขียนดังนี้ ไทยเว้นวรรคเวียดนามเว้นวรรคและลาว  

4. จะต้องเว้นวรรคระหว่างอักษรและตัวเลข

5. บางคนเว้นวรรคตรงคำที่ตนเองคิดว่าสำคัญหรือเว้นวรรคตรงชื่อคน วิธีที่ถูกต้องคือ หากต้องการเน้นคำก็ควรใช้อัญประกาศ หรือ "..." แทนการเว้นวรรค แต่ก็ไม่ควรเน้นคำบ่อย เพราะนอกจากจะทำให้รกรุงรังแล้ว ยังทำให้ผู้อ่านเหนื่อยกับการที่จะต้องเน้นในใจไปด้วยเสมอ รวมทั้งระหว่างชื่อคนก็ไม่จำเป็นต้องเว้นวรรค

6. ระหว่างอักษรกับเครื่องหมายวรรคตอนบางตัว เช่น (...) , จะต้องศึกษาระบบการเว้นวรรคให้ดีว่าเครื่องหมายแต่ละตัวเว้นวรรคอย่างไร 

กล่าวถึงเครื่องหมายวรรคตอนโดยเฉพาะแล้ว ในภาษาไทยแทบจะไม่มีการใช้หรือไม่จำเป็นต้องใช้เลยและไม่ควรใช้ด้วยซ้ำ นอกจากนั้น ในภาษาไทยเองก็มีเครื่องหมายวรรคตอนและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่มีระบบเฉพาะของตนเอง เช่นเครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) ซึ่งผมเองก็เขียนผิดบ่อย ๆ ที่ถูกคือต้องเว้นวรรคทั้งก่อนและหลัง ๆ หรืออย่าง : ที่ในภาษาอังกฤษต้องเขียนด้านซ้ายติดตัวอักษรแต่ด้านขวาต้อองเว้นวรรคจากตัวอักษร แต่ภาษาไทยต้องเว้นวรรคทั้งหน้าและหลัง : แต่ผมก็ติดระบบการเขียนแบบภาษาอังกฤษมามากกว่า 

เครื่องหมายวรรคตอนมีความหมายในภาษายุโรปอื่น ๆ อย่างไร ผมเองก็ไม่รู้ได้ รู้แต่ว่าในภาษาอังกฤษมีหลักการใช้ที่ชัดเจนมาก แต่อันที่จริงไม่จำเป็นต้องใช้ในภาษาไทยเลย ยกตัวอย่างเช่นเครื่องหมาย , ที่บางคนใช้คั่นระหว่างคำในการแสดงรายการของสิ่งที่กำลังกล่าวถึงอยู่ อันที่จริงไม่จำเป็นต้องใช้ในภาษาไทย ใช้การเว้นวรรคก็เพียงพอแล้ว  

ขณะนี้บางคนติดนิสัยการใช้ - (hyphen) หรือ -- (dash) บางคนใช้ตามระบบของการเขียนภาษาอังกฤษ แต่บางคนก็ใช้ผิด ๆ เช่น ใช้ - แทน -- ในสมัยก่อน การพิมพ์พิมพ์ดีด หากจะใช้ -- ต้องพิมพ์ - สองครั้ง แต่เนื่องจากในปัจจุบันโปรแกรมการพิมพ์มักปรับให้ -- กลายเป็นขีดต่อเนื่องกันขีดเดียวโดยอัตโนมัติ จึงทำให้ -- ดูคล้าย - แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า dash จะขีดยาวกว่า hyphen  

ขณะที่ hyphen ใช้เชื่อมคำให้กลายเป็นคำใหม่ dash จะใช้สร้างประโยคเชิงซ้อน มันจึงมีหน้าที่แบบเดียวกับ that ,which และ , ในภาษาอังกฤษ แต่ในภาษาไทย การสร้างประโยคซ้อนแบบนี้จะทำโดยใช้คำ ที่ ซึ่ง อัน ไม่มีระบบไหนให้ใช้ -- ส่วนการสร้างคำผสม ทั้งการสมาสคำและการสนธิคำ มีหลักการของตนเองในภาษาไทย ไม่จำเป็นต้องใช้ - 

อีกเครื่องหมายหนึ่งที่มักใช้กันในการเขียนภาษาไทยแบบทางการปัจจุบันคือ / (forward slash) เครื่องหมายนี้ก็มีระบบการใช้ที่ชัดเจนในภาษาอังกฤษ แต่ในภาษาไทยที่มักใช้กันคือใช้เชื่อมคำในความหมายคล้ายๆ กับคำว่า "หรือ" แต่อันที่จริง ควรเขียนว่า "หรือ" เสียยังดีกว่าใช้ / เนื่องจากบางคนใช้แล้วกลายเป็น "และ" หรือบางคนใช้โดยไม่มีความสม่ำเสมอว่า ตกลงจะให้ / หมายถึงและหรือหรือกันแน่  

นักศึกษาและนักวิชาการบางคนอาจติดการใช้เครื่องหมายวรรคตอนเหล่านี้มาจากงานเขียนของนักคิดรุ่นใหม่ ๆ จำนวนมากที่นำเครื่องหมายเหล่านี้มาใช้ในการเขียนเพื่อสร้างระบบคิดที่ผูกพันกับการเขียนอย่างใหม่ ๆ หากนำมาใช้เพื่อการสร้างคำและระบบคิดเหล่านั้นก็ไม่ควรถูกปิดกั้น แต่หากนำมาใช้โดยไม่ได้ตระหนักว่าเป็นการสร้างระบบการคิดและการเขียนแบบใหม่ในภาษาไทย ผมก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องนำมาใช้จนสร้างความสับสนในการสื่อสารมากเกินจำเป็นไปเสียเปล่า ๆ  

ขอแทรกเพิ่มอีกเรื่องเกี่ยวกับการใช้ภาษาคือ การวงเล็บคำภาษาต่างประเทศที่ใช้อักษรโรมัน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรืออาจจะเป็นภาษาในเอเชียอย่างภาษาเวียดนามหรือภาษามาเลย์ ปัญหาสำคัญคือนักศึกษาและนักวิชาการจำนวนมากมักขึ้นต้นคำในวงเล็บด้วยอักษรตัวใหญ่ (capital letters) โดยไม่จำเป็นหรือเป็นการเขียนที่ผิดพลาดด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพราะคำที่ผู้เขียนนำมาวงเล็บกันมักจะเป็นคำที่เป็นมโนทัศน์หรือแนวคิดต่าง ๆ คำเหล่านี้ไม่ใช่คำที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่นว่า ไม่ใช่ชื่อคน ไม่ใช่ชื่อสถานที่ จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่ เช่น แนวคิด (concept) ทฤษฎี (theory) ไม่จำเป็นต้องใช้อักษรตัวใหญ่ แม้แต่แนวคิดเฉพาะของนักคิดบางคน เช่น "รากฝอย" (rhizome) ของ Gille Deleuze ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อักษรตัวใหญ่ขึ้นต้น นอกจากนั้น เมื่อใส่วงเล็บครั้งหนึ่งในครั้งแรกที่เอ่ยถึงแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวงเล็บคำเดียวกันซ้ำ ๆ อีกในการกล่าวถึงครั้งต่อ ๆ ไป

อันที่จริงนักศึกษาและผู้เขียนหน้าใหม่จำนวนมากยังมีปัญหาปลีกย่อยของการใช้ภาษาด้านอื่น ๆ อีก เช่น การสะกดคำผิด การพิมพ์คำตก และการใช้ถ้อยคำไม่ถูกต้อง ก็ขอให้แต่ละคนเขียนอย่างตระหนักมากขึ้นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำผิด ผมบอกนักศึกษาเสมอว่าหากส่งงานที่มีคำผิดมากแสดงว่าคุณไม่ใส่ใจกับงานเขียนของคุณ และคุณไม่เคารพผู้อ่านว่าจะต้องมาทนอ่านงานที่สะกดผิด ๆ ถูก ๆ เต็มหน้ากระดาษไปหมด 

หากยังขยันอีกสักหน่อยอาจจะเขียนเล่าการเขียนเล่าพรรณนาความในงานเขียนทางมานุษยวิทยา แต่นั่นควรจะเป็นเรื่องต่างหากออกไป ส่วนปัญหาการเขียนงานของนักศึกษาที่เล่ามาทั้งสี่ตอน ตั้งแต่ปัญหาการเรียบเรียงความคิด ปัญหาแนวทางการประพันธ์ทางวิชาการ ปัญหาการอ้างอิง และปัญหาการใช้ภาษา เป็นปัญหาใหญ่ที่มีร่วมกันในงานเขียนหลาย ๆ ประเภท ขอนำเสนอเป็นแนวทางเบื้องต้นกว้าง ๆ ไว้เพียงเท่านี้ ที่สำคัญคือ ก่อนส่งงาน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือนักวิชาการ ก็จะต้องอ่านซ้ำ ๆ ต้องตรวจทานทั้งลำดับความคิดและภาษาก่อนเสมอ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้