Skip to main content

อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา

อย่าไปคิดแค่ว่าพวกนี้เป็นฝรั่งจะไปรู้อะไร อย่าคิดง่ายๆ ว่าพวกนี้ไม่มีวัฒนธรรมเหมือนเรา เขาไม่เข้าใจเรา เรื่องนี้ตรวจสอบกันได้ไม่ยากหากจะปรายตาดูสักนิดแล้วมีคามรู้ทั่วไปที่น่าจะเรียนกันมาตั้งแต่ชั้นประถมสักหน่อย ก็คงพอจะรู้ว่าประเทศเหล่านี้ก็มีทั้งประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์และไม่มี มีทั้งประเทศตะวันตกและตะวันออก อย่าไปแบ่งแยกง่ายๆ ว่าเป็นฝรั่งตะวันตกที่ไม่เหมือนเรา อย่าไปสรุปแค่ว่าโน่นเทศนี่ไทยเท่านั้น มันง่ายไปสำหรับคนเป็นรัฐมนตรีหรือเป็นถึงครูบาอาจารย์ ถ้าไม่อายตัวเอง ก็เผื่อไว้บ้างว่าลูกน้อง ลูกศิษย์คุณๆ ที่เขายังมียางอาย เขาไม่รู้จะไปหาซื้อปี๊บได้จากที่ไหน

 

 

แล้วก่อนที่ประเทศเหล่านี้เขาจะพูดอะไร เขาไม่พูดพล่อยๆ แบบผู้นำประเทศเราหรอก เขาจะหาข้อมูลอย่างรัดกุม หลายต่อหลายมุม ทั้งฝั่งโน้นฝั่งนี้ ก่อนที่จะนำไปถกเถียงกัน แล้วแปลงมาเป็นคำพูดไม่กี่คำ ประเทศเหล่านี้เขามีผู้เชี่ยวชาญทั้งคนจากประเทศเขาเองและคนไทยที่เขาจ้างให้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ให้เขาเข้าใจเสมอๆ ครูบาอาจารย์หลายๆ คน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ หลายๆ คนก็คงรู้ตัวดีว่านักวิเคราะห์เหล่านี้เขาจะแวะเวียนไปหา ไปติดต่อขอข้อมูล ไปซักถามด้วยคำถามจากมุมมองต่างๆ อย่างละเอียดแค่ไหน ลำพังผมเองซึ่งไม่ได้มีความสำคัญอะไร ก็ยังอุตส่าห์มีนักวิเคราะห์การเมืองจากทั้งประเทศต่างๆ ในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มาถามข้อมูลและขอความเห็นอยู่บ่อยไป

 

อันที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไรนักหรอกที่บรรดาทหารที่มีอำนาจในขณะนี้จะไม่พอใจกับคำวิจารณ์ของนานาชาติ เพราะจริตของการเคารพคนอื่น อันเป็นพื้นฐานของความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในยุคสมัยปัจจุบันนั้น ไม่มีทางที่จะต้องกับจริตอำนาจนิยมของทหารไทยอยู่แล้ว ถ้าทหารไทยรับฟังความเห็นของนานาชาติที่รุมวิจารณ์ไทยในขณะนี้ ก็จะไม่เกิดสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างในปัจจุบันตั้งแต่แรกแล้ว จะไม่ทำให้พวกชาวโลกเขาต้องมารุมวิจารณ์กัน แต่นี่เพราะไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำมันผิดแผกไปจากค่านิยมของนานาชาติในปัจจุบัน จึงมองไม่ออกว่าตนเองทำอะไรผิด

จะว่าไปแนวคิดสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ของเก่าแก่ของตะวันตกเสียทีเดียว หากสำรวจดูดีๆ ก็จะพบว่า ความคิดแบบนี้พัฒนาขึ้นมาและถูกนำไปใช้ปฏิบัติอย่างจริงจังก็เมื่อสัก 200 กว่าปีมานี้เอง ที่ปรากฏชัดคือคำประกาศอิสรภาพ (Declaration of Independent, 1766) ของสหรัฐอเมริกา และในคำประกาศสิทธิแห่งมนุษย์และพลเมือง (the Declaration of Men and Citizen, 1798) ของฝรั่งเศส ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างเวียดนาม ก็รับเอาแนวคิดนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคำประกาศอิสรภาพ ค.ศ. 1945 

ส่วนประเทศไทยนำแนวคิดนี้มาใช้อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) ในประกาศฉบับที่ 1 ของคณะราษฎร เรียกว่าค่อนข้างเก่าแก่แรกเริ่มในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหลังจากนั้นประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นพันธมิตรของค่ายเสรีนิยมและประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รับแนวคิดนี้ในฐานะปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประกาศใน พ.ศ. 2491 (The Universal Declaration of Human Rights, 1948)

แนวคิดสิทธิมนุษยชนจึงไม่ใช่ของเก่าแก่ในโลกตะวันตก แต่เกิดขั้นมาในยุคที่โลกทั้งใบยอมรับกติกาใหม่นี้ร่วมกัน และประเทศไทยเองซึ่งก็อยากจะคบค้าสมาคมกับชาวโลกเขา ก็ยอมรับกติกา ยอมรับระบบคุณค่าสากลนี้มานานพอสมควรแล้ว 

แนวคิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นแนวคิดที่หยุดนิ่ง แต่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงไปเรื่อยๆ และที่สำคัญคือ พัฒนาการยุคหลังๆ นั้นมาจากการตระหนักในคุณลักษณะของ “สิทธิ” ที่แตกต่างไปจากแนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบเดิมของตะวันตกด้วยซ้ำ เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เพิ่มเข้ามาภายหลัง จากเดิมที่สิทธิมักรับรองเฉพาะปัจเจกบุคคล หรือแนวคิดเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรม ก็เป็นแนวคิดที่เพิ่มเข้ามาภายหลัง หลังจากที่โลกหันมาให้ความสนใจกับความละเอียดอ่อนของสังคมนอกตะวันตก ที่มีความหลากหลายมากเกินกว่าจะคิดถึงเพียงสิทธิของปัจเจกชน (ดูรายละเอียดพัฒนาการได้ในบทความ Ellen Messer. “Anthropology and Human Rights” Annual Review of Anthropology 22:221-49, 1993.)

อย่างไรก็ดี หลักการพื้นฐานคือ สิทธิขั้นพื้นฐานจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง จะมาอ้างสิทธิวัฒนธรรมในการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ได้ ที่สำคัญคือจะละเมิดสิทธิในร่างกายและสิทธิในการแสดงออกไม่ได้ พูดง่ายๆ คือ จะใช้กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมมาอ้างเพื่อละเมิดสิทธิในร่างกายไม่ได้ จะจับคนไปขังคุกด้วยเหตุเพราะว่าวัฒนธรรมเราเทิดทูนสัญลักษณ์บางอย่างเหนือเลือดเนื้อ ชีวิต และความคิดของประชาชนไม่ได้

ฉะนั้น หากจะใช้วิธีโต้แย้งแบบเดียวกันกับที่ทหารมักใช้ว่า “ก็ในเมื่อกฎหมายเขาออกมาแล้ว พวกคุณก็ทำตามสิ กฎหมายมีอยู่แล้ว พวกคุณก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอย่างไร ทำไมยังฝ่าฝืน” (ทั้งๆ ที่กฎหมายเหล่านั้นที่จริงเป็นการใช้อำนาจเผด็จการในคราบของกฎหมาย หาใช่กฎหมายที่สังคมยอมรับกันไม่ แต่เอาล่ะ ยกปัญหานั้นไว้ก่อน) 

ถ้าจะใช้วิธีคิดเดียวกันนี้ นานาชาติเขาก็ย้อนรอยทหารไทยได้เช่นกันว่า “ก็ในเมื่อกฎเกณฑ์ ค่านิยมของนานาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชนก็มีมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แล้วประเทศไทยเองก็ยินยอมสมัครใจเข้าไปลงนามยอมรับกฎเกณฑ์ คุณค่าสากลเหล่านั้นกับชาวโลกเขาเองตั้งแต่นมนานมาแล้ว จะมาว่าชาวโลกมายัดเยียดสิทธิมนุษยชนให้ประเทศไทยต้องทำตามได้อย่างไร”

พูดอีกอย่างก็คือ ไทยเองก็ยอมรับกติกาสากล ยอมรับธรรมเนียมสากล ยอมรับระบบคุณค่าสากล ที่เรียกกันว่าหลักสิทธิมนุษยชนมานานแล้ว ไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกสากลมานานแล้ว รับเอาคุณค่าแบบสากลมาใช้เป็นกฎเกณฑ์ของตนเองอยู่นานแล้ว จะมาอ้างว่าประเทศไทยไม่เหมือนที่อื่นในโลกได้อย่างไร ถ้าจะอ้างอย่างนั้น ก็เลิกเป็นสมาชิกของประชาคมโลกสากลไปเสียเลยสิ เป่านกหวีดไล่นานาชาติออกไปจากประเทศไทยเลยสิ ปิดตัวเองอยู่ในโลกที่ไม่คบค้ากับประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเสียตั้งแต่วันนี้เลยสิ 

ในเมื่อไทยเองก็อยากเหมือนชาวโลก แล้วอยู่ๆ วันนี้จะมาบอกว่าเราแตกต่างไม่เหมือนชาวโลกได้อย่างไร ถ้าอยากจะทำอย่างนั้นจริงๆ ก็ดาหน้าไปยกเลิกข้อตกลงต่างๆ ที่ทำกับชาวโลกเขาไว้เสียให้หมดสิ เลิกยอมรับปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนเสียสิ จะเอาอย่างนั้นไหมเล่า จะทำจริงๆ ก็ทำอย่างนั้นสิ อย่าเก่งแต่ปากอยู่ในบ้าน อย่าเอาแต่เป่านกหวีดไล่ฝรั่งอยู่แต่ในกะลาสิ

ความเป็นไทยไม่ใช่ใบเบิกทางให้รัฐบาลทหารและ คสช. ละเมิดใครก็ได้ตามอำเภอใจ ในเมื่อชาวโลกเขายังรักคนไทย ยังต้องการปกป้องสิทธิของคนไทยมากเสียยิ่งกว่ารัฐบาลของประเทศไทยเอง แล้วทำไมใครก็ตามที่มีใจรักความเป็นธรรมจะไม่รับฟังชาวโลกเขาบ้าง แล้วอย่างน้อยก็แสดงความหวงแหนสิทธิของประชาชนเราเองบ้าง หรือหากมีความพร้อมพอ ก็ทักท้วงการละเมิดสิทธิประชาชนของรัฐบาลเราเองบ้าง จะยอมให้รัฐบาลทหารและ คสช. ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ได้เพียงเพื่อปกป้องอำนาจของพวกเขาเองอย่างนั้นหรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี