Skip to main content

เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 

อาจารย์ภาสกรให้แนวทางมาก่อนหน่อยนึงว่า ละครดัดแปลงจากบทละครชื่อ Death and the Maiden แสดงในวาระ 40 ปี 6 ตุลา แต่เลื่อนมาแสดงเดือนนี้แทน

ดูละครจบ ผมก็ไม่รู้ว่าละคร "รื้อ" น่ะรื้ออะไรได้บ้าง แต่ผมเสนอให้แลกเปลี่ยนประเด็น 4-5 ประเด็น สำหรับหลายคนประเด็นเหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องพื้น ๆ แหละครับ แต่ก็ขอบันทึกไว้สั้น ๆ ไว้ก็แล้วกัน แล้วจะพยายามไม่เล่าเรื่องราวของละครมากนัก
 
1. function of art ความเป็นศิลปะกับการมีบทบาทเสนอความจริง ละครหรืองานศิลปะทั่วมีข้อได้เปรียบงานวิจัยหรือตำราวิชาการหลายอย่าง นอกจากนำเสนอเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าแล้ว ยังสามารถสื่อถึงความจริงที่วิธีการทางวิชาการสื่อไม่ได้ 
 
นอกจากนั้น ในภาวะที่การพูดความจริงถูกปิดกั้น ความจริงหลายอย่างต้องพูดผ่านศิลปะ ที่อาศัยความกำกวม แต่สื่อถึงระดับของความหมายได้หลายชั้น เปิดให้มีการคิดวิเคราะห์ ตีความ ถกเถียงได้มาก นี่ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบของศิลปะ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ และน่าจะยิ่งมีบทบาทในสังคมไทยยุคเผด็จการปัจจุบัน
 
2. art as analogy หากจะวางละครนี้ในบริบทของมัน แน่นอนว่าเป็นบริบทเฉพาะของการเมืองชิลีหลังยุคเผด็จการปิโนเช่ แต่ละครเรื่องนี้ไม่ได้สื่อถึงเรื่องนี้เฉพาะในบริบทของมันแน่นอน เพราะเมื่อนำมาวางทาบกับการเมืองเผด็จการในประเทศอื่น ๆ แล้ว ก็กลับทำให้เราเข้าใจการเมืองเผด็จการและภาวะหลังเผด็จการของที่อื่น ๆ ได้ดีเช่นกัน การนำละครเรื่องนี้มาทาบกับวาระ 40 ปี 6 ตุลาของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวจึงทำหน้าของของการละครแบบนี้ได้ดีทีเดียว
 
ผมบอกเล่าไปว่า นี่ทำให้นึกถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น หนังสือ 1984 ของ George Orwell ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการอ่านเพื่อเข้าใจภาวะการปิดกั้นเสรีภาพของสังคมเผด็จการอย่างข้ามพื้นที่ ข้ามกาลเวลาได้เช่นกัน ดังที่ผมได้ไปพบว่า ในเวียดนามขณะนี้ก็มีการเผยแพร่ 1984 ฉบับแปลภาษาเวียดนามในความหมายเดียวกันกับที่ประเทศไทย
 
3. trauma representation ผมเคยอ่านงานศึกษาทางมานุษยวิทยา (Charred Lullabies: Chapters in an Anthropography of Violence พิมพ์ปี 1996 เขียนโดย E.V. Daniel) ที่พยายามเข้าใจผู้ประสบกับภาวะบาดแผลทางจิตใจอันเนื่องมาจากถูกกระทำรุนแรงจากวิกฤติการทางการเมือง ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการเป็นเหยื่อของความรุนแรงทำให้ผู้เป็นเหยื่อไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ที่เขาประสบมาได้ ในหนังสือเล่มนั้น คนเขียนจึงอาศัยวิธีอื่นในการรับรู้เรื่องราวของเหยื่อ นั่นคือผ่านงานศิลปะ ทั้งทัศนศิลป์และเรื่องเขียน ของผู้ประสบความรุนแรง
 
ละครเรื่องนี้เป็นหนึ่งในวิธีการเล่า trauma ของคน ไม่ว่าจะเป็นคนชิลี หรือคนที่อื่น ๆ ที่ประสบภาวะการถูกกระทำรุนแรงนั้นได้อย่างดี
 
4. gender of the victim ทำไมบทละครนี้และเราจะเห็นบทละครเกี่ยวกับเหยื่อของความรุนแรงจำนวนมาก จึงเล่าถึงเหยื่อของความรุนแรงด้วยผู้หญิงและความเป็นผู้หญิง ทั้งผู้หญิงในเชิงกายภาพและในเชิงวัฒนธรรมถูกใช้เป็นสื่อแสดงความเป็นเหยื่อของความรุนแรงเสมอ บ่อยมากเสียจนทำให้ทั้งผู้หญิงและเหยื่อความรุนแรงถูกตีตรา พร้อมอาจจะเป็นการสถาปนาสัญลักษณ์หลักของการเป็นเหยื่อความรุนแรง บดบังการเข้าใจเหยื่อความรุนแรงจากมุมมองอื่น
 
ลองคิดดูว่าถ้าเหยื่อความรุนแรงเป็นคนเพศอื่น ๆ เป็นผู้ชาย เป็นคนข้ามเพศที่เป็นชาย เราคงจะเข้าใจทั้งความรุนแรงและเหยื่อความรุนแรงต่างออกไปได้บ้าง เช่น อันที่จริงเหยื่อที่เป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา มักจะเป็นผู้ชาย ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นผู้ชายด้วยหรือเปล่าที่ทำให้สังคมไทยสนใจเหยื่อและความรุนแรงในเหตุการณ์นั้นน้อยเกินไป
 
5. political context บริบททางการเมืองของละครเรื่องนี้กับการเมืองไทยก็น่าสนใจ ในบริบทดั้งเดิมของละครเรื่องนี้ เป็นยุคหลังปิโนเชลงจากอำนาจใหม่ ๆ  ปิโนเช่เป็นประธานาธบดีชิลีปี 1973-1990 ขึ้นสู่อำนาจด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกาเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ 1975 หลังไซ่ง่อนแตก ในไทย ปี 1990 ประชาธิปไตยครึ่งใบเริ่มเสื่อมลง อีกสองปีจากนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (1992) 
 
เมื่อเทียบกันแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลี ที่หลังปิโนเช่มีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง มีกระบวนการของการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือ transitional justice ไม่ถึงกับทำได้ดีนัก แต่ก็ยังดูดีกว่าประเทศไทยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลีเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง เกิดขึ้นแทบจะพร้อม ๆ กับการตกต่ำลงของเผด็จการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในไทย ช่วงทศวรรษ 1980-1990 แต่ทำไมสถาบันทหารไทยถึงหวนกลับมามีอำนาจได้อีกในทศวรรษ 2000-2010 ข้อนี้ยังต้องศึกษากันต่อไป
 
ยังมีประเด็นที่ผู้ชมคนอื่น ๆ และผู้จัดละครเองแลกเปลี่ยนกับผู้ชมอีกมากมาย เป็นบรรยากาศการพูดคุยหลังละครที่เข้มข้น สร้างสรรค์ และได้ความรู้จากหลายกหลายมุมมองและประสบการณ์อย่างยิ่ง ผมได้เรียนรู้ ได้คิดเพิ่มเติมอีกมากมาย
 
ยังไปดูกันได้ครับ ที่สถาบันปรีดีฯ ทองหล่อ โดยคณะละครพระจันทร์เสี้ยว จะแสดงต่อวันนี้ (20 พย.) รอบบ่ายสองและสองทุ่ม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้