Skip to main content

ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา

 

 

แกลลอรีนี้มีงานของศิลปินดังๆ และงานศิลปะยุโรปสำคัญๆ ครบยุค แม้จะไม่มาก ไม่สามารถอวดแข่งประชันอะไรกับใครได้ แต่ก็มีงานดีพอ มากพอ ที่จะให้คนที่นี่ได้เรียนรู้ งานที่ประทับใจผมเองมีหลายชิ้น 

 

ที่ชอบมากคืองานสเก็จของพอล รูเบนส์ ที่เคยเห็นแต่ในหนังสือ เมื่อได้เห็นของจริงก็ยิ่งตื่นตะลึง ที่จริงที่นี่มีงานสีน้ำมันของพอล รูเบนส์ด้วย ชิ้นใหญ่มาก หรือประติมากรรมแกะงาช้างชิ้นหนึ่ง น่าประทับใจมาก ส่วนงานรุ่นอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็พอมี อย่าง The Thinker ของออกุส โรแดงเวอร์ชั่นเล็ก ที่นี่ก็มี กับมีงานของคามิล ปิซาโรหลายชิ้นทีเดียว 

 

ที่น่าสังเกตคือวิธีเล่าเรื่อง แม้ว่าจะยังตามขนบการเล่าหลักตามลำดับเวลาและความเปลี่ยนแปลงของแนวการเขียนรูป แต่ก็มีคำอธิบายสรุป และก็เน้นการให้คนเข้าใจความเป็นยุคสมัยรวมๆ ไปพร้อมๆ กับการแสดงงานเดี่ยวของศิลปิน อีกนัยหนึ่งคือเน้นทั้งความเป็นประวัติศาสตร์ส่วนรวม และทักษะกับการสร้างสรรค์ส่วนตน 

 

คอลเลกชั่นที่น่าทึ่งมากคือบรรดางานประติมากรรมขนาดมหึมาของเฮนรี่ มัวร์ ที่มักเคยเห็นสักชิ้นสองชิ้นในแต่ละแกลลอรี แต่ที่นี่อุทิศห้องใหญ่แสดงงานเฮนรี มัวชนิดที่ว่า เดินเข้าไปแล้วราวกับเข้าไปในสุสาน แถมก่อนเข้าห้องนี้ยังมีการอธิบายว่า มัวร์ได้อิทธิพลและพัฒนางานต่อจากโรแดง ที่เริ่มมีงานประติมากรรมเรือนร่างคนแบบตัดส่วน จนทำให้กลายเป็นรูปทรงนามธรรม 

 

เมื่อดูไปสักพัก ก็เริ่มสงสัยว่าแล้วศิลปินแคนาดาล่ะ มีไหม เขาทำอะไรกัน แล้วเมื่อขึ้นไปชั้นสองก็ได้เจอผลงานของศิลปินแคนาดาทันที (ความจริงมีคอลเลกชี่นศิลปะแอฟริกันและศิลปะอินเดียนพื้นเมืองอยู่อีกมากเช่นกัน) 

 

 

งานของศิลปินแคนาดามักค้นหาอัตลักษณ์ตนเองผ่านชีวิตคนพื้นเมือง เน้นแลนด์สเคปของแคนาดา และวัสดุที่บอกเล่าความเป็นนักบุกเบิก นักเดินทางเข้ามาในทวีป กลุ่มศิลปินที่บุกเบิกค้นหารูปแบบศิลปะสมัยใหม่แบบแคนาดามามีตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 

 

ที่ท้าทายหน่อยคือการจัดแสดงรูปโดยไม่ติด caption ด้วยคำอธิบายว่า ไม่อยากให้คนดูสาละวนอยู่กับการอ่านข้อความ อยากให้ดูรูปมากกว่า แล้วค่อยไปอ่านเอาจากแผ่นคำอธิบาย ที่เขาก็มีให้ดูใกล้ๆ กับรูปนั่นแหละ แต่ไม่อยากติดข้างรูป 

 

สุดท้าย ผมตื่นตาตื่นใจกับห้องใต้ดินที่มีคอลเลกชั่นเรือจำลองจำนวนมาก เรียกว่าถ้าจะค่อยๆ ละเลียดดูรายละเอียดจริงๆ เฉพาะห้องนี้ก็ต้องสักหนึ่งชั่วโมงแล้ว 

 

ถ้าใครบังเอิญผ่านมาโตรอนโต ก็ขอแนะนำนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรดูงานของศิลปินท้องถิ่น แต่ก็ยังหวังว่าเขาน่าจะมีงานชาวอินเดียนมากกว่านี้ และในอนาคต เนื่องจากมีประชากรเอเชียนและแอฟริกันในโตรอนดตไม่น้อย พวกเขาก็น่าจะได้เล่าเรื่องตนเองบ้างเช่นกัน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี