Skip to main content

แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง

 
แต่ที่ไหนได้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เอาจริงเอาจังกับรองเท้ามาก เรียกว่าเขาศึกษาวัฒนธรรมการใส่รองเท้ากันเลยทีเดียว ที่สำคัญคือ มันบรรจุไปด้วยมุมมองของคนทำรองเท้า การถอด การใส่ และการตัดเย็บไว้ด้วย แถมยังเป็นการศึกษาเปรียบเทียบที่ทำกับทั้งรองเท้าโบราณ รองเท้านอกยุโรป และรองเท้ายุโรปยุคกลาง แถมยังดูสังคมของรองเท้าไปพร้อมๆ กันด้วย
 
พิพิธภัณฑ์รองเท้าบาทา (Bata Shoe Museum) ที่โตรอนโตนี้เปิดเมื่อปี 1995 ก่อตั้งโดยซอนญ่า บาทา สะใภ้ของตระกูลบาทาที่ก่อตั้งบริษัทรองเท้าบาทา ซอนญ่า บาทาเดินทางไปทั่วโลกคงด้วยเพราะติดตามสามีไปขายรองเท้า เธอก็เลยเก็บสะสมรองเท้าไว้มากมาย ไม่เท่านั้น ยังเอาจริงเอาจังกระทั่งให้ทุนวิจัยรองเท้า แล้วทำทั้งโปราณคดีและชาติพันธ์ุนิพนธ์รองเท้า
 
พิพิธภัณฑ์นี้จึงเด่นทั้งการเล่าเรื่อง ของที่สะสม และการจัดแสดง นี่ยังไม่นับว่าเขาให้การศึกษาเด็กๆ อย่างดีด้วย ตอนที่ไปชม ก็เห็นมีการนำเด็กตั้งแต่ 7 ปีจนถึงอายุไม่น่าจะเกิน 10 ขวบเดินชมและทำกิจกรรมอยู่สองกลุ่ม วิทยากรเขาเหมือนเชี่ยวชาญการเล่าเรื่องให้เด็กฟัง เด็กๆ ก็เลยสนใจติดตามแย่งกันตอบคำถาม อย่างที่นึกไม่ออกเลยว่าเด็กไทยจะมีความใส่ใจและกล้าหาญได้ครึ่งของเด็กแคนาเดี่ยนพวกนี้
 
แรกเริ่มเลย พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องผ่านโบราณคดีและประวัติศาสตร์การใส่รองเท้า ที่จริงเขากล่าวถึงตั้งแต่เริ่มมีการเดินของมนุษย์วานร (hominid) คือลูซี่ที่เริ่มเดินเต็มเท้ากันเลยทีเดียว แล้วจึงเอาตัวอย่างรองเท้า 5-6 พันปีก่อนที่พบในหลุมศพแล้วมีการสร้างจำลองเลียนแบบมาให้ดู 
 
แล้วเขาก็ไล่ไปตามแหล่งอารยธรรมโลกต่างๆ อย่างอียิปต์ กรีก โรมัน อินเดีย จีน ยุโรป แม้ว่าการเล่าแบบนี้จะไม่แหวกแนวนัก แต่ก็ยังน่าสนใจที่เขาเอารองเท้าของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของทวีปอเมริกาเหนือ อย่างชาวอนาซาสซีเมื่อ 6,000 ปีก่อน มาวางไว้ในช่วงยุคสมัยโบราณนี้ด้วย มีตัวอย่างรองเท้าในหลุมศพที่ทำให้เชื่อว่า ชาวอินเดียนอเมริกาดั้งเดิมน่าจะสานรองเท้าในรูปทรงต่างๆ
 
ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือการเชื่อมโยงรองเท้ากับศาสนา แล้วเปรียบเทียบให้เห็นจุดเน้นและอคติของแต่ละศาสนา มีส่วนทำให้รูปทรง วัสดุ และการใช้งานรองเท้าแตกต่างกันไปทั่วโลก การตีความตอนนี้ก็นับว่าน่าประทับใจ โดยเฉพาะเรื่องรองเท้ามุสลิม และตัวอย่างรองเท้าจากโป๊บ กับรองเท้าพระชินโต ที่เพิ่งได้รู้ว่าเป็นไม้ จากที่เคยนึกว่าเป็นผ้ามาตลอด
 
 
 
 
ถัดมาเป็นรองเท้าเฉพาะทางหลายคู่ เขาแสดงรวมๆ กัน ทั้งตามอาชีพ ตามถิ่นฐาน และตามยุคสมัยของรองเท้าสมัยใหม่ ที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์ได้รองเท้าจากคนดังมาหลายคู่ เช่น รองเท้าของมาริลีน มอนโร ที่เธอเองบอกว่า "ขอบคุณใครก็ตามที่คิดส้นสูงขึ้นมาให้ฉันมีอาชีพการงานจากการใส่ส้นสูง" ส่วนรองเท้าดาไลลามะ ก็เป็นรองเท้าแตะคีบของบาทานั่นเอง รองเท้าอีกคู่ที่น่าสนใจจากความเรียบง่ายคือรองเท้าของอินทิรา คานธี
 
 
 
 
อีกสองชั้นถัดมาน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปใหญ่ ชั้นหนึ่งซอนญ่า ยาทาให้ทุนคนไปทำวิจัยรองเท้าของผู้คนในแถบขั้วโลก เป็นรองเท้าคนที่สู้ความหนาว ทำให้ได้เห็นทั้งความแตกต่างของทั้งรูปทรงและวัสดุ เช่นรองเท้าที่ทำจากหนังปลา เสื้อคลุมที่ทำจากผนังลำไส้แมวน้ำ รองเท้าหนังปลา รองเท้าหนังและขนเรนเดียร์ ทำให้ได้เห็นว่าวัฒนธรรมรองเท้าของคนขั้วโลกแตกต่างกันและอาศัยวัสดุในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน แม้จะดูคล้ายๆ กัน
 
 
 
 
ชั้นถัดไป ซอนญ่าวิพากษ์วัฒนธรรมรองเท้าของยุโรป ด้วยการย้อนกลับไปยุคเริ่มต้นอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 พิพิธภัณฑ์บอกว่า ชาวยุโรปเป็น "เหยื่อของแฟชั่น" ถึงตรงนี้ การจัดแสดงก็เปลี่ยนแนวเลย จากห้องขั้วโลก ที่ให้บรรยากาศหนาวเหน็บ มาสู่ห้องยุคอุตสาหกรรมที่ดูฟุ้งเฟ้อ ในห้องนี้ ของทุกอย่างราวกับถูกมองผ่านหน้าต่างเข้าไปในห้องจัดแสดงในห้างสรรพสินค้ายุคนั้น เห็นได้ชัดว่าเขาจงใจพูดถึงชนชั้น และจงใจกล่าวว่ารองเท้ารุ่นนั้นใสไม่สบาย แม้จะงดงามอย่างมาก
 
ดูพิพิธภัณฑ์รองเท้าจบแล้วได้เรียนรู้แนวทางการศึกษาวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเอาจริงเอาจัง นับถือความมุ่งมั่นของซอนญ่า บาทา และนั่นทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รางวัลการอนุรักษ์ดีเด่น แต่ที่ต้องเพิ่มเข้าไปคือ ทำให้นับถือและขอบคุณรองเท้ายี่ห้อบาทาอย่างยิ่งทีเดียว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน