Skip to main content

บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน 

ผมพบครูฉลบครั้งแรกๆ ในบริบทที่เป็นส่วนตัวมากๆ คือเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ครูฉลบไปงานแต่งงานผมกับฆัสรา เจอครูทีไรครูก็จะบอกฆัสราว่า "ชุดแต่งงานหนูสวยมาก วันนั้นหนูสวยมาก" ฆัสราเรียกครูว่า "ยายฉลบ" เสมอ ทั้งที่ไม่ใช่ยายผู้ให้กำเนิดแม่ของเธอหรอก แรกๆ ผมก็งงๆ ว่า ครูฉลบคือใครกันแน่ ทำอะไรกันแน่

 

แต่บทบาทครูที่ผมรู้จักแม้เพียงผิวเผินนั้น สั่งสมมาหลายต่อหลายปี จากการเทียวรับเทียวส่งฆัสรากับแม่เธอ ซึ่งไปเยี่ยมครูทุกปีในวันเกิดครู และเมื่อใดที่ครูเจ็บป่วยหนักก็ได้ตามไปเยี่ยมครูด้วย 

 

สิ่งที่ได้ค่อยๆ เรียนรู้มาจากการที่ได้พบปะกับบรรดาป้าๆ แม่ๆ น้าๆ เหล่านี้ก็คือ เกือบทุกคนหรืออาจจะทุกคนเลยก็ได้ ที่ครอบครัวมีประวัติโชคโชน บรรดานักเรียนดรุโณฯ รุ่นแรกๆ เหล่านี้คือลูกๆ ของผู้ประสบภัยทางการเมือง หรือจะเรียกใช้ชัดก็คือ "ลูกกบฏ" ของความผันผวนของการเมืองเมื่อ 70 ปีที่แล้ว 

 

ลูกผู้ประสบภัยทางการเมืองรุ่นแรกๆ ที่ครูรับเลี้ยงและน่าจะเป็นที่มาของการเปิดโรงเรียนดรุโณฯ คือลูกของบรรดา "กบฏวังหลวง" สองคนในนั้นก็คือแม่และน้าของฆัสรานั่นเอง พ่อของพวกเธอลี้ภัยการเมืองไปพร้อมกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แต่โชดดีที่หลังจากอยู่เมืองจีนร่วม 10 ปีก็กลับไทยได้ แต่ลูกคนอื่นๆ  รวมทั้งครูฉลบเองไม่โชคดีอย่างนี้ เพราะพ่อของพวกเขา และคุณจำกัด พลางกูรเอง เสียชีวิตที่ประเทศจีน

 

ส่วนลูกๆ อีกจำนวนหนึ่งในกลุ่มเพื่อนสนิทของแม่และน้าฆัสราก็เช่น ลูกของสามเหยื่อ "คดีสวรรคต" ลูกของ "สี่สส.อีสาน" คนเหล่านี้เป็นใคร เป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่ควรจะศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง แต่สำหรับคนที่พอจะรู้จประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงนั้นอยู่บ้าง เรียกว่าถ้าได้เจอลูกๆ คนเหล่านี้ ก็เหมือนเห็นวิญญาณกบฏและความทุกข์ยากจากภัยการเมืองของพวกเขาเดินตามมาด้วย 

 

ยิ่งหากใครรู้ว่าคนเหล่านี้เป็นใคร เหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างใครกับใคร และไม่ใสซื่อทางการเมืองเกินไปแล้ว ก็ย่อมเข้าใจได้ไม่ยากว่า ครูฉลบอยู่ข้าง "ผู้พ่ายแพ้ทางการเมือง" ในการเมืองไทยมาโดยตลอด แม้จนกระทั่งรุ่นนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519

 

ถึงอย่างนั้น เจอกันทีไรในหมู่เพื่อนๆ รุ่นแรกๆ ของดรุโณฯ ลูกๆ ผู้ประสบภัยเหล่านี้ก็จะมาสังสรรค์กัน พวกเขาไม่ได้แสดงท่าทีเคียดแค้นชิงชังใครในอดีต หรือแสดงความทุกข์ยากลำเค็ญแต่อย่างใด แทบทุกคนประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งนี้สาวนสำคัญก็เนื่องมาจากการสานต่อชีวิตโดยครูฉลบทั้งสิ้น 

 

ดังนั้น เท่าที่ได้รู้จักพวกเขามาร่วม 20 ปรมี่พวกเขามาพบปะกันทีไร พวกเขาก็จะร่าเริง แจ่มใส สนุกสนาน และกลายเป็นเด็กนักเรียนในยามที่มาอยู่ต่อหน้าครู ความผูกพันต่อครูของพวกเขาลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน เกินกว่าที่ผมจะเล่าในที่นี้ได้ บางคนเล่าว่า แม้เมื่อยามที่คุยโทรศัพท์กับครูฉลบ พวกเขาก็ยังต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อย เสมือนนั่งต่อหน้าครูด้วยซ้ำ

 

เมื่อใดที่พวกเขาพบปะกัน นอกจากฟังลุงๆ ป้าๆ และยายฉลบคุยกันเรื่องเก่าๆ ผมก็ได้พลอยรู้อะไรมาอีกหลายเรื่อง เช่น วีรกรรมที่ครูฉลบเล่าเรื่องการไปเยี่ยมนักศึกษา 6 ตุลาฯ ที่ติดคุก ครูหาซื้อข้าวปลาอาหารไปให้ ครูจำได้ว่าใครชอบกินอะไร พอบอกว่าผมไปเรียนกับ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล แกก็ยิ่งเล่าเรื่องนี้บ่อยขึ้น 

 

บางทีครูก็เล่าย้อนไปถึงวีรกรรมที่ครูช่วยเสรีไทยและพวกเวียดนาม รวมทั้งที่ครูเป็นพี่สาวป้าลมภรรยานายผี รงมทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับครอบครัวอาจารย์ปรีดี ซึ่งไปมาหาสู่กับครูเป็นประจำจนผมเองก็ได้เห็นคนในครอบครัวอาจารย์ปรีดีที่บ้านครูบ่อยๆ 

 

ช่วงการเมืองสีเสื้อ ลูกผู้ประสบภัยเหล่านี้ก็มีทัศนะต่างกันไปคนละทิศละทาง บางคนคิดเห็นไปในทางที่ผกผันกับอดีตตนเองอย่างเหลือเขื่อ พวกเขาคงไม่เชื่อมโยงชะตากรรมของบุพการีตนเองว่าเป็นขบวนเดียวกันต่อเนื่องมาถึงการเมืองปัจจุบัน แต่ฆัสราตั้งข้อสังเกตว่า นั่นก็อาจเป็นเพราะครูไม่ได้ปลูกฝังยัดเยียดความคิดทางการเมืองของครูให้เด็กๆ เหล่านั้น

 

ในงานสวดพระอภิธรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้คนที่มางานนี้แต่ละคนต่างก็แปลกใจว่าป้าๆ แม่ๆ น้าๆ เหล่านี้เป็นใครกัน แล้วผมกับฆัสราทำไมมานั่งด้านหน้า มากันได้อย่างไร บังเอิญเจออาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ซึ่งผมก็คุ้นเคยกับอาจารย์เป็นอย่างดี อาจารย์ก็ถามผมว่า "เกี่ยวข้องอย่างไรกับครูเหรอครัย" ผม ก็ต้องให้ฆัสราหลานกบฏวังหลวงมาตอบให้กระจ่าง 

 

น่าตกใจที่แม้แต่คนรุ่นนั้นก็ไม่รู้ว่าลูกหลานกบฏเหล่านั้นเติบโตกันขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ค่อยมีคนสนใจว่าทำไมครูเปิดโรงเรียนดรุโณฯ ขึ้นมากันแน่ พวกนักเรียนรุ่นแรกๆ เองก็ไม่แน่ใจว่า ใครกันที่จัดหาให้พวกเขามาอยู่โรงเรียนประจำแห่งนี้ด้วยกัน ครูฉลบเอาจิตใจชนิดไหนและระดมทรัพยากรอย่างไรกันมาสร้างโรงเรียนและเลี้ยงดูเด็กๆ เหล่านี้จนเติบโตเป็นผู้เป็นคนขึ้นมา 

 

และยิ่งคิดไม่ออกเลยว่า หากครูไม่ทำแล้ว เด็กๆ เหล่านี้จะเป็นอย่างไร ครอบครัวของพวกเขาจะแบกรับภาระที่ส่วนใหญ่แล้วคนหารายได้หลักต้องลี้ภัยไปต่างประเทศไม่ก็เสียชีวิตไปเพราะถูกสังหาร ไหวหรือไม่ อันที่จริง แม่ๆ ป้าๆ น้าๆ เหล่านี้ก็พอจะรู้อยู่ว่า ลูกหลานคนเหล่านี้หลายคนที่ครูหาจนพบทีหลัง ลำบากกันขนาดไหน

 

ผมจึงค่อยๆ เข้าใจขึ้นมาว่า ครูฉลบเป็นแม่ของลูกกบฏเหล่านี้ เธอหล่อเลี้ยงเลือดเนื้อเชื้อไขของคนเหล่านี้ขึ้นมากับมือ ป้าๆ แม่ๆ น้าๆ เหล่านี้จึงรักใคร่ครูฉลบในฐานะแม่คนที่สอง ครูเป็นแม่ของพวกเขาตลอดกาล ความยิ่งใหญ่ของครู พวกเขารู้ดี แต่ไม่เท่ากับที่ครูเลี้ยงดูสานต่อชีวิตให้พวกเขา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี