Skip to main content

วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า

งานชิ้นหนึ่งมีประเด็น post-colonialism คู่ขัดแย้งแอฟริกัน-อังกฤษ อีกชิ้นเกี่ยวกับระบบ patriarchy คู่ขัดแย้งหญิง-ชายในจีน อีกชิ้นว่าด้วย authoritarianism คู่ขัดแย้งคนเหนือ-คนใต้ในเวียดนาม

 

ผมสนุกกับงานทั้งสามชิ้นมาก แม้ว่าจะเขียนกระท่อนกระแท่นบ้าง ข้อมูลยังบกพร่องบ้าง บทวิเคราะห์ยังไม่ถึงใจบ้าง แต่ก็ได้เรียนรู้และคิดอะไรต่างๆ ได้อีกมากมาย

 

เสียดายที่มีเรื่องหนึ่งซึ่งคิดเตรียมไปจะพูด แต่กลับไม่ได้พูดเพราะบรรยากาศไม่เอื้อ คือที่อยากจะตั้งคำถามคือว่า เรื่องเหล่านี้ใช้เป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ในการเข้าใจปัญหาในสังคมไทยได้อย่างไรบ้าง การวิพากษ์ประเด็นเหล่านี้ย้อนกลับมาวิพากษ์อะไรในสังคมไทยได้บ้าง เพราะทุกเรื่องข้างต้นย้อนคิดกลับมาที่สังคมไทยได้ท้งหมดเลย แต่นักวิชาการที่รู้เรื่องนอกประเทศไทยดีส่วนใหญ่เพิกเฉย ไม่ทำ

 

สมัยก่อนผมเบื่อคำถามประเภทที่ว่า ศึกษาแนวคิดต่างประเทศแล้วจะมาช่วยให้เข้าใจสังคมไทยได้อย่างไร แต่คิดว่า นักวิชาการไทยก็ควรเข้าใจเรื่องราวของที่อื่นๆ ในโลกบ้างสิ จะเข้าใจแต่เรื่องไทยๆ ไปทำไม

 

แต่ความจริงการที่ผมเองศึกษาเวียดนามอย่างยาวนาน ศึกษาแนวคิดต่างๆ ของทั้งฝรั่งและที่ไม่ใช่ฝรั่งแต่เขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษอย่างเอาจริงเอาจัง ก็เพื่อทั้งเข้าใจนั่น คนที่ต่างๆ และเพื่อวิพากษ์สังคมตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย ผมศึกษาที่อื่นๆ ก็เพื่อเป็นอุปมานิทัศน์ในการเข้าใจสังคมตนเอง

 

หลังๆ มานี้ผมจึงคิดว่า การเข้าใจปัญหาที่อื่นๆ ก็ต้องสะท้อนถึงปัญหาในสังคมตนเองได้ด้วย และบางทีการศึกษาที่อื่นจะช่วยให้เราเห็นปัญหาของเราเองที่เราไม่เคยมองเห็น ไม่เคยคิดว่าเป็นปัญหามาก่อน

 

นักวิชาการไทยเรารู้เรื่องการกดขี่บีฑาประชาชนในทุกซอกหลืบของโลกกันอย่างละเอียดมาก รู้ดีมาก รู้กระทั่งในภาษาของคนเหล่านั้นเอง รู้แทบจะชนิดได้ว่าหากให้นักวิชาการเก่งๆ ของไทยมีเวลาปลอดจากการกรอกแบบฟอร์มสักหน่อย ปลอดจากการสนอมากมายสักหน่อย ปลอดจากงานบริหารสักหน่อย ก็จะเขียนบทความดีๆ ลงวารสารวิชาการระดับโลกดังๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ

 

แต่นักวิชาการไทยที่ช่างเรียนรู้เชี่ยวชาญในการวิพากษ์สังคมต่างๆ ทั่วโลกจำนวนมาก กลับไม่สะท้อนย้อนคิดกลับมายังสังคมไทยเลย

 

คนที่เก่งเรื่อง post-colonialism จึงสามารถเพิกเฉยต่อการย่ำยีประชาชนของภาวะอาณานิคมในประเทศตนเองได้ คนที่เก่งเรื่อง feminism จึงสามารถเพิกเฉยต่อการกดขี่ทางเพศและการกดขี่ในลักษณะอื่นๆ ในประเทศไทยได้ คนที่เก่งในการวิเคราะห์ authoritarianism ในที่อื่นๆ ของโลก จึงเพิกเฉยต่อ authoritarianism แบบไทยๆ ได้

 

การเพิกเฉยนี้ไม่รู้ว่ามาจากความฉลาดแต่เรื่องนอกประเทศ ปากกล้าเก่งแต่กับเรื่องของคนอื่น หรือเพราะมองไม่เห็นตัวเองในสิ่งที่ตนเองศึกษาและวิพากษ์ จึงมองย้อนกลับมาไม่ได้ หรือเพราะตนเองนั่นแหละที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นการย้อนกลับมาวิพากษ์ประเทศไทย เพราะตนเองอยู่บนยอดของความสุขสำราญ ก็เลยไม่คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นที่อื่น ไม่ได้เกิดกับประเทศไทย กันแน่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี