Skip to main content

ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย

1. ตำรวจในภาพที่ดูน่ากลัว ชอบข่มขู่ชาวบ้าน หายไปเมื่อเขาเผชิญหน้ากับอำนาจอย่างอื่น ผมเองอาจเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจที่กลับไปข่มขู่ตำรวจได้ ตำรวจชั้นผู้น้อยแทบจะมือไม้สั่นเมื่อเอาเอกสารมายื่นให้ผมลงนาม ตำรวจไม่กล้าสบตาเมื่อผมซักไปจนเขาจนมุมด้วยเหตุผล

 

เมื่ออยู่ต่อหน้าอำนาจที่ "สูงสุด" ในกระบวนการยุติธรรมไทย คือผู้พิพากษา ตำรวจระดับ "ผู้กอง" ก็ลุกลี้ลุกลนมากได้ กลายเป็นเหมือนเด็กน้อยต่อหน้าผู้ใหญ่ที่มากอำนาจและบารมี มือไม้สั่น ตอบคำถามตะกุกตะกัก แทบสิ้นสติ ส่วนหนึ่งคงเพราะเขาเตรียมตัวมาไม่ดี หรือไม่ก็เพราะเขารู้อยู่แก่ใจว่าเขาไม่มีหลักฐานมากพอตามที่กล่าวหาผู้ต้องหาด้วย

 

2. ภาษาเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจของตำรวจไม่น้อยไปกว่าอาวุธและเครื่องมือหนักอื่นๆ ตำรวจใช้ภาษาเป็นเครื่องมือของอำนาจผ่านการจดบันทึก การทำเอกสาร การอ่าน การลงนาม ในเกมของอำนาจนี้ เห็นได้ชัดเลยว่าถ้าใครภาษาไม่ดี ใครตรรกของการสื่อสารไม่ดี ก็จะตกเป็นเบี้ยล่างได้ง่ายๆ  

 

ความน่าเป็นห่วงก็คือ ในเกมอำนาจของภาษานี้ ตำรวจใช้ภาษาได้แย่มาก ทั้งพิมพ์ผิดมาก ผิดแม้กระทั่งหัวเอกสารลงชื่อผู้ต้องหาคนหนึ่ง แต่ในเอกสารลงชื่ออีกคนหนึ่ง พิมพ์ชื่อสถานที่เกิดเหตุผิด เว้นวรรคผิด ใช้เครื่องหมายวรรคตอนผิด สะกดผิดมาก ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ใช้ภาษาไม่ค่อยเป็นตรรกเหตุผลมากนัก การจัดเตรียมเอกสาร การพิมพ์เอกสารต่างๆ ทั้งๆ ที่มีผลต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก กระทำโดยแทบจะไม่มีการไตร่ตรองตรวจทาน

 

นี่ยังไม่นับว่า ถ้อยคำทางกฎหมาย หรือ technical terms ทางกฎหมายต่างๆ มีอีกมาก ถ้าประชาชนไม่รู้เท่าทัน ถ้าทนายไม่เก่ง ไม่จริงจังพอ ถ้าผู้ต้องหาไม่มีประสบการณ์มากพอ ก็ตกหลุมพรางของอำนาจภาษามั่วๆ ของตำรวจได้ง่ายๆ

 

3. งานส่วนใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมคืองานเอกสาร กระดาษจำนวนมากถูกใช้ในงานเอกสาร ในการจัดการกับผู้ต้องหาหนึ่งคน ระบบทั้งหมดมีต้นทุนสูงมาก แค่คดีเล็กๆ ของคนคนหนึ่ง เอกสารของตำรวจก็เกือบร้อยหน้า ที่พิมพ์ซ้ำๆ ซากๆ เอกสารของทนายอีกนับร้อยหน้า ภาระของระบบในการพิจารณาชีวิตคนหนึ่งคนไม่มีน้อยทีเดียว แม้ว่าจะเป็นเพียงคดีเล็กน้อยเท่านั้น

 

เอกสารที่ทั้งกระบวนการผลิตมาให้ผู้รับผิดชอบต้องอ่านต้องพิจารณากันเหล่านี้ ไม่แน่ใจว่าทุกตัวอักษร ทุกหน้า จะได้รับการพิจารณาถี่ถ้วนแค่ไหน ยังไม่นับว่า ภาษาเขียนไม่ดีอีก ทำให้อาจจะอ่านเนื้อความคลาดเคลื่อนได้ง่าย แล้วผลคือจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้มากขนาดไหนจากเอกสารยุ่งเหยิงเหล่านี้

 

4. ในกระบวนการยุติธรรมมีการตรวจสอบถ่วงดุลกันของอำนาจหลายระดับ ศาลตรวจสอบตำรวจ ธุรการศาลมีอำนาจนอกเหนือจากศาล ทนาย ถ้าเก่ง แม่นยำ มีไหวพริบ และมีศักดิ์ศรีพอ ก็พอจะตรวจสอบถ่วงดุลตำรวจและศาลได้บ้าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับ "อะไรอื่นๆ" อีกมากมายที่มองไม่เห็น ที่นอกเหนือสถานการณ์เฉพาะหน้าของการดำเนินคดี หากดูไปหลายๆ คดี คงได้เห็นการใช้อำนาจกันหลายลักษณะมากกว่าแค่ครึ่งวันนี้

 

5. เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมไทยไม่น้อย มีกรณีที่ศาล "พิจารณา" (เขาเรียกว่า "ชี้" คืออะไรไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการ) ผ่านเทเลคอม สื่อสารกันผ่านหน้าจอทีวี ไม่ได้เจอตัวกันตรงๆ บางกรณีก็พบเจอกันตรงๆ (ไม่ค่อยเข้าใจว่าต่างกันอย่างไร หรือด้วยเหตุผลอะไร) สนทนากันต่อหน้าต่อตา

 

อีกเทคโนโลยีคือเครื่องมือ dictate น่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างผู้พิพากษากับเสมียนศาล เป็นการบอกให้พิมพ์คำพิพากษากันสดๆ ต่อหน้าผู้ร้อง ทนาย ผู้ต้องหา ผู้รวมเข้าฟัง เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วผู้พิพากษาจะแก้ด้วยมืออีกที

 

น่าจะมีการศึกษาการพิจารณาคดีและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยด้วยวิธีการแบบมานุษยวิทยากันอย่างจริงๆ จังๆ เสียที หรืองานแบบนี้จะทำแทบไม่ได้หากไม่ได้เป็นผู้ต้องคดีเสียเองก่อน การศึกษาอย่างมีส่วนร่วมด้วยการตกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแบบนี้เสียก่อนคงเป็นวิธีการที่ไม่มีนักมานุษยวิทยาคนไหนอยากทำ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์