Skip to main content
พันธกุมภา
พันธกุมภาถึง มีนาผมได้อ่านเรื่องราวของ “ลูกปัดไข่มุก” แล้ว ขออนุโมทนากับน้องอย่างยิ่ง และยังรู้สึกยินดีกับสิ่งที่น้องได้กระทำลงไป และได้พบการหนทางที่จะนำพาความสุข สงบมาให้กับตนเอง เป็นการเรียนรู้จากตัวเอง มากกว่าการเรียนรู้จากคนอื่นๆ ที่เล่าให้ฟังสู่กันมาการได้ทำสมาธินั้นได้ช่วยให้น้องได้พบกับจิตที่สงบ และเป็นจิตที่นิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตใจเริ่มปรับความละเอียดเพิ่มขึ้น สู่การเจริญสติในระดับต่างๆ ต่อไป....จะว่าไปแล้ว เดี๋ยวนี้ วัยรุ่นรุ่นเดียวกับเราๆ ก็หันมาสนใจเรื่องทางธรรมเยอะเหมือนกันนะ, ช่วงหนึ่งก็มีคนมาถามผมว่า วัยรุ่นสนใจธรรมะเพิ่มขึ้น เป็นกระแสที่ดีแบบนี้ คิดยังไง? คนถามๆ ทำนองว่า มันจะเป็นค่านิยม ฮิตธรรมะชั่วขณะเหมือนฮิตเพลงนั้น เพลงนี้หรือเปล่าที่จริงแล้ว ผมคิดว่าการที่วัยรุ่นจะชอบ จะนิยมอะไร หรือจะฮิตอะไรก็ตามแต่ มันเกิดจาก “ความสนใจ” อย่างบางคนชอบหนังเกาหลี เขาก็มีแนวทางการชอบของเขา บางคนชอบเพลงไทยเดิมก็มีแนวทางของตน ฉะนั้นยิ่งหากใครที่ชอบหรือสนใจในธรรมะนั้นก็แสดงว่าเขาสนใจในธรรมะ ทีนี้ถามว่าสนใจมากน้อยเพียงใด ก็ต้องไปดูกันในรายละเอียดของแต่ละบุคคล เพราะบางคนก็สนใจในหลักธรรมคำสอน บางคนก็สนใจเรื่องการปฏิบัติ บางคนสนใจเรื่องการเถียง สนทนาธรรม บางคนสนใจจะทำบุญที่วัด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีควรได้รับการชื่นชมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องวัยรุ่นหลายคนที่เข้าถึงธรรม ถือว่า “ธรรมะจัดสรร” ให้ตัวเองได้เข้าใกล้ธรรม บางคนจะทำยังไง จะบอกยังไงก็ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ แม้ว่าจะมีคนในครอบครัวปฏิบัติธรรมเท่าไหร่ก็ตาม หรือบางคนครอบครัวไม่สนใจเรื่องธรรมะเลย แต่ตัวเองกลับให้ความสำคัญ ... ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกได้ว่าการที่ใครจะเข้าถึงธรรมนั้น บางทีก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขรอบตัว แต่บางทีก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายในของแต่ละคนด้วยเวลาที่ไปปฏิบัติธรรม นั่งภาวนา แล้วเห็นวัยรุ่นมาปฏิบัติ ผู้ใหญ่หลายคนจะชื่นชมและเอ็นดู เพราะเข้าถึงธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย และเขาก็มักจะบอกให้ทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะหนทางเส้นนี้มีอะไรให้ค้นหาอีกมากมายว่าสำหรับอายุ, มีพี่คนหนึ่งถามผมว่า “ทำไมน้องอายุยังน้อยแล้วมาสนใจธรรม” ผมยิ้มแล้วได้ให้เหตุผล สั้นว่า “อกาลิโก” ธรรมเกิดขึ้นไม่จำกัดกาล จำกัดเวลา และไม่จำกัดวัย แถมต่อท้ายเหตุผลที่เคยเขียนไว้ คือ...
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กว่า 7 เดือนมาแล้ว...ที่ความป่วยไข้มาเยือนอย่างหนักหนาสาหัสหลังจากที่ส่อแสดงความ "แปรปรวน" ของเหตุปัจจัยมาบ้างแล้วนับย้อนทวน ก็อาจเป็นเวลากว่า 1 ปีใครเคยมีประสบการณ์แห่งความเจ็บปวดทางกายมาบ้างคงพอเข้าใจได้ว่า..หากอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดบาดเจ็บ กระทั่งทุพลภาพชั่วคราวจิตสำนึก จิตใต้สำนึก และความลังเลสงสัยที่ไม่รู้-ไม่แน่ใจ ย่อมนำไปสู่เวทนา และตามมาด้วยการปรุงแต่ง กระทั่งจบลงที่ความทุกข์อันทนได้ยากแต่ถ้าใครสักคน...มีเหตุให้ต้องเจ็บปวดไปแทบทุกข้อกระดูกทุกเส้นเอ็น ทุกมัดกล้ามเนื้อและท้ายสุด ถึงกับปวดแปลบแสบร้อนไปทั่วผิวหนังแทบทั้งกายเขาอาจจะจินตนาการไปได้ไกลสุดกู่หรือแทบหมดสิ้นกระบวนคิดเอาเลยทีเดียวผู้เขียนตกอยู่ในประเภทหลังและดูจะรุนแรงถึงระดับเกินเชื่อของใครต่อใครอยู่ไม่น้อย...จากแรกเริ่มที่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อกระดูกบางจุดโดยย้ายไปมา ตามส่วนต่างๆ เช่น หัวไหล่ ข้อศอก ข้อเท้า ข้อมือจนมาหนักที่สุดที่เข่าซ้ายขณะนั้นสรุปง่ายๆ ว่าน้ำหนักเกินเกณฑ์มามากแถมยังเดินทางบ่อย เพื่อติดตามงานที่รับผิดชอบการบำบัดด้วยการนวดแผนไทยและประคบร้อน จึงพอคลี่คลายไปได้บ้างอาการเพิ่งแสดงความพิเศษของมันที่เข่าขวาที่นอกจากจะนวดไม่หาย ประคบไม่คลาย แถมยังทำท่าอักเสบบวมแดงร้อนถึงตอนนี้หลายคนอาจสรุปว่าคงเป็นผลจากกรดยูริค และโรคเกาต์แต่ผลทางห้องปฏิบัติการไม่ตรงกันกับข้อสรุปพื้นๆ นั้นทีเดียวนักกระนั้น คุณหมอทางโรคข้อกระดูกท่านหนึ่งก็สรุปง่ายๆ เช่นนั้นไปด้วยผลก็คือ ต้องใช้ยาลดยูริค ทั้งที่ยูริคไม่มาก(จากผลแลป)ต้องลดอาหารหลายประเภท เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจากเกาต์ปฏิบัติการนี้นานร่วม 2-3 เดือนจนมีหมอพื้นบ้านชาวดาระอั้งทำยาประคบร้อนมาให้จึงช่วยให้อาการดีขึ้น(บ้าง)แต่ที่ทีเด็ดกว่านั้น คือชาวบ้าน ที่แสดงเจตนาดี(มากๆ)ด้วยความมีน้ำใจในการนำยาน้ำสมุนไพรซื้อจากรถฉายหนังเร่มาให้ลองรู้ทั้งรู้ว่านั่นต้องประกอบด้วยสเตียรอยด์เป็นแน่แต่ก็ฉลองศรัทธาต่อเนื่องไป 6-7 ขวด(ขนาดขวดสุราขาวทั่วไป)ค่าที่มันหยุดทุกขเวทนาเก่าไปจนแทบหมดสิ้นและหารู้ไม่ว่า หายนะกำลังจะมาเยี่ยมเยือนในไม่ช้าเพราะหลังจากหาข้อมูลของสเตียรอยด์ได้มากพอก็สามารถเทียบเคียงกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตนได้เองว่ามีแบบแผน และการขยายผลขึ้นมาเช่นไรน้ำหนักที่ลดลงระหว่างควบคุมอาหารหลายเดือน..ก่อนหน้าเริ่มยาหนังเร่พลิกกลับมาเพิ่มขึ้นราวทวีคูณ ใบหน้ากลมบวมฉุยิ่งกว่าคนอ้วนทั่วไปข้อเท้าซ้ายขวาบริเวณตาตุ่ม เม็ดสีผิวหนังเปลี่ยนไปเกิดตกกระ หลังมือหลังเท้าบวมพอง ฯลฯความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นทำให้ตัดสินใจลดยาหนังเร่จนหยุดไปในที่สุด พร้อมๆ กับความเจ็บปวดที่ย้อนกลับมาอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเก่าทำให้ต้องหันไปพึ่งยาแก้ปวด-บรรเทาปวดแผนใหม่ ที่มีการรับรองว่าอันตรายไม่มากนัก หลายต่อหลายชนิดดูราวกับว่า นี่เป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ปฏิบัติตนเป็นหนูทดลองยาอย่างสมบูรณ์แบบ และเอาจริงเอาจังมีเภสัชกรบางท่าน ที่ร่วมมือด้วยอย่างลับๆเพราะสงสาร-เอ็นดู หรือมุ่งจะขายยาแรงๆ แพงๆ ให้คนป่วยโง่ๆก็ไม่อาจทราบได้และแล้ว...ผลสรุปสุดท้าย ก็เป็นอย่างที่เล่าในตอนต้นกล่าวคือ ความเจ็บปวดมาเยี่ยมเยือนแทบทุกข้อกระดูก ทุกเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และผิวหนัง...กระทั่งทำไม่ได้แม้แต่จะเปลี่ยนอริยาบทพื้นๆ เช่น การขยับตัว หรือลุกขึ้นนั่งเอง(ไม่ต้องกล่าวถึงการยืนและเดิน)ความที่เป็นคนรังเกียจอาการโอดโอย คร่ำครวญ มาแต่ไหนแต่ไรและมุ่งจะพิจารณาความเจ็บปวดให้เป็นอุบายกรรมฐานยิ่งทำให้ใครต่อใครยิ่งเข้าใจผิด ว่าไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าจะรู้และยอมเข้าใจ(หรือเชื่อ) จึงเล่นเอาคนเจ็บปางตายและ "รูมาตอยด์" -เจ้าโรคแห่งความปวดร้าวแสนสาหัส เดินหน้าฝ่าแดดลมเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบอยู่ร่วมกันกับผู้เขียนมากว่า 6-7 เดือน ความทุกข์ทางกายนั้น ท่านว่าหากจิตไม่ทุกข์ด้วยก็ย่อมพอจะประคับประคองกายสังขาร ให้ดำเนินไปตามกระแสแห่งกรรม ตามอัตภาพของตนๆผู้เขียนเชื่อ และกล้ายืนยันเช่นนั้นด้วย จากการพิสูจน์ของตน...ด้วยตัวของตัวเองมาแล้วหากแต่ต้องย้ำไว้สักนิด ว่าพลังแห่งสติและสัมปชัญญะขณะปวดเจ็บจำต้องอาศัยสมาธิจิต หรือพลังใจอย่างเหลือประมาณจริงๆและการสังเกตความเจ็บปวด เพื่อพิจารณามันอย่างเรียนรู้ที่จะไม่โกรธเกลียดแม้จะให้ผลทางการยกระดับจิตแต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า กว่าจะฝ่าข้ามได้แต่ละครั้งเสี้ยววินาทีก็ยาวนานจนแทบเกินทน หรือทนแทบไม่ไหวเอาเสียเลยถึงวินาทีนี้ ที่กลับมาเริ่มเขียนบล้อคได้ก็ใช่ว่าจะหายขาดเพียงแต่สเตียรอยด์ได้กลับมายับยั้งอาการปวดอีกครั้งหนึ่ง...ต่างจากครั้งแรกตรงที่ว่า...คราวนี้มันมาในรูปยาเม็ด ที่สั่งโดยแพทย์ปริญญาและชำนาญการเฉพาะทาง โดยอ้างแบบเขินๆ ว่าต้องใช้เพื่อระงับปวดช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองได้(บ้าง)ความเรียงเรื่องความป่วยไข้ภาคแรกจบลงที่การเขียนบันทึกนี้แต่ใครจะรู้ ว่าภาคต่อๆ ไปจะเป็นเช่นไรได้เล่นบทเป็นคนไม่ป่วยหรือเหลือเพียงบันทึกให้ใครต่อใครอ่านกันในหนังสืองานศพ.............ก็สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมมิใช่หรือ?
รวิวาร
เธอบอกให้ฉันเขียนถึงความรื่นรมย์  ฉันกล่าวตอบเธอในใจ“ความรื่นรมย์ที่ขมขื่นจะเอาไหม?”   ความจริง ฉันมีความรื่นรมย์ที่เผาไหม้ สนุกสนานสำราญใจที่ถูกแผดเผา  .........................................................................
ชนกลุ่มน้อย
ขบวนรถด่วนยาวเหยียดปล่อยสองพ่อลูกลงสถานีพัทลุง   กระเป๋าเป้ใบใหญ่อย่างกับบ้านย่อมๆ  ทุกอย่างยัดอัดแน่นอยู่ในนั้น   ถ้ามีห้องน้ำยัดใส่เข้าไปได้  ผมก็คงจับยัดลงไปด้วยอยู่หรอก  อีกทั้งกล่องกระดาษ  กระเป๋าใส่ของฝาก  พะรุงพะรังอยู่ในอาการโกลาหลอยู่พักใหญ่  กว่าทุกอย่างจะวางกองอยู่ในความสงบ  
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ ความเบิกบานของผู้อื่นก็คือความเบิกบานของเธอด้วยเช่นกัน ว่าเมื่อเธอปฏิเสธส่วนใดส่วนหนึ่งของมัน ถือว่าเธอกำลังปฏิเสธส่วนนั้นของตัวเอง...” (หน้า 313-314) ปัญหาสุดท้ายและยากเย็นที่สุดก่อนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสู่โลกอารยะ นั่นคือการทำให้มนุษย์มองเห็นและเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ภายในตัวเอง กระบวนการวิวัฒน์ทางจิตวิญญาณ จะดำเนินไปตามลำดับขั้น โดยขึ้นอยู่กับพลังศรัทธาเป็นสำคัญ ขณะที่สังคมโดยรวมดูเหมือนว่า ความเจริญแห่งวิญญาณจะวิ่งสวนทางกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยี การหยัดยืนในกระแสอันเชี่ยวกรากให้ได้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ในความเป็นปุถุชน แม้ว่าลึกๆ จะฝันใฝ่ถึงสิ่งที่สูงส่ง ถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ ถึงสังคมที่ดีกว่านี้ ทว่าน้อยคนเหลือเกินจะกล้าเชื่อว่า เราสามารถทำให้มันเป็นจริงได้ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง ก่อนจะแผ่ขยายไปสู่สังคม ทั้งที่จริงๆ แล้ว ในระดับของการดำรงชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากเราไม่อาจยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น เราอาจถูกกระแสสังคมดึงให้ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เมื่อเหลียวมองรอบข้าง ไม่เห็นสิ่งที่เรียกว่าความรัก ความงาม หรือความดี ความมืดบอดในใจอาจทำให้เราคิดว่านั่นเป็นธรรมดาของโลก ใครๆ ก็ต้องเอาตัวรอด แล้วเหตุใดเล่าเราจะไม่เอาตัวรอดเช่นเดียวกับผู้อื่น ด้วยความคิดที่หดตัวเช่นนี้ จึงทำให้สำนึกโดยรวมของคนทั้งโลกตกต่ำลง สังคมส่งผลต่อปัจเจก แต่ปัจเจกก็ย่อมส่งผลต่อสังคมได้เช่นกัน ในอดีต สังคมโลกโดยรวมแม้จะยังมีความโหดร้ายป่าเถื่อนไม่ต่างจากปัจจุบันนัก ทว่า น้ำใจไมตรีและการมีชีวิตที่กลมกลืนกับโลกธรรมชาติมีมากกว่าปัจจุบัน ยุคสมัยแห่งทุนที่ชี้นำให้มนุษย์สะสมความโลภ ทำให้สังคมโลกเพิ่มแรงพุ่งทะยานไปข้างหน้าฉุดดึงมนุษย์ให้ออกห่างจากความเชื่อเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสิ่ง จิตใจที่หดแคบลงจนเหลือเพียงตัวเรา ของเรา ส่งผลต่อจิตสำนึกหมู่กลายเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบทั้งหน่วยเล็กหน่วยใหญ่ ทั้งยังมีแนวโน้มจะเสื่อมถอยลงยิ่งกว่าเดิม การหยุดยั้งหายนะของโลกซึ่งหมายถึงหายนะของตัวเราเองด้วย จึงมีอยู่เพียงวิธีเดียวนั่นคือการพยายามมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่ง การดำรงตนอยู่ด้วยภาวะแห่งการเกื้อกูลมิใช่เบียดเบียน มิใช่แยกตัวออกห่าง นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “การเคลื่อยย้ายกระบวนทัศน์” ที่ท้าทายมนุษยชาติมากที่สุด ไม่ใช่การอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กับทำลายโดยอ้างว่ายั่งยืน ไม่ใช่การค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ ไม่ใช่การค้นหาความเป็นไปได้ในการดำรงชีวิตที่ดาวอังคาร ยิ่งไม่ใช่การหาทางรอดเพียงลำพังโดยไม่มองถึงสังคมโดยรวม ฟังดูเหมือนเป็นสิ่งเลื่อนลอย เป็นอุดมคติชั่วกัลปาวสานที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่หากนี่ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ต้องการแล้ว ยังจะมีสิ่งอื่นใดอีก ? ศานติ และความเบิกบานแห่งชีวิต ยังเป็นสิ่งที่น้อยเกินไปอีกหรือ ? และแท้จริงแล้ว ความบริบูรณ์นี้ยังจะแสวงหาได้จากที่ใดอีกหากไม่ใช่ภายในตัวมนุษย์เอง คำตอบสุดท้ายของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะสรุปด้วยคำว่า “ความรัก” หรือ “ศรัทธา” แต่นี่ก็คือความรู้สึกสูงสุดและพลังงานมากมายมหาศาลที่สุด ที่มนุษย์มี แต่เห็นคุณค่าของมันน้อยเหลือเกิน การอ่านสนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 แม้ประเด็นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสังคม แต่ในที่สุดแล้ว ทุกคำถามก็ทำให้ผู้อ่านต้องย้อนกลับมามองถึงคุณค่าภายในตัวเอง ความคิดสูงสุดที่แต่ละคนมีต่อตัวเอง เพราะนี่คือสิ่งที่จะกำหนดคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในสังคม หากเราไม่ตระหนักถึงสิ่งนี้ เราย่อมไม่อาจมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ได้เลย สังคมก็จะดำเนินไปด้วยอำนาจของคนไม่กี่คน ที่ “กี๊ก” มันไว้ ไม่ยอมแบ่งให้คนอื่น นานมาแล้ว ที่ผมมักจะใช้คำแก้ตัวดาดๆ ที่ว่า “รอให้เราพร้อมเสียก่อน ค่อยช่วยคนอื่น” เพราะผมคิดว่าตนเองยังไม่ดีพอ ยังไม่พร้อมที่จะช่วยใครได้ เมื่อกลับมาคิดดูในตอนนี้ คำแก้ตัวดาดๆ นี้เป็นจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะ แม้ว่าผมจะยังไม่พร้อม แต่หากผมเห็นแก่ตัวน้อยลง ผมก็สามารถช่วยคนอื่นได้มากขึ้น แท้จริงแล้วทุกคนล้วนมีคุณค่า และสังคมก็คือภาพสะท้อนของคุณค่าที่แต่ละคนมอบให้ตนเอง คุณลงมือปลูกต้นไม้ สักวันมันก็ให้ร่มเงากับคุณ คุณลงมือก่อกองไฟ สักวันมันก็แผดเผาคุณ “ศรัทธา” ที่คุณมีให้แก่ตัวคุณเองนั้น มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คุณคิด ******************************* ** ขอขอบคุณ คุณอัฐพงศ์ เพลินพฤกษา สำหรับหนังสือสนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 และความปรารถนาดี เสมอมา
Cinemania
   ::: ข้อความหลังเส้นประของข้อเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ::: โดย...ณภัค เสรีรักษ์ภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับชื่อดัง ‘หว่องการ์ไว' (Wong Kar Wai) ที่เพิ่งเข้าฉายให้ผู้ชมในดินแดนประเทศไทยได้ชมกันตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่เพิ่งจะผ่านมา (2008) ที่มีชื่อว่า My Blueberry Nights นั้น อาจมีประเด็นต่างๆ นานาให้สามารถสร้างบทสนทนากันได้มากมายและยาวนาน แต่สำหรับในที่นี้นั้น ผมอยากจะ ‘หยิบเลือก' เพียงบางประเด็นมา ‘อ่าน' หรืออีกนัยหนึ่ง ‘สนทนา' เกี่ยวกับ ‘ตัวละคร' ในภาพยนตร์ดังกล่าว ภายใต้ความคิดเกี่ยวกับเรื่อง ‘ความทรงจำ' ซึ่งสะท้อนร่วมกับความคิดเกี่ยวกับ ‘เวลา'ในเบื้องต้น ผมคิดว่าเราๆ ท่านๆ ต่างก็มี ‘ความจำ/ความทรงจำ' ในฐานะที่เป็น ‘เรื่องราว/เรื่องเล่า' ในบางส่วนเสี้ยว หรือในบางแง่มุมของชีวิต ซึ่ง ‘เรื่องราว' ดังที่ว่านี้อาจมีสถานะเป็นทั้ง ‘แรงขับดัน' ให้กับชีวิต-ในการก้าวไปสู่ ‘อนาคต', อาจเป็น ‘โซ่ตรวน' หรือแม้กระทั่ง ‘กรงขัง' แห่งชีวิต-ให้ติดอยู่กับ ‘อดีต', หรือในบางครั้ง บางเรื่องราว, บางความทรงจำ ก็อาจไม่ได้เป็นทั้งพลังขับเคลื่อนและ/หรือพลังฉุดรั้งใดๆ ต่อชีวิตเลยสำหรับความคิดเรื่อง ‘ความทรงจำ' นั้น เราๆ ท่านๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่ถูก ‘หยิบเลือก' และรวมไปถึงการ ‘ตัดทอน' จากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ต่างพบเจอในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต เป็นเรื่องของ ‘การเลือก' ที่จะ ‘จดจำ' หรือ ‘ลืมเลือน' บางสิ่งบางอย่าง, บางเหตุการณ์, และแม้กระทั่งคนบางคน ให้ ‘อยู่' หรือ ‘ไม่อยู่' ในชีวิต หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้น, อยู่หรือไม่อยู่ในความทรงจำ ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า การหยิบเลือกหรือตัดทอนที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นภายใต้ ‘การให้ความหมาย' หรือ ‘คุณค่า'----------นี่คือเส้นประที่ว่า----------ภาพยนตร์เรื่องนี้มีใจกลางอยู่ที่ ‘การเดินทาง' ของ Elizabeth (Norah Jones) ซึ่งเริ่มต้นหลังจากเธอผิดหวังในความรัก-แฟนของเธอไปมีคนอื่น, การเดินทางอันแสนไกลเพื่อค้นหาตัวเองและพยายามจะนำพาชีวิตให้กลับเข้าร่องเข้ารอย ทำให้เธอได้พานพบพูดคุยกับผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Jeremy (Jude Law) ชายหนุ่มเจ้าของร้านกาแฟ/ café ที่แฟน (เก่า) ของเธอมารับประทานอาหารกับแฟน (ใหม่) ของเขา ซึ่งทั้งคู่ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในที่สุด, Arnie (David Strathairn) ตำรวจจราจรซึ่งติดเหล้างอมแงมเพราะเจ็บช้ำเรื่องความรักจาก Sue Lynne (Rachel Weisz) อดีตภรรยาสาวสวยของเขา และ Leslie (Natalie Portman) สาวนักพนันใจเด็ดผู้สร้างข้อเสนอสุดพิเศษให้กับเธอ, ซึ่งแน่นอนว่าผู้คน ‘แปลกหน้า' เหล่านั้น, ที่ก็อาจเรียกได้อย่างไม่ขัดเขินว่าเป็น ‘เพื่อนร่วมทาง', ได้นำทางให้เธอค้นพบเส้นทางไปสู่ร่องรอยของชีวิตใหม่ภาพยนตร์เปิดด้วยฉากใน Café ของ Jeremy อันเป็นฉากที่เผยให้เราเห็นประเด็นเรื่อง ‘การเลือกจำ' เป็นครั้งแรก ผ่านบทสนทนาทางโทรศัพท์ของเขา และนี่คือประโยคที่ Jeremy พูดกับคู่สนทนาของเขา...            "No. I'm sorry, I don't know anyone by that name."            "No, listen, I get about a hundred customers a night. I can't keep track of all of them."            "Do you know... well, tell me what he likes to eat. ‘Cause I remember people by what they order, not by their names."จากข้อความที่ยกมานี้ คงเข้าใจได้ว่าในฐานะที่เป็นเจ้าของร้าน Jeremy ไม่จำเป็นต้องจดจำชื่อของลูกค้าทั้งหมด หรือแม้กระทั่งอาจไม่จำเป็นต้องจดจำชื่อลูกค้าคนใดได้เลย หากแต่ว่าจดจำแต่เพียงสิ่งที่พวกเขาสั่ง, สิ่งที่พวกเขากิน ก็คงเพียงพอแล้ว หรือกล่าวในอีกทางหนึ่งได้ว่า สำหรับ Jeremy แล้ว ชื่อของผู้สั่งไม่ได้มีความหมาย แต่สิ่งที่มีความหมายนั้นอยู่ที่สิ่งที่ลูกค้าเหล่านั้นสั่งต่างหากแต่ตัวอย่างข้างต้นนี้อาจเป็นเพียงตัวอย่างของ ‘เรื่องราว' ที่ดูจะเรียบง่ายเป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่ผมเห็นว่ายังมี ‘เรื่องราว' หรือ ‘เรื่องเล่า' บางอย่างที่มี ‘ความหมาย' นอกเหนือไปจากสิ่งปกติในชีวิตประจำวันแต่ก็อยู่กับเราในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องเล่าที่ผูกโยง ‘อดีต', ‘ปัจจุบัน' และ ‘อนาคต' ไว้กับ ‘สิ่ง' บางอย่าง, หรือ ‘วัตถุ' บางอย่าง ซึ่งในข้อเขียนชิ้นนี้จะพยายามอธิบายประเด็นดังกล่าวผ่านความเปลี่ยนแปลงของตัวละครสองตัวจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ Jeremy และ Elizabeth    ว่าด้วย.. Elizabethเช่นเดียวกับใครหลายๆ คนที่ฝาก ‘กุญแจ' ไว้กับ Jeremy เพื่อรอให้ใครอีกคนมารับกุญแจนั้นกลับไป Elizabeth นำกุญแจห้องที่เธอเคยอยู่ร่วมกับแฟนเก่าของเธอมาทิ้งไว้ เพื่อให้แฟนเก่าของเธอมาเก็บกลับไป, ‘กุญแจ' ซึ่งเป็นวัตถุแห่งความทรงจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็น ‘ความทรงจำร่วม' ของคนที่ไขกุญแจเพื่อเปิดประตูบานนั้นไปด้วยกัน, ‘กุญแจ' ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์, ‘กุญแจ' ที่เป็นสัญลักษณ์ของ ‘อดีต' ที่ฉุดรั้ง ‘ปัจจุบัน' และ ‘อนาคต' เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ในตอนแรก Elizabeth ไม่สามารถ ‘ทิ้ง' กุญแจ, หรืออีกนัยหนึ่ง ‘อดีต', ไปได้จริง เธอจึงกลับมาหา Jeremy เพื่อเอากุญแจพวงนั้นกลับไปเอง และก็เป็นช่วงเวลานี้เองที่ Jeremy และ Elizabeth ได้ร่วมสนทนากันและปลอบประโลมกัน ‘ความทรงจำร่วม' ชุดใหม่ของเธอก็ได้เกิดขึ้น, ความทรงจำที่เกิดขึ้นร่วมกับ Jeremy ที่ร้านของเขา, ความทรงจำที่มี ‘blueberry pie' เป็นวัตถุแห่งความทรงจำ, blueberry pie ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้แย่อะไร เพียงแต่ไม่มีคนเลือกเท่านั้นJeremy : At the end of every night the cheesecake and the apple pie are always completely gone. .......But there's always a whole blueberry pie left untouched.Elizabeth : So what's wrong with the blueberry pie?Jeremy : It's nothing wrong with the blueberry pie. Just people make other choices. You can't blame the blueberry pie. It's just no one wants it.(และในขณะที่ Jeremy กำลังจะทิ้ง blueberry pie ลงถังขยะ)Elizabeth : Wait! I want a piece.ในเวลาต่อมา Elizabeth ตัดสินใจ ‘เดินทาง' ออกจากสถานที่แห่งนั้น, กุญแจดอกเดิมนั้น, ประตูบานเดิมนั้น และแน่นอน เขาคนเดิมนั้น แต่ที่เธอทำเช่นนั้นไม่ใช่เพราะเธอสามารถ ‘ตัดขาด' จากอดีตที่เจ็บปวดได้ เธอเพียงแต่ต้องการจะหนีไปให้ไกลจากอดีตเพียงเท่านั้น และในระหว่างการเดินทาง ความทรงจำชุดใหม่ที่ว่าด้วย ‘blueberry pie' กำลังก่อร่างและก้าวเข้ามาแทนที่ความทรงจำชุดเดิม ปัจจุบันของเธอค่อยๆ สลัดหลุดจากความจำขังแห่งอดีตเพื่อก้าวไปสู่อนาคต ภายหลังจากการเดินทางอันยาวนานและยาวไกล ผ่านเรื่องราวและผู้คนมากมาย เธอก็สามารถนำพาปัจจุบันของเธอกลับมา ณ ที่แห่งเดิมที่เธอได้เดินทางจากไปก่อนหน้านี้ได้อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ สำหรับ Elizabeth มันไม่ใช่ที่เดิมที่มีอดีตอันเจ็บช้ำ ถึงแม้จะเป็นสถานที่แห่งเดิม แต่ก็เป็นสถานที่แห่งเดิมที่มีความทรงจำอีกชุดหนึ่ง, ประตูอีกบานหนึ่ง, ประตู Café ของ Jeremy และ blueberry pie ของเขา และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเธอไม่ต้องการกุญแจพวงนั้นอีกต่อไป (ประเด็นนี้จะกล่าวต่อไปข้างหน้า) ซึ่งในประเด็นดังที่ว่ามานี้ อาจสังเกตได้จากการเปรียบเทียบคำกล่าวในสองช่วงเวลาซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเธอ อันประกอบไปด้วย สิ่งที่เธอพูด/คิดกับตัวเองก่อนที่เธอจะเดินทาง"How do you say goodbye to someone you can't imagine living without? I didn't say goodbye. I didn't say anything. I just walked away. At the end of that night, I decided to take the longest way to cross the street."และหลังจากการเดินทางสิ้นสุด"It took me nearly a year to get here.It wasn't so hard to cross that street after all.It all depends on who's waiting for you on the other side."จากข้อความดังกล่าว ผมเห็นว่าเราสามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงของ Elizabeth ผ่านเรื่อง ‘การข้ามถนน' (cross the street) ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการข้ามถนนในทางกายภาพ แต่เราควรมองการข้ามถนนนี้ในความหมายที่หมายถึงการ ‘ก้าวข้าม' อดีต ซึ่งหมายความว่า ในท้ายที่สุด Elizabeth ก็สามารถข้ามผ่านอดีตอันเจ็บปวดชอกช้ำไปสู่ปัจจุบันและอนาคตที่น่าจะสดใสกว่า, กับสิ่งใหม่ๆได้สำเร็จ     ว่าด้วย.. Jeremyโหลแก้วใบใหญ่ที่เต็มไปด้วยกุญแจซึ่งวางอยู่หลังเคาน์เตอร์ ใน Café ของ Jeremy นั้น ไม่เพียงบรรจุกุญแจจำนวนมากที่มีคนจำนวนเท่ากับจำนวนพวงของกุญแจมาฝากทิ้งไว้ แต่ยังบรรจุ ‘เรื่องราว/เรื่องเล่า' มากมายของกุญแจแต่ละดอกแต่ละพวงด้วย และหนึ่งในนั้นก็มี ‘กุญแจ' , ‘เรื่องราว', หรืออีกนัยหนึ่ง ‘อดีต', ของตัวเขาเองด้วยเช่นเดียวกับกุญแจของ Elizabeth และกุญแจของใครหลายๆ คนที่มาฝากไว้ที่ร้านของเขา พวงกุญแจของ Jeremy ก็เป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘ความทรงจำ' ระหว่างเขาและอดีตคนรักของเขา, Katya (Chan Marshall a.k.a. Cat Power), ผู้เดินไปจากเขาในค่ำคืนหนึ่ง มิเพียงเท่านั้น ในขณะเดียวกับการเป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงจำ มันยังเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การรอคอย' ด้วย ในความหมายที่ว่าวันใดวันหนึ่ง Katya คงเดินกลับมาและกุญแจดอกนั้นก็จะถูกนำไปใช้ไขเปิดประตูของทั้งคู่อีกครั้ง และด้วยความคิดเช่นว่า เขาจึงยังคงเก็บรักษากุญแจพวงนั้นไว้ รวมไปถึงเก็บกุญแจทุกพวงที่ทุกๆ คนนำมาฝากไว้ ถึงแม้แทบทั้งหมดจะไม่มีใครมาเอากลับไปเลยก็ตามไม่เพียงแต่การเก็บกุญแจ การที่เขายังคงไม่ย้ายไปไหนอาจมีความหมายถึง ‘การรอคอย' เช่นเดียวกัน ดังที่เขาพูดกับ Elizabeth ไว้ถึงเรื่องราวในวัยเด็กที่แม่ของเขาเคยบอกเขาไว้ว่า"She said if I ever got lost I just stay in one place so she'd find me."เขาจึงยังคงอยู่ที่ร้านเดิม, แต่แล้วในคืนใดคืนหนึ่ง การรอคอย Katya สิ้นสุดลง เธอเดินกลับมาทักทาย และบอกลา ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะยังคงเก็บกุญแจพวกนั้นอยู่ แต่ Jeremy, ซึ่งก็เติบโต/เปลี่ยนแปลงผ่านช่วงเวลาของการรอคอย, ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าเขาคงไม่ต้องการกุญแจพวงนั้นอีกต่อไป และคงไม่ต้องการจะเก็บกุญแจของใครๆ อีกต่อไปเช่นกัน เพราะเขาคงเข้าใจแล้วว่า แม้จะเก็บรักษา ‘กุญแจ'/ ‘อดีต'/ ‘ความทรงจำ' ไว้ดีเพียงไดก็ตาม แต่มันก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอ และไม่สามารถตอบทุกคำตอบได้ เพราะบางทีแม้จะมีกุญแจก็ยังเปิดประตูไม่ได้ หรือบางทีเปิดออกมาแล้วแต่ก็ไม่มีใครที่เราเฝ้ารอคอยอยู่ที่ตรงนั้น ดังจะสังเกตได้จากบทสนทนาระหว่างคนสองคนที่ว่าKatya : You still have the keys?Jeremy : Yeah, I always remember what you said about never throwing them away, about never closing those doors forever. I remember.Katya : Sometimes, even if you have the keys those doors still can't be opened, can they?Jeremy : Even if the door is open the person you're looking for may not be there, Katya.แต่การรอคอยสำหรับ Jeremy ยังไม่สิ้นสุด เขากำลังรอคอย Elizabeth อยู่กับ ‘ความทรงจำ' ชุดใหม่ที่ร้านเดิมของเขา, ความทรงจำที่ถูกผูกติดไว้กับ blueberry pie, blueberry pie ที่มักจะขายไม่ค่อยได้, แต่เขาก็รอคอยวันที่เธอกลับมากิน blueberry pie ที่ร้านของเขา, blueberry pie กับ ice-cream, นั่งตรงที่เดิมที่เคยนั่ง, สนทนากันต่างๆ นานา ฯลฯหลังจากเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งปีที่ Elizabeth เริ่มออกเดินทางค้นหาตัวเอง ในค่ำคืนหนึ่ง เธอกลับมาที่ Café ของ Jeremy อีกครั้ง พร้อมกับพบว่าเขาไม่ได้เก็บกุญแจพวกนั้นอีกต่อไป และบทสนทนาของคนสองคนที่ไม่ได้พบกันเกือบหนึ่งปีก็เริ่มขึ้นที่เรื่องของกุญแจเหล่านั้นElizabeth : Where are the keys? You don't keep them anymore?Jeremy : Been trying to give them back to their owners. Do you want yours?Elizabeth : No. I don't need them anymore. ...What about your keys?Jeremy : I got rid of them.             และตามมาด้วยเรื่อง blueberry pie...Elizabeth : Are they still left untouched at the end of the night?Jeremy : Yep, more or less.Elizabeth : Then why do you keep making them?Jeremy : Well, I always like having one around just in case you pop in and fancy a slice.  คำลงท้าย..ในท้ายที่สุด Jeremy ก็ทิ้งกุญแจดอกเดิมที่เขาเก็บไว้แสนนานไป เขาสามารถทิ้งวัตถุแห่งความทรงจำที่สำคัญของเขาไปได้ พูดอีกอย่างก็คือ เขาสามารถผลักตัวเองออกจากอดีตแห่งการรอคอยที่ไม่รู้ว่าวันที่รอคอยจะมาถึงเมื่อไรได้สำเร็จ เขาสามารถละทิ้งความสัมพันธ์ครั้งก่อนได้แล้ว ส่วน Elizabeth ซึ่งตอบว่าเธอก็ไม่ต้องการกุญแจพวงนั้นแล้ว ก็สามารถทิ้งวัตถุแห่งความทรงจำที่ผูกเธอไว้กับอดีตที่เจ็บปวดจากความสัมพันธ์เดิมได้สำเร็จเช่นกัน เธอสามารถก้าวข้ามอดีต เหมือนกับที่เธอสามารถเดินข้ามถนนได้อย่างง่ายๆ ในที่สุดอย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งคู่จะสามารถทิ้งวัตถุแห่งความทรงจำอันเก่าไปได้ สามารถก้าวออกจากอดีตไปได้ แต่พร้อมๆ กันนั้น ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ‘blueberry pie' ได้กลายเป็นวัตถุแห่งความทรงจำอันใหม่ของทั้งเขาและเธอ เป็น ‘สิ่ง' ซึ่งดึงดูดให้คนทั้งคู่กลับมาพบกัน และร้อยรัดทั้งคู่ไว้ด้วยกัน ผูกโยงทั้งคู่ให้อยู่กับปัจจุบันของกันและกัน และอาจวาดหวังไปสู่อนาคตร่วมกัน แต่ใครเล่าจะล่วงรู้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะดังที่ Katya เคยพูดไว้กับ Jeremy ว่า "บางครั้ง ถึงแม้จะมีกุญแจ แต่ประตูก็อาจจะไม่สามารถเปิดออกได้" ดังนั้นแล้ว บางที ในเวลาข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง blueberry pie ก็อาจแปรเปลี่ยนสถานะไปเป็นวัตถุความทรงจำแห่งอดีตที่เป็นดังโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งคนทั้งคู่ไว้กับเรื่องราวความทรงจำแห่งอดีตได้เช่นกัน 
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
‘ตั้ม’ อาจจะเป็นชื่อเล่นของใครก็ได้ แต่คงมีคนเดียวเท่านั้นที่ชื่อจริงว่า ‘วิศุทธิ์ พรนิมิตร’ตั้มเป็นนักเขียน เจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่ม เช่น hesheit, ควันใต้หมวก หรือประสบการณ์ส่วนตัวตอนที่ไปอยู่ญี่ปุ่นในชื่อ “ตั้มกับญี่ปุ่น” ฯลฯ แต่คุณอาจจะแปลกใจเมื่อรู้ว่าเขาเป็นนักเขียนเพราะพลิกดูผลงานของเขาแล้วล้วนแต่เป็นการ์ตูนตั้มเป็นนักเขียน...เขียนการ์ตูน ใครบางคนอาจจะสรุปอย่างนั้น..........................................
ภู เชียงดาว
“พระจันทร์กำลังขึ้นในหุบเขาผาแดง...” เสียงของเจ้าธันวา ลูกชายกวีเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น กับภาพที่ฉายอยู่เบื้องหน้า พระจันทร์ดวงกลมโตกำลังเดินทาง โผล่พ้นหลังดอยผาแดงอย่างช้าๆ ก่อนลอยเด่นอยู่เหนือยอด ลอยสูงขึ้นไปบนเวิ้งฟ้าราตรี  0 0 0 0 อีกหนึ่งความทรงจำที่ตรึงผมไว้กับการเดินทางวันนั้น เป็นการเดินทางช้าๆ ไม่เร่งรีบ เรียบง่าย ไม่มีเป้าหมาย แต่เราได้อะไรๆ จากความเรียบง่ายนั้นมามากมาย เมื่อผมนัดกับพี่ชายกวี ‘สุวิชานนท์ รัตนภิมล’ คนเขียนหนังสือ คนเขียนเพลง คนเขียนคำกวี เพื่อไปค้นหาความลี้ลับบางอย่างกลางป่า
รวิวาร
...ไม่กี่วันมานี้พบว่า การอาศัยอยู่ที่นี่เหมาะแก่การอ่าน วอลเดน* อย่างยิ่ง มีสิ่งร่วมในความคิดและประสบการณ์หลายอย่างบรรจุอยู่ในหนังสือเล่มที่เคยอ่านมาเนิ่นนาน ข้ามผ่านกาลเวลานับร้อย ๆ ปี ไม่น่าเชื่อเลยว่า บันทึกการใช้ชีวิตอย่างสมถะริมบึงชายป่าของธอโรจะหวนกลับมาสัมผัสใจ ทั้งที่ต่างยุคห่างสมัย......................................................... ฟ้าเย็นวานกว้างใหญ่ไพศาล แถบแสงจากดวงตะวันหลังเขาระบายเมฆเป็นขีดสีชมพูยาว ลูกสาวคนโตเมียงมองจากอ่างล้างจาน ร้องเรียกแม่ให้รีบมาดูก่อนเลือนหาย โลกเบื้องบนเปลี่ยนสีไปทีละน้อย ความมืดเติมส่วนผสมลงไป แปรเปลี่ยนสีสันของฟากฟ้า ค่อย ๆ เจือจาง เกลี่ยแทรก ไม่ให้รู้สึกว่าถูกจู่โจม ฝีเท้าของรัตติกาลแผ่วเบานัก  เรายังยืนคุยกันอยู่นอกบ้าน ระหว่างที่ฉันเตรียมน้ำอุ่นให้ลูกอาบ สามีนำรถเข็นไปเก็บไว้ในเพิง ลูกคนเล็กคราดหญ้าแห้งที่พ่อเพิ่งตัดมาสุมรวมเป็นรังหมาในหลุมที่พวกมันขุดเล่น เพียงครู่เดียวเมื่อหันไปมองฟ้า ดาวดวงเล็ก ๆ สดใสหลายดวง จุดตัวเองแล้วที่ขอบโลก เปล่งประกาย พริบพราวเหมือนเพชรเม็ดใหม่ เมื่อยามบ่าย เรานั่งหย่อนขาอยู่นอกชาน สายลมพัดหมู่เมฆลอยข้ามท้องฟ้า ทัพเมฆยาตราเคลื่อนพลข้ามสนามประลองท้องนภาอย่างรวดเร็ว ไปสู่ที่ใด แห่งหนไหน ในโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ หากความงามตระการตรงหน้าแปลงเปลี่ยนเป็นเงินตราได้คงดี ในใจรู้สึกราวคนเกียจคร้าน มันอิ่มเอิบ เป็นสุขเสียจนนึกสงสัยว่า นี่ฉันต้องดิ้นรน ไขว่คว้าหาสิ่งใด...
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
วิถีในทางโลกและทางธรรมมันเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามและสวนทางกันแทบทุกกรณี เช่น ในขณะที่ทางโลกสอนให้เรายึดมั่นถือมั่นเอาโน่นเอานี่ แต่ทางธรรมกลับสอนให้เราลดละปล่อยวางทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุธรรมและนามธรรม เพื่อจะนำชีวิตไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ จากมุมมองของผม ซึ่งเป็นคนที่ยังมีกิเลสค่อนข้างหนาหนัก ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ยากแสนยากที่ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆที่ยังติดข้องอยู่ในโลก จะเดินเข้าไปสู่ทางธรรมได้ ถ้าหากไม่มีเหตุปัจจัยอะไรสักอย่าง ทำให้เกิดความศรัทธาและแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวง ดึงดูดให้เข้าไปโดยเฉพาะการเดินเข้าไปสู่ทางธรรมในฐานะนักปฏิบัติ เพราะมีแต่เรื่องที่ต้องฝืนใจและฝืนความเคยชินที่เราคุ้นเคยไปแทบทุกอย่างเมื่อพระผู้เริ่มฝึกหัดปฏิบัตินั่งวิปัสสนากรรมฐานองค์หนึ่ง ณ สำนักปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานชื่อดัง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งประเทศ ได้เกิดความหงุดหงิดและรำคาญเพื่อนพระที่เริ่มมาฝึกหัดปฏิบัติด้วยกัน เพราะไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติ และได้ปรารภกับหลวงพ่อชาในเชิงขอความเห็นว่า“มีหลายครั้งหลายหน ที่ดูพระหลายรูปที่นี่ไม่ฝึกปฏิบัติ ดูท่านไม่ใส่ใจจะทำหรือขาดสติ เรื่องนี้กวนใจผม”คำตอบจากหลวงพ่อชา แทนที่จะเป็นคำตอบที่ผมคาดหมายเอาไว้ตามฐานและกรอบการคิดที่เราคุ้นเคยกัน กลับเป็นคำตอบที่ตรงกันข้าม และทำให้ผมรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าจนแน่นิ่ง…และหยุดคิดว่า“มันไม่ถูกต้องที่จะคอยจับตาดูผู้อื่น นี่ไม่ช่วยการฝึกปฏิบัติของท่านเลย ถ้าท่านรำคาญใจก็จงเฝ้าดูความรำคาญในใจของท่าน ถ้าศีลของคนอื่นบกพร่องหรือเขาเหล่านั้นไม่ใช่พระที่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องของท่านที่จะไปตัดสิน ท่านจะไม่เกิดปัญญาจากการจับตาดูผู้อื่น ไม่มีใครสามารถปฏิบัติให้ท่านได้ หรือท่านก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ผู้อื่นได้ จงมีสติในการปฏิบัติของตัวท่านเอง และนี่คือแนวทางของการปฏิบัติ”
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
สำรวจลงไปในกระเป๋าหรือย่ามของความฝัน พบสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ก้นย่ามคือการทำร้านกาแฟเล็กๆ ที่มีมุมหนังสือวางเอาไว้ให้คนจิบกาแฟละเมียดตัวอักษร
รวิวาร
เรามาอยู่ที่นี่ใช่โดยน้ำพักน้ำแรงเราลำพัง  กว่าจะปลูกสร้างกระต๊อบได้ทั้งหลัง  อาศัยน้ำจิตน้ำใจและการหยิบยื่นไมตรีจากหลายชีวิตขอขอบคุณคุณแม่ของเราทั้งสองที่เลี้ยงดูเรามา ให้ได้รับการศึกษาอย่างดี  จากสถาบันที่มีเนื้อหา มีทรัพยากรและประวัติศาสตร์ซึ่งเอื้อโอกาสให้เราได้เป็นอย่างเช่นทุกวันนี้  ขอบคุณที่แม่ไม่เคยปล่อยให้เราอดอยาก   แม้จะมีช่วงเวลายากลำบาก  แต่ก็ได้เรียนรู้  ฝ่าฟัน  เข้าอกเข้าใจ (ลูกขอบคุณและซาบซึ้งใจอย่างที่สุดที่แม่เพียรพยายามแม้จะยากลำบากเพื่อที่จะเข้าใจวิถีของลูก  และปล่อยให้ลูกได้เลือกเส้นทางชีวิตของตนอย่างอิสระ)