Skip to main content
ประสาท มีแต้ม
นายทหารยศพันตรีท่านหนึ่ง (พ.ต.รัฐเขต แจ้งจำรัส) ได้ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชนผ่านเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า “ปิโตรเลียมซึ่งได้แก่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้แผ่นดินไทยทั้งบนบกและในทะเลทั้งหมดมีมูลค่าถึง 100 ล้านล้านบาท” เงินจำนวน 100 ล้านล้านบาท(ล้านสองครั้ง)นี้ ถ้าเอามาจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดินในปีปัจจุบันก็จะได้ประมาณ 62 ปี เพราะงบประมาณปีหน้า (2552) มีประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ข้อมูลที่นายทหารผู้นี้นำเสนอล้วนเป็นข้อมูลของทางราชการที่เข้าใจยาก กระจัดกระจาย แต่ท่านได้นำมารวบรวม วิเคราะห์ แล้วสรุปให้ประชาชนธรรมดาสามารถเข้าใจได้ง่าย แผ่นภาพข้างล่างนี้ผมได้รับมาจากท่านด้วยความขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง โปรดสังเกตว่า ซ้ายมือด้านล่างของแผ่นภาพ มีตราสัญลักษณ์ของกระทรวงพลังงานอยู่ด้วยเรียบร้อย สำหรับข้อความทางขวามือเป็นของท่านครับ
dinya
ก่อนจะนั่งลงเขียนคอลัมน์นี้ ไม่อยากเชื่อเลยว่า 72 ชั่วโมงที่ผ่านมานี้เอง 7 ประเทศ กำลังผจญกับวิกฤตพายุถล่มและน้ำท่วมชนิดที่ยังรอการช่วยเหลือและสรุปยอดผู้เสียชีวิตยังไม่ได้ เริ่มตั้งแต่เยอรมนี เจอพายุหนักทางตอนใต้ของประเทศ จนต้องปิดถนน บ้านหลายหลังพังพินาศ มาถึงประเทศยูเครน ที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 16 คน ประชาชน 2 หมื่นกว่าคนอยู่ในความมืดเพราะไม่มีไฟฟ้า ตามด้วยโรมาเนีย ที่ประกาศอพยพคนออกจากเมืองนับสิบเพราะน้ำกำลังท่วมอย่างหนัก ส่วนพายุที่กระหน่ำเกาะเหนือของ นิวซีแลนด์ นั้นมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 3 คน และผู้สูญหายอีกหลายคน ดูเหมือนฝั่งยุโรปอาจจะดูไกลไปหน่อย กลับมาที่เอเชียของเราที่ ไต้หวัน เพิ่งผ่านศึกหนักจากพายุไต้ฝุ่น “คัลเมจิ” ไปไม่ถึงสัปดาห์ ก็เจอกับพายุ “ฟองวอง” (Fung-Wong) ซึ่งเป็นชื่อยอดเขาของจีน ตามลักษณะการตั้งชื่อที่ตกลงกันไว้ของคณะกรรมการไต้ฝุ่นเมื่อต้นปี 2008 นี้ ที่ให้แต่ละประเทศมีชื่อพายุได้ 10 ชื่อเป็นภาษาท้องถิ่น
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม จากปัญหาที่ผู้บริหารทั้งระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) “อ้าง” หลายครั้งหลายวาระด้วยกันว่า ก๊าซหุงต้มในประเทศไทยขาดแคลน ทาง บริษัท ปตท. จึงได้ออกมาบอกกับสาธารณะในสามประเด็นหลัก คือ (1) เสนอแนะให้รัฐบาลขึ้นราคาหรือลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มให้เท่ากับราคาตลาดโลก(2) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาทาง ปตท. ได้นำเข้าก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีแล้วจำนวน2 หมื่นตัน ขณะเดียวกันผู้บริหารระดับสูงสุดอ้างว่าในปีนี้จะมีการนำก๊าซถึง 4 แสนตัน (3) ราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลกตันละเกือบพันเหรียญสหรัฐ แต่ราคาก๊าซในประเทศอยู่ที่ตันละประมาณ 300 เหรียญ ทำให้รัฐต้องเสียเงินชดเชยราคาเป็นจำนวนมาก ผมเกิดความสงสัยในข้อมูลดังกล่าว จึงได้ทำการสืบค้นทั้งจากกรมศุลกากรซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการเก็บภาษีนำเข้า-ส่งออกและจากกระทรวงพลังงานที่ดูแลข้อมูลนี้โดยตรง ก็ไม่พบว่าได้มีการนำเข้าก๊าซหุงต้มทั้งในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2551 แต่อย่างใด นอกจากจะไม่ได้มีการนำเข้าแล้ว ยังมีการส่งออกอีกต่างหาก ข้อมูลของทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวก็ช่างตรงกันพอดี ผมจึงสรุปว่า คำกล่าวข้อที่ (2) ของ ปตท. เป็นเท็จ สำหรับข้อที่ (3) ผมวิจารณ์ว่าเป็นการให้ข้อมูลเพียงครึ่งเดียว ความจริงแล้วราคาก๊าซในประเทศที่มีอากาศหนาวราคาก๊าซจะต่างกันเกือบครึ่งต่อครึ่งในแต่ละปี สำหรับข้อ (1) ที่ ปตท. เสนอแนะให้รัฐบาลขึ้นราคา ผมไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ครับ แต่ผมพอจะจำความได้ว่า เดิมทีเดียวนั้น บริษัท ปตท. มาจาก “น้ำมันสามทหาร” ที่มีปรัชญาหลักว่า “เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของทหารและชาติ” ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของบทความที่ชื่อว่า “จับเท็จ ปตท. กรณี “นำเข้าก๊าซหุงต้ม””
สุมาตร ภูลายยาว
เสียงไก่ขันสลับกับเสียงกลองจากวัดบนภูเขาดังกระชันถี่ขึ้น เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่ายามเช้าใกล้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในรอบหนึ่งเดือน เสียงกลองยามเช้าจากวัดจะดังอยู่ ๘ ครั้งต่อเดือน เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า ‘วันนี้วันพระ’ เมื่อลองมาไล่เรียงตัวเลขบนปฏิทินก็รู้ว่า วันนี้เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ในทางพุทธศาสนาแล้ว วันนี้ถือเป็นวันก่อเกิดสิ่งมหัศจรรย์ ๓ อย่างพร้อมกัน คือวันนี้เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นปฐมบทแห่งศาสนาพุทธ ไก่ขันครั้งสุดท้ายล่วงเข้ามา หลายบ้านเริ่มตื่นขึ้นมาก่อไฟหนึ่งข้าว และทำอาหารเช้า พอพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าได้ไม่นาน ทิวแถวของผู้คนในหมู่บ้านก็เดินตามกันขึ้นไปตามทางเดินอันไปสู่ลานวัด ในมือของแต่ละคนมีกระติ๊บข้าวเหนียว และอาหาร บางคนมีดอกไม้ และน้ำสำหรับนำไปกรวด เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปหาเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย บนบ่าของแต่ละคนจะมีผ้าสไบขนาดกว้างประมาณ ๒ คืบพาดเฉียงเอาไว้ทั้งชายหญิง ใบหน้าของแต่ละคนอิ่มเอิบ ในทิวแถวของชาวบ้านที่เดินขึ้นไปบนวัด ใช่ว่าจะมีแต่คนในหมู่บ้านเท่านั้น ยังมีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นๆ อยู่ในกลุ่มของชาวบ้านทั้งหมดด้วย ในความเป็นจริงแล้ว วัดแห่งนี้มีพระจำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว แต่วันนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ พระในวัดจึงเพิ่มขึ้นมาอีก ๕ รูป ความพิเศษของวันนี้จะมีขึ้นหลังพระฉันภัตตาหารเช้าเสร็จสิ้น เพราะในตอนสายของวันนี้ ชาวบ้านจะได้ร่วมกันจัดงาน ‘บวชน้ำ สร้างวังสงวน’
dinya
ตอนที่แล้วเล่าถึง “หลุมยุบ” หรือ Sinkhole ในต่างประเทศไปแล้ว คราวนี้มาดูหลุมยุบในบ้านเรากันบ้างนะคะ ย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเป็นต้นมา (2547) หลายคนบอกว่า มีข่าวหลุมยุบให้ฟังอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่รู้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน มาดูตัวเลขที่กันดีกว่าค่ะ หลุมยุบในประเทศไทย ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กรมทรัพยากรธรณีแจ้งว่า มี “หลุมยุบ” ที่ได้รับแจ้งและเข้าไปตรวจสอบแล้วถึง 53 หลุม ใน 16 จังหวัด แน่ะ ไม่นับรวมกับที่เราสังเกตไม่เห็น อยู่ลึกจนไม่มีใครพบ หรือ พบแล้วแต่ไม่ได้แจ้งนะคะ ในวันเดียวกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ คือ 26 ธันวาคม 2547 นั้น เกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว 19 จุด ส่วนใหญ่เกิดใน 4 จังหวัด คือ สตูล พังงา กระบี่ และตรัง บางส่วนเกิดในอ่าวไทยและจังหวัดเลย
kanis
ซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ และไอระเหยตะกั่ว รั่วจากเขตประกอบการไออาร์พีซี...ส่งกลิ่นคลุ้งรุนแรง  ชาวหมู่ 4 ตะพงแตกตื่นหนีตายจ้าละหวั่น  .วันนี้ 18 กรกฎาคม  2551 เวลา 10.00 น. บริเวณหมู่ที่ 4  ตำบลตะพง  อำเภอเมือง  จังหวัดระยอง  ซึ่งเป็นชุมชนพื้นที่ติดกับเขตประกอบการของบริษัท ไออาร์พีซี  ได้มีชาวบ้านแจ้งว่าได้กลิ่นแก๊สเหม็นอย่างรุนแรงออกมาจากเขตประกอบการไออาร์พีซี  เป็นเวลาติดต่อกันถึง 4 ชม. เกรงว่าจะมีก๊าซรั่วไหลออกมาจึงได้พากันอพยพย้ายหนีออกจากพื้นที่  ภายหลังที่เห็นว่ากลิ่นเริ่มจางลงจึงได้พากันกลับเข้ามาดู  ก็พบว่าพืชผักที่ชาวบ้านปลูกไว้  เกิดอาการเฉาตายจำนวนมาก เป็นบริเวณกว้าง  คาดว่าจะได้รับพิษจากก๊าซที่รั่วไหลมาจากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตประกอบการไออาร์พีซี  .ซึ่งชาวบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลตะพง  อำเภอเมือง  จังหวัดระยอง  ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังนายสุทธิ  อัชฌาศัย  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก  เพื่อขอให้ช่วยประสานหน่วยงานรัฐฯให้มาตรวจสอบข้อเท็จจริง  ซึ่งนายสุทธิ  ได้ประสานไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด และนายอำเภอเมืองระยอง  ก็พบว่าน่าจะเกิดจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์  Nox  และไอระเหยของสารตะกั่ว  ที่เกิดจากโรงงานในเขตประกอบการไออาร์พีซี  จนเป็นเหตุให้ใบไม้ และต้นไม้ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นชุมชนหมู่ที่ 4 ตำบลตะพง เกิดอาการเหี่ยว เฉาและตายลง  และยังมีผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจของประชาชนที่สูดดมเข้าไป  นางยุพิน  เหลืองอร่าม  ชาวหมู่ 4 ตำบลตะพง  เล่าเหตุการณ์ให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า  ปกติบริเวณหมู่ 4 ตะพงนี้  ก็จะมีกลิ่นก๊าซโชยมาอยู่ทุกวันอยู่แล้วเพียงแต่กลิ่นไม่รุนแรง " กลิ่นแก๊สมันมาทุกวันละ  ดมจนชินแล้ว  แต่มาเมื่อสายนี่แหละ  อยู่ๆกลิ่นมันก็รุนแรงขนาดนอนอยู่ในบ้านยังถึงขนาดวิ่งออกมาอาเจียนเลอะเทอะเต็มบ้าน  รู้สึกตกใจมาก กลัวไปหมด  ยิ่งกลับมาเห็นต้นไม้ตาย ยิ่งกลัว ไม่รู้ว่าอยู่กันได้หรือเปล่า"  นางยุพิน กล่าวด้วยสีหน้าเป็นกังวล  .นายสุทธิ  ได้เก็บตัวอย่างของต้นไม้ที่ตายเพื่อส่งให้ทางนักวิชาการได้ช่วยตรวจสอบว่าจะมีสารพิษอะไรตกค้างหรือไม่  เพื่อให้ชาวบ้านได้สบายใจ และได้แจ้งไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด  สิ่งแวดล้อมจังหวัด  และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อหาสาเหตุและลงโทษดำเนินคดีกับโรงงานที่ทำผิดต่อไป  โดยให้เวลา 7 วัน ถ้ายังเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้  ชาวบ้านจะนัดชุมนุมเพื่อหาผู้กระทำผิดต่อไป. . . . . . ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านนายอำเภอเมืองระยอง
kanis
เรนโบว์ วอร์ริเออร์ลอยลำประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาบตาพุด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกร่วมกับกรีนพีซตะวันออกเฉียงใต้..แถลงค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในระยอง..แฉ โกลว์บิดเบือนข้อมูล  วันนี้ 16 กรกฎาคม  2551 เวลา 13.00 น. โรงแรมระยองเพรสซิเดนท์  อำเภอเมืองระยอง  จังหวัดระยอง  นายธารา  บัวคำศรี  ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  พร้อมด้วย  นางสาวสายรุ้ง  ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์ผู้บริโภค และคณะทำงานในคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาล วุฒิสภา  นายสุทธิ  อัชฌาศัย  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา  ได้ร่วมกันแถลงข่าว  หลังจากการณรงค์ของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เพื่อคัดค้านการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดระยองเมื่อวานนี้ (15 ก.ค. 2551) ส่งผลให้กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และตัวแทนคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา  ออกโรงร่วมแถลงไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เก็คโค่-วัน และวิจารณ์นโยบายด้านพลังงาน กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (PDP) ของรัฐบาล พร้อมผลักดันให้มีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในประเทศไทยบริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ได้ออกแถลงการณ์ณ์ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้สะอาดและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ทั้งๆที่มีเท็จจริงคือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด  ถึงแม้เราจะนำไปผ่านกระบวนการใดๆก็ตาม  แม้แต่การดักจับคาร์บอนหรือฝังกลบใต้ธรณี ก็ยังไม่สามารถกำจัดความสกปรกและสารพิษของถ่านหินได้  วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างของผู้สนับสนุนถ่านหินเท่านั้น  ถ่านหินยังทำลายสภาพภูมิอากาศและส่งผลกระทบด้านสารพิษไปยังชุมชน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่อีก 31 โรงนายสุทธิ  อัชฌาศัย  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา  กล่าวถึงกระบวนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยว่า " การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่ - วัน จะต้องหยุดดำเนินการทันที  จนกว่าจะมีการพิจารณาถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ "นางสาวสายรุ้ง  ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์ผู้บริโภค และคณะทำงานในคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาลวุฒิสภา  กล่าวถึงข้อบกพร่องของแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่เน้นถ่านหินและนิวเคลียร์ รวมทั้งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้นโดยไม่จำเป็น " เราต้องการเห็นรัฐบาลเป็นผู้ปูทางพลังงานหมุนเวียนให้แก่อนาคตของประเทศ เราต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนการใช้งบประมาณเพื่อผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ เพื่อมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและประสิทธิภาพพลังงาน  ยกร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนด้วยผลตอบแทนที่มั่นคง และสามารถคาดการณ์ได้ เพื่อรับประกันว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะได้รับความสำคัญในการเข้าถึงสายส่งไฟฟ้าก่อน  และการยกร่างให้มีมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานที่เข้มงวดและโครงการการจัดการด้านความต้องการไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันได้  เพียงแต่รัฐบาลลดละเลิกการอุดหนุนถ่านหินและนิวเคลียร์ "หลักการ " ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย" ที่ผ่านมา พลังงานฟอสซิลและนิวเคลียร์นั้นได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ราว 250 พันล้านเหรียญต่อปี   " เราควรเปลี่ยนแปลงการลงทุนดังกล่าวนั้น  มาให้กับแหล่งพลังงานที่จะช่วยเรายุติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย "นายธารา  บัวคำศรี  ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านถ่านหิน นิวเคลียร์ และเชื้อเพลิงฟอสซิล และสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยแล้ว 3,000 คน เพื่อส่งไปยังกระทรวงพลังงาน สามารถร่วมลงชื่อผลักดันพลังงานหมุนเวียนได้ที่ http://www.greenpeace.or.th/  หลังจากการรณงค์ในนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ได้มุ่งหน้ามายังประเทศไทยเพื่อรณรงค์ " หยุดถ่านหิน ก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน" ซึ่งมีจุดประสงค์สนับสนุนทางอออกเพื่อกู้วิกฤตโลกร้อน นั่นคือ การปฏิวัติพลังงานซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่เส้นทางพลังงานหมุนเวียนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสันติภาพ  กรีนพีซนั้นทำงานการรณรงค์ด้วยการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ  เรนโบว์ วอร์ริเออร์ จอดทอดสมออยู่ท่าเรือมาบตาพุด ระยอง
ประสาท มีแต้ม
1. ประเด็นปัญหา ขณะนี้ บริษัท ปตท. ได้บอกกับประชาชนว่าก๊าซหุงต้มหรือที่เรียกกันในวงการว่าก๊าซแอลพีจี (Liquefied petroleum gas) ในประเทศไทยกำลังขาดแคลน และได้แนะนำให้รัฐบาลขึ้นราคาก๊าซชนิดนี้ โดยเฉพาะที่ใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์แท็กซี่ (นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บมจ. ปตท. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Hard Topic ทาง Money Channel , 7 กรกฎาคม 2551) นอกจากนี้นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.กล่าวว่า “ความต้องการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้ต้องนำเข้าแอลพีจี 4 แสนตัน” (ไทยรัฐ 11 กรกฎาคม 2551)
dinya
สองภาพข้างบนนี้ดูเหมือนเป็นทะเลสาบสวยๆ ที่มีน้ำใสๆ เย็นๆ น่าไปเที่ยวเล่น พายเรือ ถ่ายรูปหรือดำน้ำ ทำนองนั้นไหมคะ ? แต่รู้ไหมว่า เนี่ยแหละ มันคือหน้าตาของ El Zacatón Cenote หรือ “หลุมยุบ” (sinkhole) ที่มีความลึกที่สุดในโลกล่ะ !
สุมาตร ภูลายยาว
สุมาตร ภูลายยาว เฆมฝนสีดำทะมึนฉาบไปทั่วทิศทาง เรือหาปลาลำเล็กหนึ่งลำ และเรือลำใหญ่สองลำค่อยๆ เคลื่อนออกจากฝั่งริมแม่น้ำ เพื่อลอยลำไปยังเบื้องหน้าแท่งคอนกรีตอันเป็นสัญลักษ์ของความชั่วร้ายในนามการพัฒนามาหลายปี เมื่อเรือไปถึงกลางแม่น้ำ คนบนเรือค่อยๆ คลี่ผ้าขาวที่ห่อหุ้มถ่านเถ้าเบื้องหลังความตายแล้วปล่อยถ่านเถ้านั้นไหลลอยไปกับสายน้ำริมฝั่งดอกไม้ทั้งดอกจำปา ดอกเข็มแดง ดอกดาวเรือง ต่างเข้าแถวเรียงรายกันไหลไปตามแม่น้ำ หลังจากมันถูกปล่อยออกจากกรวยใบตองในมือคนริมฝั่ง ถัดออกไปจากริมฝั่งพ่อทองเจริญกับพ่อดำ ได้พาชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปขอขมาแม่น้ำ และรับขัวญแม่น้ำไหลจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูนถ่านเถ้ากลุ่มนั้นลอยไปเรื่อยๆ ตามสายน้ำ และไหลไกลออกไปจนไปถึงปลายสุดของแม่น้ำที่ออกสู่แม่น้ำสายใหญ่...
Hit & Run
  คิม  ไชยสุขประเสริฐ   5 ก.ค. 51  เยือนโขงเจียม แดนตะวันออกสุดเขตประเทศไทย ที่ว่ากันว่าเห็นตะวันก่อนใครในสยาม (อีกครั้ง) แล้วเวลาแห่งการรอคอยของชาวบ้านปากมูนก็มาถึง เมื่อประตูบานเขื่องทั้ง 8 บานของ "เขื่อนปากมูล" ถูกยกขึ้นเพื่อปลดปล่อยฝูงปลาให้เวียนว่ายท้าทายกระแสน้ำขึ้นสู่ต้นน้ำตามวัฎจักร ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล หลังจากที่ "เขื่อนปากมูล" ต้องถูกปิดมากว่า 1 ปีเต็ม  ที่ผ่านมา "เขื่อนปากมูล" กับการต่อสู้ของ "ไทบ้านปากมูน" เป็นที่รับรู้มานานปี และดูเหมือนว่าวันนี้ ชาวบ้านในพื้นที่จะยังคงความเข้มแข็งไม่ต่างจากเมื่อตอนที่ได้มาเยี่ยมเยือนชาวบ้านในครั้งแรก แม้ว่าระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านไป พวกเขาจะต้องพบกับการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คงทำให้หัวใจนักสู้ของพวกเขาสั่นไหวไปมากพอดู เพราะปัญหาของพวกเขายังไม่จบ ชาวบ้านยังคงต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปโดยการอยู่ร่วมกันเขื่อนที่พวกเขาไม่เคยต้องการให้ได้ และต่อสู่ต่อไปเพื่อสักวันตัวแทนการพัฒนาอย่างเขื่อน จะไม่มีความชอบธรรมในการดำรงอยู่อีกต่อไป   ..................... 30 มิ.ย.50  เดินทางสู่ อ.โขงเจียม จ.อุบลครั้งแรก  สิ่งที่ฉันได้รับรู้... ชาวบ้านได้หลั่งน้ำตามาครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ช่วงต้นของการก่อสร้าง "เขื่อนปากมูล"  จนกระทั่งเขื่อนสร้างเสร็จเมื่อปี 2537 หลังจากการต่อสู้ไม่ให้ก่อสร้าง มาจนถึงต่อสู่กับปัญหาค่าเวนคืนและค่าชดเชย ที่ กฟผ.เจ้าของโครงการยังไม่สามารถเยียวยาความเดือนร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ความเจ็บปวดที่ไม่อาจลืมเลือน คือ ‘เขื่อน' ได้ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียวิถีชีวิต และอาชีพการทำประมงพื้นบ้านที่เคยทำให้ชาวบ้านมีอยู่มีกินเลี้ยงครอบครัวก็แทบต้องสูญสลายไป เพราะประตูเขื่อนหนาหนัก 8 บานได้ขวางกั้นลำน้ำเส้นเลือดใหญ่ของพวกเขา พร้อมสกัดกั้นเหล่าปลาที่จะต้องขึ้นไปวางไข่บนต้นน้ำ  บันไดปลาโจนแห่งแรกของประเทศไทยที่ว่าสร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลา ให้ปลาได้ใช้ข้ามไปวางไข่ ชาวบ้านก็ไม่เคยได้เห็นว่าปลาตัวไหนจะสมารถกระโจนผ่านความสูงชันของมันขึ้นไปได้ หรือจะมีสักกี่มากน้อย... ไม่มีข้อพิสูจน์ และไม่มีใครอยากพิสูจน์อีกต่อไป กว่า 13 ปี ที่ชาวบ้านต้องต่อสู่อยู่กับการให้ปิด-เปิดเขื่อน ทั้งด้วยการพยายามหาข้อมูล เข้าหานักวิชาการ ทำการวิจัยแบบชาวบ้าน ไปดูศึกษาพื้นที่ปัญหาต่างๆ ยื่นจดหมายต่อหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการเดินขบวนเคลื่อนไหวเรียกร้อง แต่แล้วสุดท้ายการตัดสิ้นชี้ขาดชะตาชีวิตของพวกเขาก็ตกอยู่ในมือรัฐบาลที่กุมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางของประเทศ และแทบไม่เคยลงมาสัมผัสความเป็นจริงที่ชาวบ้านต้องประสบ หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ครม.ในรัฐบาลที่นำโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีมติให้ปิดเขื่อนปากมูลถาวร โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูลไว้ที่ระดับ 106-108 ม.รทก.ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ครม.ได้มีมติให้เปิดประตูเขื่อน ในวันที่ 17 มิถุนายน ด้วยเหตุผลของรายชื่อ 2 หมื่นกว่ารายชื่อที่คัดค้านการเปิดเขื่อนได้ถูกส่งไปยัง ครม.ผ่านทางคนมีสี...  คลื่นความทุกข์ของชาวบ้านได้สาดซัดมาอีกระลอก นับเป็นอีกครั้งหนึ่ง ของการใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปิดเขื่อนปากมูล หลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไปสำรวจความเห็นของชาวบ้านใน อ.โขงเจียม อ.สิรินธร อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อทำให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นพียงคนกลุ่มน้อยที่ไม่ต้องการเขื่อน ไม่ต้องการให้มีการปิดเขื่อน และนำไปสูการจัดการตามความต้องการของคนส่วนใหญ่  การกระทำของรัฐทั้งสองครั้งต่างกันเพียงแค่รัฐบาลเก่ายอมเปิดทางให้ชาวบ้านทำกิน 4 เดือน แต่รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งจากคนดีมีศักดิ์มีศรีในสังคมคนเมืองได้ปิดทางของพวกเขาจนหมดสิ้น ............ 14 ปีที่ผ่านพ้นมา ชาวบ้านปากมูนถูกจับให้อยู่ในฐานะของคนส่วนน้อยที่ต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่ เสียสละเพื่อประเทศชาติ และผลักไสพวกเขาไปสู่ความทุกข์ยากลำบาก จนต้องดิ้นรนต่อสู้พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ และข้อมูลต่างๆ ความทุกข์ที่พวกเขาได้รับ ช่วยสั่งสมให้ชาวบ้านธรรมดาๆ คนตัวเล็กตัวน้อยที่พร่ำพรรณนาถึงความทุกที่ไม่มีใครได้ยิน ให้เติมเต็มคุณค่าในตนเอง จนทำให้สามารถลุกขึ้นยืนหยัดเผชิญหน้าถกเถียงแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเจ้านาย ทั้งข้าราชการ นักการเมืองมีอำนาจที่พวกเขาเคยเกรงกลัว ได้อย่างฉะฉานและมีเหตุมีผล  "สิ่งเหล่านั้นมันเป็นการเรียนรู้ด้วยชีวิต" แม่สมปอง เวียงจันทร์ หนึ่งในแกนนำชาวบ้านปากมูลบอกกับเรา วันนี้... แม้จะมีคำถามถึง กระบวนการบริหารจัดการน้ำที่ย้อยถอยหลังมาสู่การดูแลโดยคณะกรรมการร่วมที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ว่าจะเกื้อหนุนการแก้ปัญหาของชาวบ้านได้มากแค่ไหน  แต่ชาวบ้านก็ยังคงมีความหวังอยู่เสมอ และพร้อมจะยืนหยัดเดินหน้าต่อสู้ปัญหาต่อไป ................... วันนี้ประตูเขื่อนเปิดแล้ว แต่คนปากมูลยังหาปลาได้ไม่มากอย่างที่คิด มีชาวบ้านบอกเราว่าอาจเป็นเพราะการเปิดเขื่อนล่าช้ามาเกือบ 2 เดือน จากที่ปลาจะมาวางไข่ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมทำให้ปลาหายไป  "ฝนมาปลามา ปลามันชอบน้ำใหม่" ชาวบ้านยังบอกเราอย่างมีความหวัง เพราะไม่กี่วันที่ผ่านมาพยากรณ์อากาศบอกไว้ว่าฝนกำลังจะมา แต่วันนี้แดดจ้าทั้งวัน หรือเค้าจะต้องรอฝนวันใหม่เสียแล้ว... ตกเย็น... เรานั่งรถไฟกลับจากอุบล คล้อยหลังจากที่เราเดินทางกลับมาไม่นานที่ปากมูนก็มีฝนตกหนัก เสียงจากในพื้นที่บอกผ่านมาทางโทรศัพท์  ดีใจกับชาวบ้านที่จะได้หาปลาหลังจากที่ตั้งตาเฝ้ารอกันมานาน แต่ก็แอบนึกเสียดาย...ที่ไม่ได้อยู่ในวันฝนมาที่ปากมูล..........................
kanis
  ชาวประมงบ้านฉาง..ตื่น...ผื่นเต็มตัวชาวประมงตำบลพลา บ้านฉาง ระยอง อาชีพดำเก็บหอยจอบ  ตื่นตระหนกหลังขึ้นจากดำน้ำเก็บหอยจอบหาดพลา...พบผื่นขึ้นเต็มตัว  หวั่นโดนสารพิษอุตสาหกรรมวันนี้ที่สำนักงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก  เลขที่ 113  ถนนยมจินดา  ตำบลท่าประดู่  อำเภอเมือง  จังหวัดระยอง  มีชาวบ้านตำบลพลา  อำเภอบ้านฉาง  จังหวัดระยอง  นำเอาภาพถ่ายภาพหนึ่งมาให้  เป็นภาพของชายคนหนึ่งที่เนื้อตัวมีแผลผื่นคัน  เป็นปื้นๆทั้งตัว   จากการสอบถามข้อมูลกับชาวบ้านที่นำภาพมาให้  คือนางจันทร์เพ็ญ  ได้บอกเล่าว่า  ภาพถ่ายนี้คือภาพของนายวินัย  ณ รังษี  อายุ 28 ปี  เป็นชาวตำบลพลา  อำเภอบ้านฉาง  จังหวัดระยอง มีอาชีพดำน้ำจับหอยจอบขายมาหลายปีแล้ว  อยู่มาเมื่อวันที่  20  มิถุนายน  2551  นายวินัยได้ลงไปดำน้ำเก็บหอยจอบ  พอขึ้นมาได้สักพักก็รู้สึกแสบคันตามเนื้อตามตัวอย่างมาก ปกติหากรู้สึกว่าไปโดนแมงกะพรุน หรือหอยบางชนิดที่ทำให้รู้สึกคัน  ชาวประมงหรือชาวบ้านที่อยู่กับทะเลก็จะนำใบผักบุ้งทะเลมาขยี้ถูตัวก็จะหายไปได้  แต่นายวินัยบอกกลับรู้สึกคันอย่างมากเลยรีบกลับมาบ้านอาบน้ำล้างตัวฟอกสบู่  แต่อาการแสบคันก็ยังไม่หาย  กลับมีรอยผื่นขึ้นเต็มตัวไปหมดไปหาหมอ  หมอบอกแพ้น้ำทะเล  จึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์นายวินัยทางโทรศัพท์  นายวินัยบอกรู้สึกแคลงใจมากว่า  หมอวินิจฉัยผิดหรือเปล่า  เพราะ มีอาชีพดำน้ำเก็บหอยจอบขายมาเป็นสิบปีแล้ว  มีชีวิตอยู่กับทะเลรู้จักทะเลแถบมาบตาพุด บ้านฉางนี้ดี การที่หมอวินิจฉัยว่าแพ้น้ำทะเลไม่น่าเป็นไปได้   ทั้งนี้นายวินัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า  การที่อยู่ๆก็มีผื่นขึ้นตามเนื้อตัวของตนเองนั้น  น่าจะเป็นที่คุณภาพน้ำทะเลมากกว่า  เพราะไม่กี่ปีนี้เองที่รู้สึกว่า หอยจอบที่เคยจับได้มากมายสมัยก่อน  เดี๋ยวนี้หายากขึ้น  และน้ำก็มีความขุ่นมากขึ้นด้วย  ระยะหลังๆมานี่เวลาขึ้นจากน้ำทะเลก็มักมีอาการคันอยู่บ้าง  แต่อาบน้ำล้างตัวแล้วก็จะหายไป  แต่มาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน  ที่ผ่านไปนี่เองที่เกิดผื่นคันและเป็นตุ่มไปทั่วตัว  จนรู้สึกตกใจ  สิ่งที่กลัวมากคือเรื่องของสารพิษเพราะไม่รู้ว่าในน้ำทะเลเดี๋ยวนี้จะมีสารพิษอะไรปนเปื้อนอยู่บ้าง  เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการปล่อยน้ำจากกระบวนการผลิตลงสู่ทะเล  และน้ำที่ปล่อยชาวบ้านก็ไม่รู้ว่ามีสารอะไรปนเปื้อนมาบ้าง  ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับนายวินัย  ได้สอบถามว่าคิดจะร้องเรียนไปยังหน่วยงานไหนหรือไม่   นายวินัยกล่าวว่าอาการที่เป็นก็เป็นมาหลายวันแล้วยังไม่หายเสียที  ต้องหมดเงินหมดทองรักษาตัวเองไปเยอะแล้ว  ลงทะเลดำเก็บหอยเหมือนก่อนก็ไม่ได้  ไม่มีรายได้เข้ามาครอบครัวก็ยากจน  ไม่รู้จะไปเรียกร้องอะไรกับใคร " ผมอยากให้หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมช่วยมาดูน้ำทะเลให้ที  อยากให้ลองเอาน้ำทะเลแถบหาดพลา หาดน้ำริน  บ้านฉางไปตรวจดูว่ามีสารพิษอะไรไหม  เพราะแต่ก่อนไม่เคยมีปัญหา  ระยะปี 2550 มานี่เริ่มเห็นว่าคุณภาพน้ำทะเลมันแย่ลง  เกรงว่าต่อไปหากเกิดปัญหาหนักกว่านี้ คนเล็กคนน้อยอย่างผมคงหมดอาชีพทำมาหากินไปในที่สุด "  นายวินัยกล่าวทิ้งท้าย