นายทหารยศพันตรีท่านหนึ่ง (พ.ต.รัฐเขต แจ้งจำรัส) ได้ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชนผ่านเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า “ปิโตรเลียมซึ่งได้แก่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้แผ่นดินไทยทั้งบนบกและในทะเลทั้งหมดมีมูลค่าถึง 100 ล้านล้านบาท”
เงินจำนวน 100 ล้านล้านบาท(ล้านสองครั้ง)นี้ ถ้าเอามาจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดินในปีปัจจุบันก็จะได้ประมาณ 62 ปี เพราะงบประมาณปีหน้า (2552) มีประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท
ข้อมูลที่นายทหารผู้นี้นำเสนอล้วนเป็นข้อมูลของทางราชการที่เข้าใจยาก กระจัดกระจาย แต่ท่านได้นำมารวบรวม วิเคราะห์ แล้วสรุปให้ประชาชนธรรมดาสามารถเข้าใจได้ง่าย แผ่นภาพข้างล่างนี้ผมได้รับมาจากท่านด้วยความขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง โปรดสังเกตว่า ซ้ายมือด้านล่างของแผ่นภาพ มีตราสัญลักษณ์ของกระทรวงพลังงานอยู่ด้วยเรียบร้อย สำหรับข้อความทางขวามือเป็นของท่านครับ
ผมเองยังไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลขนี้ แต่ก็เชื่อว่ามีความถูกต้องแล้วด้วยเหตุผล 2 ประการคือ (1) เชื่อในเจตนาดีและความสามารถของผู้ให้ข้อมูล และ (2) ข้อมูลอื่นๆ ที่ผมได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นไปในทำนองเดียวกัน
ประเด็นที่ผมให้ความสนใจในที่นี้ก็คือว่า การจัดการผลประโยชน์จำนวนมหาศาลนี้เป็นอย่างไร ใครเป็นผู้มีอำนาจเหนือทรัพยากรนี้ ประชาชนไทยจะได้รับผลประโยชน์จำนวนเท่าใด
เราท่านทั้งหลายต่างก็คุ้นเคยกับคำว่า “ประชาธิปไตย (democracy)” เพราะคำว่า “demo” หมายถึง “people” หรือ ประชาชน ส่วนคำว่า “cracy” เป็นคำต่อท้ายซึ่งหมายถึง “รูปแบบของการปกครอง” ดังนั้น ประชาธิปไตย หมายถึง “รูปแบบการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน”
ในบทความนี้ผมจึงขอใช้คำว่า “ปิโตรธิปไตย” (Petrocracy) ซึ่งหมายถึง “รูปแบบการถือครองหรืออำนาจในการจัดการผลประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียม”
คุณบรรจง นะแส นักพัฒนาเอกชนในภาคใต้เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้นำความจริงเรื่องแหล่งน้ำมันในอ่าวไทยมาเปิดเผยต่อสาธารณะบนเวทีพันธมิตรฯ ท่านเป็นคนแรกเสียด้วยซ้ำ สรุปความได้ว่า รัฐมนตรีพลังงานในสมัยรัฐบาลทักษิณ (นายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ได้ลงนามให้สัมปทานแหล่งพลังงานดังกล่าวกับบางบริษัทไปเรียบร้อยแล้ว บางแหล่งเป็นการต่อสัญญาล่วงหน้าหลายปี บางบริษัทที่ได้รับสัมปทานได้จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมนซึ่งเป็นแหล่งฟอกเงินที่คนไทยบางส่วนคุ้นเคยกับชื่อนี้ดี
โดยสรุป นักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง และมาจากการรัฐประหาร ได้ใช้อำนาจแทนประชาชนมาจัดการกับแหล่งทรัพยากรจำนวนมหาศาลนี้เรียบร้อยไปแล้ว
ผมไม่ทราบว่าจะมีแหล่งใดบ้างที่ยังไม่ได้จัดสัมปทาน หรือว่าทุกแหล่งได้สัมปทานไปหมดแล้วทั้ง 100 ล้านล้านบาท แต่ที่ผมสนใจก็คือว่า การมีแหล่งทรัพยากรจำนวนมหาศาลไม่ได้หมายความว่าประชาชนชาวไทยจะมีความมั่งคั่ง อยู่ดีกินดีกันอย่างทั่วหน้า ตราบใดที่การเมืองไทยยังเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือ คอร์รัปชันแล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าประชาชนจะอยู่ดีกินดี
บทความนี้จะนำเสนอโดยย่อๆ คือ (1) ผลประโยชน์ที่คนไทยเคยได้รับจากแหล่งทรัพยากรดังกล่าว (2) ตัวอย่างจากบางประเทศที่มีแหล่งน้ำมันมากมายแต่ประชาชนยากจน และ (3) แนวคิดในการจัดทำ “นโยบายพลังงาน” ใหม่
(1) ผลประโยชน์ที่คนไทยเคยได้รับจากแหล่งทรัพยากร
โดยปกติ ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์จาก 3 ส่วน คือ
ค่าภาคหลวงประมาณ 12.5% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้
2. ผูรับสัมปทานปโตรเลียม ที่มีผลกําไรจากการประกอบกิจการปโตรเลียมในแตละรอบปปฏิทิน จะตองชําระภาษีเงินไดปโตรเลียมรอยละ 50
3. ผลประโยชนตอบแทนพิเศษภายใตเงื่อนไข Thailand III ภายในเดือนพฤษภาคมของปถัดไป
จากรายงานประจำปี 2549 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่าตั้งแต่มีการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2524 จนถึง 2549 ประเทศไทยผลิตได้คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นเป็นเงิน 1.637 ล้านล้านบาท (ยังห่างไกลจาก 100 ล้านล้านบาท) โดยที่
เราได้รับค่าภาคหลวง 0.206 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6%
เราได้ภาษีตามข้อ (2) จำนวน 0.216 ล้านล้านบาท
เราได้ภาษีพิเศษตามข้อ (3) จำนวน 0.011 ล้านล้านบาท
รวมเบ็ดเสร็จเราได้รับผลประโยชน์ร้อยละ 26.4 ของมูลค่าทั้งหมด หรือคิดเป็นเงิน 4.33 แสนล้านบาท ถ้าหาค่าเฉลี่ยตลอด 25 ปีแล้ว เราได้รับปีละ 17,320 ล้านบาท(เพราะปีแรกๆ ปริมาณการใช้น้อยและราคาถูกกว่าทุกวันนี้)
แต่ถ้าคิดเฉพาะปี 2549 ปีเดียวเราได้รับค่าภาคหลวง 35,227 ล้านบาท
ข้อมูลจากบริษัทเชฟรอน (ประเทศไทย)
บริษัทเชฟรอน (ประเทศไทย) เป็นบริษัทที่เข้ามารับช่วงต่อจากบริษัทยูโนแคล ที่คนไทยรู้จักมาก่อน จากการศึกษาจากข้อมูลของทางราชการ พบว่า ในปี 2550 บริษัทเชฟรอนถือส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยถึง 66% และ 68% ของที่มีการผลิตทั้งหมดในประเทศไทยตามลำดับ นี่ยังไม่นับรวมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า (ที่มีประมาณ 27% ของที่ประเทศไทยใช้ทั้งหมด)
ดังนั้น บริษัทนี้จึงเป็นบริษัทที่น่าจับตาเป็นพิเศษ
จากเอกสารของบริษัทรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2505 ถึง 2550 (45 ปี) บริษัทนี้ได้จ่ายค่าภาคหลวงไปแล้วจำนวน 157,153 ล้านบาท โดยได้ลงทุนไปทั้งสิ้น 515,235 ล้านบาท
เอกสารนี้เล่นเล่ห์เหลี่ยมมาก คือไม่ยอมบอกว่า ตนเองมีรายได้เท่าใด และมีกำไรเท่าใด แต่ถ้าเราถือว่า บริษัทต้องเสียค่าภาคหลวงร้อยละ 12.6 ของรายได้ เราสามารถคำนวณได้ว่าบริษัทนี้มีรายได้ทั้งหมดประมาณ 1.247 ล้านล้านบาท หลังจากเสียค่าภาคหลวงและค่าภาษีทั้งสองชนิดแล้ว บริษัทเชฟรอนจะมีกำไรประมาณ 3.9 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 77 ของเงินลงทุนทั้งหมด
กำไรงามขนาดนี้ สามารถเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่งแล้วว่า ทำไมคนไทยต้องซื้อพลังงานในราคาที่แพงมาก ทั้งๆ ที่เรามีแหล่งพลังงานในบ้านของเราเอง
กำไรงามขนาดนี้ ก็สามารถเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมนักการเมืองจึงให้สัมปทานล่วงหน้ากันนานๆ
(2) ตัวอย่างจากบางประเทศที่มีแหล่งน้ำมันมากมายแต่ประชาชนยากจน
ประเทศไนจีเรีย เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาที่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้มากเป็นอันดับหกของโลก และมีแหล่งการทำการเกษตรที่สมบูรณ์ แต่จากการสำรวจของทางราชการเองพบว่า นับตั้งแต่ปี 1980 ถึง 1996 ประชาชนที่ยากจนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28 เป็น 66 ของประเทศ นอกจากนี้รายได้ต่อหัวก็ลดลงกว่าเท่าตัวในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า หรือเป็น 67 ล้านคนในปี 1996 (ประชากรทั้งประเทศประมาณ 130 ล้านคน)
ปัญหาใหญ่ของประเทศนี้คือการคอร์รัปชัน บางคนกล่าวว่า ในช่วง 40 ปีของการผลิตน้ำมัน ประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ “ได้ถูกถูกขโมยไป”
บริษัทขุดเจาะน้ำมันไปเป็นมูลค่าประมาณ 1 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ประเทศได้รับเพียง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.7% เท่านั้น
(3) ตัวอย่างจากประเทศนอรเวย์
นอรเวย์ เป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าตลอด 30 ปีจะผลิตไม่เกิน 30% ของที่ประเทศมี ทั้งนี้เพื่อสำรองไว้ให้คนรุ่นหลัง
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลได้ตั้งกองทุนน้ำมัน (Norway’s state Petroleum Fund) ซึ่งปัจจุบันกองทุนนี้มีทุนถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางรัฐบาลนำผลประโยชน์ที่ได้จากกองทุนไปช่วยเหลือสังคม
(4) ตัวอย่างจากประเทศไทย
ที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกว่าก๊าซหุงต้ม ได้มากเกินกว่าที่คนไทยจะใช้หมด จึงต้องส่งไปขายในต่างประเทศ โดยไม่สนใจว่า คนไทยในรุ่นต่อไปไปจะเอาพลังงานที่ไหนใช้
นอกจากนี้กองทุนน้ำมัน ก็ถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองนโยบายประชานิยมของนักการเมือง บางช่วงบางตอนกองทุนนี้ติดลบหนึ่งเกือบหนึ่งแสนล้านบาท
(5) แนวคิดในการจัดทำ “นโยบายพลังงาน” ใหม่
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่นโยบายพลังงานของประเทศไทยถูกร่างโดยกลุ่มพ่อค้าพลังงานและข้าราชการบางส่วน แนวคิดของคนกลุ่มนี้อยู่ในกรอบที่ทำให้คนใช้พลังงานที่เขาสามารถผูกขาดได้เท่านั้น เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เป็นต้น
ในระยะหลัง เมื่อเกิดปัญหาพลังงานที่เขาผูกขาดได้เกิดขาดแคลนและแพงขึ้น ผู้กำหนด นโยบายเหล่านี้จึงนำเสนอพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งพวกเขาก็สามารถผูกขาดได้อีก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้รู้ด้านพลังงานได้สรุปไว้ว่า ทางออกของปัญหาพลังงานมีเพียง 2 ทางเท่านั้น คือ (1) ใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่รั่วไหล ไม่ฟุ่มเฟือย และ (2) หันไปใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งใช้แล้วไม่มีวันหมด ได้แก่ พลังงานลม แสงแดด ชีวมวล ของเสียจากเทศบาล เป็นต้น
(6) สรุป
การเมืองใหม่จะไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้เลย ถ้าไม่ให้ความสนใจกับ“นโยบายพลังงานใหม่” เพราะรายจ่ายด้านพลังงานของประเทศไทยที่มีมูลค่าถึง 18% ของรายได้ประชาชาติ การเมืองใหม่จะไม่สามารถแก้ปัญหาคนตกงานได้ เพราะ ธุรกิจพลังงานในปัจจุบันมีการจ้างงานน้อยมาก แต่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมีการจ้างงานเยอะมากเลย เหล่านี้เป็นต้น