Skip to main content

บุ เต่อ โดะ นะ แล บุ เออ
บุ ลอ บ ะ เลอ ต่า อะ เออ

ชะตา วาสนาช่างรันทด
ต้องเผชิญแต่สิ่งลำเค็ญ

ข่าวคราวชะตากรรมและน้ำตา น้ำเลือดของประชาชนและพระในประเทศพม่าได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วตามสื่อต่างๆ ผมทราบความเป็นไปเหล่านี้มานานบ้างแล้ว  ผมยังทราบอีกว่าส่วนหนึ่งของประชาชนในประเทศพม่านั้นคือ คนเผ่าพันธุ์เดียวกับผมซึ่งมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนในประเทศทหารเผด็จการแห่งนั้น

ผมได้รับรู้ถึงเรื่องราวของน้ำตาที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนั้นเป็นระยะๆมานานแล้ว โดยที่ผมเองมิอาจคาดเดาได้ว่า  มันจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

บางทีเรื่องราวบางเรื่องมันเหมือนไกลตัวเรา แต่ความจริงมันก็ใกล้ตัวเรานี่เอง น้ำตาแห่งความเจ็บปวดไม่เคยทิ้งผู้ด้อยโอกาสกว่าในทุกสังคม  ไม่ว่าสังคมที่เป็นเผด็จการ สังคมประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเต็มใบก็ตาม

ทำให้คนด้อยโอกาส คนรากหญ้า คนจน คนชั้นล่างเกิดขบวนการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหลุดพ้นจากความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดจากนโยบายการบริหารปกครองอันมีผลกระทบร้ายแรงต่อวิถีชีวิตอยู่เรื่อย

ผมเองเคยมีเรื่องราวแห่งน้ำตาที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อนึกย้อนไปในงาน กวีคีตา เพื่อป่าชุมชน จัดขึ้น เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2545 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ซึ่งงานนี้มีทั้งนักดนตรี กวี  นักคิด นักเขียนมากันมากมาย  บางท่านผมเคยเห็นและรู้จัก แต่หลายท่านผมไม่รู้จักเลย  แต่ก็ได้มารู้จักในงานนี้

ปกติแล้วตอนนั้นผมมักจะบินคู่กับ พาตี่ทองดี แต่งานนั้น พาตี่ทองดี ไม่สบาย  ผมเลยต้องบินเดี่ยว นั่นเป็นสิ่งที่ค่อยๆลับ ค่อยๆฝนผมในทางอ้อมให้คมพอสามารถใช้แผ้วถางหญ้าได้บ้าง

ผมออกจากเชียงใหม่โดยรถทัวร์ หอบเอาร่างกายและวิญญาณก่อนหน้าที่จะมีงานเกิดขึ้นหนึ่งวัน ระหว่างทางผมได้ทบทวนวัตถุประสงค์ของการไปกรุงเทพฯครั้งนี้อย่างจริงจัง 

คำตอบในใจบอกว่า แผ่นดินเกิดกำลังจะร้อนรุ่ม  เผ่าพันธุ์กำลังเดือดร้อน ในเมื่อหมู่บ้านที่เกิด อยู่ กิน กำลังจะถูกพรากไปจากเรา  นึกถึงโชคชะตาของชนเผ่า ที่ต้องมาเจออุปสรรคต่างๆ   ทำให้คิดถึงคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าปวาเก่อญอ  ที่เคยเล่าให้ฟังว่า

ในอดีตนั้นพวกเราอยู่กันอย่างสงบสุข และเรียบง่ายกลางป่า กลางดอย ชีวิตไม่ได้แขวนไว้กับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกไม่ได้ยึดติดกับเงินตรา ไม่ได้หวั่นไหวกับการผันผวนของค่าเงิน  มีผืนดินเป็นเหมือนเนื้อหนัง  มีสายน้ำเป็นเป็นเหมือนสายเลือด  มีอากาศเป็นลมหายใจ ต้นไม้ป่าไม้เป็นกระดูก มีผีเทวดาคุ้มครองร่างกายและวิญญาณ เราเคารพต่อกันและกัน ไม่รบกวนที่อยู่ที่พักของผู้คุ้มครอง  ทำเท่าที่เราจะกิน กินเท่าที่เรามี  ไม่มีบัตรประชาชน หรือบัตรใดๆ   ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลใดๆ

อยู่กันอย่างเสรี ตามจารีตและประเพณีปวาเก่อญอ  ที่บรรพบุรุษเคยทำเคยอยู่เคยกินกันมาเนิ่นนาน ต้นโพธิ์ที่ทวดของทวดปลูกเอาไว้ ต้นมะม่วงที่ตาของตาปลูกเอาไว้ ที่นาที่ปู่ของปู่เบิกเอาไว้ เราลูกหลานได้กินได้ใช้กันอย่างไม่ขัดสน  เพราะเราทำเท่าที่เรากิน เรากินเท่าที่เรามี

แต่อยู่มาวันหนึ่งมีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน มาบอกเราว่าผืนดินที่คุณอยู่นี้มีเจ้าผู้ครอบครอง  คุณต้องมีบัตรประชาชน ต้องเสียภาษี ทั้งภาษีไร่ ภาษีนาและภาษีคน เขาอ้างตัวว่าเป็นคนของทางการ บังคับให้ทุกคนต้องทำบัตรฯ   ทำให้คนหนุ่มบางคนในหมู่บ้านต้องหนีออกจากหมู่บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำบัตรประชาชน

ผู้หญิงคนแก่ในหมู่บ้านจึงต้องทำบัตรประชาชน  เราพูดภาษากลางไม่เป็น  นอกจากภาษาโย(ล้านนา)  เขาเลยเรียกเราว่า ชาวเขา ไม่ใช่ ชาวเรา เมื่อเราทำบัตรเสร็จทุกอย่างมันแปรเปลี่ยน ทุกปีมีผู้เก็บภาษี ขึ้นมาเก็บภาษีในหมู่บ้าน

ในแต่ละปีนั้น  คนเก็บภาษีมา  ไม่รู้ว่าพวกไหนจริง พวกไหนปลอม แต่พวกมันอ้างตัวว่าเป็นคนของทางการ  พวกเราเลยไม่กล้าทำอะไร  เพราะบัดนี้บ้านและผืนดินที่เราอยู่มา มีผู้อ้างตนเป็นเจ้าของเสียแล้ว   มีหมูมันก็ฆ่าของเรากิน  มีไก่มันก็เชือดของเราไปต้ม  ก่อนกลับมันไม่ลืมที่จะเรียกเก็บภาษีที่นา ภาษีไร่ ภาษีบ้านและภาษีคนจากเราอีก

คนในหมู่บ้านเลยกลัวการมีบัตรประชาชน  เพราะถ้าคุณมีบัตรประชาชนแล้ว คุณต้องเสียภาษีให้กับทางการ ไม่รู้ปีละกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

ผู้คนในหมู่บ้านจึงไม่อยากมีบัตรฯ   เมื่อไม่มีบัตรก็กลายเป็นคนเถื่อน ทำให้มีปัญหาเรื่องบัตรประชาชนตกหล่น ถึงปัจจุบัน

ต่อมาคนของทางการยังได้มาบอกอีกว่า  ผืนที่ไร่นาของเราทำกินไม่ได้แล้ว เป็นผืนที่ป่าที่ทางการสงวนอนุรักษ์   แม้กระทั่งหมู่บ้านที่พวกเราอยู่กินกันมาเป็นร้อยๆปี ก็กลายเป็นหมู่บ้านที่ผิดกฎหมาย

ความขัดสน ความขาดแคลน ความยากจน จึงมาเยือนผู้คนในหมู่บ้านของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องพึ่งพาเงิน  ต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอก  ต้องอาศัยเครื่องไม้ เครื่องมือ จากภายนอกที่มานำเสนอโดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย

โอ้….. ลูกฉันจะกินอย่างไร   เหลนฉันจะอยู่อย่างไร

ผมหลับตาคิดไปโดยไม่รู้ว่าหลับตอนไหน

ตื่นมาอีกทีไม่รู้ว่าถึงไหนแล้ว  มองออกไปนอกรถมืดไปหมด  เหมือนเส้นทางอนาคตชีวิตชนเผ่าที่ยังมองไม่ เห็นอะไร  ผมเลยหลับต่อดีกว่า  กระทั่งอีกทีผมได้ยินเสียงเพลงจากรถทัวร์ที่ดั่งผ่านประสาทหูผม  ทำให้ผมได้สติลืมตาขึ้นมา   กวาดลูกตาไปยังข้างทาง  ฟ้าเริ่มสางแล้ว  และเห็นป้ายโฆษณาสินค้าต่าง ๆและอาคาร ใหญ่โตโอฬารอยู่ตามสองข้างถนนเต็มไปหมด   แสดงว่าผมจะถึงกรุงเทพฯแล้ว

และผมก็ถึงหมอชิต  ผมลงรถแล้วได้เจอกับพี่พฤ  โอโดเชา  ซึ่งมารถคันเดียวกันโดยบังเอิญ
ผมถามเขาว่า  จะไปไหน  เขาบอกว่าไปงานเดียวกันกับผมนั่นแหละ

ทีนี้ผมโล่งใจมากที่เจอคนนำทางไปสู่ที่พักแล้ว  เพราะลำพังผมคนเดียวนั้นลำบากเป็นอย่างยิ่งกับการไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ   ผมแทบไม่รู้จักทางเลย  นอกจากหมอชิต  หัวลำโพงและดอนเมือง

พี่พฤ พาขึ้นรถแท็กซี่เพื่อไปยังสำนักงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

พอไปถึง  ผมได้เจอกับพี่ต๋อม ชุมชนคนรักป่า  พี่ต๋อมบอกผมว่า  "เก้าโมงเราจะเดินทางไปยังสถานที่จัดงาน ตอนนี้ให้พักผ่อนตามสบาย”

แล้วผมก็จะได้เจอกับพี่สุวิชานนท์ และพี่ภู เชียงดาว  ผมสังเกตว่าพี่นนท์และพี่ภู ตื่นเต้นกับงานนี้ไม่น้อย

พี่นนท์ชวนพี่พฤ ซักซ้อมนัดแนะเกี่ยวกับงานนิดหน่อย   พี่ภูก็เรียกผมและพี่นก โถ่เรบอมา

เราได้นัดแนะกันแผนการที่จะขึ้นเวทีนิดหน่อย  แล้วเวียนกันเข้าห้องน้ำอาบน้ำเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปในงานฯ





บล็อกของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน
สิบกว่าปีผ่านไป ภายในบ้านของครูดอยผู้ช้ำใจจากการนำดนตรีปกาเกอะญอไปเล่นในโบสถ์ เขารู้สึกดีใจมากที่ลูกชายของเขามาขอเรียนดนตรีพื้นบ้านของคนปกาเกอะญอ ทั้งๆที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันต่างมุ่งหน้าเดินตามดนตรีตามกระแสนิยมกันหมดแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เขาเฝ้าคอยและหวังมาโดยตลอดที่จะมีคนมาสืบทอดลายเพลงของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ ของเขาหรือคนอื่นที่เป็นคนชนเผ่าเดียวกันก็ตาม ทำให้ฝันของเขาเริ่มเป็นจริงว่าทางเพลงแห่งวัฒนธรรมปกาเกอะญอจะไม่สิ้นสุดในยุคของเขา แต่เขารู้สึกตกใจ เมื่อลูกชายบอกเขาว่า จะนำเตหน่ากู ไปเล่นในคืนคริสตมาสปีนี้ที่โบสถ์ในชุมชน “ลูกแน่ใจนะ ว่าจะเล่นในโบสถ์”…
ชิ สุวิชาน
ในขณะที่อีกฝากหนึ่งของชุมชนปกาเกอะญอที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แล้ว บทเพลง ธา ทุกหมวด กลายเป็นบทเพลงที่ถูกลืมเลือน ถูกทิ้งร้างจนเหมือนกลายเป็นบทเพลงแห่งอดีตที่ไม่มีค่าแก่คนยุคปัจจุบัน โมะโชะหมดความหมาย เมื่อคนปกาเกอะญอเริ่มเรียนรู้การคอนดัก (Conduct) เพลงแบบในโบสถ์แบบฝรั่ง เพลงธา ไร้คุณค่า เมื่อมีเพลงนมัสการที่เอาทำนองจากโบสถ์ฝรั่งมา เครื่องดนตรีปกาเกอะญอถูกมองข้ามเมื่อมีคนดนตรีจากตะวันตก เช่น กีตาร์ กลองชุด แอคคอร์เดียน เมาท์ออร์แกน ฯลฯ เข้ามา “โด โซ โซ มี โด มี โซ ready… sing ซะหวิ” ประโยคนี้มักจะเป็นประโยคเริ่มต้นของคนที่เป็นผู้นำวงร้องประสานเสียงพูดนำก่อนร้องเพลง…
ชิ สุวิชาน
หลัง ธาหมวด แป่โป่ แปซวย แล้ว ก็จะต่อด้วย ธาหมวดโข่เส่ คะมอ ตามด้วย หมวดโดยมีเด็กชายนำการเดินวนอยู่เหมือนวันแรก  และหมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขานต่อจาก หมวดโข่ เส่ คะมอ ต่อด้วย หมวด เชอเกปลือ  หมวดฉ่อลอ หมวดแกวะเก  หมวดธาชอเต่อแล จากนั้น หมวดธาเดาะธ่อ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการกลับมาอย่างแน่นขนัดของหนุ่มสาวเช่นเดิม เมื่อธาเดาะธ่อหรือเริ่มต้นมาแล้ว ก็จะมีหมวดธา เดาะแฮ, หมวด ธาเดาะเหน่,หมวด ธาลอบะ ,หมวด ธา ลอกล่อ ซึ่งล้วนแต่เป็น ธา หน่อ เดอ จ๊อหรือธา หนุ่มสาว ซึ่งตั้งแต่ ธา หมวด เดาะธ่อ เป็นต้นไป ถือว่าเป็น เพลงธา ที่สามารถขับขานเป็นปกติได้ทุกโอกาส ทุกสถานที่…
ชิ สุวิชาน
เมื่อได้ยินหมวด ธา ธาชอเต่อแล หนุ่มสาวต่างขยับเข้ามาในวงเพลงธามากขึ้น เพื่อเริ่มงานของหนุ่มสาว ธาชอเต่อแลจึงเปรียบเสมือน หมวดที่เชื้อเชิญหนุ่มสาวเข้าสู่การขับขานเพื่อต่อเพลงธากัน โดยมีโมะโชะฝ่ายหญิงแลโมะโชะฝ่ายชายเป็นหัวหน้าทีมของแต่ละฝ่าย เวทีการดวลภูมิรู้เรื่องธาที่ขุนเพลงธาโปรดปรานได้เกิดขึ้นอีกครั้งในคืนงานศพ หมวดแห่งการดวลเพลงธา เริ่มที่หมวดธาเดาะธ่อ ซึ่งแปลว่า ธาเริ่มต้น ส่วนใหญ่เป็นธาที่ว่าด้วยความรัก ความสามัคคี ความร่วมไม้ร่วมมือ เพื่อให้คนที่มาร่วมงานตระหนักและสำนึกเสมอว่า เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ชนเผ่าเดียวกัน สังคมเดียวกัน และโลกใบเดียวกัน ดังตัวอย่างธาที่ว่า   เก่อ…
ชิ สุวิชาน
หมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขาน ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วย การจากไปสู่ปรโลก ซึ่งปกติแล้วก่อนที่คนจะตายมักมีลางสังหรณ์ปรากฎแก่คนใกล้ชิดหรือคนรอบข้างเสมอ นั่นหมายความว่าถึงเวลาของผู้ตายแล้ว เวลาแห่งความตายนั้นย่อมมาถึงทุกคน เพราะฉะนั้นก่อนตายควรทำความดีหรือทำคุณประโยชน์ให้เกิดแก่แผ่นดินถิ่นเกิดที่เราอาศัยอยู่ตอนมีชีวิตให้มากที่สุด เมื่อลางสังหรณ์มาถึงเราจะได้จากอย่างหมดทุกข์หมดห่วง ตัวอย่าง ธา หมวดนี้เริ่มต้นดังนี้ มี หม่อ เคลอ ฮะ เหน่ อะ เด                 มีหม่อ คอ ฮะ เหน่ อะ เด เต่อ เหม่ เคลอ ฮะ เหน่ อะเด      …
ชิ สุวิชาน
“โมะโชะมาแล้ว” ชายหนุ่มคนหนึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น เมื่อเห็นร่างชายวัยปลายกลางคนเดินเข้ามา สายตาทุกดวงจึงมองไปที่ โมะโชะ เขาคือผู้นำในการขับขานเพลงธา เขาต้องเรียนรู้และพิสูจน์ตัวเองมาหลายปีกว่าเขาจะได้รับตำแหน่งนี้ หน้าที่รับผิดชอบสำหรับตำแหน่งนี้คือการเป็นผู้นำในการขับขานธาในพิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเช่น งานแต่ง หรืองานตาย บางชุมชนทั้งหมู่บ้านไม่มีโมะโชะเลย เวลามีงานต้องไปยืมหรือเชื้อเชิญโมะโชะจากชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้ ว่ากันว่าชุมชนที่สมบูรณ์นอกจากต้องมีผู้นำชุมชนตามประเพณีที่เรียกว่า ฮี่โข่ ต้องมีจำนวนหลังคาในชุมชนมากกว่า 30 หลังคาเรือนแล้ว…
ชิ สุวิชาน
ช่วงเย็นหลังจากที่ทำงานในไร่ และกำลังจะนั่งกินข้าวร่วมครอบครัว “ลุงเร็ว ปู่ วาโข่ หายใจขึ้นอย่างเดียว ไม่ได้หายใจลงแล้ว” หลานชายมาวงข่าวเกี่ยวกับพือวาโข่ซึ่งเป็นพ่อของเขา เขาละจากวงทานข้าวของครอบครัว แล้ววิ่งไปหาพ่อทันที พือวาโข่ เป็นฉายาที่เด็กๆ ในหมู่บ้านและหลานๆเ รียกชื่อผู้เฒ่าผู้ชายที่อาวุโส จนผมหงอกทั้งหัว พือหมายถึงพ่อเฒ่า วาโข่หมายถึง ผมขาว หากเป็นผู้หญิงจะเรียกว่า พีวาโข่ พีแปลว่าแม่เฒ่า นั่นเอง คนรุ่นนี้จะเป็นที่รักใคร่ของลูกหลานทั้งในครอบครัวและในชุมชน เพราะถือเป็นทรัพยากรบุคคลของชุมชนทีมีค่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นในชุมชนที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหาทางออกได้…
ชิ สุวิชาน
  บรรยากาศในบ้านเริ่มคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเสียงเตหน่าบรรเลงในบ้านไม่เว้นแต่ละคืน  บางคืนเป็นเสียงเตหน่า ลายเดิมที่ผู้เป็นพ่อเป็นคนถ่ายทอด  แต่บางคืนมีเสียงเตหน่าลายแปลกออกมาจนผู้เป็นพ่ออดไม่ได้จนต้องเงี่ยหูฟัง  นานแล้วที่เจ้าของเสียงเตหน่ากูห่างหายไปจากการร่ำเรียนวิชาจากพ่อ  แต่วันนี้เขากลับมาหาครูผู้สอนเตหน่ากูของเขาอีกครั้ง แน่นอนมันต้องมีอะไรบางอย่างสงสัยจึงต้องมา"พ่อผมจะไปล้มไม้มาทำเตหน่ากู ควรจะหาไม้อย่างไรดี" ประโยคแรกที่เขามาถามพ่อ"จริงๆ แล้วไม้อะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอให้เป็นไม้ที่โค้งงอ แต่คนสมัยก่อนเขานิยมใช้ไม้เก่อมา หรือภาษาไทยเรียกว่าไม้ซ้อ…
ชิ สุวิชาน
มีบทธา ซึ่งเป็นบทกวีหรือสุภาษิตสองลูกสอนหลานของคนปกาเกอะญอมากมาย ที่กล่าวถึงเตหน่ากูเครื่องดนตรีดั้งเดิมของคนปกาเกอะญอ แต่ในตรงนี้จะยกมาเพียงส่วนหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่างเบื้องต้นของ ธา ที่กล่าวถึงเตหน่ากู 1. เตหน่า อะ ปลี เลอ จอ ชึ             เด เต่อ มึ เด ซึ เด ซึ2.เตหน่า เลอ จอ แว พอ ฮือ            เต่อ บะ จอ จึ แซ เต่อ มึ3.เตหน่า ปวา แกวะ ออ เลอ เฌอ      เด บะ เก อะ หล่อ เลอ เปลอ4.เตหน่า ปวา เจาะ เลอ เก่อ มา     …
ชิ สุวิชาน
ลูกชายหายหน้าไปจากการเรียนรู้การเล่นเตหน่ากูกับพ่อเป็นหลายสิบ จนผู้เป็นแม่ที่คอยหุงอาหารให้หมูในตอนหัวค่ำเกิดคำถามต่อผู้เป็นพ่อ “ไอ้ตัวเล็กมันเล่นเป็นแล้วเหรอ? มันถึงไม่มาฝึกเพิ่ม” แม่ถามพ่อซึ่งนั่งอยู่ตรงข้ามกะบะไฟดินในบ้าน “มันบอก มันจะฝึกเอง มันคงไปฝึกที่บ้านผู้สาวมั้ง?” พ่อตอบแม่พร้อมกับสันนิษฐานพฤติกรรมของลูกชาย “มันก็ธรรมดาแหละ วัวตัวผู้พอมันเริ่มเป็นหนุ่ม มันก็เริ่มแตกฝูงไปหาตัวเมียในฝูงอื่น ก็เหมือนพ่อตอนเป็นหนุ่มนั่นแหละ อยู่บ้านอยู่ช่องซะที่ไหน กลางค่ำกลางคืนดึกแล้วไล่กลับบ้านก็ไม่ยอมกลับ ค่ำไหนค่ำนั้น มาหาทุกคืน” แม่เปรียบเทียบให้พ่อฟัง
ชิ สุวิชาน
“วิธีการเล่นล่ะ? แตกต่างกันมั้ย?” ลูกชายถามพ่อ “ถ้าเล่นอย่างไดอย่างหนึ่งได้นะ ก็เล่นอีกอย่างได้เองแหละ ขอให้เข้าใจวิธีการตั้งสายเถอะ อย่าตั้งสายเพี้ยนละกัน” พ่อบอกและย้ำกับลูกชาย “งั้นพ่อสอนเพลงอีกซักเพลงที่เล่นแบบเมเจอร์สเกลนะ” ลูกขอวิชาจากพ่อ “เอาซิ! เดี๋ยวพ่อจะสอนเพลงพื้นบ้านง่ายๆที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชอบร้อง ชอบเล่นกับเตหน่ากูบ่อยๆ อีกเพลง ร้องตามนะ” พ่อเริ่มร้องนำ ลูกจึงเริ่มร้องตาม
ชิ สุวิชาน
สองสามคืนผ่านไป ลูกชายไม่ได้มายุ่งกับพ่อ แต่คืนนี้ภายในบ้านไม้ไผ่ หลังคาตองตึงทรงปวาเก่อญอหลังเดิม ลูกชายถือเตหน่ากูมาอยู่ข้างพ่ออีกครั้ง “ลองฟังดูนะ ใช้ได้หรือยัง?” ลูกชายพูดจบเริ่มดีดเตหน่าและเปล่งเสียงร้องเพลงแบบไมเนอร์สเกลให้พ่อฟัง แต่ด้วยความตั้งใจมากไปหน่อยทำให้การเล่นบางครั้งมีสะดุดเป็นช่วงๆ แต่ลูกชายไม่ยอมแพ้และไม่ยอมหยุด เล่นและร้องให้พ่อซึ่งเป็นครูสอนเตหน่ากูให้เขาจนจบเพลง “ฮึ ฮึ ก็ดี เริ่มต้นได้ขนาดนี้ก็ไช้ได้” พ่อตอบเขาแบบยิ้มๆ “แล้วพ่อจะสอนอีกแบบหนึ่งได้หรือยัง?” เขามองหน้าพ่อ “อ๋อ ที่มาเล่นให้ฟังนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าเล่นไมเนอร์ได้แล้ว จะขอเรียนแบบเมเจอร์ต่อว่างั้นเถอะ”…