Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

วาดวลี
1ฤดูหนาวไม่ได้มาเยือนอย่างเงียบเชียบอีกแล้ว มันแสดงตัวตน ชัดเจน ผ่านอากาศ ต้นไม้ใบหญ้า รอยน้ำค้าง ประทับตรงนั้นตรงนี้  แม้กระทั่งบนขนตาของเธอ  หญิงวัยกลางคนที่ตื่นแต่เช้า ปั่นจักรยานไปตลาด กลับมาพร้อมกับข้าวของในมือที่มากจนจักรยานแทบเสียหลัก เธอจอดรถไว้ข้างๆ รั้ว หิ้วของ วางลง และยกมือเช็ดน้ำค้างบนขนตา2“หนาวมากไหม”เธอเอ่ยถามอย่างอาทร ฉันพยักหน้า อดคิดถึงแม่จริงๆ ของตัวเองไม่ได้ ฉันคงต้องใช้เวลาเป็นวันๆ หากจะคิดถึงฤดูหนาวและการอยู่ร่วมกัน  แค่คิดถึงการซุกตัวใน “ผ้าห่มขี้งา” ร่วมกับแม่ แค่นั้นก็เป็นสุขแล้ว หน้าหนาวพ่อจะให้ฉันนอนตรงกลาง เพื่อให้อุ่นมากพอ  ส่วนแม่วุ่นวายกับการอุดเศษผ้าตามช่องโหว่ของไม้แผ่นหรือหน้าต่างกระดาษ จากนั้นหากหนาวจนนอนไม่หลับ แม่จะ “อ่อม” ฉันเอาไว้ คือหนีบให้หัวซุกอยู่ตรงรักแร้ เอาผ้าคลุม แล้วห้ามดิ้น พลางปลอบใจว่า รีบๆ นอน จะได้ตื่นเช้ามากินข้าวหลามเผา ก่อนนอน แม่ไม่ลืมที่จะแช่ข้าวใหม่เอาไว้ในกระบอกไม้ไผ่ บ้านเรามีเป็นกอๆ จะเอากี่อันก็ได้3“กินอาหารเช้ากันก่อนนะลูก”แม่คนที่สองเรียกเรา สองสามีภรรยาในวัย 50 ปีกว่า ช่วยกันทำข้าวหนุกงา เขาเลือกข้าวใหม่ที่เพิ่งได้มา เราได้กินก่อนถึงฤดูการทำบุญข้าวใหม่  ข้าวหนุกงาจึงนุ่ม เหนียว ย่อยง่าย ไม่เหมือนข้าวเก่าค้างปี ส่วนงานั้นเก็บมาจากสวนของญาติ ตากเอง ตำเอง คลุกเกลือนิดหน่อย หอมอุ่นลึกเข้าไปถึงข้างใน กัดเข้าไปคำแรกท่ามกลางแววตาปนเปื้อนรอยยิ้มไม่คิดปกปิด  ฉันแทบจะกลืนกินเข้าไปคนเดียวทั้งไห ถ้าไม่อายว่าเพิ่งมาเป็นลูกเขาได้ไม่นาน4“นี่เป็นอาหารต้านโรค”เธอว่า ทั้งที่เพิ่งกินข้าวหนุกงาไปหมาดๆ  เขาเตรียมสำรับประกอบด้วยผักนึ่งที่กำลังร้อนระอุ มีฟักทองผลใหญ่ที่เก็บมาจากสวน ลูกมันโตมาก สีส้มแบบแสงตะวันยังสู้ไม่ได้ รสชาติทั้งหวานทั้งนุ่ม กินกับน้ำพริกน้ำผัก นอกจากนั้นยังมีมะระขี้นก มะเขือพวง มะเขือสีเขียว ถั่วฝักยาว และถั่วแปบ ทั้งหมดนึ่งสุกใหม่ๆ ตามมาด้วย แกงกระด้าง เป็นการเอาหมูมาหั่นใส่พริกไทยกับเกลือ ใส่น้ำ เคี่ยวแล้วตั้งทิ้งไว้ พอแข็งตัวแล้วเหมือนเยลลี่ เธอบอกว่าร่างกายจะได้อุ่น กินทั้งหมดพร้อมกันไปกับปลาย่างอีก 2 ตัว5“ไปเลือกตั้งกันได้แล้วนะลูก”เธอเอ่ยเตือน พร้อมเหลือบดูเวลา ในเมืองที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างช้าๆ เอื่อยเฉื่อย แต่สำหรับเธอการทำตามหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญ คนเป็นพ่อเดินมากระซิบถามว่าจะเลือกพรรคไหน ฉันหัวเราะเบาๆ บอกออกไป เขาหัวเราะบ้าง แล้วบอกว่าการเห็นต่างกันไม่ใช่ปัญหา ส่วนเขาตั้งใจจะเลือกอีกพรรค แน่นอน เขามีเหตุผลของเขา โดยรวมแล้วภายในบ้าน เราต่างเลือกไม่เหมือนกัน คนเป็นแม่ตะโกนบอกให้เอาเสื้อกันหนาวไปด้วย พลางถามว่า จะเอาหมวกด้วยไหม ทั้งที่ศูนย์เลือกตั้งเดินข้ามถนนไปก็ถึงแล้ว ฉันมองออกไปข้างหน้า แสงแดดอุ่นเริ่มมาเยือนแล้ว เสื้อและหมวกคงไม่จำเป็น ฉันเดินตามคนบ้านนี้ไปเลือกตั้ง หยิบกล้อง วางกล้อง คิดว่าจะมีอะไรให้ถ่ายเก็บไว้ไหม แต่ก็อย่าดีกว่า ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นความลับเสียบ้าง“เราไม่ขายเสียงก็พอแล้ว” เธอดูภาคภูมิใจกับคำพูดนั้น6ทุกอย่างผ่านไปหมดแล้ว การเลือกตั้ง กินข้าว เยี่ยมญาติ และอวยพรปีใหม่ ผู้ใหญ่สองคนเอาใบไม้จุ่มน้ำมนต์พรมให้บนหัว ฉันยกมือไหว้ พนมมืออย่างตั้งใจ ที่เหลือจากนี้ คนเป็นแม่ตั้งใจทำกับข้าวอีกรอบ คืออาหารที่จะห่อกลับเข้าเมือง ประกอบด้วยตัวหนอนรถด่วน คั่วด้วยเกลือและน้ำ ยำผักใส่สมุนไพร ปลาย่าง น้ำหนัง ห่อนึ่งซึ่งใส่ตับไก่เยอะเป็นพิเศษ และวัตถุดิบประกอบอาหารอีกมากมาย คนเป็นพ่อบอกว่า ในเมืองหาซื้อได้หมด แต่สิ่งที่หาซื้อไม่ได้คือความปลอดภัยและความใส่ใจทำแบบนี้ ฉันซาบซึ้งเสียจนพูดไม่ออกจริงอย่างเขาพูด ทุกวินาทีของเขามีความสุขกับการได้ดูแลคนในครอบครัว ฉันทักท้วงว่าทำอาหารมากไปหรือเปล่า เขารีบโบกไม้โบกมือ บอกว่ามื้อเย็นจะได้ไม่ต้องทำแล้ว นั่งรอลุ้นผลเลือกตั้งก็พอ “บ้านเมืองน่าเป็นห่วง” แต่เราอย่าทำตัวให้น่าเป็นห่วง เขาว่า7ก่อนจะกลับบ้าน ชายชราซึ่งเป็นพ่อจริงๆ ของฉัน ส่งกระดาษมาให้สองแผ่น ในนั้นเขียนเอาไว้ว่า “รับสมัครผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เพื่อรักษาฟรี” พร้อมไถ่ถามอาการพี่สาวด้วย แววตาแสนห่วงใย ฉันบอกว่าเขาดีขึ้นแล้ว พ่อดูจะไม่วางใจ “หน้าหนาวคนมักจะเป็นหนัก” พ่อรำพึง แล้วสอดจดหมายพร้อมบทกวีที่เขียนไว้ให้ลูกใส่มือ  อ่านแล้วทั้งยิ้มทั้งน้ำตาซึมพอสาย แดดเริ่มอุ่นขึ้น เสื้อกันหนาว ผ้าพันคอ และหมวก ไม่จำเป็นอีกแล้ว หรือแม้กระทั่งชาร้อนๆ ก็ไม่นึกอยากกินอีก ขนมยังเหลืออีกมากมาย ฉันทยอยเก็บใส่ถุงและตู้กับข้าว หลังจากนั้น ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จากอุ่น เป็นร้อน ความห่วงใยมากมายคล้ายยังแสดงออกไม่หมด ชายชราถอนหายใจ เขาคงรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วเกินไป เดี๋ยวฉันก็ต้องกลับไปอีกแล้ว “รอรัฐบาลล้ม แล้วมาเลือกตั้งอีกสินะ ถึงได้มา” เขาแซว ฉันหัวเราะ เขาก็พูดเกินไป เราไม่ได้ห่างเกินกันขนาดนั้นสักหน่อย“ยังไม่ได้อวดปลาที่เลี้ยงไว้เลยนะ จะอวดว่ามันตายไป 80 ตัว เพราะพ่อให้มันกินข้าวเหนียวแห้ง”“อ้าว!” แต่เขาบอกว่าไม่เป็นไร เอาปลาที่ตายมาผ่าดูไส้แล้ว เต็มไปด้วยข้าวที่ไม่ย่อย จากนี้ไปเขาจะให้แต่อาหารย่อยง่าย  “ปลาก็เหมือนคน นึกว่ามันจะกินอะไรแปลกๆ ได้” เขาว่าแล้วหัวเราะกับตัวเอง ฉันยกมือน้อยๆ ไหว้งามๆ ก่อนจะล่ำลาทุกคน แววตาที่มองตามทำให้หลั่งน้ำตาอยู่ในใจลึกๆ ไม่มีใครเห็นมันหรอก เช่นเดียวกับประโยคที่อยากบอกว่า  ฉันไม่ได้มาเพราะเลือกตั้งหรอก ฉันมาเพราะอยากเจอพวกเขาต่างหากเล่า.                  
กิตติพันธ์ กันจินะ
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งจบลงเมื่อวานนี้ ตอนค่ำ ผลสรุปจากการกากบาทลงคะแนนให้กับคนที่รัก พรรคที่ชอบ ได้ผลออกมาอย่างไม่เป็นทางการ บางคนอาจถูกใจ บางคนอาจไม่ถูกใจหลังจากลงคะแนนเสียงเสร็จ ผมได้เดินทางไปยังเขตชายแดนอำเภอแม่สายกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ศูนย์เพื่อน้องหญิง เพื่อจับจ่ายซื้อของและเดินเล่นไปมาตามประสาคนที่อยากพักผ่อนเที่ยวท่องให้คล่องใจเวลาในการเดินทางไป การเดินทางจับจ่ายซื้อของ และการเดินทางกลับ เริ่มจากตอนสาย จนถึงตอนหัวค่ำ ระหว่างที่อยู่เขตอำเภอแม่สาย ผมแยกตัวจากพี่ๆ เจ้าหน้าที่อีก 4 คน เดินเล่นเองคนเดียว เพียงเพื่อจะหาร้านกาแฟสดดีๆ ที่มีหนังสืออ่านและมีเพลงฟัง ผมเดินไปทั่ว สองข้างทางมีของขายวางเรียงรายไปหมด ทั้งอาหาร ขนมกิน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนอน เสื้อผ้า ฯลฯ พ่อค้าแม่ค้าทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างหวังจะขายของของตนให้ได้มากที่สุด ผมไม่ได้ซื้ออะไรเลย นอกจากมุ่งเดินตามหา ร้านหนังสือ-ร้านกาแฟ เพื่อพักผ่อนและนั่งสงบตามลำพัง, เวลา 2 ชั่วโมงผ่านไป ผมยังไม่เจอร้านหนังสือและร้านกาแฟที่ปรารถนา จนเมื่อเดินกลับไปยังจุดจอดรถ ที่เรียกว่า “สายลมจอย” ก็พบร้านกาแฟร้านหนึ่ง อยู่ไม่ไกลจากกัน และเมื่อพบผมก็เข้าไปยังร้านสั่งกาแฟสดคาปูชิโน พร้อมกับหยิบโปสการ์ดและหนังสือขึ้นมาอ่านและเขียนสลับกัน“ที่จริงร้านกาแฟพี่น่าจะมีโปสการ์ดขายด้วยนะครับ” ผมเสนอกับพี่ผู้ชายที่ชงกาแฟสดให้ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นเจ้าของร้าน และบอกอีกว่า “ผมเดินไปทั่วแม่สายไม่เห็นร้านกาแฟสดเลย ไม่มีร้านค้าขายโปสการ์ดด้วย บางคนที่เดินทางท่องเที่ยวอาจจะอยากซื้อของตามวิธีปกติแต่บางคนก็เลือกที่จะเขียนโปสการ์ดส่งให้คนที่ตัวเองคิดถึงหรือเขียนไปที่ไหนสักแห่งก็ได้นะครับ”พี่ผู้ชายไม่ตอบอะไร เพียงแต่พยักหน้าแล้วส่งถ้วยกาแฟให้ผมสำหรับผมแล้ว ท่ามกลางความวุ่นวายของฝูงชนที่เดินจับจ่ายซื้อของไปมาตามบริเวณเขตชายแดนแห่งนี้ ยังมีจุดเล็กๆ อีกหลายแห่งที่เราไม่ค่อยได้คิดคะนึงถึง เช่น ความเรียบง่ายของการนั่งพัก ร้านค้านั่งจิบชา กาแฟ ฟังเพลงเพราะๆ หรือแม้แต่บนสะพานข้ามชายแดนที่มีเด็กน้อยวิ่งเข้ามาขอเงินจากผู้เที่ยว เป็นต้นท่ามกลางเข็มนาฬิกาที่หมุนไป เราต่างสนใจสิ่งใหญ่ๆ ใกล้ตัวจนหลงลืมไปว่ามีสิ่งเล็กๆ ที่สำคัญปรากฏอยู่ แต่เราเผลอใจให้กับเรื่องบางอย่างที่คนส่วนมากสนใจ จนเราก็สนใจตามกระแสไปกับเขาเรื่องนี้เกิดขึ้นกับผมอยู่เสมอ....บ่อยครั้งที่ผมสนใจเรื่องการเลือกตั้ง จนลืมไปว่าแท้จริงแล้วประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวบ่อยครั้งที่ผมสนใจการทำงานเชิงนโยบายระดับชาติ จนลืมการขับเคลื่อนงานนโยบายระดับพื้นที่บ่อยครั้งที่ผมพูดเรื่องงานจนลืมไปว่าคนในครอบครัวยังไม่พร้อมที่จะพูดฟังหรือสนทนาบ่อยครั้งที่พรรคการเมืองสนใจการได้มาซึ่งอำนาจจนลืมนึกถึงนโยบายสำหรับคนที่ด้อยโอกาสในสังคมบ่อยครั้งที่สื่อนำเสนอเรื่องเยาวชนเป็นปัญหา จนลืมนำเสนอเยาวชนที่ทำดีเพื่อสังคม ฯลฯ อีกมากมาย ที่เราหลงลืมไป แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ หรือได้รับความสนใจแต่มันก็เป็นสิ่งสำคัญและมีคุณค่า ทว่าอาจยังไม่ได้เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปก็เป็นได้ร้านกาแฟเล็กๆ ในแม่สายอาจไม่สามารถอยู่ได้ หากผู้คนที่มาเพียงหวังจะเดินทางมาซื้อของราคาถูกๆ แล้วเดินทางกลับ โดยที่ไม่ได้พักนั่งนิ่งฟังลมฟ้าอากาศสิ่งเล็กๆ อุปมาคล้ายดั่งเช่นเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่มักหลงลืมหรือมักคิดคำนึงถึงเป็นอันดับท้ายๆ ทั้งๆ ที่หลายคนบอกว่าเด็กสำคัญแบบนั้น เด็กสำคัญแบบนี้ แต่การกระทำแล้ว กลับสวนทางอย่างสิ้นเชิงเขาบอกว่าต้องมีสื่อเพื่อเด็ก แต่รายการทีวียังหาเงินกับเด็กอย่างไม่หยุดนิ่งเขาบอกว่าต้องให้เด็กมีส่วนร่วม แต่ผู้ใหญ่ยังให้เด็กๆ ทำกิจกรรมได้เท่าที่ผู้ใหญ่ต้องการเขาบอกว่าปัญหาเรื่องเพศของวัยรุ่นสำคัญ แต่ไม่เห็นมีนโยบายป้องกันและให้ความรู้อย่างแท้จริงเขาบอกว่าต้องมีวาระเพื่อเด็ก แต่ไม่รู้ว่าเด็กได้มีส่วนร่วมจัดทำมากเพียงใดเขาบอกว่าเยาวชนเป็นวิกฤติสังคม แต่ไม่มีหนทางการพัฒนาเยาวชนในเชิงบวกแม้แต่นิดคำพูดที่ยิ่งใหญ่กับการกระทำที่เล็กน้อย ตรงข้ามกันเช่นนี้นั้น ที่ผ่านมาถือว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ร่ำไป (บางครั้งเด็กๆ เองก็หวังกับผู้ใหญ่มากจนเกินไป เรียกร้องผู้ใหญ่จนเกินไป แต่ไม่ได้มองถึงศักยภาพตัวเองที่มีอยู่ว่าแท้จริงแล้วไม่ต้องไปเรียกร้องอะไรมากมาย เพียงแต่เราอาจจะเริ่มต่อสู้ด้วยตัวเอง พัฒนาตนเอง เรียนรู้จากตัวเอง ฝึกคิด ฝึกทำด้วยตนเอง จะหวังพึ่งพิงผู้ใหญ่อย่างเดียวก็คงทำได้ยากนัก)ปีที่ผ่านมานี้ เกิดเรื่องราวมากมายกับเยาวชน ทั้งที่เรียนหนังสือ ไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นคนที่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม เป็นคนที่ยังเข้าไปถึงสวัสดิการพื้นฐาน เป็นคนที่สุขภาพไม่ได้ และอื่นๆ อีกมากนั้น ยังคงได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย เพราะผู้ใหญ่ โดยเฉพาะรัฐนั้น สนใจแต่เรื่องใหญ่ๆ สนใจแต่การขจัดขั้วอำนาจเก่า สนใจแต่เรื่องผลประโยชน์ อำนาจ จนลืมนึกถึงคนตัวเล็ก ลืมเด็ก ลืมเยาวชนไป ของขวัญสำหรับปีใหม่นี้ ผมคงไม่ขออะไรมากครับ – เพียงแต่ว่าหากจะคิดถึงเรื่องอะไรที่มันใหญ่โตแล้ว ขอให้คิดถึงทรัพยากรของแผ่นดินอย่างเช่นพวกเรา เด็กและเยาวชน เพียงรับฟังเสียงเราอย่างแท้จริง สนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ปกป้องคุ้มครองสิทธิอย่างแท้จริง และคิดคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่พวกเราจะได้รับด้วย ก็น่าจะเพียงพอ ไม่ได้ขอจากดวงจันทร์ไม่ได้ขอแก้วแหวนเงินทองแต่ขอร้องมายังผู้ใหญ่ทุกคนหมายเหตุ:เนื่องจากผมสนใจเรื่องใหญ่ๆ มามากจนลืมนึกถึงเรื่องเล็กของตัวเองไป จึงได้ให้ของขวัญตัวเองด้วยการหยุดพักจากการทำงานต่างๆ ในระหว่างท้ายปีปีนี้และต้นปีหน้า ด้วยมุ่งจะพักจิต ชำระใจ ด้วยการเจริญสติวิปัสสนา ทั้งนี้หากที่ผ่านมาผมได้ล่วงเกินพี่ๆ ผู้อ่านด้วยวาจา ข้อเขียน และความคิดใดๆ ก็ตาม ผมขออโหสิกรรมมา ณ โอกาสนี้ และขอให้ทุกๆ ท่าน มีความสดชื่น สมหวัง อยู่อย่างมีความสุขทุกลมหายใจ อยู่อย่างมีความหมายกับชีวิตที่งดงาม
มูน
เสียงรถมาจอดหน้าบ้าน โต๋เต๋ชันคอขึ้นเป็นครั้งแรกของวัน มันลุกพรวดพราดไปดู สักพักก็เดินหูลู่หางตก กลับมานอนหมอบเป็นรูปปั้นหมาตรงที่เดิม ท่าทางหมกมุ่นหงอยเหงาราวกับคนอมทุกข์ฉันไม่รู้จะช่วยมันได้อย่างไร บางทีก็ไม่อาจมีใครแทนใครได้นึกย้อนไปถึงค่ำวันหนึ่งที่ฉันลงรถประจำทางใกล้แยกบางใหญ่ กำลังสำรวจสภาพกระดูกกระเดี้ยวที่ถูกเบียดเสียดบนรถมานานนับชั่วโมง หางตาก็เห็นอะไรแวบๆ จุดดำๆ เคลื่อนมาตามแนวถนน รถยนต์ก็ไม่ใช่ มอเตอร์ไซค์ก็ไม่เชิง ใกล้เข้ามาถึงเห็นเป็นหมาสีเข้มๆ ตัวหนึ่งกำลังวิ่งสุดฝีเท้าแทบจะแข่งกับรถที่แล่นอยู่บนถนนฉันพยายามมองว่ามันวิ่งตามอะไร เพราะวิ่งแบบนี้ไม่ใช่วิ่งเล่นแน่ๆ ไม่เห็นมีอะไรที่มันน่าจะวิ่งตาม มีแต่รถประจำทาง รถบขส.แล้วก็รถยนต์ที่แล่นเลยมันไปคันแล้วคันเล่า มันวิ่งมาหยุดยืนหอบแฮ่กๆ จนตัวโยนอยู่ตรงป้ายรถประจำทางที่ฉันลงพอดี หอบอยู่พักใหญ่ๆ มันก็เหลียวหน้าเหลียวหลังเหมือนหาทางไปไม่ถูก ครางหงิงๆ แหงนหน้าสูดกลิ่นในอากาศด้วยท่าทางกระวนกระวาย ฉันติดนิสัยประหลาดอย่างหนึ่งคือชอบทักหมาแมว จึงตะโกนถามออกไป“จะไปไหนน่ะ”มันหันขวับมา ชะงักอยู่ชั่วครู่ แล้วก็ทำหูตั้ง ออกวิ่งลิ่วตรงมาหาฉันทันที!“เฮ้ยๆ แค่ถาม ไม่ได้เรียก” ภาพหมาตัวโตๆ วิ่งตรงรี่เข้ามานั้นน่าตกใจน้อยอยู่เสียเมื่อไหร่ฉันถอยได้แค่สองก้าว มันก็กระโจนพรวดมาถึงตัว สองมือเอ๊ยสองเท้าหน้าตะปบเอวฉันไว้ ฉันยังไม่ทันร้อง ก็ได้ยินมันร้องเสียก่อน เจ้าหมาร้องครวญคราง ตะกุยตะกายบนตัวของฉัน จากนั้นก็วิ่งวนไปรอบๆ แล้วกลับมายกขาตะกายอีก มันคงอยากบอกอะไรสักอย่าง ฉันรู้สึกว่ามันกำลังขอความช่วยเหลือยังคิดอะไรไม่ออกก็เห็นรอยเลือดเปรอะเต็มเสื้อ เฮ้ย มันยังไม่ได้กัดฉันเลยนี่หว่า แล้วเลือดมาจากไหน จับเท้าหมาหงายดู อุ้งเท้าของมันแตกยับเยิน เลือดไหลชุ่ม มันร้องครางหงิงๆ คงเจ็บมากจับเนื้อจับตัวทำความรู้จักจนแน่ใจว่ามันไม่ดุ จึงตัดสินใจหอบหิ้วมันขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปหาหมอป้อมเจ้าเก่าหมอป้อมตรวจแผลแล้วสันนิษฐานว่าหมาอาจจะวิ่งมานานมาก และไกลมาก อาจจะเป็นวันๆ คืนๆ เจอพื้นถนนร้อนๆ เข้าไปอีก เท้าจึงทั้งแตกและพองอย่างน่ากลัว“โชคดีไม่โดนรถทับตาย” หมอป้อมพูด“แต่โชคร้ายที่หลงทาง” ฉันต่อ สบตาละห้อยของหมาด้วยความเห็นใจมันขณะทำแผล มันมีท่าทางกระวนกระวาย มองฉันที มองหมอป้อมทีแล้วครางหงิงๆ บางครั้งทำท่าจะลุกวิ่งออกไป“อยู่นิ่งๆ ซี่ กำลังทำแผลอยู่ จะรีบไปไหนเล่า” หมอป้อมพูดกับหมาทำแผลเสร็จ ปัญหาต่อไปคือจะเอามันไปไว้ที่ไหน เอาไปทิ้งไว้ที่เดิม ให้มันวิ่งอย่างไร้จุดหมายต่อไปน่ะหรือ ฉันทำไม่ลงสุดท้ายก็หอบหิ้วกลับบ้าน เจ้าหมากินน้ำในอ่างอย่างกระหายก่อนล้มตัวลงหลับอย่างอ่อนเพลีย แต่มันคงหลับอย่างไม่เป็นสุขนักหรอก ฉันเห็นมันกระสับกระส่าย ส่งเสียงครางเหมือนมีความทุกข์กังวลเต็มหัวใจมันวิ่งมาจากไหน และจะไปไหนกันนะ หมอป้อมสันนิษฐานไว้สองข้อ ข้อแรกคือหมาอาจจะหล่นมาจากหลังรถกระบะโดยที่เจ้าของไม่รู้ มันต้องพยายามวิ่งตามรถ แต่ก็ไม่ทันส่วนข้อสอง มันถูกเจ้าของเอาใส่รถมาปล่อยทิ้ง มันคงพยายามวิ่งตามรถอย่างสุดฝีเท้า ด้วยความตกใจและตื่นกลัว คิดว่าถ้าไม่หยุดวิ่ง มันจะตามทัน แต่ทว่า แน่นอน มันย่อมวิ่งไม่ทันฉันรู้สึกว่าไม่น่าจะใช่ข้อแรก แต่ก็ภาวนาอย่าให้เป็นข้อหลัง เพราะมันเศร้ากว่า หัวใจรัก มักจะช้ากว่าหัวใจร้าย การเลี้ยงหมาที่โตเต็มที่ไม่ใช่เรื่องยากทางร่างกาย แต่เป็นจิตใจ มันจะฝังใจอยู่กับเจ้าของเดิมและชีวิตเดิมๆ แม้จะเลี้ยงอย่างมีความสุขแค่ไหนก็ตาม ฉันกลืนก้อนแข็งๆ ลงคอขณะที่บอกกับมันว่า “อยู่ด้วยกันนะ ไม่เป็นไรหรอก จะรักให้เท่าๆ เจ้าของเก่าเลยนะ” หรือไม่ก็มากกว่า ฉันต่อในใจหมาเคยชื่ออะไรไม่รู้ ฉันเรียกมันว่าโต๋เต๋ นานพอดูกว่ามันจะยอมรับชื่อใหม่ (แต่ฉันรู้ว่ามันไม่มีวันลืมชื่อเดิม) ฉันฝากหมอป้อมกับรปภ.หมู่บ้านให้คอยดูเจ้าของโต๋เต๋ แต่ไม่มีใครมาตามหาหมาตัวโตสีน้ำตาลเข้มเลยสักครั้งทุกวันนี้ เจ้าโต๋เต๋ยังอยู่ที่บ้านสี่ขา มันอาจจะเหนื่อยเกินไป หรือไม่ก็ยอมรับชะตากรรมแต่โดยดี จึงไม่พยายามจะมุดรั้วหนีออกจากบ้านเหมือนแรกๆ มันชอบยื่นหัวอันใหญ่โตมาพาดตัก ชอบให้เกาหู ชอบยกขาหน้าข้างหนึ่งมาวางบนมือฉัน แต่ก็มีหลายครั้งที่มันเบือนหน้าจากจานอาหาร ถอนใจเบาๆ เหมือนคนอมทุกข์ แล้วลงนอนเอาคางเกยเท้า มองออกไปไกลๆบางครั้งมีรถใครไม่รู้มาจอดหน้าบ้าน มันจะลุกวิ่งไปดูอย่างกระตือรือร้น สักพักก็จะเดินหางตกกลับมานอนเป็นรูปปั้นหมาอย่างเดิมฉันได้แต่สงสัยอยู่ว่า เจ้าของเดิมของโต๋เต๋อยู่ที่ไหน และจะกังวลห่วงใยถึงมันบ้างหรือเปล่าเหมือนอย่างที่มันคิดถึงเขาอยู่ทุกคืนทุกวัน     
สุมาตร ภูลายยาว
เสียงผู้คนส่งเสียงเชียร์เรือยาวในแม่น้ำดังไปทั่วริมฝั่ง งานแข่งเรือเริ่มขึ้นในวันสาขารล่อง--ประมาณวันที่ ๑๔ เมษายน เบื้องล่างเหนือสายน้ำ เรือ ๒ ลำกำลังขับเคี่ยวกันอย่างหนัก ไม่นานนักเรือที่มีฝีพายใส่เสื้อสีแดงก็ทะยานเข้าเส้นชัยหลังเรือลำนั้นเข้าเส้นชัยแล้ว การแข่งเรือรอบคัดเลือกจึงสิ้นสุดลง พรุ่งนี้จะเป็นวันตัดสินว่า เรือของคุ้มบ้านไหน จะได้ลอยลำเฉิดฉายเข้าเส้นชัย เสียงเพลงเฉลิมฉลองทั้งปราชัย และมีชัยดังมาเป็นระยะ เมื่อผู้คนเริ่มทยอยกลับบ้าน ชายชราก็ลุกจากเสื่อที่ปูนั่ง และเดินออกมาจากริมน้ำคืนสู่บ้าน ก่อนจะเดินมาถึงบันไดทางขึ้นวัด ชายชราก็ก็หยุดคุยกับใครบางคนตรงเชิงบันได“เด็กบ้านเรามันไม่สู้ พายเรือก็ไม่พร้อมกัน ถ้าเป็นสมัยเรานี่ได้รางวัลไปแล้ว” ชายใส่เสื้อขาวอีกคนที่อายุไล่เลี่ยกับชายชราพูดขึ้นมา“นั้นแหละ พอตอนซ้อมมันไม่มาซ้อม ตอนแข่งก็กินเหล้ากัน พอแข่งจริงแรงมันก็ไม่มี ถ้าเป็นสมัยพวกเรานี่ สู้ไม่เคยถอย แต่ก็อย่างว่านั้นแหละ ถึงคนพายถ้ามันพายดี แต่เรือไม่ดี มันก็เหมือนเดิม เรือกับคนมันต้องดีๆ พอกันถึงจะชนะบ้านอื่นเขาได้”เมื่อพูดคุยกันอยู่ครู่หนึ่ง ชายชราก็เดินจากผู้ชายอีกคนมาหากพูดถึงการแข่งเรือแล้ว นานทีปีครั้งถึงจะมี การหาฝีพายที่มือถึง และการหาเรือดีมาเข้าแข่งจึงเป็นเรื่องยากพอควร และความจริงแล้ว การแข่งเรือก็เพียงรักษาประเพณีครั้งเก่าก่อนไว้เท่านั้น หาได้หมายถึงการแข่งขันเอาถ้วยรางวัล และชื่อเสียงใหญ่โตอาฬารแต่ประการใดหลังงานแข่งเรือแล้วเสร็จอีกหลายวัน ชายชราก็เดินทางขึ้นไปหาปลาอีกครั้ง การไปหาปลาในครั้งนี้ ไม่มีใครรู้ได้ว่า ชายชราจะได้กลับมาพร้อมกับปลากี่กิโล เมื่อชายชรากลับมาถึงกระท่อม แมวสองตัวที่เลี้ยงไว้ก็วิ่งมารับ มันคงดีใจที่เจ้าของผู้ใจดีกลับมา หลังเก็บสัมภาระทุกอย่างเรียบร้อย ชายชราก็มุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ เมื่อไปถึงชายชราก็พบว่า เรือลอยอยู่บนริมฝั่ง ไม่ได้ลอยอยู่ในน้ำ ชายชราหยุดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนเดินเข้าไปใกล้กับหัวเรือแล้วใช้มือทั้งสองออกแรงดันเรือให้ลงน้ำ เมื่อเรือโดนน้ำ เสียงลั่นคล้ายกำลังปริแตกของไม้ก็ดังขึ้น หลังเสียงเงียบลง ชายชราก็ใช้ขันตักน้ำขึ้นมาสาดไปทั่วเรือ หลังเรือชุ่มไปด้วยน้ำ ชายชราก็เดินขึ้นมาริมฝั่ง และจัดเตีรยมอุปกรณ์ในการบวงสรวงเรือควันธูปลอยล่องไปตามลม หลังถูกจุดขึ้นไม่นาน ตรงหัวเรือมีขนมหลากสี ดอกไม้ และแก้วเหล้า วันนี้ชายชราตัดสินใจเลี้ยงเรือ และบนบานบอกกล่าวต่อแม่ย่านางเรือ หลังจากไม่ได้ทำมานาน แสงตะวันยามพลบใกล้เข้ามาเต็มที ชายชรายังไม่กลับมาจากหาปลา ตรงริมฝั่ง แมวสองตัวเดินวนไปวนมาเฝ้ารอเจ้าของ บนแม่น้ำหน้าแล้ง แม้น้ำไม่มาก แต่ความหน้ากลัวก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม เวลาค่อยๆ ผ่านไปช้าๆ ขณะตะวันใกล้ลับเหลี่ยมเทือกเขาดอยหลวง ชายชราก็พายเรือกลับเข้ามถึงฝั่ง แมวสองตัวหลังรู้ว่าเจ้าของพวกมันกลับมาแล้ว มันก็เดินมายังริมฝั่งอีกครั้ง เมื่อมาถึงมันก็กระโดดขึ้นไปบนเรือ มันค่อยๆ ไต่ไปตามเรือ เพื่อไปหาชายชรา “เหมียว วันนี้ไม่มีอะไรกินหรอก ปลาก็ไม่ได้ กุ้งก็ไม่ได้ ไปขึ้นไปบนฝั่ง มืดค่ำแล้วเดียวตกน้ำ”ชายชราร้องไล่แมว เมื่อเห็นว่าพวกมันกำลังเล่นกันอยู่บนแคมเรือ แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันหาปลาวันแรก หลังจากไม่ได้หามาหลายวัน ผลรับที่ได้กลับมาก็ไม่ได้แตกต่างกับก่อนหน้าจะหยุดหาไปเท่าใดนัก เมื่อแมวสองตัวเดินขึ้นไปบนริมฝั่งแล้ว ชายชราก็เดินจากท่าเรือขึ้นมาบนกระท่อมบริเวณกระท่อมตอนนี้มีแสงตะเกียงมาแทนที่ของแสงตะวันยามพลบ ที่ริมระเบียง ชายชรานอนเอาเมื่อก่ายหน้าผากครุ่นคิดถึงเรื่องราวต่างๆ นานาจนเผลอหลับไปเนิ่นนานชายชราสะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อแมวสองตัวหยอกล้อกันแล้ววิ่งมาชนแก เมื่อตื่นขึ้นมา ชายชราก็ย้ายเข้าไปนอนในกระท่อม หลังจากชายชราเข้าไปในกระท่อมแล้ว แมวสองตัวก็เงียบเสียงของพวกมันลง สองวันให้หลัง ชายชราก็กลับคืนสู่บ้าน ผมได้พบกับชายชราขณะแกกำลังเข็นรถผ่านหน้าบ้าน“พ่อเฒ่าได้ปลาไหม”“ไม่ได้ ปลาก็ไม่ได้ เรือก็มาแตก น้ำเข้าเยอะ อุดยังไงก็เอาไม่อยู่ ก็เลยคิดว่าจะเปลี่ยนเรือใหม่ ตอนนี้กำลังไปสั่งคนลาวทำเรือให้อยู่ บอกช่างว่าจะเอาสัก ๑๔ ศอก ให้มันลำใหญ่กว่าลำเดิม”“แล้วพ่อเฒ่าจะขึ้นไปหาปลาอีกเมื่อไหร่”“ช่วงนี้ไม่ไป เอาไว้ให้เรือเสร็จก่อน ถึงไปปลามันก็ไม่มี ไปก็เสียเวลาเปล่าสู้ไม่ไปดีกว่า”ผมคุยกับชายชราอยู่ไม่นานนัก แกก็เข็นรถมุ่งหน้าคืนสู่บ้าน หลังชายชราลับตาไปแล้ว ผมกลับเข้ามาในบ้าน และเดินไปนอนเล่นบนเปลใต้ต้นกระท้อน เมื่อเอนหลังลงแนบกับเปล ผมก็หวนคิดถึงเรื่องเล่าของชายชราที่แกเล่าให้ฟังหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องราวในวันนี้ของชายชรา  จากวันที่เราพบเจอกันวันแรกจนถึงวันนี้ สิ่งที่ผมเห็นอยู่เสมอคือชายชรายังเป็นคนหาปลาอยู่เช่นเดิม แม้ว่าในตอนนี้ชายชราจะไม่ได้ขึ้นไปหาปลาที่เดิม เพราะปลาไม่ค่อยมี ก็อย่างที่ชายชราเล่าให้ฟังนั้นแหละว่าเป็นเพราะเหตุใด ปลาจึงไม่ค่อยมี ยิ่งนานวันเข้าปลาที่เคยได้ก็ลดน้อยลงทุกที รอยยิ้มเคยมีอยู่บนใบหน้าของชายชราก็เริ่มเลือนหายไปบ้างตามชั่วยามแห่งอารมณ์ที่เกิดขึ้น หากเราจะเรียกสิ่งที่กำลงเกิดขึ้นกับชายชราและคนหาปลาคนอื่นว่า ‘ชะตากรรม’ แล้ว คนหาปลาเช่นชายชราจะต้องเผชิญชะตากรรมนี้อีกนานเท่าไหร่ ผมเองก็ยังไม่รู้ ได้เพียงแต่ภาวนาว่าขอให้ชายชราเป็น ‘ชายชราแห่งสายน้ำโบราณ’ ที่ได้อาศัยพึ่งพาแม่น้ำ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตต่อไปจนกว่า...แน่ละ ในความเป็นจริงไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืนและเป็นนิรันดร์ ชายชราก็เช่นกัน อีกไม่นานตำนานแห่งการล่องไหลบนลำเรือเหนือสายน้ำคงได้หยุดลงเป็นการถาวร เพราะร่างกาย และอายุของชายชราก็มากขึ้นทุกทีแม่น้ำก็คงเหมือนกัน วันใดในหนึ่ง แม่น้ำก็ย่อมมีวันหยุดไหล เมื่อผู้คนคิดแต่จะกอบโกยเอาผลประโยชน์จากแม่น้ำมากเท่าใด ผู้คนก็ลงมือทำลายแม่น้ำมากขึ้นเท่านั้น และนอกจากจะทำลายแม่น้ำแล้วยังทำลายวิถีของผู้คนริมน้ำด้วย ในอนาคตใครจะเป็นคนมาสืบสานวิถีของคนหาปลาแห่งสายน้ำโบราณต่อจากชายชรา มันเป็นคำถามสั้นๆ ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะลูกหลานแห่งแม่น้ำ พวกเขาต่างโดนพรากจากแม่น้ำด้วยมือนิรนามหลายร้อยหลายพันมือ มือนิรนามเหล่านั้นฉุดกระชากลูกหลานแห่งแม่น้ำให้ไหลล่องไปสู่ที่ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ และนับวันจะไปไกลขึ้นทุกทีสายน้ำยังคงไหลไปเช่นใด เรื่องราวของชายชราและแม่น้ำโบราณก็คงไม่จางหายไปเช่นกัน และมันยังจะคงมีต่อไป แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กๆ ของหาคนหาปลาคนหนึ่งบนสายน้ำอันยิ่งใหญ่สายนี้...ขณะเดินทางออกจากเชียงของสู่เชียงใหม่ ผมหวนคิดถึงคำพูดของชายชราที่ว่า ’หากเราทำร้ายแม่น้ำก็เหมือนเราฆ่าแม่’ ใช่สินะ! หากเราทำร้ายแม่น้ำก็เหมือนกับเราทำร้ายแม่ของเรา เพราะสายน้ำก็ให้กำเนิดของสรรพชีวิตไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าแม่ของเราเช่นกัน...แม้ว่าในวิถีทางของชายชราจะอยู่บนเส้นแบ่งลางๆ ระหว่างบุญ-บาป-สำนึกแห่งการไม่ฆ่า-การอยู่รอด แต่ความเป็นจริงแล้ว ชายราเคยบอกกบัผมว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เราล้วนเกิดมาชาติเดียว ปลาในแม่น้ำก็เช่นกัน มันล้วนเกิดมาเพียงชาติเดียว เพียงแต่ว่าวันสิ้นชาติของเราจะเดินมาถึงเมื่อไหร่เท่านั้นเอง หากวันสิ้นชาติของปลาเดินทางมาเร็ว มันก็โดนคนหาปลาจับได้หรือไม่ก็โดนปลากินเนื้อบางชนิดกินมันเป็นอาหาร คนเราก็เช่นกัน หากเราไม่โดนคนอื่นฆ่าเสียก่อน เราก็โดนวันเวลาค่อยๆ กลืนกินเราจนกว่าวันสุดท้ายของชีวิตจะเดินทางมาถึงเมฆฝนฤดูใหม่ตั้งเค้ามาแล้ว ในที่สุดก็โปรยสายลงสู่ผืนดินและสายน้ำอีกครั้ง หลายชีวิตก่อเกิดขึ้นมาอีกครั้ง ชายชราเองก็เช่นกัน เมื่อฝนแรกมาเยือน น้ำเริ่มนอง ไซลั่นที่สานไว้ตั้งแต่หน้าแล้งก็ถูกนำลงมาวางในแม่น้ำอีกครั้ง เมื่อไหร่หนอ การเดินทางบนสายน้ำของชายชราจะสิ้นสุดลง อีกกี่ปีหนอการล่องไหลของแม่น้ำจะสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน อีกไม่กี่ปีข้างหน้าชายชรา และแม่น้ำโบราณสายนี้จะเป็นอย่างไร จะจบลงด้วยความสุขหรือว่าจบลงด้วยความทุกข์ เวลาคงเป็นเครื่องตัดสิน บางทีการจบลงของเรื่องราวชายชรา และสายน้ำโบราณอาจเป็นเหมือนเพลงที่ชายชราชอบร้องก็เป็นได้...สายโขงยังตัดไม่ขาด สายสวาทตัดขาดอย่างไรตัดบัวก็ยังไว้ใย ตัดน้ำใจยังมีเมตตาค่อยอิง ค่อยอาศัยกัน เอาไว้รักกันในวันข้างหน้า 
ภู เชียงดาว
1.ฤดูหนาว...เชื่อว่าใครหลายคนคงรู้สึกชื่นชอบฤดูกาลนี้กันเป็นพิเศษ บางคนชื่นชอบเพราะชีวิตได้สัมผัสกับไอหนาว หมอกขาว ตะวันอุ่น...หลายคนอาจหลงรักดอกไม้ที่พากันแข่งชูช่อเบ่งบานล้อลมหนาวกันดื่นดาษ บางคนอาจชื่นชอบ เพราะเป็นฤดูกาลแห่งการถวิลหาความหลังที่ครั้งหนึ่งนั้นมีหัวใจที่เคยระรื่นชื่นสุขบางคนอาจชื่นชอบเพราะความสะอาดสดของอากาศของฤดูหนาวทว่าเมื่อหันไปมองคนอีกกลุ่มหนึ่งบนดอยสูง ในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล...ฤดูหนาวกลับกลายเป็นความทารุณ โหดร้ายมากพอๆ กับความตายกันเลยทีเดียวใช่, ความหนาวทำให้หลายชีวิตต้องเผชิญกับความเป็นความตายมานับไม่ถ้วนแล้วหละนึกไปถึงร่างอันบอบบาง เนื้อตัวสั่นเทาของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่นั่งงอเข่าอยู่ข้างเตาไฟในเพิงกระท่อมไม้ไผ่โย้เย้ใกล้ผุพังคิดถึงเธอ เด็กๆ บนดอยภู ที่เนื้อตัวผ่ายผอมมอมแมม สวมเสื้อเก่าบางและฉีกขาดนั่งล้อมวงผิงไฟอยู่ข้างกองไฟที่ใกล้จะมอดดับในคืนหนาวเหน็บหรือว่าความหนาว คือสิ่งที่โลกได้บรรจุเอาไว้ในหลักสูตรแห่งการต่อสู้และเรียนรู้ ชะตากรรมว่าชีวิตเอย...จงผจญ อดทน และฝ่าฟันเพื่ออยู่รอดให้ถึงวันพรุ่ง...2.เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมกลับจาก อ.ฝาง มาพร้อมกับภาพถ่ายและความต้องการของชีวิตคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งทางการไทยและคนไทย เรียกพวกเขาว่า “ปะหล่อง” ในขณะที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ดาระอั้ง”พวกเขาคือเผ่าพันธุ์พื้นเมืองที่ไม่ชอบความรุนแรงต้องระเหเร่ร่อนหนีตายจากสงครามความขัดแย้งในเขตพม่ากระทั่งพาครอบครัวหอบลูกหนีถอยร่นข้ามมายังฝั่งไทยทุกวันนี้ เขาได้มาขออาศัยสร้างกระท่อมไม้ไผ่อยู่บนเนินเขาในเขต อ.ฝาง ไม่ไกลนักจากรอยตะเข็บชายแดนแหละนี่คือถ้อยคำขอความเมตตาส่งผ่านมา...“บนดอยเล็กๆ ทางไปหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เผอะ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีชาวปะหล่อง (ดาระอั้ง) ซึ่งอพยพมาบ้าง ตั้งถิ่นฐานแถบนี้มาแต่เดิมบ้าง อยู่กันเป็นชุมชนเล็กๆ อาศัยการรับจ้างและปลูกข้าวไร่ ทำมาหากินไปตามประสา หนาวปีนี้อุณหภูมิต่ำ และลดลงรวดเร็วจนน่ากลัว วันสองวันที่ผ่านมา เช้าๆ บนดอยแห่งนี้อุณหภูมิราว 6-8 องศา เด็กๆ และผู้หญิง รวมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ เจ็บป่วยกันมาก หากใครมีผ้าห่มเก่า หรือผ้าห่มสภาพที่พอใช้งานได้ กับเสื้อกันหนาว เสื้อวอร์ม กางเกงวอร์ม หมวกไหมพรม ถุงมือ ถุงเท้า ฯลฯ ทุกขนาด...สามารถส่งไปร่วมทำบุญได้ที่ี่ มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ตู้ ปณ.53 อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 50110 หรือติดต่อ คุณน้อย อาภาวดี งามขำ 0867575156 โปรดอภัย ที่บางเวลาสัญญาณไม่ค่อยดี(เจ้าหน้าที่มูลนิธิจะรวบรวมแล้วนำไปให้กับพี่น้องปะหล่องเหล่านั้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้...และขอความกรุณางดบริจาคเป็นเงิน เพราะเป็นการเพิ่มภาระในการจัดซื้อจัดหาแก่คนทำงานมูลนิธิเล็กๆ แห่งนั้น)”3.“อ้าย...ช่วยขอบริจาคเสื้อกันหนาว ผ้าห่มให้หน่อย...”เสียงของน้องสาวอีกคนหนึ่งแว่วมาทางโทรศัพท์ไร้สายเธอเป็นคนเชียงดาวแต่ขึ้นไปเป็นครูดอยอยู่บนดอยสูงแถบ อ.อมก๋อม จ.เชียงใหม่บอกว่าบนดอยตอนนี้หนาวมากๆ "เอ็นดูละอ่อน บ่มีผ้าห่ม เสื้อกันหนาวกันเลย..." น้ำเสียงเธอวิงวอนล่าสุด, ผมนัดพบเธอข้างล่าง เธอเอารูปถ่ายบรรยากาศของเด็กๆ ชนเผ่าปว่าเก่อญอ หรือกะเหรี่ยงโปว์ รวมทั้งภาพศูนย์การเรียนฯ (น่าจะเป็นเพิงพัก หรือโรงนามากกว่า) มาให้ ก่อนบอกย้ำว่า อยากได้ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว อุปกรณ์สำหรับเด็กนักเรียน รวมทั้งทุนที่จะนำไปจัดในกิจกรรมวันเด็กดอย ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 12 มกรา 51 นี้...เธอบอกเล่าให้ฟังว่า..ที่ตั้งของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านห้วยลอก ตั้งอยู่ภายในชุมชนบ้านห้วยลอก ซึ่งเป็นชุมชนชาวปว่าเก่อญอ อยู่กัน 64 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 316 คน หมู่ที่ 18 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อำเภอที่ว่ากันว่าทุรกันดารห่างไกลที่สุดของ จ.เชียงใหม่ระยะทางอยู่ห่างจากตัวอำเภออมก๋อยถึง 50 กิโลเมตร บนถนนลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ ขรุขระและสูงชัน หน้าแล้งต้องใช้เวลาเดินทางลงไปตัวอำเภอกว่า 3 ชั่วโมง ส่วนหน้าฝนไม่ต้องพูดถึง หมู่บ้านแทบถูกตัดขาดจากโลกถายนอก ถนนปิด รถยนต์เข้าออกไม่ได้ ต้องอาศัยมอเตอร์ไซค์วิบาก ซึ่งต้องต้องใช้เวลาปีนป่ายขึ้นไปเป็นวันเลยทีเดียวแน่นอน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงใช้การเดินเท้า เมื่อจำเป็นต้องลงมาติดต่อกับเมืองข้างล่างและเมื่อถึงยามหน้าหนาวครั้งใด...ทุกคนก็อยู่กับความหนาวเหน็บ เนื่องจากบนดอยสูง อากาศเย็นมาก ผู้คนจะคลายหนาวด้วยกองไฟ บางหลังคาเรือนก็ไม่มีผ้าห่มที่จะเพียงพอต่อสมาชิกในบ้าน จะซื้อก็ไม่เงินซื้อ เพราะชาวบ้านที่นั่นยากจน เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำในการทำการเกษตร ต้องทำไร่ได้เฉพาะในหน้าฝนเท่านั้น ผมฟังเธอเล่าแล้วก็อดคิดไปต่างๆ นานา ไม่ได้...คิดไปถึงเมื่อครั้งที่ผมเคยเป็นครูดอย แล้วมานั่งมองน้องสาวคนนี้ ผ่านไปเป็นสิบปี เหตุการณ์บนดอยก็ยังเหมือนเดิม... และยังมองเห็นความแปลกแยก ความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนซุกอยู่ในดงดอยอยู่เช่นเดิม เมื่อหันมามอง เปรียบเทียบกับหลายๆ ชีวิตในเมืองใหญ่น่าสนใจ น่าเห็นใจและสงสารเธอ...เมื่อรู้ว่าเธอ ครูผู้หญิงคนเดียว แต่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเองเพียงลำพังสอนหนังสือดูแลเด็กในหมู่บ้านทั้งหมดถึง 82 คน(ซึ่งเมื่อนึกถึงตอนที่ตัวเองเคยสอนในช่วงนั้น ผมรับผิดชอบเด็กทั้งหมด 50กว่าคน นั่นก็ถือว่าเยอะมากแล้ว) "เด็กบางคนไม่มีเสื้อกันหนาว ไม่มีรองเท้าใส่เลยนะอ้าย..." เธอเล่าให้ฟังในวันนั้น4.มาถึงตรงนี้...ผมรับปากว่า จะช่วยเป็นธุระประชาสัมพันธ์เชิญชวนมิ่งมิตรผู้มีจิตเมตตา ช่วยบริจาคผ้าห่ม เสื้อกันหนาว หมวกไหมพรม...รวมทั้งทุนสำหรับเด็กดอยและพี่น้องชนเผ่าปะหล่อง ซึ่งทุกท่านสามารถส่งเป็นพัสดุทางไปรษณีย์ เพื่อง่ายต่อการรับได้ที่ องอาจ เดชาเลขที่ 159/34 ถนนเจ็ดยอด ซอย 7ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่50300หรือจะส่งไปให้พี่น้องชนเผ่าปะหล่อง (ดาระอั้ง) โดยตรงที่มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ตู้ ปณ.53 อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 50110 และเมื่อรวบรวมได้มากพอแล้ว ก็จะได้นำขนส่งไปยังพื้นที่ต่อไปครับ
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ” ยังเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผ่านสำนึกทางชาติพันธุ์ให้ผู้คนกลุ่มอื่นได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของคนมอญ ถึงแม้จะ ”ไร้รัฐแต่ไม่ไร้ราก” แม้จะ “สิ้นแผ่นดินแต่ไม่สิ้นชาติ !!!ความเป็นมางานวันชาติมอญเริ่มจัดขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมา หลังจากที่พม่าเมืองได้รับเอกราชอังกฤษ และจากการที่รัฐบาลพม่าไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงปางโหลง ทำให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ พยายามแยกตัวออกมาเป็นอิสระและจับอาวุธขึ้นต่อต้านกับพม่า ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มก็มีวันสำคัญนี้ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นชนชาติและอิสระในการปกครองตนเอง วันชาติมอญถูกกำหนดให้ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ (หรือหลังวันมาฆะบูชา ๑ วัน) เนื่องจากมีความสำคัญเป็นวันแรกสร้างเมืองหงสาวดีของมอญ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๑๑๑๖ โดย กษัตริย์สองพี่น้องคือ พระเจ้าสมละ และ วิมละ  นานมาแล้วก่อนที่ยังไม่มีวันชาติมอญ ในช่วงนี้จะมีวันสำคัญทางศาสนาคือวันมาฆะบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ เมื่อทำบุญตักบาตรแล้วในวันรุ่งขึ้นคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ชาวมอญก็จะมีการทำบุญบรรพบุรุษที่ล่วงลับอยู่แล้วโดยจะนำข้าวปลาอาหารไปที่สุสาน ซึ่งชาวมอญในเมืองมอญจะยึดถือปฏิบัติแบบนี้จนกระทั่งมากำหนดให้มี งานวันชาติ ความหมายของงานก็ยังเหลือเค้าเดิมคือการระลึกถึงบรรพบุรุษมอญผู้ล่วงลับ ระลึกถึงบุญคุณของพระเจ้าสมละและวิมละที่สร้างเมืองหงสาวดี ระลึกถึงอดีตกษัตริย์และทหารผู้ซึ่งเสียสละเลือดเนื้อให้กับชนชาติมอญคนมอญนั้นเรียกงานวันชาติว่า “ตะงัวแกะกาวโม่น” แปลตรงๆ ว่า วันชนชาติมอญ หรือเรียกว่า “มาก์จมั่วจะเวี่ยก” แปลว่า แรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ วันชาติมอญครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่เมืองเกาะฮะมาง (ซองซอน) จังหวัดมะละแหม่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ และจัดต่อเนื่องมาทุกปี  เมื่อถึงวันสำคัญนี้คนมอญในทุกพื้นที่จะพร้อมใจกันจัดงาน ใหญ่บ้างเล็กบ้างขึ้นอยู่กับสถานที่  ถ้าจัดในเขตรัฐมอญเช่นจังหวัดมะละแหม่ง จังหวัดสะเทิม หรือพื้นที่ควบคุมของพรรคมอญใหม่ เช่นชายแดนไทย-พม่า ณ บ้านเจดีย์สามองค์ก็จะจัดใหญ่ได้และสามารถแสดงออกด้านสัญลักษณ์ คำพูดหรือแสดงเกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้อย่างเต็มที่ โดยมีองค์ประกอบดังนี้  ๑) การจัดริ้วขบวนแห่ของประชาชน ๒) การร้องเพลงชาติมอญ ๓) การเชิญธงชาติมอญขึ้นสู่ยอดเสา ๓) การกล่าวสดุดีบรรพบุรุษมอญ ๔) การสวนสนามของกองทหาร ๕) การกล่าวปราศรัยของพระและผู้นำ ๖) การอ่านแถลงการณ์ ๗) การละเล่น ศิลปการแสดง เพื่อการเฉลิมฉลองแต่การจัดงานวันชาตินอกเขตรัฐมอญ เช่น พะโค ทวาย ตะนาวศรี มัณฑะเลย์  และเมืองย่างกุ้งทางการพม่าก็จะคุมเข้ม ไม่สามารถทำกิจกรรมในวันชาติอย่างครบถ้วนได้ เช่น ไม่สามารถนำเหล่าทหารมาสวนสนาม และ ห้ามการแสดงสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น รูปธงชาติมอญที่มีรูปหงส์กำลังบินนั้นก็จะถูกทางการพม่าจับทันที (๑) จึงเน้นแสดงออกก็จะเน้นไปการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ   สำหรับหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีการจัดงานเมื่อถึงวันนี้ในแต่ละบ้านก็จะมีการทำพิธีบูชา “เสาผี” ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ ในเมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองหลวงของพม่าก็มีการจัดงานวันชาติมอญโดยกลุ่มนักศึกษามอญ เพราะเมืองย่างกุ้งมีคนมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เหตุที่เมืองย่างกุ้งสามารถจัดงานวันชาติมอญได้นั้นเพราะเป็นการลดความกดดัน ทางการพม่าจึงอนุญาตให้ทำได้แต่ก็ต้องคุมเข้ม“..อย่างที่ย่างกุ้งบางปีถ้าจัดงานพม่าก็ก่อกวน รู้ว่ามอญมากันเยอะก็พยายามจะกลั่นแกล้ง บางปีคนมอญเตรียมไว้พร้อมแล้ว เตรียมไว้อย่างใหญ่ก็ห้ามจัด ก็ก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะเสียค่าใช้จ่ายอะไรไปเรียบร้อยแล้ว...” (๒)ในประเทศไทยมีการจัดงานวันชาติครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญที่รวมตัวกันในนามชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ (๓) ที่เคยเดินทางไปร่วมงานวันชาติมอญที่บ้านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า วันชาติมอญครั้งแรกจัดในกรุงเทพมหานคร ใช้โรงแรมเป็นสถานที่จัดงาน ลักษณะของงานเป็นการเลี้ยงพบปะสังสรรค์ และพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องมอญ และต่อมาเปลี่ยนมามีการจัดนอกสถานที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัด เริ่มแรกที่วัดชนะสงคราม บางลำพู ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่ยังไม่มีการใช้ชื่อ “งานวันชาติมอญ” เป็นการทำบุญบำเพ็ญกุศลให้บรรพชนมอญ และมีแสดงศิลปวัฒนธรรมมอญ จากนั้นก็มีการจัดต่อมาทุกปีตามวัดมอญ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด (๔)“....ครั้งแรกนั้นจัดที่โรงแรมอินทราประตูน้ำ และก็จัดต่อกันมาทุกปี ย้ายไปจัดโรงแรมเวียงใต้ โรงแรมรัตนโกสินทร์บ้าง ตอนแรกๆก็อยู่ตามโรงแรม ก่อนที่จะย้ายไปต่างจังหวัด บางปีไปจัดที่บ้านโป่ง ราชบุรี จัดเป็นงานวัฒนธรรมไปด้วย...ในงานที่จัดก็จะเชิญคนไทยเชื้อสายมอญออกมาพูด เที่ยงก็กินข้าว แล้วก็มีมอญรำมาขัดตาทับและตอนบ่ายก็พูดกันอีก ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์...” (๕)หลังจากเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่าวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๑ หรือ เหตุการณ์ ๘๘๘๘  ทำให้กลุ่มนักศึกษาต้องลี้ภัยทางการเมืองออกจากพม่าเป็นจำนวนมาก  ในจำนวนนี้มีกลุ่มนักศึกษามอญอพยพเข้ามาและพำนักอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเล (Overseas Mon National Student Organization) ได้ริเริ่มจัดงานวันชาติมอญในมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และในนำรูปแบบการจัดงานวันชาติมอญแบบมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ที่เน้นเรื่องอุดมการณ์ชาตินิยม จากนั้นได้ขยายออกไปจัดตามวัดเช่น วัดเจดีย์หอย จังหวัดปทุมธานี และวัดบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งช่วงเวลานี้สอดคล้องกับการเข้ามาของแรงงานมอญย้ายถิ่นในจังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงแรกๆ นั้นงานวันชาติมอญที่จัดขึ้นในประเทศไทยจะแยกกันจัดระหว่างกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเล และกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญซึ่งจัดในนามชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ รูปแบบการจัดงานมีความแตกต่างกันคือกลุ่มนักศึกษามอญโพ้นทะเลจะเน้นเรื่องอุดมการณ์ชาตินิยม ส่วนชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯเน้นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ การแสดงศิลปวัฒนธรรม  ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ  ได้ดึงกลุ่มแกนนำนักศึกษามอญเข้าร่วมกิจกรรมในงานวันชาติ และมีการปรับรูปแบบของงานให้เป็นทั้งอุดมการณ์ชาตินิยมมอญและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน“...ทำงานร่วมกันทั้งสองเมือง เขาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นเขาก็เริ่มเห็นแบบอย่างพยายามปรับซึ่งของมอญเมืองไทยอาจจะดูจืดสำหรับเขา เพื่อให้มีรสชาติขึ้น เช่นมีการอ่านแถลงการณ์เพิ่มสีสัน กล่าวเป็นภาษามอญมากขึ้น การแสดงดนตรี การรำ ก็พยายามดึงทางเมืองโน้น อย่างน้อยก็อย่างละครึ่งๆ เพราะดูแล้วจะเป็นการร่วมกันระหว่างมอญสองเมือง  .. (๖)ต่อมาชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้ร่วมกับชุมชนมอญต่างๆ ทั่วประเทศ จัดงานวันชาติมอญโดยหมุนเวียนกันไปในแต่ละปี เช่นวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๖ พ.ศ. ๒๕๔๖ วัดสามัคคิยาราม จังหวัดปทุมธานี วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๗ พ.ศ. ๒๕๔๗ วัดทองบ่อ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๘ พ.ศ. ๒๕๔๘ วัดศรัทธาธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๕๙ พ.ศ. ๒๕๔๙ วัดบึงลาดสวาย จังหวัดนครปฐม วันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๐ พ.ศ. ๒๕๕๐ วัดอัมพวัน จังหวัดลพบุรี และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ จะมีการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครสำหรับในต่างประเทศที่มีนักศึกษามอญโพ้นทะเลไปอาศัยอยู่มีการรวมตัวจัดงานวันชาติมอญ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย นอร์เว ศรีลังกา เป็นต้น วันรำลึกบรรพบุรุษมอญที่สมุทรสาครเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีแรงงานมอญย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในจังหวัดสมุทรสาครเป็นจำนวนมาก จึงมีการรวมตัวการจัดงานวันชาติขึ้น อาจกล่าวได้ว่างานวันชาติมอญที่สมุทรสาครนี้ มีคนมอญเข้ามาร่วมงานมากที่สุดในประเทศไทย ในกรณีของการจัดงานวันชาติของคนมอญซึ่งอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยของประเทศพม่า คำว่า ”งานวันชาติ” อาจจะฟังดูแข็ง และสื่อไปในทางการเมืองจนทำให้เกิดความวิตกว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ด้วยแรงงานเหล่านั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ พูดภาษามอญ และมีวัฒนธรรมประเพณีมอญ จึงได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญในเมืองไทยให้มีการจัดงานวันชาติขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนสำนึกทางพันธุ์ระหว่างคนมอญย้ายถิ่นและคนไทยเชื้อสายมอญต่อการมีบรรพบุรุษร่วมกัน  ดังนั้นงานวันชาติมอญในสมุทรสาครจึงมีชื่องานว่า “วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  ณ วัดศิริมงคล ตำบลบ้านเกาะ และวัดบางหญ้าแพรก ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  ภายใต้บริบทของสังคมไทย การจัดงานวันชาติของแรงงานมอญย้ายถิ่น มีการลดทอนสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ชาตินิยมและการเมือง เช่น การปรับชื่องานจากวันชาติมอญ เป็นวันรำลึกบรรพบุรุษมอญ  ไม่มีการสวนสนามของทหารมอญ ไม่มีการเชิญธงชาติมอญ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือ การแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมประเพณีมอญ เช่น การแสดงนาฏศิลป์ การแสดงดนตรีสากล การแข่งขันกีฬา ตะกร้อ ฟุตบอล มีการออกร้านจำหน่ายสินค้า เช่น เสื้อยืดสกรีนลายสัญลักษณ์ของงานวันชาติ ชุดประจำชาติ  สร้อยไข่มุก เข็มกลัดรูปหงส์ สายรัดข้อมือ หนังสือและสิ่งพิมพ์ภาษามอญ ซีดีเพลงคาราโอเกะศิลปินเพลงมอญ เป็นต้นสิ่งที่พบเห็นได้ในงานวันชาติมอญเสมอคือ แรงงานมอญย้ายถิ่นที่มาร่วมงานจะพร้อมใจกันแต่งชุดประจำชาติ เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้มีความแตกต่างจากพม่า ซึ่งในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า มอญกับพม่าเป็นชนชาติเดียวกัน เพราะเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ชนชาติพม่าได้ทำสงครามและมีชัยเหนือชนชาติมอญก็ได้รับเอาอารยธรรมมอญในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรมประเพณีมาหลอมรวมกลายเป็นวัฒนธรรมพม่ามาจวบจนปัจจุบัน ประกอบกับพม่าก็ดำเนินนโยบายกลืนชาติมอญมาโดยตลอด พยายามแสดงออกว่าพม่ากับมอญเป็นชนชาติเดียวกัน จนมอญแทบจะไม่เหลือความเป็นเอกลักษณ์ของตนอีกต่อไป โดยเฉพาะการแต่งกาย ศิลปะ การแสดง พม่ากับมอญนั้นคล้ายคลึงกันมากยากที่คนทั่วไปจะแยกแยะได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนมอญได้ตระหนักว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเอกลักษณ์ของมอญก็คงจะสูญสิ้นจากการรับรู้ของคนทั่วไปดังนั้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ คนมอญจึงคิดค้น “ชุดประจำชาติ” โดย ชมรมนิสิตนักศึกษามอญในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งนำโดยนายอองมาน (๗) นักศึกษาแพทย์ขณะนั้นได้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ค้นหาเอกลักษณ์ของเครื่องแต่งกายมอญขึ้นมาใหม่ ในการนี้ตัวแทนนักศึกษาได้กระจายกันลงพื้นที่สำรวจลวดลายผ้ามอญพื้นบ้าน ส่วนใหญ่เป็นลายที่เลิกทอกันไปแล้วบ้าง ไม่ค่อยได้รับความนิยมบ้าง รวมทั้งผ้าในหีบห่อผ้าผี ซึ่งสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพชนไม่เปลี่ยนแปลง  เมื่อได้ข้อมูลและตัวอย่างผ้ามอญโบราณมาแล้ว กลุ่มนักศึกษาได้ประมวลเอาลายและสีที่ใช้กันมากที่สุด นำมาปรับปรุงเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยให้เป็นชุดมอญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (๘) คือ ผู้ชายต้องใส่ “โสร่งแดง” เป็นโสร่งพื้นแดงลายตารางคล้ายคันนา มีแถบขาวคาดที่กลางผืน เดิมแถบสีเกิดจากการนำผ้าสองชิ้นเย็บริมต่อกัน เนื่องจาก “กี่” ทอผ้าของมอญจะมีขนาดเล็กทำให้ได้ผ้าทอมีลักษณะเป็นผ้าหน้าแคบ แต่ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีการทอด้วยเครื่องจักรให้ได้ขนาดความกว้างของผืนผ้าโสร่งก็ตามแต่ก็ยังคงแถบสีขาวไว้เหมือนเดิม ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ทำให้โสร่งมอญแตกต่างจากโสร่งของพม่า ส่วนเสื้อมีลักษณะเป็นสีขาวพื้น หรืออาจจะมีลายตารางสีแดงบนพื้นขาว คอกลมแขนยาวผ่าหน้าผูกเชือก  สำหรับผู้หญิงต้องนุ่ง “ผ้าถุงแดง” ลายดอกบนพื้นแดงมีเชิง ผ้าถุงนั้นจะมีลักษณะการตัดเย็บแบบพิเศษต่างกับผ้าถุงของหญิงไทย คือจะมีการเย็บตีเกร็ดหลังคล้ายกับตีเกร็ดกระโปรงหรือผ้าถุงสำเร็จ และใช้แถบผ้าฝ้ายสีดำมีความกว้างประมาณ ๓ นิ้ว เย็บต่อที่ขอบเอวผ้าถุง เพราะเมื่อเวลาสวมใส่ผ้าถุงจะเข้ารูปสะโพกพอดี ส่วนเสื้อมีลักษณะเป็นเสื้อสีขาว หรือ สีชมพูอ่อนแขนยาว คอกลมผ่าหน้าผูกเชือก ชายเสื้อค่อนข้างยาวปิดสะโพกเพื่อให้แตกต่างจากเสื้อผู้หญิงพม่าที่มีลักษณะชายเสื้อสั้นแบบเอวลอย นอกจากนี้ยังมี “เสื้อลายมอญ” มีข้อความเขียนด้วยภาษามอญ และลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวตำนาน ประวัติศาสตร์ และสัญลักษณ์รูปหงส์ เสื้อลักษณะนี้ใช้สัญลักษณ์ประจำกลุ่ม และเสื้อวันชาติ ชุดประจำชาติยังสามารถใช้ในโอกาสอื่นๆอีกเช่น เทศกาลงานบุญ วันสำคัญทางศาสนา งานแต่งงาน สวมใส่ไปทำงานและอยู่ในที่พัก นายอองซอนโม่น อายุ ๒๕ ปีคนมอญจากหมู่บ้านกวักเต่ เมืองมุเดิง จังหวัดมะละแหม่ง เช่าห้องอยู่แถบมหาชัยนิเวศน์ และเข้ามาเป็นแรงงานในสมุทรสาครประมาณ ๙ ปีกล่าวถึงชุดประจำชาติมอญและเสื้อลายมอญให้ฟังว่า“....เรารู้จักมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว เขาก็ทำกันอยู่ เราก็รับรู้ โสร่งแดง เสื้อขาว ชุดประจำชาติเราก็รู้...ความหมายโสร่งคือ สีแดงหมายถึง สีเลือด แสดงว่ารักชาติ ส่วนสีขาวหมายถึงศาสนาและ จิตใจที่ใสสะอาด ส่วนที่พม่าไม่มีเสื้อที่สกรีนลายหรอกเป็นเสื้อขาวเฉยๆ ตราแบบนี้ไม่มีหรอก ทำไม่ได้หรอกเขาไม่ให้ทำ เขาไม่ให้โอกาส ประเทศไทยนั้นทำได้...” (๙)คนมอญเชื่อว่าการแต่งกายด้วยชุดประจำชาติมอญนั้นเป็นการแสดงถึงความรักชาติ และแยกตัวออกจากความเป็นพม่า มิอู อายุ ๒๕ ปี คนมอญหมู่บ้านฮะปลาง จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า ทำงานที่สมุทรสาครประมาณ ๑๒ ปี กล่าวว่า  “....ถ้ามอญแต่งชุดมอญแสดงว่ารักชาติ ถ้าไม่แต่งชุดแบบนี้เขาก็ดูไม่ออก อันไหนมอญอันไหนพม่า....” (๑๐)นอกจากชุดประจำชาติแล้ว ยังสามารถพบเห็นสัญลักษณ์อื่นในงานวันชาติอีกด้วยเช่น  หงส์ จะปรากฏอยู่ตาม เสื้อยืด เข็มกลัด ภาพโปสเตอร์ติดตามห้องเช่า ตราสัญลักษณ์ของกลุ่มทำบุญทำทาน กลุ่มหมู่บ้าน ตราชมรมฯและสมาคมของคนมอญทั้งในเมืองไทยและเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ศูนย์การเรียนรู้มอญ หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ของคนมอญ และการแสดงนาฏศิลป์ (ระบำหงส์ทอง)  ส่วนธงชาติมอญ มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการเคารพธงในงานวันชาติ  แต่ด้วยข้อจำกัดของการอยู่ในสังคมไทย การนำธงชาติมาแสดงในที่สาธารณะอาจจะขัดต่อความรู้สึกของคนไทย ดังนั้น ธงชาติมอญจึงไปปรากฏอยู่ตามเอกสาร สิ่งพิมพ์ เสื้อยืด หรือติดไว้ภายในห้องพักและไม่เคยนำมาแสดงในที่สาธารณะเลย บรรยากาศของงานวันชาติมอญเป็นที่ครึกครื้นและสนุกสนานอย่างมาก เป็นช่วงเวลาและโอกาสที่แรงงานมอญจะได้พบปะสังสรรค์กัน เช่น พบปะคนในหมู่บ้าน รู้จักเพื่อนใหม่  ผู้ที่มาร่วมงานส่วนหนึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มมีลักษณะเป็น “กลุ่มทำบุญทำทาน” เป็นการรวมกลุ่มของคนหนุ่มสาวเพื่อทำกิจกรรมต่างๆในงานบุญประเพณี การร่วมกลุ่มลักษณะนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทำอยู่แล้วในสังคมมอญที่ประเทศพม่า ความสำคัญของงานวันชาติมอญมีความสำคัญต่อคนมอญในประเทศพม่าเป็นอย่างมาก รวมทั้งแรงงานมอญในประเทศไทยก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การมาร่วมงานวันชาติของคนมอญเป็นการแสดงออกถึงการรักชาติ ซึ่งความรักชาติในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ถึงแม้ว่าอุดมการณ์รักชาติของคนมอญรุ่นใหม่ จะถูกผลิตขึ้นจากอิทธิพลปัญหาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยเมื่อหกสิบปีก่อนซึ่งเริ่มต้นด้วยการจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อกู้ชาติมอญ จนกระทั่งมีการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า การเรียกร้องสิทธิ์ในการปกครองตนเองของมอญก็ยังคงอยู่เรื่อยมา คนมอญในประเทศพม่าทุกคนถูกปลูกฝังเรื่องการรักชาติ และในปัจจุบันอุดมการณ์รักชาติได้ถูกอธิบายใหม่ว่าการรักชาติคือการรักษาไว้ซึ่งภาษาและวัฒนธรรมมอญ หากสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ ชาติก็จะคงอยู่ด้วย งานวันชาติจึงเป็นโอกาสที่คนมอญทั้งหลายได้แสดงออกถึงการรักชาติ รำลึกถึงผู้ที่เสียสละทำงานเกี่ยวกับชนชาติ ผ่านการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมประเพณีและศิลปการแสดง แต่ในทุกวันนี้การจัดงานวันชาติมอญ หรือ วันรำลึกบรรพบุรุษมอญในจังหวัดสมุทรสาคร กลับถูกบิดเบือนความหมายไปในเชิงลบ ว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อระดมทุนต่อต้านรัฐบาลพม่า ซึ่งจะเป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่าต่อไปพม่ากับไทยจะโกรธกันเพราะไทยให้แรงงานมอญจัดงานวันชาติมอญในเมืองไทย หรือ การนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์ความสงบในพม่าที่ผ่านมาเช่นการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลพม่าของเหล่าพระสงฆ์และประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากความคิดจาก “คนนอก” ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดมาตลอด ในขณะที่ “คนใน” ซึ่งหมายถึงคนไทยเชื้อสายมอญกลับไม่ได้รู้สึกอะไร ทั้งวัดและชุมชนมอญก็ยินดีให้มีการจัดงานวันชาติมอญ หรือ วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ เพราะทราบดีว่าวันชาติมอญนั้นคือวันที่คนมอญทั้งหลายรำลึกถึงรากเหง้า บรรพบุรุษ วัฒนธรรมประเพณีของตนเองทั้งสิ้น และตระหนักดีว่าเจตนารมณ์ของงานวันชาติมอญนั้นก็เพียงต้องการให้คนมอญไม่ลืมตัว ไม่ลืมความเป็นมอญ ซึ่งไม่ได้รวมตัวเพื่อต่อต้านพม่าอย่างที่เข้าใจคนไทยเชื้อสายมอญเอง ก็มีสิทธิที่จะแสดงวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กล่าวไว้ในหมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๑๒ สิทธิชุมชน  มาตราที่ ๖๖  “บุคคลซึ่งร่วมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” จึงไม่แปลกอะไรว่า งานวันชาติมอญ หรือ วันรำลึกบรรพบุรุษมอญ จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างแรงงานมอญจากประเทศพม่ากับคนไทยเชื้อสายมอญให้รำลึกถึงความเป็นมอญที่มีร่วมกัน...แม้ว่าจะต่างสัญชาติแต่ชาติพันธุ์นั้นไม่แตกต่าง... รายการอ้างอิง(๑) พิสัณห์ ปลัดสิงห์,  มอญ ชนชาติไร้แผ่นดิน, (กรุงเทพฯ: พิมพ์ที่จตุจักรการพิมพ์, ๒๕๒๕), หน้า  ๘๔.(๒) สัมภาษณ์  นายสุนทร ศรีปานเงิน,  รองประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและประธานพรรคสันนิบาตชนชาติมอญ ( Mon Unity League : MUL ),  ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙.(๓) ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ (Mon Youth Communty : MYC) ก่อตั้งโดยคนไทยเชื้อสายมอญในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๙ ปัจจุบันตั้งอยู่ ๗๗/๒ ถนนจักรพงษ์ บางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีจิตสำนึกว่าชนชาติมอญอาจจะต้องสูญเผ่าพันธุ์ไปจากโลกนี้ ทั้งภาษา หนังสือ ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ดังนั้นบุคคลเชื้อสายมอญควรจะต้องรักษาและสืบทอดต่อไป(๔) สัมภาษณ์  นายพิศาล บุญผูก,  คนไทยเชื้อสายมอญ เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อดีตประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯคนที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๔๑), ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐.(๕) สัมภาษณ์  นายพิสัณห์ ปลัดสิงห์,  คนไทยเชื้อสายมอญ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี,  ๑๕ มกราคม ๒๕๔๙.(๖) สัมภาษณ์  นายองค์ บรรจุน, คนไทยเชื้อสายมอญ จังหวัดสมุทรสาคร และ ประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ,  ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙.(๗) สัมภาษณ์  นายสุนทร ศรีปานเงิน,  รองประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ และประธานพรรคสันนิบาติชนชาติมอญ ( Mon Unity League : MUL ),  ๘  พฤศจิกายน ๒๕๔๙.(๘) องค์ บรรจุน,  ต้นทางจากมะละแหม่ง, (กรุงเทพมหานคร: อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ป, ๒๕๔๙), หน้า ๒๒๕.(๙) สัมภาษณ์  นายอองซอนโม่น,  คนมอญจากเมืองมอญ ประเทศพม่า,  ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙.(๑๐) สัมภาษณ์  มิอู,  คนมอญจากหมู่บ้านฮะปลาง จังหวัดมะละแหม่ง เมืองมอญ ประเทศพม่า,  ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙. 
ประสาท มีแต้ม
ผมเองไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังในประเด็นพลังงานทั้งเรื่อง ปตท. และการไฟฟ้า ทั้งการเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานหมุนเวียนมานานกว่า 10 ปีหลังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (14 ธันวาคม) ในอีก 2 วันทำการต่อมารัฐบาลก็ได้ผ่านมติวิธีการจัดการรวมทั้งการคิดค่าเช่าท่อก๊าซฯให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล โดยใช้เวลาพิจารณาเพียง 10 นาที สร้างความกังขาให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมากประเด็นที่ผมสนใจในที่นี้มี 3 เรื่องดังต่อไปนี้หนึ่ง คำพิพากษาของศาลฯที่ว่า “การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ” ในกรณีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้นควรจะครอบคลุมไปถึงไหน  ในฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ผมขอสรุปคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดตามความเข้าใจของผมว่า ในขณะที่ ปตท. ยังไม่ได้แปรรูปนั้น  ปตท. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ   ได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ดำเนินกิจการวางท่อก๊าซเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ   ในการนี้ ปตท.  ได้ใช้อำนาจดังกล่าวเวนคืนที่ดินของเอกชนจำนวน 32 ไร่  (ซึ่งทางรัฐบาลชุดนี้บอกว่ามีมูลค่า 7 ล้านบาท)  เมื่อสถานะของ ปตท. เปลี่ยนไปเป็นองค์กร “นิติบุคคลเอกชน”   ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่าต้องโอนที่ดินส่วนที่เคยเป็นของเอกชน (และท่อก๊าซที่วางอยู่บนที่ดิน)   กลับไปเป็นของรัฐดังเดิม ให้เหมือนกับก่อนที่  ปตท.  จะแปรรูปผมสงสัยว่า  ทำไมรัฐบาลชุดนี้จึงตีความ “อำนาจมหาชนของรัฐ” เฉพาะบนที่ดินของเอกชนดังกล่าวเท่านั้น ในเมื่อท่อก๊าซได้วางอยู่บนที่ดินของสาธารณะ เช่น ทะเล ป่าไม้ ทางหลวงแผ่นดิน เขตสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้นการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน รัฐบาลก็ได้ใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” เวนคืนที่ดินของเอกชนมาเหมือนกันโดยเหตุผลเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ ต่อมาเมื่อมีการวางท่อก๊าซ (เช่นท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย)    ทาง ปตท.  ก็ได้ใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ”  ขอวางท่อก๊าซไปตามแนวทางหลวงแผ่นดิน   เมื่อสถานะของ ปตท. เปลี่ยนไปเป็นองค์กร “นิติบุคคลเอกชน” แล้ว สิทธิการใช้ที่ดินแนวทางหลวงแผ่นดินก็น่าจะหมดไปด้วยการวางท่อก๊าซในทะเล ก็เช่นเดียว  เป็นการใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” ไปรอนสิทธิ์การทำประมงและการเดินเรือของประชาชนเหมือนกัน   เอกชนรายใดก็ตามไม่สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในทะเลหรือแม่น้ำได้ (ตามตัวบทกฎหมายนะครับ)ในกรณี ท่อก๊าซไทย-พม่า ก็เป็นการใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ”   ใช้ที่ป่าไม้ พื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นสมบัติของสาธารณะด้วยเหมือนกัน เท่าที่ผมทราบ ท่อก๊าซเกือบทุกสายในประเทศไทย ต่างก็วางอยู่บนที่ดินของสาธารณะทั้งสิ้น จะมียกเว้นบ้างก็คือท่อก๊าซจากโรงแยกก๊าซจะนะ ไปยังโรงไฟฟ้าสงขลาที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้  ท่อก๊าซสายนี้มีการซื้อขายที่ดินเพื่อวางท่อ ไม่ใช่การเวนคืนโดยใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” แต่อย่างใดดังนั้น ผมเข้าใจว่าระบบท่อส่งก๊าซเกือบทั้งหมดจึงควรเป็นของรัฐ  ไม่ใช่เฉพาะที่วางอยู่บนที่ดินที่ได้เวนคืนมาจากเอกชนจำนวน 32 ไร่เท่านั้น  มูลค่าท่อก๊าซที่จะต้องโอนกลับไปเป็นของรัฐไม่ใช่แค่ 14,000 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลสรุป แต่น่าจะเป็นท่อก๊าซเกือบทั้งหมดซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาทการตีความคำพิพากษาเพียงตื้นๆ ชั้นเดียวแบบนี้ น่าจะไม่ถูกต้องและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่รัฐนะครับสอง ผมเห็นว่า นับจากวันแปรรูป (ตุลาคม 2544) จนถึงวันที่ศาลตัดสิน (2550) ผลประโยชน์ที่ได้จากกิจการท่อก๊าซ หรือค่าผ่านท่อทั้งหมด หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วควรจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด รวมทั้งค่าเสียโอกาสและค่าดอกเบี้ยย้อนหลังด้วยไม่ใช่เป็นการคิดค่าเช่าในอัตรา 5% ของรายได้ ตามที่รัฐบาลชุดนี้มีมติทั้งนี้เพราะ ปตท. (ใหม่) ไม่ทำตามมติของคณะกรรมการนโนบายพลังงานแห่งชาติที่มีมติให้แยกกิจการท่อก๊าซออกมาก่อนการแปรรูปเรื่องรายได้เกี่ยวกับท่อก๊าซ  บริษัท ปตท. ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้สาธารณะได้รับทราบ  อย่างไรก็ตามจากเอกสาร  “คู่มือการคำนวณอัตราค่าผ่านท่อ” ( 7 พฤศจิกายน 2539 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ)  ทำให้เราทราบได้ว่า(1) ปตท. คิดผลตอบแทนการลงทุน (หรือ IRR) ในอัตรา 18% ต่อปี  นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งให้ความหมายอย่างง่าย ๆ ว่า    ถ้า ปตท. ต้องกู้เงินมาลงทุนในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี  กิจการนี้ก็จะคุ้มทุนพอดี  แต่ถ้ากู้มาในอัตราที่น้อยกว่า เช่น  ถ้ากู้เงินมาในอัตราดอกเบี้ย 8%ต่อปี ก็หมายความว่า ปตท. มีกำไร 10% โดยประมาณ แล้วในความเป็นจริง ปตท. กู้เงินมาลงทุนในอัตราเท่าใดกันแน่ และใช้เงินลงทุนของตนเองจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์  เรื่องนี้ต้องตรวจสอบได้  เท่าที่ผมทราบ ปตท. มักใช้เงินลงทุนของตนเองประมาณ 25%(2) จากคู่มือดังกล่าว ทำให้สามารถคำนวณได้ว่าในปี 2539 มูลค่าก๊าซที่ผ่านท่อทั้ง 3 โซนมีจำนวน 24,003 ล้านบาท  ปตท. ได้ค่าผ่านท่อทั้งหมด 6,646 ล้านบาท หรือพอประมาณได้ว่า ปตท.คิดค่าผ่านท่อในอัตรา 28% ของมูลค่าก๊าซที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้จ่ายปลายทาง(3) จากข้อมูลในเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงานพบว่า ในช่วงหลังการแปรรูป (ตุลาคม 2544 ถึง 2550)  มูลค่าก๊าซทั้งหมดประมาณ 3.5 แสนล้านบาท  ถ้าคิดค่าผ่านท่อในอัตรา 28% ของมูลค่าก๊าซ ค่าผ่านท่อก็ประมาณ  98,000  ล้านบาทค่าผ่านท่อจำนวนนี้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 3 ของเงินลงทุนโครงการ และค่าอื่นๆ แล้วที่เหลือควรจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด ในโทษฐานที่ ปตท. เบี้ยวมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ให้แยกกิจการท่อก๊าซออกมาก่อนตั้งแต่ต้นสาม ผมเห็นว่า เมื่อระบบท่อก๊าซ (เกือบทั้งหมด) ตกเป็นของรัฐ ตามเหตุผลที่กล่าวแล้ว รัฐจึงควรจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล ขึ้นมา  คราวนี้รัฐบาลมีอำนาจต่อรองในการหาผู้เช่ารายใหม่และการคิดค่าเช่าด้วย คงไม่ใช่ร้อยละ 5 ตามที่ “รัฐบาลขิงแก่” ได้อนุมัติไปแล้ว ผมคิดว่ากระทรวงการคลังอาจจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (องค์กรนิติบุคคลมหาชนของรัฐ) เช่าก็ได้ เพราะเป็นผู้รับซื้อก๊าซปลายทางอยู่แล้วจากการศึกษาของกลุ่มพลังไทยพบว่า ทุกๆ หนึ่งร้อยบาทที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายไฟฟ้าได้เงินจะเข้าสู่ ปตท. ประมาณ 43 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าผ่านท่อเสียประมาณ 12 บาท (ตามข้อมูลข้างต้นที่กล่าวแล้ว)เราคงจำกันได้ในกรณีที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตอนนั้นมีการเสนอแยกเขื่อนออกมาเป็นสมบัติของกระทรวงการคลัง (เหมือนกับการแยกท่อส่งก๊าซออกจากกิจการ ปตท. ในตอนนี้)  แล้วให้บริษัท กฟผ. จำกัด (ที่กำลังจะแปลงร่างเป็นองค์กรนิติบุคคลเอกชนในขณะนั้น) เป็นผู้เช่าที่น่าเศร้าแต่ไม่น่าแปลกใจก็คือ มีการเสนอค่าเช่าเขื่อนในราคาที่คิดออกมาแล้วไร่ละไม่กี่บาทต่อปีคราวนี้สังคมไทยจะต้องหาวิธีการป้องกันอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์เช่นนั้นต้องเกิดขึ้นมาอีก มาวันนี้สังคมไทยต้องตั้งคำถามบ้างแล้วละครับว่า ในปัจจุบันมีธุรกิจใดบ้างที่มีผลตอบแทนสูงถึง 18% ต่อปี เพื่อนฝูงผมคนหนึ่งที่ทำธุรกิจคอมพิวเตอร์บอกว่า หากได้ผลตอบแทนถึง 5 % ก็นับว่าดีมากแล้วกิจการ ปตท. เป็นกิจการผูกขาดแล้วยังมากำหนดผลตอบแทนสูงถึงขนาดนี้ มันผิดทั้งหลักธรรมาภิบาลและผิดทั้งคุณธรรมอย่างน่าละอายมาก ก่อนการแปรรูป ปตท. มีกำไรปีละไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วงหลังนี้ ปตท. กลับมีกำไรสูงถึงเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องซื้อพลังงานในราคาแพง  ระวังนะครับ ถ้าทุกอย่างยังเป็นเช่นนี้ต่อไป สักวันหนึ่งสังคมไทยจะทนไม่ไหว 
โอ ไม้จัตวา
ในที่สุดก็มาถึงวันนี้ ไม่น่าเชื่อว่าฉันติดตามหนังสือเล่มนี้มาถึงเจ็ดปี จำได้ว่าวันแรกที่อ่าน รู้สึกอิ่มเอม มีความสุข ไม่อยากไปไหน อยากอยู่ในโลกของคนขี่ไม้กวาด เสกคาถา ในโลกที่ตอบสนองจินตนาการที่ขาดหายไปในวัยเด็กคุยกับเพื่อน ๆ ที่ติดแฮรี่ พ็อตเตอร์ ว่าอ่านแล้วรู้สึกเหมือนได้ฟังนิทานก่อนนอนในวัยเด็ก ความที่หนังสือเล่มหนาทำให้อ่านวันเดียวไม่จบ และความที่เนื้อหาเหมือนขนมอร่อยที่มีจำนวนจำกัด จึงอยากค่อย ๆ ละเลียดกินทีละน้อย  อ่านแล้วไม่อยากให้จบ อยากกลับบ้านไปนอนห่มผ้าอ่านต่อ เป็นแบบนี้มาเจ็ดปี! ปีนี้อ่านจบลงในวันเดียว แล้วรีบโทรไปบอกเพื่อนว่า มันส์เป็นบ้าเลย สู้กันทั้งเรื่อง เพื่อนบอกว่าไม่ต้องเล่า แต่มีพี่บางคนบอกให้เราเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วบอกว่า ม่วนดี! ฉันชอบแก่นเรื่องง่ายดาย ที่พระเอกเกิดจากความรัก เป็นเด็กชายผู้รอดชีวิตมาด้วยความรักของแม่ ที่เวทมนต์อันโหดร้ายไม่อาจกล้ำกรายได้  ขณะที่ตัวร้ายไม่เคยถูกรัก  หนังสือแสดงให้เห็นว่าความรักของแม่ และรวมถึงความรักในครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญ มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ และมนุษย์หรือพ่อมดก็แพ้ชนะกันด้วยพลังแห่งรักอันเป็นฐานสำคัญในหัวใจ อาวุธ เวทมนต์ พลังฝีมือ ล้วนแล้วแต่เป็นนามธรรม เป็นเครื่องมือในการดำรงกาย หากความรักต่างหากคือ เนื้อหาที่แท้จริงของชีวิต ความเป็นแม่หรือเปล่าไม่รู้ ที่ทำให้เธอเข้าถึงจินตนาการของเด็ก ๆ และเป็นจินตนาการที่ผู้ใหญ่ก็เสพได้อย่างเช่นกัน อ่านจบแล้ว...สุดยอดกระบวนวิชาของแฮรี่ พ็อตเตอร์ ดูคล้าย ๆ กับโกว้เล้ง คือ “กระบี่อยู่ที่ใจ” แต่ใจที่จะบรรจุกระบี่ได้ ต้องผ่านการเทรนมาจากพ่อแม่ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ รัก และมีเหตุผล มีวุฒิภาวะอย่างเพียงพอ ที่จะส่งลูกเข้ามาใช้กระบี่ในทางที่ถูกที่ควรได้  เพราะจอมมารในโลกของความเป็นจริงนั้น บางครั้งอาจอยู่ในรูปของโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ร้านโชว์ไม่ห่วยที่ผุดขึ้นรอบบ้าน ความเจริญทางวัตถุที่ลดทอนอำนาจการต่อต้านในหัวใจ เด็กควรจะรู้เท่าทันว่าสิ่งใดคือเวทมนต์ที่กำลังดูดกลืนวิญญาณของตน และชักกระบี่ออกมาต่อสู้กับมันให้ได้ และจอมมาร บางครั้งก็อยู่ในรูปแบบของคนที่เราไม่อาจเอ่ยชื่อได้ อยู่ในภาวะคลุมเครือ สังคมอับทึบ มีรังสีของการบังคับควบคุมและดูดกลืนความสุข ดื่มกินความสิ้นหวังเป็นอาหาร ยิ่งผู้คนสิ้นหวังเท่าไร จนหมดไปจากสังคมได้ จอมมารดูจะยิ่งอิ่มเอมมากเท่านั้นสังคมที่สิ้นหวัง...ฟังดูคุ้น ๆ นะ 
Carousal
ฉันได้ยินชื่อ Elfen Lied เป็นครั้งแรกจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างของบรรดาสมาชิกห้องการ์ตูน เฉลิมไทย พันทิปดอทคอม ในฐานะการ์ตูนและอนิเมชั่นที่ดีที่สุดในรอบปีถัดจากนั้นมาไม่นานนัก ฉันกลับได้ยินชื่อของ Elfen Lied อีกครั้งจากรายงานข่าวการตรวจค้นร้านการ์ตูนและเมดคาเฟ่ชื่อดังย่านสยามสแควร์ ในฐานะสื่อลามกที่สมควรจะถูกกวาดล้างให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยความขัดแย้งของข่าวสองกระแส ทำให้ฉันสงสัยว่า เป็นไปได้หรือที่การ์ตูนเรื่องหนึ่ง จะเป็นทั้งการ์ตูนที่ดีที่สุด และสื่อลามกได้ในเวลาเดียวกัน ฉันจึงไปหามาอ่านดูบ้าง หลังจากพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้ว ฉันก็ได้ข้อสรุปว่า สำหรับฉัน Elfen Lied คือการ์ตูนเรื่องเยี่ยมเรื่องหนึ่งที่ฉันจะไม่มีวันลืมความประทับใจที่ได้รับจากมัน
นาโก๊ะลี
ดูเหมือนว่า  บางคราวการอยู่ร่วมกันของผู้คนนั้นเป็นเรื่องยากลำบากนักหนา  ด้วยวิถี วิธีที่ผ่านไปของพวกเขาทั้งหลาย  สิ่งที่ปรากฏดูเหมือนว่าอะไรก็ตามที่มันมากเกินไป ล้วนเป็นเรื่องเลวร้าย  หรือบางอย่างมิได้ถึงขั้นเลวร้ายมันก็เกิดเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความล้มเหลว สู่ความขาดพร่องของวิถี หรือการปิดกั้นการเรียนรู้  ดังว่า...สถานการณ์จำลองหลายครั้งในกิจกรรมการเรียนรู้  ที่เรามักพบเห็นผู้คนผู้....มากเกินไปทั้งหลาย เช่น เงียบเกินไป ก้าวร้าวเกินไป  นั่นก็เป็นตัวปิดกั้นการเรียนรู้ของชีวิต  ทั้งหมดนั้นมันบ่งบอกว่าบางมนุษย์นั้นชอบอยู่คนเดียว  มีความหมายลึกล้ำกว่านั้นหรือไม่  การอยู่คนเดียว เพียงตัดสินใจเอง เผชิญเอง รับผิดชอบเอง อาจจะเป็นเรื่องไม่ยากที่ผู้คนจะกระทำได้  แต่มันจะทำให้เราเติบโตได้อย่างไร เพราะเราจะไม่ได้เห็นความคิด หรือเรื่องราวที่แปลกใหม่เลยว่าถึงการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม หรือชุมชน หรือกลุ่มคน แน่นอนอยู่ว่าจะมีบางเรื่องราวที่ไม่ถูกใจเรา บางความเห็นของเราจะไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ หรือบางเรื่องก็ไม่ได้รับการใส่ใจ  และไม่อาจเลี่ยงว่าบางคราวเราก็แสดงออกถึงความโง่เขลา ซึ่งทุกคนมีภาวะนี้อยู่แล้ว  ทั้งหมดนั้นถ้าเข้าใจมันได้  มันก็จะหมายความว่ากลุ่มต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับกลุ่ม ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง  แน่นอน...นี่คือสังคมในอุดมคติ  ในสังคมนั้นทุกคนต้องเป็นผู้นำ ทุกคนมีส่วนร่วม  ไม่มีใครหรือกลุ่มใครกุมอำนาจอยู่เพียงคนหรือกลุ่มเดียว ซึ่งก็เหมือนเดิมล่ะว่า ความต้องการของกลุ่มบางเรื่องไม่ตรงกับความต้องการของเราหลักการดูว่าไม่ยากนัก รูปแบบทางกายภาพก็ดูไม่ยากนัก ตามเหตุตามผลก็ไม่ยากนัก  ความสำเร็จ ความล้มเหลว วิถีวิธีก็ชัดเจนแล้ว  แต่สิ่งที่ยากคืออะไร...  ส่วนที่ยากที่สุดมนุษย์มีความรู้สึก  มีกิเลสของตัวเอง  มีความปรารถนา ความต้องการส่วนตัว  มีด้านมืดด้านสว่างที่ต่างไป  และนี่คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง และเมื่อมองตามอุดมคติแล้ว  ความขัดแย้งนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา ความสำเร็จหรือล้มเหลวของสังคมนั้นๆ  คืออะไร  มันก็ย่อมจะมาจากว่า  สังคมนั้นๆ  จัดการความต่างความเหมือนอย่างไร  จัดการกับความขัดแย้งของกลุ่มอย่างไร  ที่สำคัญคือจัดการกับความขัดแย้งในตัวเองได้อย่างไร  นี่คือหนทางหรือไม่...ที่สุดแล้ว  มนุษย์ไม่มีทางเลือกอื่น  นั่นคือการต้องอยู่กันเป็นสังคม ผู้คนจะแสวงหา เรียนรู้ ดำรงอยู่อย่างเป็นสุขได้เพียงใด  ล้วนขึ้นอยู่กับความวางใจ  ว่าจะวางใจไว้ตรงไหน จะจัดการกับความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง จะจัดการกับความเหมือน ความต่างทั้งปวงนั้นอย่างไร  ว่าตามอุดมคติแล้ว  ผู้คนก็ต้องมีพื้นที่ของตัวเอง  มีพื้นที่ในการแสดงออก  ได้รับรู้วิถีของตัวเอง และผู้คนอย่างแท้จริงนั่นเองหรือว่าการอยู่รวมกันของพวกเราทั้งหลายนั้นจะมิใช่บทกวีที่งดงาม... 
Hit & Run
  วิทยากร  บุญเรืองกลุ่ม แบ๊คซ้าย' มิถุนาฯ   23 ธันวาคม 2550...เป็นอีกวาระหนึ่งที่เราจะต้องออกไปช่วยเพื่อนรัก ‘นักการเมือง' (กลุ่มคนที่ถูกประณามมากที่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน)สื่อต่างๆ ชอบที่จะกระแซะแซวว่า นักการเมืองมักจะมืออ่อนนอบน้อมกราบไหว้ประชาชนเสมอในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งมันก็ถูก แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน คนอีกบางจำพวกนั้น ‘ไม่มี' ช่วงเวลาพิเศษไหนเลยที่จะลงมาไหว้กราบกรานขอคะแนนจากประชาชน หนำซ้ำพวกเรากลับต้องกราบกรานไหว้เขาอยู่เป็นกิจวัตรใครล่ะน่าเกลียดกว่ากัน? สำหรับวาระสำคัญก่อนการเลือกตั้ง การรณรงค์ไม่ให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ทำนองที่ว่า ‘นักการเมืองซื้อเสียงเราไม่กี่ร้อย แล้วก็ไปโกงบ้านเมืองเป็นแสนเท่าล้านเท่า' ยังคงเป็นการรณรงค์ที่ตื้นเขินเพราะถ้าลองมองในเชิงโครงสร้างแบบนั้น ‘นักการเมืองซื้อเสียง' กับ ‘ชาวบ้านที่ขายเสียง' ดูเหมือนจะกลายเป็นแพะอยู่แค่สองจำพวกนี้เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว การทุจริตนั้นไม่ได้มีตัวจักรสำคัญแค่ชาวบ้านและนักการเมือง เพราะในกลไกนั้นจะต้องประกอบไปด้วย ข้าราชการและผู้มีอิทธิพลในสังคมไทยที่ไม่ต้องลงเลือกตั้งเป็นตัวสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง แต่คนกลุ่มหลังกลับไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ทั้งที่คนเหล่านี้ต่างหากที่เป็นกลุ่ม ‘คนสำคัญ' จริงๆ สำหรับการทำให้ประเทศชาติและประชาธิปไตยเสียหายการตรวจสอบนักการเมืองและการเข้าไปมีผลประโยชน์ในโครงการต่างๆ นั้น ข้าราชการ องค์กรอิสระ และผู้มีอิทธิพลในสังคม มีบทบาทมากเสียกว่าชาวบ้านที่ขายเสียง ซึ่งเรารู้ๆ กันอยู่ว่าคนเหล่านี้มีล็อบบี้ยิสต์เป็นของตนเอง ไม่ต้องออกหน้าออกตามาให้เสียภาพพจน์แบบนักการเมืองผู้มีอิทธิพลในสังคมมักจะฉาบตนเองด้วย ‘จริยธรรมอันเลิศหรู' แต่เนื้อแท้แล้วพวกเขาเป็นกาฝากของสังคม ทำตัวเป็น ‘ขอทานกิตติมศักดิ์' ลองไปดูกันเถิดท่านทั้งหลาย บอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ หรือที่ปรึกษาบรรษัทยักษ์ใหญ่ หรือโครงการการกุศลต่างๆ มีขอทานกิตติมศักดิ์พวกนี้คอยเกาะกินมากน้อยแค่ไหนแต่คนกลุ่มเหล่านี้กลับมาด่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงของนักการเมืองและชาวบ้านอยู่เนืองๆ ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้ดีโด่ดีเด่อะไรไปมากนัก หนำซ้ำยังน่าเกลียดถึงกึ๋นกว่า ด้วยการพยายามทำตัวให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ดุจดังเทวดามาจุตินักการเมืองเป็นกลุ่มคนสปีชี่ส์ที่บริหารความ ‘น่ารักน่าชัง' ของตนเองได้อย่างลงตัว...เพราะมีทั้ง ปากห้อย, ปากหมา, ตัวเตี้ย, เป็นปลาไหล, เป็นงูเห่า, จ่ายเงินร้อยยี่สิบ, โกงกินสารพัด ฯลฯ ในทางกลับกัน พวกเขายังพอจะรู้จักช่วยเหลือปัญหาเฉพาะหน้าให้กับชาวบ้าน เอาถนน เอาโครงการต่างๆ เข้าสู่ท้องถิ่น ช่วยเหลืองานบุญงานบาปต่างๆ นานา เพื่อหาคะแนนนิยมให้ตัวเอง --- พวกเขามีบุคลิกที่เป็น ‘คนจริงๆ'บนโลกใบที่บูดๆ เบี้ยวๆ บ้าๆ ซึ่งเป็นโลกแห่งความเป็นจริงใบนี้ในระบอบประชาธิปไตยต้องการคนจริงๆ ที่รู้จัก ‘โหด เลว ดี' มากกว่า ‘เทวดา' ที่รอแต่เครื่องเซ่นสรวงฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเสียงหลังรัฐประหารที่ผ่านมา เทวดาเหล่านี้กลับได้ใจผยองลำพอง ออกมาเพ่นพ่านตามบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ตามองค์กรเฉพาะกิจต่างๆ ที่อ้างว่าจะมาสะสางและล้างความสกปรกของประเทศ รวมถึงชอบเหลือเกินที่จะมาอวดภูมิความรู้และชูจริยธรรมของตนเอง ชี้นิ้วชี้นำสังคมว่าจงโปรดฟังพวกเขา ช่วยกันกำจัดนักการเมืองที่เลวร้ายและโปรดจงทำตัวให้ใสสะอาดเปรียบดังเทวดาอย่างเขาจะอย่างไรก็แล้วแต่ นักการเมืองจะยังคงเป็นที่พึ่งและคนที่เราเลือกได้เสมอ ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะถูกตราหน้าว่าชั่วช้าเพียงใด แต่พวกเขาก็เปรียบเสมือนคนเลวที่เราๆ ท่านๆ เลือกได้ และมักจะมีอะไรติดไม้ติดมือมาฝากพวกเราเสมอไม่เหมือนคนดีมีจริยธรรมและเทวดาต่างๆ ที่เรามักจะเลือกไม่ได้ เผลอๆ ก็โผล่พรวดมาทำลายระบบประชาธิปไตยพร้อมด้วยรถถังถ้าพวกคุณหมั่นไส้เหล่าเทวดาเหล่านี้...ไปเถิด คนเดินดินกินข้าวแกงทั้งหลาย...ถ้าคุณรับเงินจากนักการเมืองและจะไปลงคะแนนให้เขาชนะการเลือกตั้ง จงไปเลือกคนที่คุณคิดว่าคุณสามารถแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ได้มากที่สุด! 
Music
"ถึงรู้ว่ามันจะต้องเกิดขึ้น แต่ก็ยากจะทำใจ"คำๆ นี้ใช้ได้ดีกับสถานการณ์ในช่วงวันที่ 19-21 ที่ผ่านมา กับการที่พวก Elite ทั้งหลายที่นั่งเออออห่อหมกกับร่างกฏหมายที่จะมีผลกับประชาชนทั้งประเทศ ดูตัวเลขก็รู้แล้วว่าพวกเขาเออออห่อหมกกันขนาดไหน ไม่โปร่งใสมากขนาดไหน และเผด็จการกันขนาดไหน!เป็นที่รู้กันว่า พวก Elite ทั้งหลายนี้มาจากการคัดเลือกแต่งตั้งกันเองของคนบางกลุ่ม ซึ่งทำให้ได้กลิ่นคณาธิปไตยตุๆ แล้ว กระบวนการพิจารณากฏหมาย ที่พากันออกถี่ระรัว จนราวกับว่าพวกเขาไม่ได้คลอด กม.ลูกทั้งหลายอย่างมีสติ แต่เหมือนคนเมาสำรอกอาเจียนเอาทุกสิ่งทุกอย่างในใส้ในพุงออกมา!ใช่แล้ว! สภาหน้าด้านพวกนี้สำรอกกฏหมายออกมาอย่างไม่ใยดีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากกฏหมายเหล่านั้นเลย!Where is justice in this hell?Where is liberty - I paid the priceMy life blood runs drySlowly drained from me- In This Shallow Grave -ผมยอมรับว่าตอนนี้ผมก็อยากสำรอกกลับไปยังพวกมันด้วยความโกรธแค้น (ก่อนที่ต่อไปเราอาจแม้แต่จะไม่สามารถแสดงอารมณ์โกรธแค้นได้อีก) แบบเดียวกับที่ Angela Gossow นักร้องนำหญิงวง Arch Enemy ร้องอย่างดุดันเอาไว้ในอัลบั้ม Rise of the Tyrant ซึ่งนับได้ว่าเป็นการร้องที่จากเสียงที่เป็นธรรมชาติที่สุดของเธอมันช่างเป็นอัลบั้มที่ออกมาได้พอเหมาะพอเจาะกับสถานการณ์บ้านเราจริงๆ ในช่วงปีที่กลิ่นอายอำนาจทหารคุโชน เหล่า Elite ชุดใหม่ที่หลายคนได้พื้นที่นี้มาจากการช่วงชิงจาก Elite ชุดเก่า ออกมาทำตัวเป็นพี่เลี้ยง ป้อนนั่นป้อนนี่ให้ประชาชน ร่างกฏหมายที่คอยแต่จะลบเลือนความเป็นธรรมและฉกชิงเสรีภาพออกไปจากพลเมืองไม่ว่าจะต่อต้านกันยังไง ก็ยังหน้าด้านหน้าทนกันอยู่ในที่ประชุม!ไม่ว่าเราจะมีใช้เหตุใช้ผลแค่ไหน มันก็จะโต้กลับด้วยเหตุผลข้างๆ คูๆ พร้อมกับความชอบธรรมลวงๆBlind my eyes, I hate the lightDespair, frustration, regretFighting - fighting for what?Lies, your lies - I feel dead insideMy pain is all I leave behind- The Great Darkness -มันไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เป็นความเจ็บแค้นจนต้องระบายออกกับดนตรีที่มีทั้งความดุดัน หนักหน่วง และทำนองสละสลวย อย่างแนว Melodic Death Metal ซึ่งในอัลบั้ม Rise of the Tyrant แม้แต่เพลงที่เมโลดิกและโหดน้อยที่สุดในคือ I Will Live Again ก็บอกว่าเรายังไม่แพ้I will live again you'll see - tomorrow's not scaring meFar away from yesterday - just take this pain away- I Will Live Again - ในช่วงต้นเพลง Rise of the Tyrant ไตเติ้ลแทรกของอัลบั้มนี้ มีเสียงพูดที่เอามาจากภาพยนตร์เรื่อง Caligula ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับจักรพรรดิ์โรมันผู้ทำตัวเป็นพระเจ้าของคนในประเทศ บทพูดที่ตัดมานี้สิ่งที่ Caligula พูดมันช่างฟังดูน่าหัวร่อ แล้ววุฒิสมาชิกทั้งหลายพากันเออออตาม Aye! Aye! Aye! ฟังดูน่าหัวร่อพอๆ กันCaligula: I have existed from the morning of the world and I shall exist until the last star falls from the night.Although I have taken the form of Gaius Caligula, I am all men as I am no man and therefore I am a God.I shall wait for the unanimous decision of the Senate Claudius...Claudius: All those who say aye, say aye.Caligula: Aye... Aye!Senators: Aye! Aye! Aye!..Chaerea: He's a god now...- (บทพูดต้นเพลง) Rise of the Tyrant -แม้จะเป็นเมทัลที่เคล้าด้วยความเหี้ยมเกรียม แต่หลายเพลงในอัลบั้มนี้ก็มีความซับซ้อนอย่างเพลง Vulture หรือเพลงที่ท่วงทำนองผสานกลมกลืนไปกับริฟฟ์หนักหน่วงสะใจอย่าง Blood on Your Hands ; Michael Amott มือกีต้าร์และผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของอัลบั้มนี้บอกว่าเป็นงานชุดที่พวกเขาทำออกมาจากความคิดจิตใจส่วนลึกของวงแล้วใครจะเชื่อล่ะว่า Angela นักร้องนำเสียงโหดของวงนี้จะชอบหนังการ์ตูนแสนเศร้าอย่าง The Grave of Fireflies (หนังที่พูดถึงชะตากรรมของเด็กชายหญิงชาวญี่ปุ่นสองพี่น้อง ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่สอง) และถึงขั้นได้แรงบันดาลใจเขียนเป็นเพลง The Day you Died แต่เพลงนี้มีจุดด้อยคือลีดกีต้าร์ที่ไม่ชวนให้รู้สึกเจ็บปวดมากนักเมื่อเทียบกับเนื้อเพลงThey day you died my tears ran dryI feel you, I hear you echo in my soulI failed you, I miss you soThe day you died echoes in my soul- The Day You Died -ถึงแม้ว่าเงือมมือของเผด็จการจะค่อยๆ คลืบคลานเข้ามาอีกระยะ แต่อย่างที่บอกว่านี่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ พวกขี้โกงในสภาฯ มันแค่รวมหัวกันตั้งกติกากันเอง ความน่ากลัวของกฏหมายพวกมันน่ะมีอยู่ แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมเป็นลูกไก่ในกำมือ แม้ในเวทีนี้พวกมันจะยึดครองไว้ได้ หนทางข้างหน้าก็ไม่แน่ว่าพวกมันจะปิดเราไว้ได้หมดWho are they to tell you what to do?The stage is not set, the road is not chosenYou fate not preordainedThey are losing control - every step of the way- Revolution Begins -

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม