Skip to main content

เสียงผู้คนส่งเสียงเชียร์เรือยาวในแม่น้ำดังไปทั่วริมฝั่ง งานแข่งเรือเริ่มขึ้นในวันสาขารล่อง--ประมาณวันที่ ๑๔ เมษายน เบื้องล่างเหนือสายน้ำ เรือ ๒ ลำกำลังขับเคี่ยวกันอย่างหนัก ไม่นานนักเรือที่มีฝีพายใส่เสื้อสีแดงก็ทะยานเข้าเส้นชัย

หลังเรือลำนั้นเข้าเส้นชัยแล้ว การแข่งเรือรอบคัดเลือกจึงสิ้นสุดลง พรุ่งนี้จะเป็นวันตัดสินว่า เรือของคุ้มบ้านไหน จะได้ลอยลำเฉิดฉายเข้าเส้นชัย

เสียงเพลงเฉลิมฉลองทั้งปราชัย และมีชัยดังมาเป็นระยะ เมื่อผู้คนเริ่มทยอยกลับบ้าน ชายชราก็ลุกจากเสื่อที่ปูนั่ง และเดินออกมาจากริมน้ำคืนสู่บ้าน ก่อนจะเดินมาถึงบันไดทางขึ้นวัด ชายชราก็ก็หยุดคุยกับใครบางคนตรงเชิงบันได

“เด็กบ้านเรามันไม่สู้ พายเรือก็ไม่พร้อมกัน ถ้าเป็นสมัยเรานี่ได้รางวัลไปแล้ว” ชายใส่เสื้อขาวอีกคนที่อายุไล่เลี่ยกับชายชราพูดขึ้นมา
“นั้นแหละ พอตอนซ้อมมันไม่มาซ้อม ตอนแข่งก็กินเหล้ากัน พอแข่งจริงแรงมันก็ไม่มี ถ้าเป็นสมัยพวกเรานี่ สู้ไม่เคยถอย แต่ก็อย่างว่านั้นแหละ ถึงคนพายถ้ามันพายดี แต่เรือไม่ดี มันก็เหมือนเดิม เรือกับคนมันต้องดีๆ พอกันถึงจะชนะบ้านอื่นเขาได้”
เมื่อพูดคุยกันอยู่ครู่หนึ่ง ชายชราก็เดินจากผู้ชายอีกคนมา

หากพูดถึงการแข่งเรือแล้ว นานทีปีครั้งถึงจะมี การหาฝีพายที่มือถึง และการหาเรือดีมาเข้าแข่งจึงเป็นเรื่องยากพอควร และความจริงแล้ว การแข่งเรือก็เพียงรักษาประเพณีครั้งเก่าก่อนไว้เท่านั้น หาได้หมายถึงการแข่งขันเอาถ้วยรางวัล และชื่อเสียงใหญ่โตอาฬารแต่ประการใด

หลังงานแข่งเรือแล้วเสร็จอีกหลายวัน ชายชราก็เดินทางขึ้นไปหาปลาอีกครั้ง การไปหาปลาในครั้งนี้ ไม่มีใครรู้ได้ว่า ชายชราจะได้กลับมาพร้อมกับปลากี่กิโล

เมื่อชายชรากลับมาถึงกระท่อม แมวสองตัวที่เลี้ยงไว้ก็วิ่งมารับ มันคงดีใจที่เจ้าของผู้ใจดีกลับมา หลังเก็บสัมภาระทุกอย่างเรียบร้อย ชายชราก็มุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ เมื่อไปถึงชายชราก็พบว่า เรือลอยอยู่บนริมฝั่ง ไม่ได้ลอยอยู่ในน้ำ ชายชราหยุดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนเดินเข้าไปใกล้กับหัวเรือแล้วใช้มือทั้งสองออกแรงดันเรือให้ลงน้ำ เมื่อเรือโดนน้ำ เสียงลั่นคล้ายกำลังปริแตกของไม้ก็ดังขึ้น หลังเสียงเงียบลง ชายชราก็ใช้ขันตักน้ำขึ้นมาสาดไปทั่วเรือ หลังเรือชุ่มไปด้วยน้ำ ชายชราก็เดินขึ้นมาริมฝั่ง และจัดเตีรยมอุปกรณ์ในการบวงสรวงเรือ

ควันธูปลอยล่องไปตามลม หลังถูกจุดขึ้นไม่นาน ตรงหัวเรือมีขนมหลากสี ดอกไม้ และแก้วเหล้า วันนี้ชายชราตัดสินใจเลี้ยงเรือ และบนบานบอกกล่าวต่อแม่ย่านางเรือ หลังจากไม่ได้ทำมานาน

แสงตะวันยามพลบใกล้เข้ามาเต็มที ชายชรายังไม่กลับมาจากหาปลา ตรงริมฝั่ง แมวสองตัวเดินวนไปวนมาเฝ้ารอเจ้าของ บนแม่น้ำหน้าแล้ง แม้น้ำไม่มาก แต่ความหน้ากลัวก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม

เวลาค่อยๆ ผ่านไปช้าๆ ขณะตะวันใกล้ลับเหลี่ยมเทือกเขาดอยหลวง ชายชราก็พายเรือกลับเข้ามถึงฝั่ง แมวสองตัวหลังรู้ว่าเจ้าของพวกมันกลับมาแล้ว มันก็เดินมายังริมฝั่งอีกครั้ง เมื่อมาถึงมันก็กระโดดขึ้นไปบนเรือ มันค่อยๆ ไต่ไปตามเรือ เพื่อไปหาชายชรา

“เหมียว วันนี้ไม่มีอะไรกินหรอก ปลาก็ไม่ได้ กุ้งก็ไม่ได้ ไปขึ้นไปบนฝั่ง มืดค่ำแล้วเดียวตกน้ำ”
ชายชราร้องไล่แมว เมื่อเห็นว่าพวกมันกำลังเล่นกันอยู่บนแคมเรือ แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันหาปลาวันแรก หลังจากไม่ได้หามาหลายวัน ผลรับที่ได้กลับมาก็ไม่ได้แตกต่างกับก่อนหน้าจะหยุดหาไปเท่าใดนัก เมื่อแมวสองตัวเดินขึ้นไปบนริมฝั่งแล้ว ชายชราก็เดินจากท่าเรือขึ้นมาบนกระท่อม

บริเวณกระท่อมตอนนี้มีแสงตะเกียงมาแทนที่ของแสงตะวันยามพลบ ที่ริมระเบียง ชายชรานอนเอาเมื่อก่ายหน้าผากครุ่นคิดถึงเรื่องราวต่างๆ นานาจนเผลอหลับไปเนิ่นนาน

ชายชราสะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อแมวสองตัวหยอกล้อกันแล้ววิ่งมาชนแก เมื่อตื่นขึ้นมา ชายชราก็ย้ายเข้าไปนอนในกระท่อม หลังจากชายชราเข้าไปในกระท่อมแล้ว แมวสองตัวก็เงียบเสียงของพวกมันลง

สองวันให้หลัง ชายชราก็กลับคืนสู่บ้าน ผมได้พบกับชายชราขณะแกกำลังเข็นรถผ่านหน้าบ้าน
“พ่อเฒ่าได้ปลาไหม”
“ไม่ได้ ปลาก็ไม่ได้ เรือก็มาแตก น้ำเข้าเยอะ อุดยังไงก็เอาไม่อยู่ ก็เลยคิดว่าจะเปลี่ยนเรือใหม่ ตอนนี้กำลังไปสั่งคนลาวทำเรือให้อยู่ บอกช่างว่าจะเอาสัก ๑๔ ศอก ให้มันลำใหญ่กว่าลำเดิม”
“แล้วพ่อเฒ่าจะขึ้นไปหาปลาอีกเมื่อไหร่”
“ช่วงนี้ไม่ไป เอาไว้ให้เรือเสร็จก่อน ถึงไปปลามันก็ไม่มี ไปก็เสียเวลาเปล่าสู้ไม่ไปดีกว่า”

ผมคุยกับชายชราอยู่ไม่นานนัก แกก็เข็นรถมุ่งหน้าคืนสู่บ้าน หลังชายชราลับตาไปแล้ว ผมกลับเข้ามาในบ้าน และเดินไปนอนเล่นบนเปลใต้ต้นกระท้อน เมื่อเอนหลังลงแนบกับเปล ผมก็หวนคิดถึงเรื่องเล่าของชายชราที่แกเล่าให้ฟังหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องราวในวันนี้ของชายชรา  

จากวันที่เราพบเจอกันวันแรกจนถึงวันนี้ สิ่งที่ผมเห็นอยู่เสมอคือชายชรายังเป็นคนหาปลาอยู่เช่นเดิม แม้ว่าในตอนนี้ชายชราจะไม่ได้ขึ้นไปหาปลาที่เดิม เพราะปลาไม่ค่อยมี ก็อย่างที่ชายชราเล่าให้ฟังนั้นแหละว่าเป็นเพราะเหตุใด ปลาจึงไม่ค่อยมี ยิ่งนานวันเข้าปลาที่เคยได้ก็ลดน้อยลงทุกที รอยยิ้มเคยมีอยู่บนใบหน้าของชายชราก็เริ่มเลือนหายไปบ้างตามชั่วยามแห่งอารมณ์ที่เกิดขึ้น

หากเราจะเรียกสิ่งที่กำลงเกิดขึ้นกับชายชราและคนหาปลาคนอื่นว่า ‘ชะตากรรม’ แล้ว คนหาปลาเช่นชายชราจะต้องเผชิญชะตากรรมนี้อีกนานเท่าไหร่ ผมเองก็ยังไม่รู้ ได้เพียงแต่ภาวนาว่าขอให้ชายชราเป็น ‘ชายชราแห่งสายน้ำโบราณ’ ที่ได้อาศัยพึ่งพาแม่น้ำ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตต่อไปจนกว่า...

แน่ละ ในความเป็นจริงไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืนและเป็นนิรันดร์ ชายชราก็เช่นกัน อีกไม่นานตำนานแห่งการล่องไหลบนลำเรือเหนือสายน้ำคงได้หยุดลงเป็นการถาวร เพราะร่างกาย และอายุของชายชราก็มากขึ้นทุกที

แม่น้ำก็คงเหมือนกัน วันใดในหนึ่ง แม่น้ำก็ย่อมมีวันหยุดไหล เมื่อผู้คนคิดแต่จะกอบโกยเอาผลประโยชน์จากแม่น้ำมากเท่าใด ผู้คนก็ลงมือทำลายแม่น้ำมากขึ้นเท่านั้น และนอกจากจะทำลายแม่น้ำแล้วยังทำลายวิถีของผู้คนริมน้ำด้วย

ในอนาคตใครจะเป็นคนมาสืบสานวิถีของคนหาปลาแห่งสายน้ำโบราณต่อจากชายชรา มันเป็นคำถามสั้นๆ ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะลูกหลานแห่งแม่น้ำ พวกเขาต่างโดนพรากจากแม่น้ำด้วยมือนิรนามหลายร้อยหลายพันมือ มือนิรนามเหล่านั้นฉุดกระชากลูกหลานแห่งแม่น้ำให้ไหลล่องไปสู่ที่ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ และนับวันจะไปไกลขึ้นทุกที

สายน้ำยังคงไหลไปเช่นใด เรื่องราวของชายชราและแม่น้ำโบราณก็คงไม่จางหายไปเช่นกัน และมันยังจะคงมีต่อไป แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กๆ ของหาคนหาปลาคนหนึ่งบนสายน้ำอันยิ่งใหญ่สายนี้...

ขณะเดินทางออกจากเชียงของสู่เชียงใหม่ ผมหวนคิดถึงคำพูดของชายชราที่ว่า ’หากเราทำร้ายแม่น้ำก็เหมือนเราฆ่าแม่’ ใช่สินะ! หากเราทำร้ายแม่น้ำก็เหมือนกับเราทำร้ายแม่ของเรา เพราะสายน้ำก็ให้กำเนิดของสรรพชีวิตไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าแม่ของเราเช่นกัน...

แม้ว่าในวิถีทางของชายชราจะอยู่บนเส้นแบ่งลางๆ ระหว่างบุญ-บาป-สำนึกแห่งการไม่ฆ่า-การอยู่รอด แต่ความเป็นจริงแล้ว ชายราเคยบอกกบัผมว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เราล้วนเกิดมาชาติเดียว ปลาในแม่น้ำก็เช่นกัน มันล้วนเกิดมาเพียงชาติเดียว เพียงแต่ว่าวันสิ้นชาติของเราจะเดินมาถึงเมื่อไหร่เท่านั้นเอง หากวันสิ้นชาติของปลาเดินทางมาเร็ว มันก็โดนคนหาปลาจับได้หรือไม่ก็โดนปลากินเนื้อบางชนิดกินมันเป็นอาหาร คนเราก็เช่นกัน หากเราไม่โดนคนอื่นฆ่าเสียก่อน เราก็โดนวันเวลาค่อยๆ กลืนกินเราจนกว่าวันสุดท้ายของชีวิตจะเดินทางมาถึง

เมฆฝนฤดูใหม่ตั้งเค้ามาแล้ว ในที่สุดก็โปรยสายลงสู่ผืนดินและสายน้ำอีกครั้ง หลายชีวิตก่อเกิดขึ้นมาอีกครั้ง ชายชราเองก็เช่นกัน เมื่อฝนแรกมาเยือน น้ำเริ่มนอง ไซลั่นที่สานไว้ตั้งแต่หน้าแล้งก็ถูกนำลงมาวางในแม่น้ำอีกครั้ง

เมื่อไหร่หนอ การเดินทางบนสายน้ำของชายชราจะสิ้นสุดลง อีกกี่ปีหนอการล่องไหลของแม่น้ำจะสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน อีกไม่กี่ปีข้างหน้าชายชรา และแม่น้ำโบราณสายนี้จะเป็นอย่างไร จะจบลงด้วยความสุขหรือว่าจบลงด้วยความทุกข์ เวลาคงเป็นเครื่องตัดสิน บางทีการจบลงของเรื่องราวชายชรา และสายน้ำโบราณอาจเป็นเหมือนเพลงที่ชายชราชอบร้องก็เป็นได้...

สายโขงยังตัดไม่ขาด สายสวาทตัดขาดอย่างไร
ตัดบัวก็ยังไว้ใย ตัดน้ำใจยังมีเมตตา
ค่อยอิง ค่อยอาศัยกัน เอาไว้รักกันในวันข้างหน้า

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’