ผมเองไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังในประเด็นพลังงานทั้งเรื่อง ปตท. และการไฟฟ้า ทั้งการเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานหมุนเวียนมานานกว่า 10 ปี
หลังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (14 ธันวาคม) ในอีก 2 วันทำการต่อมารัฐบาลก็ได้ผ่านมติวิธีการจัดการรวมทั้งการคิดค่าเช่าท่อก๊าซฯให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล โดยใช้เวลาพิจารณาเพียง 10 นาที สร้างความกังขาให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก
ประเด็นที่ผมสนใจในที่นี้มี 3 เรื่องดังต่อไปนี้
หนึ่ง คำพิพากษาของศาลฯที่ว่า “การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ” ในกรณีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้นควรจะครอบคลุมไปถึงไหน
ในฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ผมขอสรุปคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดตามความเข้าใจของผมว่า ในขณะที่ ปตท. ยังไม่ได้แปรรูปนั้น ปตท. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ ได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ดำเนินกิจการวางท่อก๊าซเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ ในการนี้ ปตท. ได้ใช้อำนาจดังกล่าวเวนคืนที่ดินของเอกชนจำนวน 32 ไร่ (ซึ่งทางรัฐบาลชุดนี้บอกว่ามีมูลค่า 7 ล้านบาท) เมื่อสถานะของ ปตท. เปลี่ยนไปเป็นองค์กร “นิติบุคคลเอกชน” ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่าต้องโอนที่ดินส่วนที่เคยเป็นของเอกชน (และท่อก๊าซที่วางอยู่บนที่ดิน) กลับไปเป็นของรัฐดังเดิม ให้เหมือนกับก่อนที่ ปตท. จะแปรรูป
ผมสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลชุดนี้จึงตีความ “อำนาจมหาชนของรัฐ” เฉพาะบนที่ดินของเอกชนดังกล่าวเท่านั้น
ในเมื่อท่อก๊าซได้วางอยู่บนที่ดินของสาธารณะ เช่น ทะเล ป่าไม้ ทางหลวงแผ่นดิน เขตสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น
การก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน รัฐบาลก็ได้ใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” เวนคืนที่ดินของเอกชนมาเหมือนกันโดยเหตุผลเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ ต่อมาเมื่อมีการวางท่อก๊าซ (เช่นท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย) ทาง ปตท. ก็ได้ใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” ขอวางท่อก๊าซไปตามแนวทางหลวงแผ่นดิน เมื่อสถานะของ ปตท. เปลี่ยนไปเป็นองค์กร “นิติบุคคลเอกชน” แล้ว สิทธิการใช้ที่ดินแนวทางหลวงแผ่นดินก็น่าจะหมดไปด้วย
การวางท่อก๊าซในทะเล ก็เช่นเดียว เป็นการใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” ไปรอนสิทธิ์การทำประมงและการเดินเรือของประชาชนเหมือนกัน เอกชนรายใดก็ตามไม่สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในทะเลหรือแม่น้ำได้ (ตามตัวบทกฎหมายนะครับ)
ในกรณี ท่อก๊าซไทย-พม่า ก็เป็นการใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” ใช้ที่ป่าไม้ พื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นสมบัติของสาธารณะด้วยเหมือนกัน
เท่าที่ผมทราบ ท่อก๊าซเกือบทุกสายในประเทศไทย ต่างก็วางอยู่บนที่ดินของสาธารณะทั้งสิ้น จะมียกเว้นบ้างก็คือท่อก๊าซจากโรงแยกก๊าซจะนะ ไปยังโรงไฟฟ้าสงขลาที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ท่อก๊าซสายนี้มีการซื้อขายที่ดินเพื่อวางท่อ ไม่ใช่การเวนคืนโดยใช้ “อำนาจมหาชนของรัฐ” แต่อย่างใด
ดังนั้น ผมเข้าใจว่าระบบท่อส่งก๊าซเกือบทั้งหมดจึงควรเป็นของรัฐ ไม่ใช่เฉพาะที่วางอยู่บนที่ดินที่ได้เวนคืนมาจากเอกชนจำนวน 32 ไร่เท่านั้น มูลค่าท่อก๊าซที่จะต้องโอนกลับไปเป็นของรัฐไม่ใช่แค่ 14,000 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลสรุป แต่น่าจะเป็นท่อก๊าซเกือบทั้งหมดซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาท
การตีความคำพิพากษาเพียงตื้นๆ ชั้นเดียวแบบนี้ น่าจะไม่ถูกต้องและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่รัฐนะครับ
สอง ผมเห็นว่า นับจากวันแปรรูป (ตุลาคม 2544) จนถึงวันที่ศาลตัดสิน (2550) ผลประโยชน์ที่ได้จากกิจการท่อก๊าซ หรือค่าผ่านท่อทั้งหมด หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วควรจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด รวมทั้งค่าเสียโอกาสและค่าดอกเบี้ยย้อนหลังด้วย
ไม่ใช่เป็นการคิดค่าเช่าในอัตรา 5% ของรายได้ ตามที่รัฐบาลชุดนี้มีมติ
ทั้งนี้เพราะ ปตท. (ใหม่) ไม่ทำตามมติของคณะกรรมการนโนบายพลังงานแห่งชาติที่มีมติให้แยกกิจการท่อก๊าซออกมาก่อนการแปรรูป
เรื่องรายได้เกี่ยวกับท่อก๊าซ บริษัท ปตท. ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้สาธารณะได้รับทราบ อย่างไรก็ตามจากเอกสาร “คู่มือการคำนวณอัตราค่าผ่านท่อ” ( 7 พฤศจิกายน 2539 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) ทำให้เราทราบได้ว่า
(1) ปตท. คิดผลตอบแทนการลงทุน (หรือ IRR) ในอัตรา 18% ต่อปี นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งให้ความหมายอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้า ปตท. ต้องกู้เงินมาลงทุนในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี กิจการนี้ก็จะคุ้มทุนพอดี แต่ถ้ากู้มาในอัตราที่น้อยกว่า เช่น ถ้ากู้เงินมาในอัตราดอกเบี้ย 8%ต่อปี ก็หมายความว่า ปตท. มีกำไร 10% โดยประมาณ แล้วในความเป็นจริง ปตท. กู้เงินมาลงทุนในอัตราเท่าใดกันแน่ และใช้เงินลงทุนของตนเองจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้ต้องตรวจสอบได้ เท่าที่ผมทราบ ปตท. มักใช้เงินลงทุนของตนเองประมาณ 25%
(2) จากคู่มือดังกล่าว ทำให้สามารถคำนวณได้ว่าในปี 2539 มูลค่าก๊าซที่ผ่านท่อทั้ง 3 โซนมีจำนวน 24,003 ล้านบาท ปตท. ได้ค่าผ่านท่อทั้งหมด 6,646 ล้านบาท หรือพอประมาณได้ว่า ปตท.คิดค่าผ่านท่อในอัตรา 28% ของมูลค่าก๊าซที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้จ่ายปลายทาง
(3) จากข้อมูลในเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงานพบว่า ในช่วงหลังการแปรรูป (ตุลาคม 2544 ถึง 2550) มูลค่าก๊าซทั้งหมดประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ถ้าคิดค่าผ่านท่อในอัตรา 28% ของมูลค่าก๊าซ ค่าผ่านท่อก็ประมาณ 98,000 ล้านบาท
ค่าผ่านท่อจำนวนนี้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 3 ของเงินลงทุนโครงการ และค่าอื่นๆ แล้วที่เหลือควรจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด ในโทษฐานที่ ปตท. เบี้ยวมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ให้แยกกิจการท่อก๊าซออกมาก่อนตั้งแต่ต้น
สาม ผมเห็นว่า เมื่อระบบท่อก๊าซ (เกือบทั้งหมด) ตกเป็นของรัฐ ตามเหตุผลที่กล่าวแล้ว รัฐจึงควรจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล ขึ้นมา คราวนี้รัฐบาลมีอำนาจต่อรองในการหาผู้เช่ารายใหม่และการคิดค่าเช่าด้วย คงไม่ใช่ร้อยละ 5 ตามที่ “รัฐบาลขิงแก่” ได้อนุมัติไปแล้ว ผมคิดว่ากระทรวงการคลังอาจจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (องค์กรนิติบุคคลมหาชนของรัฐ) เช่าก็ได้ เพราะเป็นผู้รับซื้อก๊าซปลายทางอยู่แล้ว
จากการศึกษาของกลุ่มพลังไทยพบว่า ทุกๆ หนึ่งร้อยบาทที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายไฟฟ้าได้เงินจะเข้าสู่ ปตท. ประมาณ 43 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าผ่านท่อเสียประมาณ 12 บาท (ตามข้อมูลข้างต้นที่กล่าวแล้ว)
เราคงจำกันได้ในกรณีที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตอนนั้นมีการเสนอแยกเขื่อนออกมาเป็นสมบัติของกระทรวงการคลัง (เหมือนกับการแยกท่อส่งก๊าซออกจากกิจการ ปตท. ในตอนนี้) แล้วให้บริษัท กฟผ. จำกัด (ที่กำลังจะแปลงร่างเป็นองค์กรนิติบุคคลเอกชนในขณะนั้น) เป็นผู้เช่า
ที่น่าเศร้าแต่ไม่น่าแปลกใจก็คือ มีการเสนอค่าเช่าเขื่อนในราคาที่คิดออกมาแล้วไร่ละไม่กี่บาทต่อปี
คราวนี้สังคมไทยจะต้องหาวิธีการป้องกันอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์เช่นนั้นต้องเกิดขึ้นมาอีก มาวันนี้สังคมไทยต้องตั้งคำถามบ้างแล้วละครับว่า ในปัจจุบันมีธุรกิจใดบ้างที่มีผลตอบแทนสูงถึง 18% ต่อปี
เพื่อนฝูงผมคนหนึ่งที่ทำธุรกิจคอมพิวเตอร์บอกว่า หากได้ผลตอบแทนถึง 5 % ก็นับว่าดีมากแล้ว
กิจการ ปตท. เป็นกิจการผูกขาดแล้วยังมากำหนดผลตอบแทนสูงถึงขนาดนี้ มันผิดทั้งหลักธรรมาภิบาลและผิดทั้งคุณธรรมอย่างน่าละอายมาก
ก่อนการแปรรูป ปตท. มีกำไรปีละไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วงหลังนี้ ปตท. กลับมีกำไรสูงถึงเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องซื้อพลังงานในราคาแพง ระวังนะครับ ถ้าทุกอย่างยังเป็นเช่นนี้ต่อไป สักวันหนึ่งสังคมไทยจะทนไม่ไหว