Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่นี่ สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์    ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่    “สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสรธ กรุงไทย สาขาบางบัวทอง    หรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240 
มูน
แสงแดดอ่อนๆ ในฤดูหนาว ที่ส่องเข้ามาอาบขนนุ่มละเอียดของแมวข้างหน้าต่าง ทำให้ฉันคิดถึงเด็กคนหนึ่งและความสุขที่ยังคงอุ่นอยู่ในใจเสมอมาหลังเรียนจบ ฉันทำงานพัฒนาชนบทอยู่ที่เมืองโคราช และได้พบกับจ่อย เด็กน้อยวัยสี่ขวบในศูนย์บริบาลเด็กขาดสารอาหารของโรงพยาบาลประจำอำเภอ จ่อยเคยเป็นเด็กขาดอาหารระดับรุนแรง หลังจากรับการรักษาฟื้นฟูจึงเริ่มเดินได้เมื่ออายุราวสามขวบ และเป็นเด็กที่ช่างจดจำอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถเรียกชื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคนที่รู้จักได้ไม่พลาด ขอแค่ได้ฟังเสียง หรือใช้มือป้อมๆ ลูบคิ้วคางปากจมูกของคนนั้น หลังโรงพยาบาลเป็นทุ่งหญ้ากว้างๆ จำได้ถึงวันหนึ่งในฤดูหนาวที่ฉันว่างเว้นจากการทำงานในหมู่บ้าน และมีโอกาสจูงจ่อยออกไปเดินในแสงแดดอ่อนๆ “อุ่นไหมจ่อย ตากแดดแล้วอุ่นดีนะ แสงแดดมาจากดวงอาทิตย์ที่อยู่บนฟ้าโน่นแน่ะ” ฉันชวนคุยเรื่อยเปื่อย จ่อยแหงนหน้าส่ายไปมาเหมือนจะมองหาดวงอาทิตย์ แต่ภายใต้เปลือกตาที่เกือบปิดสนิทนั้นไม่มีดวงตามาตั้งแต่เกิด“แสงแดดเป็นยังไงคับ” อยู่ๆ เขาก็ถาม “แสงแดดเหรอ อืมม.. สีเหลือง อ๊ะ ไม่ใช่สิ สีทองต่างหาก แสงแดดสีทอง”“สีทองเป็นยังไงหลือคับ” เป็นคำถามที่ตอบยากจริงๆ  “ก็เป็นสีที่สวยมาก เป็นประกายสว่าง ทำให้เรามองเห็นทุกอย่างชัด เอ๊ยไม่ใช่” ฉันสะดุ้งเมื่อนึกได้ว่าเขามองไม่เห็น “คือ...เวลาเช้าๆ แสงแดดสีทองทำให้เรารู้สึกสดชื่น รู้สึกโล่ง สบายใจ เวลาเราหนาวๆ ก็มาตากแดด แล้วเราก็รู้สึกอุ่นๆ แบบนี้ไง เออ จะว่าไงดีหว่า” เป็นคำอธิบายที่ไม่เข้าท่าเอาซะเลย แต่จ่อยพูดขึ้นว่า“ลู้แล้วคับ สีทองอุ่นๆ” เขายิ้มแป้น  ฉันจูงมือน้อยๆ เดินไปอย่างช้าๆ จ่อยยื่นมือไประใบหญ้าเรียวๆ ที่ยื่นมาจากข้างทาง “หญ้า” เขาพูด “หญ้าสีเขียว” ฉันต่อโดยอัตโนมัติ ลืมนึกว่ากำลังคุยกับเด็กช่างซัก “สีเขียวเป็นยังไงหลือคับ” นั่นไง ว่าแล้วเชียว อีกครั้งที่คิดหนัก นั่นสิ สีเขียวเป็นยังไง อ่อนกว่าสีน้ำเงิน แต่เข้มกว่าสีเหลือง แล้วสีน้ำเงินกับสีเหลืองล่ะเป็นยังไง โอ๊ย อธิบายไม่ได้ คิดไม่ออก ฉันจึงเด็ดใบหญ้ามาให้เขาดม“สีเขียวกลิ่นแบบนี้ไงจ๊ะ”จ่อยทำจมูกฟุดฟิดแล้วร้อง “อื๋อ...” ก่อนจะถามต่ออย่างรวดเร็ว“แล้วสีทองกลิ่นยังไงคับ”“อืม กลิ่นยังไงเหรอ” ฉันกุมขมับ เพิ่งรู้ว่าการอธิบายมันยากจริงๆ “ก็มีหลายกลิ่นนะ อย่างกลิ่นสีทองของแสงแดด แล้วแต่ว่ามันส่องไปที่ไหน อย่างตอนนี้ แดดสีทองกำลังส่องทุ่งหญ้า ทำให้มีกลิ่นสดๆ หอมๆ ลองสูดกลิ่นดูนะ หายใจเข้ายาวๆ นะ ฮืดดด...หอม หอมจัง”“ฮืดดด...ฮืดดด...หอม หอมจัง” เขาทำตาม ยืดคอขึ้นลงอย่างน่ารักแมวตัวหนึ่งเดินออกมาจากโรงครัวของโรงพยาบาล มันส่ายหางอย่างอารมณ์ดีอยู่แถวๆ กอหญ้า คงกำลังมองหาตั๊กแตน  “แน่ะ แมว” ฉันบอกจ่อยแล้วร้องเรียก “เมี้ยว เมี้ยว เมี้ยว” มันหันขวับแล้ววิ่งหางชี้มาหาทันที คงจำได้ว่าคนนี้เองที่แบ่งกับข้าวให้กินบ่อยๆ มาถึงก็เอาหัวมาถูไถขาของฉัน ร้องเหมียวเสียงหวาน จ่อยนั่งลงเอื้อมมือไปตามเสียง ฉันจับมือเล็กป้อมให้ค่อยๆ ลูบไปทั่วตัวแมวเพื่อให้เขารู้จักรูปลักษณ์ของมัน เจ้าแมวอ้วนลงนอนพลิกคว่ำพลิกหงาย ครางเบาๆ ในลำคออย่างพอใจ“นิ่มจัง” จ่อยพูดและยิ้มอย่างชอบใจ ก่อนจะนึกได้แล้วถามว่า“แมวสีอะไลคับ” “แมวมีหลายสีจ้ะ แต่ตัวนี้มันเป็นแมวสามสี ขนของมันมีสีขาว สีส้ม กับสีดำ” ฉันเผลออธิบาย ลืมคิดว่าจะพูดถึงสีขาว สีส้มและสีดำอย่างไร แต่โชคดี (หรือเปล่านะ) ที่เขาไม่ถามเรื่องสี“แมวกลิ่นยังไงคับ” จ่อยสนใจเรื่องกลิ่น อาจเป็นเพราะเขาใช้จมูกได้ดี ในขณะที่ใช้ดวงตาไม่ได้“เออ กลิ่นยังไงเหรอ” ฉันอึ้ง ไม่เคยนึกถึงกลิ่นแมว ถ้ากลิ่นอึแมวละว่าไปอย่าง เคยหอมแก้มเจ้าสามสีครั้งหนึ่ง มีแต่กลิ่นปลาทู ส่วนตัวมันก็ เอ หอมก็ไม่ใช่ เหม็นก็ไม่เชิง จะว่ากลิ่นทะแม่งๆ ก็คงจะต้องอธิบายว่าทะแม่งคืออะไร “ลู้แล้วคับ” เสียงจ่อยดังแทรกความคิดของฉัน เขาลูบหลังที่ปกคลุมด้วยขนนุ่มของแมว ก้มลงไปซุก แล้วเงยใบหน้ากลมแป้นน่าเอ็นดูขึ้นมายิ้ม บอกว่า “ดีจังเลย”วันนั้น เราได้สัมผัสกับดอกหญ้าที่มีกลิ่นแสงแดด ได้ดมกลิ่นสะอาดของผ้าที่ซักตากแดดจนแห้งสนิท แล้วก็ได้แข่งกันสูดกลิ่นของสายลมรอบตัวที่ ฮืดดด...ฮืดดด...หอม หอมจัง ครั้งหนึ่งจ่อยถามว่า สายลมสีอะไร ฉันนึกไม่ทัน จึงบอกว่า ทุกสีในโลกรวมอยู่ด้วยกันหมด“ดีจังเลย” เขายิ้มอย่างมีความสุข ผ่านมาหลายปีแล้ว แสงแดดอุ่น และสายลมอ่อนของฤดูหนาว กับการลูบไล้ขนนุ่มนิ่มของแมวที่นอนขดอยู่บนตัก ยังคงทำให้ฉันได้อิ่มเอิบกับความสุขใจ ที่รู้จักหัดมองโลกมุมใหม่ผ่านหัวใจใสสว่างของเด็กชายผู้ไร้ดวงตาคนนั้นโลกที่มีหลายสิ่งสำคัญ แม้ไม่อาจมองเห็นด้วยตา
เจนจิรา สุ
12 ตุลาคม 2550 ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียงบางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ในวันนั้นเราได้มีโอกาสพบปะกับข้าราชการชั้นสูงของจังหวัดหลายคน และฉันก็ได้มีโอกาสมอบหนังสือที่ชาวบ้านร่วมกันทำขึ้นมาไว้ให้กับนายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน หนังสือฉบับนั้นเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าสภาพหมู่บ้านและปัญหาหลังการย้าย พวกเราได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านหนังสือฉบับนี้เพื่อเร่งให้หน่วยงานราชการต่างๆเข้ามาแก้ไข  ไม่นานผลของความพยายามก็เป็นผลสำเร็จ วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ต้อนรับคณะหน่วยงานราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้ามาที่หมู่บ้านของเราอย่างคึกคัก ท่านผู้ว่าฯ เข้ามาในนามนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการมาครั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาสาธารณะภัยของชาวบ้าน หรือเรียกง่ายๆว่ามาแจกของช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บ่ายกว่าๆ เจ้าหน้าที่อส.จ. ก็ส่งข่าวเข้ามาทางวิทยุสื่อสาร ว่าให้เตรียมตัวเข้าแถวต้อนรับคณะหน่วยงานราชการที่กำลังขึ้นเรือจากท่าของหมู่บ้านห้วยปูแกงเก่า  และกำลังเดินเท้าเข้าตรอกเล็กๆ จากห้วยปูแกงเก่าเข้าหมู่บ้านใหม่ซึ่งถูกปรับปรุงไม่ให้ชื้นแฉะเป็นหลุมบ่อเหมือนอย่างเคย เพื่อให้แขกที่เข้ามาเยือนสามารถย่ำเท้าเข้ามาได้อย่างสบาย มะลิ หญิงสาวกระยันคนเดิม ต้องทำหน้าที่ในการกล่าวรายงานต่อท่านผู้ว่าฯ อีกครั้ง ครั้งนี้เธอต้องขึ้นไปยืนบนเวที มีมะหล่อเพื่อนสาวกระยันคอยถือโทรโข่งอยู่ข้างๆ ฉันสังเกตว่าเธอประหม่ากว่าครั้งก่อนมาก จนสังเกตเห็นกระดาษที่ถือสั่นไหว แม้แต่เสียงที่พูดในท่อนแรกๆก็สั่นตามไปด้วย  เพราะคนที่มาในวันนี้ล้วนเป็นหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด แต่งตัวทะมึงขึงขัง ถือกระเป๋าใบใหญ่ เสียงพูดจาสอบถามชาวบ้านเฉ่งฉางจากทุกมุมของลานเวที หลังจากจบการกล่าวรายงานของชาวบ้าน และพิธีการในส่วนเวที ซึ่งมีทั้งการกล่าวรายงานของส่วนราชการ การรำวงต้อนรับของชาวบ้าน ท่านผู้ว่าก็ขึ้นกล่าวปราศรัยอีกเล็กน้อย เมื่อถึงเวลาแจกสิ่งของให้ความช่วยเหลือ ชาวบ้านก็เข้าแถวเพื่อรับของที่สมาชิกเหล่ากาชาดหอบหิ้วกันมาด้วยสีหน้ายินดี แม้จะดูเป็นความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจของส่วนราชการ เป็นความหวังเดียวของชาวบ้านที่จะได้พึ่งพาอาศัยวันนั้นแดดจ้า และเหงื่อของพวกเราหยดไหลเป็นทางขณะพาท่านผู้ว่าฯและคณะเดินชมบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน คำขอของชาวบ้านพรั่งพรูออกมาจากตัวแทน ส่งผ่านไปถึงข้าราชการต่างๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ให้ช่วยตัดถนนเส้นใหม่ที่ใกล้เมือง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ช่วยสร้างโรงเรียน สร้างสถานที่รักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้งบประมาณมหาศาล หลังจากที่รอยเท้าและฝุ่นควันจางหายไปคืนความสงบเงียบให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง ฉันที่เป็นเสมือนล่ามได้ทำหน้าที่ส่งผ่านความในใจของชาวบ้านสู่เจ้าหน้าที่ นึกหวังในใจว่าคำขอของชาวบ้านจะสามารถเป็นจริงในเร็ววัน แม้ว่าคำขอเหล่านั้นจะดูมากมายหากใช้สายตาคำนวณด้วยงบประมาณ แต่ว่าถ้าหากหน่วยราชการจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่าคำขอเหล่านั้นก็ล้วนเป็นคำขอที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆที่ควรมีควรได้ การขอเรื่อง “ถนน” หรือ “สะพาน” ก็คือตัวเชื่อมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสู่หมู่บ้านเพื่อให้เกิดรายได้ และรายได้ก็จะออกไปสู่เมืองแม่ฮ่องสอนพร้อมกับ “ถนน” หรือ “สะพาน” นั้นๆ  เพื่อใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย เป็นค่าอาหารหรือแม้แต่เครื่องนุ่งห่มซึ่งนับเป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องการ  ไม่นับความจำเป็นพื้นฐาน เช่น โรงเรียนและอนามัย ไฟฟ้าหรือประปา ทุกคนบนโลกนี้ก็ล้วนมีสิทธิ์ใช้สิ่งเหล่านี้ในการดำเนินชีวิต ฉันนึกถึงเมื่อตอนที่ยังอยู่หมู่บ้านเดิม หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าตั้งห่างจากเมืองเพียง 7 กิโลเมตร ถนนที่ตัดผ่านป่าขึ้นเขาลงห้วยได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอยู่ทุกปี และแน่นอนว่าบ้านทุกหลังที่อยู่ใกล้ถนนเส้นนี้มีไฟฟ้ากระแสหลักใช้ แต่แล้วเสาไฟฟ้ากับหยุดกึกห่างจากหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวเพียงไม่กี่ก้าว “หากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นหรือมีไฟฟ้าใช้ นักท่องเที่ยวก็จะไม่มาเที่ยว เพราะหมู่บ้านไม่เป็นธรรมชาติ” ฉันนึกขำในนโยบายเช่นนี้ เพราะนักท่องเที่ยวคงแปลกใจว่าเหตุไฉนชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งๆ ที่เสาไฟฟ้าก็ยืนต้นเคียงเสาทวนสัญญาณโทรศัพท์บริษัทหนึ่งอยู่หน้าหมู่บ้านแท้ๆทั้งที่ความเป็นจริงชาวบ้านต้องจ่ายค่าชาร์ตแบตเตอร์รี่คิดเป็นเงินแล้วมากกว่าจ่ายค่าไฟฟ้ากระแสหลักเสียอีก แม้ว่าไฟที่ใช้จะเป็นเพียงค่าดูทีวีสัก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ค่าหลอดไฟสักดวง หรือบางบ้านอาจจะเปิดวีซีดีได้สักแผ่น เจ้าของความคิดที่เป็นนายทุนผู้ดูแลชาวบ้านและททท. จึงไม่สามารถหยุดความเจริญที่จะเข้ามาถึงพวกเขาได้ ที่ทำอยู่จึงเป็นเพียงการหลบซ่อนความจริงจากสายตานักท่องเที่ยวเท่านั้น ในวันที่มะลิขึ้นกล่าวรายงานต่อคณะหน่วยราชการ ทุกคนจึงตกตะลึงในวิวัฒนาการของชนเผ่าโบราญที่เรียกว่ากะเหรี่ยงคอยาว นักข่าวจึงเข้ามาสัมภาษณ์มะลิ ทุกคนจับจ้องไปที่เธอ หลายหน่วยงานเข้ามาถ่ายวีดีโอกระดาษเขียนรายงานที่เป็นรายมือของเธอความประหม่าของเธอเกิดจากโอกาสที่เธอจะยืนอยู่บนเวที และพูดในความจริงนั้นมีน้อยครั้งเหลือเกิน ครั้งนี้จึงเป็นเพียงแบบฝึกหัดแรกที่เธอยังไม่เคยชิน จึงทำให้มือไม้สั่นด้วยความประหม่าแต่ก็ทำให้หน่วยงานราชการหลายส่วนที่มาวันนั้นตื่นขึ้นยอมรับกับความจริง หลายข้อ เช่นยอมรับว่าพวกเขาสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยได้ไม่ต่างจากคนไทยที่มีบัตร พวกเขารู้จักคิดและวางแผนจัดการต่ออนาคตของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจูงจมูก และพวกเขาก็พร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวไปพร้อมๆกับโลกข้างนอกที่กำลังทะลักเข้ามาสู่หมู่บ้านเล็กๆ หลังเขาแห่งนี้
แพร จารุ
“หนาวไหม หนาวหรือยัง”“หนาวแล้ว เชียงไหมหนาวแล้ว”“ฉันจะไปเชียงใหม่”บทสนทนาหนึ่ง ที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ รายงานข่าว ขณะนี้ยอดดอยอากาศหนาวมาก โดยเฉพาะดอยสูงอุณหภูมิติดลบแล้ว เกิดน้ำค้างแข็ง มีคำถามว่า นักท่องเที่ยวหรือคนที่จะมาเชียงใหม่ควรได้รับรู้ข่าวคราวอะไรบ้างนอกจากว่า หนาวแล้วหรือหนาวกี่องศา ชายคนหนึ่งพูดขึ้นในยามบ่าย เขาพูดต่อว่า ถ้าอยากให้คนอื่นที่มาเที่ยวเชียงใหม่ รู้ว่าเขาควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเมืองและรักเมืองนี้ เราต้องให้ข่าวสารเขามากกว่านี้  เราควรต้องทำงานกับสื่อให้มากว่านี้  เขาเป็นหนึ่งในคนทำงานภาคีฯการมุ่งเน้นให้คนเชียงใหม่ดูแลเมืองเชียงใหม่ มีส่วนร่วมในการจัดการเมือง เช่นว่ามีโครงการขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เมกกะโปรเจค มาตกในเมืองมากมาย ทั้งโครงการไนท์ซาฟารี โครงการพืชสวนโลก ซึ่งโครงการเหล่านี้สร้างลงบนพื้นที่อุทยานดอยสุเทพ โดยที่คนเชียงใหม่ตั้งตัวไม่ติด และผลที่ตามมาตอนนี้คือ โครงการทั้งสองโครงการใหญ่ ๆ ไม่รู้จะว่าไปในทิศทางไหนไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อ กำลังจะกลายเป็นอนุสาวรีย์ บางหน่วยงานเสนอให้ปิดไปเลยก็มี และมีโครงการผูกพันอีกหลายโครงการที่ยังไม่ได้ทำ พืชสวนโลกสร้างไปแล้วในพื้นที่อุทยานดอยสุเทพ – ภาพโดยสุวิชานนท์การมุ่งไปที่ให้คนเชียงใหม่ดูแลเมืองเชียงใหม่น่าจะไม่เพียงพอแล้ว ควรจะบอกกล่าวไปยังส่วนอื่น ๆ หรือให้ประชาชนทั่วประเทศรู้และเข้าใจได้ เพราะเชียงใหม่ไม่ได้รับเฉพาะคนในเมืองเชียงใหม่เท่านั้นส่วนดอยอินทนนท์นั้นเล่า ผู้คนขึ้นไปชื่นชมความงาม ไปเพื่อพบกับความหนาวเย็น ในขณะเดียวกันดอยสวย ผืนป่าก็ซ้ำเหลือเกิน มีสถานที่ก่อสร้างมากมายอยู่บนนั้น และนี่ข่าวว่าจะมีการสร้าง หอดูดาวบนดอยอินทนนท์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นความเหมาะสม เพราะว่า พื้นที่แคบๆ บริเวณยอดดอยเกินขีดจำกัดความสามารถของการรองรับของพื้นที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องการใช้น้ำเนื่องจากเป็นจุดสูงสุด จึงไม่สามารถนำน้ำจากลำธารตามธรรมชาติมาใช้  แต่ต้องอาศัยน้ำสะสมใต้ดินที่มีอยู่ไม่มาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากบริเวณป่าพรุพื้นที่ชุ่มน้ำอ่างกา พื้นที่ชุ่มน้ำอ่างกานี้ นับเป็นระบบนิเวศป่าพรุบนเขาสูงที่มีเอกลักษณ์พิเศษจำเพาะ ที่มีเพียงแห่งเดียวของประเทศ  เป็นถิ่นอาศัยของพืชสัตว์เฉพาะถิ่นหายากหรือมีสถานะภาพใกล้สูญ ดอยอินทนนท์เตรียมสร้างหอดูดาวหากมีการสร้างหอดูดาวขึ้นในบริเวณยอดดอย ระหว่างก่อสร้างและเมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะมีกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อระดับน้ำใต้ดินและน้ำในพรุอ่างกา  ทำให้ระบบนิเวศที่ประสพปัญหาอย่างหนักอยู่แล้วในปัจจุบัน  เสื่อมโทรมลงไปอีกจนอาจเกินแก้ไขแน่นอนล่ะ ต้องสูญเสียพื้นที่สีเขียวไปอีก และเหนืออื่นใด ยังอยู่ใกล้กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระสถูปของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 อันเป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวล้านนา จึงไม่สมควรก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นควรจะพิจารณาที่อื่น (ข้อมูลจากชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา)เช่นเดียวกับแม่น้ำปิง ที่มองเห็นอยู่ข้างหน้า มีความสำคัญอย่างไร แม่น้ำปิงถือว่าเป็น แม่น้ำสายสำคัญ เป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต ดังนั้นจึงเป็นมากกว่าความสวยงาม ที่มองเห็นจากร้านอาหาร หรือจากการล่องเรือชมสองฝั่ง แม่น้ำเป็นหนึ่งในเจ็ดชัยภูมิของเมือง แม่น้ำสายนี้ให้ชีวิตผู้คนมายาวนาน มีการจัดการในระบบเหมืองฝายที่สำคัญยิ่งในการเกษตร แม่น้ำปิงเตรียมสร้างประตูระบายน้ำและท้ายที่สุดมีบทสรุปว่า เมืองเชียงใหม่จะอยู่อย่างไร ท่ามกลางการพัฒนาเมืองไปสู่การท่องเที่ยว เช่นการประกาศผังเมืองใหม่ ให้เป็นพื้นที่สีแดงในย่านวัดเกตุ ฟ้าฮ่าม พื้นที่สีแดงให้ขยายสู่พื้นที่บันเทิงยิ่งขึ้น และนี่มาถึงคำถามอีกครั้งว่า เมืองเชียงใหม่จะขายอะไร มีอะไรเหลือให้ขายอีกไหม ขายอะไรดีจ๊ะ หรือจะปลุกผีไนท์ซา หรือผีสวนโลกขึ้นมา
พันธกุมภา
ดูจิต...ดูจิตคืออะไร? ข้าพเจ้ามักสงสัยตลอดเวลา เมื่อมีผู้ใหญ่ได้บอกสอนเรื่องการ “ดูจิต” บางคนถามว่าวันนี้ดูจิตเป็นยังไงบ้าง ดูจิตไปถึงไหนแล้ว แต่ละคำถามเกิดจากการติดตามผลของการปฏิบัติที่พี่ๆ แต่ละท่านต่างเฝ้าสอบถามด้วยความเป็นห่วงวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้พบกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือ ท่านได้ถามข้าพเจ้าว่าชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากที่ไม่ได้พบเจอกันมาเสียนาน ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องการปฏิบัติของข้าพเจ้าให้ผู้ใหญ่ท่านได้รับฟัง และเราก็ได้คุยถึงครูบาอาจารย์ที่สอนการวิปัสสนากรรมฐานแต่ละหนแห่งผู้ใหญ่ท่านนี้ได้แนะนำ และชวนเชิญให้ข้าพเจ้าได้ลองปฏิบัติตามแนวทางของ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ซึ่งท่านบอกว่าวิถีของหลวงพ่อเป็นการเจริญวิปัสสนาที่เน้นการขยับเคลื่อนร่างกาย พิจารณาทางกาย หรือที่เรียกว่า “กายานุปัสสนา” หรือการพิจารณากายในกาย พิจารณาการเดิน นั่ง ยืน การเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับฆราวาสที่ไม่ได้มีเวลานั่งปฏิบัติอย่างจริงๆ จังๆ ข้าพเจ้า ไม่เคยได้ยินชื่อของ หลวงพ่อเทียน มาก่อน จึงได้ลองหาข้อมูลในเว็บไซต์ และได้เข้ามาอ่านเรื่องการดูจิต ที่หลวงพ่อเทียนท่านได้เขียนไว้ มีความว่าดังนี้......รูปกายนี้ มันเคลื่อนมันไหวอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ มันจะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ ผมเลยเอามาทำเป็นจังหวะ ทำจังหวะ : ยกมือเข้า เอามือออก ยกมือไป เอามือมา ฯลฯ เพื่อเป็นการเรียกร้องให้มีสติมั่นคงอยู่กับรูปกาย อย่างนี้ ตลอดไปถึงจิตใจคิดนึก สองอันนี้เป็นเชือกผูกสติเอาไว้ เมื่อความคิดเข้ามา เราเห็น-รู้ กำมือ เหยียดมือ ยกไป ยกมา นี้ก็รู้ แต่ไม่ต้องเอาสติมาจ้องตัวนี้ อย่าเอาสติมาคุมตัวนี้ ให้เอาสติไปคุมตัวความคิด คำว่า “ไปคุม” คือ ให้คอยดูมัน ดูไกลๆ ดูสบายๆ อย่าไปดูใกล้ๆ มันจะเป็นการเพ่ง ไม่เป็นมัชฌิมา จึงว่า - ทำใจไว้เป็นกลางๆ พอมันคิดปุ๊บ - ทิ้งไปเลย เพียงดูความคิดนี่แหละ เพียงความเคลื่อนไหวนี่แหละ มันเป็นเอง ความเป็นเองมันมีอยู่แล้ว พร้อมแล้วที่จะปรากฏในคนทุกคนได้ พุทธะ จึงแปลว่า ผู้รู้ รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม รู้ธรรม ก็คือรู้ตัวเรา กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เข้าใจธรรม เมื่อรู้อันนี้แล้วก็เลยรู้บาป รู้บุญ บาปก็คือโง่นั่นเอง คือไม่รู้ คืออยู่ในถ้ำ มืดอยู่นั่นแหละ ถ้าเราออกจากถ้ำได้ เรามาอยู่ปากถ้ำ อยู่ข้างนอกถ้ำ เราก็สามารถมองเห็นอะไรได้ทุกอย่าง พุทธศาสนาจริงๆ นั้นคือ ตัวสติ-ตัวสมาธิ-ตัวปัญญาที่ฝึกฝนทำดีแล้วนั่นแหละ ตัวพุทธศาสนามีในตัวคนทุกคน แล้วแต่บุคคลนั้นจะประพฤติปฏิบัติให้มันปรากฏขึ้นหรือเปล่า เป็นเรื่องของบุคคลนั้น การรู้เฉยๆ นี้ยังไม่เห็นความคิด รู้เรื่องรูปนามนี่ยังไม่เห็นความคิด มันคิดจากไหนไม่รู้ มันคิดแล้วมันก็เข้าไปในความคิด รู้ไปเรื่อยๆ รู้แต่ดี ชั่วไม่รู้ อันนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนควรจำเอาไว้ ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึก การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ การเจริญสติ สมาธิ คือ การตั้งใจ ที่เราต้องการความสงบ หรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิต เมื่อมันคิดมาอย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้นเรียกว่า ความสงบ ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นแก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจาก สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่ได้เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ที่นั่นแล้ว การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี่ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น ให้ลืมตาทำ เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้องบังคับให้มันหลับ ให้มันกะพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้ายแลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย  การที่เราเคลื่อนไหว แปลว่าปลุกตัวเราให้ตื่น เมื่อมันคิดให้มันรู้ ความรู้มันจะไปดับโทสะ โมหะ โลภะ จะดับความยึดมั่นถือมั่น แล้วจิตใจเราก็เป็นปกติ เมื่อเป็นปกติแล้วสิ่งใดมาถูกเรา เราจะรู้สึกทั้งหมด เมื่อรู้สึกแล้วเหมือนสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดออกจากกัน-คนไม่มี นี่แหละที่ว่าพระพุทธเจ้าฆ่าคนให้ตาย มีแต่ชีวิตของพระล้วนๆ ชีวิตของพระไม่มีเกิด ไม่มีตาย วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใครๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็กๆ ก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้ ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง วิปัสสนา คือ การเห็นแจ้งรู้จริง เห็นอะไร? ก็เห็นตัวเองนี่เอง กำลังนั่งอยู่ พูดอยู่ในขณะนี้ เห็นจิตใจมันนึกคิดอยู่เดี๋ยวนี้ อันนี้แหละเป็น "วิปัสสนา" จริงๆ คำว่า "วิปัสสนา" นั้นเป็นเพียงชื่อเท่านั้นเอง แต่ตัวจริงของวิปัสสนานั้น ตามตัวหนังสือแปลว่า รู้แจ้ง-รู้จริง รู้แล้วต่างเก่าล่วงภาวะเดิม ว่าอย่างนั้น ถ้าหากรู้แจ้ง-รู้จริง เราจะไปเสียเวลาดูฤกษ์งามยามดีกันทำไม จะไปไหว้ผีไหว้เทวดากันทำไม ถ้าหากรู้แจ้งรู้จริงแล้วก็ไม่ต้องกลัวใครทั้งหมด การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแสความคิดนี้มันไว ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ การเห็นการรู้ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้ เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะคิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งในภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน การทำความรู้สึกตัวนั้น จึงมีอานิสงส์มาก ถ้าหากไม่รู้สึกตัวในขณะไหนเวลาใดแล้ว เรียกว่าคนหลงตน ลืมตัว หลงกายลืมใจ คล้ายๆ คือเราไม่มีชีวิตนี่เอง ให้ดูใจ เมื่อคิดขึ้นมา เห็น รู้เข้ามา ทำความเคลื่อนไหว มันจะวาง วางใจ มันจะมาอยู่กับความรู้สึก เมื่อมาอยู่กับความรู้สึกแล้วปัญญามันจะเกิด คนจะล่วงทุกข์ไปได้เพราะปัญญา ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดไปถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่ หลักพุทธศาสนาจริงๆ สอนให้ละกิเลส คือความอยากนี้เอง แต่ตัวที่มันอยาก เรากลับไม่เห็น ไม่รู้ เราต้องดูจิตดูใจ ให้เข้าใจทันทีว่า เออ…กิเลสเกิดขึ้นแล้ว ต้องเห็นที่ตรงนี้ คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้น สอนให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อทำลายความหลงผิด ความหลงผิดเกิดขึ้นนั้น ท่านว่าเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเรามีความโกรธ ทุกข์เพราะเรามีความโลภ ทุกข์เพราะเรามีความหลง ถ้าเราไม่มีความโกรธ ความโลภ ความหลงแล้ว เราก็ไม่ต้องมีทุกข์ ทำการทำงานอะไรก็ต้องไม่มีทุกข์..........คำสอนเรื่องการดูจิต ของหลวงพ่อเทียน เป็นวิธีการหนึ่งที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น ซึ่งหากมองตามหลัก “มหาสติปัฏฐานสี่” แล้ว หากจะเปรียบเทียบการเจริญสติโดยการสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียนกับมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว วิธีสร้างจังหวะของหลวงพ่อนั้นจัดอยู่ใน “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ในลักษณะของ อิริยาปถบรรพ คือมีสติในอิริยาบทใหญ่ ในการยืน เดิน นั่ง นอน และสัมปชัญญบรรพ คือมีสติในอิริยาบทย่อย เช่น คู้ขา เหยียดแขน กลืนน้ำลาย กระพริบตา รวมไปถึงกลวิธีของการเคลื่อนไหวมือสร้างจังหวะ (หรือจงกรมด้วยมือนั่นเอง) นอกจากนี้ ยังตกเข้าในลักษณะของ “เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ในแง่ที่ว่า เมื่อเกิดความรู้สึกตัวขึ้นในการเคลื่อนไหว นั่นคือรู้ในความรู้สึกที่เป็นกลางๆไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอุเบกขา แต่เป็นการรู้ซึ่งความปกติตามธรรมชาติที่แท้ของจิต เป็นความรู้สึกด้วยสภาพจิตที่แท้จริงจิตที่เป็นกลางซึ่งเป็นต้นตอของชีวิตจิตใจ เมื่อสร้างความรู้สึกตัวให้มีมากขึ้น สติจะทำหน้าที่ของมันเอง คือคอยจับการเคลื่อนไหวของจิตหรือคือความคิดนั่นเอง เข้าลักษณะของ “จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ให้รู้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางจิต เข้าสู่ “ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน” มีคนเล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อเทียน ท่านเน้นให้เห็นความคิด ซึ่งก็คือจิตและการเคลื่อนไหวของจิตนั่นเอง สุขทุกข์ล้วนเกิดจากจิต แต่จิตนั้นปราศจากรูปร่างหน้าตาฉะนี้แล้ว หนทางอันนำไปสู่การหลุดพ้นอย่างแท้จริงนั้น ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ หากเราได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าหนทางของหลวงพ่อเทียน นั้นเป็นหนทางหนึ่งที่อาจจะเหมาะสมแก่จริตของแต่ละคนที่แตกต่างกัน บางคนถนัดแบบของท่านโกเอ็นก้า บางคนถนัดแบบหลวงพ่อชา สุภัทโท บางคนถนัดแบบอุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง และครูบาอาจารย์วิปัสสนากรรมฐานอีกหลายๆ ท่านแต่หนทางที่จะไปถึงนั้นย่อมไม่ได้ห่างไกลจากการนิพพานหรือการหลุดพ้นอย่างแท้จริงเลยแม้แต่น้อย นั้นหมายความว่า หากเรายึดหลักหลักปฏิบัติได้ในแก่นแล้ว เราย่อมสามารถนำแนวทางของครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านมาประยุกต์ให้เหมาะกับแนวทาง จริต และบริบทชีวิตของตนได้อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนนั้น ผู้ใหญ่ท่านที่ได้คุยกับข้าพเจ้า ได้ชวนให้ไปร่วมปฏิบัติด้วยในช่วงเดือนเมษายน ปี 2551 ซึ่งหากผู้ใดสนใจ อาจติดต่อสอบถามข้าพเจ้าได้ในจดหมายอีเมล์ และอาจมีการนัดหมายกันอีกครา เมื่อเวลาใกล้จะมาถึง ทั้งนี้หากใครต้องการอ่านข้อมูลเกี่ยวกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.se-ed.net/theeranun นะครับธรรมสวัสดี....
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ในสายตาของนักเสี่ยงโชค ,เกาะกง หมายถึง แหล่งทำเงินขนาดใหญ่..., หากเทพีแห่งโชคเข้าข้าง, เขาหรือเธอ เหล่านั้น...เชื่อว่า หลายคนคงรู้จักเกาะกงในฐานะแหล่งการพนันแหล่งใหญ่ของประเทศกัมพูชา ณ จุดชายแดนไทย จังหวัดตราด ที่ปล่อยให้มีการเปิดบ่อนเสรี จนรัฐบาลไทยหลายๆ รัฐบาลคิดทำตามอย่าง ..แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนสามารถแหวกม่านความคิดของสังคมไทยออกไปรอดพ้น...ผมไม่ได้ไปเกาะกงในฐานะนักเล่น (เพราะไม่มีฐานะมากพอ 555) แต่ได้ติดสอยห้อยตามเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งไปสังเกตการณ์ทำข้อมูลเรื่องหญิงชาวกัมพูชาในสถานบริการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี, ที่อำเภอคลองสนและอำเภอหาดเล็ก จังหวัดตราด .....เกาะกง จังหวัดเล็กๆ จังหวัดหนึ่งของกัมพูชา ,มีเมืองเอกชื่อว่า กรงเกาะกง ..เมืองแห่งความศิวิไลซ์ แสงสีและอารยธรรม ,การเปิดเสรีบ่อนการพนันได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้ชาวต่างชาติและคนไทยหลั่งไหลกันเข้าไปเสี่ยงโชคอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ สร้างธุรกิจให้แก่กลุ่มทุนใหญ่ๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่อย่างเป็นกอบเป็นกำ, แต่ดูเหมือนว่า, ประชากรชาวกัมพูชาในจังหวัดเกาะกง ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีฐานะดีไปตามรายได้ที่ไหลเข้าบ่อนการพนัน, ตรงกันข้ามกลับมีฐานะยากจน การศึกษาน้อยและคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับที่เรียกว่า, แย่...บางคนทำงานท่าเรือ, บางคนขายสินค้าบริเวณจุดผ่อนปรน, บางคนเป็นลูกเรือประมง เป็นแรงงาน กรรมกรขนสินค้า, และในบางครั้ง, เขาหรือเธอ อยู่ในสถานบริการ หรือ ซ่อง .....ในเงาสลัวของอำเภอคลองสน เด็กสาวนั่งอยู่บนแคร่ไม้ไผ่หน้าร้าน, บนถนนสายยาวของเทศบาล ทั้งสาย คือ ซ่อง, ความจำเป็นบนชีพจรแห่งการดิ้นรนที่จะมีชีวิตและตอบกันอย่างไม่เหนียมอายศีลธรรมว่า, มันจำเป็นสำหรับลูกเรือประมง, โลกบางโลกจึงเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจในความคิดของนักศีลธรรม...คงไม่มีใครอยากขายบริการหรอกพี่ ..หากไม่จำเป็น ..เพื่อนรุ่นน้องผมว่าระหว่าง กระดกเบียร์ในร้านคาราโอเกะ&ซ่องแห่งหนึ่ง, อืม !..ผมไม่กล้า ถ่ายรูปพวกเธอ !ชายฝั่งบริเวณเกาะกง, บ้านที่เห็น คือ ชุมชนชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานฝั่งไทยบรรดาเด็กๆ มาช่วยพ่อแม่ คัดแยกปลา, กล่าวกันว่า ตกกลางคืน เด็กสาวบางคนไปทำงานในสถานบริการรอยยิ้มของเด็กชาวกัมพูชา, สดใส ไม่ว่าโลกจะเป็นสีใดเด็กบางคนได้เรียนหนังสือ, โรงเรียนในฝั่งกัมพูชาภาพหุ่นขี้ผึ้งจำลอง ,แสดงการอพยพหนีภัยสงครามของชาวกัมพูชาในปี 2522 ที่อนุสรณ์สถานเขาล้านแสดงใบหน้าอิดโรยของชาวกัมพูชาอพยพ, คุยกันว่า ผู้อพยพเหล่านี้ถึงกับกินใบไม้ต่างข้าวเช้า, ชาวกัมพูชามาออกันเต็มด่านในวันที่มีตลาดนัดเย็น, ชาวกัมพูชาต่างทยอยกันกลับบ้าน
แพ็ท โรเจ้อร์
หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนไม่ได้มีเวลาและมีพลังงานมากพอที่จะผลิตงานมาที่ “ประชาไท” เลย เนื่องจากภาระงานต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่มีอย่างมากมาย จนเมื่อไรที่กลับถึงบ้านก็พร้อมที่จะวิ่งไปที่เตียงนอนแล้วก็หลับผล็อยไปตรงนั้น แล้วตื่นขึ้นมากับวันใหม่ เพื่อทำงานที่ค้างไว้ให้เสร็จและคอยผจญกับงานใหม่ที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า “ชอบงานที่ทำ” หรือเป็นเพราะ “มีความรับผิดชอบต่องาน” หลายครั้งตอบว่าอย่างหลังน่าจะเหมาะกว่าเรื่องความรับผิดชอบนั้นสามารถมองได้หลายแบบ ผู้เขียนมีบุคคลรอบข้างที่มีลักษณะรับผิดชอบที่น้อยที่สุดตามกฏระเบียบ นั่นหมายถึงความรับผิดชอบที่น้อยที่สุด หรือถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง บุคลากรพวกนี้มีมากถึงมากที่สุด เป็นเพราะในวงการของการทำงานแบบไทยๆนั้น เชื่อกันว่ายิ่งทำงานมากก็ยิ่งมีโอกาสผิดมาก ดังนั้น พวกนี้จึงไม่ชอบที่จะทำอะไรถ้าไม่จำเป็น อันนี้ ต้องมองเรื่องวัฒนธรรมองค์การแบบไทยๆด้วย ที่มีระบบการทำงานแบบราชการอย่างเคร่งครัด มีลำดับช่วงชั้นที่เข้มงวดและระบบอุปถัมภ์ที่แทรกเข้ามา แต่ระบบคุณธรรมมีน้อยมาก ทำให้มีการอิจฉาริษยาที่เข้มข้น มีการทำงานเอาหน้าเป็นกิจวัตร  คนที่ต้องการอยู่อย่างปลอดภัยและลงทุนน้อยที่สุดคือคนที่ทำอะไรตามจำเป็นผู้เขียนมีคนในปกครองหรือพูดง่ายๆ คือลูกน้องที่เป็นสายตรงอยู่ 4คน ในหน่วยงานที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ดูแลกำกับ ถือว่ามีกำลังคนน้อยมากเมื่อเปรียบกับงานที่ต้องรับผิดชอบ งานหลักๆคือรับใช้และบริการผู้บริหารระดับสูงสุดอีกทีหนึ่งและมีโครงการเด็ดๆที่ต้องใช้ทักษะที่ไม่ไทยเพื่อให้สำเร็จ เพราะผู้บริหารได้มีความเชื่อว่าประสบการณ์การทำงานและเรียนในสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2529จนถึง2549 ของผู้เขียนจะพอช่วยได้ ซึ่งเอาเป็นว่าถือเป็นเกียรติของผู้เขียนก็แล้วกัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นภารกิจที่หนักหนาเอาการ ผู้เขียนเคยทำตำแหน่งบริหารแต่มีลูกน้องน้อยมาแต่ไหนแต่ไร มักได้โครงการอะไรเด็ดๆมาตั้งแต่เด็ก มีทั้งที่เป็นไทยและไม่ไทย  และทั้งในและนอกไทย ยอมรับว่าตำแหน่งตรงนี้วันนี้ท้าทายกว่ามากเพราะว่าความรับผิดชอบสูงกว่าเดิมแยะ เป็นหน้าเป็นตาของหน่วยงานใหญ่ แต่มีเครื่องไม้เครื่องมือน้อยมาก และระบบงานทั่วไปของหน่วยงานอื่นๆก็สนับสนุนการทำงานไม่ได้มากนัก อันนี้ไปว่าเขาก็ไม่ได้เพราะเขาเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ผู้บริหารระดับสูงชุดนี้ต่างหากที่มีโครงการต่างๆต่างจากเดิม จึงทำให้เกิดรอยต่อที่ใหญ่โตและเหมือนมีแรงต้านไม่น้อยในระดับล่างขึ้นมาจนถึงระดับบน กลับมาสู่เรื่องทำงานแต่น้อยเท่าที่ต้องรับผิดชอบ อันนี้ถือว่าเป็นภัยต่อองค์การเองเพราะว่าองค์การนั้นต้องการสิ่งใหม่ๆในทุกระดับและจากทุกระดับ หากองค์การทำงานแบบไปวันๆ หรือแบบ “เช้าชาม เย็นชาม” ก็จบกัน เรื่องนี้ผู้บริหารเองต้องมองให้ชัดเจนว่าจะมีการขับเคลื่อนอย่างไร การบีบบังคับและออกคำสั่งนั้น อาจได้ผลในระยะแรกๆ แต่จะมีผลตามมาในระยะต่อไปคือมีความระส่ำระสาย หลายคนบอกว่า “ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ออกไปได้เลย” หากทำแบบนี้ ต่อไปก็จะไม่มีคนมาทำงานด้วย ไม่ว่าองค์การของคุณนั้นจะเก่งสักปานใดก็ตาม เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกที่เน้นการบริหารจัดการแบบประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องการคนเก่งๆที่รักอิสระ มีความหยิ่งในศักดิ์ศรี การทำงานแบบเน้นพระเดชนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงปรารถนาแต่อย่างใดอย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ว่า “อุดมคติ” ต่างๆในสังคมไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามโลกสากล มัวแต่ย้อนศรเพราะว่าชนชั้นปกครองมีความเชื่อสูงสุดหรืออุดมคติที่ตนนิยมที่ว่า คนไทยพอใจกับความเป็นบ่าวไพร่ คิดไม่เป็น ต้องให้มีคนนำที่ชี้ให้ตายก็ไปตาย ชี้ให้ทำอะไรก็ทำ ไม่มีสำนึกในความเป็นตัวของตัวเอง จนเหมือนคล้ายๆกับลัทธิอะไรบางอย่างไปเสียแล้ว วิถีทางดังกล่าวได้เข้ามาในบริบทองค์การแบบเลี่ยงไม่ได้ คือพยายามสร้างคตินิยมในองค์การให้เห็นเป็นระบบบ่าวไพร่ย่อยๆ  จนทุกคนคิดไม่เป็นและหวาดระแวงกันและกัน ดังนั้น วิธีคิดของผู้บริหารองค์การและผู้ถูกบริหารก็เวียนวนกับเรื่องแบบนี้ เวลาจะไปแข่งกับองค์การระดับสากลจริงๆ จึงสู้เขาไม่ได้ และจะไม่มีวันสู้ได้ ผู้เขียนมีความยากลำบากบ้างในการที่จะพยายามเปลี่ยนระบบความคิดบางอย่างของลูกน้อย คือให้พวกเขากล้าที่จะคิดและนำเสนออย่างประชาธิปไตยมากที่สุด แต่ดูเหมือนว่าจะมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจ และยังพอใจที่จะได้ทำงานแต่น้อยๆแต่หวังผลประโยชน์มากๆ แล้วก็มีพฤติกรรมเรียกร้องขอโน่นนี่ ดีที่ว่าระบบงานที่ผู้เขียนกำหนดไว้นั้นมีเรื่องของผลงานเป็นตัวบ่งชี้สัมฤทธิผลทางการทำงาน จึงทำให้การร้องขอผลประโยชน์ต่างๆต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน แต่การร้องขออย่างไร้เหตุผลก็เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเป็น “ไพร่” ในสังคมไทยบุพพกาลที่ไม่สามารถกำจัดได้ในสังคมไทยปัจจุบันการได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งดังกล่าว ยังทำให้ผู้เขียนได้เห็นความเป็นไปของผู้บริหารระดับสูงอีกด้วย โดยเฉพาะเกมการเมืองต่างๆที่บรรดาผู้บริหารระดับสูงต้องชิงไหวชิงพริบกัน แน่นอนบรรดาท่านๆ เหล่านี้ มีข้อขัดแย้งระหว่างกัน มีการปะทะทางคารมให้เห็นเสมอๆ ไม่ว่าจะในที่ประชุมหรือผ่านบันทึกต่างๆ  ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับว่าจากประสบการณ์ในสหรัฐฯนั้น บอกว่าผู้บริหารสหรัฐฯนั้นมีฝีมือที่เหนือกว่าหลายเท่านัก เพราะคนในสหรัฐฯเข้มข้นกว่าในคุณภาพและกลยุทธต่างๆ นอกจากนี้ เงื่อนไขทางกฏหมายและข้อบังคับที่เน้นอำนาจนิยมน้อยกว่า ทำให้การบริหารต้องมืออาชีพกว่ามากอย่างเทียบกันไม่ติด ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอกล่าวเพียงบรรยากาศเบื้องต้นของการทำงานวงในพอเป็นสังเขปเท่านี้ เชื่อว่าจะมีรายละเอียดที่จะมาวิเคราะห์ต่อไปได้อีก และที่สำคัญคือ บทความวิเคราะห์เหล่านี้จะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “วัฒนธรรมระดับชาติ” และ “วัฒนธรรมองค์การ” ที่ต่างฝ่ายต่างสะท้อนกันและกัน ซึ่งทำให้เกิดทั้งข้อดีและข้อด้อยในการบริหารจัดการ ในระดับองค์การเองและระดับประเทศ ที่เราเห็นๆกันอยู่
สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด หนีสุดชีวิต  ( I am David )  ก็เป็นวรรณกรรมอีกเล่มที่สะท้อนภาพสภาวะจิตใจของเดวิด เด็กชายวัย ๑๒ ขวบ ซึ่งได้บรรจุไว้ด้วยความหวาดกลัวจนหนักอึ้งนวนิยายสำหรับเด็กจากประเทศเดนมาร์กเล่มนี้ ได้สารภาพทัศนคติที่มีต่อผลพวงจากสงครามของ Anne Holm ผู้เขียน ผ่านเรื่องราวของเดวิด เด็กชายผู้ได้รับโอกาสจากผู้คุมให้ใช้เวลาเพียง ๓๐ วินาที หนีออกไปจากค่ายกักกันของนาซี โดยมีเข็มทิศ มีดพับ ขนมปังกระบอกน้ำ และสบู่ติดตัวไปด้วย ในความมืดของคืนนั้น เขาต้องวิ่งสุดแรงชีวิต รู้เพียงว่าต้องมุ่งหน้าสู่ทิศใต้เพื่อไปให้ถึงเมืองซาโลนีกา ขึ้นเรือไปอิตาลี เดินขึ้นเหนือต่อไปจนถึงปลายทางคือประเทศเดนมาร์ก ขณะที่อุปสรรคในการหนีครั้งนี้ ได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่วินาทีที่เขาสงสัยในโอกาสที่ได้รับครั้งนี้เดวิด เด็กชายผู้เติบโตมาในค่ายกักกัน ผู้ไม่รู้จักเข็มทิศ ไม่รู้จักสีสันอื่นนอกจากสีเทาของเสื้อผ้า และสีฟ้าของท้องฟ้า ดำรงชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวัง ลมหายใจเจือกลิ่นความตายอย่างคล้ายจะชาชิน เขาต้องไปถึงจุดหมายให้ได้ ขณะเดียวกันโลกภายนอกค่ายกักกันที่ไม่รู้จักเลยนั้นเป็นเพียงอุปสรรคภายนอก แต่อุปสรรคในใจที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แปลกแยก เขาต้องก้าวข้ามให้พ้น โดยการดำเนินเรื่องเป็นการเคลื่อนไปเบื้องหน้าของสองสิ่งคือ ระยะทางในการเดินทางและการเรียนรู้โลกภายนอกค่ายกักกันของเดวิด แต่รายละเอียดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ สัญลักษณ์ในวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้แม้นแนวทางของเรื่องจะมีลักษณะของธรรมชาตินิยม Natrulism  เป็นแกน โดยเฉพาะการสร้างบุคลิกจำเพาะของตัวละคร คือ เดวิด ที่มีนิสัย ทัศนคติ มุมมองของเด็กที่แปลกแยกจากเด็กอื่น สืบเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมา ซึ่งที่นั่นสอนให้รู้จักชินกับการอย่างจำกัดจำเขี่ย ความหนาว หรือรู้จักระงับอารมณ์ฟุ้งซ่าน  และเอาชนะแม้กระทั่งความรู้สึกโหยหาอิสรภาพ  ขณะที่การหนีของเดวิดคือการไปให้พ้นจากเงื้อมมือของคนชั่วร้าย ความรุนแรง และความตาย เพื่อจะได้มีชีวิต เขารู้อย่างเดียวว่าต้องวิ่งไปเท่าที่ขาจะมีเรี่ยวแรง หนีให้พ้นจากความรู้สึกรุนแรงที่พร้อมจะกระชากเอาอิสรภาพและลมหายใจของเขาไปพร้อมกับการถูกตามจับของคนที่ให้โอกาสเขาหนีออกมา  ลักษณะธรรมชาตินิยมนั่นเองที่ประสานให้การตีความเชิงสัญลักษณ์ได้บังเกิดขึ้นในความคิดของผู้อ่าน เนื่องจากผู้เขียนได้พยายามเว้นวรรคอารมณ์ตื่นเต้น ลุ้นระทึกในการหนีของเดวิดด้วยการบรรยายถึงสภาพจิตใจของเขาในต่างเวลาและต่างสถานการณ์ สัญลักษณ์ที่สอดคล้องและเกี่ยวโยงกันนั้น อาจเลือกออกมาพิจารณาได้ ๓ ข้อใหญ่ ๆ เพราะถูกกล่าวถึงอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นกระทั่งจบเรื่อง ได้แก่( ๑ ) เข็มทิศ อันหมายถึง  โอกาส( ๒ ) โยฮันเนส เพื่อนที่เคยอยู่ในค่ายกักกัน อันหมายถึง ความทรงจำอันอบอุ่น หรืออาจจะเป็นจิตสำนึก( ๓ ) พระเจ้า อันหมายถึง ความหวัง อิสรภาพ  ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเดวิดกับพระเจ้านั้น บางครั้งก็อาจเรียกว่าเป็นมิตรภาพได้ด้วย อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนพยายามวางทัศนคติต่อชีวิตไว้ โดยให้ความสำคัญกับ ๓ สิ่งนั้น คือ โอกาส ความทรงจำและความหวัง  โดยโอกาสนั้น ผู้อื่นอาจวางไว้ให้เราแล้วเพียงแต่สำคัญว่าเราจะเลือกใช้มันหรือไม่ ขณะที่บางครั้ง โอกาสก็มีน้อยเกินไป และไม่เคยอยู่กับเราได้ตลอดเวลา แม้จะต้องการมันมากเพียงไรก็ตาม เห็นได้จากเรื่องนี้ ในตอนที่เดวิดเผลอทำเข็มทิศตกทะเล แต่เขาก็สามารถเรียนรู้ที่จะเดินไปยังทิศทางที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องอาศัยเข็มทิศ โยฮันเนส เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่คงความสำคัญตั้งแต่ต้นจนจบ โดยโยฮันเนสเป็นชายชายฝรั่งเศสที่คอยให้ความรู้ มอบความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ (ผู้ใหญ่)ให้เดวิด หลายครั้งที่ความทรงจำระหว่างทั้งสองได้ช่วยเดวิดให้รอดจากภาวะฉุกเฉิน ทำให้ตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม  และสัญลักษณ์นี้ก็เชื่อมโยงไปถึงพระเจ้าด้วย เห็นได้จากหน้า ๔๒  – ๔๔ หลังจากเข็มทิศตกทะเลไปแล้ว  ...ยังไม่มีเข็มทิศอีกด้วย อิสรภาพเป็นสิ่งล้ำค่า และตอนนี้เขาไม่มีอะไรที่จะมาใช้ปกป้องอิสรภาพของเขาได้เลย . ..  (น.๔๒)... เดวิดจึงตัดสินใจว่าเขาต้องมีพระเจ้าสักองค์ที่จะช่วยเขาได้ แต่เขาจะเลือกพระเจ้าองค์ไหนกันเล่า การเลือกนับถือพระเจ้าให้ถูกองค์นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ... ฯลฯ เขาคิดถึงความทรงจำที่ผูกโยงโยฮันเนสไว้ว่า โยฮันเนสไม่ได้สอนเขาเรื่องพระเจ้าแต่เคยเล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ชื่อเดวิด นึกได้ดังนั้น เขาจึงเลือกพระเจ้าองค์นี้พระองค์ให้ข้าได้ทอดกายลงบนทุ่งหญ้าเขียวขจี พระองค์นำข้ามาสู่สายน้ำนิ่งสงบ เดวิดรู้สึกได้ปลดปล่อยและเข้มแข็งขึ้นเหมือนกับเช้าวันที่เขารู้ว่าเขาเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เขายินดีที่ได้คิดถึงเรื่องพระเจ้าเพราะการนับถือพระผู้เป็นเจ้าคงจะดีกว่าการมีเข็มทิศเป็นไหน ๆ ...ถึงแม้คงจะดีกว่านี้แน่หากเขาสามารถเลือกได้ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน การตีความเชิงสัญลักษณ์เป็นเสน่ห์ดึงดูดประการหนึ่งที่จะทำให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิดมากขึ้นจากการดำเนินเรื่องที่ชวนติดตาม เพราะการอ่านวรรณกรรมแนวธรรมชาตินิยมนั้น หากผู้เขียนมุ่งเน้นให้ในเค้าโครงของเรื่องจนมากเกินไป แรงกระทบใจที่มีต่ออารมณ์ ทัศนคติของผู้อ่านก็คงไม่ดำเนินต่อไปโดยที่เรื่องจบลงแล้ว ขณะเดียวกัน หากผู้เขียนจงใจมุ่งเน้นใส่สัญลักษณ์ไว้จนเลอะเทอะ ไม่ประสานกลมกลืนกับเนื้อหาของเรื่องแล้ว ก็เป็นการทำลายเสน่ห์ของเรื่องได้ แต่สำหรับ  เดวิด หนีสุดชีวิต นอกจากข้อสังเกตที่ได้กล่าวมาแล้ว วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เท่านั้น กับผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน หากใครที่ให้ความสำคัญกับจุดหมายปลายทางของความสำเร็จเพียงประการเดียว โดยไม่ยอมเหลียวมองหรือให้ความสำคัญกับรายละเอียดระหว่างทางแล้ว บางที เดวิดอาจจะอยากบอกว่า การเรียนรู้ที่จะไปให้ถึงจุดหมาย เอาชนะปัญหากับทุกย่างก้าวที่ผ่านเผชิญ กับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง นั้นเองที่จะนำพาให้ถึงจุดหมาย.หมายเหตุ เดวิด หนีสุดชีวิต ได้รับรางวัล  First Prize for the Best Scandinavian Children ‘s Book 1963 และ ALA Notable Book Award 1965
นาโก๊ะลี
บางเวลา  บางเหตุปัจจัยได้นำพาความคิดคำนึงย้อนกาลสมัยกลับไปยังวัยเยาว์  นั่นย่อมได้พบเห็นการเติบโตของตัวเอง  วันเวลาเหล่านั้นทั้งหมดจะว่ายาวนานก็ยาวนาน  จะว่ารวดเร็วก็รวดเร็วยิ่ง    ภาพของบางช่วงเวลาปรากฎเด่นชัด  ภาพของบางช่วงเวลาก็หลงเหลือเลือนลาง แล้วภาพของบางช่วงเวลาก้ลบหายไปหมดแล้ว  นับรวมไปถึงว่าคุณค่า หรือสูญเปล่าของเรื่องราวทั้งหลายในระหว่างนั้น  นั่นก็อาจเป็นธรรมดาอันหนึ่ง  ที่สุดแล้ว ภาวะความเป็นไปของเรื่องราว  การแสดงออก หรือถ้อยคำ ล้วนสะท้อนภาพภาวะภายในที่เป็นไประหว่างนั้น  เมื่อค่อยๆ ทบทวนถึงถ้อยคำในแต่ละช่วงวัยของชีวิต  กลับไปดูว่า เวลานั้นเรากล่าวถ้อยคำใด  กล่าวเช่นไร  หลายครั้งที่มิอาจปฏิเสธว่า นั่นเป็นเวลาที่เราช่างโง่เขลาอยู่นัก  คำพูดที่เราคิดว่าดีที่สุดในช่วงนั้น บัดนี้กลับกลายเป็นถ้อยคำที่โง่เขลาไปเสียแล้ว   หรือว่าความจริงเป็นเช่นนั้นหากเราได้ศึกษาอีกมิติของชีวิต  ไยมิใช่เส้นทางนี้ที่เป็นเงื่อนไขให้สืบสาวดูว่า  เราเติบโตอย่างไร  ผ่านยุคสมัย ผ่านการเรียนรู้มาอย่างไร  ชีวิตเติบโตมาอย่างไร  นี่ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจมิใช่น้อย ‘อาจารย์’  เคยบอกว่า “เขียนหนังสือด้วยปากกา  จะทำให้เราเห็นพัฒนาการของความคิดของตัวเอง  คอมพิวเตอร์ มันลบ และแก้ไขง่าย  แต่ในลายมือมันอาจมีรอยลบ รอยขีดฆ่า คำตามที่ผุดโผล่จัดวางอยู่ในหน้ากระดาษนั้น ทั้งหมดเราเห็นมัน”  นี่อาจเป็นเรื่องราวเดียวกันกระมัง เมื่อเรามิได้รังเกียจความโง่เขลาของตัวเอง  เราย่อมมองดูหนทางที่ผ่านมาด้วยความแจ่มใส เมื่อนั้นเราอาจได้ยิ้มให้กับความโง่เขลาและความเปรื่องปราชญ์ของตัวเองทางหนึ่งเราอาจเปรียบเทียบถ้อยคำในเรื่องราวเดียวกันของกาลก่อนกับวันนี้  มีบางสิ่งเพิ่มเข้ามา แล้วอาจมีบางสิ่งหายไป ความหนึ่ง ไม่มากก็น้อยที่เราจะรู้สึกได้ว่า คำของวันนี้ลึกล้ำ  เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิด และประสบการณ์  อาจถึงขึ้นตกผลึกความคิดปรัชญา ก้าวเข้าสู่ภูมิความรู้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์  เป็นความเหนือล้ำกว่ากาลก่อนมหาศาล  และนั่นจะนำการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ เช่นนั้นแล้วนี่นับเป็นเวลาอันน่าภาคภูมิใจ  นั่นก็ใช่ หรือว่า กาลเวลาเก่าก่อนนั้น เรามิได้รู้สึกเช่นนี้เช่นนั้นแล้วเมื่อเรามองออกไป  ในกาลภายหน้า คาดว่าความรู้ การสั่งสมสติ ปัญญาของเราคงมิได้หยุดอยู่เพียงนี้  ทั้งประสบการณ์ และผู้คน เหล่ายอดฝีมือที่เราจะพานพบต่อไป  ล้วนเอื้อต่อการเติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป  อย่างไม่หยุดนิ่ง  หากว่านั่นเป็นชีวิตที่ปรกติเรียนรู้อยู่เสมอ  อย่างนั้นในกาลนั้นเราคงได้มองกลับมายังวันนี้  เรื่องราวและถ้อยคำของวันนี้  เราอาจรู้สึกอย่างเดียวกับที่วันนี้เรารู้สึกต่อกาลก่อนว่ากันไปอย่างที่ว่ากันมาเสมอว่า โลกและชีวิตล้วนเปลี่ยนแปลง  ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่  ไม่เว้นแม้แต่ความจริง สิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่ง อาจดีที่สุดสำหรับเวลา หรือสถานที่หนึ่ง  และเพียงครั้งเดียว  ดังนั้น โลกจึงมีสิ่งที่ดีที่สุดอยู่เสมอ ชีวิตเราก็คงเป็นเช่นเดียวกัน เราจึงมีสิ่งที่ดีที่สุดมากมายนักแล้ว  สิบปีที่แล้ว เราอาจมีถ้อยคำที่ดีที่สุดสำหรับเวลานั้น วันนี้เรามีถ้อยคำที่ดีที่สุดสำหรับวันนี้   และแน่นอนทีเดียวว่า วันต่อไป พรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า เราก็จะมีถ้อยคำที่ดีที่สุดของเวลานั้น  และทั้งหมดล้วนแฝงความโง่เขลา และเปรื่องปราชญ์ อยู่พอกัน  อย่างนั้นการผ่านกาลเวลาอย่างเข้าใจ  ไม่ใช่ความอันลึกล้ำหรอกหรือ
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาของการเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.49 หลายคนไม่ไปเลือกตั้งแน่นอนเพราะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เราหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะได้ยินเสียงประกาศนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ตั้งใจหาเสียงกันอย่างเข้มข้น โดยนโยบายที่มาแรงสุดๆ เป็นนโยบายเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของประชาชน ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม โดยมีน้ำเสียงดูแคลนและปรามาสว่าทำไม่ได้แน่นอนเพราะจำต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล โดยยกตัวอย่างว่านโยบายประชานิยมที่รัฐบาลชุดก่อนนำมาใช้และต้องใส่เงินลงไปจำนวนมากเช่น กองทุนหมู่บ้านที่ใช้งบไปมากกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท การพักหนี้เกษตรกร บ้านเอื้ออาทร แท็กซี่เอื้ออาทร หลักประกันสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งต่างใช้เงินไปหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลให้ระบบการคลังต้องทำหน้าที่จัดหาเงินให้เพียงพอ การเก็บภาษีที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินมาใช้กับนโยบายซื้อใจประชาชนอย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นประชานิยมนั้นมีความต่างกันอยู่พอสมควร ดังที่ดิฉันได้มีข้อมูลและพินิจพิเคราะห์ดู นั่นคือขอเปรียบเทียบระหว่างกองทุนหมู่บ้านกับระบบหลักประกันสุขภาพ  นโยบาย 30 บาท เป็นนโยบายที่ถูกมองว่าเป็นประชานิยมสุดสุด คือรักษาฟรีสำหรับทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการกับแรงงานในประกันสังคม  นั่นคือประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้มีจำนวนกว่า 45 ล้านคน อีก 20 ล้านคนไม่ได้ใช้ระบบนี้เพราะรัฐจ่ายให้ในรูปแบบอื่นคือสวัสดิการข้าราชการที่รัฐจ่ายต่างหาก และรัฐร่วมจ่ายบางส่วนให้คนงานในประกันสังคมด้วย กรณีนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เป็นนโยบายที่สร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนได้รับการรักษาฟรีเมื่อเจ็บป่วย โดยใช้งบประมาณเริ่มแรกเมื่อปี 45 ปีละประมาณเจ็ดหมื่นล้านบาท ปีนี้ ปีงบประมาณ 51 ใช้งบรวมประมาณแสนล้านบาท งบที่กล่าวมานี้เป็นงบทั้งเงินเดือนหมอในกระทรวง  หมอในโรงพยาบาลเอกชน ค่าบุคลากร ค่ายา ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าซ่อมแซม ที่โรงพยาบาล สถานพยาบาล หน่วยบริการ ต้องใช้ในการดูแลรักษาคนป่วยทั้งแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน อุบัติเหตุ ฉุกเฉินต่างๆ โดยรัฐใช้วิธีเหมาจ่ายตามจำนวนรายหัวประชากรให้โรงพยาบาล ซึ่งเป็นระบบประกันคือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข  คำนวณค่าใช้จ่ายให้ประชากรทุกคน แต่คนป่วยเท่านั้นที่ไปใช้บริการ คนไม่ป่วยก็ไม่ได้ใช้ค่าใช้จ่ายใดๆ  งบประมาณทั้งหมดจึงถัวเฉลี่ยทำให้โรงพยาบาลต่างๆ อยู่ได้  ทั้งนี้ ในการจัดการงบประมาณ เป็นการจัดการใหม่คือใช้งบเดิมที่จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขในแต่ละปีก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว มาบริหารใหม่โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โรงพยาบาลได้รับงบเหมือนเดิม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี แต่ไม่มีการสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม สร้างตึกเพิ่ม หากต้องสร้างเพิ่มจะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขในการตั้งงบประมาณในฐานะเป็นเจ้าของโรงพยาบาลของรัฐ  ในขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพใช้งบกระจายให้หน่วยบริการทั้งที่เป็นของเอกชนและของหน่วยงานรัฐอื่นเข้ามาร่วมให้บริการประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้สะดวก ง่าย และทั่วถึงมากขึ้น ทั้งนี้มีการเพิ่มงบบางส่วนขึ้นในการรักษา การส่งเสริมป้องกันโรค และการบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต่างจากนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ที่เดิมไม่ได้มีงบใดๆ อยู่เลย การดำเนินการคือต้องจัดงบขึ้นมาใหม่หมด จำนวนเท่ากับหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่อยู่ในประเทศ  ตัวเลขประมาณคือเจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน นโยบายให้เงินหมู่บ้านละหนึ่งล้านบาทต้องจัดหางบประมาณมากกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท และต้องพัฒนาระบบการจัดตั้งกองทุน การเตรียมการ การติดตามประเมินผลด้วยงบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง โดยการได้รับประโยชน์ของประชาชนในหมู่บ้านนั้นๆ หากให้กู้ได้รายละไม่เกินสองหมื่นบาท มีคนได้กู้ปีละ 50 คน หากหมู่บ้านนั้นมีประชากร 500 คนได้กู้โดยไม่ซ้ำหน้ากันต้องใช้เวลา 10 ปี หรือน้อยกว่านั้นนิดหน่อยกรณีมีดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้กู้รอบแรกๆ ซึ่งก็ไม่มากนัก ในระยะยาวต้องเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนอีกสักเท่าไรจึงจะทำให้ประชาชนที่จำเป็นต้องการเงินทุนจริงๆ ได้เข้าถึงและนำเงินกู้ไปเสริมสร้างความเข้มแข็งของตนเองและครอบครัวได้ทั้งสองโครงการคือหลักประกันสุขภาพและกองทุนหมู่บ้าน ต่างถูกมองว่าเป็นโครงการประชานิยม แต่ความยั่งยืนจะอยู่ที่โครงการใดมากกว่ากัน และโครงการใดแสดงให้เห็นถึงการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมากกว่ากัน การประเมินว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นประชานิยมล้วนๆ เทียบเท่ากับโครงการอื่นๆ จึงเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป  เช่นเดียวกับที่มีข้อท้าทายทุกพรรคการเมืองที่ชูนโยบายเรียนฟรีจริงๆด้วยว่าคิดทำกันอย่างไร เพียงแค่หาเสียงหรือตั้งใจทำกันจริง เพราะเงินที่ให้กระทรวงศึกษาธิการปีๆ หนึ่งไม่น้อยกว่าสองแสนล้านอยู่แล้ว จะมีพรรคไหนกล้านำเงินก้อนนั้นออกมาจากมือกระทรวงศึกษาธิการ แล้วให้มีการจัดสรรการใช้เงินกันใหม่เพื่อสร้างระบบหลักประกันให้ประชาชนได้เรียนฟรีกันจริงๆ เพราะหากยังอยู่ในการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการก็มองไม่เห็นว่าจะทำให้นโยบายนี้เป็นจริงได้เพราะงบกว่าสองแสนแปดหมื่นล้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นงบเงินเดือนครูและบุคลากรต่างๆ และเป็นไปไม่ได้ว่ารัฐบาลจะหางบเพิ่มเติมมาเพื่อจัดการศึกษาฟรีได้อีกเพราะระบบการคลังก็มีเงินจำนวนไม่มากพอ สำหรับทุกโครงการทุกนโยบายของรัฐอยู่แล้วดิฉันเองต้องการให้ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพไม่ถูกบิดเบือนข้อมูลว่าเป็นนโยบายประชานิยมล้วนๆ เพราะนี่เป็นสิทธิของประชาชนและสามารถได้มาด้วยการจัดการบริหารอย่างมีคุณภาพ  มากกว่าการโยนเงินเข้าสู่หมู่บ้านแบบเห็นๆ แต่ไม่สร้างความมั่นคงในการได้รับสิทธิในการมีงานทำ มีที่ทำกิน มีที่อยู่อาศัย หรือได้รับการดูแลเมื่อยามชรา พรรคการเมืองที่บอกว่าจะให้มีระบบหลักประกันการศึกษา ทุกคนได้เรียนฟรีต้องอธิบายเรื่องการบริหารจัดการเงินของกระทรวงศึกษาธิการได้ด้วยจึงจะรอดพ้นจากนโยบายประชานิยมล้วนๆ มาเป็นนโยบายเพื่อสิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และทำได้จริง พิสูจน์ได้จริงในแง่การใช้เงินงบประมาณและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
เมธัส บัวชุม
-1-เป็นที่รู้กันดีว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.ชุดปัจจุบันซึ่งมีคนอย่าง นางสดศรี สัตยธรรม ผู้ซึ่งดูเหมือนจะชมชอบ “สถาบันทหาร” เป็นพิเศษเป็นคณะกรรมการรวมอยู่ด้วยนั้น เป็นองค์กรที่กล่าวได้ว่าคลอดออกมาจาก “มดลูก” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ที่ทำการรัฐประหารปล้นชิงอำนาจมาจากประชาชน โดยมีพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ผู้ซึ่งนอกจากชอบอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” แล้วยังชอบอ้างเรื่อง “คุณธรรม จริยธรรม” แต่ว่ากันว่าจดทะเบียนสมรสซ้อนอย่างน้อยสองครั้งเป็นอดีตประธาน  เป็นที่รู้กันดีว่าจุดประสงค์หลักของคมช.และ “บรรดาลูกๆ”  ทั้งหลายก็คือต้องการทำลายล้าง ถอนรากถอนโคน อำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือที่เรียกกันง่าย ๆ จนติดปากว่า “อำนาจเก่า” อันที่จริง คำว่า “อำนาจเก่า” น่าจะใช้เรียกอำนาจและอิทธิพลอัน “เก่า” และ” แก่” กว่าในสมัยของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ได้เก่าอะไรเลย อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเก่ากว่าด้วยซ้ำ  คำว่า “อำนาจเก่า” น่าจะหมายถึงอำนาจและอิทธิพลที่ ควบคุม ปกครองประเทศไทยมายาวนานหลายร้อยปี เป็นอำนาจที่เข้มข้น ทรงพลังกว่าอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ   ชินวัตร อย่างเทียบกันไม่ติดจะว่าไปแล้ว อำนาจและอิทธิพลที่ประหารรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทำให้อดีตนายกฯ ผู้นี้ต้องอยู่ต่างประเทศอย่างไม่มีกำหนดกลับนั้นก็คือ “อำนาจเก่า” นั่นเองหรืออย่างน้อยก็เป็นการ “อ้างอิง” ความชอบธรรมจาก “อำนาจเก่า” ไม่ว่าอำนาจเก่าจะเห็นพ้องด้วยหรือไม่ก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อำนาจเก่า” มีส่วนไม่มากก็น้อยต่อการทำลายรัฐบาลของอดีตนายก ฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งนับวันจะถูกทำให้กลายเป็น “ตำนาน” เช่นเดียวกับ “ผู้อภิวัฒน์” ปรีดี  พนมยงค์ ได้เป็นมาแล้วหากจะแปลความหมายหรือตีความกันจริง ๆ แล้วคำว่า “อำนาจเก่า” จึงไม่ควรจะเข้าใจกันอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลชุดที่แล้วหรืออำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกฯ  ทักษิณ ชินวัตร แต่มันควรหมายถึงอะไรที่ “เก่าและแก่กว่านั้น” ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วทำให้อำนาจและอิทธิพลของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็น “อำนาจใหม่” ไปทันที“อำนาจใหม่” ย่อมเป็นปัญหาสำหรับ “อำนาจเก่า” ในทางกลับกัน “อำนาจเก่า” ก็เป็นปัญหาสำหรับ “อำนาจใหม่” ด้วยเหมือนกัน หากไม่มีทางรอมชอม ประนีประนอมหรือต่อรองกันได้ สถานการณ์ความตึงเครียด ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่การเลือกข้างกระทั่งแตกหักกันในที่สุด-2-คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีที่มาจากอำนาจรัฐประหาร และรัฐประหารซึ่งอ้างอิงตัวเองกับ “อำนาจเก่า” เป็นตัวปัญหาสำคัญที่ขัดขวางประชาธิปไตย เพราะเป้าหมายขององค์กรนี้แยกไม่ออกจากเป้าหมายของผู้ให้กำเนิด (คมช.) ที่ต้องการกวาดล้างอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายกฯ  ทักษิณ  ชินวัตรดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกจนเกินเข้าใจหากคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งน่าจะทำให้ประชาธิปไตยว่าด้วยการเลือกตั้งราบรื่นนั้น กลับเป็นตัวที่ก่อปัญหาเสียเองหลายครั้งหลายครา มากเสียยิ่งกว่าอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์คับแคบแบบคนที่จมอยู่กับตัวบทกฏหมาย แต่ไม่รู้จักสังคมอย่างรอบด้าน เช่นเรื่องของข้อบังคับในเรื่องการหาเสียงของพรรคการเมือง การจัดการกับอดีตกรรมการ 111 คนแห่งพรรคไทยรักไทย  ตลอดจนความพยายามที่  “อุ้ม”  คมช. ในเรื่องของเอกสารลับการพยายามทำลายล้างอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร ด้วย “กุศโลบาย” ต่าง ๆ นั้น ทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือ “ส่วนรวม” ต้องพลอยรับความเดือดร้อนไปด้วยอย่างไม่จำเป็น มีบางคนเปรียบเทียบเหตุการณ์โค่นอำนาจ และความพยายามในเวลาต่อมาในการกำจัดอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ ว่าเป็นเหมือน  ”การเผาป่าทั้งป่าเพื่อจับเสือตัวเดียว” หรือการ “ทำลายบ้านทั้งหลังเพื่อกำจัดปลวก” หรือ “เหมือนการไล่จับหนูใน การ์ตูน ทอมและเจอร์รี่” ที่ข้าวของในบ้านต้องแตกหักกระจัดกระจายเพราะการวิ่งไล่กันของสัตว์สองตัว ราคาที่ต้องจ่ายในการไล่ล่าทำลายอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตรนั้นคือความถดถอยของประเทศในทุกด้าน “ประชาชน” ซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ถูกดึงเข้าไปร่วมด้วย “ประชาชนเขาขอให้ผมปฏิวัติ”นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ยังมี “ลูก ๆ” อีกหลายตัวที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ผ่องถ่ายอำนาจไปให้เพื่อจัดการกับอำนาจและอิทธิพลของอดีตนายก ฯ ทักษิณ  ชินวัตร ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็น “คตส.” ซึ่งนับวันจะกลายเป็นตัวตลกเพราะหมกมุ่นกับการจับผิดคนอื่นโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่ดูตัวเองว่า “ด่างพร้อยด้วยรอยตำหนิ”  ไม่น้อยกว่าคนอื่นเลย ขอชื่นชมนักต่อสู้อย่าง คุณจาตุรนต์ ฉายแสง และคนอื่น ๆ อีกหลายคน  ในความกล้าหาญและการเป็นนักต่อสู้ที่วิจารณ์คณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา แต่มากไปกว่าการวิจารณ์ ทางที่ดีควรจะขับไล่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ไปให้พ้น ไม่ควรจะปล่อยให้สร้างเวร สร้างกรรมอีกต่อไป เพราะ “งาช้างไม่อาจงอกจากปากกระบอกปืน” ได้ฉันใด  “สันดานรัฐประหาร(โจร)ไม่อาจก่อกำเนิดอุดมการณ์ประชาธิปไตย” ได้ฉันนั้น.
กิตติพันธ์ กันจินะ
“อากาศหนาวๆ เย็นๆ อย่างนี้ หากได้หาใครสักคนมาอยู่ข้างกายก็คงจะดี” เพื่อนรุ่นพี่พูด บอกเสมือนจะสื่อให้ผมหาใครสักคนมาอยู่ข้างกาย เพื่อเป็นเพื่อนคุย แต่ผมคิดว่านัยยะของคำพูดนี้ น่าจะสะท้อนความคิดบางอย่าง ว่าการที่จะมีใครสักคนเข้ามาอยู่ใกล้ๆ เราในช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ แน่นอนว่าจะช่วยทำให้เราอุ่นกายและอุ่นใจได้พร้อมๆ กันผมครุ่นคิดถึงคำพูดของเพื่อนรุ่นพี่ หลายวัน พลันกับได้ยินเรื่องราวเรื่องการคัดค้านมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือ ‘มอ’ นอกระบบ  ก็ทำให้นึกถึง ความรักนอกระบบ ไปด้วย ความรักนอกระบบ กับ ‘มอ’ นอกระบบ แม้จะไม่เหมือนกัน แต่ความต่างของทั้งสองเรื่องก็น่าจะทำให้เรามองเห็นความเป็นไปของสังคมมนุษย์ได้อย่างเท่าทันมหาวิทยาลัยนอกระบบ จะเป็นจุดเริ่มต้นของ “จุดจบ” บางอย่างของชีวิตนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องหลักประกันทางการศึกษา ฯลฯ ซึ่งผมมองว่า การนำมหาวิทยาลัยภายใต้รัฐแปรรูปไปสู่การอยู่ในกำกับ จะสามารถสร้างความอิสระของสถานอุดมศึกษาในการบริหารจัดการต่างๆ แต่นั้นอาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดีต่อนักศึกษาผู้เล่าเรียนและแสวงหาเท่าใดนักเนื่องเพราะทุกวันนี้ การอุดหนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและการกำหนดเพดานสนับสนุนงบลงทุนเพื่อการศึกษานั้น รัฐอุดหนุนค่อนข้างจะพอดีต่อความจำเป็นของแต่ละสถานที่ และหากออกนอกระบบไปแล้วเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการยกเลิกเพดานการศึกษาและการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากรัฐอย่างเพียงพอและทั่วถึง นั่นจึงทำให้มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบต่างจัดการหาทุนมามากขึ้นส่วนความรักนอกระบบ ในที่นี่ผมจะกล่าวถึง ความรักระหว่างคนกับคน หรือระดับปัจเจก ซึ่งมีนัยระหว่างคู่กับคู่นั่นเองแหละครับ – ความรักนอกระบบ นั้น เป็นความรักที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับของคนในสังคมมากกว่า “ความรักตามระบบ” เนื่องเพราะความรักที่เป็น “ความรักของคนรักเพศเดียวกัน” – เช่น ชายรักชาย หญิงรักหญิง, “ความรักของคนอายุน้อย” – เช่น เยาวชน วัยรุ่น เด็กๆ, “ความรักนอกสมรส” - ไม่ได้แต่งงานแล้วดันมีรักหรือมีเซ็กส์กันก่อนแต่ง หรือ “ความรักของคนหลายใจ” – พวกที่แบบไม่ได้รักเดียวใจเดียว ความรักต่างๆเหล่านี้เป็นความรักนอกระบบ ที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับทางสังคมทำไมจึงเป็นเช่นนั้น, ผมเองก็ไม่ทราบนะครับทั้งนี้ เมื่อความรักนอกระบบ นำไปสู่ “เซ็กส์” ด้วยล่ะก็ ไม่ต้องพูดเลยว่าจะได้รับการยอมรับแค่ไหน เพราะสังคมยังคงเมินเฉย และไม่ยอมรับต่อเซ็กส์ที่ไม่ใช่เซ็กส์ของผู้ใหญ่ เซ็กส์ของคนรักต่างเพศ เซ็กส์เพื่อสืบทายาท เซ็กส์กับคนๆ เดียว และเซ็กส์พร้อมกับพิธีกรรมแต่งงาน ฉะนั้นแล้ว เซ็กส์ของเด็ก เซ็กส์ของคนรักเพศเดียวกัน เซ็กส์เพื่อความบันเทิง เซ็กส์กับคนหลายๆ คน และเซ็กส์ก่อนแต่งงาน ย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นแน่แท้ทำไมจึงเป็นเช่นนี้, ผมเองก็ไม่ทราบนะครับทว่าเมื่อได้รับฟัง พี่ๆ บางคนเล่าให้ฟังเรื่องว่าความรักและเซ็กส์สัมพันธ์ของคนไทยแต่เดิมแท้นั้นเป็นอย่างไร หลายคนยกตัวอย่างเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เรื่องลิลิตพระลอ ขึ้นมาเปรียบให้เห็นสังคมไทยสมัยแต่เดิมดั้งว่า แท้แล้ว เรื่องเพศเป็นเรื่องเพื่อความบันเทิง ไม่ได้มีไว้เพื่อสืบพันธุ์ หรือเพื่อจรรโลงศีลธรรมอันดีงาม ต่อเมื่อไทยรับเอาอิทธิสมัย “วิคทรอเรีย” เข้ามาใช้ อาทิเช่น การแต่งตัวของหญิง การครองเรือน หรือแม้กระทั่งการรักนวลสงวนตัว ก็เกิดในยุคนี้ ซึ่งเท่าที่ทราบคือได้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5นับตั้งแต่นั้นมา ความรักแบบในระบบ จึงถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อทำให้เป็น “บรรทัดฐาน” ของสังคม กลายเป็นจารีตประเพณีที่หยั่งลึกลงไปในสังคม ทำให้พื้นที่ของคนที่มีความรักแตกต่างออกไปจากบรรทัดฐานของสังคม ไม่ได้รับการยอมรับและเข้าใจ กลับกลายเป็นของแปลกแยกในสังคมไปโดยปริยายเมื่อทราบประวัติศาสตร์แล้ว ใช่จะหมายความว่าเราจะต้องยอมรับเรื่องเพศนอกระบบทันทีก็คงไม่ใช่เพราะประวัติศาสตร์คงทำให้เราได้เห็นถึงที่มาของเรื่องบางเรื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยอมรับในประวัติศาสตร์เลย อย่างน้อยๆ เราก็รู้ว่า เวลามีคนบอกว่า แบบนี้เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เราจะได้บอกได้ว่า วัฒนธรรมไทยแท้แล้วเป็นแบบไหนกันแน่ส่วนเรื่องการจะยอมรับหรือไม่นั้น ประวัติศาสตร์อาจช่วยทำให้เรามองสังคมมองเรื่องเพศเรื่องความรักอย่างเข้าใจมากขึ้น อันจะนำไปสู่การ “รื้อสร้าง” วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ต่อเรื่องเพศวิถีของคนที่กว้างขึ้น เข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นในใจผมจริงๆ แล้ว อยากให้เรามองความรักนอกระบบด้วยความเข้าใจ และยอมรับในวิถีชีวิตทางเพศของคนที่แตกต่างจากเรา แม้ว่าเขาจะเลือกมันหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเขามีวิถีแบบนั้นแล้ว เราน่าจะมองเขาด้วยความเอื้ออารีและไม่ตีตราหรือต่อว่าต่อขานกับทางเลือกชีวิตของคนนั้นๆ ตราบเท่าที่ทางเลือกนั้นไม่ได้ไปเบียดเบียนหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่นส่วนเรื่อง มหาวิทยาลัยนอกระบบ ไม่ว่าใครจะเอาบทเรียนจากต่างประเทศมาพูดคุยสรรพคุณว่าดีแบบนั้น แบบนี้ ผมว่ามันดูจะเป็นการพูดที่ไม่เข้าใจเลยว่าบริบทวัฒนธรรมการศึกษาของบ้านเราเป็นแบบไหน (การศึกษาก็เริ่มปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นเดียวกับการสถาปนารักในระบบ) แม้ว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษาจะมุ่งไปที่การแข่งขันทางการตลาดก็ตาม ผมว่าระบบการศึกษาควรจะแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ มากกว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนะครับ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเข้าถึงการศึกษาของคนยากจน เป็นต้นทั้งนี้ จุดหนึ่งที่ผมว่ารักนอกระบบยังดีกว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบนั้นก็คือ ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความปลอดภัย ความสุข ความรับผิดชอบ และยินยอมพร้อมใจของคนสองคน ทว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น ไม่มีทั้งความปลอดภัย ความสุข ความรับผิดชอบ และความยินยอมพร้อมใจของคนที่เกี่ยวข้องเลยแม้แต่นิด...

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม