หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนไม่ได้มีเวลาและมีพลังงานมากพอที่จะผลิตงานมาที่ “ประชาไท” เลย เนื่องจากภาระงานต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่มีอย่างมากมาย จนเมื่อไรที่กลับถึงบ้านก็พร้อมที่จะวิ่งไปที่เตียงนอนแล้วก็หลับผล็อยไปตรงนั้น แล้วตื่นขึ้นมากับวันใหม่ เพื่อทำงานที่ค้างไว้ให้เสร็จและคอยผจญกับงานใหม่ที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า “ชอบงานที่ทำ” หรือเป็นเพราะ “มีความรับผิดชอบต่องาน” หลายครั้งตอบว่าอย่างหลังน่าจะเหมาะกว่า
เรื่องความรับผิดชอบนั้นสามารถมองได้หลายแบบ ผู้เขียนมีบุคคลรอบข้างที่มีลักษณะรับผิดชอบที่น้อยที่สุดตามกฏระเบียบ นั่นหมายถึงความรับผิดชอบที่น้อยที่สุด หรือถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง บุคลากรพวกนี้มีมากถึงมากที่สุด เป็นเพราะในวงการของการทำงานแบบไทยๆนั้น เชื่อกันว่ายิ่งทำงานมากก็ยิ่งมีโอกาสผิดมาก ดังนั้น พวกนี้จึงไม่ชอบที่จะทำอะไรถ้าไม่จำเป็น อันนี้ ต้องมองเรื่องวัฒนธรรมองค์การแบบไทยๆด้วย ที่มีระบบการทำงานแบบราชการอย่างเคร่งครัด มีลำดับช่วงชั้นที่เข้มงวดและระบบอุปถัมภ์ที่แทรกเข้ามา แต่ระบบคุณธรรมมีน้อยมาก ทำให้มีการอิจฉาริษยาที่เข้มข้น มีการทำงานเอาหน้าเป็นกิจวัตร คนที่ต้องการอยู่อย่างปลอดภัยและลงทุนน้อยที่สุดคือคนที่ทำอะไรตามจำเป็น
ผู้เขียนมีคนในปกครองหรือพูดง่ายๆ คือลูกน้องที่เป็นสายตรงอยู่ 4คน ในหน่วยงานที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ดูแลกำกับ ถือว่ามีกำลังคนน้อยมากเมื่อเปรียบกับงานที่ต้องรับผิดชอบ งานหลักๆคือรับใช้และบริการผู้บริหารระดับสูงสุดอีกทีหนึ่งและมีโครงการเด็ดๆที่ต้องใช้ทักษะที่ไม่ไทยเพื่อให้สำเร็จ เพราะผู้บริหารได้มีความเชื่อว่าประสบการณ์การทำงานและเรียนในสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2529จนถึง2549 ของผู้เขียนจะพอช่วยได้ ซึ่งเอาเป็นว่าถือเป็นเกียรติของผู้เขียนก็แล้วกัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นภารกิจที่หนักหนาเอาการ
ผู้เขียนเคยทำตำแหน่งบริหารแต่มีลูกน้องน้อยมาแต่ไหนแต่ไร มักได้โครงการอะไรเด็ดๆมาตั้งแต่เด็ก มีทั้งที่เป็นไทยและไม่ไทย และทั้งในและนอกไทย ยอมรับว่าตำแหน่งตรงนี้วันนี้ท้าทายกว่ามากเพราะว่าความรับผิดชอบสูงกว่าเดิมแยะ เป็นหน้าเป็นตาของหน่วยงานใหญ่ แต่มีเครื่องไม้เครื่องมือน้อยมาก และระบบงานทั่วไปของหน่วยงานอื่นๆก็สนับสนุนการทำงานไม่ได้มากนัก อันนี้ไปว่าเขาก็ไม่ได้เพราะเขาเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ผู้บริหารระดับสูงชุดนี้ต่างหากที่มีโครงการต่างๆต่างจากเดิม จึงทำให้เกิดรอยต่อที่ใหญ่โตและเหมือนมีแรงต้านไม่น้อยในระดับล่างขึ้นมาจนถึงระดับบน
กลับมาสู่เรื่องทำงานแต่น้อยเท่าที่ต้องรับผิดชอบ อันนี้ถือว่าเป็นภัยต่อองค์การเองเพราะว่าองค์การนั้นต้องการสิ่งใหม่ๆในทุกระดับและจากทุกระดับ หากองค์การทำงานแบบไปวันๆ หรือแบบ “เช้าชาม เย็นชาม” ก็จบกัน เรื่องนี้ผู้บริหารเองต้องมองให้ชัดเจนว่าจะมีการขับเคลื่อนอย่างไร การบีบบังคับและออกคำสั่งนั้น อาจได้ผลในระยะแรกๆ แต่จะมีผลตามมาในระยะต่อไปคือมีความระส่ำระสาย หลายคนบอกว่า “ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ออกไปได้เลย” หากทำแบบนี้ ต่อไปก็จะไม่มีคนมาทำงานด้วย ไม่ว่าองค์การของคุณนั้นจะเก่งสักปานใดก็ตาม เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในโลกที่เน้นการบริหารจัดการแบบประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องการคนเก่งๆที่รักอิสระ มีความหยิ่งในศักดิ์ศรี การทำงานแบบเน้นพระเดชนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงปรารถนาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ว่า “อุดมคติ” ต่างๆในสังคมไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามโลกสากล มัวแต่ย้อนศรเพราะว่าชนชั้นปกครองมีความเชื่อสูงสุดหรืออุดมคติที่ตนนิยมที่ว่า คนไทยพอใจกับความเป็นบ่าวไพร่ คิดไม่เป็น ต้องให้มีคนนำที่ชี้ให้ตายก็ไปตาย ชี้ให้ทำอะไรก็ทำ ไม่มีสำนึกในความเป็นตัวของตัวเอง จนเหมือนคล้ายๆกับลัทธิอะไรบางอย่างไปเสียแล้ว วิถีทางดังกล่าวได้เข้ามาในบริบทองค์การแบบเลี่ยงไม่ได้ คือพยายามสร้างคตินิยมในองค์การให้เห็นเป็นระบบบ่าวไพร่ย่อยๆ จนทุกคนคิดไม่เป็นและหวาดระแวงกันและกัน ดังนั้น วิธีคิดของผู้บริหารองค์การและผู้ถูกบริหารก็เวียนวนกับเรื่องแบบนี้ เวลาจะไปแข่งกับองค์การระดับสากลจริงๆ จึงสู้เขาไม่ได้ และจะไม่มีวันสู้ได้
ผู้เขียนมีความยากลำบากบ้างในการที่จะพยายามเปลี่ยนระบบความคิดบางอย่างของลูกน้อย คือให้พวกเขากล้าที่จะคิดและนำเสนออย่างประชาธิปไตยมากที่สุด แต่ดูเหมือนว่าจะมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจ และยังพอใจที่จะได้ทำงานแต่น้อยๆแต่หวังผลประโยชน์มากๆ แล้วก็มีพฤติกรรมเรียกร้องขอโน่นนี่ ดีที่ว่าระบบงานที่ผู้เขียนกำหนดไว้นั้นมีเรื่องของผลงานเป็นตัวบ่งชี้สัมฤทธิผลทางการทำงาน จึงทำให้การร้องขอผลประโยชน์ต่างๆต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน แต่การร้องขออย่างไร้เหตุผลก็เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเป็น “ไพร่” ในสังคมไทยบุพพกาลที่ไม่สามารถกำจัดได้ในสังคมไทยปัจจุบัน
การได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งดังกล่าว ยังทำให้ผู้เขียนได้เห็นความเป็นไปของผู้บริหารระดับสูงอีกด้วย โดยเฉพาะเกมการเมืองต่างๆที่บรรดาผู้บริหารระดับสูงต้องชิงไหวชิงพริบกัน แน่นอนบรรดาท่านๆ เหล่านี้ มีข้อขัดแย้งระหว่างกัน มีการปะทะทางคารมให้เห็นเสมอๆ ไม่ว่าจะในที่ประชุมหรือผ่านบันทึกต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับว่าจากประสบการณ์ในสหรัฐฯนั้น บอกว่าผู้บริหารสหรัฐฯนั้นมีฝีมือที่เหนือกว่าหลายเท่านัก เพราะคนในสหรัฐฯเข้มข้นกว่าในคุณภาพและกลยุทธต่างๆ นอกจากนี้ เงื่อนไขทางกฏหมายและข้อบังคับที่เน้นอำนาจนิยมน้อยกว่า ทำให้การบริหารต้องมืออาชีพกว่ามากอย่างเทียบกันไม่ติด
ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอกล่าวเพียงบรรยากาศเบื้องต้นของการทำงานวงในพอเป็นสังเขปเท่านี้ เชื่อว่าจะมีรายละเอียดที่จะมาวิเคราะห์ต่อไปได้อีก และที่สำคัญคือ บทความวิเคราะห์เหล่านี้จะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “วัฒนธรรมระดับชาติ” และ “วัฒนธรรมองค์การ” ที่ต่างฝ่ายต่างสะท้อนกันและกัน ซึ่งทำให้เกิดทั้งข้อดีและข้อด้อยในการบริหารจัดการ ในระดับองค์การเองและระดับประเทศ ที่เราเห็นๆกันอยู่