พัทยาลาก่อน ร้องโดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส
ลมทะเล พัดมา
หาดพัทยา ครวญคลั่ง
ฟังเหมือนมนต์ภวังค์
วอนหวีดหวัง ครางว่า
ยังรักเธอ รักเธอ
พร่ำเพ้อละเมอ รอท่า
ยังฝืนกลืน น้ำตา
ฝันจนกว่า ชีพวาย
*ครวญครางไป ใยกัน
เกลียวคลื่นนั้นมัน ชวนวิ่งว่าย
แล้วล่ม ร่างร้างตาย
หาย อาวรณ์
ลาแล้วลา ขอลา
โอ้พัทยา ลาก่อน
ชีวิตคือ ละคร
ฉันมันอ่อนโลกเอย
(เนื้อเพลงและฟังเพลงได้ที่ blue balloon, bloggang.com)
สองวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปพัทยาเพราะต้องพาคนสนิทไปพักผ่อน ตามที่สัญญากันไว้ คนสนิทเป็นวัยรุ่นช่วงกลางเกือบปลาย เป็นคนยุคใหม่ที่เรียกว่าไม่มองอะไรเกินกว่าตัวกู อันนี้ไม่รวมกับกระบวนการพัฒนาทางจิตวิทยาที่เป็นในทุกรุ่น ทุกสังคม นั่นคือการที่มั่นใจแบบผิดๆเพราะแรงมาก ยังดีที่คนสนิทนี้ยังไม่ใจแตก ไม่ปล่อยชีวิตจนเสียคนในกรอบสังคมทั่วไป อันนี้ถือว่าเป็นโชคของพ่อแม่และผู้เขียนเอง และที่สำคัญตัวของคนสนิทผู้นี้เองด้วย
การไปพัทยาคราวนี้ เป็นแบบจู่โจมพอสมควร ไม่ได้เตรียมตัวมากมายนัก เช็คดูปรากฏว่ามีวันหยุด เลยไปได้ เพราะปกติแล้วผู้เขียนเองก็ทำงานสัปดาห์ละเจ็ดวัน ถึงไม่ได้เข้าที่ทำงาน ก็เอางานมาทำที่บ้าน วันเสาร์นั้นพอดีเคลียร์งานและฝากงานกับเพื่อนร่วมงานเสร็จ ก็ออกจาก กทม.มุ่งสู่พัทยา แต่รถก็ติดไปตลอดทางบนมอเตอร์เวย์ นึกเสียดายเงินค่าธรรมเนียมใช้ทาง จำได้ว่าเมื่อสิบปีก่อนที่ใช้ รถก็ไม่ได้น้อยกว่าตอนนี้เท่าไร แต่การก่อสร้างระหว่างทางมีน้อยกว่าตอนนี้มาก ไม่แน่ใจว่า ใจคอจะสร้างเสริมไปอีกเจ็ดชั่วโคตรรึเปล่า คิดในใจว่าตอนที่คิดสร้างนี่ ไม่ได้คิดเผื่ออนาคตเลยหรือไร
เมื่อถึงพัทยาก็ได้เข้าพักที่โรงแรม เช็คอินด้วยความเรียบร้อยแต่เป็นเวลาบ่ายแก่ๆแล้ว มีผู้คนเข้ามาพักมากมายและบางคนก็เช็คอินในเวลาใกล้ๆกัน น่าดีใจแทนโรงแรมที่มีคนมาเข้าพักมาก มากกว่าสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็กๆ สมัยนั้น คนไทยไม่นิยมท่องเที่ยวขนาดนี้ คนชั้นกลางไม่คิดถึงการท่องเที่ยวมากขนาดนี้ การพักในโรงแรมถือเป็นของเกินความจำเป็นในสมัยก่อน ทางออกตอนนั้นคือการพักบ้านเพื่อนฝูงญาติมิตร ปัจจุบันคนชั้นกลางหรือต่ำกว่ามีโอกาสท่องเที่ยวและพักโรงแรมมากขึ้น คนไทยเที่ยวมากขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเที่ยวเป็น เพราะการเที่ยวเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการมีมารยาทสากล
สมัยก่อนจำได้ว่ามีเรื่องเล่าตลกๆว่า คนไทยไม่ว่ากรุงหรือชนบทเข้าพักและใช้ห้องน้ำในโรงแรมชั้นดีหน่อยยังต้องกักน้ำในอ่างน้ำ บางคนต้องเอาขันน้ำใบพอดีๆ ติดตัวไปด้วย ส่วนผ้าขนหนูเช็ดตัวก็ขนเอาไปเช่นกัน เครื่องใช้ส่วนตัวก็ขนกันไป เดี๋ยวนี้โรงแรมมีให้เกือบหมด นี่ก็ยังมีตลกเล็กน้อยที่เพื่อนของคนสนิทยังคงขนผ้าเช็ดตัวไปด้วย เห็นแล้วขำเอ็นดูน่าจะเป็นเพราะมีความเชื่อว่าผ้าในโรงแรมสกปรกเพราะใช้มากันหลายคน แต่เค้าคงลืมไปว่า โรงแรมขนาดสามดาวขึ้นเดี๋ยวนี้ต้องใช้เครื่องซักและอบอย่างดี และมีการฆ่าเชื้อ เอาเป็นว่าเป็นไปแล้ว
การเดินทางบ่อยๆและใช้ชีวิตต่างแดนเป็นระยะนานๆ แบบผู้เขียนมีผลดีตรงนี้คือสามารถเข้าใจการเดินทางได้ดี และไม่เก้อเขินในการใช้ชีวิตแบบสากลแบบนั้น อันนี้เป็นเรื่องของการมีโอกาสโดยแท้ สมัยผู้เขียนจบตรีใหม่ๆ มีคนบ้าเรื่องการใช้ชีวิตแบบนี้ ถึงขนาดเปิดเป็นโรงเรียนสอนมารยาทสากล ว่าไปก็ดีที่เป็นการเปิดหูเปิดตาตนเอง แต่ที่แย่คือเป็นการสอนแบบเปลือกๆว่าชีวิตฝรั่งเป็นแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ฝรั่งทุกคนเป็นแบบนี้ และการที่ผู้เขียนไปอยู่ต่างประเทศกว่าครึ่งของชีวิต ก็เป็นการบอกว่าคนที่ผ่านชีวิตแบบฝรั่งก็ไม่ได้เข้าถึงชีวิตแบบ “ไฮ คัลเจ้อร์” ของฝรั่ง เพราะคนที่รวยๆ ของฝรั่งก็ไม่ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่นักเรียนไทยไปเรียน ถึงเค้าจะเรียน เค้าก็ไม่สุงสิงกับนักเรียนกะเหรี่ยงอย่างเรา เพราะว่าเค้ามีวงสังคมของเค้า
หลายครั้งที่ผู้เขียนนั่งปลงว่าพวกอดีตนักเรียนนอกหลายคนชอบทำตัวว่าเอาวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามาแล้สบอกว่าตนเองเป็นคนชั้นสูง โดยลืมมองว่าวัฒนธรรมฝรั่งที่ตนเองเอามาเป็นแค่วัฒนธรรมปกติของฝรั่งตรงนั้นเท่านั้น เพียงแต่ว่าคุณภาพชีวิตของคนธรรมดาในประเทศที่พัฒนาแล้วมันสูงกว่าคนธรรมดาในประเทศด้อยพัฒนาอย่างชัดเจนเท่านั้น แม้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยนี้จะดีกว่าแต่ก่อนในด้านเปลือกๆ แต่ในด้านแนวคิดหลักๆทางสังคม ก็ยังห่างไกลสังคมตรงนั้นอีกหลายช่วงตัว
เมื่อพูดถึงเรื่อง “ความแตกต่าง” ผู้เขียนพบว่าพัทยานี่เป็นเมืองแห่งเซ็กซ์และบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบจริงๆ ว่าไปแล้วพัทยาเหมือนบางส่วนของกทม.ที่จำลองไปติดชายทะเล ความเป็นตะวันตกมากกว่ากทม.ในหลายเรื่อง เช่นความเปิดเผยเรื่องอาชีพพิเศษ แต่ก็มีความเป็นชนบทในเวลาเดียวกัน เพราะคนไทยตรงนั้นจะมี “การสลับรหัส” ในการติดต่อกับคนต่างชาติและกับคนไทยด้วยกันอย่างชัดเจน ความเป็นบ้านนอกคือการที่ยังคิดอะไรแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ความเป็นตะวันตกคือการที่มีกินมีใช้อย่างสะดวกสบาย แต่งตัวแบบคนตะวันตก อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูสถานที่ที่จะบ่มเพาะวิธีคิดแบบเป็นระบบให้สังคมฉลาดขึ้นในพื้นที่พัทยาไม่มีเลย เช่น สถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เน้นสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ (ที่มีก็ออกมาข้างนอกพอสมควร)
คนสนิทของผู้เขียนและเพื่อนตื่นตาตื่นใจกับชีวิตแสงสีที่พัทยา พวกเขาทั้งหมดสนุกกับชีวิตแบบตรงนั้น ทำให้ผู้เขียนมองย้อนกลับไปการไปเที่ยวพัทยาครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี 2523 ไปกับที่บ้าน ตอนนั้นพัทยาไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าเดี๋ยวนี้ ซากของการเป็นที่ตากอากาศของทหารสหรัฐฯยังมีให้เห็น เส้นทางค่อนข้างสะดวกในสมัยนั้น รถไม่ติด มีโรงแรมไม่กี่แห่ง และไม่มีแสงสีมากแบบเดี๋ยวนี้ จากนั้นผู้เขียนก็ไปอีกกับเพื่อนๆ และจากนั้นก้ขับรถไปเองเมื่อแม่ให้รถมาใช้ส่วนตัว เวลาเครียดๆ ก็ไปพัทยา ไปหาโรงแรมพอใช้ได้ ไปพักคนเดียว จนกระทั่งเวลากลับมาธุระเมืองไทยก็ไปแต่พัทยา แต่ทุกครั้งที่ไปไม่ได้รู้สึกเหมือนครั้งนี้ เพราะงานนี้เหมือนเป็นผู้ปกครองพาลูกๆ ไปเที่ยว มุมมองต่างออกไป วัยตนเองก็เปลี่ยน พัทยาก็เปลี่ยน คนที่ไปด้วยก็เปลี่ยน เหมือนหนังฝรั่งที่พยายามให้เห็นภาพของชีวิตในแต่ละจุดของชีวิต หรืออย่างหนังไทยง่ายๆ เช่น “แฟนฉัน” ก็เช่นกัน
การเดินทาง การเรียนรู้ในชีวิต เป็นสิ่งที่บอกกับผู้เขียนว่าการที่เราจะส่งต่อแนวความคิดให้คนรุ่นต่อๆไปให้ทราบถึงความเป็นไปในอดีตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กว่าที่ผู้ใหญ่วันนี้จะเป็นตัวตนก็ย่อมผ่านเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต หลายครั้งเราพยายามนึกว่าคนรุ่นใหม่ต้องคิดอย่างเรา อันนี้เป็นการเห็นแก่ตัวของคนรุ่นก่อนมากเกินไป อย่างไรก็ตามคนรุ่นใหม่ควรที่จะมองคนรุ่นก่อนอย่างเข้าใจด้วยเช่นกัน หลายครั้งที่ผู้เขียนได้แต่ถอนหายใจกับความใจร้อนและไม่เข้าท่าของคนรุ่นเด็กกว่า และความเห็นแก่ตัวบ้าอำนาจของคนรุ่นแก่กว่าผู้เขียน ที่มักมองข้ามมิติของกาลเวลาที่ทำให้ความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นอย่างที่ไม่ควรจะเกิด
เรื่องความต่างแบบนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่เคยแม้แต่จะคิดแก้ แต่มักใช้การเงียบ การปล่อยให้ผ่านไปตามกาลเวลาเป็นตัวแก้ปัญหา อันนี้แปลกใจนักว่าทำไมคนที่ว่าเก่งๆฉลาดๆ ไม่รู้จักนำมาใช้กัน จนสังคมนี้ขาดมิติไปเสียทุกเรื่อง เพราะการไม่ยอมพยายามจัดการความแตกต่างนั่นเอง
เพลง “พัทยาลาก่อน” เป็นเพลงเก่าๆที่คนในยุคผู้เขียนยังพอจำได้ ซึ่งก็ให้ภาพในสองมิติคืออันแรกให้เห็นว่าในอดีตสังคมไทยเป็นอย่างไร และอีกมิติหนึ่งคือ เพลงเก่าๆ ก็จะหายสาบสูญไปตามกาลเวลา เอามาให้ฟังเพราะๆ ก็แล้วกัน