หลายเพลาที่ผู้เขียนหายตัวไปจากเว็บนี้ ด้วยมีภาระกิจที่มากมายล้นหัวล้นหูเพราะผู้ใหญ่ส่งมาตามที่หัวโขนกำหนด เลยหมดแรงทุกครั้งที่ถึงบ้าน อีกทั้งมีคนสนิทที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่แบบเข้มข้น เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบส่วนตัวอย่างสมัครใจ จึงไม่มีเวลาจะผลิตงานตรงนี้ อีกอย่างหลายครั้งก็ท้อใจเพราะว่าผลงานที่เขียนไม่ “แรง” เท่าไรนัก ส่วนแฟนประจำที่มีอยู่บ้างก็สไตล์คล้ายๆกันคือ ไม่ชอบโฉ่งฉ่าง ไม่ชอบสร้างประเด็นมากนัก งานก็เลยค่อยๆไป ที่น่าขำคือได้ยินคนมาบอกว่าเป็นคน “แรง” จากปากอดีตนักเขียนคนหนึ่งใน “ประชาไท” เลยมานั่งคิดเหมือนกันว่าที่แรงน่ะ แรงตรงไหน หลากความคิด
เอาเถอะไม่ว่ากัน คนเรามีหลายแบบ
ได้ข่าวจาก “ประชาไท” ตอนโทฯเข้ามาทักทายว่ามีคนถามถึง จึงรู้สึกอายใจว่าตนเองขี้เกียจแต่ก็รู้สึกดีใจที่มีคนถามถึงผลงาน อัตตาที่พอมีมันก็เลยบังคับให้ต้องเขียนมาในยามมหาสงกรานต์ที่คนไทยอยู่ในอารมณ์บันเทิงกันเป็นส่วนมาก แม้ข่าวและบทความต่างๆที่ “ประชาไท” เองลง ก็มีคำถามว่ามันเป็นยังมายังไงกับเทศกาลนี้ แบบที่คนไทยกระแสหลักไม่ถามกัน ไม่คิดย้อนกลับ แต่รับมาแบบไม่เคยสงสัย จนเป็นเรื่อง “การเมือง” ที่แฝงในชีวิตคนไทยที่โดนยัดใส่วิธีคิดและการสร้างโลก-ทัศน์ที่ประหลาดๆ
ผู้เขียนพบว่าตอนนี้ (15 เม. ย.) มีหัวข้อฮิตกว่าการยุบพรรคการเมือง นั่นคืออัตราการตายเพราะอุบัติเหตไม่ว่าจะบนถนนหรือนอกถนน ขณะที่พิมพ์งานชิ้นนี้ก็มีคนตายไปนับร้อยแล้ว แถมมีการทำลายสถิติปีที่แล้ว ทั้งที่มีการรณรงค์ต่างๆ แต่ก็ไม่มีผล แล้วพาลที่จะหาสาเหตุมาอธิบายว่าทำไม ในส่วนตัวผู้เขียนขอเสนอว่าการรณรงค์ดังกล่าวไม่ได้ผลเนื่องจากคนทั่วไปทนฟังกรอกหูทุกวัน แล้วไม่ค่อยมีใครตาย พอถึงเทศกาลมีคนตายมีอุบัติเหตุ ก็คิดไปว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องปกติ สังคมไทยมีลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า “let go” มากไป ซึ่งก็มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดแบบที่ว่า “โลกใบนี้ถูกกำหนดมาแล้ว” มากเกินไป จนไม่คิดจะหันมาทำอะไรเพื่ออนาคตเสียบ้าง น่าสังเวชเป็นที่สุด ฝรั่งเองระแวดระวังยังมีพลาด เพราะสังคมไทยไร้สำนึกและไม่ระวังจึงสูญเสียมากจนน่าสะท้อนใจ
ผู้เขียนรู้สึกรำคาญกับวิธีคิดแบบดังกล่าวจนพูดไม่ถูก แต่เมื่อมองขึ้นไปก็พบว่า ชนชั้นปกครองนั่นแหละเสี้ยมสอนให้คนคิดไม่เป็น แถมยังบอกว่าสอนไม่ได้ ปล่อยให้เป็น “underdog” ไปทุกรุ่น ส่วนบางพวกที่อยากโงหัวขึ้นมาในระบบชนชั้นของสังคมไทยก็ชอบทางลัด บ้างก็คดโกง บ้างคอยให้คนมาช่วยแบบเอื้ออาทร หรือฝนหลั่งมาสู่ดินบ้าง ทำอะไร คิดอะไรไม่เป็น ไม่เป็นไทแก่ตน ผู้เขียนเคยเห็นในกระทู้ “ประชาไท” มีคนใช้สำนวนว่า “ตัวเป็นไท ใจเป็นทาส”
ผู้เขียนได้หยุดยาวเพราะทำงานภาครัฐ ดีเหมือนกันได้ซื้อของเข้าบ้านที่มีโอกาสทำได้ในช่วงหยุดยาวๆ แบบนี้เท่านั้น แต่ไม่ชอบใจนักเพราะว่าไปไหนคนก็แยะไปหมด ดีที่ไม่ได้ออกต่างจังหวัดไปแย่งกันกินแย่งกันใช้ ไปเยี่ยมบ้าน สร้างครอบครัวสุขสันต์ ตามแบบที่รัฐบาลอยากให้เป็น แถมมีการรณรงค์ให้รักกัน
สังคมที่พัฒนาแล้ว เค้าไม่มีการล้างสมองแบบนี้ การมีครอบครัวที่แข็งแรงนั้น โดนสอนในสังคมทั่วไปเอง และคนมีสำนึกเอง ผู้เขียนอยู่สหรัฐฯเป็นสิบปี เห็นฝรั่งเค้าก็รักพ่อแม่ไม่ต่างกับของเรา แต่ไม่เห็นต้องมาคลั่งอะไรกันแบบนี้ อีกอย่างการติดต่อสื่อสารสมัยนี้มีมือถือ มีอินเตอร์เน็ท คนที่ได้ไปเยี่ยมบ้านคือคนมีเงิน มีอินเตอร์เน็ท มีมือถือ แต่คนจนที่ไม่มีอะไรพวกนี้ ก็ไม่มีเงินกลับบ้าน ดังนั้น คนจนที่ทำมาหากินจริงๆก็แหง็กในกรุง อันนี้ข่าวทีวีออกมาเอง นับว่าเข้าใจที่ทำสกู๊ปนี้ นอกจากนี้ยังมองว่าการหยุดยาว 5 วันแบบนี้ ไม่มีผลผลิตเกิด และทำให้คนขี้เกียจเกินความจำเป็น
สิ่งที่รำคาญใจอีกเรื่องคือการอ้างว่าคนต่างชาติชอบเทศกาลแบบนี้ สนุกกับการสาดน้ำกัน แต่ผู้เขียนมองว่าไม่จริง มีสาเหตุดังนี้ 1. นี่ไม่ใช่บ้านเมืองเค้า เค้ามาสนุกชั่วคราว จะมีปัญหาก็ไม่ต้องมาแก้ไข 2. ชาวต่างชาติที่ชอบโลดโผนเป็นคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าทั้งหมดชอบ เป็นที่รู้กันว่าต่างชาติหลายกลุ่มที่มาเมืองไทยคือแบบไหนกันบ้าง 3. เป็นการสร้างข่าวแง่มุมเดียวว่านี่ความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทย สอนให้คนไทยเข้าใจไม่ถูกต้องกับการท่องเที่ยวและผลกระทบอื่นที่ตามมา เพราะที่จริงแล้วมีด้านลบไม่แพ้ด้านบวก ในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายแหล่ก็รู้กัน มีแต่เมืองไทยนี่แหละสอนให้สังคมมองแค่มุมเดียว
เพราะสังคมไทยถูกทำให้ไร้ปัญญาที่ควรจะมี ส่วนปัญญาที่มีก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสู้รบปรบมือกับใคร ไม่ใช่เทคโนโลยี่ที่ทันสมัย ไม่ใช่แนวคิดที่จะสร้างสังคมที่ชาญฉลาดและสอนให้คนมีศักดิ์ศรีในทางที่ถูก อีกทั้งมีการปิดกั้นทางความคิดที่แตกต่าง ทำให้คนในสังคมนี้ไม่รู้จักว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร เหมือนอยู่แต่ในกะลา แถมคอยต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้อง
บทความนี้เป็นการสะท้อนภาพสังคมไทยวันนี้ ในยามมีเทศกาลมหาสงกรานต์อย่างที่ชาวบ้านเชื่อกัน ทั้งที่มันก็แค่วันธรรมดา แต่โครงสร้างอำนาจไทยทำให้ไม่ธรรมดา ทำให้คนในสังคมไหลไปกับมัน โดยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีการฉาบหน้าด้วยความหรรษา ความสนุกสนานชั่วครู่ เหมือนสังคมประเทศด้อยพัฒนาหลายแห่งไม่ว่าจะในทวีปใดก็ตาม สังคมอุดมปัญญาที่พยายามจะให้เป็น จึงเป็นแค่ลมปากที่พูดกันให้โก้เก๋เล่นเท่านั้น