ผู้เขียนได้รับเชิญจากหน่วยงานหนึ่งให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ รู้สึกหัวเสียกับคุณภาพของผู้เข้าประกวดเป็นอย่างมาก เพราะว่าไม่มีคุณภาพในระดับที่เรียกว่าใช้ได้เลย ปัญหานอกเหนือจากความสามารถทางภาษาอังกฤษทั่วไปแล้ว เรื่องของเนื้อความซึ่งไม่ว่าในภาษาใดก็ตามต้องมีโครงสร้าง การผูกเรื่อง และคุณค่าทางวาทวิทยาในตัวเอง น่าเสียดายที่เมืองไทยไม่มีการสอนการวิเคราะห์วาทะอย่างเป็นแก่นสาร หากมีก็แค่การมองแบบการใช้ภาษาไทยธรรมดา หรือการใช้ภาษาอังกฤษธรรมดา ไม่มีการส่งเสริมอย่างแท้จริงในสิ่งที่เรียกว่า speech criticism/rhetorical criticism 1
การวิเคราะห์และวิพากษ์วาทะอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเก็บกดทางอารมณ์หรือการเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใดๆก็ตามในสังคมไทย ถือเป็นเรื่องที่อาจทำให้หมางใจกันได้ ทั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้น อาจทำให้เกิดการริเริ่มบางอย่างที่ดีๆได้ แต่ส่วนมากแล้วในสังคมไทย วัฒนธรรมการวิพากษ์ไม่มีเนื่องจากต้องการเลี่ยงความขัดแย้ง ทำให้การวิพากษ์เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องการทำลายมิตรและสร้างศัตรูไปโดยปริยาย เพราะคนที่โดนวิจารณ์ไม่สามารถรับคำวิจารณ์ได้ และคนวิจารณ์ก็ไม่มีทักษะในการวิจารณ์ หรือเรียกว่าวิจารณ์ไม่เป็น
เรื่องของการวิจารณ์ในสายตาฝรั่งนั้น ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป วิถีการวิจารณ์ต้องอยู่บนพื้นฐานของการหวังดีของทุกฝ่าย โดยปรารถนาที่จะให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นๆให้ดีขึ้นกระจ่างขึ้น แต่ไม่ใช่ใช้อารมณ์หรือความเป็นตัวตนมากเกินไป ดังนั้นผู้รู้หลายคนจึงพยายามช่วยสร้างกรอบในการวิจารณ์ขึ้น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ความแม่นยำ ความชัดเจน และความเป็นมาตรฐานในระดับหนึ่งของการวิจารณ์ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าจะกำจัดความเป็นอัตตวิสัยนออกไปหมด เพราะว่าการวิพากษ์ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นตัวตนของผู้วิจารณ์เสียทีเดียว การที่คนแต่ละคนต่างเกิดมาแตกต่างกัน มีระบบการกล่อมเกลาเลี้ยงดูต่างกัน ความแตกต่างนี้แหละที่ทำให้เกิดความแปลกใหม่ในเรื่องติชม ดังนั้น มุมมองที่แตกต่างและมีการนำเสนอผ่านศิลปะการวิจารณ์นี่แหละที่ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ แต่ไม่ใช่ไสยศาสตร์
เพราะเรียนมาทางด้านวาทวิทยา เน้นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement Rhetoric) มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ อายุ 21 ทำให้มองอะไรเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ตอนแรกก็เรียนไม่รู้เรื่องเลย เปิดฉากมาก็เรียนวิธีพูดในที่สาธารณะก่อนสองวิชา แล้วก็มาเรียน ทฤษฎีวาทวิทยา ที่เน้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จนถึงปัจจุบัน และ มองไปถึงการวิเคราะห์วาทะแบบมุมมองสังคมยุคหลังสมัยใหม่ ที่ต้องมองแบบสวนกระแสหรือรื้อสร้าง จนกลับไปสอนที่สหรัฐฯอีก ทำให้มองโลกแตกต่างออกไปไปเรื่อยๆ สิ่งที่สังคมอเมริกันสอนได้มากอย่างหนึ่ง คือสอนให้มีการคิดที่อิสระและยอมรับคำวิจารณ์ที่ไม่มีอคติจนเกินไปได้
วันนั้นผู้เขียนยอมรับว่าดีใจที่มีเด็กไทยสามารถแสดงออกได้ทางภาษาอังกฤษอย่างไม่เก้อเขิน แต่สิ่งที่ไม่สบายใจคือ กระบวนการในการสร้างเนื้อหาที่ไม่แข็งแรงเท่าที่ควรจะเป็น น่าเสียดายที่ผู้ชมหลายคนมองแค่ว่าเด็กอายุเท่านี้ได้เท่านี้ และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้จบประโยค และมีหลายประโยคมารวมๆกัน อันนี้ก็ต้องมองว่าน่าจะมีการพัฒนาต่อไป ซึ่งถ้าเรามองว่าแค่นี้น่าพอใจแล้ว ก็คงไม่น่าจะคาดหวังได้มากนักว่าในเวลาต่อไปเยาวชนของเราจะสู้อะไรกับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ เพราะคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ เพราะฝรั่งในวัยเดียวกันนี่เค้าไปไหนๆกันหมดแล้ว อันนี้ห้ามพูดว่าเพราะเป็นภาษาอังกฤษเลยแสดงออกไม่ได้ คงไม่ใช่
ผู้เขียนมีอาการปากคันที่จะเสนอความเห็นต่อผู้เข้าประกวดในวันนั้น แต่เพราะมีธุระจึงต้องออกจากงานไปก่อนหลังจากที่รวบรวมคะแนนให้ผู้ดำเนินรายการเสร็จ อีกทั้งก็ไม่ได้รับการบอกเล่าว่าจะต้องให้ความเห็นต่อผู้เข้าประกวดแต่อย่างไร เสียดายเหมือนกันที่จะชี้แนะบางอย่าง แต่ก็กลัวว่าจะเป็นการสร้างศัตรูโดยใช่เหตุเช่นกัน
วัฒนธรรมการวิพากษ์ วิเคราะห์ และวิจารณ์ จึงเป็นเหมือนของใหม่ในสังคมไทยไปเรื่อยๆ เป็นสิ่งยากที่จะเลิกการปฏิบัติเช่นนี้ เพราะหากใครแหกคอกขึ้นมา ผู้นั้นก็จะอยู่ในสังคมนี้อย่างลำบาก
คงเป็นปัญหาในสังคมอย่างหนึ่งที่เราๆท่านๆต้องจัดการกันต่อไป อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
1สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
- http://www-relg-studies.scu.edu/facstaff/murphy/courses/exegesis/rhetorical.htm
- http://www.rhetoricalens.info/index.cfm?fuseaction=feature.display&feature_id=3
- http://slatin2.cwrl.utexas.edu/~roberts-miller/rhetanalysis.htm
- http://www.writingcentre.ubc.ca/workshop/tools/rhet1.htm
- http://en.wikipedia.org/wiki/Rhetoric
- http://www.rhetorica.net/textbook/index.htm