ช่วงนี้ได้พักบ้างหลังจากที่ไม่ได้พักเลยสัปดาห์ละ 7 วัน ทำงานมันทุกวัน พอได้เวลาอู้จึงขออู้บ้าง แท้จริงไม่ใช่อู้แต่น้อย แต่เดิมต่างหากที่โดนงานแย่งเวลาส่วนตัวออกไป
จากงานที่ท่วมท้น ทำให้ไม่ได้ตามข่าวอะไรกับเขาเลย แม้กระทั่งเรื่องยึดสมบัติ เรียกว่ากลายเป็นพวกมนุษย์หุ่นยนต์โดยปริยาย โดน”ทุนนิยม”ครอบงำแบบเบ็ดเสร็จ เพราะต้องสร้างเนื้อสร้างตัวก่อนเกษียณ เข้าสู่วัฏจักร “ความฝันของทุนนิยม” มิเช่นนั้นไม่มีคนเลี้ยง อีกทั้งหางานไม่ได้ เพราะหมดอายุ เหมือนอาหารกระป๋องที่หมดอายุ กินไม่ได้ โยนทิ้งอย่างเดียว ทำให้ต้องแข่งกับเวลาจนไม่ได้โงหัว
เพราะต้องตรวจงานของบรรดามือใหม่ในการทำวิจัย ทำให้ขำไม่ออกไปหลายเรื่อง บางเรื่องอยากขำ แต่ก็พอมานั่งคิดทำให้นึกตกใจว่า เอ นี่เราฝึกเค้าไม่เก่ง หรือ เค้าเองเป็นพวกที่ฝึกไม่ได้กันแน่ แล้วทำไมเราต้องมาฝึก เพราะพวกเขาไม่ได้อยากฝึกเลย ทำให้มานั่งพิเคราะห์ต่อไปว่า เกิดอะไรขึ้น
บรรดาผู้ฝึกใหม่มีพื้นฐานการวิจัยมาน้อยมาก แต่จำเป็นต้องทำ เพราะเป็นเงื่อนไขในการทำงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เป็นพวกไม่ค่อยอ่าน และอ่านแล้ววิเคราะห์ไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถตั้งคำถามอะไรได้เลย แล้วมันก็ทำให้เริ่มวิจัยไม่ได้ หรือเมื่อเริ่มแล้วก็ทำได้ไม่ดี เพราะความคิดตกผลึกไม่จริง เหมือนปลาสลิดที่ตากแดดไม่แห้ง พอทอดก็เหม็นเน่าหรือเก็บได้ไม่นาน เน่าแฉะ ต้องโยนทิ้ง น่าเสียดายงบประมาณ
ประเด็นคือว่า บรรดามือใหม่เหล่านี้ติดนิสัยความใสซื่อ บริสุทธิ์ ไม่สามารถมองปัญหาได้ลึกอย่างที่ควรเป็น เช่น ความเป็นสากลขององค์กรคืออะไร บรรดามือใหม่เวลาไปสัมภาษณ์ผู้คนก็จะทำแบบดื้อๆ ตรงๆ ว่า รู้มั้ยคำว่า “สากล” คืออะไร ไม่เคยคิดเลยว่าคำนี้ มีหลายมิติ เช่น มีการติดต่อกับต่างประเทศหรือไม่ มีการใช้กรอบการทำงานที่เอาแบบฝรั่งหรือไม่ อย่างไร ที่สำคัญกว่านั้น ไม่สามารถใช้ความรู้ที่มาจาการทบทวนวรรณกรรมมาช่วยตั้งคำถามสัมภาษณ์ ทำให้ลามไปปัญหาต่อไป คือ การเขียนตัวคำถามสัมภาษณ์อย่างละเอียด จะใช้ไม่ใช้อีกเรื่อง
เรื่องความวิริยะ ที่ไม่ค่อยมีในบรรดามือใหม่ มาจาก ความเชื่อว่า “แค่นี้ก็พอแล้ว” ที่สั่งสมมาในวัฒนธรรมไทย เป็นความเข้าใจผิดในการตีความของทางสายกลาง ที่ยึดมั่นความพอเพียง ความพอเพียงไม่ได้อยู่ที่ปัจเจกอย่างเดียว ในส่วนวิชาการ ความพอเพียงจะปรากฏออกมาตามเป้าประสงค์ การตั้งเป้าประสงค์เป็นเรื่องที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง เราจะเห็นความพอดีเกิดขึ้นได้ในเชิงประจักษ์ เวลาที่เราดำเนินการจริงอย่างมีหลักการ แต่ไม่ใช่หลักกู หรือ หลักเกิน และหลักแก มันมาจากการตกผลึกทางความคิด
ทำให้จึงต้องมานั่งคิดอีกว่า การตกผลึกทางความคิดเป็นผลหรือเหตุกันแน่ในการเรียนรู้ ก็ขอตอบว่า เป็นทั้งสองแบบ ทำให้เราต้องมานั่งคิดกันต่อว่า ซึ่งที่ทำให้เกิดการตกผลึกจริงๆ คืออะไร ไม่ได้จะตอบกว้างๆ การตกผลึกเกิดจากการรู้จักคิดแล้วลองทำไปเรื่อยๆ ไม่ย่อท้อ แก้ไขข้อผิดพลาดที่มี เหมือนกับที่ทางวิทยาศาสตร์บอกกันว่า “เพื่อพิสูจน์ว่าอะไรผิด” เพื่อจะได้ทิ้งอันนั้น แล้วหาสิ่งใหม่มา แล้วพิสูจน์ต่อไปว่า ผิดหรือไม่ ไม่ได้บอกว่าอะไรถูก แต่ให้มองว่า “อะไรผิด” ก่อน
ดังนั้น การตกผลึก คือการยอมรับว่าสิ่งที่ตนเชื่อ อาจไม่ถูก แล้วพยายามพิสูจน์ว่า “ผิดหรือไม่” ไปเรื่อยๆ ตลอด การที่มือใหม่ “ใส ซื่อ” แบบไม่ฉลาด จึงไม่สามารถตกผลึกได้แต่ต้น
เกือบทั้งหมดของมือใหม่ ไม่สามารถยอมรับตนเองได้ว่ายังขาดทักษะและความเข้าใจเรื่องวิจัยระดับต้น บางคนบอกว่าเคยเรียนมาแล้ว ได้เกรดสวยด้วย ผู้เขียนได้แต่สั่นหน้า ถอนใจ เพราะว่าสิ่งที่คนเหล่านี้แสดงออกมา ไม่ได้บอกว่ารู้เลย ที่ชัดที่สุด คือการถามว่า มีหนังสือวิจัยอะไรบ้างที่เคยอ่าน ไม่มีใครบอกเลยว่าอ่านเล่มนั้นนี้ ที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการ ที่น่าป่วนกว่านั้นคือ เข้าใจผิดว่าการทำโพลกับวิจัยเป็นสิ่งเดียวกัน จริงๆแล้ว โพลเป็นการวิจัยเชิงปริมาณมากๆ ที่ไม่ได้บอกอะไร นอกจากว่า คนคิดอะไรกันอยู่ และไม่สามารถระบุได้ว่ามีความถูกต้องจริงๆ ได้ แต่มีความเชื่อกันในสังคมไทยว่า นี่แหละจริงแล้ว คือมันจริงแค่บางส่วนเท่านั้น
การวิจัยในสังคมไทย เหมือนกระจกส่องความเป็นไทย ที่ไม่มีความลึก ไม่มีความกว้าง มีแต่ความเชื่อบ้าๆบอๆ และเป็นเครื่องมือไว้หลอกคน การต่อยอดทางวิชาการจึงด้วน แม้แต่ตอก็ไม่เหลือ
ความจริงเจ็บปวดแบบนี้ อาจต้องไปทำวิจัยอีกกระมังว่ามีจริงรึเปล่า ห้ามตอบล่ะว่า การวิจัยไทยก้าวไกลไปจริงๆ เพราะว่าไม่ใช่เลย
ช่วงนี้ได้พักบ้างหลังจากที่ไม่ได้พักเลยสัปดาห์ละ 7 วัน ทำงานมันทุกวัน พอได้เวลาอู้จึงขออู้บ้าง แท้จริงไม่ใช่อู้แต่น้อย แต่เดิมต่างหากที่โดนงานแย่งเวลาส่วนตัวออกไป