ไม่กี่วันที่ผ่านมาสังคมไทยก็ได้มีการเลือกตั้งส.ส. ไปแล้ว น่าตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะลุ้นกับเค้าเหมือนกันว่าใครจะมา และใครจะไป พลางให้นึกถึงเลือกตั้งที่สหรัฐฯ เมื่อ สาม-สี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าอะไรที่จับกระแส “ประชานิยม” ได้ก็มักชนะ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เช่น ชอบหรือกลัว เพราะกระแสประชานิยมไม่ได้ดูที่อะไรมากกว่า พวกมากลากไป หากพวกมากคิดเป็น ก็ดีไป ถ้าคิดไม่เป็นก็ซวยไป ทั้งนี้ คนที่รับความซวยคือคนทั้งหมด ไม่ใช่แค่คนที่เป็นพวกมาก หลายครั้งพวกมากก็เป็นพวกมากที่ไรัคุณภาพ แต่หลายครั้งก็เป็นพวกมากที่มีคุณภาพได้เช่นกัน แต่โอกาสที่จะเกิดนั้นมีน้อยกว่ามาก
มีหลายคนถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนตอบได้ว่ามันอยู่ที่ว่า “คิดเป็น” หรือไม่ต่างหาก ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ที่เห็นในสังคมทั่วไป ไม่ว่าไทยหรือสหรัฐฯก็คือ คนส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือเป็น แต่ตีความไม่เป็น หรือรับข้อความได้ ฟังคนอื่นพูดได้ เข้าใจ แต่เข้าใจไม่ลึก ตีความไม่แตก และที่สำคัญขี้เกียจที่จะฟัง ขี้เกียจที่จะตีความ และไม่หาข้อมูลมาประเมินข้อความ แล้วมันก็ไปผูกกับระบบความคิดทั่วไป ทำให้คิดไม่เป็น คิดไม่แตก เห็นแก่ประโยชน์ใกล้ตัวแบบทันเวลา แบบเทโจ๊กใส่ซอง เติมน้ำร้อน ชงๆ แล้วจบกัน
เพราะความง่ายๆ แบบนี้ จึงทำให้เกิดคำพังเพยสามัญว่า “รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ” เพราะคนที่รู้มากๆก็จะเกิดความยากในชีวิตมากมาย แต่นั่นคือวิธีคิดของคนที่คิดหน้าและหลัง รอบคอบ ส่วนรู้น้อย ก็เป็นในด้านตรงข้าม แต่ก็มีคน“คิดมาก” อันนี้ไม่เกี่ยวกัน เพราะคนคิดมากนั้นมีปัญหามากกว่าชอบแก้ปัญหา เป็นลักษณะของคนที่ไม่โตหรือ ไม่มีวุฒิภาวะ ขาดความมั่นคงทางจิตใจ ก็พบเจอมากมายในสังคมไทยพอสมควร แต่เวลาคุยด้วย พบว่าเป็นพวก “โลกหมุนรอบตัวกู” เสียทั้งนั้น
ในองค์การของสังคมไหนๆก็มีคนที่ “สอนได้ยาก” มากมายเช่นกัน ส่วนมากคือคนที่อยู่ในระดับปฏิบัติงาน ที่ไม่ได้มีการพัฒนาทางอาชีพมาเป็นเวลานาน และเมื่อลักษณะงานเปลี่ยนไป ทำให้ความสามารถที่มีอยู่ไม่เหมาะหรือไม่พอกับงานใหม่ๆ พูดง่ายๆว่าเป็น “ไม้ตายซาก” ไปเรียบร้อยแล้วก่อนเกษียณเสียอีก ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของบุคลากรแต่ฝ่ายเดียว องค์การเองก็มีส่วนในการที่ทำให้เกิดการเฉื่อยชาแบบนี้ มาตรการการขับเคลื่อนบุคคลเหล่านี้ให้ขยับตัวเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เสียดายที่ว่าระบบแบบไทยๆนั้นก็ไม่ค่อยเอื้อต่อกระบวนการแบบนี้นัก โดยเฉพาะที่เน้นความมั่นคงในการทำงาน มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน มันจึงเลยการเป็นเรื่องที่แก้ไม่ได้
อาการของการสอนได้ยากมีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะกับบุคลากรที่อยู่ในองค์การนานเกิน ห้าปีสิบปี รากพวกนี้จะงอกจนแงะไม่ออก ในองค์การแบบไทยๆ มองว่าเป็นเรื่องความจงรักภักดีต่อองค์การ ในองค์การแบบฝรั่งมองว่าเป็นพวกไม่มีทางไป ดังนั้น ในองค์การแบบฝรั่งจึงมีความใหม่เข้ามาเสมอๆ ทำให้องค์การนั้น ไม่ซ้ำซาก แต่ก็มีข้อเสี่ยงที่ว่า บางครั้งการเปลี่ยนแปลงคือการมีต้นทุน เป็นค่าใช้จ่ายทางโอกาสได้ แต่ฝรั่งมองว่า น่าจะคุ้มกับการไม่เปลี่ยนแปลง เรียกว่า “อองโทรปี้” Entropy หรือภาษาไทยเรียกว่า “น้ำนิ่ง น้ำเน่า” เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายในกลไกขององค์การ แต่ดูเหมือนว่าองค์การไทยยังพัฒนาไม่ได้ถึงระดับเพราะวัฒนธรรมแบบไทยๆเน้นการนิ่งๆ ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยน ก็ไว้แบบนั้นแหละ
ในสังคมไทยระดับมหภาค ได้ถูกสะท้อนในระดับองค์การได้อย่างชัดเจน ในเรื่องความไม่เปลี่ยนแปลงและความเปลี่ยนแปลง ในความไม่เปลี่ยนแปลงคือ สังคมไทยต้องการรักษาและย้อนกลับไปในยุคที่ “ไพร่ฟ้าหน้าใส ใครใคร่ค้าช้าง ค้า ใครใคร่ค้าม้า ค้า” ไม่ต้องแข่งขันมาก แต่ในมุมกลับก็อยากมีการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความสะดวกสบายที่มีเทคโนโลยี่เป็นตัวกำหนด ไม่ต้องการย้อนยุคที่ไม่มีเทคโนโลยี่พื้นฐาน พูดง่ายๆคืออะไรสบายๆ นั่นแหละ ดีหมด ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ดังนั้น “ภาวะสอนได้ยาก”จึงเกิดได้ตลอดตามประสาสังคมที่ไม่มี “จริยธรรมการทำงาน” ที่เน้นการพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง และไม่คอยอภินิหารจากโชคชะตาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากจนเกินไปนัก
ผู้เขียนมีลูกน้องอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลสอนได้ยาก ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เป็นเพราะอายุของพวกเขาที่สูงขึ้น ไม่คล่องแคล่วว่องไวที่จะเรียนรู้ใหม่ อันนี้น่าเห็นใจ จะจำหน่ายไปที่อื่นก็คงทำได้ยากเพราะว่ารากงอกเสียแล้ว อีกอย่างหากย้ายเปลี่ยน ก็จะทำให้เกิดการเสียหน้าและทนไม่ได้ ปัญหาอื่นๆก็จะตามมาอีก โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ “หน้าตา” มาก่อน แต่งานไม่เดินเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผู้เขียนกำลังหาทางแก้ไข โดยใช้ทุกวิถีทางที่จะให้แต่ละท่านขยับตัวในระดับที่หัวใจไม่วาย ไม่มีการประกาศฆ่าตัวตาย ซึ่งได้แก่ การให้รางวัลในการสอบประเมินความสามารถต่างๆ และใช้การส่งเสริมไปดูงานต่างประเทศโดยต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้จะมีการประกาศเกียรติคุณด้วยว่าได้มีความสำเร็จทางทักษะใดทักษะหนึ่ง และเป็นการสร้างแรงกดดันในกลุ่มเอง อันนี้จะเป็นกระบวนการขั้นต้นที่จะผลักดันให้มีการพัฒนาตนเองต่อไป เชื่อว่าน่าจะได้ผล คงต้องลองดูกันต่อไป
การแก้ปัญหาในระดับองค์การอาจไม่ซับซ้อนเท่าไรนัก แต่ในระดับประเทศ คงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ วัฒนธรรมองค์การไม่ซับซ้อนเท่าวัฒนธรรมระดับชาติ อุดมคติต่างๆในสังคมมีการใช้เพื่อดำรงอำนาจของแต่ละกลุ่ม ดังนั้น การแก้ภาวะสอนได้ยากในสังคม ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่อาจทำได้ด้วยการ “จัดระเบียบสังคม” ส่วนการใช้ “ปืนจ่อหัว” รายตัว หรือใช้รถถังออกมาวิ่ง อาจใช้ได้ในชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น การแก้ไขเรื่องแบบนี้ต้องมองอย่างลึกซึ้งและมีความอ่อนไหวอย่างที่สุด มิเช่นนั้นแล้ว วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ “ประชานิยม” ก็จะใช้ได้ไปตลอด ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตในสังคมแบบยั่งยืนแต่อย่างใด
ว่าแต่ว่า คนที่มีโอกาสในสังคม จะยอมเข้าใจและเสียสละได้มากน้อยเพียงใด เพราะนี่คือต้นทุนที่มหาศาล การเปลี่ยนมือของทรัพยากรจะเกิดเร็วขึ้นและนำไปสู่ภาวะรวยน้อยลงของคนมีโอกาสอยู่แล้วนั่นเอง