จั่วหัวแบบภาษาเก่าๆ สมัยเรียนปริญญาตรีเมื่อเกือบ30ปีที่แล้ว สมัยนั้น กรุงเทพฯ เพิ่งฉลองครบ 200 ปีใหม่ๆ สมัยนั้น คำว่า สตรอเบอร์รี่ ไม่ได้แปลว่า “สะ-ตอ-แหล” แบบปัจจุบัน เวลาคนไหนมีความรัก มักจะโดนเพื่อนๆแซวว่า กำลังกิน สตรอเบอร์รี่ มาจากคำว่า เลิฟ สตอรี่ Love Story ที่เป็นหนังฮิตในช่วงยุค 40 กว่าปีนั้น ดังนั้นเดี๋ยวนี้เวลาผู้เขียนได้ยินคำว่า สตรอเบอร์รี่ มักนึกถึงความรักมากกว่า ความไม่ดี
\\/--break--\>
ว่าไปแล้วการเกิดมาเป็นชาวไทยวัยใกล้ 50 ช่วยให้เรามองโลกได้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา แล้วก็ทำให้เราปลงและหนืดกว่าเดิม คิดถึงตนเองน้อยกว่าเดิม อีกทั้งมองคนที่เด็กกว่ารอบๆตัวว่าไฟแรงกันเหลือเกิน แต่ไร้ประสบการณ์ อีกทั้งมองคนที่แก่กว่าว่าทำไมถึงได้เพิกเฉยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สังคมมันจึงเป็นแบบนี้ แล้วมองดูตนเองว่า เป็นแค่เศษผงในสังคม ไม่ได้มีอำนาจในการปรับแปลงอะไรในสังคม ความหยิ่งผยองหมดไป เหลือแต่คิดว่าทำดีที่สุดในแต่ละวัน
ทุกวันนี้ ผู้เขียนจึงมีงานเขียนออกมาน้อยกว่าเดิมมาก เพราะมัวแต่ยุ่งกับงานประจำที่ไร้อำนาจ แต่มีหัวโขนสวยหรู ทำงานเหมือนหนูถีบจักรไปวันๆ ระมัดระวังแต่การเมืองในหน่วยงานจนงานออกมานั้นไม่เต็มที่ เพราะมัวแต่ต้องคอยหลบเลี่ยงปัญหาทางการเมือง แต่นี่คือความจริงของชีวิต
ปรัชญาในการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเหมือนกับมุมมองของผู้เขียนด้วยเช่นกัน คำว่า สตรอเบอร์รี่ ไม่ได้แปลว่าของดี ของน่าชื่นชม แต่กลายเป็นของน่ารังเกียจ อะไรๆ ที่เป็นบวก ก็ไม่ได้บวกเหมือนเดิม ลบก็ไม่ลบเหมือนเดิม ว่าไปแล้วนี่คงเป็นเรื่องปกติของโลกที่เปลี่ยนตลอดเวลา
ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนมีแต่เพลงจีน ยัดเยียดให้ผู้คนได้ยิน ลูกค้าส่วนมากก็ต้องทนฟัง ทั้งที่ไม่รู้จะฟังไปทำไม ไม่รู้เรื่อง เพราะฟังเพลงจีนไม่ออก เกิดมาในเมืองไทยแต่มีก๋ง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นจีน ชอบจีน เหมือนกับเวลาเดินไปที่ไหนๆช่วงตรุษฝรั่ง ก็มีแต่เพลงฉลองตรุษฝรั่งทั่วไปหมด ทั้งที่ไปอยู่ตะวันตกมาเสียก็นานเท่าๆกับ1/2 ของชีวิต ไม่ได้ปลาบปลื้มกับเพลงพวกนี้ อาจเป็นเพราะรู้ว่า เพลงพวกนี้อิงแอบศาสนาที่กดขี่คนบางกลุ่ม และยกย่องคนบางกลุ่ม โชคดีหน่อยที่ฝรั่งสมัยใหม่ยังฟังคนที่แตกต่าง บางห้างก็ไม่เปิดเพลงอะไร เพียงแต่มีมุมขายของเทศกาล แล้วก็จบ เรียกว่าไม่เห็นแก่ตัว และเคารพความแตกต่าง
ในเมืองไทย คนไทยฟังเพลงฉลองตรุษฝรั่งด้วยความหฤหรรษ์ มองว่าเป็นความหรู รสนิยมวิไล แสดงว่าไม่ไทย เป็นสากล เป็นเพราะคนพวกนี้ไม่ได้มีการศึกษาอย่างถ่องแท้ว่าการเปิดเพลงพวกนี้คือการเรียกลูกค้า เป็นอุบายหาเงินแบบตื้นๆของพ่อค้าที่รู้ว่าลูกค้าบางกลุ่มฉลาดแบบต้องเคี้ยวเอื้อง ถูกจูงจมูกได้อย่างง่ายดาย การที่คนโดนด่าว่าเป็นควายไม่ได้หมายความว่าเลว แต่หมายถึงถูกชักจูงได้ง่าย ไม่มีความคิดที่จะพิจารณานั่นเอง
ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ทำให้ยากต่อการพัฒนาในทุกๆด้าน จำได้ว่าได้เคยอ่านงานฝรั่งมากมาย ยิ่งเป็นเรื่องบันทึกโบราณที่กล่าวถึงคนไทยหรือเรียกรวมๆ ก้ได้ว่า แถวๆ ดินแดนอุษาคเนย์นี่แหละ ไม่ได้ต่างกับคนป่าคนบ้าใบ้ เพราะฝรั่งเองมองว่าคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ มีบางส่วนที่เป็นอคติของฝรั่ง แต่ก็นับว่ามีพื้นฐานของความเป็นจริงอยู่เหมือนกัน
อีกตัวอย่างของความฉลาดของสังคมไทย ก็น่าจะเป็นการพิสูจน์ประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับระเบิดหรือวัตถุต่างๆ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามผ่าออกดู ห้ามโน่นนี่ สุดท้ายโชคดีที่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนในระดับหนึ่ง เลยระงับภาวะความเขลาในเรื่องนี้ได้ การที่มีเครื่องนี้ได้ในหน่วยงานไทยมีพื้นฐานจากความเขลาและเงื่อนไขในเรื่องผลประโยชน์ที่แยบยล เชื่อว่าต่อไปในอนาคตคงมีกระแสการตรวจสอบแบบนี้อีกเรื่อยๆ จริงๆแล้วการผ่าออกดูจะช่วยได้แยะที่สุด
ผู้เขียนได้ทำงานในแวดวงของระบบแบบไทยๆ หลายครั้งรู้สึกฉงนกับความเขลาของบุคคลรอบข้าง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ หลายครั้งนึกเจ็บใจ ท้อถอย แต่ก็ต้องอดทนเพราะเชื่อว่าวันหนึ่งความจริงบางอย่างก็จะพิสูจน์ตัวมันเอง เหมือนอย่างความเปลี่ยนแปลงที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพียงแต่ว่าเราจะอยู่จนถึงวันที่ความจริงนั้นจะเผยออกมาหรือไม่
วันนี้ สตรอเบอร์รี่ ในความหมายใหม่ไม่เหมือนเมื่อก่อน ห่างไกลกันลิบลับ วันต่อไปอีก 10 ปี ความหมายก็เปลี่ยนไปอีก และผู้เขียนก็จะเปลี่ยนไปด้วย หลายครั้งการมองโลกอย่างเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและพินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่จะช่วยให้มีสติและสร้างปัญญาไตร่ตรองได้
บทความนี้เป็นบทความแรกแห่งปี 2010 ของผู้เขียน หวังแต่ว่า ปีนี้จะมีเวลาเขียนมากขึ้น ไม่ใช่เขียนปีละ 1 เรื่อง 2 เรื่อง แบบที่ผ่านมา คิดถึงผู้อ่านที่ติดตามอยู่ตลอด รสชาติของบทความอาจต่างออกไป คงเป็นเพราะวัยที่เปลี่ยนไป อย่างที่บอกมานั่นเอง