Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

วาดวลี
ฤดูหนาวยามสาย แสงตะวันทอดผ่านเรือนร่างของผู้คนและตกกระทบเป็นผืนเงา อยู่ตรงนั้นตรงนี้บนถนน ชักชวนให้นักท่องเที่ยวบางคนอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปเงาตัวเองเอาไว้ดูเล่น ฉันเองก็เช่นกัน ย้ายระดับสายตาไปอยู่บนผืนดิน แสงเงาจากผู้คนมากมาย มุ่งหน้าไปยังพระธาตุดอยสุเทพ นักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ยิ้มสรวลหยอกล้อ ขอถ่ายรูปคู่กับบันได ประตู ป้าย และร้านค้า ดูเหมือนจะมีแต่เสียงหัวเราะ ตื่นเต้นและความสุข ปนเปื้อนเศษเสี้ยวของความหงุดหงิดรำคาญเล็กน้อย รอยยิ้มกว้างๆ ปรากฏบนใบหน้าของแม่ค้าหลายคน เงินสดถูกเก็บเข้ากระเป๋า ถุงพลาสติกถูกดึงขึ้น ใส่ของ ดึงขึ้นและใส่ของ มะพร้าวเผาในถังแช่ถูกมือล้วงผ่านความเย็นเฉียบจับขึ้นมา เจาะรู แล้วใส่หลอด สตอเบอรี่ที่ผ่าแล้วโยนใส่ถังล้าง ไม่นานก็ปรากฏอยู่ในถ้วยโรยน้ำตาลดูน่ากิน ดอกบัวที่มัดติดกับธูปเทียนถูกยื่นไปยังมือผู้ที่มุ่งมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แทบไม่ขาดสายตาจุดพักระหว่างขั้นบันไดขึ้นพระธาตุ จึงมีทั้งคนกำลังขึ้นไปและกลับลง  เหมือนภาพเคลื่อนไหวซ้ำๆ ชักช้า รีบเร่ง สลับกันไป แต่สำหรับฉันแล้ว เมื่อลองหยุดอยู่นิ่งๆ สักพัก ก็มองเห็นได้ว่า ในภาพซ้ำเหล่านี้ แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลยสักนิด“ขายดีจังนะ”หญิงวัยกลางคนที่ขายเครื่องประดับจากหิน เงยหน้าไปทักทายคนขายมะพร้าวเผา “ตัวก็ขายได้นินา” คนตอบมองไปยังสร้อยคอ แหวน กำไลที่พร่องลงไปจากแผงอยู่บ้าง เสียงถอนหายใจเบาๆ ดังขึ้นตอบมา“ขายไม่ค่อยได้หรอก แต่ก็ดีกว่าช่วงก่อนนะ อย่างเราๆ ต้องรอช่วงนี้แหละ ไม่เหมือนนักท่องเที่ยวเขามีเงินเดือนทั้งปี”แม่ค้าสร้อยรำพึงก่อนจะหันมาสนใจลูกค้าที่กำลังเลือกดูข้าวของ รอยยิ้มอัตโนมัติทำหน้าที่เชิญชวนพร้อมความหวังเรืองรองอยู่ในดวงตา และไม่อาจปิดได้มิดถึงความรู้สึกบางอย่าง ที่คิดว่าตัวเองแตกต่างจากผู้คนข้างหน้า คนที่มีเงินซื้อกล้องราคานับแสน เดินทางได้ทั่วโลก หรือมีนัดกินข้าวมื้อเย็นที่ร้านอาหารหรูหราด้านล่าง ฉันมองแววตาคู่นั้นอยู่นาน และไม่ได้แตกต่างจากดวงตาอีกหลายคู่บนบันไดพระธาตุ หากแต่ใครจะรู้ว่าบนแววตาของนักท่องเที่ยวบางคน กลับจมนิ่งอยู่กับบรรยากาศการขายของที่ระลึก มีของใช้สอย ของฝากมากมาย ในร้านเล็กๆ บนดอย ที่แวดล้อมไปด้วยอากาศหนาวและแสงแดดอุ่น“อยากออกจากงานจริงๆ นะ” ชายหนุ่มรำพึงเบาๆ “อยากมาทำร้านกาแฟ ขายของไปด้วย ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเข้าตอกบัตร”หนุ่มสาววัยทำงานสนทนากัน แล้วหยุดพักเหนื่อยหย่อนตัวนั่งบนขั้นบันได“คนที่นี่น่ารัก มีน้ำใจ พูดเพราะ ยิ้มแย้มตลอดเวลา อยากมาอยู่จริงๆ ปีหน้าออกจากงานดีกว่า อยากมีชีวิตอิสระเสียจริง”แม้ไม่รู้ว่าจริงหรือเล่น หนุ่มสาวกลุ่มนั้นก็ตอบรับกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย แลกเปลี่ยนความฝันและทอดสายตาเป็นประกายแก่เมืองนี้ ก่อนจะรวมตัวกันถ่ายรูปคู่กับพระยานาคบนราวบันได ส่วนฉัน  ปล่อยสายตาผ่านเลนส์ให้ทำงานไปอย่างช้าๆ กล้องเก่าๆ เล็กๆ ยังทำงานได้ดี พอที่จะเก็บสีสันเสื้อผ้า ใบหน้าผู้คน และบรรยากาศเท่าที่จะเก็บได้ พลางสลับกับก้มลงมองพื้น มองแสงเงาที่ทาบผ่าน ทั้งนิ่งงันและเคลื่อนไหว เงาสีดำที่ไม่อาจปรากฏสีหน้า ความงาม หรือราคาเครื่องประดับอยู่บนนั้น เงาที่ไม่อาจปรากฏถึงดวงตาแห่งการคาดเดา ว่าคนที่เดินผ่านกันไปบนที่แห่งนี้ ใครจะมีความสุขมากกว่า หรือชีวิตที่ดีกว่ากันและสุดท้ายฉันก็คิดเล่นๆ ว่า ในความปรารถนาเหล่านั้น บางที คนที่รู้ได้ดีที่สุด ก็คือเงาของตัวเราเองที่ปรากฏอยู่บนเงาแดดกับเราคนเดียวเท่านั้น. 
ที่ว่างและเวลา
‘โถ่เรบอ’หนังสือนวนิยายขนาดสั้น เรื่อง  “เพลงรักช่อดอกไม้” ของ ‘พิบูลศักดิ์ ละครพล’ ที่เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน ‘สกุลไทย’ เมื่อปี 2520 ก่อนสำนักพิมพ์จันทร์ฉายจะนำมารวมเล่มครั้งแรก ในปี 2521 นั้นเปิดฉากด้วยเนื้อเพลงปกาเก่อญอ ที่ชื่อ “แพลาเก่อปอ”“แพลาเก่อปอ ในคืนพระจันทร์ส่องแสง ฉันนั่งเหม่อมอง คอยจ้องแทะนาเต่อกาฉันคอยแสนคอย บะฉ่าเตอถี่บะนา เส่ นอ ถ่อแย เมื่อฉันเคียงคู่กับเธอแมแหม่แคอี ฉันต้องอยู่เดียวเปลี่ยวดายมองหาคู่เคียง บะฉ่าเตอถี่เลอบาโอ้ยอดดวงใจ  แคอีเนอโอะแพแลโปรดจงเห็นใจ เกอหน่าเยอพอคีลา”เพลงนี้ติดหูชาวปกาเก่อญอยาวนานมากว่าสามสิบปี ถือได้ว่าเป็นเพลงยุคแรกๆ ที่นักร้องชาวปกาเก่อญอนำเพลง มาใส่เนื้อร้อง ทำนองเข้ากับกีต้าร์แม้เพลงในชุดนี้จะมีเครื่องดนตรีเพียงกีต้าร์ตัวเดียวก็ตาม แต่เจ้าของเสียงเพลงและเนื้อเพลงในชุดนี้  ผู้ร้องได้ถ่ายถอดออกมาด้วยน้ำเสียงอย่างได้อารมณ์  มีเสน่ห์ครองใจชาวปกาเก่อญอมายาวนาน จนกลายเป็นเพลงอมตะของชนเผ่าไปแล้ว  เพลงในอัลบั้มชุด “ใต้แสงจันทร์” หรือ “แพลาเก่อปอ” นอกจากเพลงใต้แสงจันทร์ที่มีเนื้อร้องผสมระหว่างภาษาปกาเก่อญอกับภาษาไทย  ทำให้คนไทยก็หลายคนชื่นชอบ และยังมีเพลงอื่นๆ อีกหลายเพลง ที่เป็นเพลงรักเพลงอกหัก ซึ่งตรงกับชีวิตผู้ร้อง ซึ่งถูกชายคนรักในเผ่าพันธุ์เดียวกันทอดทิ้งการที่ลูกสาวถูกชายคนรักทำให้เจ็บช้ำใจ ผู้เป็นพ่อจึงต้องพาลูกสาวย้ายจากถิ่นเกิดบ้านน้ำลัด จังหวัดเชียงราย พาลูกสาวหลบรักษาแผลใจไกลยังเมืองสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทิ้งไว้เพียงอัลบั้มเพลงชุดเดียวที่ยังมีเปิดให้พี่น้องในเผ่าพันธุ์ได้ฟังกันอยู่จนทุกวันนี้ ที่ สวท.เชียงใหม่ ภาคภาษากะเหรี่ยงตอนหัวค่ำวันที่ 8 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา เจ้าของเพลง “ใต้แสงจันทร์ แพลาเก่อปอ” ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่สังขละบุรีหลังจากต่อสู้กับโรคภัยนานนับปีมิตรรักแฟนเพลงชาวปกาเก่อญอของ “เส่อหระหมื่อซูกรี” ขอรำลึกถึงมา ณ ที่นี้ด้วยความอาลัย* ลาเก่อปอ = แสงจันทร์
นาลกะ
เมฆฝนตั้งเค้าทำท่าเหมือนว่าจะเทน้ำลงมา แต่ก็ไม่เคยหล่นลงมาสักหยด สายลมจะพัดพาเมฆให้ลอยไปที่อื่น จากนั้นท้องฟ้าก็จะปลอดโปร่งเหมือนเดิม ชาวสวนที่เฝ้ารออยู่แหงนหน้าขึ้นฟ้าหวังจะได้เห็นเม็ดฝนโปรยปราย เมล็ดพืชที่หว่านไว้รอเพียงฝนแรกเท่านั้นก็จะแทงยอดอ่อนออกมาท้องฟ้าครึ้ม เมฆสีดำลอยต่ำและบดบังความร้อนแรงแห่งแสงอาทิตย์ อากาศยามสายขมุกขมัว  “วันนี้ฝนจะตก” ตาพูดกับเด่นและสายรุ้ง “ดูฝงมดพวกนั้นสิพากันอพยพเพราะมันรู้ว่าน้ำจะเจิ่งนองท่วมรังของมัน” สายรุ้งแหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ท้องฟ้าช่างดูอึดอัดด้วยบรรยากาศอันอึมครึม นกฝูงบินตัดก้อนเมฆที่คล้อยลงต่ำ“เราจะได้เล่นน้ำ” เด่นว่าแล้วฝนก็เทลงมาจริงๆ ต้นไม้ส่ายยอดโอนเอนรับน้ำฝน พื้นดินแข็งถูกน้ำซึมเซาะจนอ่อนนุ่ม บริเวณกอกล้วยมีไส้เดือนตัวสีดำโผล่ออกมาคืบคลานอย่างเริงร่า ในขณะที่สัตว์บางชนิดหลบเข้าไปอยู่ในรูอันปลอดภัย  เด่นกับสายรุ้งหลบเข้าไปอยู่บ้านของตา ม่านฝนเป็นโค้งสีขาวเคลื่อนไหวไปตามแรงลมที่พัดกระหน่ำ สายฝนตกกระทบหลังคาฟังเหมือนเสียงดนตรีที่มีท่วงทำนองอันไม่เคยซ้ำก่อนที่จะไหลสู่รางน้ำ มีตุ่มรองรับน้ำฝนอยู่ข้างล่างเด่นถอดเสื้อออก “ฉันว่าฉันจะเล่นน้ำ” “ฉันเล่นด้วย” สายรุ้งว่า “นายต้องบอกแม่ก่อน” “จะบอกได้ยังไง ฉันติดฝนอยู่อย่างนี้ ถ้าฉันวิ่งไปบอกแม่ ฉันก็เปียกฝนอยู่ดี” สายรุ้งอ้าง“แล้วแต่นายก็แล้วกัน” สายรุ้งถอดเสื้อออก สายลมพัดมาต้องผิวกายให้ความรู้สึกสดชื่นหลังจากที่อากาศอบอ้าวมาตลอดหลายวันเด่นกระโจนลงจากชานบ้าน สายรุ้งกระโดดตาม ทั้งคู่วิ่งไปยังชายคา บริเวณที่สายฝนไหลมารวมกันที่รางน้ำก่อนจะตกลงมา เด่นปล่อยให้น้ำตกลงบนศีรษะ แผ่นหลัง เขากระโดดขึ้นลงอย่างสนุกสนาน แล้วสายรุ้งก็ทำตาม  “เขาว่าน้ำฝนบริสุทธิ์” เด่นอ้าปากออกเพื่อรับน้ำฝนที่หล่นมาจากฟ้า สายรุ้งรู้สึกขำเพราะมันทำให้เขานึกถึงจระเข้ที่อ้าปากค้างไว้อย่างนั้นเป็นชั่วโมงซึ่งเขาเคยเห็นในสารคดี“ไม่บริสุทธิ์หรอก เพราะมันมีฝุ่น”“นายรู้ได้ยังไง”“ครูที่โรงเรียนบอก”เด่นวิ่งนำสายรุ้งไปยังต้นละมุด และต้นมะม่วงซึ่งมักจะหล่นลงมาเวลามีฝนตกหรือลมพัดแรง ถ้าพวกเขาไม่เก็บ เด็กคนอื่นก็จะเก็บไป“โอ้โห!” เด่นอุทานเมื่อเห็นผลละมุดเกลื่อนกระจายอยู่บนลานหญ้า “ฉันว่าเอากองไว้ก่อนแล้วค่อยเอาถุงมาใส่”จากนั้นทั้งคู่วิ่งไปยังบ่อเลี้ยงปลาซึ่งปลามักจะกระโดดขึ้นมาเล่นน้ำอยู่บ่อย ๆ เวลาที่มีฝนตก ระดับน้ำในบ่อเบี้ยงปลาไม่ลึกมาก แค่เพียงหน้าอกของสายรุ้งเท่านั้น  แต่บ่อค่อนข้างกว้าง ผักกะเฉดแผ่เลื้อยทอดยอดอยู่รอบ ๆ ตลิ่ง“ดูสิ” สายรุ้งว่า “ปลาช่อน ปลากระดี่กระโดดออกมา”“ปลากระดี่มาจากไหน ตาไม่ได้เลี้ยงปลากระดี่นี่”“มันคงมาเอง”รอบบ่อเลี้ยงปลามีตาข่ายกันไว้ กันไม่ให้ปลากระโดดหนีแต่ปลาก็ยังเล็ดรอดออกมาได้ ตาข่ายยังช่วยป้องกันงูที่เข้ามากินปลาได้ด้วย บางทีมีงูตายค้างอยู่ที่ตาข่ายเพราะพยายามจะเข้าไปในบ่อเพื่อหาปลา“กลับกันเถอะ” สายรุ้งชวน “ฉันหนาวแล้ว” ทั้งคู่วิ่งกลับไปบ้านตา สายรุ้งจัดการอาบน้ำ น้ำประปาอุ่นสบายเมื่อเทียบกับน้ำฝน แต่เขาก็ยังรู้สึกหนาวอยู่ดี“นายห้ามป่วยนะ” เด่นว่า “ไม่งั้นได้อดเล่นน้ำฝนกันอีกแน่ ๆ”“ท่าทางฉันเหมือนคนขี้โรคหรือ” สายรุ้งตอบ ท่าทางยียวน“กลับบ้านไปเจอแม่แล้วจะรู้” เด่นพูดฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้ง่าย ๆ ด้วยความเป็นห่วง แม่มาตามสายรุ้งที่บ้านของตาและพบว่าสายรุ้งหนาวสั่นเหมือนลูกนกอยู่ภายใต้ผ้าขนหนู โดยที่ไม่ต้องรอให้แม่ถาม สายรุ้งชิงออกตัวเสียก่อนเลยว่า“ผมเล่นน้ำฝนครับแม่” แม่เช็ดตัวให้สายรุ้งทั้งที่เขาเช็ดจนทั่วแล้ว “หนาวไหม หวังว่าพรุ่งนี้คงจะไม่ป่วยนะ” “ผมไม่ป่วยง่าย ๆ หรอกครับแม่”“แม่ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน”  “ถ้างั้นแม่ก็ไม่ว่าอะไรใช่ไหมที่ผมเล่นน้ำฝน”“ไม่ว่าอะไรหรอก เพียงแต่แม่อยากให้ลูกบอกแม่เสียก่อนเท่านั้นเอง”“ครับแม่” สายรุ้งพูด แล้วซุกศีรษะกับอกอุ่นของแม่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังจากวันแรกจนถึงวันนี้ ผมลองนับเดือน นับปีดูแล้ว ผมมาอยู่เมืองชายแดนริมแม่น้ำแห่งนี้ ล่วงเข้าไป ๕ ปีแล้ว ใน ๕ ปีของการใช้ชีวิต แน่ล่ะย่อมแตกต่างจาก ๗๖ ปีของชายชราอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ผมได้เห็นไม่ต่างกับชายชราเลยแม้แต่น้อยแม้จะนานกี่ชั่วอายุคน ผู้คนริมฝั่งน้ำยังคงพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ อยู่เช่นเดิม คนหาปลายังคงหาปลา แม้ว่าจะได้ปลาน้อยลงก็ตามที คนขับเรือรับจ้างก็ยังคงขับเรืออยู่เช่นเดิม แม้ว่าจะมีข่าวการเกิดขึ้นของสะพานข้ามแม่น้ำก็ตามที คนแบกของตรงท่าเรือก็ยังคงทำหน้าที่แข็งขันกว่าเดิม แม้จะแบกของได้น้อยลง ชีวิตหลายชีวิตยังคงเป็นอยู่เหมือนเคยเป็นมาตราบเท่านาฬิกาชีวิตของแต่ละคนยังก้าวเดินยามเช้าของบางเช้า ผู้คนยังคงเดินทางไปสู่จุดเริ่มต้นของชีวิตแตกต่างกันออกไป ผมก็เช่นกัน เช้านี้มีนัดกับชายชราอีกครั้ง หลังจากไม่ได้พบกันหลายวัน บางทีมันอาจไม่ใช่เป็นวัน มันเป็นเดือนเสียด้วยซ้ำที่เราไม่ได้เจอกัน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้เจอกัน แต่ทุกครั้งหากมีใครพูดถึงชายชรา ผมจะนึกถึงรอยยิ้มอันแจ่มใส และเรื่องเล่าต่างๆ ของชายชราอยู่เสมอ แต่ก็มีบ้างบางทีที่ผมได้เห็นอารมณ์อย่างอื่นปรากฏบนใบหน้าของชายชรา ในเย็นวันหนึ่ง ขณะผมเดินทางไปหาชายชราถึงกระท่อม เมื่อไปถึงผมถามถึงปลา คำตอบที่ได้รับกลับมาก็ไม่ต่างจากเมื่อ ๒ วันก่อนเช่นกัน เมื่อพูดถึงเรื่องการหาปลาไม่ได้ครั้งใด อารมณ์ผิดหวังก็จะปรากฏขึ้นมา และคำพูดต่างๆ นานาก็จะพรั่งพรูออกมา คำพูดเหล่านั้นล้วนเป็นการบ่นด่าถึงเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอารมณ์ผิดหวังจะมีอยู่บ้าง แต่ชายชราก็ไม่ค่อยแสดงให้ใครได้เห็นเท่าใด บางครั้งการได้อยู่กับบางสิ่งเนิ่นนานซ้ำแล้วซ้ำเล่าคงทำให้มนุษย์ปรับตัวเข้ากับมันได้ดี หรือบางทีการปล่อยวางกับเรื่องราวบางสิ่งตามแนวทางของศาสนาคงทำให้ชายชรายิ้มแย้มอยู่เสมอในวันที่หาปลาไม่ได้เช้าวันนี้ ลมหนาวยังคงยะเยือกอย่างเคยเป็นมา หลังขึ้นควบมอเตอร์ไซด์คู่ชีพ มันก็พาผมวิ่งไปตามถนนคดเคี้ยวของดอยหลวง ถนนสายนี้เป็นถนนเลียบแม่น้ำ ขณะถนนไต่ขึ้นภูเขา เราจึงเห็นแม่น้ำอยู่ข้างล่าง ความขาวทึบของสายหมอกทำให้ต้องเปิดไฟหน้ารถ แม้รถจะวิ่งช้า แต่ความหวาดกลัวก็เกิดขึ้นกับหัวใจได้ไม่ใช่น้อย เพราะรถที่วิ่งสวนทางมาบางคันวิ่งมาด้วยความเร็ว ไฟตัดหมอกของรถบางคันทำให้ผมต้องหลับตาหลบแสง ปีนี้เองผมรู้ว่าดวงตาไม่สามารถจะสู้แสงสว่างจ้าได้เหมือนเคย หากเปรียบกับชายชราแล้ว เราช่างแตกต่างกันเหลือเกิน ชายชราร่างกายสมบูรณ์ทุกอย่าง สายตายังดี ขับเรือฝ่าความมืดก็เคยทำมาแล้ว ออกไปหาปลาในวันที่สายหมอกหนาเหมือนสายฝนก็ทำมาแล้ว ชายชราไม่เคยมีปัญหาเรื่องสายตา แต่สำหรับผมอายุยังไม่เท่าไหร่สายตาก็เกเรเสียแล้วขณะอยู่หลังเบาะอาน ผมคิดถึงคำพูดของชายชราที่บอกว่า ตอนเอาเรือออกไปหาปลาแรกๆ ก็กลัวน้ำอยู่เหมือนกัน แต่พอนานเข้าก็ไม่กลัวแล้ว ความกลัวมีอย่างเดียวในตอนนี้คือ กลัวว่าจะไม่ได้ปลาเท่านั้น หากพูดถึงความกลัวแล้ว อันความกลัวนั้นมันวิ่งมาจู่โจมหัวใจของทุกๆ คนอยู่เสมอ แต่เราจะจัดการกับความกลัวอย่างไรต่างหากเป็นเรื่องสำคัญกว่า และเมื่อเราจัดการกับความกลัวไม่ได้ ในรอยทางบางรอยของบางชีวิต ความกลัวจึงเป็นฆาตกรทำร้ายผู้หวาดกลัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า...เมื่อรถวิ่งมาเกินครึ่งทาง ผมค่อยๆ ผ่อนเบาเครื่องยนต์ และหักรถเข้าข้างทาง หลังรถจอดนิ่ง ผมก็ยกนาฬิกาขึ้นมาดู เข็มสั้นเข็มยาวของนาฬิกาบอกเวลาว่าใกล้สิบโมงเช้า แม้ว่าจะสายเต็มที แต่สายหมอกยังไม่จางหาย อารณ์นั้นผมคิดถึงเป้าหมายในการเดินทางขึ้นมาฉับพลัน เป้าหมายข้างหน้ายังอยู่อีกไกล หากเมื่อไปถึงปลายทางแล้วเป้าหมายเราเปลี่ยนแปลงไป จิตใจของผมจะเป็นเช่นไร คงไม่ต่างอะไรกับสายหมอกที่เจอมา เพราะความทึมเทาอันบดบังความกระจ่างไว้คงหม่นเศร้าเกินกว่าจะเล่าให้คนอื่นฟังได้ขณะรถใกล้ถึงเป้าหมาย ผมก็ชะลอความเร็วของรถลงอย่างช้าๆ แดดเช้าของวันเข้ามาแทนที่สายหมอกแล้ว หลังจอดรถผมก็เข็นมันเข้าไปซุกไว้ในป่าข้างทาง คงเป็นโชคดีของผมที่ไม่ต้องห่วงว่ารถจะหาย เพราะจากถนนลงไปยังกระท่อมมีไร่ข้าวโพดกำลังขึ้นมาพองามบดบังทิวทัศน์ทั้งสองข้างทางเอาไว้ตรงทางลงไปสู่กระท่อมหาปลาของชายชราเป็นทางเดินเล็กๆ ผ่านไร่ข้าวโพดสูงซัดลดหลั่นกันไปตามก้อนหินที่ถูกนำมาเรียงแทนบันได ถ้าก้าวพลาดโอกาสจะได้ลงไปข้างล่างเร็วขึ้นมีอยู่สูงเช่นกัน เมื่อพ้นไร่ข้าวโพดมา ผมก็มาถึงกระท่อมของชายชราเมื่อลงไปถึงกระท่อมผม ไอ้แดงสุนัขพันทางที่ชายชราเก็บมาเลี้ยงก็ส่งเสียงเห่าขึ้นมา ผมตวาดให้มันเงียบ เมื่อมันได้ยินเสียง มันก็เงียบและเดินเข้ามาหา เดินวนเวียนอยู่รอบตัว ผมส่งเสียงหายใจดังฟืดฟาดออกมา ก่อนจะเดินจากไป หลังไอ้แดงจากไปแล้ว ผมก็มองหาเจ้าของกระท่อมอยู่นาน แต่ก็ไร้วี่แววผู้เป็นเจ้าของกระท่อมหลังเฝ้ามองหาอยู่นาน ผมก็ถือวิสาสะเดินขึ้นไปบนกระท่อม ตรงระเบียงด้านนอกของกระท่อมกองไฟยังไม่มอดดับดีนัก บนหิ้งเหนือกองไฟกระติ๊บข้าวถูกเก็บไว้เรียบร้อย หลังมองเห็นกระติ๊บ ผมก็ลุกขึ้นเดินไปเปิดกระติ๊บ ข้าวในกระติ๊บยังไม่มีร่องรอยที่บ่งบอกได้ว่ามีคนมากินข้าว เมื่อเก็บกระติ๊บไว้ที่เดิม ผมก็รู้ได้ว่า ตอนนี้ชายชราออกไปหาปลา และอีกนานกว่าที่ชายชราจะกลับมา เมื่อคิดดังนั้นผมก็ล้มตัวลงนอนคิดเรื่องราวเรื่อยเปื่อย และในที่สุดก็เผลอหลับไป ผมไม่รู้ว่าหลับไปนานแค่ไหน แต่ผมก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อได้ยินเสียงคุ้นเคยดังอยู่ใกล้ตัวผม“นอนหลับสบายเลย มานานหรือยัง มาคนเดียวหรือ”“ครับมาคนเดียว พ่อเฒ่าได้ปลาไหม”“พอได้อยู่ แต่ไม่ได้ปลาตัวใหญ่ ได้สัก ๒ กิโลนี่แหละ”“กินข้าวมาหรือยัง”“กินมาแล้วครับ”“นึกว่ายังไม่ได้กินมา ถ้ายังไม่ได้กินก็ไปเอาปลามาปิ้งกินได้”“แล้วพ่อเฒ่ากินข้าวหรือยัง”“กินแล้ว กินตั้งแต่เช้า กินเสร็จก็ออกไปเก็บกู้เบ็ด”ขณะเราพูดคุยกันพ่อเฒ่าก็สาละวนอยู่กับการเปลี่ยนเสื้อผ้า หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ ชายชราก็เก็บกวาดตรงระเบียงกระท่อม ก่อนเที่ยงหลังจัดการภาระทุกอย่างเสร็จสิ้น ทั้งให้อาหารหมา รดน้ำผัก ชายชราก็หอบเชือก และกล่องใส่ดวงเบ็ดไปนั่งใต้ร่มข่อย เพื่อลงมือผูกขอเบ็ด ไม่นานนักเบ็ดจำนวนหลายสิบก็ถูกผูกเข้ากับเชือกเส้นใหญ่ หลังผูกเบ็ดเข้ากับเชือกเสร็จ ชายชราก็ยื่นให้ผมดู แกบอกว่ามันคือ ‘เบ็ดค่าว--เบ็ดค่าวคือ เบ็ดที่ผูกกับเชือกต่อกันยาวๆ มีเบ็ดกับสายเบ็ดหลายตัว การผูกเบ็ดแบบนี้ภาษาท้องถิ่นทางเหนือเรียกว่า ‘ผูกเบ็ดเป็นค่าว’“เบ็ดนี้เวลาเอาไปวางจะใช้ทั้งเหยื่อและไม่ใช้เหยื่อ ถ้าเราเอาไปวางจับปลาฝาไม ไม่ต้องใช้เหยื่อ เวลาวางเบ็ดเราก็เอาเบ็ดไปผูกไว้ตากคก พอปลาฝาไมมันลอยน้ำมาเห็นเบ็ด คิดว่าเหยื่อ มันก็กินเข้าไป พอมันกินเข้าไปเบ็ดจะเข้าไปติดในคอของมัน ปลาฝาไมนี้เวลามันกินเหยื่อมันชอบกลืนเข้าไปถึงคอ พอมันรู้ว่าไม่ใช่เหยื่อ มันก็จะดิ้น พอดิ้นเบ็ดดวงอื่นๆ ก็จะมาพันกับตัว แต่ถ้าเราจะเอาปลาอย่างอื่น เราก็ไปวางเบ็ดใกล้กับแก่ง ผูกสายเบ็ดอีกด้านไว้กับแก่ง จากนั้นก็เอากุ้งใส่เป็นเหยื่อ แล้วปล่อยให้สายเบ็ดจมลงในน้ำ  กุ้งที่เอามาเป็นเหยื่อนี่อย่าให้ตาย ถ้าตายปลามันไม่กิน เวลาเอาเบ็ดเกี่ยวกับกุ้งต้องเกี่ยวตรงหลังของกุ้ง ถ้าเราไปเกี่ยวตรงหัวนี่กุ้งมันตาย” ชายชราเล่าพลางยกมือแสดงท่าทางที่ปลาฝาไมติดเบ็ดให้ผมดูไปด้วยผมเคยถามหลายคนที่รู้จักชายชรา พวกเขาต่างบอกคล้ายๆ กันว่า ในวัยยังมีเรี่ยวแรง ชายชราแกเคยไปหาปลาไกลถึงเขตประเทศพม่า บางครั้งก็ไปกับลูกๆ บางครั้งก็ไปกับเพื่อนหมู่บ้านอื่น ๓-๔ คน พอได้ยินเรื่องเล่าเนรื่อนี้ผมก็เลยอดถามชายชราไม่ได้ ในขณะนั่งคุยกันอยู่ใต้ร่มข่อย ผมจึงตัดสินใจถามชรา เพื่อคลายความสงสัยในใจ“พ่อเฒ่า เขาเล่ากันว่า พ่อเฒ่าเคยไปหาปลาถึงพม่าจริงไหม”“จริง ก็เอาเรือหาปลาลำใหญ่กว่าเรือหาปลาลำที่อยู่ข้างล่างนี่แหละขึ้นไป” ชายชราพูดพร้อมกับชี้มือให้ผมดูเรือหาปลาลำเล็กของแก“แล้วได้ปลาเยอะไหม”“บางครั้งก็ได้ปลาเต็มลำเรือเอากลับมาแทบไม่ไหว”“ไปอยู่กี่วัน”“๔-๕ วัน”“แล้วเอาปลาไปขายไหน”“บางทีก็เอาไปขายเชียงแสน แต่ถ้าวันไหนล่องเรือลงมาแล้วรู้ว่ามีคนเอาปลาเข้าไปขายที่เชียงแสนก่อนก็จะไม่เอาปลาเข้าไปขาย ก็จะเอาปลามาขายที่เชียงของแทน”“แล้วปลามันไม่เน่าหรือ”“บางตัวก็เน่า บางตัวก็ไม่เน่า”“แล้วตัวที่เน่าทำยังไง”“ก็เอาตากแห้ง ย่างไฟเอาไว้เป็นปลาย่าง”“แล้วช่วงนั้นขายปลาได้เงินเยอะไหม”“ก็พออยู่พอกิน พอเลี้ยงลูกได้”“แล้วตอนขึ้นไปหาปลาเขตพม่า พ่อเฒ่าอายุกี่ปี”“ประมาณ ๓๐ กว่า ตอนอายุ ๓๐ กว่า ลาวยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พม่ามันก็ไม่รบกันมากเหมือนเดี๋ยวนี้ สมัยนั้นประเทศไหนมันก็สงบ คนก็เป็นญาติพี่น้องกัน ไปไหนก็ไม้ต้องกลัวอด อย่างเราไปพม่า เราก็ไม่กลัว เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราไปดี ถ้าเราไปเจอทหารหรือเจอคนตามหมู่บ้านริมน้ำ เขามาขอปลาเราก็แบ่งให้เขา แต่ช่วงที่เขายิงกันหนักๆ ช่วงนั้นจำได้ว่าก่อนลาวแตก ทั้งฝั่งพม่าก็ยิงกัน ฝั่งลาวก็ยิงกัน เราไปเราอยู่ตรงกลางพอดี หาปลาไปก็สะดุ้งไป บางทีไม่กล้านอนตามหาด ต้องอาศัยนอนตามบ้านคน เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งระเบิดตกลงมาใกล้ที่เรานอน โชคดีไม่มีใครเป็นอะไร”“แล้วตอนพ่อเฒ่าไปหาปลาเขตพม่าพ่อเฒ่าไปนอนที่ไหน”“บางครั้งก็ไปนอนตามแก่งบ้าง บางครั้งก็นอนริมหาด บางครั้งก็ไปนอนบ้านเพื่อนคนพม่าที่รู้จักกัน”“แล้วไปนอนริมฝั่งน้ำพ่อเฒ่าไปนอนยังไง”“ก็ไปถางป่าตรงริมฝั่งปลูกกระท่อมเล็กๆ นอน แต่ไปหลายครั้งก็ไม่เคยได้นอนที่เดิมหรอก ย้ายที่นอนไปเรื่อยๆ”“แล้วตอนนั้นมีทหารตามชายแดนหรือยัง”“มีแล้ว แต่ถ้าขึ้นไปหาปลา บางครั้งทหารเขาก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร แต่ถ้าเขารู้เขาก็มาขอปลาไปกินแค่นั้น ถ้าเขามาขอเราก็แบ่งให้เขาไปกิน แบ่งกันอยู่สู่กันกิน ปลามันหาได้เยอะหวงไว้กินคนเดียวไม่ได้หรอก บางทีกินไม่ทัน มันก็เน่าก็เสีย พอเสียก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเอาให้คนไปกินยังได้ประโยชน์กว่า”    “ช่วงนั้นสนุกไหม”“สนุก เพราะช่วงนั้นปลามันเยอะไปหาปลาไม่นานก็ได้ปลามากินแล้ว วันไหนได้ปลาเยอะ เราก็ไม่อยากหยุด แต่บางครั้งขึ้นไปหาปลามันก็เสี่ยงอยู่ แต่เสี่ยงก็ต้องทำ เพราะปลามันได้เยอะ ได้ทีก็คุ้มค่า”“แล้วชพ่อเฒ่าขึ้นไปหาปลาแถวไหน”“แถวตั้งสลัม ตั้งอ้อ ท่าล้อ ท่าอี่กุ้ย บ้านด่าน”“แล้วทำไมขึ้นไปหาปลาแถวนั้น”“ตรงนั้นน้ำมันเชี่ยว มีหินมีแก่งเยอะ ปลาก็เยอะ ปลามันก็อาศัยอยู่ตามแก่งหิน พอแก่งหินมันเยอะปลาก็เยอะ”“พ่อเฒ่าตอนนี้แก่งต้นอ้อ ตั้งสลัมไม่มีแล้ว เขาจีนระเบิดทิ้งหมดแล้ว”“เขาระเบิดได้ยังไง” ชายชราถามพร้อมมองหน้าผม ดาวในดวงตาแกไม่ส่องแสงเมื่อได้ยินข่าวนี้ “ถ้าเอาแก่งในน้ำออก ปลามันก็ไม่มี มีแก่งก็มีปลา ไม่มีแก่งก็ไม่มีปลา เพราะปลามันอาศัยกินไคร้น้ำตามแก่งหิน”“ถ้าให้ขึ้นไปหาปลาพม่าอีกพ่อเฒ่าจะไปไหม”“คงไม่ไปแล้ว ถึงขึ้นไปก็คงไปไม่ถึง เพราะเรือใหญ่จากจีนล่องลงมามันอันตราย ฟองน้ำจากเรือใหญ่มันแรง มันพัดเรือเล็กล่มได้ มันไม่คุ้ม แล้วตอนนี้ทางราชการพม่า-ลาว-ไทย ก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน ถ้าขึ้นไปหาปลาตอนนี้ก็กลัวจะโดนจับ ช่วงที่ลาวแตกใหม่ๆ นี่คือไปอยู่หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งใกล้จะไปไม่อยู่แล้ว แต่เราก็คิดว่า ยังไงก็จะไม่ไปแล้ว ฤดูฝนหน้าขอเป็นช่วงสุดท้ายแล้วกัน ช่วงนั้นเจอเหตุการณ์หลายอย่าง ที่จำได้ก็ช่วงที่ไปนอนแถวตั้งอ้อ ตอนนั้นนอนกันทางฝั่งลาว ช่วงนั้นลาวแตกใหม่ๆ เสียงปืนยังดังอยู่เป็นระยะ ถ้าบอกว่าไม่กลัวก็ไม่ได้ แต่กลัวก็กลัว ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเราได้ไปแล้วจะกลับบ้านก็ยังไม่ได้ปลาพอขาย ก็ต้องอยู่กันต่อ พอไปถึงใกล้กับตั้งอ้อก็เอาเรือเข้าฝั่งกะว่ายังไงเสียคืนนี้ก็ต้องนอนตรงหาด พอเอาของลงเรือเสร็จ ยังไม่ได้หุงข้าวด้วยซ้ำ ทหารใส่ชุดเต็มยศเลยเดินมาหาเรา พวกเรา ๓-๔ คนแต่ละคนไม่เคยเจอ กลัวก็กลัว แต่ไม่รู้จะทำยังไง พอทหารกลุ่มนั้นเดินมาถึง ก็ถามว่ามาจากไหน เราก็บอกว่าเป็นคนไทย มาหาปลา เขาก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะช่วงนั้นเรื่องพรมแดนนี่มันไม่ได้เป็นเหมือนอย่างนี้ พอเขารู้ว่าเรามาทำอะไร เขาก็บอกอยากได้ปลาไปเป็นอาหาร เราก็มองหน้ากัน แต่ก็ให้เขาไป ๒๐ กว่าตัว ปลาตัวใหญ่ทั้งนั้น เสียดายก็เสียดาย แต่ถ้าเทียบกับชีวิตแล้ว ปลาพวกนี้ไม่นานเราก็หาใหม่ได้ แต่ถ้าเราเป็นอะไรไปคนทางบ้านไม่รู้จะเป็นยังไง พอเขาได้ปลาแล้วเขาก็ไป ไม่ใช่เขามาปล้นนะ แต่เขามาขอแบ่งเราไปกิน เราก็เข้าใจเขา ช่วงนั้นเขากำลังเปลี่ยนแปลงใหม่ ข้าวปลาอาหารก็หายาก เพราะกำลังยิงกัน เขามาขอเราก็แบ่งให้เขาไปกิน”หลายครั้งชายชราขึ้นไปหาปลาไม่ได้ไปคนเดียว การไปหาปลากับเพื่อนหลายคนทำให้เกิดพรมแดนแห่งการเรียนรู้ของคนร่วมลุ่มน้ำเดียวกัน ใช่ว่าจะมีเฉพาะคนหาปลาคนไทยที่ชายชราสนิทชิดเชื้อ ในช่วงเดินทางรอนแรมขึ้นเหนือ เพื่อไปหาปลา ช่วงนั้นชายชราได้รู้จักกับคนพม่าแล้วก็เป็นเสี่ยวกันมาจนถึงปัจจุบัน ชายชราบอกว่าถึงตอนนี้ไม่ได้ขึ้นไปหาปลาแล้ว แต่ก็ยังจดจำเพื่อนที่เคยพึ่งพาอาศัยกันได้ดี แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานแล้วก็ตามทีเส้นพรมแดนสำหรับชายชรามันอาจะเป็นเพียงเรื่องราวสมมติที่ถูกเขียนขึ้นมา เส้นพรมแดนสมมตินี้ไม่สามารถจะขีดแบ่งความรู้สึกผูกพัน คุ้นเคยของผู้คนทั้งสองฝั่งน้ำลงไปได้ เส้นพรมแดนสมมติตามสถานะของชายชราแล้วมันจึงเป็นเพียงเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความจริงกับความลวงช่วงเวลาแห่งความทรงจำของคนเรานั้นแม้ว่ามันจะเป็นความทรงจำที่ดีและไม่ดี มนุษย์ย่อมจดจำได้เสมอ แต่การจดจำนั้นก็อยู่กับว่า ใครจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้เนิ่นนานกว่ากันเท่านั้นเอง...ถ้าถามว่าแล้วเหตุผลกลใดคนหาปลาเช่นชายชราต้องขึ้นไปหาปลาไกลถึงขนาดนั้น คำตอบที่ได้จากชายชราคือ เพราะข้างบนมันมีปลาเยอะกลับมาถึงเชียงของครั้งหนึ่งก็ได้ปลาเต็มลำเรือและหากถามถึงแรงจูงใจที่ทำให้ชายชรามายึดอาชีพหาปลานั้น คำตอบคือ สมัยก่อนก็รับจ้างทั่วไปบ้าง ตัดไม้เผ่าถ่านขายบ้าง แต่พอเจ้านายเขาไม่ให้ตัดไม้ เราก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกินก็เริ่มลองหาปลา อีกอย่างรับจ้างมันก็เบื่อ ตัดไม้เผ่าถ่านขายมันก็เบื่อ เพราะเราต้องหลบซ่อนไม่ให้เจ้านายเขาเห็น เพราะถ้าเขาเห็นเขาจะจับ“เดี๋ยวนี้พ่อเฒ่าหาปลามากี่ปีแล้ว”“เริ่มหาปลาตอนอายุ ๒๔ ตอนนี้ก็อายุ ๗๖”“ถ้านับตอนนี้ด้วยก็ ๕๐ กว่าปีแล้วใช่ไหมพ่อเฒ่า แล้วอีกกี่ปีถึงจะเลิกหาปลา”“คงไม่เลิกหรอก ถ้าแรงยังมีก็คงต้องทำกันต่อ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอะไร อีกอย่างเราก็แก่แล้วไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ หาปลานี่แหละพอได้อยู่ได้กิน”ชีวิตบนสายน้ำของชายชราคงเป็นอย่างชายชรากล่าว หากจะให้ไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่หาปลา แกคงทำไม่ได้ และความสุขจากการทำงานอื่นที่ไม่ใช่การหาปลาสำหรับชายชราแล้วคงไม่มี เพราะงานหลายอย่างชายชราเคยทดลองทำมาแล้ว สุดท้ายก็มาจบลงตรงการหาปลา ๕๐ กว่าปีที่ชายชราออกเรือหาปลา ประสบการณ์ได้มาแม้จะไม่มาก แต่ก็คงไม่น้อยสำหรับคนๆ หนึ่งสายน้ำอันเกี่ยวเนื่องอยู่กับสายชีวิตของผู้คนได้สอนให้ชายชราเข้าใจหลายสิ่งอย่างมากขึ้น ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ผมขาวโพลนบนศีรษะเหล่านี้ล้วนบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนย่อมสูญหายไปตามเวลาอันสมควร เมื่อเราเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นนัก และมีที่สิ้นสุด เราก็ต้องเชื่อด้วยว่า การเดินทางของแม่น้ำจากตั้นกำเนิดครั้งแรกจนถึงวันนี้ แม่น้ำช่างยาวไกลจนสิ้นสุดได้ยากยิ่ง และวันหนึ่งแม่น้ำก็คงหยุดไหลเช่นกัน
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
ภาพจากประชาไทภาพจากวิกิพีเดีย คนสองคนจากต่างดินแดน แต่ “หัวใจ” คล้ายคลึงกัน ยึดมั่นในอุดมการณ์ สร้างความยุติธรรมแก่สังคม ต่อสู้เพื่อคนจนและผู้ด้อยโอกาส ต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ นึกถึงคนจนและความยุติธรรมอันดับแรก ห่วงใยและคำนึงถึงตนเองเป็นสิ่งสุดท้ายที่กระทำ มด/ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์เกิด     2498บ้านเกิด  กรุงเทพฯการศึกษา รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครอบครัวเกิดในครอบครัวคนจีนชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะ แต่เป็นลูกที่แตกต่าง มีวิญญาณขบถตั้งแต่ศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาชนในยุค 14 ตุลา ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม ซึบซับวิญญาณการต่อสู้ หลังจาก 6 ตุลา ต้องหลบหนีภัยการเมืองเข้าป่าเกือบ 4 ปีกิจกรรม ทำกิจกรรมด้านสังคมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาสภาหน้าโดม วงดนตรีกรรมาชน สนใจเรื่องปัญหาชนชั้นกรรมาชีพ ตั้งแต่ยังศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เข้าไปคลุกคลีช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จากนายทุนเจ้าของโรงงาน และมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำการต่อสู้ ของคนงานโรงงานฮาร่า ยืนหยัดต่อสู่อย่างมั่นคง กระทั่งคนงานสามารถยึดโรงงาน ผลิตสินค้าออกมาขายเองได้ งานยืนอยู่เคียงข้างประชาชนคนยากไร้ทุกกลุ่ม ทุกเครือข่ายมาโดยตลอด  ขบวนการประชาชน ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนค่อนข้างมาก ในรอบสิบปีมานี้ คือ ขบวนการสมัชชาคนจน ซึ่งมีเครือข่ายคนจนทุกกลุ่มเข้าร่วมเป็นสมาชิก และการต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูนอย่างยาวนาน มีความมั่นคงในอุดมการณ์การต่อสู้ ระหว่างการต่อสู้ ขบวนการประชาชนเกิดการเรียนรู้ และก่อให้เกิดการยอมรับภูมิปัญญาชาวบ้าน เกิดงานวิจัยโดยชาวบ้าน กลายเป็นองค์ความรู้ที่ยอมรับในวงวิชาการ ชีวิต มด-วนิดาเป็นคนอยู่ง่าย กินง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ชีวิตเรียบง่าย ติดดินทำงานกับชาวบ้านได้อย่างกลมกลืน ทำงานหนักตลอดชีวิตของการทำงานเพื่อปวงชน ดูแลตนเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ควรค่าแก่การคารวะยิ่ง อย่างไรก็ตามเธอมีความเข้มแข็งอย่างที่สุด เมื่อสามารถยืนหยัดอยู่กับมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง โดยไม่ยอมปริปากให้ใครเป็นห่วงนานนับปี กระทั่งยอมรับการรักษาทางการแพทย์ และโรคร้ายก็คร่าชีวิตนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ของคนจนเมื่อ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา  Munir Said Thalib เกิด 2508บ้านเกิด สุราบายา อินโดนีเซียการศึกษา กฎหมาย มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบาวิจายา เมืองมารัง จังหวัดชวาตะวันออกครอบครัวเกิดในครอบครัวอาหรับ อินโดนีเซีย ซึ่งปกติชาวอาหรับมีความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจการค้า เป็นชนชาติที่ค่อนข้างร่ำรวยในอินโดนีเซีย ไม่เชี่ยวชาญและยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ครอบครัวมูเน่ก็เช่นเดียวกัน มุ่งในเรื่องของธุรกิจในครอบครัว คิดแต่เรื่องสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่น แต่มูเน่กบฏต่อครอบครัว ไม่ยอมทำตามกฎเหมือนครอบครัวอาหรับทั่วๆ ไป ตั้งแต่เข้าเป็นนักศึกษาก็เลือกเรียนกฎหมาย และสนใจการทำกิจกรรมเพื่อช่วยคนจนคนด้อยโอกาสมากกว่า ซึ่งแทบจะหานักกิจกรรมชาวอาหรับ-อินโดนีเซียได้น้อยมาก ในรั้วมหาวิทยาลัย และในสังคมอินโดนีเซีย กิจกรรมเป็นนักกิจกรรมตัวยง เป็นประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย สนใจปัญหาแรงงาน การกดขี่ค่าแรงในเมืองสุราบายา เข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือด้านแรงงานที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบจากนายทุน กระทั่งได้แต่งงานกับผู้นำกรรมกรหญิงชื่อ ซูซีวาติ ซึ่งต่อสู้เคียงข้างกันเพื่อคนด้อยโอกาส และเพื่อสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอดงาน จากสุราบายา และหลังจากซูฮาร์โตลงจากอำนาจในปี 2541 เขาเดินทางสู่กรุงจาการ์ตา และก่อตั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ชื่อว่า KONTRAS หรือ Committee Against Disappearances and Torture ในยุคซูฮาร์โต 32 ปีที่ครองอำนาจ มีผู้คนเสียชีวิต ถูกจับ และสูญหายในยุคนั้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปราบปรามคอมมิวนิสต์ มีผู้คนล้มตายมากกว่าสองล้านคน เหยื่อการเมือง และบ้าอำนาจของซูฮาร์โตส่วนใหญ่กระทำการต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซูฮาร์โต ซึ่งมูเน่และองค์กร ได้ยกประเด็นผู้สูญหายทั้งหมดในยุคนั้น ขึ้นมาเป็นประเด็นเชิงสังคมที่รัฐบาลในยุคนั้นต้องตอบคำถาม และค้นความจริงของการสูญหาย เสียชีวิต และถูกจับในยุคนั้น ทำให้ทหาร และผู้มีอำนาจในยุคนั้นแค้นเคืองมูเน่ ที่กัดไม่ปล่อยในปัญหาดังกล่าว ชีวิตวิถีชีวิตกับอุดมการณ์ของมูเน่ สอดคล้องกันอย่างควรค่าแก่การคารวะ เขาไม่สนใจสร้างฐานะในแบบครอบครัวอาหรับ เขาใช้ชีวิตเรียบง่าย มีเพียงมอเตอร์ไซต์หนึ่งคันสำหรับเดินทางไปไหนต่อไหน งานของเขาเสี่ยงต่อชีวิตอย่างมาก เพราะมีผู้อำนาจหลายคนเสียผลประโยชน์จากการต่อสู้ของเขา เขาเสียชีวิตจากการวางยาพิษเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ขณะนั่งเครื่องบนไปเรียนต่อที่อัมสเตอร์ดัม จนกระทั่งปัจจุบันทางการยังไม่สามารถจับผู้ร้ายได้ อย่างไรก็ตาม เขาเป็นนักสู้แถวหน้าของเอ็นจีโอ อินโดนีเซีย การตายของเขาเป็นจุดร่วมและกระตุ้นให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ในอินโดเซียเป็นประเด็นที่ทั่วโลกติดตามขอคารวะแก่ จิตวิญญาณของสองผู้ยิ่งใหญ่ของคนจน: ไทย-อินโดนีเซีย ในแง่อุดมการณ์ที่แน่วแน่มั่นคง  Note*: ขอบคุณ Mr.Heru Suseto, Deputy Dean Department of Law Society and Development Faculty of Law University of Indonesia ที่ให้ข้อมูลมูเน่
ชิ สุวิชาน
ต่า หมื่อ แฮ ธ่อ เลอ โข่ โกละ         ตา ข่า แฮ ธ่อ เลอ โข่ โกละอะ เคอ กิ ดิ เค่อ มี โบ            มา ซี ปกา ซู โข่ อะ เจอผีร้ายโผล่มาทางริมฝั่งสาละวิน        แมงร้ายโผล่มาทางลำน้สาละวินเสื้อผ้าลายเหมือนดั่งต้นบุก        มาเข่นฆ่าทำลายล้างชีวิตคน(ธา บทกวีคนปกาเกอะญอ)“คุณเคยติดตามสถานการณ์ทางรัฐกะเหรี่ยงประเทศพม่าบ้างไหม” เสียงผู้ชายโทรศัพท์มาถามผมด้วยภาษาไทยสำเนียงฝรั่ง“ผมทำงานในองค์กรชื่อFree Burma Rangers ครับ” เขาแนะนำตัวจากนั้นผมกับเขาก็ได้สนทนากันในเรื่องสถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่า  โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง คนชนเผ่าเดียวกับผม เขาบอกผมว่าเขาได้เข้าไปทำงานในเขตการสู้รบโดยการไปช่วยเหลือทางการแพทย์ต่อชาวบ้านผู้ทนทุกข์จากการกวาดล้างของรัฐบาลทหารเขาเล่าถึงสถานการณ์ชาวบ้านที่ต้องอพยพหนีการสู้รบ จนต้องมาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากสงครามในฝั่งไทยตลอดแนวเขตตะเข็บชายแดนไทย-พม่าปัจจุบันทางการไทยไม่อนุญาตให้ผู้อพยพรายใหม่เข้ามาอาศัยเพิ่มอยู่ในศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากสงครามได้อีกแล้ว  ในขณะที่การสู้รบ การใช้กำลังเข่นฆ่าชาวบ้านและบังคับไปเป็นลูกหาบยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ  ผู้นำชาวบ้านที่หนีภัยจากการสู้รบกลุ่มที่ไม่สามารถเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากสงครามในฝั่งไทยได้ จึงได้มีการหาพื้นที่ริมฝั่งสาละวินในเขตฝั่งรัฐกะเหรี่ยงที่คิดว่าน่าจะปลอดภัยให้ชาวบ้านมาอาศัยอยู่ชั่วคราว เพื่อให้ชาวบ้านสามารถหลบซ่อนความตายจากน้ำมือของรัฐบาลทหารได้อย่างน้อยได้ต่อชีวิตให้ยืนยาวออกไปได้ชั่วขณะหนึ่ง  แล้วค่อยมาคิดกันต่อว่าจะไปต่ออย่างไรอิ๊ตุถ่า หรือสบห้วยอิ๊ตุ ริมฝั่งสาละวินทางตะวันตก  แม้ว่าในความรู้สึกของชาวบ้านธรรมดาทั่วไปคือที่ปลอดภัยและอุ่นใจได้ว่าอยู่ไกลจากเงื้อมปืนของทหารพม่า  แต่สำหรับผู้นำชาวบ้านและผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงรู้ดีว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยจากแม่สามแลบขึ้นไปโดยเรือประมาณ 1ชั่วโมงครึ่ง ถึง อิ๊ตุถ่า ตรงข้ามแม่สามแลบทางฝั่งพม่าคือฐานของทหารพม่าซึ่งมีทหารประจำการไม่ตำกว่า 100 นาย  เหนือแม่สามแลบขึ้นไปทางเหนือฐานของทหารพม่าอีกจุดหนึ่งซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากบ้านท่าตาฝั่งเล็กน้อยเดินทางโดยเรือประมาณ45 นาที ถึง อิ๊ตุถ่า และเหนืออิ๊ตุถ่าหากเดินด้วยเท้าประมาณ 2 ชั่วโมงก็มีฐานทหารพม่าตั้งอยู่ ณ อูดาถ่า แต่ละฐานมีขนาดและจำนวนทหารประจำการที่ใกล้เคียงกันแต่ ณ วันนี้ไม่มีเวลาและโอกาสจะหาที่ที่ดีกว่าและเหมาะสมกว่านี้ได้ “รัฐบาลทหารพม่า ไม่เพียงแต่ต้องการทำลายกองทัพของชนกลุ่มน้อยต่างๆเท่านั้น แต่ยังต้องการทำลายชุมชนของชนกลุ่มน้อยด้วย โดยการเข้ามาปล้น ฆ่าและเผาบ้านของชาวบ้านที่ไร้อาวุธ นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้คนต้องหนีออกมา” เขาพูดกับผม แล้วเขาก็เปิดสารคดีที่เขาไปถ่ายทำในพื้นที่การสู้รบ มีทีมแพทย์อาสาปฏิบัติหน้าที่อยู่ท่ามกลางการหนีภัยสงคราม สภาพการอพยพหนีของชาวบ้าน  ผู้ที่บาดเจ็บและเจ็บป่วย รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ของชาวบ้าน“รัฐบาลทหารพม่า ไม่ต้องการเพียงแค่ครอบครองหรือมีอำนาจเหนือชนเผ่าต่างๆเท่านั้น แต่ต้องการทำลายล้างประชากรของชนเผ่าต่างๆให้หมดไปจากประเทศโยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าการเข่นฆ่า การขับไล่ออกจากพื้นที่ การกลืนทางวัฒนธรรมรวมทั้งการกลืนทางสายเลือดโดยการแต่งงานกับคนชนเผ่าต่างแล้วให้มาเป็นคนพม่า เพราะฉะนั้นหากเราหนีออกไป  ก็ยิ่งเป็นการยอมแพ้  เราอยู่เราก็ตาย แต่ผมแก่แล้วหนีก็ตายอยู่ก็ตายจะขออยู่ตรงนี้เป็นจนถึงที่สุด ไม่ไปไหนแล้ว” ผู้เฒ่าคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ในสารคดี“สำหรับเราชาวบ้านหรือประชาชนไม่ใช่ศัตรู ชาวบ้านที่เป็นชาวพม่าก็ไม่ใช่ศัตรู ศัตรูที่แท้จริงคือรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ประชาชนพม่าเองก็ทนทุกข์ทรมานจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเช่นกัน หากประเทศนี้มีการปกครองโดยระบบประชาธิปไตย รัฐบาลให้สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมแก่ประชาชนในการทำมาหากิน ก็คงไม่มีการลุกขึ้นมาต่อต้านรบราฆ่าฟันกันขนาดนี้” ทหารคนหนึ่งให้สัมภาษณ์“อย่าว่าแต่ประชาชนพม่าด้วยกันเลย ขนาดพระสงฆ์ที่เขา (ทหารพม่า) กราบไหว้นับถือ ยังฆ่าและทำลายได้เลย” ผู้ทำสารคดีพูดกับผมพร้อมกับส่ายหัวไม่ว่าใครจะมีอำนาจปกครองประเทศไหน  ไม่ว่าใครจะปกครองประเทศแบบใด  เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย แต่สำหรับเราประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ชะตากรรมของประชาชนผู้ไร้อำนาจจะเป็นอย่างไร เพียงแค่ความเห็นใจความเข้าใจ อาจเป็นกำลังใจที่มีค่าสำหรับประชาชนด้วยกัน  หรือคุณอาจทำได้มากกว่านั้น ???
ชาน่า
กลับมาตามหัวใจเรียกร้องอีกครั้งหลังจากพักร้อนเมืองไทย  กลับไปอ่านหนังสือของสาวสองเภท หรือสาวประเภทสองที่บุกตลาดเมืองไทยตามแผงหนังสือชั้นนำทั่วไป  อดไม่ไหวจึงขอหยิบมาฝากแนะนำเผื่อใครสนใจอยากอ่านเรื่องราวหลากหลาย มากมายมุมมอง สามารถอ่านได้จากหนังสือที่สาว ๆ เธอเขียนถ่ายทอดเพื่อเป็นสื่อสร้างสรรค์ผ่านตัวหนังสือ มีเล่มไหน ยังไงบ้างนั่งปูเสื่ออ่านได้ค่ะเกริ่นนำส่วนตัวก่อนว่า  สมัยก่อนตอนอยู่นอกเมือง ไม่ใช่เมืองนอก (บ้านนอก) เคยอ่านนิตยสารเล่มหนึ่ง จำไม่ได้ว่าเป็นสกุลไทย หรือขวัญเรือน  มีคอลัมน์ที่เค้าเขียนถึง “กะเทยไทยในต่างแดน” ตอนนั้นยังเป็นเด็กชาย อีแอบ ไม่แสดงออก ต้องแอบเอาไปอ่านคนเดียวด้วยหัวใจสั่นระรัว กลัวมีใครมาจับได้ว่าอ่านเรื่องราวของกะเทย เดี๋ยวความลับแตก นึกทีไรก็ขำทุกทีมาวันนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนไป อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไปได้เสมอ จึงกล้าที่จะขอพูดถึงตลาพ็อกเก็ตบุ๊คคึกคัก เมื่อสาวงาม (ประเภทสอง) ตบเท้ากันมาประชันลงหน้าปก และเขียนหนังสือ  วางแผงตามร้านทั่วไทยให้อ่านกันอย่างหนำใจฮ่ะเริ่มต้นด้วยสองเล่มล่าสุดวางแผงร้อนฉ่าตอนนี้ (คำว่า “ร้อนฉ่า”หนังสือพิมพ์บางเล่มเค้าบอก  หุหุ)  คือ  “เม้าท์แตก...ชาวเรา”  จีบปากจีบคอโดยอิชั้นเองฮ่ะ  "ชาน่า"  จากเมื่อก่อนแค่อ่านคอลัมน์เกย์ก็ต้องหลบๆ ซ่อน ๆ เหมือนไปลักขโมยใครกินซะงั้นหละ ใครจะรู้ว่า วันหนึ่งจับพลัดจับผลูหยิบปากกามาจิกเขียนเรื่องเกย์ กะเทยซะเอง  มิหนำซ้ำยังกล้าเอาใบหน้าที่งาม (หน้า) มาลงปก ไม่สวยไม่เริ่ดแต่เชิดไว้ก่อน  เล่มนี้เป็นเรื่องราวที่นำมารวมเล่มจากเว็บข่าวประชาไท กับคอลัมน์ “พาเม้าท์ชีวิตชาวเกย์”  เนื้อเรื่องสะท้อนเรื่องราวหลากหลายมุมมองของเกย์ไทยและเกย์ต่างแดน ไลฟ์สไตล์วิถีเกย์กล้าแสนฮา สุดขำ แสบสันต์ หรือเศร้าน้ำเน่าเอาเรื่องหลากหลายสาระและความมันบนพื้นฐานของชีวิตจริงที่ต้องเกี่ยวข้องกับชายจริงหญิงแท้  อ่านได้ไม่จำกัดเพศอีกเล่มที่ร้อนระอุ วางแผงไล่ล่ากัน เรื่อง "Helen แฉความลับดารา"  จัดจ้านได้ใจ เน้นแฉ ดารา คนในวงการมายา ฉีกหน้ากันเห็น ๆ โดย เฮเลน คนในวงการเบื้องหลังม่านมายาถือว่า ดุ เด็ด เผ็ด มัน ไม่แพ้กัน ใครที่ชอบติดขอบดาราคนโปรดคนไหน ติดตามอ่านได้เบื้องลึกเบื้องหลังใครเป็นยังไง ควักใส้ให้รู้กันถ้วนหน้า  เธอเข้าใจโผล่มาช่วง เรื่องฮอตร้อนร้าวของรักสามเศร้าน้ำเน่าอย่างดารา "เราสามคน" เป็นทอร์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ของคนเสพวงการบันเทิงหลายรายก่อนหน้านี้มีอีกหลายเล่มที่แรงพร้อมสาระ ถ่ายทอดจากเรื่องราวและประสบการณ์ที่น่าจับตามอง เริ่มที่เล่มแรกของกะเทยผู้ปลอมแปลงบัตร จากนายเป็นนางสาวเพื่อสิทธิหน้าที่คนหนึ่งที่มีใจรัก   ฉันอยากเป็นหญิง  อยากเข้าประกวดนางงาม  เธอตั้งชื่อหนังสือว่า  "กะเท๊ย  กะเทย"  โดย นก ยลดา โคมกลอง  ดีกรี มิสอัลคาซ่าร์ ปี 2005  และปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอก   เล่มนี้นก เธอทั้งเขียนและพิมพ์เอง  จัดจำหน่ายเองจนได้รับการตอบรับอย่างถ้วมท้น   ส่วน “กะเทย No.1” ของ “ป๊อบ ไฮโซ” หรือ“เกรียงศักดิ์ ศิริชาติไชย” เขียนตีแผ่ชีวิตตามสไตล์ ไฮโซของเธอ นำเสนอเรื่องราวความดังต่อสังคม นี่หละตัวตนที่แท้จริงของคนในวงการไฮโซ อย่างป๊อบ  ใครอยากรู้ว่าทำไมถึงได้ตำแหน่ง กะเทยหมายเลขหนึ่งลองอ่านดูค่ะ ด้านเจ๊เดย์ “เดชาวุฒิ ฉันทากะโร” ก็ไม่ยอมน้อยหน้าฉีกม่านนางโชว์โผล่เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค เมื่อก่อนฉายา  "เดย์ฟรีแมน"  เกย์กะเทยคนไหนไม่รู้จักถือว่า ยังไม่ถึงเจ้าสำนักอย่างแท้จริง เธอผลิตผลงานผ่านตัวหนังสือ “วันเดย์โชว์”  ล้วงลึกวงการชีวิตนางโชว์อาชีพที่เธอเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริง ๆ เล้ย แล้วคุณจะรู้ว่า ทำไมเธอถึงได้ฉายา นางโชว์เบอร์หนึ่งของไทย  ใครที่คิดถึงเธอหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านรับรองจะไม่ผิดหวัง เบื้องหน้าและเบื้องหลังของ ดรีมเกิร์ล  อุ๊ย ไม่ใช่สิ ดรีมเกย์นางโชว์เมืองไทยอีกเล่มเกี่ยวกับวิถีชีวีของ นางฟ้านิกกี้-กีรนันท์ สุวัณสิงห์ ส่งหนังสือเรื่อง  “น้ำตานางฟ้า”  มาวางแผงปีนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเคยเขียนเล่มแรก  เรื่อง  “ผมเป็นแอร์โฮสเตสครับ” ซึ่งรวมเรื่องราวของเธอผู้ซึ่งเป็นแอร์โฮสเตสสาวประเภทสองคนแรก   การกลับมาเล่มสองของเธอนั้นกรองเรื่องจริงทุกตัวอักษร ที่มาจากหัวใจที่ปวดร้าวและหยดน้ำตา ว่าทำไมแย่งสามีของชาวบ้านไปครอง จนถูกตราหน้าว่าเป็นเมียน้อยและกลายโศกนาฏกรรมของความรัก นอกจากนี้ “แซนดี้-เซ็น ดอกแสง” กลั้นไว้ไม่ไหว  สั่งสมประสบการณ์แสบๆ คันๆ มันๆ จี๊ดจ๊าดจาก ต่างแดน มานำเสนอเป็นพ็อกเกตบุ๊กชื่อ “กะเทยไทยแลนด์ แซนดี้ แซ่บ! แซ่บ!” โปรยหน้าปกว่า เปลือยชีวิตสุดแซ่บของกะเทยไทยหัวใจชะนีที่ถีบตัวเองจากจุดต่ำสุดกู่แล้วก็ขึ้นสู่จุดสมหวัง พร้อมเผยนาทีชีวิตที่รับอาชีพ น้องโส (โสเภณี)ในต่างแดน สุดแสนบัดซบขมขื่นเกินบรรยาย อ่านง่ายได้ข้อคิดเป็นอุทาหรณ์สอนใจสาวเทียม หรือใครที่เกี่ยวข้องได้อย่างดีทีเดียวเรียกได้ว่าหลายเล่มที่คุณจะวางไม่ลง  ที่กล่าวมายังไม่รวมเรื่องราวที่นักเขียนหลายท่านปั่นงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค เกี่ยวกับสาวประเภทสอง ไม่ว่าจะเป็นหญิงจริงหญิงเก่งอย่าง คุณอิ๋ง อิ๋ง ที่ตีแผ่เรื่องราวของเธอเกี่ยวกับความรักสุดเศร้ากับเขาที่เป็นเกย์เมื่อปีก่อน ๆ  หรือ อีกเล่มเขียนโดยคุณวารุณี แสงกาญจนวนิช  "ตัดทิ้ง" ชีวิตจริงของสาวประเภทสอง ที่เขียนจากสารคดีตีแผ่สาวประเภทสอง ซึ่งกลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ถึงที่แนะนำวันนี้หาได้รวมถึง หนังสือเกย์ อีแอบ เก็กชงอีกมากมายไว้คราวหน้าจะนำมาแนะนำกันฮ่ะชาน่าเชื่อว่ากว่าจะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค รวมเล่มเป็นรูปร่างขึ้นมา  นักเขียนทุกท่านแทบจะใช้ช่วงชีวิต  เกือบทั้งชีวิตหรือส่วนหนึ่งของเค้าถ่ายทอดเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้สาระและบันเทิงจากการอ่าน  หากพอจะเป็นข้อคิด สาระและอะไรหลายอย่างที่ผู้อ่านได้จากเล่มหนึ่งนั้น ชาน่าเชื่อว่านักเขียนเค้าก็บรรลุวัตถุประสงค์แล้วล่ะค่ะใครชอบอ่านเล่มไหน  แนว (กะเทย) ใด ไปหาตามแผงหนังสือได้  อ่านแล้วได้ความยังไงส่งเมล์มาคุยกันบ้างนะคะพบกันสัปดาห์หน้าค่ะ  ขอบคุณจ๊าดนักเจ้าชาน่า  (บ้างเข้าใจอ่านว่า  หน้าชา  (ฮา ฮา)... )เขียนจาก  เมือง  Nasau  ประเทศ Bahamas
มลฤดี ลาพิมล
“เรื่องโจ๊ก เรื่องเจี้ย”  ซึ่งมีลักษณะสองแง่สองง่ามเกี่ยวข้องกับ “เรื่องทางเพศ” ที่เราๆ ท่านๆ นำมาเล่า เอามาบอกต่อ หรือนำมาแบ่งปันกันในที่ทำงาน ในงานแต่งงาน ในงานวันเกิด ในงานขึ้นบ้านใหม่หรืองานอะไรก็แล้วแต่นั้น  ยิ่งถ้าเรื่องเล่าทางเพศเหล่านั้นเจือปนด้วยความดุเด็ด เผ็ดมัน ขำขัน ตลกโปกฮา สนุกสนานมากเท่าไหร่ ผู้คนในสังคมก็ดูเหมือนจะเปิดใจ อ้าแขนรับ มีอารมณ์สนุกสนานคล้อยตาม และเปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยเรื่องเพศนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่โดยมิได้ฉุกคิด ตั้งข้อสังเกต และแม้กระทั่งตั้งคำถามด้านผลกระทบต่อความเสื่อมทางศีลธรรมจริยธรรมของสังคม หรือความกังวลว่าจะเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด เราคงไม่ปฏิเสธว่า ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราในแต่ละวันนั้น เรามีเรื่องเล่าเรื่องตลกขำขันที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ...มากมายและหลากหลายรูปแบบตามยุคสมัยและวัฒนธรรมการบริโภคของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะมาในรูปแบบหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ซีดี/วีซีดีการแสดงของคณะตลก  เพลงไม่ว่าจะเป็นเพลงแรพ เพลงป้อบ หรือลูกทุ่ง ภาพวาดล้อเลียน  ริงโทนโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เมื่อไม่นานมานี้ประมาณต้นปี ๒๕๕๐ ผู้เขียนมีโอกาสได้ยินริงโทนโทรศัพท์มือถือของเพื่อนผู้เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเรื่องเพศภาวะ เพาวิถีและสุขภาพทางเพศสำหรับไทย-ลาว ครั้งที่ ๓  ตอนที่ได้ยินผ่านหูครั้งแรกก็ถึงกับทำให้ต้องหูผึ่งและหันขวับมาถาม “เฮ้ย! มันพูดว่าไงนะ ขอฟังอีกทีได้ไม๊?”  ผู้เขียนยังจำอารมณ์ ณ ขณะได้ฟังได้ยินริงโทนนั้นในครั้งแรกได้อย่างชัดเจนว่า ผู้เขียนเริ่มด้วยอาการตั้งอกตั้งใจฟังมากๆ เริ่มอมยิ้ม และยิ้ม เริ่มยิ้มกว้างขึ้น เริ่มมีเสียงหัวเราะคิกคักเบาๆ  และจากนั้นผู้เขียนก็เก็บกดอารมณ์ไม่ไหว จึงปล่อยเสียงหัวเราะดังลั่นด้วยความที่เนื้อหาของริงโทนมันช่าง “โดน (ใจ)” มากๆ เสี่ยนี่กระไร ทั้งๆ ที่ท่วงทำนองของริงโทนก็ธรรมดาเอามากๆ เหมือนการท่องจำแบบอาขยานอย่างไรอย่างนั้น ไม่ได้มีความโดดเด่นทางท่วงทำนองเลยสักนิด แต่ “เนื้อหา/ข้อความ” ของริงโทนเวอร์ชั่นนี้กลับไม่ธรรมดาเอาซะเลยสำหรับผู้เขียน (สำหรับคนอื่นๆ ที่มีริงโทนซึ่งเด็ดกว่านี้อาจจะคิดอยู่ในใจว่า “แค่นี้ จิ๊บ จิ๊บ”)ริงโทนโทรศัพท์มือถือเวิอร์ชั่นเด็ดๆ ที่ผู้เขียนพูดถึงนั้นมีเนื้อหาสาระหลักๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมและการปฏิบัติทางเพศ ซึ่งมีใจความว่า“โอ้นวลน้องโปรดถอดเสื้อใน    ถอดไวไวพี่จะไซ้นมก่อนโอ้ความรักสุดแสนนิรันดร         ปิดประตูใส่กลอนและก็นอนเย็ดกันน้องอยู่ข้างล่างพี่อยู่ข้างบน     ผลัดกันอมและก็ผลัดกันเลียทำกันผัวๆ เมียๆ             ผลัดกันเลียและก็ผลัดกันอมรูน้องเล็กพี่เย็ดไม่ทัน        รูน้องตันพี่ดันไม่ไหวรูน้องเล็กพี่เย็ดเข้าไป         พี่ทนไม่ไหวน้ำแตกคารู”ผู้เขียนอยากจะชวนคิดวิเคราะห์เนื้อหาของริงโทนโทรศัพท์มือถือที่ปรากฏอยู่ข้างบนนี้ ซึ่งได้รับความสนอกสนใจของผู้ที่ได้ยินริงโทนโทรศัพท์มือถือนี้ว่าได้สะท้อนเรื่องราวทางเพศอะไรบ้างในสังคมไทย? และได้บอกเล่า/สะท้อนเรื่องทางเพศด้วยมุมมองอย่างไรบ้าง?ผู้เขียนมองว่าริงโทนนี้เป็นกระจกส่องให้เราได้เห็นและเรียนรู้เรื่องเพศของคนในสังคมไทยว่าพอนึกถึงเรื่องเพศ (Sexuality) ผู้คนโดยทั่วไปก็มองเห็นแต่เพียงกิจกรรมทางเพศ (sexual act) พฤติกรรมทางเพศ (sexual behavior) ความสุขทางเพศ (sexual pleasure) เท่านั้น นอกจากนั้นผู้คนในสังคมไทยดูเหมือนว่าได้ถูกหล่อหลอมให้คิดและเชื่อถือตามๆ กันไปว่า “ปฏิบัติกิจทางเพศนั้นต้องริเริ่มและกระทำโดยผู้ชายและผู้หญิงเป็นฝ่ายยอมตาม รอคอยความสุขที่ผู้ชายจะเป็นฝ่ายหยิบยื่นให้ เพศสัมพันธ์นั้นจะเกิดขึ้นได้ เป็นที่ยอมรับและถือว่าเหมาะสมต้องอยู่ภายในกรอบความสัมพันธ์แบบคู่สามีภรรยาและกระทำการเพราะเหตุแห่งรักเท่านั้น กิจกรรมทางเพศนั้นเกิดขึ้นระหว่างคู่ความสัมพันธ์หญิงชาย และกิจกรรมทางเพศที่ถูกพูดถึงนั้นมิใช่เพียงแต่การสอดใส่อวัยวะเพศชายเข้าไปในอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางปากซึ่งทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายที่เป็นคู่ความสัมพันธ์ทางเพศต่างกระทำให้กันและกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งสับสน เพราะยังตอกย้ำความสำคัญของช่องคลอดและสัญลักษณ์ของการบรรลุถึงซึ่งความสุขทางเพศนั้นคือ การหลั่งน้ำอสุจิของฝ่ายชายและความสุขที่เกิดจากเพศสัมพันธ์นั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ความสุขทางเพศของผู้ชาย”เนื้อหาของริงโทนโทรศัพท์มือถือ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่เป็นรูปธรรมของปฏิบัติการณ์ในสังคมของการส่งผ่านและจรรโลงระบบความคิดความเชื่อและความหมายเรื่องเพศที่กลุ่มคนส่วนใหญ่ยึดถือในหลายๆ ครั้งเรื่องตลกโปกฮาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศซึ่งบางทีอาจต้องใช้เงินจับจ่ายซื้อหามานั้น สามารถทำให้เราได้หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง น้ำหูน้ำตาร่วง ได้รับความสุขและความเบิกบาน จนร่างกายได้หลั่งสารความสุขออกมานั้น มันจะล้อเลียน  ผลิตซ้ำมายาคติทางเพศ สร้างภาพตัวแทนความเป็นหญิงเป็นชายที่เกี่ยวโยงกับเรื่องทางเพศ ตอกย้ำภาพเชิงลบ หรือแม้กระทั่งกดทับความเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่าของคนบางกลุ่มบางพวกในสังคม เช่น กะเทย สาวประเภทสอง ผู้หญิงอายุมากที่ยังไม่แต่งงาน  แม่ชี ชาวเขาชาวดอย (พี่น้องชนเผ่า) พี่น้องแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ  แต่ด้วยอารมณ์สนุกสนานแบบบรรยากาศพาไปมันได้บดบังมิติทางสังคมเหล่านั้น จนหลายๆ ครั้งเรา (รวมทั้งผู้เขียนในบางคราว) อาจจะขาดความละเอียดอ่อนและลืมตั้งคำถามหลายๆ คำถามกับตนเองว่า * เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติที่ขาดความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่นหรือไม่? * เรากำลังตอกย้ำและผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียม ความเหนือกว่า/ด้อยกว่าของผู้คนในสังคมผ่านเรื่องเล่า “ขำๆ” ของเราหรือไม่?  * การแบ่งปันความสุขด้วยการเล่าเรื่องตลกโปกฮาและหาความสุขจากการได้ยินได้ฟังเรื่องโจ๊กของเรา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประกอบสร้างค่านิยมและความเชื่อเรื่องเพศบางอย่างหรือไม่? * เรากำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อที่ว่า “เรื่องทางเพศเป็นเรื่องของฝ่ายชาย/ผู้สวมบทความเป็นชาย มิใช่เรื่องผู้หญิง/ผู้ที่สวมทับความเป็นหญิงหรือไม่?ผู้เขียนมิได้จะส่งเสริมการกำกับควบคุมการพูดเรื่องเพศของคนในสังคมแต่อย่างใด เพราะ ผู้เขียนเชื่อมั่นในหลักการด้านสิทธิในการพูดในการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามแต่ เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เราพึงมีพึงได้ เพียงแต่อยากจะกระตุ้น ชวนคิด ย้ำเตือนว่า ถ้าเราสามารถเรียนรู้เรื่องเพศผ่านเรื่องราวใกล้ๆ ตัวและได้มีเวลาวิเคราะห์วิพากษ์เรื่องราวเหล่านั้นบ้าง ศักยภาพของเราในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมความคิดความเชื่อเรื่องเพศบางอย่างที่ลดทอนความเป็นคนของกันและกัน  เราน่าจะลดระดับความไม่เท่าเทียมในสังคมได้มากขึ้นจากเรื่องที่เราได้พูด ได้เล่า และได้ฟัง
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
มันเทศย่างร้อน ๆ ปอกเปลือกแล้วเห็นเนื้อสีเหลืองทอง เนื้อนุ่ม รสหวานอ่อนๆละมุนลิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาวชาวจีนประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ชักชวนให้ดิฉันซื้อกิน พร้อมทั้งอธิบายว่า ชาวจีนเรียกมันเทศว่า “ลูกทอง” เพราะเนื้อในที่สุกแล้วเป็นสีเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเป็นเลิศ เช่น ช่วยให้ระบายท้องได้ดี ทำให้ร่างกายอบอุ่น ในช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของมันเทศ ชาวจีนจึงนิยมกินมันเทศย่างกันมาก เป็นความประทับใจของดิฉันในการไปประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีอาเซียน Asia Pacific Forum of Parliamentarians on Population and Development (AFPPD) ในช่วงวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน 2550แม้ประเทศจีนจะเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย หลังช่วงเปิดประเทศ นำโดยท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง แต่ภูมิปัญญาด้านอาหารและสมุนไพรของจีน ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งดิฉันจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไปย้อนกลับมามองพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยยุคนี้ ดิฉันสังเกตว่าเราละเลยอาหารและสมุนไพรอันทรงคุณค่าของไทยไปมาก เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง เผือก กล้วย ที่เคยทำกินที่บ้านหรือทำขาย ทั้ง ปิ้ง ต้ม แกง บวด เดี๋ยวนี้หายากยุคนี้คนไทยหันมากินอาหารแบบฝรั่ง คือ นิยมกินขนมอบ จำพวกเค้ก คุกกี้ ไพน์ ซึ่งต้องนำเข้าเครื่องมือ อุปกรณ์ แป้งข้าวสาลี และเครื่องปรุงต่าง ๆ ทำให้เสียทั้งดุลการค้าและสูญเสียภูมิปัญญาอย่างนึกไม่ถึงในขณะที่ชนชาติพันธุ์ในชนบทห่างไกล ยังรักษาภูมิปัญญาด้านอาหารและสมุนไพรได้ดี ดังข้อเขียนของคุณแมว  จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง จากอุ้มผาง เชิญอ่านได้แล้วค่ะกระแสสังคมโลกโดยเฉพาะในซีกตะวันตก ที่ได้ชื่อว่ามีความเจริญทางวัตถุถึงขีดสุด วิทยาการความก้าวหน้าทางการแพทย์ การผลิตยาและเวชภัณฑ์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้คนจำนวนมากเริ่มหันกลับมาสู่การดูแลสุขภาพตนเองด้วยวิธีทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนค่อนข้างมีความรู้ที่กลับมาใส่ใจสุขภาพโดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เคยมีอยู่มากมายในอดีต แต่ถูกหลงลืม ละทิ้งและถูกแทนที่ด้วยความเจริญทางการแพทย์แผนใหม่ที่พึ่งพายาซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและสังเคราะห์ทางเคมี ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากมายการดูแลสุขภาพที่ไม่ส่งผลต่อเนื่องกับร่างกายประการหนึ่ง คือ การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรค ซึ่งนับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของคนไทยที่มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตของพรรณพืชที่มีคุณค่า ให้ประโยชน์ทางด้านเป็นยารักษาโรคหลากหลายชนิดและมีปริมาณมากมายวิถีชีวิตคนไทยในอดีต สมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญ โดยเฉพาะในสังคมชนบท รวมทั้งสังคมชนเผ่าจึงมีการพึ่งพาตัวเองในเรื่องการรักษาโรคสูงมาก ผู้คนในสมัยนั้นมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมุนไพรแทบทุกคนหมอยาสมุนไพรเป็นผู้มีบทบาทสูงในสังคม ได้รับการยกย่องเพราะนอกจากคุณสมบัติที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาอย่างเชี่ยวชาญแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมในการรักษาผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย การจะฝึกฝนตนเองให้ชำนาญในการใช้สมุนไพรต้องฝากเนื้อฝากตัวกับหมอยาสมุนไพร เรียนรู้ด้วยความอดทน พากเพียรพยายามอยู่นาน เนื่องจากการศึกษาในสมัยก่อนมักเป็นลักษณะปากต่อปาก ไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ความรู้เรื่องสมุนไพรหลายเรื่องจึงสูญหายไปกับกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรายาลึกลับหลายอย่างที่มีสูตรเฉพาะ ที่เรียกกันว่า “ยาผีบอก” ต่อมาเมื่อวงการแพทย์ของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก การรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วยและดูแลสุขภาพยามปกติ ถูกยกให้เป็นภาระของหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีบริการตั้งแต่ระดับหมู่บ้านที่มี อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) ประจำอยู่เพื่อทำหน้าที่สำรวจข้อมูลสาธารณสุข ป้องกันโรค เช่น ไข้เลือดออกโดยกำจัดยุงลาย ให้ไอโอดีนป้องกันโรคคอพอกและดูแลอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น ระดับตำบลมีสถานีอนามัยประจำตำบล คอยดูแลความเจ็บไข้ที่ไม่รุนแรงมากนัก กรณีที่อาการค่อนข้างหนักจะส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลประจำอำเภอและจังหวัดเป็นลำดับไปเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัยตำบลแม่จัน ที่ดูแลครอบคลุมบ้านทีจอชีซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่องของโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาปกาเกอญอในผืนป่าอุ้มผาง ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้บริการซึ่งเป็นชาวปกาเกอญอทั้งหมดว่า โรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุมาจากความอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ไม่ปรากฏในชุมชน รวมทั้งโรคมะเร็ง ทั้งนี้มาจากอาหารการกินที่โดยมากชาวบ้านจะบริโภคอาหารจากธรรมชาติ กินตามฤดูกาล และมักจะเป็นอาหารจำพวกพืชผักพื้นบ้านมากกว่าเนื้อสัตว์ ประกอบกับการใช้ชีวิตที่ไม่หยุดนิ่ง ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยเฉพาะงานในไร่ในนาที่อาศัยแรงงาน จึงทำให้คนปกาเกอญอแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ โรคที่พบมากมักมาจากยุงเป็นพาหะ เช่น มาเลเรีย ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคผิวหนัง ผื่นคันต่าง ๆ ในพื้นที่ตำบลแม่จันยังพบลักษณะเฉพาะที่พิเศษแตกต่างไปจากปกาเกอญอหลายพื้นที่ คือ ประมาณปี พ.ศ. 2513 มีการเข้ามาตั้งฐานที่มั่นของ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่บ้านแม่จันทะ แผ่ขยายแนวคิดมายังหมู่บ้านรอบ ๆ สมัยนั้นตำบลแม่จันถูกระบุเป็นพื้นที่สีแดง นอกจากระบบแนวคิด การทำนารวม การต่อต้านรัฐบาล พคท. ยังฝึกให้ชาวปกาเกอญอให้สามารถดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเองและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แกนนำในหมู่บ้านทีจอชี 2-3 คนที่เข้าร่วมเป็นแนวร่วมหรือเป็นสหายครั้งนั้น สามารถใช้การฝังเข็มรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้จากการเก็บข้อมูลงานสมุนไพรของหมู่บ้านนำร่อง พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้สมุนไพรในการรักษาโรค มักเป็นผู้ที่มีอายุเลยวัยกลางคนขึ้นไป ส่วนคนวัยหนุ่มสาวลงมามักใช้ยาเคมีและการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เกือบทุกคนมีความรู้พื้นฐานง่าย ๆ ว่า สมุนไพรชนิดใดมีสรรพคุณอย่างไรในการรักษา ความรู้เรื่องอาหารการกินที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหรือใช้ในการรักษา ถูกบอกกล่าวต่อ ๆ กันมา เช่น ในแต่ละปี ชาวบ้านจะต้องกินปลาไหลต้มกับมะเฟืองอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อขับนิ่วที่อาจเกาะอยู่ในไตส่วนของบุคคลที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรในชุมชน โดยมากจะเป็นคนอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ซึ่งจะทราบชื่อภาษาปกาเกอญอ ส่วนที่ใช้ วิธีการใช้ สรรพคุณและสามารถปรุงยาจากสมุนไพรรักษาโรคที่พบบ่อย ๆ มีอาการไม่รุนแรงได้ รวมทั้งทราบแหล่งที่พบพืชสมุนไพรในป่ารอบ ๆ หมู่บ้าน แต่ในจำนวนผู้รู้ทั้งหมดของบ้านทีจอชี ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญถึงขั้นเป็นหมอยาสมุนไพรรักษาทุกโรคประจำหมู่บ้าน แกนนำอาวุโสบอกว่า หมอยาสมุนไพรที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บ้านกล้อทอ (ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร)กิจกรรมการสำรวจสมุนไพรจากผืนป่ารอบหมู่บ้านทีจอชี จึงประกอบไปด้วยผู้รู้เรื่องสมุนไพร แกนนำชาวบ้าน และตัวแทนเยาวชน เน้นการค้นหาพืชสมุนไพรที่ยังคงมีการใช้และหายาก เพื่อนำมาทดลองเพาะในแปลงทดลอง ระหว่างการเดินสำรวจ ผู้รู้เรื่องสมุนไพรจะคอยอธิบายชื่อ ส่วนที่ใช้ และสรรพคุณให้กับเยาวชนที่ทำหน้าที่จดบันทึก มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในทีมสำรวจ รวมทั้งสาธิตการใช้สมุนไพรจริง เช่น เครือจอลอดิเดอ มีลักษณะเป็นเถาวัลย์ ที่เมื่อตัดเป็นท่อน จะมีน้ำสะอาดใช้ล้างตา หยอดแก้ตาเจ็บตาอักเสบได้ จุดอ่อนของการสำรวจครั้งนี้ คือ ชาวบ้านรู้จักแต่ชื่อภาษาปกาเกอญอของสมุนไพร จึงวางแผนสืบเสาะหาหนังสือพืชสมุนไพร แล้วนำมาเปรียบเทียบชื่อและสรรพคุณที่รู้จักกันทั่วไปในภายหลังจากการสำรวจและนำตัวอย่างสมุนไพรชนิดที่หายากมาทดลองเพาะในแปลง เพื่อใช้ดูแลรักษาคนในชุมชนยามเจ็บป่วยเบื้องต้นได้แล้ว พบว่า ยังมีพื้นที่เหลืออีกเป็นจำนวนมาก จึงมีการหารือกัน แกนนำที่เคยเป็นสหาย รับอาสาที่จะติดต่อประสานกับอดีตสหายที่เคยเข้าป่าด้วยกัน ปัจจุบันเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อขอคำปรึกษา หากชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันปลูกสมุนไพรเพื่อจำหน่าย สหายจากเพชรบูรณ์เห็นด้วย พร้อมทั้งแนะนำให้ปลูกพืชที่ให้น้ำมัน เช่น ตะไคร้หอม มิ้น และสนับสนุนโดยการให้เครื่องมือสำหรับการกลั่นเอาน้ำมันจากพืชสมุนไพร อันเป็นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าการจำหน่ายพืชสด ๆ การรวมกลุ่มเพื่อทดลองทำธุรกิจชุมชนเล็ก ๆ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนของหมู่บ้านเพราะแกนนำต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า หากส่งเสริมให้เยาวชนนรุ่นหนุ่มสาวสามารถสร้างรายได้เพียงพอกับการใช้จ่าย จะทำให้พวกเขาไม่ต้องดิ้นรนออกจากหมู่บ้านเข้าทำงานในเมืองใหญ่และกลายเป็นแรงงานราคาถูก หารายได้ไม่พอใช้จนสร้างปัญหาต่าง ๆ เช่น อาชญากรรม ยาเสพติดให้กับสังคม ส่วนในฤดูกาลผลิต  ชุมชนก็จะได้ไม่ขาดแคลนแรงงานของคนหนุ่มสาวเหมือนกับชุมชนชนบทของคนพื้นราบหลายแห่งในปัจจุบันชาวบ้านทีจอชีที่รวมกลุ่มกัน เริ่มต้นทำธุรกิจชุมชนวางแผนจะพัฒนาคุณภาพ ความหลากหลายของสมุนไพรและรูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้สามารถเป็นงานที่มั่นคง รายได้นอกฤดูกาลผลิตอย่างเพียงพอ เพราะมีความเชื่อว่า หากคนในครอบครัวปกาเกอญออยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ว่าจะพานพบกับอุปสรรคใด ๆ ทุกคนจะช่วยกันฟันฝ่าจนสามารถผ่านพ้นไปได้ และเมื่อครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ชุมชนรวมถึงสังคมที่อยู่รายรอบก็จะมีความสงบและศานติสุขไปด้วยเช่นกัน... 
Hit & Run
"ต้นตอของปัญหาใหญ่ๆ ในสังคม พบว่าเรื่องหนึ่งคือ คนที่เป็นเจ้าของปัญหาไม่มีช่องทางส่งเสียงของตัวเองในช่องทางสื่อสารมวลชน ยิ่งวิทยุและทีวีนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง พื้นที่ของคนเดือดร้อน ถูกเบียดออกมาบนท้องถนนที่ออกมาประท้วงให้คนเมืองใหญ่รำคาญ" 
new media watch
  ถ้ามาพูดถึงเรื่อง ‘บริโภคนิยม' ตอนนี้ อาจจะตกยุคไปสักหน่อย เพราะใครๆ เขาก็พูดถึงแต่เรื่อง ‘พอเพียง' กันทั้งนั้น แต่พอไปเจอบล็อกของคน ‘นิยมบริโภค' อย่าง iloveeating.wordpress ก็อดไม่ได้ที่จะเอามาเล่าสู่กันฟัง บล็อกนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้คนฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมอยากได้อยากมีอยากใช้จ่าย แต่เป็นการหาความสุขง่ายๆ ด้วยการ ‘บริโภค' อาหารอร่อยๆ ที่มีการแจกสูตรให้ไปทำเองบ้าง บางทีก็แนะนำอาหารแช่แข็งหรืออาหารสำเร็จรูปที่มีขายตามร้านทั่วไป (แม้ว่าบางอย่างอาจจะยังไม่มีขายในประเทศไทย-ด้วยเหตุว่าเจ้าของบล็อกเป็นคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ) แต่การให้คะแนนเรื่องรสชาติ หน้าตา และความคุ้มค่าระหว่างราคากับปริมาณอาหารสำเร็จรูป ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนชอบกินทั้งหลายล่าสุด เจ้าของบล็อกเพิ่งฉลองตัวเลขผู้เข้าชมบล็อกถึงหลักหมื่น ด้วยการแจกจ่ายวิธีทำ ‘หอยแมลงภู่อบ' ราดหน้าด้วยมายองเนส ซึ่งถ้าดูรูปประกอบไปด้วยขณะอ่าน อาจทำให้หลายคนน้ำลายไหลย้อยยยย...นอกจากนี้ สูตรเด็ดที่มีคนเข้าไปดูอีกจำนวนไม่น้อย ได้แก่ วิธีทำ ‘ผักโขม' ใ้ห้อร่อย, น้ำเต้าหู้ (ทำเองก็ได้ ง่ายจัง), กับแกล้มขี้เหล้า...วันฝนพรำ และส้มตำ (คนไกลบ้าน)อ่านวิธีทำ พร้อมดูภาพประกอบ หูก็ฟังเพลงเพราะๆ ไปด้วย บริโภคกันแบบนี้ คงไม่มีใครแอบจิกกัดหรอกนะว่า ‘ไม่รู้จักพอเพียงเอาซะเลย' 
Music
"ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว ทุกคนล้วนมีชีวิตเฉกเช่นเดียวกัน ไม่มีชีวิตของใครที่มีค่ามากกว่าของใคร ท่านทั้งหลาย...ประโยคสุดท้ายในเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน ไม่ได้มีความหมายแบบนี้หรอกหรือ"

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม