Skip to main content

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ why we are marxists

 

มาร์กซิสม์ 101 - ทำไมเราจึงเป็นมาร์กซิสต์

(Marxism 101 - Why we are Marxists)

Alan Woods (2010)

---------------------------------------------
มาจาก : Why we are Marxists 13 ธันวาคม 2010
แปลเป็นภาษาไทย : โดย จักรพล ผลละออ 2018

---------------------------------------------

 

ระบบทุนนิยมนั้นกำลังจมดิ่งลงสู่วิกฤตที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ที่มันปรากฏขึ้นมาในประวัติศาสตร์ ทั้งวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านความสับสนวุ่นวายทางการเมืองและการเติบโตของการต่อสู้ทางชนชั้นทั่วโลก ในขณะที่บรรดาชนชั้นนำกำลังพยายามทำลายทฤษฎีมาร์กซิสต์ในห้วงเวลาที่มันทวีความสำคัญขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในปัจจุบัน ในบทความชิ้นนี้ อลัน วู้ด (Alan Woods) ได้อธิบายถึงหลักการสำคัญของทฤษฎีมาร์กซิสต์และบทบาทของทฤษฎีมาร์กซิสต์ในปัจจุบัน

ในปี 1992 ฟรานซิส ฟูกุยามา (Francis Fukuyama) ได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า The End of History and the Last Man ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้นั้นเขาได้ประกาศอย่างฉะฉานถึงจุดจบของสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์ และชัยชนะขั้นสุดท้ายของระบบตลาดและระบบประชาธิปไตยแบบกระฎุมพี การล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้นทำให้โลกเหลือเพียงระบบเดียวที่คงอยู่และดำรงอยู่ได้นั่นคือ ระบบทุนนิยมตลาดเสรีและด้วยเหตุนี้นี่จึงถือว่าเป็นจุดจบของประวัติศาสตร์

[ถ้าหากว่าคุณเห็นด้วยกับความคิดในบทความที่จะได้อ่านต่อไปนี้ คุณสามารถสมัครเข้าร่วมกับพวกเรา International Marxist Tendency เพื่อร่วมมือกันในการสร้างขบวนการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบบทุนนิยม!]

ความคิดดังกล่าวนั้นถูกยืนยันด้วยความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ที่มีความสำเร็จอันเด่นชัดในการเพิ่มมูลค่าของกำไรให้สูงขึ้นในช่วงหลายปี และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางหยุดการเติบโตได้ นักการเมือง นายธนาคารกลาง และบรรดาผู้จัดการในวอลสตรีท ต่างก็มั่นอกมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถควบคุมวัฏจักรตามธรรมชาติของพัฒนาการของระบบทุนนิยมได้ และเชื่อว่าทุกสิ่งจะต้องดียิ่งขึ้นไปในโลกของระบบทุน

หากแต่ประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถควบคุมได้ง่ายดายแบบนั้น เมื่อวงล้อประวัติศาสตร์นั้นได้หมุนพลิกกับแบบ 180 องศา ในห้วงเวลาเพียง 16 ปีหลังจากการตีพิมพ์หนังสือของฟูกุยามา วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ก็ได้ลากเอาโครงสร้างทั้งหมดในระบบทุนนิยมไปสู่จุดที่จวนเจียนจะล่มสลาย ทำให้โลกทั้งใบก้าวเข้าสู่วิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตในทศวรรษที่ 1930 แต่ระบบทุนนิยมก็ยังคงดิ้นรนที่จะพาตัวเองออกจากวิกฤตและความหายนะนี้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้แสดงให้ทุกคนที่มั่นใจในคำทำนายของฟูกุยามาพบกับความผิดพลาด ในห้วงเวลาก่อนวิกฤ๖เศรษฐกิจในปี 2008 นั้นบรรดานักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีต่างก็โอ้อวดว่าระบบทุนนิยมนั้นไม่มีทางที่จะเกิดสภาวะตกต่ำหรือทำให้เกิดการล่มสลายในวงจรของระบบ พวกเขาได้สร้างทฤษฎีใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจที่มีชื่อว่า “สมมุติฐานทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ” สอดคล้องกับความเชื่อหรือหัวใจสำคัญที่ว่าระบบตลาดนั้นจะสามารถแก้ไขทุกสิ่งได้

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่มีอะไรเป็นสิ่งใหม่ในความคิดหรือทฤษฎีที่ว่านี้เลย มันเป็นเพียงการผลิตซ้ำสิ่งที่อยู่ในกฎของซาย (Say’s Law) ที่กล่าวว่าในระบบตลาดนั้นความต้องการซื้อและความต้องการขายจะทำให้เกิดสภาวะสมดุลขึ้นซึ่งจะไม่ทำเกิดวิกฤตของการผลิตจนล้นเกิน (overproduction) ซึ่งมาร์กซ์ได้วิจารณ์และรื้อถอนความคิดที่ไม่มีเหตุผลนี้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อนในการยืนยันว่าไม่ว่าจะ “ในระยะสั้นหรือระยะยาว” ระบบตลาดจะทำให้ทุกสิ่งกลายเป็นสินค้า จอน เมนาร์ด เคน (John Maynard Keynes) ก็นำเสนอเอาไว้เช่นกันว่า “ในการดำเนินการระยะยาวแล้ว พวกเราทุกคนล้วนจะต้องตาย”

ในปัจจุบันนี้บรรดากระฎุมพีและยุทธศาสตร์ของพวกเขาอยู่ในสภาวะตกต่ำอย่างถึงที่สุด ในทศวรรษที่ 1930 ทรอสกี้ได้กล่าวว่าพวกกระฎุมพีนั้น “นั่งปิดตาอยู่บนเลื่อนหิมะที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ความหายนะ” คำกล่าวนี้ยังคงนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างชัดเจนราวกับว่ามันพึ่งจะถูกเขียนเมื่อวานนี้ด้วยซ้ำ

และนี่ทำให้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นว่าระบบทุนนิยมนั้นไม่สามารถจะเดินหน้าต่อไปในความก้าวหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกต่อไป แทนที่ระบบจะพัฒนาอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มันกลับบ่อนทำลายสิ่งเหล่านี้ลงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีใครที่จะปักเชื่อคำกล่าวรับรองซ้ำๆที่ว่าพวกเรากำลังอยู่ในห้วงเวลาของการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกต่อไป ภายใต้สภาวะที่กำลังการผลิตนั้นซบเซาและทรุดโทรมลง โรงงานอุตสาหกรรมถูกปิดตัว และคนนับล้านถูกทำให้กลายเป็นคนว่างงาน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คืออาการที่แสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของกำลังการผลิตในระดับโลกนั้นได้ขยับไปไกลกว่ากรอบอันคับแคบของระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและแนวคิดแบบรัฐชาติแล้ว และนี่คือเหตุผลสำคัญขั้นพื้นฐานของวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันเปิดเผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบทุนนิยมในสายตาของชาวโลก

วิกฤตของระบบทุนนิยมนั้นได้เปิดเผยตัวมันออกมาทั่วโลกผ่านวิกฤตทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าโลกนั้นกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะซบเซา สิ่งที่เรียกกันว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในห้วงเวลาวิกฤตของอีกประเทศหนึ่ง สหรัฐอเมริกาเองก็ผ่านวิกฤตทางสังคมและการเมืองมาแล้วอย่างที่ไม่เกิดมีมาก่อนในห้วงเวลาสมัยใหม่

หันกลับมามองประเทศในโซนยุโรปนั้นสถานะของระบบทุนนิยมก็กำลังก้าวเข้าสู่สภาวะวิกฤต สภาพทางการเงินของกรีซนั้นเป็นตัวยืนยันถึงสภาวะวิกฤตที่กำลังจะแพร่กระจายออกไปในระบบทุนนิยมทั่วยุโรป ในขณะที่โปรตุเกสและสเปนนั้นก็ไม่ได้มีสภาพที่ดีกว่ากันไปสักเท่าไหร่ ส่วนฝรั่งเศสและอิตาลีก็มีสภาพที่กำลังจะตามประเทศเหล่านี้ไปไม่ไกล และด้วยเหตุนี้การตัดสินใจจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรซึ่งถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งในยุโรปย่อมจะเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจยุโรปนั้นได้ลากสหราชอาณาจักรเข้าไปสู่วังวนของวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินปอนด์ตกต่ำและเกิดตความไม่มั่นคงทางการเมือง

บรรดานักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีรวมถึงบรรดานักปฏิรูปทั้งหลายต่างก็มาถึงทางตัน พวกเขาไม่สามารถจะมองหาสัญญาณของการฟื้นฟูที่จะพาเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมออกจากวิกฤตได้ พวกเขามองหาการฟื้นตัวตามวงจรของบริษัทราวกับหาหนทางรอดพ้นภัย ในขณะที่บรรดาผู้นำของชนชั้นแรงงาน ผู้นำสหภาพแรงงาน และผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเชื่อว่าวิกฤตเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว พวกเขาคิดว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นสามารถจะแก้ไขได้ด้วยการปรับแต่งหรือแก้ไขระบบที่เป็นอยู่บางส่วน ซึ่งก็คือการวางการควบคุมและการวางกฎระเบียบให้มากขึ้น และนั่นจะทำให้เราสามารถกลับไปสู่เงื่อนไขก่อนหน้าได้

หากแต่วิกฤตนี้มันไม่ใช่แค่วิกฤตโดยปกติธรรมดา มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว หากแต่มันได้สร้างรากฐานของจุดแตกหักในกระบวนการ จุดแตกหักที่ว่านั้นคือจุดที่ระบบทุนนิยมได้เดินทางมาสู่จุดจบทางประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง และสิ่งเดียวที่จะทำได้ในการพยายามฟื้นฟูระบบอันอ่อนแอนี้มันจะมาพร้อมคนว่างงานจำนวนมหาศาล และห้วงเวลาอันยาวนานของมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำลง.

 

วิกฤตของอุดมการณ์กระฎุมพี

ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในเบื้องแรกนั้นเป็นงานเขียนทางปรัชญาและการมองโลก (โลกทัศน์) ในข้อเขียนทางปรัชญาของมาร์กซ์และเองเกลส์นั้นเราจะไม่ได้พบเพียงแค่งานที่ปิดตัวเองอยู่ในระบบปรัชญาเท่านั้นหากแต่เราจะพบกับเนื้อหาต่อเนื่องของข้อมูลเชิงลึกและการชี้ให้เห็นประเด็นซึ่งหากมันถูกนำมาพัฒนาต่อแล้วมันจะทำให้เกิดคุณค่าอย่างมากสำหรับบรรดากระบวนการและมรรควิธีทางวิทยาศาสตร์

ไม่มีสถานที่ใดที่วิกฤตทางอุดมการณ์ของกระฎุมพีจะถูกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมากไปกว่าในปริมณฑลทางปรัชญา ในระยะเริ่มแรกนั้นเมื่อบรรดากระฎุมพียืนยันเรื่องความก้าวหน้านั้นมันจึงเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างนักคิดผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ฮอบส์ (Thomas Hobbes) และ ล็อค (John Locke) ค้านท์ (Emmanuel Kant) และ เฮเกล (Friedrich Hegel) แต่ในห้วงเวลาถัดมาหรือในยุคปลายนั้น ชนชั้นกระฎุมพีไม่สามารถจะสร้างความคิดอันยิ่งใหญ่ได้ อันที่จริงชนชั้นกระฎุมพีนั้นไม่สามารถจะสร้างความคิดอะไรใหม่ๆได้เลย

นับตั้งแต่บรรดากระฎุมพียุคใหม่ไม่สามารถที่จะสร้างหรือมีความกล้าที่จะพูดถึงภาพรวมอย่างกว้างได้นั้นมันคือการปฏิเสธมโนทัศน์ทางอุดมการณ์จำนวนมากไป และนี่คือสาเหตุที่ทำให้บรรดานักคิดหลังสมัยใหม่ (post-modern) กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า “จุดจบของอุดมการณ์”  พวกเขาปฏิเสธมโนทัศน์อันก้าวหน้าเพราะภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นมันไม่มีทางที่จะมีสิ่งใดก้าวหน้าไปกว่านี้ได้ เองเกลส์ได้เขียนเอาไว้ว่า “ปรัชญาและการศึกษาโลกที่เป็นจริงนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกันเสมือนกับการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองและความรักทางเพศ” ปรัชญากระฎุมพีสมัยใหม่นั้นชื่นชอบที่จะย้อนกลับไปหาสิ่งเก่าที่ผ่านมา ในการครอบงำความคิดเพื่อต่อสู้กับความคิดแบบมาร์กซิสต์ มันได้ลากเอาปรัชญากลับไปสู่ยุคเก่าที่เลวร้ายที่สุดของปรัชญา ยุคที่เต็มไปด้วยความล้าหลัง และไร้ประโยชน์

วัตถุนิยมประวัติศาสตร์นั้นคือมุมมองแบบพลวัตรในการทำความเข้าใจการทำงานของธรรมชาติ สังคม และความคิด ซึ่งห่างไกลจากความคิดอันล้าสมัยในยุคศตวรรษที่ 19 เพราะมันเป็นมุมมองของยุคใหม่ที่ดีกว่าในการมองหรือพิจารณาสังคมและธรรมชาติ วัตถุนิยมวิภาษวิธีนั้นเป็นวิธีคิดที่ไม่ติดอยู่กับความตายตัว คับแคบ หรือไร้ชีวิตชีวาซึ่งถูกกอปรด้วยด้วยวิธีคิดแบบกลไกของสำนักฟิสิกส์คลาสสิก แต่มันแสดงให้เห็นว่าภายใต้สภาพการณ์ที่แน่นอนหนึ่งวัตถุสามารถกลายไปเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวมันเองได้

วัตถุนิยมวิภาษวิธีนั้นคือความคิดที่มองว่า ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่เกิดขึ้นอย่างคงที่นั้นเมื่อรวมตัวกันจนถึงจุดวิกฤตหนึ่งจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แบบก้าวกระโดดซึ่งได้รับการยืนยันแล้วจากทฤษฎีแห่งความอลวนในสมัยใหม่ ทฤษฎีแห่งความอลวนนี้ได้ยุติมุมมองแบบกลไกอันคับแคบที่ลดทอนให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดไว้แบบตายตัวซึ่งครอบงำวิทยาศาสตร์เอาไว้กว่าร้อยปี ซึ่งทฤษฎีวิภาษวิธีแบบมาร์กซิสต์ได้แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้เอาไว้แล้วตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19 ก่อนที่ทฤษฎีแห่งความอลวนจะนำมันมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในทางคณิตศาสตร์ในปัจจุบัน นั่นคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ องค์ประกอบโดยธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบและกระบวนการที่แตกต่างกัน

การศึกษาระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ก่อให้เกิดเขตแดนสำคัญหนึ่งในฟิสิกส์ร่วมสมัยขึ้น นั่นคือมันมีความเป็นไปได้จำนวนนับไม่ถ้วนในหนึ่งตัวอย่างของหนึ่งปรากฏการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น กฎการเปลี่ยนจากปริมาณไปสู่คุณภาพนั้นถือเป็นกฎสากล ในหนังสือเรื่อง Ubiquity ของนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกาเหนือชื่อมาร์ค บูคานัน (Marx Buchanan) ได้แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่หลากหลายเช่น หัวใจล้มเหลว, หิมะถล่ม, ไฟป่า, อัตราการเกิดและการตายของประชากรสัตว์, วิกฤตตลาดหลักทรัพย์, สงคราม และแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงในวงการแฟร์ชั่นและงานศิลปะ และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการแสดงมันออกมาในรูปแบบสมการทางคณิตศาสตร์ที่เรียกกันว่ากฎของกำลัง (Power law)

องค์ความรู้อันโดดเด่นนี้ได้ถูกนำเสนอและประมาณการณ์ไว้เมื่อนานมาแล้วโดยมาร์กซ์และเองเกลส์ ผู้ที่ดึงเอาหลักการวิภาษวิธีของเฮเกลมาวางบนรากฐานของความเป็นเหตุเป็นผล (นั่นคือ รากฐานแบบวัตถุนิยม) ในงานเรื่อง Logic ของเฮเกลเขาได้เขียนไว้ว่า “มันนับเป็นเรื่องตลกมากๆในทางประวัติศาสตร์ หากเราจะอธิบายว่าเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายนั้นเกิดขึ้นมาจากสาเหตุเล็กๆ” นี่เป็นคำกล่าวอันเก่าแก่ก่อนที่คำว่า “ผีเสื้อกระพือปีก” (Butterfly effect) จะกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย การปฏิวัตินั้นเป็นเสมือนการเกิดแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด มันเป็นผลมาจากการสะสมความขัดแย้งผ่านช่วงเวลาอันยาวนานก่อนที่จะระเบิดออก กระบวนการต่างๆนั้นในที่สุดแล้วย่อมจะเดินทางไปถึงจุดวิกฤตที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันกำเนิดขึ้น

 

วัตถุนิยมประวัติศาสตร์

ระบบสังคมมนุษย์ทุกระบบนั้นย่อมจะเชื่อว่าตัวมันเองคือระบบสังคมเดียวที่เป็นไปได้สำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์ นั่นคือสถาบันการเมืองของระบบ ศาสนาของระบบ ศีลธรรมของระบบของมันนั้นคือสิ่งเดียวและสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์จะสามารถพูดถึงหรือจินตนาการถึงได้ นี่คือรูปแบบความคิดที่พวกมนุษย์กินคน, นักบวชอียิปต์โบราณ, พระนางมารี อองตัวเนต, และ ซาร์นิโคลัส เชื่อมั่นอย่างสุดจิตสุดใจ และนี่คือสิ่งที่ฟูกุยามาพยายามแสดงให้เห็นออกมาผ่านงานเขียนของเขา และหากนำเสนอโดยปราศจากรากฐานหรือมีรากฐานน้อยที่สุด สิ่งที่เรียกว่า “ระบบองค์การอิสระ” นั้นจะเป็นระบบเดียวที่เป็นไปได้ – ก็ต่อเมื่อมันเริ่มต้นที่จะก้าวสู่การล่มสลาย

ดังเช่นสิ่งที่ชาร์ล ดาร์วินนั้นได้เสนอเอาไว้ว่า สปีชีส์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนรูปร่างไม่ได้ แต่มันมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการอยู่ตลอดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในทางเดียวกันมาร์กซ์และเองเกลส์นั้นก็ได้เสนอว่าระบบสังคมที่เราเห็นอยู่หรือดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ระบบที่จะคงอยู่ถาวรตลอดไปโดยไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แน่นอนว่าการเปรียบเทียบระหว่างสังคมกับธรรมชาตินั้นเป็นเพียงการเปรียบเทียบแบบผิวเผิน กระนั้นแม้แต่การเปรียบเทียบอย่างผิวเผินนี้ในประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เห็นว่าการตีความประวัติศาสตร์ว่ามันมีการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปตลอดเวลานั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่มีมูลความจริง สังคมนั้นก็เป็นเช่นเดียวกันกับธรรมชาติมันได้ผ่านช่วงเวลาของการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลายาวนานก่อนที่มันจะสะดุดลงและเกิดการระเบิดออกของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นกันนั่นคือสงคราม และการปฏิวัติ ซึ่งจะทำให้กระบวนการของการพัฒนานั้นเร่งความเร็วขึ้นอย่างมหาศาล อันที่จริงเหตุการณ์เหล่านี้นี่เองที่เป็นกำลังผลักดันหลักในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

สาเหตุสำคัญของการปฏิวัตินั้นคือความจริงที่ว่าระบบเศรษฐกิจ-สังคมหนึ่งๆ ได้เดินทางไปถึงขีดจำกัดของตัวระบบเองและมันไม่สามารถจะพัฒนากำลังการผลิตต่อไปได้อย่างที่มันเคยทำมา ทฤษฎีมาร์กซิสต์นั้นได้แสดงให้เห็นถึงต้นตอสำคัญที่หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังพัฒนาการของสังคมมนุษย์ตั้งแต่ยุคสังคมชนเผ่าที่พัฒนามาจนถึงสังคมยุคปัจจุบัน มโนทัศน์ทางประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยมนั้นทำให้เราสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์ว่ามันไม่ใช่แค่ลำดับเหตุการณ์หรืออุบัติการณ์ที่คาดไม่ถึงและไม่มีความเชื่อมต่อกัน หากแต่มันเป็นกระบวนการที่เป็นเส้นเดียวกันและมีความต่อเนื่องกัน ประวัติศาสตร์นั้นเป็นความสืบเนื่องของการกระทำ (action) และปฏิกิริยา (reaction) ซึ่งครอบงำการเมือง เศรษฐกิจ และขั้นตอนของพัฒนาการทางสังคมในทุกระดับ

ความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ทางสังคมทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธีที่ซับซ้อน และความซับซ้อนนี้ทำให้มีความพยายามอย่างบ่อยครั้งที่จะบ่อนทำลายวิธีคิดหรือมรรควิธีในการมองหรือวิเคราะห์ประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงว่ามาร์กซ์และเองเกลส์นั้น “ลดทอนทุกอย่างลงไปเหลือเพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจ” การบิดเบือนและใส่ร้ายอย่างไร้สาระนี้ได้รับการโต้แย้งจากมาร์กซ์และเองเกลส์อยู่หลายครั้ง ดังจะเห็นได้จากข้อความที่เองเกลส์เขียนจดหมายถึงโบลช (Bloch) ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

“ว่ากันตามแนวคิดแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์แล้ว องค์ประกอบสำคัญที่สุดที่กำหนดความเป็นไปในประวัติศาสตร์คือการผลิตและการผลิตซ้ำชีวิต สิ่งที่นอกเหนือไปจากหลักสำคัญนี้คือคำบิดเบือนที่ผมและมาร์กซ์ถูกกล่าวหา ดังนั้นหากใครสักคนบิดเบือนคำกล่าวนี้แล้วบอกว่าเศรษฐกิจคือองค์ประกอบเดียวที่กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง เขาก็ได้เปลี่ยนแปลงประเด็นให้กลายเป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่มีความหมายเสียเองแล้ว”

Comintern2ndcongress

สมัชชาที่สอง ขององค์กรคอมมิวนิสต์สากล (ที่มาจาก IMT)

 

แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์

แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (the Communist Manifesto) ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี 1848 นั้นนับเป็นหนึ่งในหนังสือที่ควรจะต้องอ่านสำหรับในสมัยใหม่นี้ แน่นอนว่าคำอธิบายในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆบางอย่างในหนังสือเล่มนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามการเวลา แต่ในระดับพื้นฐานทางคงวามผิดทั้งหมดแล้วความคิดหรือไอเดียในหนังสือแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นั้นยังคงมีความสำคัญและตรงกับความเป็นจริงอยู่เฉกเช่นในช่วงเวลาที่หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้น ในทางตรงข้ามหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นในยุคเดียวกันหรือเมื่อร้อยกว่าปีก่อนน้อยในปัจจุบันหนังสือเหล่านั้นก็เป็นได้เพียงบันทึกหรือมรดกทางประวัติศาสตร์เท่านั้น สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างแท้จริงคือสิ่งที่แถลงการณ์นี้พยายามเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมานั้นยังคงทรงพลัง ในขณะที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” ของเราในปัจจุบันนั้นอาจจะต้องละอายใจเมื่อกลับไปอ่านสิ่งที่พวกเขาเขียนเอาไว้เมื่อวันก่อนหากนำมาเทียบกัน

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นี้คือการที่มันได้คาดการณ์ถึงปรากฏการณ์ระดับพื้นฐานซึ่งได้ยึดครองความสนใจของเราในระดับโลกเอาไว้ในยุคปัจจุบัน ขอให้เรายกตัวอย่างที่ชัดเจนสักหนึ่งกรณี ในห้วงเวลาที่มาร์กซ์และเองเกลส์ได้เขียนงานชิ้นนี้ขึ้นนั้น โลกที่เต็มไปด้วยบริษัทข้ามชาตินั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏอยู่ในบทเพลงหรือจินตนาการที่พูดถึงอนาคตอันห่างไกล แม้กระนั้นมาร์กซ์และเองเกลส์ก็ได้อธิบายถึงการที่ “องค์การอิสระ” และการแข่งขันนั้นจะนำไปสู่ความเข้มข้นของระบบทุนที่สูงขึ้นและการผูกขาดกำลังการผลิต

คงต้องบอกตามตรงว่ามันเป็นเรื่องตลกทุกครั้งที่เราได้อ่านคำประกาศของบรรดาผู้ปกป้อง “ระบบตลาด” ซึ่งกล่าวหาว่าสิ่งที่มาร์กซ์เขียนนั้นผิดพลาด ในขณะที่ความเป็นจริงนั้นปรากฏว่าสิ่งที่มาร์กซ์ได้คาดการณ์เอาไว้ได้เกิดขึ้นจริง ปัจจุบันนี้คือความจริงที่ไม่อาจจะเถียงได้ว่ากระบวนการการเข้มข้นขึ้นของทุนที่ถูกคาดการณ์ไว้โดยมาร์กซ์นั้นได้เกิดขึ้นจริงแล้ว และอันที่จริงมันไปพัฒนาไปไกลขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักสังคมวิทยากระฎุมพีพยายามที่จะหักล้างข้อยืนยันนี้และ “พิสูจน์” ว่าสังคมได้พัฒนามาสู่ความเสมอภาคกันมากขึ้น และด้วยเหตุนั้นความคิดเรื่องความขัดแย้งทางชนชั้นจึงจะกลายเป็นเรื่องที่โบราณเสมือนเครื่องทอผ้าและแอกไถนาที่ทำจากไม้ พวกเขากล่าวว่าชนชั้นแรงงานนั้นได้หายไปแล้ว และสิ่งที่เหลืออยู่คือพวกเราทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นกลาง และด้วยความเข้มข้นขึ้นของระบบทุนนั้นในอนาคตโลกนี้จะประกอบไปด้วยบริษัทขนาดเล็ก และ “สิ่งเล็กๆนี้คือความสวยงาม”

ลองดูสิว่าคำกล่าวอ้างเหล่านี้มันย้อนแย้งขนาดไหนในปัจจุบัน! เศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้ถูกควบคุมเอาไว้ด้วยบริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวนไม่เกิน 200 บริษัทเท่านั้น และบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ส่วนใหญ่มักมีฐานที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา กระบวนการผูกขาดนั้นเดินหน้าไปสู่ระดับการแย่งชิงการแบ่งปันสัดส่วนผลประโยชน์ขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บริษัทขนาดใหญ่อันดับต้นๆของโลกนั้นมีความมั่งคั่งสูงเสียยิ่งกว่าประเทศบางประเทศเสียอีก – นี่คือภาพอันโดดเด่นของการเติบโตของอำนาจของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ จากการศึกษาขององค์กร anti-poverty charity Global Justice นั้นพบว่าตัวเลขของบริษัทระดับต้นๆจำนวน 100 ได้กระโดดขึ้นไปที่ 69 ในปี 2015 จาก 63 ในปีก่อน

เฉพาะบริษัทจำนวน 147 บริษัท “ในอันดับต้นๆ” นั้นได้ถือครองความมั่งคั่ง 40% ของเศรษฐกิจโลกเอาไว้ บรรดาบริษัทใหญ่เหล่านี้คือผู้ปกครองและควบคุมเศรษฐกิจโลกที่แท้จริง บริษัทที่ใหญ่ที่สุดจำนวน 10 อันดับ – เช่น วอลมาร์ท, แอปเปิ้ล, และเชลล์ – สามารถสร้างเม็ดเงินรวมกันได้มากกว่ารายได้ของหลายประเทศทั่วโลกรวมกัน มูลค่าของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 10 อันดับนั้นมีมูลค่ากว่า 285 ล้านล้านดอลลาห์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าความมั่งคั่งของประเทศยากจน 180 ประเทศรวมกัยที่มีมูลค่าเพียง 280 ล้านล้านดอลลาห์สหรัฐ เช่น ไอร์แลนด์, อินโดนีเซีย, อิสราเอล, โคลัมเบีย, กรีซ, แอฟริกาใต้, อิรัก และเวียดนาม

เลนินได้ชี้ให้เห็นว่าในลำดับขั้นของการพัฒนาแบบจักรวรรดินิยม (ทุนนิยมผูกขาด) อำนาจทางเศรษฐกิจนั้นจะถูกควบคุมเอาไว้ในมือของบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ การวิเคราะห์นี้ถูกพิสูจน์และยืนยันเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วด้วยสถนการณ์ในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจโลกนั้นถูกครอบงำเอาไว้ด้วยระบบทุนนิยมการเงิน สถาบันเทคโนโลยีสหพันธรัฐสวิสในซูริก (Swiss Federal Institution in Zurich - SFI) ได้เผยแพร่งานศึกษาที่มีชื่อหัวข้อว่า “เครือข่ายการควบคุมบริษัทระดับโลก” ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าสมาคมขององค์การกลุ่มเล็กๆ – ซึ่งมีธนาคารเป็นส่วนมาก – เป็นผู้ขับเคลื่อนโลก

ธนาคารที่มีอิทธิพลขนาดใหญ่นั้นประกอบไปด้วย :

• Barclays • Goldman Sachs • JPMorgan Chase & Co • Vanguard Group • UBS • Deutsche Bank • Bank of New York Mellon Corp • Morgan Stanley • Bank of America Corp • Société Générale

กิจกรรมในการเก็งกำไรของสถาบันทางการเงินที่มีอำนาจเหล่านี้ ซึ่งเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดในเครือข่ายโยงใยอันซับซ้อนในแผนการลงทุน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันนั้นเป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดการล่มสลายของระบบการเงิน เจมส์ กลัทเฟลเดอร์ (James Glattfelder) นักทฤษฎีด้านระบบเชิงซ้อนของ SFI อธิบายว่า : “ในทางประสิทธิภาพแล้ว มีบริษัทจำนวนไม่ถึง 1% ที่สามารถควบคุมเครือข่ายทั้งหมดได้ถึง 40%”

การเพิ่มขึ้นของระดับความเข้มข้นของทุนนั้นย่อมาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำ ในทุกๆประเทศนั้นอัตราการกระจายผลกำไรนั้นล้วนแล้วแต่ถูกบันทึกว่าอยู่ในระดับสูง แต่อัตราการกระจายค่าแรงนั้นอยู่ในระดับต่ำ ความเหลื่อมล้ำระดับโลกนั้นกำลังขยายตัวขึ้นในขณะที่ความมั่งคั่งกว่าครึ่งหนึ่งของโลกถูกถือเอาไว้ในมือของกลุ่มคนจำนวน 1% จากประชากรโลกทั้งหมด

และพฤติการณ์ของระบบนี้ก็เป็นเสมือนระบบของชนเผ่ากินคนที่เต็มไปด้วยความโลภ บรรดาบริษัทใหญ่เหล่านี้ยังคงพยายามที่จะกลืนกินและทำลายบริษัทขนาดเล็กอื่นๆอยู่เสมอด้วยการควบรวมกิจการและการเทคโอเวอร์ ที่ทำให้เงินจำนวนกว่าพันล้านดอลลาห์ถูกใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือยและบ้าคลั่งในความพยายามที่จะขยายกิจการและขยายกำลังการทำกำไรให้กับบริษัทผูกขาดขนาดใหญ่ กิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้แสดงถึงพัฒนาการของกำลังการผลิตเลยหากแต่เป็นการบ่อนทำลาย บรรดาบริษัทเหล่านี้ย่อมจะดำเนินการตามการปอกลอกสินทรัพย์ โรงงานอุตสาหกรรมจะถูกปิดตัวลงหรือเลิกจ้างงาน – กล่าวคือการขายและทำลายวิถีการผลิตอย่างป่าเถื่อน และเป็นเสมือนการบูชาตำแหน่งงานนับพันตำแหน่งสังเวยให้กับแท่นบูชายัญแห่งกำไร

ในขณะที่เราถูกกล่อมเกลาด้วยคำสอนเรื่องความจำเป็นสำหรับการอดออมและประหยัด บรรดานายทุนและนายธนาคารก็ยังคงสะสมความมั่งคั่ง และขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินจำนวนมากจากชนชั้นแรงงานอยู่ตลอดเวลา ในสหรัฐอเมริกานั้นชนชั้นแรงงานได้สร้างผลผลิตออกมาเป็นอันดับสามตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ค่าจ้างที่เป็นจริงนั้นกลับทรงตัวหรือลดลง ผลกำไรของนายทุนนั้นเฟื่องฟูขึ้น ความมั่งคั่งของพวกเขาทวีสูงขึ้นบนการเสียสละของชนชั้นแรงงาน

 

โลกาภิวัตน์

เราจะขอยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งซึ่งเด่นชัดไม่แพ้กันนั่นคือ : โลกาภิวัตน์ การผงาดขึ้นมาครอบงำโลกของระบบตลาดโลกนั้นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนอย่างยิ่งในยุคสมัยของเราและดูเหมือนว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราพึ่งจะค้นพบมันในช่วงเวลาไม่นานมานี้ หากทว่าในความเป็นจริงแล้วโลกาภิวัตน์นี้ได้ถูกคาดการณ์และอธิบายเอาไว้ล่วงหน้าโดยมาร์กซ์และเองเกลส์ตั้งแต่เมื่อ 150 ปีที่ผ่านมาแล้ว ในส่วนคำนำอันโดดเด่นที่เราจะขอยกมาดังต่อไปนี้

“ชนชั้นกระฎุมพีนั้นได้แสวงหาผลประโยชน์และสร้างการขูดรีดผ่านระบบตลาดโลกซึ่งทำให้เกิดลักษณะสากลของการผลิตและการบริโภคในทุกๆประเทศ ซึ่งสร้างความผิดหวังให้แก่บรรดาพวกปฏิกิริยา มันเริ่มต้นจากภายใต้อุ้งเท้าของอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศหรือรัฐชาติได้ใช้มันเป็นรากฐาน ประเทศอุตสาหกรรมเก่านั้นจะล่มสลายและถูกทำลายลงในทุกๆวัน มันจะถูกทำลายลงโดยอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ซึ่งจะกลายมาเป็นปมปัญหาสำคัญถึงความตายและการรอดชีวิตของประเทศอารยะ ด้วยอุตสาหกรรมที่จะไม่ทำการผลิตทรัพยากรพื้นฐานอันเป็นวัตถุดิบภายในประเทศอีกต่อไป แต่วัตถุดิบเหล่านี้จะถูกผลิตและนำมาจากเขตประเทศที่ห่างไกล ในขณะที่ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมนี้จะถูกบริโภค ไม่เฉพาะแต่ภายในประเทศที่ทำการผลิตแต่มันจะถูกบริโภคจากคนทั้งโลก ในความต้องการแบบเดิมนั้นเราต้องการเพียงแต่การผลิตภายในประเทศ แต่เราจะพบกับความต้องการใหม่ นั่นคือความต้องการบริโภคสินค้าจากสถานที่หรือประเทศที่ห่างไกลออกไป ในรูปแบบของการผลิตแบบเก่าที่เป็นเอกเทศภายในประเทศและมีความเพียงพอภายในตัวเอง เรามีการติดต่อกันในทุกทิศทาง และการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประเทศต่างๆ ดังเช่นในทางวัตถุดิบหรือกระทั่งในทางภูมิปัญญาด้วย การสร้างสรรค์ทางปัญญาของประเทศต่างๆได้กลายมาเป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติ การพึ่งพาตัวเองภายในชาตินั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเป็นไปได้อีกต่อไป และจากประเทศหรือท้องถิ่นที่มีความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์นั้นเราจะกลายเป็นสิ่งเดียวกันนั่นคือการเกิดอัตลักษณ์ระดับโลก”

ในปัจจุบันการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ได้รับการยืนยันอย่างชัดเจน การครอบงำโลกของระบบตลาดในปัจจุบันนี้ถือเป็นคุณสมบัติซึ่งชี้ขาดได้อย่างชัดเจน แน่นอนว่าในห้วงเวลาที่แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ถูกเขียนขึ้นนั้นในทางปฏิบัติแล้วมันไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ใดๆเลยที่จะสนับสนุนการคาดการณ์และข้อวิเคราะห์นี้ พื้นที่เดียวที่มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างจริงจังคือในอังกฤษ ระบบอุตสาหกรรมแรกเริ่มในฝรั่งเศสและเยอรมนี (กรณีเยอรมนีนั้นยังไม่แม้กระทั่งจะเกิดการรวมตัวเป็นเยอรมนีเลยด้วย) นั้นยังคงต้องหลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังกำแพงภาษีนำเข้า – นี่คือความจริงที่ถูกหลงลืมไปในปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลตะวันตกกล่าวคำข้อเรียกร้องอันโหดร้ายให้ประเทศอื่นๆที่เหลือในโลกนั้นต้องเปิดระบบเศรษฐกิจรองรับตลาดเสรี

สิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์นั้นได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของระบบทุนนิยมที่จะก้าวข้ามกำแพงอันคับแคบของระบบตลาดภายในประเทศ และพยายามก้าวไปสู่การพัฒนาและการทำให้ระบบแบ่งงานกันทำนั้นทวีความรุนแรงขึ้นในระดับโลก ซึ่งมันทำให้เกิดมุมมองถึงความเจริญรุ่งเรืองในอนาคตและการร่วมมือกันทำงานระหว่างผู้คนบนโลก หากทว่าภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นความเป็นไปได้อันน่าอัศจรรย์ในการพัฒนาของมนุษยชาตินี้ถูกบีบบังคับให้มุ่งหน้าไปสู่การทำการผลิตเพื่อสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม โลกาภิวัตน์กลายเป็นองค์ประกอบอันยอดเยี่ยมสำหรับการปล้นชิงทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งห่างไกลจากการลดความขัดแย้งและการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดสงคราม มันกลับทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นสงครามที่เกิดขึ้นจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง

ผลลัพธ์ระดับโลกของระบบ “เศรษฐกิจแบบตลาด” ในยุคโลกาภิวัตน์นั้นเป็นเรื่องน่าสยดสยอง ในปี 2000 นั้นคนรวยที่สุดในโลกจำนวน 200 คนมีทรัพย์สินและความมั่งคั่งมากกว่าทรัพย์สินของคนจนที่สุดจำนวน 2 พันล้านคนรวมกัน สอดคล้องกับตัวเลขขององค์การสหประชาชาติที่แสดงให้เห็นว่ามีคนกว่า 1.2 พันล้านคนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 2 ดอลลาห์ต่อวัน และด้วยเหตุนี้ทำให้ในทุกๆปีจะมีชาย หญิง และเด็กต้องตายกว่า 8 ล้านคนต่อปีอันเนื่องมาจากการที่พวกเขาไม่มีเงินมากพอสำหรับการดำรงชีวิต ในขณะที่มนุษย์ทุกคนนั้นเห็นด้วยว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กว่า 6 ล้านคนของนาซีนั้นเป็นเรื่องอาชญากรรมที่คุกคามมนุษยชาติ แต่พวกเขากลับนิ่งเงียบต่อหายนะที่พรากชีวิตของผู้คนกว่า 8 ล้านคนในทุกๆปีและไม่มีใครเลยที่จะออกมาพูดในประเด็นนี้

ท่ามกลางความทุกข์ยากอันแสนสาหัสและความยากไร้ของมนุษย์จำนวนมากนั้นมันยังคงเกิดการโอ้อวดความร่ำรวยและสนุกสนามกับการสร้างกำไรกันอยู่ สอดคล้องกับรายงานดัชนีของ Bloomberg Billionaires Index ที่แสดงให้เห็นว่าคนรวยที่สุดจำนวน 30 คนนั้นถือครองความมั่งคั่งในสัดส่วนที่เหลื่อมล้ำอย่างมากในเศรษฐกิจโลก นั่นคือทรัพย์สินของพวกเขารวมกันมีมูลค่ามากกว่า 1.23 ล้านล้านดอลลาห์ ซึ่งมากกว่า GDP รายปีของประเทศสเปน แม๊กซิโก หรือตุรกีเสียอีก

มีเศรษฐีจำนวน 18 คนจากเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด 30 คนของโลกอาศัยอยู่หรือมีที่มาจากสหรัฐอเมริกา คนร่ำรวยที่สุดในโลกจำนวน 8 คนนั้นถือครองทรัพย์ที่มีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินของคนจนครึ่งโลกรวมกัน นี่ถือเป็นสัญญาณอันเด่นชัดถึงอันตรายจากการเพิ่มขึ้นของการผูกขาดความมั่งคั่ง องค์กร Oxfam นั้นได้เปิดเผยตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึง “สิ่งที่เหนือยิ่งกว่าความผิดปกติ” ที่ว่านายทุนขนาดใหญ่นำโดยบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยบิล เกตท์ (Bill Gates) นั้นมีมูลค่ากว่า 426 พันล้านดอลลาห์ เทียบเท่ากับทรัพย์สินของคนจนในโลกจำนวน 3.6 พันล้านคนรวมกัน หรือก็คือคนจำนวนกว่า 50% ของประชากรโลก

นอกเหนือจากบิล เกตท์แล้ว เรายังมีนายทุนชื่อ อามันซิโอ ออร์เตก้า (Amancio Ortega) ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังอย่าง ZARA และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนและผู้บริหารระดับสูงของ Berkshire Hathaway รวมอยู่ในกลุ่มด้วย

ส่วนนายทุนคนอื่นๆที่รวมอยู่ในกลุ่มนั้นมีรายชื่อดังนี้ Carlos Slim Helú ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมแม๊กซิกันและเจ้าของกลุ่มบริษัทในเครือ Grupo Carso; Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งบริษัท Amazon; Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook; Larry Ellison ผู้บริหารระดับสูงของ US tech firm Oracle และ Michael Bloomberg อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ค เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Bloomberg news and financial information service.

 

ว่าด้วยแผนการผลิตที่มีเหตุมีผล

ความต้องการที่จะสร้างการผลิตด้วยการร่วมมือกันใช้ทรัพยากรอันมหาศาลของโลกผ่านแผนการผลิตที่มีเหตุมีผลนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ การผลิตในระบบทุนนิยมนั้นกลายเป็นระบบที่เต็มไปด้วยความโกลาหลซึ่งวางรากฐานอยู่บนความโลภและความพยายามจะเสาะหาวิถีทางในการจะขูดรีดและปล้นชิงทรัพยากรโลกเพียงเพื่อจะตอบสนองความต้องการสะสมความมั่งคั่งและอำนาจของคนกลุ่มน้อย บรรดาบริษัทขนาดใหญ่นั้นได้แสดงให้เราเห็นถึงความบ้าคลั่งและไม่ใส่ใจต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ท่ามกลางความพยายามในการแสวงหากำไรอย่างบ้าคลั่งนั้นพวกเขาได้ทำลายผืนป่า ปล่อยสารพิษลงสู่ทะเล ทำให้สัตว์หลายสายพันธุ์สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และทำให้อากาศที่เราใช้หายใจ น้ำและอาหารที่เราใช้ดื่มกินปนเปื้อนสารพิษ การกระทำอย่างต่อเนื่องของระบบทุนนิยมนั้นได้สร้างภัยคุกคามต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ และคุกคามต่อการดำรงอยู่ในอนาคตของมนุษยชาติ

กล่าวโดยไม่มีอคติ เงื่อนไขและปัจจัยสำหรับการแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่กล่าวมานี้ได้ปรากฏอยู่เบื้องหน้าของเราแล้ว ในตอนนี้มนุษยชาตินั้นได้ครองทั้งเทคโนโยลีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอสำหรับการกำจัดความยากจน, โรคภัยไข้เจ็บ, ปัญหาคนว่างงาน, ความอดอยาก ,ปัญหาคนไร้บ้าน และสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ยาก, สงคราม และความขัดแย้งทั้งหมด และถ้าหากว่าการแก้ปัญหายังไม่เกิดขึ้นนั่นก็ไม่ใช่เพราะมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ หากแต่เป็นเพราะเรากำลังวิ่งไปเจอเพดานของระบบเศรษฐกิจที่วางรากฐานอยู่บนวิธีคิดเรื่องการแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว

ความต้องการของมนุษยชาตินั้นไม่ควรจะถูกนำไปคำนวณหรือตีมูลค่าโดยพวกนายทุนและนายธนาคารที่ครอบงำโลกเอาไว้ นี่ถือเป็นปมปัญหาสำคัญและคำตอบของปมปัญหานี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของมนุษยชาติ องค์กร Oxfam นั้นได้เรียกร้องหาโมเดลทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะช่วยยับยั้งและลดทอนอัตราความเหลื่อมล้ำ หากทว่าสิ่งที่เราควรทำอย่างจริงจังนั้นไม่ใช่การคิดถึงระบบที่เป็นอยู่หากทว่าจะต้องเป็นการโค่นล้มมัน

พวกกระฎุมพีนั้นได้ปฏิบัติตามภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการขับไล่และโค่นล้มระบบศักดินาซึ่งขัดขวางการพัฒนากำลังการผลิตในอดีต ด้วยการทำลายระบบภาษีท้องถิ่น การตั้งกำแพงภาษี และค่าธรรมเนียมการค้าที่วุ่นวายซึ่งขัดขวางการพัฒนาการค้าเสรี และวิถีชีวิตที่คับแคบผูกติดกับชนบท ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่สุดของชนชั้นกระฎุมพีนั้นคือการสร้างระบบตลาดแห่งชาติขึ้นและด้วยรากฐานนี้เองที่ทำให้เกิดแนวคิดรัฐชาติในโลกสมัยใหม่ขึ้น

แต่การพัฒนากำลังการผลิตภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นได้ขยับไปถึงขีดจำกัดสูงสุดของระบบตลาดแห่งชาติแล้ว ซึ่งในท้ายที่สุดระบบดังกล่าวได้กลายมาเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ เฉกเช่นเดียวกับระบบการผลิตในชนบทของระบบศักดินาในอดีต การกำเนิดขึ้นของสภาวะโลกาภิวัตน์นั้นเพียงแต่แสดงให้เห็นความจริงที่ว่าระบบรัฐชาตินั้นมีอายุยืนยาวมากกว่าประโยชน์ของตัวมันเองและกำลังกลายมาเป็นอุปสรรคบนหนทางแห่งความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางพัฒนาการของมนุษยชาติในปัจจุบันนี้มีอยู่ประการ ประการแรกนั้นคือการถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งทำให้เกิดการยึดกุมวิถีการผลิตเอาไว้ และประการที่สองคือรัฐชาติ อันเป็นเศษซากอันป่าเถื่อนที่ตกค้างอยู่ นี่นับเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพที่จะต้องทำการโค่นล้มบรรดาอุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์เหล่านี้ การถือครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้นจะต้องถูกแทนที่ด้วยแผนการผลิตที่เป็นประชาธิปไตย และรัฐชาตินั้นจะต้องกลายไปเป็นเพียงโบราณวัตถุที่ตั้งโชว์เอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์

การปฏิวัติสังคมนิยมนั้นจะทำลายแนวคิดเรื่องรัฐชาติอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและเปิดโอกาสให้กับการพัฒนากำลังการผลิตด้วยการสร้างโลกสังคมนิยมซึ่งจะรวบรวมเอาทรัพยากรที่ไม่มีวันหมดของโลกมาใช้ในการผลิตที่มีแบบแผนเพื่อตอบสนองความต้องการของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อตอบสนองต่อความละโมบที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพวกนายทุนปรสิต

 

Lenin sweeping the world

 

การต่อสู้ทางชนชั้น

วัตถุนิยมประวัติศาสตร์นั้นได้สอนให้เราเห็นว่าสภาวการณ์จะเป็นตัวกำหนดจิตสำนึก นักจิตนิยมนั้นมักจะนำเสนออยู่ตลอดว่าจิตสำนึกเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าของมนุษยชาติ หากทว่าเพียงแค่การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างผิวเผินก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เห็นว่าจิตสำนึกของมนุษย์นั้นมักจะพัฒนาตามหลังอุบัติการณ์หรือปรากฏการณ์ จิตสำนึกโดยทั่วไปของมนุษย์นั้นห่างไกลจากการปฏิวัติมาก มันกำเนิดมาและมีสถานะเป็นอนุรักษ์นิยมอย่างที่สุด

ผู้คนจำนวนมากนั้นไม่นิยมชมชอบการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่ดำรงอยู่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะยึดเกาะอยู่กับความคิดที่พวกเขาคุ้นเคย กับสถาบันที่พวกเขารู้จัก กับธรรมเนียมศีลธรรม กับศาสนาและคุณค่าที่ระเบียบของสังคมกำหนดมาให้ แต่กล่าวอย่างวิภาษวิธีแล้วทุกสิ่งทุกอย่างย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การต่อต้านตัวมันเอง ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วจิตสำนึกจะต้องเดินทางไปบรรจบกับความเป็นจริงในลักษณะที่ทำให้เกิดการระเบิดออก และนั่นคือการปฏิวัติ

ทฤษฎีมาร์กซิสต์อธิบายว่าในวาระสุดท้ายแล้วกุญแจสำคัญสำหรับพัฒนาการทางสังคมของทุกๆสังคมนั้นคือการพัฒนากำลังการผลิต ตราบเท่าที่สังคมยังเดินไปข้างหรือ หรือกล่าวคือ ตราบเท่าที่สังคมนั้นๆยังสามารถพัฒนาอุตสาหกรรม, เกษตรกรรม, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปได้คนจำนวนมากในสังคมก็จะเชื่อว่าระบบยังคงทำงานอยู่ได้ ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้มนุษย์ก็จะไม่ตั้งคำถามต่อระบบที่เป็นอยู่ หรือตั้งคำถามต่อคุณค่าทางศีลธรรมและกฎหมายของระบบ ในทางตรงกันข้ามพวกเขาจะมองว่ามันเป็นเรื่องที่แน่นอนเป็นสัจธรรมและเป็นธรรมชาติ เสมือนความแน่นอนและเป็นสัจธรรมที่ว่าพระอาทิตย์จะมีขึ้นและตก

ปรากฏการณ์ขนาดใหญ่นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจะทำให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามภาระอย่างธรรมเนียม วัตรปฏิบัติอันซ้ำซาก และไปสู่การยอมรับความคิดใหม่ได้ อย่างเช่นมุมมองทางความคิดแบบวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกพัฒนาให้โดดเด่นขึ้นโดยมาร์กซ์ด้วยวลีอันโด่งดังที่ว่า “การดำรงอยู่ของสังคมนั้นกำหนดจิตสำนึก” ซึ่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์สำคัญขนาดใหญ่ขึ้นมันจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงอันตรายและความไม่ปลอดภัยของระเบียบสังคมเก่าและจะโน้มน้าวให้มวลชนเรียกหาการโค่นล้มระบบสังคมเก่าอย่างสมบูรณ์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ต้องอาศัยเวลาและไม่ได้ดำเนินไปโดยอัตโนมัติ

ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้นได้ปรากฏให้เห็นว่าการต่อสู้ทางชนชั้นในยุโรปนั้นกลายเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ แต่ในปัจจุบันนี้ความขัดแย้งที่สะสมมาอย่างยาวนานได้แสดงให้เห็นออกมาอย่างชัดเจน และกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการระเบิดออกของการต่อสู้ทางชนชั้นในทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาซึ่งปัจจัยและเงื่อนไขของการต่อสู้นั้นมีเพียบพร้อมอยู่แล้ว มันเป็นสภาวการณ์ที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันแหลมคมอย่างฉับพลันได้โดยปริยาย

ในห้วงเวลาที่มาร์กซ์และเองเกลส์เขียนแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นนั้นพวกเขาทั้งคู่ยังเป็นคนหนุ่มที่มาอายุเพียง 29 และ 27 ปีตามลำดับเท่านั้น พวกเขาเขียนมันขึ้นในห้วงเวลาของการโต้กลับอย่างรุนแรงจากพวกปฏิกิริยา มันเป็นห้วงเวลาที่ชนชั้นแรงงานไม่สามารถจะเคลื่อนไหวได้ ตัวแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นี้ถูกเขียนขึ้นในบรัสเซลส์ ในเมืองที่ผู้เขียนแถลงการณ์นั้นถูกบีบบังคับให้ต้องลี้ภัยในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง และเมื่อแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นี้ได้เผยโฉมสู่สายตาชาวโลกในปี 1848 นั้นการปฏิวัติก็ได้ปะทุขึ้นแล้วในปารีส และไม่กี่เดือนหลังจากนั้นมันก็ลุกลามไปทั่วภาคพื้นทวีปยุโรปราวกับไฟป่า

ในปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาของการหดตัวที่จะกินเวลาไปอีกไม่กี่ปี เช่นเดียวกับช่วงเวลาของการต่อสู้ในสเปนระหว่างปี 1930 ถึง 1937 เราอาจจะพ่ายแพ้และล่าถอยแต่ชนชั้นแรงงานจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เหล่านี้อย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่การพูดโอ้อวดเกินจริง เรากำลังก้าวเข้าสู่การเริ่มต้นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น และเป็นที่ชัดเจนว่าเราเป็นพยานผู้รู้เห็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของมวลชน ผู้คนจำนวนมากที่เริ่มตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจะขยับเข้าสู่การเปิดรับความคิดแบบมาร์กซิสต์มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และในห้วงเวลาที่กำลังจะมาถึงนี้แนวคิดเรื่องการปฏิวัติที่ถูกจำกัดวงอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆมาเนิ่นนานจะกลายเป็นความคิดที่มีคนนับล้านยึดถือ

ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจจะตอบคำถามแก่ฟูกุยามาได้ว่า : ประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้สิ้นสุดลง อันที่จริงประวัติศาสตร์พึ่งจะเริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำ ในอนาคตเมื่อคนรุ่นใหม่ย้อนมองกลับมาดู “อารยธรรม” ในปัจจุบัน พวกเขาก็คงจะมีมุมมองที่คล้ายกันว่ายุคสมัยของเรานั้นคือยุคสมัยที่ยอมรับความโหดร้ายป่าเถื่อนของทุนนิยม เงื่อนไขประการแรกสำหรับการขยับไปสู่พัฒนาการของมนุษย์ในระดับที่สูงนั้นคือการโค่นล้มระบบทุนนิยมอนาธิปไตย และสถาปนาแผนการผลิตที่มีเหตุมีผลและเป็นประชาธิปไตยที่จะทำให้มนุษย์สามารถจะเลือกและกำหนดโชคชะตาของพวกเขาได้ด้วยตัวเองจริงๆ

“นักสัจนิยม” ย่อมจะบอกกับเราว่า “นี่มันเป็นเรื่องอุดมคติเพ้อฝัน!” หากแต่สิ่งที่เป็นเรื่องเพ้อฝันอย่างแท้จริงที่สุดนั้นคือการเชื่อว่าปัญหาต่างๆที่มนุษยชาติกำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันนี้จะถูกแก้ไขลงด้วยการใช้ระบบแบบเดิมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันต่างหาก การกล่าวว่ามนุษยชาตินั้นไม่สามารถจะมองหาหรือสร้างทางเลือกที่ดีกว่าการอยู่ภายใต้กฏอันป่าเถื่อนคือการดูถูกมนุษยชาติอย่างร้ายแรงที่สุด

ด้วยการควบคุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และปลดปล่อยมันจากการถือครองของระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและแนวคิดรัฐชาติ จะเป็นหนทางไปสู่การแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นซึ่งกำลังบ่อนทำลายโลกที่เราอาศัยอยู่ ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของมนุษย์นั้นจะเริ่มขึ้นเมื่อมนุษย์ได้ร่วมกันโค่นล้มระบบทุนนิยมและเริ่มต้นก้าวเดินเข้าไปสู่ปริมณฑลของเสรีภาพที่แท้จริง.

 

London, June 16, 2017

 

***** ประกาศ *****

 

Group of Comrades กลุ่มนักกิจกรรมที่ยึดแนวทาง marxism กำลังเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ หากท่านสนใจในแนวทางการทำิจกรรมแบบ marxism หรือสนใจจะศึกษาแนวคิด marxism แล้วท่านสามารถกรอกใบสมัครได้ตาม link ที่แนบมานี้ครับ

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSckRaY3oNyY8-8c-qN1xi1R_IDIapc42cPOyaH_YiJTCwpdfQ/viewform

หรือ

หากท่านสนใจจะสมัครเข้าร่วมองค์กร International Marxist Tendency ท่านสามารถกรอกใบสมัครได้ที่นี่

https://www.marxist.com/join-us.htm

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ 101 – ความคิดปฏิวัติของคาร์ล มาร์กซ์(Marxism 101
จักรพล ผลละออ
 วิกฤตของลัทธิมาร์กซิสม์ : บทสัมภาษณ์ของหลุยส์ อัลธูแซร์The Crisis o
จักรพล ผลละออ
 ชีวประวัติและความคิดของหลุยส์ อัลธูแซร์Biography and idea of Louis Althusser
จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ 101 – ระบบสังคมนิยมจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?(Marxism 101 – What will socialism loo
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสต์ 101 – ทฤษฎีว่าด้วยวิกฤตทุนนิยมแบบมาร์กซิสต์(Marxism 101 – the Marxist Theory of Crisis of Capitalism) By Rob Sewell. Translated by Jakkapon P. 
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 101 – มายาคติเกี่ยวกับมาร์กซิสม์(Marxism 101 – The myths about Marxism)By Marxist Student Federation. Translated by Jakkapon P. 
จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ 101 – ทำไมเราจึงควรเป็นนักสังคมนิยม(Marxism 101 – why you should be a socialist)By Rob Sewel
จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ 101 - 14 คำถามนี่นักมาร์กซิสต์ต้องเจอ(Marxism 101 - Frequ
จักรพล ผลละออ
picture from : https://www.youtube.com/watch?v=nSNAhib3B_M 
จักรพล ผลละออ
 บทนำเสนอความคิดของอัลธูแซร์ฉบับกะทัดรัด(Introduction to Al
จักรพล ผลละออ
 บทนำเสนอความคิดของมาร์กซ์ฉบับกะทัดรัด(Introduction to Marx)By Felluga, Dino.