Skip to main content

มาร์กซิสต์ 101 – ทฤษฎีว่าด้วยวิกฤตทุนนิยมแบบมาร์กซิสต์

(Marxism 101 – the Marxist Theory of Crisis of Capitalism)

 By Rob Sewell. Translated by Jakkapon P.

 

“อะไรคือความหมายของสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่าความขัดแย้งภายในระบบทุนนิยม?” คำถามนี้ถูกถามขึ้นโดย Samuel Brittan นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวาโดยการเขียนลงในหนังสือพิมพ์ the Financial Times “เป็นคำถามที่ง่ายมาก สิ่งที่มาร์กซ์กำลังพูดถึงคือระบบที่ขยายการไหลของสินค้าและบริการจนล้นเกิน ซึ่งทำให้ประชากรของชนชั้นกรรมาชีพนั้นไม่สามารถจะซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านี้ได้ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนภายหลังการล่มสลายลงของระบบโซเวียต เรื่องนี้คงกลายเป็นมุมมองที่ล้าสมัยไปแล้ว หากแต่เราจำเป็นต้องมองในอีกมุมหนึ่ง ด้วยการมองในมุมของการเพิ่มขึ้นของการผูกขาดความมั่งคั่งและรายได้”

ด้วยการวนกลับมาของวิกฤตของระบบทุนนิยม มันย่อมก่อให้เกิดการรื้อฟื้นคุณค่าของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ขึ้นมาใหม่ กระทั่งในหมู่นักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีเองก็เริ่มที่จะถูกบีบให้หันมาออกความเห็นโดยพูดถึงความคิดของมาร์กซ์มากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงการพูดเพื่อต่อต้านความคิดของมาร์กซ์ แทบจะไม่มีวันไหนเลยที่จะผ่านไปโดยปราศจากการที่หนังสือพิมพ์ด้านการเงินไม่กล่าวอ้างถึงมาร์กซ์ นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดและสถานการณ์ดังกล่าวนี้ยิ่งช่วยส่งเสริมคุณค่าและสร้างความจูงใจให้เราหันมามองทฤษฎีว่าด้วยวิกฤตของมาร์กซ์ด้วยซ้ำ

ประโยชน์สำคัญที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำหน้าที่ในการรื้อฟื้นข้อถกเถียงว่าด้วยการอธิบายวิกฤตของระบบทุนนิยมว่าเกิดจาก”การบริโภคตกต่ำ” ซึ่งในความหมายอย่างกว้างแล้วมันเชื่อมโยงกับปัญหาของทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเงื่อนไขของวิกฤตการณ์ พร้อมกับการขาดความต้องการซื้อในระบบเศรษฐกิจ ตามทฤษฎีดังกล่าวนี้ระบบทุนนิยมนั้นตกอยู่ในแนวโน้มที่จะผลิตสินค้าที่มากเกินกว่ากำลังบริโภคจะรับไหว ทฤษฎี “การบริโภคตกต่ำ” สมัยใหม่นั้นมีลักษณะที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับJohn Maynard Keynes ผู้เชื่อว่าปัญหาของการขาดความต้องการซื้อ ”ที่มีประสิทธิภาพ” นั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการแทรกแซงของรัฐผ่านการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล

บ่อยครั้งที่ทฤษฎีเรื่อง “การบริโภคตกต่ำ” นี้ถูกนำมาปะปนกับความคิดของมาร์กซ์ หากแต่มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับที่มาร์กซ์พูดและอธิบายเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว ในขณะที่ความคิดเรื่องการบริโภคตกต่ำนั้นดำรงอยู่เพื่อคนจำนวนมาก ดังเช่นที่แรงงานคนไหนๆก็สามารถยืนยันได้ หากแต่มันไม่ได้พุ่งตรงไปที่สาเหตุโดยตรงของวิกฤตของระบบทุนนิยม

ความคิดเรื่อง “การบริโภคตกต่ำ” นั้นเป็นความคิดที่มีมาก่อนหน้า Keynes และกระทั่งมีมาก่อนหน้ามาร์กซ์ เราสามรถพบความคิดเรื่องนี้ได้ในงานเขียนของนักสังคมนิยมเพ้อฝันชื่อดัง อย่างเช่น Robert Owen หากแต่ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปนั้นคือ Jean Charles Sismondi (1773-1842), Thomas Malthus (1766-1834) และ Johann Karl Rodbertus (1805-1875)

ทฤษฎีเรื่อง ”การบริโภคตกต่ำ” ที่มีความคงเส้นคงวาและได้รับการพัฒนามากที่สุด ตลอดจนมีความสามานย์น้อยที่สุดนั้น คืองานของ Jean Charles Sismondi ดังเช่นที่เองเกลชี้ให้เห็นว่า “คำอธิบายเรื่อง “การบริโภคตกต่ำ” ที่นำมาใช้อธิบายวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้มีที่มาจาก Sismondi และในการอธิบายศัพท์ของเขานั้นคำนี้ก็ยังคงมีความหมายที่แน่นอน” สิ่งที่เองเกล กล่าวว่าเป็น “ความหมายที่แน่นอน” นี้ได้รับการอธิบายจำกัดความโดยมาร์กซ์ ดังเช่นที่เราจะเห็นได้จากงานเขียนของเขาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้

งานชิ้นสำคัญของ Sismondi เรื่อง New Principles of Political Economy ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1819 ในงานชิ้นนี้เขายังคงอธิบายว่าต้นตอของวิกฤตโดยทั่วไปนั้นเนื่องมาจากกำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งในทางเดียวกันแล้วก็เนื่องจากการแบ่งแยกเอามูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้าออกมาจากความต้องการและความจำเป็นของสังคม ตามความคิดของ Sismondi แล้วการผลิตสินค้าจนล้นเกินนั้นไม่ได้กำเนิดขึ้นมาจากการเติมเต็มความต้องการของมนุษย์จนล้นเกิน แต่เกิดจากการกระจายตัวที่ไม่สม่ำเสมอของรายได้และความยากจนของคนจำนวนมาก อันก่อให้เกิดความต้องการซื้อไม่มากพอในสังคม สรุปอย่างสั้นแล้ว ชนชั้นแรงงานนั้นไม่ได้รับค่าแรงที่มากพอที่จะซื้อสินค้าที่พวกเขาเป็นผู้ผลิตได้ ซึ่งนี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นอยู่เสมอภายใต้ระบบทุนนิยม

 

กฎของซาย (Say’s Law)

ถึงแม้ว่าในด้านหนึ่งนั้น Sismondi นั้นจะไม่ได้ผิดไปเสียทั้งหมดในการตั้งสมมุติฐานของเขา อันที่จริงงานของเขานั้นนับว่ามีการตั้งข้อสังเกตที่ถูกต้องอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับการยอมรับจากมาร์กซ์ และเป็นตัว Sismondi เองที่ได้ชี้ให้เห็นความผิดพลาดในงานของ Jean Baptiste Say (ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก James Mill และ David Ricardo) ที่ว่าผู้ขายทุกคนนั้นย่อมจะพบกับข้อเสนอขายที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ (“กฎของซาย” – “Say’sLaw”) และดังนั้นแล้วพวกเขาจึงมองว่าสิ่งที่เรียกว่าการผลิตจนล้นเกินนั้นคือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ตามความคิดของพวกเขา ระบบเศรษฐกิจนั้นย่อมจะดำเนินการไปถึงจุดสมดุลอยู่เสมอ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทฤษฎีอัน “สามานย์” เรื่องความสมดุลนี้คือต้นกำเนิดที่แท้จริงของ “สมมุติฐานเรื่องตลาดที่มีประสิทธิภาพ” ซึ่งกล่าวว่าระบบเศรษฐกิจที่ถูกปล่อยให้เติบโตด้วยตนเองนั้นจะเป็นการทำให้มันเติบโตไปถึงระดับสูงสุดได้ และนี่คือลัทธิความเชื่อของความคิดแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ – แม้กระทั่งความผิดพลาดของมันนี้จะถูกเปิดเผยออกมาแล้วโดยการล่มสลายครั้งใหญ่ของกำลังการผลิตอันเนื่องมาจากความถดถอยทางเศรษฐกิจในปี 2008-2009

แต่ก็ยังแตกต่างจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีสามานย์ที่ปฏิเสธความคิดเรื่องวิกฤต อย่าง J.B Say แต่ Sismondi นั้นเข้าใจว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นคือเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการของการผลิตสินค้า อย่างไรก็ตามความเข้าใจของเขาต่อธรรมชาติที่เป็นจริงของวิกฤตทุนนิยมที่กำลังพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆนั้น ก็ยังคงจำกัดอยู่ และเป็นความเข้าใจเพียงด้านเดียว ธรรมชาติที่แท้จริงของระบบทุนนิยม และความขัดแย้งใจกลางของระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นที่กระจ่างชัดในปัจจุบัน ไม่เคยอยู่ในการอธิบายของเขา แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างในงานของเขา แต่มาร์กซ์ก็ให้ความเคารพต่อเขาในมองเขาในฐานะนักคิดต้นตำรับที่ก้าวออกจากการเป็นนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก และมุ่งมั่นไปสู่การทำความเข้าใจต่อระบบทุนนิยม และแนวโน้มของมันที่จะก้าวไปสู่วิกฤต ในแง่นี้เอง Sismondi จึงมีคุณค่าในระดับที่สูงกว่า David Ricardo ผู้เป็นตัวอันโดดเด่นของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิกแบบกระฎุมพี

“Sismondi นั้นมีความตระหนักรู้อย่างที่สุดถึงความขัดแย้งภายในกระบวนการผลิตแบบทุนนิยม” มาร์กซ์เขียน “เขารู้ดีว่าในด้านหนึ่ง รูปแบบของมัน – ความสัมพันธ์ทางการผลิตของมัน – ได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างรุนแรงของกำลังการผลิตและความมั่งคั่ง และดังนั้นแล้วในอีกด้านหนึ่ง บรรดาเงื่อนไขและความสัมพันธ์นี้ ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง มูลค่าใช้สอยกับมูลค่าแลกเปลี่ยน ระหว่างสินค้ากับเงิน ระหว่างการซื้อและการขาย ระหว่างการผลิตกับการบริโภค ระหว่างนายทุนกับแรงงานรับจ้าง ฯลฯ อันกลายเป็นมิติของความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเช่นเดียวกับการพัฒนากำลังการผลิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”

มาร์กซ์ได้เขียนต่อไปว่า “Sismondi นั้นรู้ดีถึงความขัดแย้งขั้นพื้นฐาน ในทางหนึ่งนั้นคือการพัฒนากำลังการผลิตที่ไม่ถูกจำกัด และการขยายตัวของความมั่งคั่ง ซึ่งในห้วงเวลาเดียวกันนั้นคือการกำเนิดขึ้นของสินค้าจำนวนมากที่จะต้องถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเงิน ในอีกทางหนึ่งนั้นคือ ระบบที่วางตัวเองอยู่บนความจริงที่ว่าการผลิตขนาดใหญ่นี้ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยความต้องการที่จำเป็น ดังนั้นแล้วตามความคิดของ Sismondi วิกฤตที่เกิดขึ้นจึงไม่เรื่องของอุบัติเหตุ เหมือนที่ Ricardo ยืนยัน หากแต่เป็นการระเบิดออกตามธรรมชาติ – มันจะเกิดขึ้นในระดับกว้างและเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แน่นอน – มันคือการระเบิดออกของความขัดแย้งที่มีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่งในระบบทุนนิยม”

ในขณะที่ตระหนักถึงคุณูปการมหาศาลที่ Sismondi ได้ทิ้งไว้ให้ มาร์กซ์ก็ยังคงตระหนักดีถึงข้อบกพร้องและข้อจำกัดของเขา ที่เป็นเช่นเดียวกับบรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย

“เขา [Sismondi] ได้มุ่งมั่นในการวิพากษ์ความขัดแย้งของการผลิตแบบกระฎุมพีอย่างมาก หากแต่ไม่ได้มีความเข้าใจต่อมัน และดังนั้นแล้วเขาจึงไม่เข้าใจกระบวนการว่าจะแก้ไขมันได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ในรากฐานของความคิดของเขานั้นก็ยังมีความระแคะระคายว่ารูปแบบใหม่ของการถือครองความมั่งคั่งนั้นจะต้องสอดคล้องต่อกำลังการผลิตและเงื่อนไขทางวัตถุและสังคมเพื่อการผลิตสร้างความมั่งคั่งที่ได้พัฒนาขึ้นมาภายในสังคมทุนนิยม ดังนั้นรูปแบบสังคมแบบกระฎุมพีจึงเป็นรูปแบบของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งความมั่งคั่งนั้นจะบรรลุได้แต่เพียงการดำรงอยู่ในฐานะของสิ่งที่พึงปรารถนา และปรากฏขึ้นในทุกหนทุกแห่งในเวลาเดียวกันในฐานะสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับตัวมันเอง”

 

มัลธัส (Malthus)

Thomas Malthus นั้นไม่ได้นำเสนออะไรที่ใหม่ไปกว่าสิ่งที่ Sismondi ได้เสนอเอาไว้แล้ว หากแต่ Malthus นั้นเป็นพวกปฏิกิริยาสามานย์ ผู้พยายามจะหยิบใช้งานเขียนของ Simondi อย่างหยาบช้าเพื่อสร้างข้อโต้แย้งที่จะแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ของ “บรรดาขุนนาง โบสถ์ ผู้เสพภาษี พวกช่างประจบ ฯลฯ” มาร์กซ์นั้นมองว่า Malthus คือนักขโมยความคิดที่เป็นด้านอ่อนแอของ Adam Smith และเป็นเพียงภาพล้อเลียนของ Sismondi  

มาร์กซ์ได้พัฒนาความคิดเรื่องวิกฤตทุนนิยมของเขาขึ้นจากรากฐานของการศึกษาและการวิพากษ์งานเศรษฐศาสตร์คลาสสิกทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานชิ้นสำคัญที่โดดเด่นกว่าคนอื่นๆ นั่นคือการวิพากษ์งานของ Adam Smith และ David Ricardo ในขณะที่มาร์กซ์นั้นยังไม่ได้เขียนหนังสือที่เฉพาะเจาะจงในการอธิบายวิกฤตทุนนิยม หากแต่ทฤษฎีเรื่องวิกฤตของเขานั้นได้ปรากฏตัวผ่านงานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ของเขา โดยเฉพาะในเรื่องทุนและทฤษฎีว่าด้วยมูลค่าส่วนเกิน

 

อัตราส่วนของกำไร

มีผู้คนบางส่วนนั้นเชื่ออย่างผิดๆว่าแนวโน้มที่เสื่อมถอยลงของอัตราส่วนของกำไรเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของวิกฤตในระบบทุนนิยม หากแต่นี่เป็นเรื่องที่ผิดพลาดและมาร์กซ์ก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องในลักษณะดังกล่าวนี้เลย ในขณะที่มันไม่มีข้อสงสัยถึงความสำคัญของแนวโน้มดังกล่าวภายใต้ระบบทุนนิยม แต่อัตราส่วนกำไรนั้นดำเนินการในฐานะของแนวโน้มระยะยาวที่จัดวางตัวอยู่บนระบบ มาร์กซ์นั้นได้กล่าวอย่างแม่นยำด้วยตัวเขาเองว่า กลไกตอบโต้นั้นได้เปลี่ยนแปลงกฎดังกล่าวให้กลายไปเป็นแนวโน้ม อธิบายความเป็นเอกลักษณ์ของมันว่าเป็นเสมือน “กฎที่เคลื่อนไปข้างหน้าในเชิงซ้อน” นอกจากนี้มาร์กซ์ยังได้อธิบายอีกว่า “กฎที่ว่านี้ดำเนินการที่ทำให้มันกลายไปเป็นเพียงแนวโน้ม ที่ผลกระทบต่างๆนั้นจะถูกชี้ขาดแต่เฉพาะภายใต้สภาพการณ์อันเป็นเอกลักษณ์ที่แน่นอนและผ่านช่วงเวลาอันยาวนาน”

มันมีช่วงเวลาอันยาวนานที่อัตราส่วนกำไรนั้นตกลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการจบลงของช่วงเวลาอันยาวนานของการสั่นสะเทือนของมทุนอันเนื่องมาจากผลของสงครามโลกครั้งที่สอง หากแต่มันยังมีช่วงเวลาที่อัตราส่วนกำไรนั้นขยายตัวขึ้นดังเช่นในช่วงสามสิบล่าสุด ดังนั้นแล้วพวกเราจึงจำเป็นจะต้องมองหาพื้นที่สำหรับการอธิบายถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งมาร์กซ์ได้เปิดเผยเอาไว้ในงานเขียนทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่กว้างขวางของเขา

ในทฤษฎีเรื่องมูลค่าส่วนเกิน ที่เองเกลเรียกมันว่าเป็นหนังสือว่าด้วยทุนเล่มที่สี่ มาร์กซ์ได้มอบเค้าโครงอันกระจ่างชัดว่าด้วยความขัดแย้งขั้นพื้นฐานที่กำลังเผชิญหน้ากับระบบทุนนิยม

“ความจริงที่ว่าการผลิตแบบกระฎุมพีนั้นได้รับแรงจูงใจด้วยกฎของตัวมันเองที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในทางหนึ่งนั้น เพื่อที่จะพัฒนากำลังการผลิต ราวกับว่าการผลิตนั้นไม่ได้จัดวางตัวเองอยู่ในรากฐานทางสังคมที่ถูกจำกัดไว้อย่างคับแคบ ในขณะที่ ในอีกทางหนึ่ง มันสามารถพัฒนากำลังการผลิตนี้ได้ผ่านขีดจำกัดอันคับแคบ นี่คือสาเหตุที่ลึกซึ้งที่สุดที่ถูกซ่อนเอาไว้ลับที่สุดของที่มาของวิกฤต ของความขัดแย้งอันใหญ่โตภายในกระบวนการผลิตแบบกระฎุมพีที่แบบรับมันไว้ และกระทั่งการเหลือบมองเพียงผ่านๆก็สามารถเผยให้เห็นมันในฐานะของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเพียงเท่านั้น คือเป็นรูปแบบของรูปแบบทางประวัติศาสตร์”

“นี่คือการฉกฉวยที่ค่อนข้างหยาบช้า แต่กระนั้นก็ตามมันได้ถูกนำมาอธิบายอย่างถูกต้องโดย Sismondi ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่างการผลิตเพื่อการผลิตกับการกระจายสินค้าที่ก่อให้เกิดพัฒนาการสัมบูรณ์ของสิ่งไม่สามารถทำการผลิตได้”

มาร์กซ์ได้แถลงในหลายครั้งว่าเหตุผลที่แท้จริงของวิกฤตทุนนิยมนั้นคือการผลิตจนล้นเกิน หากแต่นี่ไม่ใช่การผลิตจนล้นเกินที่สัมพันธ์ต่อสิ่งที่ผู้คนจำเป็นหรือต้องการ ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด การผลิตจนล้นเกินนั้นเกี่ยวพันอยู่เพียงแต่กับสิ่งที่สามารถขายเพื่อสร้างกำไรได้ “ตัวอย่างเช่นกรณีประเทศอังกฤษนั้น มันถูกบีบบังคับให้ต้องปล่อยเงินทุนกูยืมให้กับประเทศอื่นเพื่อสร้างตลาดสำหรับรองรับสินค้าของพวกเขา” มาร์กซ์เขียนอธิบาย

“การผลิตจนล้นเกิน ระบบสินเชื่อ ฯลฯ นั้นมีความหมายถึงการที่การผลิตของนายทุนพยายามมองหาวิธีที่จะทำลายแนวกั้นขวางของตนเอง และเพื่อจะผลิตสินค้าที่มากเกินและเหนือกว่าขีดจำกัดของตัวมันเอง ... ดังนั้นแล้ววิกฤตย่อมจะกำเนิดขึ้นมา ซึ่งมันย่อมจะผลักดันให้วิกฤตขยายตัวขึ้นและอยู่เหนือ [ขีดจำกัดของตัวเอง] ไปพร้อมๆกันในเวลาเดียว เพื่อที่จะบรรลุการพัฒนากำลังการผลิตซึ่งควรจะพัฒนาไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้ขีดจำกัดของตัวมันเอง”

มาร์กซ์ตอกย้ำเรื่องนี้หลายครั้งผ่านงานเขียนของเขา “การผลิตจนล้นเกินนั้นคือเงื่อนไขอันมีลักษณะเฉพาะจากกฎทั่วไปของการผลิตในระบบทุนนิยม นั่นคือการทำการผลิตไปจนถึงขีดจำกัดที่กำหนดโดยกำลังการผลิต หรือกล่าวคือ ทำการขูดรีดปริมาณแรงงานให้มากที่สุดด้วยจำนวนทุนเท่าที่มีอยู่ โดยปราศจากพิจารณาใดๆถึงขีดจำกัดที่เป็นจริงของตลาดหรือของความต้องการที่มีที่มาจากความสามารถในการซื้อ”

 

กระบวนการผลิตซ้ำ

มาร์กซ์ได้อธิบายเอาไว้อีกครั้งในหนังสือว่าด้วยทุนเล่มที่สอง ว่า “ปริมาณของสินค้าจำนวนมหาศาลนั้นถูกนำเข้ามาโดยกระบวนการผลิตแบบทุนซึ่งถูกกำหนดโดยขนาดของการผลิตและความต้องการการขยายตัวอย่างคงที่ของการผลิต โดยไม่ได้คำนวณล่วงหน้าถึงหลักความต้องการซื้อความต้องการขาย หรือไม่ได้ดำเนินไปเพื่อเติมเต็มความต้องการ นอกเหนือไปจากทุนอุตสาหกรรมอื่นๆ การผลิตจำนวนมากนั้นจะมีเพียงพ่อค้าขายส่งคนกลางเท่านั้นที่จะขนถ่ายสินค้าเพื่อรอการซื้อขายในทันที ซึ่งภายใต้พันธะที่แน่นอนนี้กระบวนการการผลิตนั้นย่อมจะดำเนินไปบนกระบวนการแบบเดิมซ้ำๆหรือดำเนินไปพร้อมกับการขยายตัว แม้ว่าสินค้าจำนวนมหาศาลที่ถูกส่งออกมาจากกระบวนการนี้จะไม่ได้เข้าถึงการบริโภคทั้งของปัจเจกบุคคลและการผลิตอย่างแท้จริงก็ตาม การบริโภคสินค้านั้นไม่ได้ประกอบอยู่ในวงจรของทุนที่มันปรากฏตัวออกมา ตราบเท่าที่สินค้านั้นยังถูกขายได้ ตัวอย่างเช่น วงจรของคุณค่าแบบทุนนั้นแสดงตัวเองให้เห็นเมื่อเส้นด้ายนั้นสามารถที่จะผลิตขึ้นมาได้อีกครั้ง โดยไม่คำถึงว่าอะไรคือสิ่งที่สร้างเส้นด้ายขึ้นมาเมื่อมันถูกขาย ตราบเท่าที่ผลผลิตนั้นถูกขายได้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นย่อมดำเนินไปตามสาเหตุอันปกตินี้ และตราบเท่าที่มันยังคงเกี่ยวพันอยู่กับระบบการผลิตแบบทุนนิยม วงจรคุณค่าแบบทุนที่มันนำเสนอตัวเองนั้นย่อมจะไม่ถูกขัดจังหวะลง”

มาร์กซ์ได้เสนอต่อไปด้วยการอธิบายว่าการขยายตัวนี้ได้ทำให้กระบวนการผลิตทั้งหมดสำเร็จลุลาวงได้ อย่างไรก็ตาม มันมีสินค้ากองพะเนินและเป็นสินค้าที่ขายไม่ได้อยู่ในมือของพ่อค้าปลีก และยังคงเป็นสินค้าที่ค้างอยู่ในตลาด “ในกระแสธารหนึ่งของสินค้า” มาร์กซ์เขียน “ย่อมจะไหลตามกระแสธารอื่น และในท้ายที่สุดแล้วมันย่อมปรากฏออกมาว่ากระแสธารก่อนหน้านั้นดูเหมือนว่าจะถูกกลืนกินจนหมดสิ้นไปด้วยการบริโภค ระบบทุนสินค้าในตอนนี้นั้นต้องแข่งขันกับสินค้าอื่นๆเพื่อแย่งชิงพื้นที่ในตลาด สินค้าที่ขายออกช้านั้นย่อมจะต้องลดราคาของตัวเองลงเพื่อที่จะสามารถขายสินค้านั้นๆให้หมดได้ สินค้าในกระแสแรกนั้นยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปสู่เงินทันทีในขณะที่ราคาขายของมันลดลง บรรดาเจ้าของสินค้านั้นย่อมจะประกาศว่าตัวเองล้มละลายหรือขายสินค้าทั้งหมดในราคาใดก็ได้เพื่อที่จะให้มีคนซื้อ การขายนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ตามไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความต้องการซื้อที่แท้จริงหากแต่มันเพียงทำงานอยู่กับความต้องการที่จะจ่ายเท่านั้น ด้วยความจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงสินค้าให้กลายเป็นเงิน ในจุดนี้เองที่วิกฤตได้ปรากฏตัวขึ้น ในเบื้องแรกนั้นมันปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจนหากแต่ไม่ใช่ในการลดลงโดยตรงของความต้องการของผู้บริโภค หรือความต้องการสำหรับการบริโภคของปัจเจกบุคคล หากแต่ค่อนข้างจะปรากฏขึ้นในการเสื่อมถอยลงของจำนวนการแลกเปลี่ยนของทุน ในกระบวนการผลิตซ้ำของทุน”

จุดสำคัญของเรื่องนี้ถูกย้ำขึ้นอีกครั้งในหนังสือว่าด้วยทุนเล่มสาม ที่มาร์กซ์ได้เน้นย้ำ (อีกครั้ง) ถึงความขัดแย้งขั้นพื้นฐานของวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ว่า “สาเหตุที่หนักหนาที่สุดของวิกฤตที่แท้จริงนั้นรักษาความยากจนและการสร้างข้อจำกัดในการบริโภคของมวลชนอยู่เสมอประหนึ่งการต่อต้านที่มีต่อการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตแบบทุนที่จะพัฒนากำลังการผลิตราวกับว่ามีเพียงกำลังการบริโภคของสังคมเท่านั้นที่สถาปนาขีดจำกัดของตัวมันขึ้นมา”

 

การผลิตจนล้นเกิน

บรรดา “ผู้ปราดเปรื่อง” นั้นพยายามที่จะทำความเข้าใจรอบๆการอธิบายที่ชัดเจนถึงวิกฤตโดยการกล่าวอ้างว่าถ้อยแถลงของมาร์กซ์นี้เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ เป็นเพียง “การพรรณนา” หรือ “เป็นเพียงการพูดอย่างลอยๆ” แต่ทว่าเพียงแค่การตรวจสอบข้อเขียนนี้อย่างคร่าวๆก็สามารถแสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ข้อเขียนของมาร์กซ์นั้นห่างไกลจากการเป็นเรื่องบังเอิญ หากแต่การอธิบายของเขานั้นในความเป็นจริงแล้วคือหัวใจหลักของทฤษฎีเรื่องวิกฤตของมาร์กซ์ มันเป็นทฤษฎีที่ไม่ได้จัดวางตัวเองอยู่บนเรื่อง “การบริโภคตกต่ำ” ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีที่สุดเป็นแค่การอธิบายด้านเดียว แต่ไม่ได้อธิบายถึงหัวใจสำคัญของความขัดแย้งของการผลิตจนล้นเกินภายใต้ระบบทุนนิยม มาร์กซ์และเองเกลนั้นได้กล่าวถึงเรื่องนี้แล้วในงานเรื่องแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ที่อธิบายถึงสภาวะการผลิตจนล้นเกินว่าเป็นเสมือนโรคระบาด “ในช่วงสมัยแรก ซึ่งอาจจะฟังดูเหมือนเรื่องไร้สาระ – หากแต่มันมีการแพร่ระบาดของการผลิตจนล้นเกินอยู่”

และมันไม่มีใครอื่นนอกจากนักลัทธิแก้ (revisionist) อย่าง Eugene Dühring ผู้หยิบยืมเอาแนวคิดเรื่อง “การบริโภคตกต่ำ” มาใช้ในการอธิบายวิกฤต ซึ่งเขาได้จัดวางมันไปถึงขั้นเพื่อต่อต้านทฤษฎีการผลิตจนล้นเกินของมาร์กซ์ เองเกลได้ชี้ให้เห็นว่า”Rodbertus นั้นหยิบความคิดมาจาก Sismondi และ Dühring นั้นก็ได้คัดลอกเอาความคิดทั้งหมดมาจากงานของ Rodbertus โดยเอามาวางไว้ในงานเขียนอันสามานย์ของเขา”

มันกลายเป็นหน้าที่ของเองเกล พร้อมความช่วยเหลือของมาร์กซ์ ในการจะหักล้างความคิดที่ผิพลาดของ Dühring อันประกอบได้ด้วยความคิดเรื่อง “การบริโภคตกต่ำ” การตอบโต้นี้ครอบคลุมอยู่เหนือบทความจำนวนมากที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของพรรคการเมืองเยอรมัน ซึ่งในภายหลังนั้นถูกนำมารวบรวมไว้เป็นหนังสือชื่อ “วิพากษ์ดูห์ริง” (Anti - Dühring) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1878 และได้กลายมาเป็นงานเขียนชิ้นคลาสสิกที่เป็นรากฐานของทฤษฎีมาร์กซิสม์

ความสำคัญในงานเขียนชิ้นนี้ซึ่งมีต่อวิกฤตของระบบทุนนิยมนั้นคือการอธิบายในงานเรื่อง วิพากษ์ดูห์ริง ที่ไม่ได้ประกอบเพียงแต่การอ้างอิงถึงแนวโน้มของอัตราส่วนกำไรที่จะถดถอยลง แน่นอนมันไม่ใช่เพียงการอ้างคำศัพท์อย่างโดดเดี่ยวเพียงคำเดียว – และไม่ใช่กระทั่ง “การโยนหินสุ่ม” ที่ทำให้เกิดการค้นพบหัวข้อนี้ขึ้น นักวิชาการ “มาร์กซิสต์” บางส่วนนั้นถูกทำให้ขุ่นเคืองอย่างยิ่งด้วยความเงียบงันนี้ พวกเขาขุ่นเคืองถึงขั้นที่กระทั่งพยายามโต้แย้งว่าแนวคิดของเอลเกลนั้นไม่ได้ตรงกันกับมาร์กซ์ และสรุปว่าเองเกลนั้นไม่ใช่นักมาร์กซิสต์!

ความคิดแบบดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นในงานของ ศาสตราจารย์ M.C. Howard และผู้บรรยายอาวุโสทางด้านเศรษฐศาสตร์ J.E. King ผู้นำเสนอความคิดต่อเราผ่านความคิดเรื่องประวัติศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์มาร์กซเซียน ที่กล่าวว่า เองเกลนั้น “นำความคิดของมาร์กซ์มาตีความใหม่ด้วยวิถีทางของตนเอง” และ “ไม่ได้เข้าใกล้ต่อความคิดของมาร์กซ์เลยในการตระเตรียมทฤษฎีว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน” ดังนั้นเราจึงได้รับการสอนจากบทเรียนเชิงวิพากษ์ของเขาว่า “อันที่จริงแล้วด้วยการปล่อยปะละเลยให้อัตราส่วนกำไรนั้นถดถอยลง เขาได้ประกาศละทิ้งจุดยืนสำคัญในงานทฤษฎีว่าด้วยวิกฤตของมาร์กซ์ ถึงแม้ว่าเขาจะยังคงได้รับการติดตามด้วยบรรดานักเศรษฐศาสตร์มาร์กซเซียนส่วนใหญ่ในช่วงก่อนปี 1929” พวกเขาสรุปว่า “ข้อโต้แย้งนี้ยังคงเป็นสิ่งแหลมคม ดังเช่นไม่ว่าเขา [เองเกล] จะถือครองความคิดยุคหลังที่อาจจะสถาปนาแบ่งแยกเป็น “เองเกลอิสม์” ซึ่งด้วยการกำหนดของมันและการประยุกต์เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นั้นเป็นแยกตัวเองออกจากปรัชญาของมาร์กซ์ และกลายเป็นศัตรูโดยตรงต่อปรัชญาของมาร์กซ์ รวมถึงเป็นศัตรูต่อมรรวิธีในการวิเคราะห์ของมาร์กซ์ด้วย ... มันเป็นไปได้ที่เองเกลนั้นตัดสินใจที่ตะสนับสนุนข้อเขียนของมาร์กซ์ด้วยการปรับวิธีคิดแบบมนุษยนิยมของเขาให้สอดคล้องกับงานเขียนของมาร์กซ์”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงแค่ข้อกล่าวหาโคมลอยที่ถูกกุเรื่องขึ้น ซึ่งไม่มีความจริงเลยหากแต่ถูกนำไปพูดและแพร่ขยายไปทั่วราวกับเป็นการซุบซิบนินทาชั้นต่ำ พวกเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งในโลกวิชาการ ซึ่งแยกตัวเองออกจากมาร์กซิสม์หากแต่พยายามที่จะสร้างความโดดเด่นให้ตัวเองด้วยการพยายามสร้างความแตกต่างระหว่างมาร์กซ์กับเองเกล พวกเขาอาจจะเคยอ่านหนังสือที่ถูกต้องทั้งหมดหากแต่มุมมองของพวกเขานั้นไม่ได้มีส่วนไหนที่ตรงกับมาร์กซิสต์เลยแม้แต่น้อย และไม่ตรงกระทั่งกับใครก็ตามที่มองหาการอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์

หากแต่ว่ามันก็อาจจะเป็นเรื่องจริง ดังเช่นที่มีการเสนอมาว่า เองเกลนั้นอาจจะมีส่วนที่เข้าใจผิดหรือนำเสนอมุมมองความคิดของมาร์กซ์ที่มีต่อเศรษฐศาสตร์ออกมาผิด – คำถามคือกรณีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในงานเรื่องวิพากษ์ดูห์ริงหรือไม่? คำตอบคือไม่ มันไม่จริงเลย และสำหรับเหตุผลที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกเขียนขึ้นโดยเองเกล หากแต่ต้นฉบับที่สมบูรณ์นั้นได้รับการอ่านและตรวจทานโดยมาร์กซ์  ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างงานเขียนชิ้นนี้ขึ้นมาในทุกส่วน แล้วมีส่วนไหนบ้างในงานเล่มนี้ที่มาร์กซ์เป็นคนเขียน? ในขณะที่เองเกลนั้นกำลังพุ่งความสนใจที่ปรัชญาประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น ตัวมาร์กซ์เอง ตามที่เองเกลบอก เป็นผู้ที่เขียนบทที่ยาวที่สุดว่าด้วยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในหนังสือเรื่องวิพากษ์ดูห์ริงนี้

และเนื่องจากหนังสือเล่มนี้นั้นถูกเขียนขึ้นมากกว่าหนึ่งทศวรรษหลังเค้าโครงสำหรับงานเรื่องว่าด้วยทุนถูกเขียนเสร็จ และเนื่องจากมาร์กซ์นั้นเสียชีวิตลงเพียงห้าปีภายหลังการตีพิมพ์ ข้อเขียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ของมาร์กซ์ในงานเรื่องวิพากษ์ดูห์ริงจึงสามารถถูกนับได้ว่าเป็นงานเขียนชิ้นสุดท้ายของมาร์กซ์ที่มีต่อวิกฤตของทุนนิยม และแน่นอนว่านี่เป็นสิ่งสุดท้ายที่มาร์กซ์ได้เขียนเกี่ยวกับหัวข้อนี้.

 

วิพากษ์ดูห์ริง (Anti - Dühring)

เราจะขอยกข้อเขียนของเองเกล (และมาร์กซ์) ที่เขียนเอาไว้ในงานเรื่องวิพากษ์ดูห์ริง มาแสดงให้เห็นดังนี้

“เราได้มองเห็นแล้วว่าการขยายตัวของการปรับปรุงของเครื่องจักรสมัยใหม่ให้ดีขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนนั้นก็เนื่องด้วยความไร้ระเบียบของการผลิตทางสังคม ที่เปลี่ยนไปสู่กฎภาคบังคับที่บีบบังคับให้นายทุนอุตสาหกรรมที่เป็นปัจเจกบุคคลจะต้องปรับปรุงเครื่องจักรของตนอยู่ตลอดเวลา และจะต้องขยายกำลังการผลิตของเครื่องจักรอยู่ตลอดเวลา” อธิบายโดยผู้เขียน “การแบกรับความเป็นไปได้ของการขยายพื้นที่ของการผลิตนั้นคือการเปลี่ยนผ่านสำหรับเขาไปสู่สิ่งที่ดูคล้ายกับกฎภาคบังคับ นั่นคือกำลังอันมหาศาลของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นก๊าซพิษแล้วนั้นก็เป็นเพียงแค่การละเล่นของเด็ก ที่ปรากฏต่อสายตาของเราในตอนนี้ประหนึ่งความจำเป็นในการขยายตัว ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยไม่สนใจการต่อต้านใดๆ”

นี่เป็นการอธิบายถึงการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของกำลังการผลิตภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งถูกผลักดันด้วยกฎภาคบังคับ ผู้เขียนนั้นจึงต้องขยับไปสู่การอธิบายถึงความขัดแย้งขั้นพื้นฐานที่แพร่กระจายระบบทุนนิยม เพื่ออธิบายถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของจำนวนสินค้าซึ่งในที่สุดแล้วจะปะทะเข้ากับขีดจำกัดของระบบตลาด

“บรรดาการต่อต้านนี้ถูกนำเสนอขึ้นมาด้วยการบริโภค ด้วยการขาย ด้วยระบบตลาดเพื่อการผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่” เองเกลอธิบาย “หากแต่ความสามารถสำหรับการขยายตัว การกระจายตัว และการเข้มข้นขึ้นของตลาดนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมในขั้นแรกด้วยกฎที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงที่ทำงานน้อยลง”

ตรงนี้เองที่เองเกล (และ มาร์กซ์) ได้อธิบายถึงช่องว่างที่เปิดขึ้นระหว่างการผลิตกับการบริโภค ซึ่งดำเนินการไปด้วยกฎที่แตกต่างกัน ซึ่งกฎบางตัวนั้นอาจจะมีอำนาจมากกว่าตัวอื่น “การขยายตัวของตลาดนั้นไม่สามารถก้าวตามการขยายตัวของการผลิตได้ทัน ดังนั้นการปะทะกันจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ... การผลิตแบบทุนนิยมนั้นได้นำมาซึ่ง “วงจรอันผิดพลาด” อื่นๆ” เองเกลเขียนอธิบายไว้ เขายังได้เขียนถึงประเด็นเดียวกันนี้ในเดือนพฤศจิกายนปี 1886 ซึ่งอาจจะเป็นส่วนนำของงานเรื่องว่าด้วยทุนว่า “ในขณะที่กำลังการผลิตนั้นขยายตัวขึ้นแบบเรขาคณิต แต่การขยายตัวของระบบตลาดนั้นสามารถดำเนินการไปได้ดีที่สุดในรูปแบบของอัตราส่วนทางคณิตศาสตร์”

เช่นนี้แล้ว อะไรกันคือลักษณะของวิกฤตภายใต้ระบบทุนนิยม? เองเกลได้อธิบายว่า “ลักษณะของวิกฤตเหล่านี้นั้นเป็นสิ่งที่โดดเด่นอย่างชัดเจนตามความคิดของ Fourier เมื่อเขาอธิบายว่าอันดับแรกนั้นเป็นเสมือนวิกฤตของความอุดมสมบูรณ์ขั้นสูงสุด” หรือในอีกคำกล่าวหนึ่งก็คือ วิกฤตของการผลิตจนล้นเกิน

นี่เป็นการอธิบายที่ตรงกันกับสิ่งที่มาร์กซ์ได้อธิบายเอาไว้ในหลายครั้ง อย่างเช่น ในงานว่าด้วยทุนเล่มที่หนึ่งที่เขาเขียนว่า พลังอำนาจอันมหาศาล ซึ่งเป็นธรรมชาติภายในระบบโรงงาน อันเป็นพลังงานของการขยายตัวด้วยการก้าวกระโดด และการพึ่งพาของระบบที่มีต่อระบบตลาดโลก ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดการผลิตอย่างเร่งร้อน ตามมาด้วยการเติมเต็มอันล้นเกินของระบบตลาด ครั้นแล้วความขัดแย้งของระบบตลาดย่อมจะนำมาซึ่งการทรุดโทรมลงของการผลิต ชีวิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่นั้นกลายเป็นเส้นเรื่องของห้วงเวลาของกิจกรรม ความเจริญรุ่งเรือง การผลิตจนล้นเกิน วิกฤตและการเสื่อมถอย”

ในการอธิบายทฤษฎีว่าด้วยวิกฤตของมาร์กซ์นั้น เองเกลได้รื้อถอนความพยายามที่จะอธิบายวิกฤตของ Eugene Dühring ที่พยายามใช้หลักการ “การบริโภคตกต่ำของคนหมู่มาก” มาอธิบายวอกฤต เองเกลนั้นได้ร่างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่าง “การบริโภคตกต่ำ” (ซึ่งดำรงอยู่เสมอในสังคมชนชั้น ในฐานะผลลัพธ์ของความยากจนของคนหมู่มาก) และปรากฏการณ์ของการผลิตจนล้นเกิน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากระบบทุนนิยมเพียงที่เดียว

 

มูลค่าใช้สอย

สังคมก่อนทุนนิยมนั้นมีระบบเศรษฐกิจแบบตามธรรมชาติ ซึ่งมีรากฐานหลักอยู่บนการผลิตมูลค่าใช้สอย  ปรากฏการณ์ของสิ่งที่เรียกว่าการผลิตจนล้นเกินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมแบบดังกล่าว ซึ่งได้รับความเดือดร้อนมาจากปัญหาที่เป็นด้านตรงข้ามกันนั่นคือปัญหาของการบริโภคตกต่ำอันเกิดขึ้นมาจากความไม่เพียงพอของมูลค่าใช้สอย เป็นเสมือนผลลัพธ์ของกำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำและจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (โรคระบาด ภัยแล้ง กาฬโรค ฯลฯ) ตลอดจนสงคราม ที่ทำให้สังคมเหล่านี้ตกต่ำลง

การผลิตจนล้นเกินนั้นจึงเป็นลักษณะเฉพาะของระบบทุนนิยม และไม่ได้ดำรงอยู่ในรูปแบบทางสังคมอื่นๆ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากกฎแบบอนาธิปไตยของเศรษฐกิจระบบตลาดและการผลิตสินค้า ภายใต้ระบบทุนนิยม กำลังการผลิตนั้นได้รับการปฏิวัติให้ขยายตัวขึ้นตามที่มันควรเป็น ถ้าหากว่าการผลิตนั้นเป็นไปด้วยการวางแผนและการจัดการที่มีเหตุมีผล และเติมเต็มความต้องการทั้งหมดของสังคมแล้ว มันย่อมจะมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าระบบทุนนิยมและระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล

ในรากฐานของการวางแผนอย่างมีเหตุผลของการผลิต การก่อให้เกิดประโยชน์ของกำลังแรงงานนั้นย่อมจะทำให้มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนส่วนใหญ่ทั้งสังคมสามารถยกระดับสูงขึ้นได้โดยอาศัยช่วงเวลาไม่นาน แต่ทว่าปัญหาก็คือภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นการผลิตไม่ได้ดำเนินไปด้วยการวางแผนอย่างมีเหตุมีผล หากแต่ดำเนินและถูกควบคุมด้วยการพยายามสร้างกำไรสูงสุดและถูกกำหนดโดยอำนาจของระบบตลาด และจุดนี้เองที่เราได้เผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างการผลิตทางสังคมกับการถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล ที่นายทุนได้ถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งซึ่งถูกผลิตขึ้นมาจากกำลังแรงงานทางสังคมของชนชั้นแรงงาน

การผลิตจนล้นเกินนั้นกำเนิดขึ้นมาภายใต้ระบบทุนนิยมเพราะแรงผลักดันที่ไร้ขีดจำกัดเพื่อขยายการผลิตเป็นระยะๆนั้นได้ขยับไปสู่การปะทะกันกับขีดจำกัดบนขอบเขตของระบบเศรษฐกิจตลาด ผู้คนจำนวนมากนั้นจำเป็นและต้องการสิ่งต่างๆหากแต่พวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อมัน พวกเขาขาด “ความต้องการซื้อที่มีประสิทธิภาพ” สอดคล้องกับความคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพี ปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดของการผลิตจนล้นเกิน ที่สินค้าส่วนเกิน สินค้าต่างๆถูกผลิตขึ้นมาเพื่อขายนั้น ไม่สามารถขายได้ อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจากความจริงที่ว่าชนชั้นแรงงานนั้นไม่สามารถจะซื้อมูลค่าเต็มของสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาได้ กำไรนั้นคือแรงงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนของชนชั้นแรงงาน สถานการณ์ดังกล่าวนี้เป็นสถานการณ์ของความไร้เหตุผลไม่ว่าจะมองจากมุมมองใดก็ตาม หากแต่มันเป็นสิ่งที่กำเนิดมาจากความเป็นอนาธิปไตยของระบบเศรษฐกิจตลาดและโครงสร้างชนชั้นของสังคมทุนนิยม

“การบริโภคตกต่ำ” นั้นยังคงดำรงอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมเช่นกัน เหมือนเช่นที่ชนชั้นแรงงานสามารถยืนยันได้ มูลค่าส่วนเกินนั้นไม่ได้กำเนิดขึ้นมาจากเครื่องจักรหรือสิ่งก่อสร้าง ที่เปลี่ยนมูลค่าเดิมของตัวเองให้กลายไปเป็นสินค้า มันมีเพียงแต่กำลังแรงงานของมนุษย์เท่านั้นที่สามารถจะสร้างมูลค่าใหม่ขึ้นมาได้ ชนชั้นแรงงานนั้นได้รับค่าจ้างที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่พวกเขาได้ผลิตขึ้น ซึ่งมูลค่าแรงงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนนี้เองที่เป็นที่มาของมูลค่าส่วนเกิน ที่ถูกยึดครองเอาไว้โดยบรรดานายทุน ชนชั้นแรงงานั้นไม่สามารถจะซื้อสิ่งที่เขาทำการผลิตได้เพราะพวกเขานั้นได้รับเฉพาะค่าแรงเท่าที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวเท่านั้น ดังเช่นที่มาร์กซ์อธิบาย ปมปัญหานั้นไม่ใช่การอธิบายว่าทำไมมันจึงมีวิกฤต หากแต่ต้องอธิบายว่าทำไมมันจึงมีวิกฤตที่ไม่จบไม่สิ้นภายใต้ระบบทุนนิยม”

อย่างไรก็ตามระบบทุนนิยมนั้นก็วิ่งวนไปรอบๆปัญหาการมี “ความต้องการซื้อ” ไม่เพียงพอ ด้วยการแบ่งแยกระบบเศรษฐกิจออกเป็นสองส่วนสำคัญ ส่วนแรกนั้นคือส่วนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และส่วนที่สองนั้นคือการผลิตสินค้าเพื่อทุน (ปัจจัยการผลิต)

“ส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมนั้นผลิตสินค้าที่ได้รับการบริโภคโดยตรงจากชนชั้นแรงงาน” มาร์กซ์อธิบาย “ขณะที่อีกส่วนหนึ่งนั้นผลิตสินค้าอื่นๆที่ไม่ได้รับการบริโภคโดยตรงจากแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเขากลายไปเป็นส่วนหนึ่งของทุนที่จำเป็นสำหรับการผลิตที่ไม่อาจจะขาดได้ มันคือสินค้าประเภทวัตถุดิบการผลิต เครื่องจักร ฯลฯ หรือสินค้าที่ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้ถูกบริโภคโดยแรงงาน”

ตราบเท่าที่ชนชั้นนายทุนยังคงถือครองมูลค่าส่วนเกิน ยึดเอามูลค่าส่วนเกินและนำมันไปลงทุนใหม่ในเครื่องจักรชนิดใหม่ สิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ระบบนั้นจะยังคงสามารถพัฒนาต่อไปได้ แต่ทว่ามันก็จะเป็นเพียงการใช้จ่ายเพื่อกรุยทางไปสู่วิกฤตใหม่ของการผลิตจนล้นเกินอีก ในอีกทางหนึ่งก็คือระบบทุนนิยมนั้นสร้างตลาดของตัวเองขึ้นมาผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคการผลิตทั้งสองส่วน และ สร้างการครอบงำเหนือความขัดแย้งโดยธรรมชาตินี้เป็นระยะชั่วคราว ปัญหาเพียงอย่างเดียวก็คือการขยายตัวของความสามารถในการผลิตนั้นมีมากกว่าการบริโภคสินค้า ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วทำให้สินค้าไม่สามารถขายได้และเราก็จะพบกับวิกฤตครั้งใหม่  อย่างไรก็ตามการทำลายล้างมูลค่าของทุนนั้นเกิดขึ้นมาจากความตกต่ำ ที่จะเป็นการวางรากฐานสำหรับยุคสมัยใหม่ของการขยายตัว แต่ในทางกลับกัน มันเป็นการผลิตซ้ำความขัดแย้งในระดับที่สูงยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้วัฏจักรการตกต่ำและการรุ่งเรืองของทุนนิยม

 

การขยายตัวที่ไม่มีขีดจำกัด

การขาดกำลังซื้อของชนชั้นแรงงานนั้นเป็นเพียงด้านหนึ่งของสมการของวิกฤต สิ่งที่สำคัญกว่านั้นในสมการนี้คือการที่ชนชั้นนายทุนยังคงผลักดันการขยายตัวอย่างไร้ขีดจำกัดด้วยรีดไถส่วนเกินที่ถูกดึงออกมาจากกำลังแรงงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทนของชนชั้นแรงงานอย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งเชิงวิภาษวิธีนี้วางตัวเองอยู่ในใจกลางของระบบทุนนิยม การผลักดันที่ควบคุมไม่ได้ในการสะสมทุนและการผลิตนี้ในไม่ช้าไม่นานย่อมจะไปปะทะกับขีดจำกัดของการบริโภค ดังนั้นเราจึงได้รับระบบการผลิตเพื่อเป้าหมายการผลิต และการสะสมทุนเพื่อการสะสมทุน ดังเช่นที่มาร์กซ์อธิบายว่า เพื่อจะขายสินค้าจำนวนมหาศาลนี้ นายทุนย่อมถูกบีบบังคับให้ต้องลดราคาของสินค้าลง อันก่อให้เกิดความเสียหาย เกิดการลดลงของกำไร และอาจจะถึงขั้นล้มละลาย นี่เป็นการผลักให้นายทุนที่อ่อนแอหลุดออกไปและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการถือกำเนิดใหม่ของการขยายตัว ซึ่งวางอยู่เหนืออัตราส่วนกำไรที่สูงขึ้น

“การบริโภคที่ตกต่ำของคนจำนวนมาก ขีดจำกัดในการบริโภคของคนจำนวนมาก อันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการเลี้ยงชีพและการผลิตซ้ำนั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่” เองเกลอธิบาย “มันดำรงอยู่เสมอตราบเท่าที่มีการชนชั้นผู้ขูดรีดและผู้ถูกขูดรีด” อย่างไรก็ตามวิกฤตของการผลิตจนล้นเกินนั้นถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากวิถีการผลิตแบบทุนนิยม “ด้วยเหตุนี้แล้วในขณะที่สภาวะการบริโภคตกต่ำนั้นเป็นลักษณะอันคงที่ที่มีมากว่าพันปีแล้ว ช่วยบอกเราสักนิดเดียวเถอะว่าเหตุใดวิกฤตที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่ดูราวกับว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย”

เองเกลรุดหน้าไปสู่การอธิบายถึงเหตุผลในรูปแบบของทุนนิยมในการผลิต ซึ่งถูกกำหนดลักษณะโดย “การหดตัวโดยทั่วไปของตลาดที่ส่งผลออกมาในวิกฤตเสมือนกับผลลัพธ์ของส่วนเกินของการผลิตอันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงห้าสิบปีล่าสุดนี้เอง”

ทฤษฎีว่าด้วยวิกฤตแบบมาร์กซิสต์นั้นวางรากฐานตัวเองอยู่บนความขัดแย้งแบบวิภาษวิธี แรงผลักดันอันไร้ขีดจำกัดที่จะทำการผลิต ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ร่วมด้วยขีดจำกัดในการบริโภคของคนส่วนมาก อันกำเนิดขึ้นมาจากตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของพวกเขา ดังนั้นแล้วเราจึงอาจจะสรุปได้ว่า ระบบทุนนิยมนั้นก็เหมือนกับชายผู้กำลังเลื่อยกิ่งไม้ที่เขานั่งอยู่ มันเป็นการสร้างและการทำลายระบบตลาดในเวลาเดียวกัน ด้วยการรีดเอามูลค่าส่วนเกินที่มากขึ้นเรื่อยๆออกจากชนชั้นแรงงาน ในขณะที่พยายามกดค่าแรงของคนงานลงให้ตำที่สุด “ส่วนที่ตกต่ำนั้นตกไปอยู่กับส่วนแบ่งของชนชั้นแรงงาน (คำนวณรายหัว)” เองเกลอธิบาย “ไม่ว่ามันจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า และไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หรือไม่เพิ่มขึ้นเลย และภายใต้สถานการณ์ที่แน่นอนนั้นค่าแรงของคนงานย่อมจะตกต่ำลง” เรื่องนี้ในทางกลับกันนั้นกลายมาเป็นกำแพงขวางกั้นต่อการขยายตัวของตลาด และดังนั้นแล้วก็เป็นการขัดขวางการทำให้มูลค่าส่วนเกินเป็นจริง ดังเช่นที่เราได้เห็นและยืนยันในช่วงเวลาในปัจจุบันของการอดออมอันยาวนาน

 

การกดค่าแรง

ธรรมชาติโดยทั่วไปของนายทุนนั้นต่างก็ต้องการจะเห็นการขยายตัวของตลาด บรรดานายทุนแต่ละคนในระดับปัจเจกบุคคลนั้นย่อมยินดีที่จะเห็นคู่แข่งทั้งหมดของพวกเขาขึ้นค่าแรงให้กับคนงานเพื่อเร่งความต้องการซื้อ แต่แน่นอนว่าหากเปลี่ยนมาเป็นกรณีของแรงงานในกิจการของเขาเองนั้น นายทุนคนเดิมนี้ย่อมต้องการที่จะกดค่าแรงของแรงงานให้ต่ำที่สุดเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้ตัวเอง ดังนั้นแล้วชนชั้นนายทุนซึ่งถูกขับดันด้วยการแข่งขัน ย่อมจะพยายามที่จะกดค่าแรงของแรงงานและถึงที่สุดแล้วคือกดความต้องการซื้อของแรงงานลง “ผลผลิตนั้นกลับเป็นตัวปกครองผู้ผลิต” เองเกลอธิบาย พวกเขาทั้งหมดนั้นจมอยู่ภายในความขัดแย้งของทุนนิยม

ในการโต้กลับ Dühring นั้นเองเกลได้เน้นย้ำว่า “มันจำเป็นต้องใช้ความบังอาจอย่างลึกซึ้งขนาดมโหฬารมากที่จะอธิบายถึงความซบเซาในปัจจุบันอย่างสมบูรณ์ในตลาดฝ้ายและเสื้อผ้าด้วยการนำเอาเรื่องการบริโภคตกต่ำมาอธิบายว่ามันเป็นเพราะความตกต่ำของการบริโภคของชาวอังกฤษ โดยไม่ใช่จากการผลิตจนล้นเกินของเจ้าของโรงงานผ้าในอังกฤษ”

มุมมองแบบดังกล่าวนี้ จำเป็นจะต้องบันทึกเอาไว้ว่า มันไม่มีสิ่งใดที่ร่วมกันได้กับจุดยืนอันหลากหลายของความคิดแบบ “การบริโภคตกต่ำ” ของสำนักคิดเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีทั้งหลาย โดยเฉพาะกลุ่มที่โด่งดังที่สุดอย่างสำนัก Keynasians

ตัวมาร์กซ์เองนั้นได้วิพากษ์ถึงมโนทัศน์ที่มองว่า “การบริโภคตกต่ำ” นั้นเป็นต้นตอของวิกฤตเอาไว้ในหนังสือว่าด้วยทุนเล่มที่สอง ซึ่งเขียนขึ้นราวๆสิบปีก่อนหนังสือวิพากษ์ดูห์ริง การบริโภคเพียงตัวเดียว (หรือกระทั่งการขาดการบริโภค) นั้นไม่ใช่ต้นตอระดับรากฐาน มาร์กซ์อธิบาย ถ้าหากมันเป็นเช่นนั้นจริง ปัญหาที่เราเผชิญย่อมจะได้รับการแก้ไขด้วยการเพิ่มกำลังซื้อของคนจำนวนมากขึ้น และนี่แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดที่ผิดพลาดของสำนัก Keynesians ซึ่งมาร์กซ์ได้ตอบเอาไว้ตามนี้

“นี่เป็นเพียงการพูดซ้ำซากที่จะกล่าวว่าวิกฤตนั้นเกิดขึ้นจากการขาดแคลนการบริโภคที่มีประสิทธิภาพ หรือ ขาแคลนผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ ระบบทุนนิยมนั้นไม่ได้รับทราบถึงวิถีการบริโภคอื่นใดนอกจากการบริโภคที่มีประสิทธิภาพ การที่สินค้าไม่สามารถขายได้นั้นหมายถึงเรื่องเดียวนั้นคือมันไม่มีผู้ซื้อที่มีประสิทธิภาพมากพอในสายตาของพวกเขา กล่าวคือ ผู้บริโภค (เมื่อสินค้านั้นถูกนำมาใช้ในขั้นสุดท้ายเพื่อการบริโภคทางการผลิตหรือการบริโภคโดยปัจเจกบุคคล)

มาร์กซ์อธิบายต่อไปว่า “แต่ทว่าหากมีใครสักคนหนึ่งพยายามที่จะมอบรูปร่างหน้าตาของการให้เหตุผลอย่างลึกซึ้งให้กับการพูดซ้ำซากนี้ด้วยการกล่าวว่าชนชั้นแรงงานนั้นได้รับส่วนแบ่งเพียงน้อยนิดจากสิ่งที่พวกเขาผลิตขึ้น และปัญหาที่เกิดนั้นย่อมได้รับการแก้ไขในทันทีที่ชนชั้นแรงงานได้รับส่วนแบ่งที่มากขึ้นหรือก็คือได้รับการเพิ่มค่าแรงขึ้นในท้ายที่สุดนั้น คนผู้นั้นก็เพียงแต่สังเกตเห็นเท่านั้นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นถูกเตรียมขึ้นด้วยช่วงเวลาอันเจาะจงที่มีการขึ้นค่าแรงและชนชั้นแรงงานนั้นได้รับส่วนแบ่งขนาดใหญ่อย่างจริงจังที่มุ่งหมายเพื่อการขยายการบริโภค จากมุมมองแบบดังกล่าวนี้มันย่อมฟังดูเป็นเรื่องงาน เป็นเรื่องพื้นฐาน และช่วงเวลาหนึ่งที่มาถึงย่อมจะทำให้วิกฤตหายไปได้”

ในอีกทางหนึ่งเราอาจจะกล่าวได้ว่า ค่าแรงนั้นมีแนวโน้มที่จะขยับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อมันเกิดการขยายตัวของทุน ที่ชนชั้นแรงงานนั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นสิ่งที่ขาดตลาด พียงแต่มันเป็นช่วงเวลาสั้นๆก่อนการตกต่ำในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นแล้ว การขาดความต้องการซื้อไม่สามารถจะถูกนำมาพิจารณาว่าเป็นต้นตอที่แท้จริงของวิกฤตของการผลิตจนล้นเกินได้

มันเป็นสิ่งที่แม่นยำว่าสำนัก Keynesian ซึ่งเชื่อว่าวิกฤตนั้นเกิดขึ้นจากการขาด “ความต้องการซื้อที่มีประสิทธิภาพ” (“การบริโภคตกต่ำ”) และด้วยเหตุนั้นแล้วมันจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มค่าแรงหรือการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ความคิดเหล่านี้เปิดทางให้บรรดานักปฏิรูปนำเอาความคิดแบบ Keynesian ไปใช้เสนอว่าเป็นหนทางการแก้ปัญหาในปัจจุบัน ในขณะที่เรากำลังนิยมชมชอบอยู่กับการขึ้นค่าแรง ความคิดที่ว่าการทำเช่นนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาของระบบทุนนิยมได้นั้นก็แสดงให้เห็นว่ามันผิดไปอย่างสมบูรณ์ ในความเป็นจริงแล้วการขึ้นค่าแรงนั้นย่อมจะเป็นการลดกำไรและผลักดันให้นายทุนนั้นหยุดการลงทุนหรือการผลิต ดังนั้นแล้วมันจึงเป็นการยุติผลลัพธ์ทั้งหมดของวิธีการแบบ Keynesian ลงในทันที มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสร้างความต้องการซื้อขึ้นมาจากอากาศ กฎของระบบทุนนิยมนั้นถูกกำหนดโดยระบบของการผลิตสินค้า อันประกอบไปด้วยกำลังแรงงาน การเรียกร้องต่อรัฐให้ “สร้าง” ความต้องการซื้อนั้นเป็นความคิดเพ้อฝัน ความพยายามในการใช้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อ “สร้าง” เงิน ที่ไม่ได้สนับสนุนโดยการผลิตฉบับพิเศษ ย่อมจะทำหน้าที่เพื่อเติมเชื้อเพลิงให้กับอัตราเงินเฟ้อและลดรายได้ของคนงานลง หนทางอื่นเดียวสำหรับรัฐในการขยายรายจ่ายภาครัฐนั้นคือการเก็บเอามูลค่าส่วนเกินเพิ่มเติมด้วยการจัดเก็บภาษี แน่นอนนี่หมายถึงทั้งการตัดทอนกำไร ซึ่งจะยุติการลงทุนของนายทุน และการเพิ่มภาษีต่อชนชั้นแรงงาน ซึ่งจะลดทอนกำลังการบริโภค และดังนั้นก็คือการลดความต้องการซื้อ หรือถ้าหากพวกเขาสร้างการกู้ยืม (นโยบายการคลังแบบขาดดุล) พวกเขาย่อมจะต้องจ่ายเงินคืนพร้อมกับดอกเบื้อเพิ่มเติม ในท้ายที่สุดแล้วการแก้ปัญหาแบบดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการทำให้ปัญหาของระบบทุนนิยมรุนแรงขึ้น และไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

“กลไกทั้งหมดของวิถีการผลิตแบบทุนนิยมนั้นแตกหักลงภายใต้แรงกดดันของกำลังการผลิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุนนิยมสร้างมันขึ้นมาเอง” เองเกลเขียน “ระบบทุนนิยมนั้นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนปัจจัยการผลิตจำนวนมหาศาลนี้ให้กลับมาเป็นทุนได้อีกต่อไป มันกลายเป็นสิ่งที่ถูกทิ้งร้าง และในหลายๆเหตุผลนี้อุตสาหกรรมสำรองจำนวนมากจึงต้องถูกปล่อยทิ้งร้าง ปัจจัยการผลิต ปัจจัยการดำรงชีวิต แรงงานที่ว่างงาน องค์ประกอบของการผลิตทั้งหมดและของความมั่งคั่งทั้งมวล นั้นปรากฏอยู่ในสภาวะของความอุดมสมบูรณ์ หากแต่ ‘ความอุดมสมบูรณ์นี้ได้กลายเป็นต้นตอของความทุกข์ทรมานและความขาดแคลน’ (Fourier) ทั้งนี้เพราะมันถูกป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของปัจจัยการผลิตและปัจจัยการดำรงชีวิตไปเป็นทุน”

จนกระทั่งในช่วงสุดท้ายของชีวิตเองเกลได้ย้อนกลับไปสู่รากฐานความขัดแย้งของทุนนิยมอีกครั้งในงานเขียนของเขาเรื่อง introduction to Marx’s Wage Labour and Capital ในปี 1891 ซึ่งเป็นงานที่ถูกเขียนขึ้นเพื่ออธิบายสถานการณ์ในปัจจุบันของโลก ดังนั้นแล้วเราจึงจะยกเอาข้อความในงานเล่มนี้ของเขามาไว้เพื่อเป็นการปิดท้าย

“ความเจริญงอกงามของแรงงานมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในทุกๆวัน ไปจนถึงขอบเขตที่ก้าวไกลอย่างไม่เคยมีมาก่อน และในท้ายที่สุดนั้นมันได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่จะทำให้ระบบทุนนิยมในปัจจุบันนี้ล่มสลาย ในทางหนึ่งนั้นคือผู้ที่ร่ำรวยมหาศาลและความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งของการผลิต ซึ่งผู้ซื้อไม่สามารถรับมือได้ และในอีกทางหนึ่งนั้นคือ การขยายตัวอย่างมหาศาลของประชากรชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งกลายมาเป็นแรงงานรับค่าจ้าง และด้วยเหตุนั้นทำให้พวกเขาไม่มีความสามารถจะถือครองความอุดมสมบูรณ์ของการผลิตเพื่อตัวเองได้ การแบ่งแยกทางสังคมไปสู่ส่วนย่อยสองส่วน นั้นคือชนชั้นของผู้ที่ร่ำรวยอย่างมหาศาลอันเป็นคนกลุ่มเล็ก และ คนกลุ่มใหญ่อันเป็นชนชั้นของผู้ปราศจากทรัพย์สินหรือมีทรัพย์สินเพียงน้อยนิด เป็นชนชั้นของแรงงานรับค่าจ้าง การแบ่งแยกนี้ทำให้เกิดสังคมที่ทุกข์ทรมานเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของตัวมันเอง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นยากจนและขาดแคลน และถูกกีดกันออกจากสิ่งของที่จำเป็น สถานการณ์แบบดังกล่าวนี้นับจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นทุกวัน – และมันดำรงอยู่โดยไม่จำเป็น ระบบทุนนิยมและสถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้นจำเป็นจะต้องถูกทำลายลง และมันเป็นสิ่งที่สามารถทำลายลงได้”

 

[จบ]

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.