Skip to main content

 

ชีวประวัติและความคิดของหลุยส์ อัลธูแซร์

Biography and idea of Louis Althusser

By MIA. Translated by Jakkapon P.

 

หลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) เกิดในปี 1918 ที่ประเทศไนจีเรีย และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในปารีสเมื่อปี 1948 หลังจากนั้นเขาลงมือสังหารภรรยาของตนเองในปี 1980 จากนั้นก็ถูกส่งตัวไปคุมขังในสถานบำบัดผู้ป่วยทางจิตจนกระทั่งเสียชีวิตลงในปี 1990 ผลงานที่มีอิทธิพลและมีชื่อเสียงของเขาประกอบไปด้วย – For Marx (1965) และ Lenin and Philosophy (1969) โดยงานเหล่านั้นพยายามที่จะนำเสนอการรื้อฟื้นทฤษฎีมาร์กซิสต์ให้กลับไปผสานกับแนวคิดโครงสร้างนิยม (Structuralism) และยังถือได้ว่าของเขานั้นเป็นผลงานชิ้นสำคัญสำหรับสำนักโครงสร้างนิยมสมัยใหม่ อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอข้อเสนอสำคัญว่าด้วยการแสดงให้เห็นถึงการแตกแยกขั้นมูลฐานระหว่าง “มาร์กซ์ในวัยผู้ใหญ่” ที่แตกต่างจากความคิดของ “มาร์กซ์ในวัยหนุ่ม”

ในช่วงเวลาที่อัลธูแซร์ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์นั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ Jean-Paul Sartre อดีตนักอัตถภาวนิยม (Existentialist) ผู้ต่อสู้ในการต่อต้านและแนวร่วมของเขาอย่างเช่นในงานเรื่อง Les Temps Moderne ,และ Maurice Merleau-Ponty อดีตนักปรากฏการณ์นิยม (Phenomenologist) นั้นต่างก็อยู่ท่ามกลางกลุ่มแวดวงปัญญาชนที่สมาทานแนวคิดร่วมกับสหภาพโซเวียตในเวลานั้น ในปี 1945 พคฝ. (PCF – Party Communist of France) นั้นได้รับชัยชนะราว 25 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังสงคราม และในปี 1946 พรรคก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลแรกของสาธารณรัฐที่สี่ ภายหลังเดือนพฤษภาคม ปี 1947 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสถกขับออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเนื่องจากผลของ “สงครามเย็น” พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสก็ไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆอีกเลยจนกระทั่งพรรคได้รับชัยชนะในรัฐสภาราว 1 ใน 3 ของที่นั่งทั้งหมดในปี 1968

สภาพการณ์ภายหลังสงคราม (Post-war) นั้นได้มอบพลังดึงดูดให้แก่กลุ่มความคิดแบบอัตถิภาวนิยม (existentialism) เมื่อระบบเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งทำให้มันถูกเข้าอทนที่ด้วยกระแสความคิดแบบใหม่นั่นคือกระแสความคิดแบบโครงสร้างนิยม (structuralism) ซึ่งเป็นกระแสความคิดที่ผสานตัวเองเข้ากับความเป็นวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับช่วงสมัยแห่งเทคโนโลยีในขณะนั้น ความคิดแบบโครงสร้างนิยมได้กลายไปเป็นความคิดกระแสหลักของแวดวงปัญญาชนในทศวรรษที่ 1960 ในฝรั่งเศส ตัวอย่างเช่น Roman Jakobson ผู้นำเสนอความคิดภาษาศาสตร์แบบโครงสร้างนิยม (linguistic structuralism), Roland Barthes ผู้นำเสนอความคิดวรรษคดีวิพากษ์แบบโครงสร้างนิยม (structuralist literary criticism) และ Levi-Strauss ผู้เสนอความคิดมานุษยวิทยาแบบโครงสร้างนิยม (anthropological structuralism) ต่างก็ได้สร้างประโยชน์ทางวิชาการเอาไว้อย่างมหาศาล ขณะที่หลุยส์ อัลธูแซร์ และ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ลูกศิษย์ของเขาต่างก็ถูกนับรวมว่าอยู่ภายใต้กระแสความคิดแบบโครงสร้างนิยมนี้ด้วยเช่นกัน นักโครงสร้างนิยมนั้นจะเน้นย้ำอย่างหนักถึงการคงอยู่ของ “โครงสร้างพันลึก” (deep structure) ที่เป็นตัวรองรับวัฒนธรรมทั้งหลายของมนุษย์ ซึ่งจะเปิดโอกาสเพียงเล็กน้อยให้มนุษย์ได้กระทำการตามความคิดของตนเองที่อาจจะก่อให้เกิดได้ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ หรือ ความคิดริเริ่มแปลกใหม่โดยมนุษย์เอง

และเนื่องด้วยการเริ่มศึกษางานเขียนวิพากษ์ประจักษ์นิยมของมาร์กซ์นั้นเองที่ทำให้อัลธูแซร์ปฏิเสธองค์ความรู้แบบประจักษ์นิยมทั้งหมดลง อัลธูแซร์นั้นยืนยันว่าแก่นแท้สำคัญนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะค้นพบได้ในปรากฏการณ์หรือรูปโฉมภายนอก หากแต่เป็นสิ่งที่เราจะสามารถค้นพบมันได้ผ่าน ‘ภาคปฏิบัติการทางทฤษฎี’ (‘theoretical practice’) – “ประวัติศาสตร์ที่บรรจุตัวเองและแสดงตนเองให้เห็นในงานเรื่องว่าด้วยทุนในฐานะของวัตถุของประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในฐานะของวัตถุที่เป็นจริง หากแต่เป็น วัตถุ ‘นามธรรม’ (มโนทัศน์) และมันย่อมไม่ใช่สิ่งที่เป็นวัตถุที่มีรูธรรมที่เป็นจริง” ดังนั้นแล้ว ดังเช่นในงานเขียนของค้านท์ (Kant) ที่ว่า ประวัติศาสตร์ ‘ที่เป็นจริง’ นั้นดำรงอยู่ใน ‘สิ่งที่พ้นไปจากตัวมัน’ อยู่ภายหลัง ‘ทฤษฎีของประวัติศาสตร์’ ซึ่งนั่นคือวัตถุทางองค์ความรู้เดียวที่เป็นจริง อัลธูแซร์นั้นยังได้เสนอความคิดที่ปฏิเสธมโนทัศน์เรื่องความขัดแย้ง (contradiction) ในความคิดของมาร์กซ์ และ เฮเกลอีกด้วย ซึ่งการปฏิเสธนี้คือการปฏิเสธในแง่ที่ว่าอัลธูแซร์นั้นมองมโนทัศน์เรื่องนี้ใหม่ผ่านมุมมองแบบนักโครงสร้างนิยมและเขาให้ชื่อเรียกใหม่แก่มันว่าเป็น “การกำหนดอำนาจเหนือ” (over-determination) อัลธูแซร์นั้นยังมองว่าเนื้อหาในบทแรกๆของหนังสือว่าด้วยทุนของมาร์กซ์นั้นไม่เพียงแต่เป็นกุญแจนำทาง หากแต่ยังเป็นเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นการทำความเข้าใจต่อความคิดและมุมมองที่มาร์กซ์มีต่อสังคมทุนนิยมอีกด้วย เขาจึงเขียนคำแนะนำในการอ่านงานเรื่องว่าด้วยทุนว่าควรจะเริ่มต้นการอ่านที่เล่มสอง ไม่ใช่เล่มแรก อัลธูแซร์นั้นนำเสนอความคิดที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นลัทธิแก้ หากแต่เป็นการปฏิเสธความคิดของมาร์กซ์อย่างสมบูรณ์ งานเรื่อง On Marx ของเขานั้นถือเป็นงานชิ้นแรกๆที่อัลธูแซร์ได้นำเสนอการวิพากษ์มาร์กซ์ออกมา และในงานเขียนที่มีอิทธิพลอย่างมากของอัลธูแซร์อย่างเช่น For Marx (1965) และ Lenin and Philosophy (1969) ซึ่งได้รวมเอาบทความของเขาเรื่อง “Ideology and Ideological State Apparatuses” ไว้อีกด้วย อัลธูแซร์นั้นมีมุมมองว่าความคิดแบบมนุษย์นิยมของมาร์กซ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นความคิดเพียงชั่วคราว เป็นความคิดที่อยู่ภายใต้อิทธิพลแบบฟอยเออร์บาค ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันจะถูกข้ามผ่านไปด้วยการพยายามที่จะทำการศึกษาสังเกตโครงสร้างของสังคมกระฎุมพีอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น “ลัทธิคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตก” (Eurocommunism) ก็ได้กลายไปเป็นกระแสหลักท่ามกลางพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆในยุโรปในระหว่างช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 และนำไปสู่การแยกตัวเองเป็นอิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต พร้อมกับนำเสนอนโยบายที่วางรากฐานอยู่บนกลุ่มพลังทางสังคมภายในประเทศของตนเองแทน แนวโน้มแบบดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการเสื่อมถอยในการสนับสนุนอำนาจบังคับบัญชาของพรรคสตาลินนิยม (Stalinist Parties) จากช่วงทศวรรษที่ 1950 อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของระบอบสตาลินในการแก้ไขปัญหาภายในสหภาพโซเวียต การปราบปรามการลุกฮือของชาวฮังการีอย่างรุนแรงในปี 1956 และการรุกรานสโลวาเกียในปี 1968 นั้นทำให้นักคอมมิวนิสต์จำนวนมากในยุโรปตะวันตกนั้นแปลกแยกตนเองออกจากโซเวียต

ลัทธิคอมมิวนิสต์สายยุโรปตะวันตกนั้นเป็นคำที่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 และกลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางภายหลังการเผยแพร่งานเรื่อง Eurocommunism and the State (1977) โดย Santiago Carrillo

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นี้เองที่ความคิดแบบโครงสร้างนิยมนั้นได้เปิดหนทางให้แก่การถือกำเนิดของกลุ่มความคิดใหม่ที่เรียกว่า “ความคิดแบบหลังโครงสร้างนิยม” (post-structuralist) ซึ่งนักคิดที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสายความคิดนี้ได้แก่ ฌาร์ค ดาริดา (Jacques Derrida), มิเชล ฟูโกนต์ (Michel Foucault) และ ฌาร์ค ลาก็อง (Jacques Lacan)

 

ว่าด้วยความคิดและทฤษฎีของอัลธูแซร์

ความสัมพันธ์ทางการผลิต → กลไก → อุดมการณ์ → องค์ประธาน

Relations of production → Apparatus → Ideology → Subject

 

มโนทัศน์เรื่อง องค์ประธาน (subject) ของอัลธูแซร์นั้นเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากมโนทัศน์เรื่อง อุดมการณ์ ของเขาที่กล่าวว่า

“อุดมการณ์นั้นมีการทำงาน (ที่เป็นตัวกำหนดนิยามของตัวมันเอง) ในการ ‘สถาปนา’ ปัจเจกบุคคลที่เป็นรูปธรรมให้กลายไปเป็นองค์ประธาน อุดมการณ์นั้นจึงไม่ใช่อะไรเลยนอกไปจากกระบวนการทำงานในรูปแบบการดำรงอยู่เชิงวัตถุของการทำงานดังกล่าวนั้น”

[Althusser 1971]

และอุดมการณ์และตัวองค์ประธานผู้กระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะแยกออกได้จาก ภาคปฏิบัติการ (practice) ดังนี้

“1.ไม่มีภาคปฏิบัติการใดดำรงอยู่ได้ ยกเว้นแต่ว่ามันจะดำรงอยู่โดยและดำรงอยู่ในอุดมการณ์                                              2.ไม่มีอุดมการณ์ใดจะดำรงอยู่ได้ ยกเว้นแต่ว่ามันจะดำรงอยู่โดยองค์ประธาน และดำรงอยู่เพื่อองค์ประธาน”

[Althusser 1971]

และทั้งภาคปฏิบัติการและอุดมการณ์นั้นต่างก็จะถูกทำความเข้าใจโดยตรงผ่านมโนทัศน์ของอัลธูแซร์ว่าด้วย มโนทัศน์เรื่องสถาบันต่างๆที่ซึ่งภาคปฏิบัติการได้ดำรงอยู่ นั่นคือ “กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ” (กอร. – Ideological State Apparatuses – ISAs.) อันเป็นสถาบันที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยอุดมการณ์ที่จะทำให้กิจกรรมทั้งหลายของผู้คนนั้นถูกประกอบสร้างขึ้นเป็นภาคปฏิบัติการทางสังคม (social practice)

รัฐในความหมายแบบมาร์กซิสต์สำนักดั้งเดิม (orthodox Marxist) นั้น มีอีกส่วนประกอบหนึ่งที่เราเรียกว่าเป็น “กลไกด้านการปราบปรามของรัฐ” (กปร. – Repressive State Apparatus – RSA.) อันเป็นองค์กรที่ใช้ความรุนแรงที่ถูกใช้อำนาจโดยชนชั้นปกครอง (ชนชั้นนายทุน) เพื่อธำรงรักษาเงื่อนไขสำหรับการผลิตและการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางการผลิต (แบบทุนนิยม) ทั้ง กอร. และ กปร. นั้นเป็น เครื่องมือ ที่ถูกถือครองและหยิบใช้โดยอำนาจรัฐ กล่าวคือ ถูกใช้โดยชนชั้นทางสังคมที่มีอำนาจเหนือ (ชนชั้นกระฎุมพี) การทำงานของกลไกทั้งสองนั้นหยิบใช้ทั้งวิธีการทางอุดมการณ์และความรุนแรง การใช้ความรุนแรงนั้นจะถูกใช้ในฐานะของอาวุธขั้นสุดท้าย โดยที่ กปร. นั้นจะใช้ด้านความรุนแรงเป็นตัวนำ ขณะที่ กอร. นั้นจะใช้การทำงานทางอุดมการณ์เป็นตัวนำ

แล้ว กอร. นั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? อัลธูแซร์ได้ยกตัวอย่างคร่าวๆเอาไว้ว่า กอร. นั้นประกอบไปด้วย ศาสนสถาน, ครอบครัว, ระบบกฎหมาย, ระบบการเมืองที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองหลากหลายพรรค, สหภาพแรงงาน, สื่อ, “กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐในเชิงวัฒนธรรม” (“Cultural ISA” ประกอบไปด้วย บรรดาศิลปิน และสถาบันต่างๆที่เผยแพร่, ตีพิมพ์, ให้การเรียนการสอน, สนับสนุน, นำเสนองานวรรณกรรมและศิลปะ ฯลฯ) และตามความคิดของอัลธูแซร์แล้วนั้นกลไกทางอุดมการณ์ที่มีลักษณะนำนั้นคือระบบการศึกษา

 

ว่าด้วยองค์ประธาน

 

มโนทัศน์เรื่องนี้นั้นเป็นสิ่งเดียวกับมโนทํสน์เรื่อง ชนชั้น ที่มีผลประโยชน์ มีจิตสำนึก และมีอำนาจที่กระทำการอยู่ในสังคมและประวัติศาสตร์ และคำว่าองค์ประธานในที่นี้นั้นในทางหนึ่งกำเนิดขึ้นมาเนื่องจากว่าอัลธูแซร์มองว่าชนชั้นต่างๆนั้นเป็น “องค์ประธาน” ในประวัติศาสตร์ หากแต่ในเวลาเดียวกันนั้นอัลธูแซร์ก็ยืนยันว่ามัน ไม่มี การกระทำขององค์ประธานใดในประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์นั้นเป็นกระบวนการที่ปราศจากองค์ประธาน ในงานเรื่อง “Marxism and Humanism” นั้นเขากล่าวว่าใน “ทฤษฎีประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์นั้น ‘องค์ประธาน’ ของประวัติศาสตร์ก็คือ สังคมมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในห้วงเวลานั้นๆ” (ต้องย้ำเตือนอีกครั้งว่า ตัวมาร์กซ์เองนั้นปฏิเสธความคิดว่าด้วย ‘สังคม’ ในฐานะที่เป็นการเชื่อมโยงกันของส่วนประกอบต่างๆทั้งหมด และคงเหลือแต่องค์ประธานเพียงอย่างเดียว) หากแต่อัลธูแซร์ก็บอกเป็นนัยยะว่าตัวเขาเองไม่สามารถจะแชร์มโนทัศน์นี้ออกไปด้วยการนำเอาข้อความอ้างอิงมาวางไว้รอบคำว่า ‘องค์ประธาน’ เพียงเฉยๆได้ อัลธูแซร์นั้นยังได้หักล้างความคิดที่ว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากจิตวิญญาณแบบเฮเกลเลียน (Hegelian Spirit) หรือถูกสร้างจาก องค์ประธานใหญ่ (Subject), มนุษย์, หรือจากความคิดที่อัลธูแซร์ให้เหตุผลและเรียกมันว่าเป็นความคิดของ “มาร์กซ์ในวัยหนุ่ม” และถ้าหากว่าประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจาก องค์ประธานใหญ่ (ที่เป็นเอกเทศ) แล้ว โดยแง่นี้เอง เราย่อมจะขยับไปสู่การสันนิษฐานได้ว่าถึงที่สุดแล้วมันย่อมจะไม่มีการกระทำขององค์ประธานใดๆ (ที่หลากหลาย) ในประวัติศาสตร์

สถาบันทางสังคม อย่างเช่น กลไกของรัฐ นั้นเป็นเครื่องมือที่ถูก หยิบใช้ โดยชนชั้นที่เป็นผู้ครองอำนาจรัฐ ชนชั้นจึงเป็นผู้ครองอำนาจ, เป็นผู้ใช้อำนาจ, ทำการต่อสู้เพื่อเอาชนะหรือผูกมิตรกับชนชั้นอื่นๆ การต่อสู้ทางชนชั้นนั้นเป็นมโนทํศน์แกนกลางของอัลธูแซร์เขาเสนอว่า “อุดมการณ์นั้นแสดงให้เห็นถึงจุดยืน ทางชนชั้น ออกมาอยู่เสมอ” หากแต่อัลธูแซร์ก็ไม่ได้ยึดมั่นว่าการกระทำของชนชั้นนั้นเป็น “ศูนย์กลางของการเริ่มต้น, เป็นผู้กำหนดการกระทำและเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น” (อ้างตามคำนิยามตามภาษาของอัลธูแซร์) ซึ่งกลายเป็นการยืนยันการที่มันจะถูกเรียกว่าเป็นองค์ประธาน อัลธูแซร์นั้นพูดถึงชนชั้นในแง่ที่ว่า ถ้าหาก มันเป็นองค์ประธาน (ชนชั้นมีผลประโยชน์ภายในตนเอง, มีการต่อสู้ ,มีจิตสำนึกของชนชั้น) หากแต่สำหรับ Descartes นั้นเขาจำกัดความคิดเรื่ององค์ประธานให้อยู่ภายใต้กรอบแบบ ปัจเจกบุคคลที่เป็นรูปธรรม เท่านั้น แต่ทว่าหากเราใช้กรณีที่เป็นองค์ประธานปัจเจกบุคคลเราก็จะเห็นได้ว่า การกลายไปเป็นองค์ประธานนั้นไม่ได้มีความหมายตรงตัวตามที่เนื้อหาของมันพยายามสื่อ

ด้วยการปฏิเสธมโนทัศน์เรื่อง องค์ประธานใหญ่ ที่เป็นเอกเทศ (singular Subject) ในการทำงานทางประวัติศาสตร์ (นั่นคือ พระเจ้าในทุกเป้าประสงค์และทุกเจตนาที่มันต้องการสื่อ) อัลธูแซร์ก็เห็นว่าตัวเขาเองนั้นได้จัดการความคิดทั้งมวลว่าด้วยองค์ประธาน แบบองค์รวม (collective subject) เรียบร้อยแล้วไม่ว่ามันจะเป็น มโนทัศน์ ‘แบบวิทยาศาสตร์’ ขององค์ประธาน แบบองค์รวม (เช่น ชาติ, การเคลื่อนไหวทางสังคม, สถาบันทางสังคม หรือ ชนชั้นทางสังคม) หรือจะเป็น มโนทัศน์ ‘แบบจิตวิญญาณ’ อย่างที่เฮเกลได้เคยนำเสนอ เช่นเดียวกับมุมมองของ Kant และ Descartes สำหรับอัลธูแซร์แล้วเขามองว่า องค์ประธานนั้นเป็นปัจเจกบุคคล คำถามสำคัญคือแล้วเมื่อไหร่หรือการดำรงอยู่แบบไหนที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลถูกนับว่าเป็นองค์ประธาน

สิ่งที่อัลธูแซร์พลาดไปนั่นก็คือการที่เขาไม่ได้ทำการพิจารณาในแง่มุมอื่นๆที่เป็นไปได้ เช่น การพิจารณาด้วยการควบรวมความคิดเข้าในรูปแบบที่เป็นเหตุเป็นผลของการสมัครใจโดยรวม, ระบบการตระหนักถึงจิตสำนึกในตนเองของกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวทางสังคม, ผู้คนนั้นสามารถที่จะขยับขึ้นไปสู่ระดับที่พวกเขาสามารถจะกลายไปเป็นส่วนรวมได้ “เป็นศูนย์กลางของการริเริ่ม เป็นผู้กำหนดการกระทำ และเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำ” และกลายไปเป็นองค์ประธานในบางขอบเขตในชีวิตของตนเอง อย่างเป็นส่วนรวม ในเชิงภาพรวมขนาดใหญ่ อย่างเช่น ‘มนุษย์’ หรือ ‘สังคม’ นั้นสามารถที่จะถูกทำความเข้าใจในฐานะขององค์ประธานได้ก็ต่อเมื่อมันยอมรับมโนทัศน์แบบจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติ มโนทัศน์ของ Lukac ที่มองว่าชนชั้นแรงงานนั้นมีฐานะเป็นองค์ประธานในประวัติศาสตร์เป็นมุมมองที่ขึ้นตรงกับความเป็นจริงขององค์กรคอมมิวนิสต์สากล (the Communist International) ที่ดำรงอยู่ในฐานะขององค์กรนำของขบวนการแรงงานสากล (international worker’s movement) อันเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ทำให้แรงงานนับล้านคนมองเห็นตัวเองในฐานะที่เป็นนักคอมมิวนิสต์ที่มองหาการนำจากสากลที่สาม (Comintern) และเผยแพร่แนวคิดไปสู่ผู้คนรอบข้างตนเอง

หากแต่หน่วยงานหรือองค์กรทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงบริษัทเอกชนนั้น กระทำการ ในฐานะขององค์ประธาน รวมทั้งมีความแพร่หลายยิ่งกว่าการเคลื่อนไหวทางสังคม หากแต่ว่าที่ตรงนั้นมันไม่ใช่พื้นที่สำหรับมโนทัศน์เรื่ององค์ประธานที่วางรากฐานอยู่ ระหว่าง ความเป็นภาพมายาคลุมเครือของ”จิต” และ จิตนิยมแบบค้านท์ที่พูดถึงองค์ประธานที่เหนือธรรมชาติ หรือ ระหว่าง การสร้างภาพโรแมนติกให้ “มนุษย์” กับ ปฏิฐานนิยมของปัจเจกบุคคลหรอกหรือ? นี่คือพื้นที่ของคำถามและปัญหาที่อัลธูแซร์ไม่เคยก้าวเข้าไปศึกษาหรืออธิบาย

 

ว่าด้วยกลไก

 

แม้ว่าสถาบันทางสังคมทั้งหมดนั้นจะถูกเรียกว่าเป็น กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ ซึ่งมันอาจจะเป็นสถาบันของรัฐหรือของเอกชน, เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ เพราะพวกมันต่างทำงานเพื่อผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมและดังนั้นแล้วมันจึงทำงานเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน ดังนั้นแล้วเราจึงเรียกได้ว่ามันเป็น กลไกของรัฐ อัลธูแซร์ได้เขียนเอาไว้ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ในห้วงเวลาที่ (ระบบสวัสดิการแบบเคนส์) รัฐนายทุนนั้นผ่อนคลายความตึงเครียดกับสหภาพแรงงานลงไปมาก และยังเป็นช่วงเวลาที่เกิดการบูรณาการทางสังคมอย่างสูง ความขัดแย้งทางชนชั้นที่เข้มข้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นได้ยุติลง และการนำแผนมาร์แชล (Marshall Plan) มาใช้นั้นก็ช่วยลดระดับความไม่พอใจในยุโรปลงไปได้อย่างมาก สถานการณ์แบบดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดสภาพของความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่มวลชนที่ทำให้ระบบทุนนิยมนั้นกลายเป็นสิ่งประเสริฐน่าสรรเสริญ สถานการณ์แบบเดียวกันนี้ได้ทำให้ Herbert Marcuse เขียนงานเรื่อง “One Dimensional Man” ออกมา ในการผนวกรวมนี้มันจึงอาจจะยืนยันข้อถกเถียงที่อัลธูแซร์เสนอว่าสหภาพแรงงานนั้นถือเป็นกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ เป็นส่วนประกอบหนึ่งของระบบการครองอำนาจนำทางอุดมการณ์โดยชนชั้นกระฎุมพี ภายใต้นโยบายของ Khrushchev ที่เสนอนโยบาย ‘สันติภาพ และการอยู่ร่วมกัน’ พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสและ PCF-controlled CGT ย่อมจะถูกกำหนดลักษณะตามนโยบายนี้ไปด้วย ความคิดที่ว่าระบบครอบครัวนั้นคือต้นตอปัญหามูลฐานของสังคมทุนนิยมนั้นยังคงเป็นความคิดที่แพร่หลาย หากแต่การควบรวมศิลปะเข้าไปในฐานะของ “กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐทางวัฒนธรรม” นั้นทำให้เราเห็นได้ชัดเจนมากพอว่าสถาบัน ใดๆก็ตาม ที่ดำรงอยู่ภายใต้สังคมทุนนิยมนั้น โดยนัยยะนี้แล้ว ย่อมจะเป็นกลไกที่ทำงานเพื่อให้ชนชั้นกระฎุมพีสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบกระฎุมพีเอาไว้ได้

 

อุดมการณ์

 

ในวิถีทางที่ค่อนข้างจะคล้ายกับการเสนอว่า ‘วาทกรรม’ นั้นได้สถาปนาสถาบันต่างๆขึ้นมาได้อย่างไร สำหรับอัลธูแซร์นั้นสถาบันแต่ละสถาบันที่เขาอ้างถึงในฐานะที่เป็น กอร. นั้นสอดคล้องโดยตรงต่อ อุดมการณ์, ศาสนา, ศีลธรรม, การเมือง หรือ อุดมการณ์ใดๆก็ตาม ที่มีสภาพการดำรงอยู่เชิงวัตถุในรูปแบบของพิธีกรรมและภาคปฏิบัติการที่สอดคล้องกับ กอร. ซึ่งถูกสถาปนาขึ้นรายล้อมมโนทัศน์เรื่องพระเจ้า, กฎหมาย, ศิลปะ หรืออะไรก็ตาม อุดมการณ์นั้นได้แสดงให้เห็นจุดยืนทางชนชั้นผ่านรูปแบบของภาคปฏิบัติการเชิงวัตถุที่เฉพาะเจาะจง (กอร.) ซึ่งทำงานในเชิงอุดมการณ์เพื่อดำรงรักษาการผลิตซ้ำระบบทุนนิยม และมันถูกสนับสนุนโดยการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ไม่ว่าจะโดยตัวมันเองหรือปราบปรามผ่าน กปร.

หากแต่ว่าบรรดา กอร. ทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่ มีความสัมพันธ์ที่เป็นอิสระ ต่อ กอร. ตัวอื่นๆ แม้ว่ามันจะทำงานเพื่อรับใช้และอำนวยให้เกิดการผลิตซ้ำองค์ประกอบสำหรับความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม แต่มันก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยวิถีการผลิตแบบทุนนิยมเพียงอย่างเดียว ที่จะถูกทำความเข้าใจในฐานะของ “การแสดงออกแบบองค์รวม” ได้ แต่ละกลไกนั้นมีตรรกะของตัวเองและมีการปฏิบัติการในระดับขั้นที่แตกต่างกันและเป็นอิสระจากกลไกอื่นๆ

กอร. แต่ละตัวนั้นมีลักษณะรูปแบบของภาคปฏิบัติการและ ‘พิธีกรรม’ ที่หลากหลาย ที่จะสถาปนาการดำรงอยู่ของอุดมการณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศิลปะ (อุดมการณ์ของศิลปะ) นั้นก็จะถูกสถาปนาในทางวัตถุขึ้นโดยภาคปฏิบัติการของโลกศิลปะ – โดยมรรควิธีในการประเมินผล, การควบคุม, การกระจาย และการผลิตของตัวมันเอง การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของปัจเจกบุคคลนั้นแสดงถึงภาคปฏิบัติการที่สถาปนาอะไรก็ตามที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นความคิดที่ก่อให้เกิดอุดมการณ์นั้นๆขึ้นมา

“ความคิดทั้งหลาย [ของปัจเจกบุคคล] นั้นเป็นการกระทำที่มีสภาพเชิงวัตถุของเขาที่แทรกอยู่ในภาคปฏิบัติการที่มีสภาพเชิงวัตถุที่ถูกควบคุมโดยพิธีกรรมที่มีสภาพเชิงวัตถุ ซึ่งโดยตัวมันเองนั้นถูกนิยามโดยกลไกทางอุดมการณ์ที่มีสภาพเชิงวัตถุซึ่งได้รับมันมาจากความคิดขององค์ประธานนั้น”

วาทกรรมนั้นคือกึ่งกลางของอุดมการณ์ และจิตสำนึกนั้นคือสิ่งที่อยู่ภายในวาทกรรม ดังนั้นแล้วจิตสำนึกจึงเป็นการผนึกเอาภาคปฏิบัติการที่มีสภาพเชิงวัตถุของ กอร. ที่ผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วมเข้าไปอยู่ภายในตัวบุคคล ภาษาต่างๆที่เราใช้นั้นก็ถือว่าเป็นกลไกหลักในการส่งผ่านกระบวนการดังกล่าวนี้ให้เกิดการผนึกการรับรู้เข้าในจิตสำนึก

 

วิทยาศาสตร์

 

หากแต่ว่าการพูดเรื่องอุดมการณ์นี้ย่อมจะนำเราไปสู่ความยุ่งยากอย่างแน่นอน ด้วยคำถามว่าเราจะสามารถแบ่งแยกเอาวิทยาศาสตร์ออกมาจากอุดมการณ์ได้อย่างไร จากคำนิยามด้านล่างนี้

“อุดมการณ์นั้นเป็นภาพแสดงตัวแทนของความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลในระดับจินตนาการที่มีต่อเงื่อนไขการดำรงอยู่ที่เป็นจริงของเขา”

อุดมการณ์ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็น “ภาพมายา” ซึ่ง “ไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริง” และเป็นเพียง “ภาพลวงตา” หากแต่อัลธูแซร์นั้นเสนอ การสร้างสมดุล ให้อุดมการณ์ไปสู่ วิทยาศาสตร์ ซึ่งเขากล่าวว่ามัน ไม่ใช่ อุดมการณ์ “อุดมการณ์ทางศาสนา, อุดมการณ์ทางศีลธรรม, อุดมการณ์ทางกฎหมาย, อุดมการณ์ทางการเมือง” นั้นเป็น “สิ่งที่นิรันดร” เป็น “มุมมองต่อโลก” และ   

“ลองสมมติดูว่าเราไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์หนึ่งใดจากบรรดาอุดมการณ์เหล่านี้ว่ามันเป็นความจริง (ตัวอย่างเช่น ‘ความเชื่อ’ ในพระเจ้า, หน้าที่, ความยุติธรรม, ฯลฯ) เรายอมรับว่าอุดมการณ์ที่เรากำลังอภิปรายจากมุมมองเชิงวิพากษ์ ถูกตรวจสอบในฐานะของการตรวจสอบแบบชาติพันธุ์วิทยา (ethnologist examines) เพื่อตรวจสอบมายาคติของ ‘สังคมบุพกาล’ ซึ่ง ‘โลกทัศน์’ แบบดังกล่าวนี้เป็นเพียงการจินตนาการขึ้น กล่าวคือมัน ‘ไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริง’”

วิทยาศาสตร์นั้นได้มอบวิธีการในการค้นหาความรู้และเรียนรู้สิ่งต่างๆให้แก่เราเพราะมันได้นำเสนอภาพแสดงตัวแทนที่เป็นจริงของความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อเงื่อนไขการดำรงอยู่ที่เป็นจริงของเรา ในขณะที่อุดมการณ์นั้นสามารถอธิบายถึงสิ่งต่างๆได้หากแต่มันอธิบายเพียงแต่ในวิธีการของความสัมพันธ์ที่ผิดไปจากเงื่อนไขของเรา

“อุดมการณ์นั้นคือระบบ (ที่มีตรรกะและความเข้มงวดในตัวเอง) ของภาพแสดงตัวแทน (ภาพจินตนาการ, ภาพมายา, ความคิด หรือ มโนทัศน์ ที่แตกต่างกันไปตามแต่กรณี) ซึ่งกอปรด้วยการดำรงอยู่ทางประวัติศาสตร์และบทบาทภายในแต่ละสังคม ... อุดมการณ์ในฐานะของระบบของภาพแสดงตัวแทนนั้นเป็นสิ่งที่แยกออกมาจากวิทยาศาสตร์ในการทำงานปฏิบัติการทางสังคมนั้นมีความสำคัญมากกว่าการทำงานเชิงทฤษฎี (ทำงานในฐานะขององค์ความรู้)”

แน่นอนว่าวิถีทางเดียวที่จะทำให้ข้อเสนอนี้มีเหตุผลขึ้นมานั้นคือการต้องยอมให้มันดำเนินไปร่วมกับวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ให้มันทำงานร่วมกับระบบการศึกษา, การเมือง, วรรณกรรม ฯลฯ อันเนื่องมาจากมันมีรูปแบบของภาคปฏิบัติการ มีการสถาปนารูปแบบกลไกขึ้น และกระทำการอยู่ภายในปฏิบัติการที่ก่อให้เกิดความคิดของ วิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้นจะไม่ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นระเบียบในรูปแบบที่เป็นสถาบันของภาคปฏิบัติการที่มีวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์ของตนเองได้อย่างไร หากแต่ว่านี่ไม่ใช่มุมมองที่อัลธูแซร์มอง

ตามความคิดของอัลธูแซร์แล้วอุดมการณ์นั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ “ดำรงอยู่” ระหว่างมนุษย์กับโลกของมนุษย์ เป็นความสัมพันธ์ที่ขาดความตระหนักรู้ซึ่งอาจจะหรืออาจจะไม่สะท้อนออกมาในรูปแบบของ ‘ปรัชญา’ ที่เป็นระบบก็ได้ อุดมการณ์นั้นถูกแบ่งแยกออกมาจากวิทยาศาสตร์ไม่ใช่จากการที่มันเป็นสิ่งผิดพลาดหรือเป็นสิ่งที่ไม่มีความต่อเนื่อง หากแต่มันถูกแบ่งแยกออกมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าการทำงาน ผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางการผลิต ที่มีลักษณะนำอยู่ภายในตัวอุดมการณ์เหนือ ภาคปฏิบัติการทางทฤษฎี และอยู่เหนือการผลิตสร้างองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์หรือศาสตร์ต่างๆนั้นเป็นสิ่งที่อุบัติขึ้นมาจากโลกของความคิดก่อนวิทยาศาสตร์ หรือก็คือกำเนิดออกมาจากอุดมการณ์ ด้วยวิธีการที่อัลธูแซร์เรียกว่าเป็น การแตกหักทางญาณวิทยา (epistermological break) เป็นการ ‘ก้าวกระโดด’ ที่ก่อให้เกิดการแตกหักอย่างรุนแรงจากกรอบความคิดก่อนหน้า และนำไปสู่การสถาปนาปมปัญหา (problematic) ใหม่ขึ้นมา อุดมการณ์นั้นดำรงอยู่เคียงคู่กับวิทยาศาสตร์ในฐานะขององค์ประกอบของการก่อรูปทางสังคม (social formation)

อัลธูแซร์นั้นมองภาคปฏิบัติการทางทฤษฎี (ที่เป็นวิทยาศาสตร์) ว่าเป็นภาคปฏิบัติการในลำดับที่สี่ ซึ่งดำรงอยู่เหนือและมีอำนาจเหนือภาคปฏิบัติการทางเศรษฐกิจ, การเมือง และอุดมการณ์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วนั้นมันจะก่อให้เกิดการก่อรูปทางสังคม การทำงานในภาคปฏิบัติการทางทฤษฎีนั้นคือการเปลี่ยนผ่านอุดมการณ์ให้กลายไปเป็นองค์ความรู้ วิพากษ์มโนทัศน์อันเป็นนิรันดรของอุดมการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงวัตถุแต่ไม่สามารถจะก่อให้เกิดความเข้าใจต่อวัตถุได้

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกันกับที่แรงงานรับค่าจ้างนั้นไม่ได้เป็น ‘องค์ประธาน’ ของกำลังแรงงานของตนเอง และไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าฟันเฟืองหนึ่งของการผลิตที่ถูกจัดการโดยทุน ซึ่งตอบสนองและมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกระบวนการผลิต ในทางเดียวกันนั้นเองวิทยาศาสตร์ก็เป็นกระบวนการที่ ไร้องค์ประธาน ซึ่งเป็นการรวบรวมเอาส่วนประกอบและเงื่อนไขทั้งหมดของภาคปฏิบัติการแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาไว้ด้วยกัน ปัจเจกบุคคลที่สามารถทำงานได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริงนั้นจะไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าตนเองเป็น ‘องค์ประธาน’ ของการผลิตที่เป็นวิทยาศาสตร์ของตนเอง สิ่งใดก็ตามที่นอกเหนือไปจากแรงงานรับค่าจ้างนั้นเป็นองค์ประธานของการผลิตทางเศรษฐกิจ ในทั้งสองกรณีนี้ปัจเจกบุคคลนั้นเป็นเพียงผู้แบกหามกระบวนการปฏิบัติการทางสังคมเอาไว้เท่านั้น

แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เราเสนอไปนี้มันจะฟังดูเข้าท่าก็ต่อเมื่อเราพิจารณาความคิดที่เป็นระบบใน ทางทั่วๆไป (และไม่ใช่การพิจารณามันในฐานะของภาพมายา) ความคิดที่ถูกนำออกมาสู่ที่สว่างและนำไปสู่ความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลที่เป็นจริงซึ่งมีต่อเงื่อนไขการดำรงอยู่ของตัวเอง (ซึ่งตรงกันข้ามกับความสัมพันธ์ในระดับจินตนาการ) ความคิดซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เป็นนิรันดรและคัดง้างกับประวัติศาสตร์ หากแต่ในทางตรงกันข้ามมันจะต้องเป็นความคิด ทางประวัติศาสตร์ ความคิด ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะถูกทำความเข้าใจในฐานะของสิ่งที่ถูกประกอบขึ้นอย่างแน่นอน มีความสัมพันธ์ที่เป็นอิสระในตัวเอง มีรูปแบบของภาคปฏิบัติการอย่างประจำ และมาพร้อมกับ ‘มุมมองต่อโลกที่เป็นวิทยาศาสตร์’ ด้วยหรือไม่?

อัลธูแซร์นั้นมองวิทยาศาสตร์ในฐานะของภาคปฏิบัติการ (เช่นเดียวกับเศรษฐกิจ, การเมือง และอุดมการณ์) หากแต่ว่าการมองแบบนี้นั้นก็ไม่ชัดเจนอย่างยิ่งว่าภาคปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์นั้นถูกนำออกมาโดยปัจเจกบุคคลผู้ซึ่งไม่ใช่องค์ประธาน ไม่ใช่ผู้กำหนดของการกระทำ หรือเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำได้ ไม่สามารถสถาปนาความคิดของวิทยาศาสตร์ได้ แต่กลับสามารถสร้างความแตกต่างเชิงคุณภาพจากอุดมการณ์ได้ กระบวนการแบบดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันดูเหมือนว่าวิทยาศาสตร์ ซึ่งเปิดเผยให้เห็นความสัมพันธ์ที่เป็นจริงของผู้คนที่มีต่อเงื่อนไขการดำรงอยู่ของเขานั้นเป็นเพียงการผูกมัดมันด้วยความสัมพันธ์ทางชนชั้นในฐานะของอุดมการณ์ซึ่ง “แสดงให้เห็นถึงจุดยืน ทางชนชั้น อยู่เสมอ” หากแต่อัลธูแซร์ไม่ได้เสนอว่าผลประโยชน์ทางชนชั้นของกรรมาชีพนั้นเป็นสิ่งที่ถูกนำออกมาจากลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ของงานในทางทฤษฎี และเพื่อจะทำให้ตัวเองกลายเป็น สิ่งที่เป็นภาวะวิสัย วิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องเชื่อและกระทำการโดย ปราศจากอัตวิสัย หรือก็คือปราศจากองค์ประธาน นั่นคือสร้างวาทกรรมที่ไร้องค์ประธานและภาคปฏิบัติการที่ไร้องค์ประธาน ดังนั้นแล้วผู้ที่เขียนงานทางวิทยาศาสตร์ ผู้เป็นปัจเจกบุคคลซึ่งท้ายที่สุดแล้วได้กลายไปเป็น “องค์ประธาน” และท้ายที่สุดแล้วในทางอุดมการณ์ “ก็กลายเป็นสิ่งซึ่งเลื่อนลอยอย่างสมบูรณ์เป็นเสมือน ‘องค์ประธาน’ ที่หลุดออกจากวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์ของ ‘ตัวเขา’ เอง” นักวิทยาศาสตร์ปัจเจกบุคคลนั้นจึงเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆตัวหนึ่งในเครื่องจักรขนาดใหญ่ของวิทยาศาสตร์ งานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากในทุกวันนี้นั้นแน่นอนว่ามันดูเหมือนกับเป็นกระบวนการผลิตแบบสายพานการผลิตในโรงงาน ด้วยตำแหน่งและดีกรีปริญญาเอก (PhDs) ที่ขยายตัวออกมามากราวกับเด็กฝึกงานค้าขาย หากแต่สามารถว่ากระบวนการทั้งหมดนั้นจะสามารถแสดงตัวเองออกมาในวิถีทางแบบที่เรากล่าวมานี้ได้ในทุกระดับหรือไม่?

ในงานเรื่อง the Preface to Capital Volume One นั้นอัลธูแซร์ได้เขียนเสนอว่า “การต่อสู้เพื่อวิทยาศาสตร์มาณืกซิสต์และปรัชญามาร์กซิสต์นั้นคือภารกิจในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่มันเป็นมาในอดีต นั้นคือเป็นรูปแบบของการต่อสู้ทางชนชั้นในทางการเมืองและอุดมการณ์” หากแต่วิทยาศาสตร์นั้นยังคงเป็นสิ่งที่ไร้องค์ประธานกระทั่งในระหว่างที่ตัวมันเองกำลังรับใช้การต่อสู้ทางชนชั้น และถูกแทรกซึมไปด้วยจุดยืนทางชนชั้น หรือก็คือจุดยืนของชนชั้นกรรมาชีพ การกำหนดลักษณะเฉพาะของวิทยาศาสตร์ด้วยระบบสังคมนิยมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีปัญหาในยุคของอัลธูแซร์ หากแต่ว่ามันไม่ได้เรื่องสำคัญอีกต่อไปแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณเรื่องนี้ให้กับ ‘นักมนุษย์นิยมสังคมนิยม’ (socialist humanists) ที่อัลธูแซร์ต่อต้านมาโดยตลอด

อัลธูแซร์นั้นมองงาน Capital ในฐานะของงานวิทยาศาสตร์ (เช่นเดียวกับที่มาร์กซ์มอง) และในมุมมองของอัลธูแซร์ การจะอธิบายถึง Capital ในฐานะของงานทางศีลธรรม นั้นคงเป็นสิ่งที่หยาบคายพอๆกับการบอกว่างานชิ้นนี้เป็นงานเชิงอุดมการณ์ ศีลธรรม ทั้งหมด นั้นล้วนแล้วแต่เป็นอุดมการณ์สำหรับอัลธูแซร์ แต่ด้วยการนำความสัมบูรณ์ออกจากวิทยาศาสตร์นั้น ตัวอัลธูแซร์เองก็ได้ตกเป็นเหยื่อของอุดมการณ์ องค์ความรู้ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ เพื่ออะไรบางอย่าง องค์ความรู้นั้นกำเนิดออกมาเพียงแต่ในความเชื่อมโยงกับรูปแบบของกิจกรรมที่แน่นอนและไม่ใช่สิ่งอื่นเท่านั้น ดังนั้นแล้วมโนทัศน์เรื่องวิทยาศาสตร์ซึ่งแยกเอาวิทยาศาสตร์ออกจากศีลธรรมนั้นจึงเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมและเป็นการหลอกตัวเอง

 

อุดมการณ์

 

สำหรับอัลธูแซร์นั้นการกลายเป็นองค์ประธาน ‘การเชื่อใน’ อุดมการณ์ และการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมและภาคปฏิบัติการของกลไกทางอุดมการณ์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเดียวกันและเป็นสิ่งเดียวกัน

“เงื่อนไขศูนย์กลางที่ชี้ขาดที่ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่เป็นอิสระคือความคิดของ องค์ประธาน ... การจัดลำดับชั้นขององค์ประธาน ... นั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญในการจัดลำดับชั้นของอุดมการณ์ทั้งปวง ... เฉพาะแต่ ... ตราบเท่าที่อุดมการณ์ทั้งปวงนั้นมีการทำงาน (ที่เป็นตัวกำหนดมัน) ในการ ‘สถาปนา’ ปัจเจกบุคคลที่เป็นรูปธรรมให้กลายเป็นองค์ประธาน อุดมการณ์นั้นจึงไม่ใช่สิ่งใดเลยนอกไปจากการทำงานของตัวมันเองในรูปแบบการดำรงอยู่ที่มีสภาพเชิงวัตถุของการทำงานที่กล่าวมา”

ในสมการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เราสามารถจะเห็นได้แล้วว่าอัลธูแซร์นั้นมองและทำความเข้าใจต่อ ‘องค์ประธาน’ อย่างไร ในความคิดของเขานั้นองค์ประธานเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากการเป็นอิสระอย่างมาก ห่างไกลจากการเป็นตัวกระทำที่มีความรับผิดชอบ แต่เป็นการดำรงอยู่ ภายใต้การครอบงำ และองค์ประธานนั้นคือมนุษย์ปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ชนชั้น หรือชาติ

“ปัจเจกบุคคล ... ซึ่งมีพฤติกรรมแตกต่างกันไปตามวิถีทาง ที่รับเอาทัศนคติเชิงปฏิบัติการที่แตกต่างกันไป และ ยิ่งไปกว่านั้นคือมีส่วนร่วมในภาคปฏิบัติการที่ต่อเนื่องแน่นอนที่เป็นภาคปฏิบัติการซึ่งบรรดากลไกทางอุดมการณ์ต้องพึ่งพาอาศัย และ ‘ขึ้นตรงกับ’ ความคิดที่เขาเชื่อว่าตนเองนั้นเป็นองค์ประธานที่ได้ทำการเลือกปฏิบัติการต่างๆด้วยตนเองอย่างอิสระและมีจิตสำนึก ... และยอมรับมันอย่างอิสระ เป็นสิ่งที่เขาต้องกระทำซึ่งสอดคล้องตรงกับความคิดของเขา ซึ่งในที่สุดแล้วมันจะถูกจารึกเอาไว้ในความคิดเก่าของเขาในฐานะขององค์ประธานอิสระในการกระทำของภาคปฏิบัติการที่มีสภาพวัตถุของตัวเขา ... ภาคปฏิบัติการเหล่านี้นั้นถูกควบคุมด้วย พิธีกรรม ที่ภาคปฏิบัติการเหล่านี้ได้แทรกตัวเองเข้าไป อยู่ภายใน การดำรงอยู่เชิงวัตถุของกลไกทางอุดมการณ์

มีแต่เพียงปัจเจกบุคคลที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นที่สามารถกลายไปเป็นองค์ประธานได้ หากแต่การจะเป็นองค์ประธานนั้นปัจเจกบุคคลจำเป็นต้องถูกยึดกุมด้วยรูปแบบของภาคปฏิบัติการที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยอุดมการณ์ ที่เป็นนิรันดร อุดมการณ์ที่มัน ‘ไม่มีภายนอก’ อันจะสถาปนาความสัมพันธ์ในระดับจินตนาการของปัจเจกบุคคลที่มีต่อเงื่อนไขการดำรงอยู่ที่เป็นจริงและทำงานในฐานะของตำกำหนดนำในฐานะกลไกทางอุดมการณ์สำหรับการปกปักรักษาตัวครองอำนาจนำ ซึ่งก็คือวิถีการผลิตแบบทุนนิยม

แม้ว่ามันจะมีความสัมพันธ์ที่เป็นอิสระของกลไกทางอุดมการณ์และกลไกการปราบปรามที่หลากหลายอยู่ แต่มันก็ยังสร้างรูปแบบของพื้นที่ที่ใกล้ชิดกันซึ่งไม่มีจิตสำนึกใดจะเกิดขึ้นได้ยกเว้นเพียงแต่การหลอกลวง การทำงานเพื่อการกำหนด และจิตสำนึกแบบกระฎุมพีเท่านั้น องค์ประธานปัจเจกบุคคลนั้นเชื่อว่าตนเองกระทำการต่างๆไปโดยเจตจำนงเสรีของตนเองหากแต่นั่นเป็นเพียงภาพมายาลวง กระทั่งในห้วงเวลาก่อนที่ตัวพวกเขาจะกำเนิดขึ้นมา พวกเขาก็ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องแบกรับเอานามสกุลของพ่อไปใช้ บทบาทหน้าที่ของเขานั้นถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะได้รู้จักตนเองเสียอีก – สิ่งเหล่านั้นคือ เพศของเขา ความสามารถของเขา ครอบครัวของเขา ฯลฯ – องค์ประธานนั้นเป็นองค์ประธานอยู่แล้วและเป็นอยู่เสมอตลอดเวลา และเขารู้ตัวอยู่เสมอว่าเขาเขาเป็นองค์ประธานเมื่อเขาถูกเรียกและ ‘พบที่ทางของตนเอง’ ในสังคมโดยการแทรกตัวเองเข้าไปในตำแหน่งแห่งที่ในกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ นี่คือกระบวนการที่อัลธูแซร์เรียกมันว่า ‘การร้องเรียก’ (interpellation) – ปัจเจกบุคคลจะตระหนักต่อตนเองและตอบสนองกลับต่อการอ้างถึงอัตลักษณ์ของเขาที่เรียกต่อตัวเขาโดยกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ กล่าวในทางรูปธรรม มันคือการแทรกซึมหรือการดูดซึมกิจกรรมต่างๆของปัจเจกบุคคลเข้าสู่ภาคปฏิบัติการที่จะช่วยสถาปนาตัวกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐขึ้นมา

อัลธูแซร์นั้นยกตัวอย่างกรณีศาสนาคริสต์ขึ้นมาเป็น “ตัวอย่าง” ของอุดมการณ์ โดยการเสนอว่า “การแสดงตัวอย่างแบบนี้นั้นสามารถสร้างขึ้นได้เพื่อรองรับ อุดมการณ์ทางศีลธรรม ทางการเมือง ทางสุนทรียะ หรือรองรับอุดมการณ์อื่นๆ” และได้นำเสนอต่อไปถึงประเด็นเกี่ยวกับศาสนาซึ่งถูกอ้างโดยปราศจากการยกตัวอย่างว่าสามารถนำไปใช้กับศีลธรรมได้ “มันจะมีความเป็นไปได้จำนวนมหาศาลในองค์ประธานทางศาสนาได้ก็ต่อเมื่ออยู่บนเงื่อนไขสัมบูรณ์ นั่นคือมีเงื่อนไขของความเป็นเอกลักษณ์, ความสัมบูรณ์, เป็นองค์ประธานใหญ่ที่เป็นสิ่งอื่น กล่าวคือ พระเจ้านั่นเอง” ดังนี้เองเราก็จะมี กอร. ที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยหลักการใหญ่นั่นคือ – พระเจ้าในศาสนาคริสต์ – ที่จะทำให้องค์ประธานย่อยนั้นถูกครอบงำเมื่อพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมทางสังคมในภาคปฏิบัติการและพิธีกรรมภายในตัว กอร. ที่กำหนดไว้ ด้วยการตระหนักถึง “องค์ประธานใหญ่” (Subject) ของบรรดาองค์ประธานย่อย (subject) นั่นเอง (องค์ประธานใหญ่ นั้นกล่าวคือ พระเจ้า หรือ กฎหมาย หรือ ศิลปะ ฯลฯ) อันทำให้ปัจเจกบุคคลนั้นตระหนักในตนเองว่าตนคือองค์ประธาน บนพื้นฐานนี้ ด้วยความเชื่อมั่นอย่างสมบูรณ์ของโลกปิดนี้เองที่ทำให้องค์ประธานนั้นเป็นอิสระที่จะ “เลือกทำงานโดยตัวเอง”

คำถามที่ต้องถูกถามก็คือ ข้อเท็จจริง (ถ้าหากว่าเรามองมันในฐานะของข้อเท็จจริง) ที่ว่าผู้คนนั้นปฏิบัติการภายในสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นระบบของภาพมายาที่มีการแบ่งปันร่วมกัน ในแง่นี้นั้นพวกเขาย่อมจะไม่สามารถแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองอย่างแท้จริง และพวกเขาย่อมจะไม่สามารถที่จะควบคุมชะตากรรมของตนเองอย่างมีเหตุมีผลได้ใช่หรือไม่?

 

องค์ประธานภายใต้การควบคุม

 

ในฐานะของนักโครงสร้างนิยมที่ดี อัลธูแซร์ย่อมจะสามารถทำการ “พิสูจน์” ถึงลักษณะขององค์ประธานขององค์ประธานที่หลอกตนเองได้อย่างสมบูรณ์ด้วยการนำเสนอความคิดตามแบบฉบับของความคิดแบบโครงสร้างนิยมฝรั่งเศส

“... ภาพมายาทั้งหลายทั้งปวงของผลกระทบนี้ดำรงอยู่ใน ... ความคลุมเครือของนิยมคำว่า องค์ประธาน ในทางความหมายทั่วไปแล้ว องค์ประธานนั้นมีความหมายว่า (1) ผู้มีความเป็นอิสระในตนเอง, เป็นศูนย์กลางของความริเริ่ม, เป็นผู้กำหนดการกระทำของตนเองและเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง (2) การดำรงอยู่ภายใต้การปกครอง, ผู้ซึ่งยอมรับและสยบยอมต่ออำนาจที่สูงกว่า และดังนี้แล้วมันจึงเป็นการเปลือยเปล่าเสรีภาพทั้งมวลเว้นแต่เพียงอิสระในการจะยอมรับต่อการยอมจำนนของตนเอง ... ปัจเจกบุคคลนั้น ถูกร้องเรียกในฐานะขององค์ประธาน (ที่เป็นอิสระ) เพื่อที่จะทำให้เขานั้นยอมรับอย่างเป็นอิสระที่จะตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขององค์ประธานใหญ่ กล่าวคือ เป็นการร้องเรียกเพื่อให้พวกเขานั้นยอมรับ (อย่างอิสระ) ที่จะตกอยู่ภายใต้การปกครอง ...”

แต่แน่นอนว่าความหมายที่ตรงกันข้ามของคำว่า “องค์ประธาน” นี้มีความแตกต่างกันอย่างเด็ดขาด Descartes นั้นวิพากษ์ Aristotle โดยใช้การแปลงานเขียนของ Aristotle ในภาษาละตินจากคำว่า upokeimenon (hypokeimenon), subjectum เพื่อจะสื่อความหมายถึงคำว่าสสาร (substance - substantia) ที่คุณสมบัติต่างๆนั้นต้องปฏิบัติตาม กล่าวคือ (สำหรับ Descartes) ปัจเจกบุคคลนั้นมีความตระหนักมีจิตสำนึกในตนเอง Kant นั้นก็ได้กลับมาสู่การนิยามองค์ประธานนี้ในฐานะของปัจเจกบุคคลที่มีอธิปไตยในตนเอง “เป็นผู้มีความเป็นอิสระในตนเอง, เป็นศูนย์กลางของความริเริ่ม, เป็นผู้กำหนดการกระทำของตนเองและเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง” ความหมายของคำว่า “องค์ประธาน” นี้ยังคงถูกใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง หากแต่ถูกใช้เฉพาะแต่ในงานทางปรัชญาหรือวาทกรรมทางปรัชญาเท่านั้น

ในอีกทางหนึ่ง “องค์ประธาน” นี้เป็นคำศัพท์ที่เข้าสู่โลกภาษาอังกฤษเมื่อราวศตวรรษที่ 14 ในความหมายที่สื่อถึงบุคคลที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองหรือได้ถวายสัตย์ปฏิญาณมอบความภักดีให้แก่อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ (sovereign power) กลายเป็น ผู้อยู่ภายใต้ กฎหมาย และอยู่ภายใต้การคุ้มครอง ในห้วงเวลานี้เองที่คำว่า “subjectum” นั้นถูกทำความเข้าใจในแง่แบบ Aristotlean ก่อนที่มันจะถูก Descartes เปลี่ยนผ่านความหมายขององค์ประธานไปเป็นผู้กระทำภายในวาทกรรมทางปรัชญา ในการใช้โดยความหมายทั่วๆไปนั้น “องค์ประธาน” ยังคงเก็บรักษาความหมายดั้งเดิม อย่างเช่น การเป็นองค์ประธานของบทกวี หรือ การกลายเป็นองค์ประธานต่อระบบภาษี ฯลฯ

ยิ่งไปกว่าความคลุมเครือในเชิงความหมาย ปัญหาที่เราพบอีกคือคำศัพท์ที่แตกต่างกันสองคนในเชิงคุณภาพ และมโนทัศน์ที่แตกต่างกันสองมโนทัศน์ ความเชื่อมโยงระหว่างความหมายทั้งสองแบบของ “องค์ประธาน” ใน ทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในทางตรรกะ มันไม่ใช่สิ่งใดเลยนอกไปจากเล่ห์กลแบบโครงสร้างนิยมในการเสนอความเชื่อมโยงที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ใน การกลายเป็นองค์ประธาน (กล่าวคือ การมีจิตสำนึกในตนเอง, การรับรู้ถึงตัวกำหนดการกระทำของตนเอง) และ กลายเป็นผู้อยู่ภายใต้การควบคุม ที่สยบยอมต่ออำนาจที่สูงกว่า ความหมายทั้งสองแบบที่ไม่สามารถเข้ากันได้อย่างถึงที่สุดนั้นเป็นการต่อต้านต่อตัวมันเองในความหมายของตัวมันเองและทำให้มันมีเนื้อหาและบริบทที่แตกต่างกัน.

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
        ทุนนิยมและเสรีภาพ
จักรพล ผลละออ
กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคง* : กลุ่มพลังใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมGuy Standing (2014)
จักรพล ผลละออ
 อิสรภาพของคาตาลูญญา: แรงกดดันต่อพรรค Podemos
จักรพล ผลละออ
 ใครว่าฝ่ายซ้ายไม่มีทางชนะ?