Skip to main content

ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยม

Why I’m a Socialist

BY BARRY EIDLIN
Translated BY Jakkapon P.

 

ผมเชื่อในประชาธิปไตย เชื่อในเสรีภาพ และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะสร้างโลกใหม่ที่ดียิ่งกว่าโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยม

 

ผมเป็นนักสังคมนิยมก็เพราะผมเชื่อในหลักการเรื่องเสรีภาพสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่การสถาปนาเสรีภาพให้แก่คนกลุ่มน้อยและบรรดาอภิสิทธิ์ชน ผมเป็นนักสังคมนิยมก็เพราะผมเชื่อในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การปกครองของพวกคณาธิปไตยอันเป็นระบอบการปกครองโดยคนส่วนน้อยและพวกอภิสิทธิ์ชน

ระบบทุนนิยมนั้นเคยเป็นกลไกที่นำพาเราไปสู่การผลิตสร้างความมั่งคั่ง เสรีภาพ และความผาสุกแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ หากแต่ปัญหาของมันก็คือระบบทุนนิยมนั้นสร้างเสรีภาพและความผาสุกให้แต่เพียงคนส่วนน้อยของสังคม โดยการแลกมาด้วยความทุกข์ยากของคนส่วนมาก และด้วยเหตุนี้เองตัวระบบทุนนิยมเองจึงเป็นสิ่งที่ทำลายประชาธิปไตยและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมีส่วนร่วมทางสังคม

แน่นอน ความผาสุกและประชาธิปไตยนั้นเบ่งบานอย่างมากในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา หากทว่ามันเป็นการเติบโตเบ่งบาน ที่มี ระบบทุนนิยมแทรกอยู่เหมือนปรสิต มิใช่ว่ามันเติบโตและขยายตัวได้เพราะระบบทุนนิยม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะผู้คนทั้งหลายเริ่มต้นต่อสู้เพื่อเข้าควบคุมทิศทางของระบบทุนนิยม มีผู้คนจำนวนมากกระทำเช่นนั้นในนามของภารกิจการสร้างโลกใหม่ที่ดีงามกว่าโลกภายใต้ระบบทุนนิยม ใครบางคนอาจจะเรียกขานการกระทำดังกล่าวหรือโลกใหม่นี้ว่าระบบสังคมนิยม และแน่นอนว่าคนจำนวนมากที่ใฝ่ฝันถึงโลกใหม่ที่ดีกว่านี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นนักสังคมนิยมเสียด้วยซ้ำ

เพื่อของเราที่ใฝ่ฝันถึงโลกใหม่ตั้งคำถามที่เรียบง่ายขึ้นประการหนึ่ง : เราจะสร้างระบบที่ทำงานได้ดีกว่าที่ระบบทุนนิยมทำมาหรือไม่?

แน่นอน หากเราลองมองข้ามการนองเลือด, การยึดชิงทรัพยากร และการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยม ในด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าระบบทุนนิยมนั้นได้นำพามาซึ่งความก้าวหน้าทางสังคมอย่างมหาศาล  ปัญหาก็คือระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่นี้คือระบบที่ดีที่สุดที่มนุษยชาติจะสร้างขึ้นได้แล้วหรือ?

ในฐานะนักสังคมนิยม ผมเชื่อว่า เราสามารถสร้างระบบที่ดีกว่านี้ได้ อันที่จริงแล้วเรา จำเป็นต้อง สร้างระบบที่ดีกว่านี้ขึ้นหากว่าเราคาดหวังจะอาศัยอยู่บนโลกนี้ต่อไป พร้อมกับแก้ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ เพราะหากเราศึกษาจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามนุษยชาติมีขีดความสามารถที่จะพัฒนาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทุนนิยมได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงเห็นว่าการพยายามปกป้องระบบทุนนิยมอย่างแข็งขันนั้นเป็นเรื่องน่างงงวย เพราะระบบทุนนิยมนั้นได้ทรยศต่อความศรัทธาและความคาดหวังของมนุษยชาติทั้งมวล มันเป็นระบบที่ขัดขวางขีดความสามารถของมนุษย์ในการจะพัฒนาและยกระดับไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เราอาศัยอยู่ในยุคสมัยที่เราสามารถวาดฝันถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสาร, รูปแบบการเดินทาง, การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านอาหารข้ามโลก, การป้องกันภัยพิบัติ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้มหาศาล เราสามารถแม้กระทั่งวาดฝันถึงการสร้างอาณานิคมในอวกาศ หากแต่เมื่อเราพยายามตั้งคำถามและพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไปไกลกว่าระบบทุนนิยม กลับกลายเป็นว่าพวกเราไม่สามารถคิดอะไรที่ไกลกว่าทุนนิยมได้เลย มันกลายเป็นว่าพวกเราเชื่ออย่างไม่สงสัยเลยว่าระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่นี้คือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะมีได้

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหมือนกับเรื่องที่เกิดในอดีต คุณลองนึกภาพของ Henry Ford (ผู้ให้กำเนิดรถยนต์ Ford) เมื่อเขาประกอบรถยนต์คันแรกที่ชื่อ Model T สำเร็จแล้วพูดกับตัวเองว่า “เอาล่ะ เราได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา มันเป็นยานพาหนะที่เหนือกว่ารถม้าแล้ว นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้แล้ว”

แล้วคุณลองกลับมาดูรถยนต์ของ Ford ทุกวันนี้สิ เห็นไหมว่ามันใช่คันเดียวกันกับ “สิ่งที่ดีที่สุด” ของ Henry Ford หรือไม่?

ผมไม่มั่นใจว่ามาร์กซ์เคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้ที่ไหน แต่เขากล่าวในเชิงเปรียบเปรยว่า “มันไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆที่จะต้องเขียนตำราทำอาหารสำหรับคนในอนาคต” เช่นเดียวกันกับระบบสังคมนิยม เมื่อรากฐานของระบบสังคมนิยมคือความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพ มันจึงเป็นสิ่งยืนยันว่าอนาคตในระบบสังคมนิยมนั้นควรจะถูกพัฒนาขึ้นด้วยกระบวนการประชาธิปไตยโดยผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในระบบนี้ ไม่ใช่เกิดจาก พิมพ์เขียว ที่ร่างขึ้นโดยผู้สถาปนาตนเองเป็นผู้นำทางความคิด

อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องมีภาพร่างคร่าวๆเกี่ยวกับระบบสังคมนิยมว่ามันจะมีหน้าตาอย่างไร เพียงแต่เราจะต้องไม่มองไปไกลจนเกินไปนัก

นักสังคมนิยมชื่อดังอีกคนหนึ่งนั่นคือ Martin Luther King Jr. ได้กล่าวเอาไว้ครั้งหนึ่งว่า “เรามีระบบสังคมนิยมสำหรับพวกคนรวย และมีระบบทุนนิยมแข่งขันเสรีไว้ใช่กับพวกคนยากจน” สิ่งที่ Martin ต้องการจะบอกเราก็คือบรรดาคนร่ำรวยภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นมีพื้นฐานของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, ความเป็นอิสระ และเสรีภาพอยู่แล้ว พวกเขาไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องอาหารการกอนว่าจะมีข้าวตกถึงท้องไหม, จะมีเสื้อผ้าใส่หรือเปล่า หรือวันนี้จะมีบ้านให้หลับนอนหรือไม่ พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและไม่ลำบาก เช่นเดียวกันค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียนในสถานศึกษาที่แพงลิ่วก็ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับพวกเขา สิ่งเหล่านี้ทำให้บรรดาคนร่ำรวยกลายเป็นผู้ที่มีความเป็นอิสระและเสรีภาพติดตัวมาแต่เกิด ทรัพย์สินมรดกตกทอดที่ทำให้พวกเขาเกิดมาร่ำรวยกลายเป็นใบเบิกทางสำคัญให้แก่พวกเขา

แน่นอน ผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมย่อมบอกว่า “ทรัพย์สินเหล่านี้ไม่มั่นคงภายใต้ระบบทุนนิยม ว่ามันจะเป็นของคุณตลอดไป วันนี้คุณเป็นคนรวยวันพรุ่งนี้อาจจะกลายเป็นยาจกที่ยากจนก็ได้” หากแต่ในความเป็นจริงแล้วบรรดาคนร่ำรวยนี้มีตาข่ายรองรับพวกเขาอยู่เสมอ และที่ผ่านมาก็เห็นชัดแล้วว่ามันมีตาข่ายอยู่หลายชั้นนักกว่าที่คนร่ำรวยจะกลายมาเป็นคนยากจนข้นแค้นแสนสาหัสจริงๆ

ลักษณะพื้นฐานของคนรวยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทำให้พวกเขามีเสรีภาพ เสรีภาพที่จะเล่นกิจกรรมเสี่ยงอันตราย เสรีภาพที่จะค้นหาความคิดสร้างสรรค์ในตัวเอง เสรีภาพที่จะออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ เสรีภาพที่จะสร้างและคิดค้นสิ่งใหม่ๆ

ปัญหาก็คือภายใต้ระบบทุนนิยม มีเพียงคนร่ำรวยจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงเสรีภาพดังกล่าวได้ และถึงแม้มันจะมีมายาคติจอมปปลอมที่สร้างขึ้นมาว่าระบบทุนนิยมนั้นเป็นระบบที่ทุกคนสามารถกลายเป็นผู้ชนะได้ หรือมายาคติว่าหากคุณขยันขันแข็งก็อาจจะได้รับรางวัลจากระบบทุนนิยม แต่ความเป็นจริงก็คือไม่ว่าคุณจะเป็นส่วนหนึ่งของอภิสิทธิ์ชนหรือไม่คุณจะถูกตัดสินจาก สถานที่ที่คุณเกิด และพื้นฐานครอบครัวของคุณอยู่ดี

ระบบสังคมนิยมนั้นคือสังคมที่เห็นว่ามนุษย์ทุกคนควรมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจแบบที่กล่าวมาข้างต้น และด้วยพื้นฐานทางสังคมที่เท่าเทียมกันนั้นมันจะทำให้พวกเราสามารถเลือกที่จะกระทำสิ่งต่างๆได้ตามความสามารถส่วนบุคคลและความต้องการส่วนบุคคลที่แท้จริง เพื่อตอบสนองสอดคล้องกับความต้องการของสังคมผ่านการประเมินผลด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย มากกว่าจะเป็นการกระทำโดยสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่า “แรงผลักดันเชิงบังคับอันน่าเบื่อหน่ายของเหตุผลทางเศรษฐกิจ”

ภายใต้ระบบสังคมนิยมเราจะปลดปล่อยมนุษย์ทุกคนออกจากการทำงานแบบวันต่อวันเพื่อหาเงินประทังชีพเอาชีวิตรอดภายใต้ระบบทุนนิยม มนุษย์ทุกคนภายใต้ระบบสังคมนิยมจะมีอิสระที่จะคิดค้นสิ่งใหม่, ทดลองสิ่งแปลกใหม่ และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นภายใต้ระบบสังคมนิยม

คำถามคือมันเป็นไปได้หรือไม่ที่มนุษย์ทุกคนจะมีพื้นฐานทางสังคมที่เท่าเทียมกัน? กล่าวในทางเศรษฐศาสตร์แล้วก็ต้องตอบว่า เป็นไปได้ ในปัจจุบันนี้เรามีความมั่งคั่งรวมในระดับโลกที่มากมายมหาศาลแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพียงแต่มันได้รับการกระจายออกไปในรูปแบบที่แย่มาก (อันที่จริงแล้วมันไม่ได้รับการกระจาย แต่ถูกผูกขาดเอาไว้) ตามรายงานของ Oxfam นั้น ในปี 2018 คนร่ำรวยจำนวน 26 คนนั้นถือครองทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากกว่าทรัพย์สินของประชากรอีกครึ่งโลกรวมกัน ทรัพย์สินที่ถูกผูกขาดเอาไว้เท่านี้ก็มากเพียงพอจะปลดแอกพกวเราออกจากความยากจนแล้ว

คำถามประการถัดมาคือแล้วทำไมมันจึงเกิดการกระจุกตัวของความร่ำรวยเช่นนี้ คำตอบก็คือมันเป็นแนวโน้มที่อาจจะขัดขืนได้ภายใต้ระบบทุนนิยม มันจำเป็นต้องเกิดหรือในที่สุดมันจะนำไปสู่การผูกขาดและกระจุกตัวของทุนและความมั่งคั่ง และเมื่อปราศจากการตอบโต้แข็งขืน ระบบทุนนิยมก็จะยิ่งริบเอาความมั่นคงทางเศรษฐกิจไปจากผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ และกีดกันพวกเขาออกไป

คำถามประการถัดมา อะไรคือ การตอบโต้แข็งขืน ที่เรากล่าวไว้ในย่อหน้าเมื่อครู่ คำตอบก็คือ ประชาธิปไตย

ระบบสังคมนิยมนั้นคือระบบที่มุ่งหมายจะขยายความเป็นประชาธิปไตยเข้าไปในแง่มุมต่างๆของชีวิตมากขึ้น เป้าหมายของมันก็คืออการปลดปล่อยผู้คนจากความเป็นทาส และสลายสังคมที่ถูกกำหนดความเป็นไปโดยการตัดสินใจตามอำเภอใจของบรรดาอภิสิทธิ์ชน ขณะที่ผู้คนส่วนมากนั้นถูกควบคุมด้วยการพยายามเอาตัวรอดในระบบตลาด

คำกล่าวข้างต้นนี้หมายความว่าเราจะทำลายล้างระบบตลาดหรือ? คำตอบก็คือไม่ ทั้งนี้ก็เพราะระบบตลาดนั้นดำรงอยู่มาก่อนระบบทุนนิยม และจะดำรงอยู่ต่อไปเมื่อระบบทุนนิยมล่มสลาย เพียงแต่มันจะเป็นระบบตลาดที่ปราศจากศูนย์กลาง และไม่ได้มีบทบาทในการกำหนดชีวิตของพวกเรา

ภายใต้สังคมนิยมคุณจะมีตลาดสินค้าโภคภัณฑ์, ตลาดเกษตรกรรม, ร้านหนังสือ, คาเฟ่ต์ร้านกาแฟ ฯลฯ โดยไม่ต้องกังวลว่าระบบสังคมนิยมจะกวาดล้างมันทิ้ง

เพียงแต่ตลาดเดียวที่จะหายออกกไปภายใต้ระบบสังคมนิยมนั้นคืออตลาดสำหรับซื้อขายแรงงานและทุน เพราะภายใต้ระบบสังคนิยม แรงงานไม่จำเป็นต้องถูกบีบบังคับให้ขายกำลังแรงงานของตนเองแลกกับค่าจ้าง และเราไม่จำเป็นต้องง้องอนขอการลงทุนจากบรรดาอภิมหาเศรษฐีเพื่อสร้างการลงทุนอีกต่อไป

กลับกัน ภายใต้ระบบสังคมนิยมเราจะควบรวมลักษณะต่างๆ ประกอบด้วย การทำงานแบบเป็นเจ้านายตนเอง, ระบบการทำงานแบบเป็นเจ้าของร่วมกัน และ กิจการสาธารณะ, บริษัทที่ดำเนินการโดยการบริหารของพนักงานที่จะควบคุมด้วยสภาระดับย่อยเพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการผลิตของสังคมนั้นจะเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น พร้อมด้วยการจัดสรรผลผลิตส่วนเกินด้วยกระบวนการแบบประชาธิปไตย นั่นหมายความว่าความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพทั้งหมดของมนุษย์อย่างเช่น บ้าน, ที่พักอาศัย, ระบบสาธารณสุข, การเข้าถึงการศึกษา จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกเตรียมพร้อมเอาไว้ให้มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

สิ่งที่เรากล่าวมานี้เป็นเพียงภาพร่างคร่าวๆของสังคมใหม่ที่เหนือกว่าระบบทุนนิยม และหากคุณเห็นว่าสิ่งที่กล่าวมานี้ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้จริงและซับซ้อนเกินไป ผมอยากให้คุณลองนึกถึงความซับซ้อนของการวางแผนเกี่ยวกับการจัดการระบบหอสมุดสาธารณะ หรือการคิดระบบลงจอดยานอวกาศบนดาวอังคาร หรือการรักษาโรคปอลิโอ หรือการรักษาระบบของวิกิพีเดีย แล้วคุณจะเห็นว่ามันต่างเป็นระบบการทำงานที่ปราศจากรากฐานของระบบตลาดที่สามารถทำงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายหลักได้ทั้งสิ้น เราสามารถสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าโลกที่เราปล่อยให้ตลาดควบคุมชีวิตเราได้แบบทุกวันนี้

ปมปัญหาถัดมาคือ เราจะถูกตั้งคำถามว่า ระบบสังคมนิยมเคยทดลองแล้วและมันล้มเหลวไปแล้วไม่ใช่หรือ? ลองดูผลผลิตของสหภาพโซเวียตสิ” แล้วไหนจะเวเนซุเอลาอีก? แน่นอนว่าในแต่ละกรณีที่ยกมานั้นต่างก็มีลักษณะเฉพาะในการยกมาเพื่อทำลายความคิดแบบสังคมนิยม หากแต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือการยกกรณีที่เกิดขึ้นมานี้เพื่อเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงเรื่องหลักการประชาธิปไตยของสังคมนิยม

อย่างไรก็ตาม สังคมนิยมนั้นไม่ใช่สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ หลายปัญหาที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นปัญหาเชิงระบบ, ปัญหาของการแบ่งปันข้อมูล, การสร้างความร่วมมือ, การเข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ พวกเราในฐานะนักสังคมนิยมนั้นจำเป็นต้องซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ธรรมเนียมของนักสังคมนิยมที่ผมเป็นส่วนหนึ่งนั้นพยายามที่จะต่อสู้กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมานั้นอย่างซื่อตรงอยู่เสมอ

และสิ่งที่เราเรียนรู้ก็คือ ระบบสังคมนิยมที่เคยใช้มานั้นอาจจะทำงานไม่ได้จริง ดังนั้นเราเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตก็เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม

แน่นอนว่าหากเราพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้อองกับระบบสังคมนิยมเราย่อมได้รับการตั้งคำถามกลับถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเป็นปกติ หากแต่สำหรับความล้มเหลวที่ใน Silicon Valley นั้นถูกมองว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เช่นนี้แล้วทำไมไม่ลองเอามุมมองแบบนี้มาใช้กับระบบสังคมนิยมบ้างเล่า “ล้มเหลวเพื่อไปสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่า”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ระบบสังคมนิยมในอดีตที่ผ่านมาซึ่งถูกตีตราว่าล้มเหลวนั้น มันได้สร้างสิ่งหนึ่งที่ถูกต้องขึ้นมา นั่นคือมันทำให้ปัญหาความยากจนอดอยากและปัญหาคนไร้บ้านถูกแก้ไข ระบบสังคมนิยมที่ผ่านมาได้สร้างระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษาที่เหมาะสมขึ้น พร้อมกันนั้นมันได้สร้างความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญในด้านความเสมอภาคทางเพศและด้านอื่นๆ และเราควรเรียนรู้จากอดีตทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จของระบบสังคมนิยม

มีความเป็นไปได้อีกมากมายมหาศาลเมื่อเราพูดถึงระบบสังคมนิยม หากเพียงแต่เราต้องมอบศักยภาพในการคิดค้นและริเริ่มการพัฒนาให้แก่มนุษย์ส่วนใหญ่ เราไม่ควรจะมองว่าระบบสังคมนิยมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราสามารถสร้างโลกใหม่ที่ดียิ่งกว่าโลกที่มีเสรีภาพอันจำกัด ที่เลือกจะมอบความสุขสบายให้เฉพาะแก่บรรดาอภิสิทธิ์ชนที่ร่ำรวย เราสามารถสร้างโลกใหม่ที่ดียิ่งกว่าโลกภายใต้ระบบทุนนิยมได้

ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ ขอเพียงแค่พวกเรากล้าที่จะลอง.

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ 101 – ความคิดปฏิวัติของคาร์ล มาร์กซ์(Marxism 101
จักรพล ผลละออ
 วิกฤตของลัทธิมาร์กซิสม์ : บทสัมภาษณ์ของหลุยส์ อัลธูแซร์The Crisis o
จักรพล ผลละออ
 ชีวประวัติและความคิดของหลุยส์ อัลธูแซร์Biography and idea of Louis Althusser
จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ 101 – ระบบสังคมนิยมจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?(Marxism 101 – What will socialism loo
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสต์ 101 – ทฤษฎีว่าด้วยวิกฤตทุนนิยมแบบมาร์กซิสต์(Marxism 101 – the Marxist Theory of Crisis of Capitalism) By Rob Sewell. Translated by Jakkapon P. 
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 101 – มายาคติเกี่ยวกับมาร์กซิสม์(Marxism 101 – The myths about Marxism)By Marxist Student Federation. Translated by Jakkapon P. 
จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ 101 – ทำไมเราจึงควรเป็นนักสังคมนิยม(Marxism 101 – why you should be a socialist)By Rob Sewel
จักรพล ผลละออ
 มาร์กซิสม์ 101 - 14 คำถามนี่นักมาร์กซิสต์ต้องเจอ(Marxism 101 - Frequ
จักรพล ผลละออ
picture from : https://www.youtube.com/watch?v=nSNAhib3B_M 
จักรพล ผลละออ
 บทนำเสนอความคิดของอัลธูแซร์ฉบับกะทัดรัด(Introduction to Al
จักรพล ผลละออ
 บทนำเสนอความคิดของมาร์กซ์ฉบับกะทัดรัด(Introduction to Marx)By Felluga, Dino.