Skip to main content

 

เรื่องเพ้อฝันของตลาดเสรี

[The Free-Market Fantasy]

By Nicole Aschoff

Translated By Jakkapon P.

 

John Mackey (CEO ของ Whole Foods ห้างค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา) ใช้เวลาหลายปีในชีวิตของเขาไปเพื่ออุทิศให้กับเป้าหมายบางอย่างในชีวิต หลังจากการพยายามค้นหาความหมายของชีวิตและการอ่านหนังสืออีกจำนวนมาก เขาก็ได้ทำการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า ไม่ว่าจะต้องบุกน้ำลุยไฟ “เขาจะทำตามหัวใจตนเองไม่ว่ามันจะพาเขาไปถึงจุดไหนก็ตาม”

และนั่นทำให้หัวใจของเขานำเขาไปสู่การก่อตั้งกิจการ Whole Foods Market ในช่วงปี ค.ศ. 1980 – กิจการนี้เป็น “ร้านค้าที่ขายอาหารที่มีคุณภาพให้แก่ผู้คน และสร้างการจ้างงานที่มีคุณภาพ” ขยับเข้ามาใกล้กว่านั้น John ได้ลงมือเริ่มต้นเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ขึ้นนั่นคือ “การมุ่งมั่นที่จะปลดปล่อยพลังอันน่ามหัศจรรย์ของธุรกิจและทุนนิยมเพื่อสร้างโลกที่ผู้คนสามารถอาศัยอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เปี่ยมไปด้วยความรัก และการสร้างสรรค์ – โลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา, เสรีภาพ และความผาสุข”

แน่นอนว่า John ไม่ใช่ CEO ในแบบที่พวกเราคุ้นเคย เขาประกาศไม่รับเงินเดือนค่าตอบแทนในตำแหน่งของตนเองมานานกว่าหกปี นอกจากนั้นเขายังบริจาคเงินปันผลจากการถือหุ้นให้แก่ Whole Planet อันเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรของกิจการ Whole Foods ที่จะช่วยจัดหาเงินกู้ช่วยเหลือให้แก่กลุ่มผู้ยากไร้ (โดยเน้นความสำคัญไปที่กลุ่มผู้หญิงยากจน) ในพื้นที่มากกว่า 50 ประเทศ

John ผลักดันต้นแบบ Prius ของเขาให้ทำงานโดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เขาต้องการให้ทุกคนบนโลกนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเขาต้องการแสดงตัวอย่างเพื่อสอนให้บริษัทอื่นๆได้รับรู้และเข้าใจถึงความลับของ “ทุนนิยมที่มีสำนึก” เขาเชื่อว่าหากบรรดานักธุรกิจและสังคมในวงกว้างตระหนักถึงพลังอันน่าเหลือเชื่อของ “ธุรกิจที่มีสำนึก” ในการสร้างมูลค่าและเยียวยาโลกของเราแล้ว เราจะสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดทางเศรษฐกิจทั้งหลายที่เกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้

ด้วยความเคารพต่อบรรดาผู้ถือหุ้นของกิจการนี้ เราต้องนับถือว่ากิจการ Whole Foods นั้นได้สร้าง “ระบบเชิงปฏิบัติการ” ที่ “สอดคล้องและเป็นมิตรกับรากฐานธรรมชาติของมนุษย์” และโลกใบนี้ขึ้นมา

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาในอดีตนั้นบรรดาบรรษัททั้งหลายถูกสอนว่าความรับผิดชอบต่อสังคมรูปแบบเดียวที่บรรษัทต้องรับผิดชอบก็คือการแสวงหาและการสร้างกำไร ในบริบทเชิงอุดมการณ์นี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกิจการขนาดยักษ์ใหญ่อย่าง Kraft, Walmart, McDonald’s, Hewlett-Packard, Nordstrom, Nestle, IKEA, Southwest Airlines, Zappos ฯลฯ ที่กระทำการสอดส่องและควบคุมดูแลห่วงโซ่อุปทานของตนเอง รวมถึงเร่งการปรับใช้การปฏิบัติการอย่างยั่งยืนนั้นก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจและเป็นตัวชี้วัดให้เห็นความตื่นตัวในการตระหนักถึงตัวแบบของการสกัด, การผลิต, การกระจาย และการบริโภคของโลก

ในปี 1972 นักวิจัยของ MIT ได้ตีพิมพ์ผลงานการศึกษาว่าด้วย ขีดจำกัดของการเติบโต อันเป็นโครงการศึกษาวิจัยที่ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อทดลองแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของผลกระทบอันร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากกราฟการเจริญเติบโตของทุนนิยมแบบเลขชี้กำลังในระบบแบบปิดที่มีทรัพยากรอยู่จำกัด โดยทดสอบอัตราการเติบโตในตัวชี้วัดด้าน จำนวนประชากร, การขยายตัวของอุตสาหกรรม, อัตราการเกิดมลภาวะ และ อัตราการสูญสิ้นของทรัพยากร ผลสรุปของการศึกษานี้ผู้วิจัยเสนอว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด “การพังทลายและการล่มสลาย” ของระบบเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลาประมาณกลางศตวรรษที่ 21

ในช่วงทศวรรษที่ผู้คนทั่วโลกต่างรับรู้เรื่องราวที่มนุษยชาตินั้นกำลังทำลายล้างโลกด้วยการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนได้เริ่มต้นการกล่าวอ้างถึงช่วงเวลาที่เกิดระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมว่าเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของยุคแอนโทรโปซีน (Anthropocene era – หมายถึงยุคสมัยที่การกระทำหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์เริ่มส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม – ผู้แปล) โดยชี้ว่ามนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบไม่ต่างจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นในอดีต

John Mackey นั้นเห็นด้วยว่าการกระทำของบรรดาบรรษัทขนาดใหญ่ที่เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการทำกำไรนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายและก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม หากแต่เขาคัดค้านอย่างที่สุดว่าต้นตอของปัญหานี้ไม่ใช่ระบบทุนนิยม เขาเสนอว่าระบบทุนนิยมที่แท้จริง หรือ ทุนนิยมกิจการเสรี (อันเกิดจาก ระบบตลาดเสรี + ผู้คนเสรี) นั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นระบบที่สะอาดเที่ยงธรรม เป็นระบบที่เราสามารถควบคุมได้ และเป็นระบบที่จะสามารถช่วยเยียวยสโลกของเราได้

แน่นอน บรรดาบรรษัทนั้นอาจจะกระทำการเลวทรามบ้าง หากแต่ก่อนที่เราจะตัดสินใจทิ้งระบบทุนนิยมไปทั้งหมดนั้น John ได้วิงวอนขอให้เราจดจำว่าบรรดาสิ่งวิเศษทั้งหลายที่เรามีอยู่บนโลกทุกวันนี้ ทั้ง รถยนต์, คอมพิวเตอร์, ยาปฏิชีวนะ และอินเตอร์เน็ต ต่างก็เป็นผลผลิตของระบบตลาดเสรีไม่ใช่สิ่งที่เกิดจาก “การทำงานโดยควบคุมจากรัฐบาล” เขาเสนอว่า “เทคโนโลยีอันน่าอัศจรรย์ทั้งหลายนี้ทำให้ข้อจำกัดด้านเวลาและระยะทางถูกย่นย่อลง” และมันช่วยปลดปล่อยพวกเราจาก “งานอันน่าเบื่อหน่าย” สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะมันมีระบบทุนนิยมตลาดเสรี – “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าระบบทุนนิยมตลาดเสรีนี้คือระบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับการสร้างสรรค์นวัตรกรรมและความร่วมมือทางสังคมเท่าที่เคยมีมา”

แทนที่เราจะมานั่งโจมตีระบบทุนนิยมที่ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความถดถอยด้านสิ่งแวดล้อม John เสนอว่าพวกเราควรไปจับตาที่มาตรการของรัฐบาลมากกว่า ข้อเสนอของเขานั้นแตกต่างจากความคิดของบรรดานักเสรีนิยมในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาที่เสนอว่ารัฐควรล่าถอยตัวเองออกไปจากการควบคุมตลาด John เสนอว่ารัฐควรเข้ามาแทรกแซงตลาดให้มากกว่าที่เป็นมา และในการแทรกแซงนี้จะเป็นไปก็เพื่อ “ให้รัฐควบคุมและจัดการสิ่งแปลกปลอมของระบบทุนนิยมที่เรียกว่า ระบบทุนนิยมแบบพวกพ้อง” อันเป็นชื่อเรียกที่ถูกใช้เพื่อโจมตีในฐานะต้นตอของปัญหาทั้งหลายในสังคมปัจจุบันที่เราเผชิญหน้าอยู่

John นั้นไม่ได้มองว่าทุนนิยมแบบพวกพ้องคือ “ด้านจริง” ของระบบทุนนิยม หากแต่เขามองว่ามันเป็นผลผลิตอันเนื่องมาจากรัฐบาลที่มีพวกนักการเมืองปรสิตที่ต้องการเงินสนับสนุน ไปจับมือสมาคมกับพวกนักธุรกิจที่โง่งม และขี้เกียจเกินกว่าจะแข่งขันอย่างเป็นธรรมในระบบตลาด ทั้งสองกลุ่มนี้จึงจับมือกันสร้างระบบทุนนิยมแบบพวกพ้องขึ้นมา

ตามความคิดของ John นั้นทุนนิยมแบบพวกพ้องขยายความร้ายกาจรุนแรงขึ้นด้วยการอุบัติของอำนาจในภาคธุรกิจการเงินและคุณค่าทางอุดมการณ์ของผู้ถือหุ้น – อันเป็นความคิดที่ว่าบริษัทในตลาดนั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่ากระแสของสินทรัพย์ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างกำไรสูงสุดให้แก่บรรดาผู้ถือหุ้น John โต้แย้งว่าการเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับความโลภและผลกำไรนี้ “ได้ปล้นชิงความสามารถในการว่าจ้างและเชื่อมโยงกับผู้คนไปจากบริษัท” และได้สร้าง “ปัญหาเชิงระบบในระยะยาว” ที่จะทำลายความสามารถในการทำกำไรและก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อผู้คนและโลกใบนี้ขึ้นมา

John เสนอว่าแทนที่กิจการทั้งหลายจะมัวรอแต่การอาศัยอำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ หรือเอาแต่เฝ้ารอการซื้อขายในตลาดหุ้น พวกเขาควรกลับมาคิดหาหนทางว่าจะดำเนินกิจการของตนอย่างไรมากกว่า สิ่งแรกที่พวกเขาควรตระหนักก็คือการทำธุรกิจนั้นคือ “ระบบทางสังคม” ไม่ใช่การจัดลำดับชั้นทางสังคม และทุกๆคนล้วนมีความสำคัญ

เรื่องเล่าของตลาดเสรีนั้นเป็นเรื่องเย้ายวนใจ มันกล่าวอ้างถึงคุณค่าอย่าง เสรีภาพ, ความคิดสร้างสรรค์, ความงดงาม และจัดวางตนเองเป็นขั้วตรงข้ามกับ ความน่าเบื่อหน่าย, ความเป็นเผด็จการ และความอดอยากยากจน หากทว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของระบบตลาด (และบรรดาบรรษัททั้งหลายที่ดำเนินการมาภายในระบบตลาด) แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นไปตามเรื่องเล่าของตลาดเสรี

ในปัจจุบันนี้ วาทกรรมที่ครองอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือข้อถกเถียงเรื่องตลาด, รัฐ และบรรษัท คืออุดมการณ์และวาทกรรมแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) และโมเดลกิจการตลาดเสรีของ John Mackey รวมถึงเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายของระบบตลาดนั้นต่างก็สอดรับเข้าด้วยกันกับกรอบเค้าโครงของเสรีนิยมใหม่ ในมุมมองแบบเสรีนิยมใหม่นี้ พื้นที่ทางเศณษฐกิจย่อมเป็น “พื้นที่ที่เป็นอิสระในตนเอง เป็นระบบที่มีการปรับตนเอง และเป็นระบบที่ควบคุมตัวเองที่สามารถสร้างจุดสมดุลในตัวมันเองขึ้นมาโดยธรรมชาติและสามารถผลิตสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาได้”

หากแต่ว่าเรื่องเล่าของตลาดเสรีเหล่านี้ยังคงขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ ดังเช่นที่นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอย่าง Karl Polanyi อภิปรายเอาไว้เมื่อนานมาแล้วว่า ระบบตลาดแบบทุนนิยมนั้นเป็นผลผลิตของการออกแบบโดยรัฐ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

ประวัติศาสตร์ของพัฒนาการทางอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาถูกหยิบยกมาบ่อยครั้งเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของระบบตลาดเสรี อันแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่เป็นการเมืองของระบบตลาด ประวัติศาสตร์การก่อรูปของระบบตลาดในสหรัฐฯ นั้นเผยให้เห็นโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ถูกป้อนทรัพยากรด้วยสินค้าและเงินทุนที่ขูดรีดเอามาจากกำลังแรงงานของแรงงานทาส ภายใต้การให้ความสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการขูดรีดนี้โดยรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังได้ออกกฎหมายคุ้มครองตลาดภายในประเทศและอุตสาหกรรมภายในที่กำลังตั้งไข่จากการแข่งขันกับผู้ผลิตต่างประเทศ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐฯ นั้นมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางกายภาพ (คลองส่งน้ำ, ทางรถไฟ, การโทรเลข) และเป็นผู้ก่อร่างโครงสร้างทางความรู้ขนาดใหญ่ของการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม – กล่าวคือรัฐเป็นผู้เริ่มต้นวางรากฐานและปัจจัยที่จำเป็นทั้งหมดในการกำเนิดขึ้นของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมอเมริกัน

ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น สิ่งแระดิษฐืและนวัตรกรรมอันยิ่งใหญ่ในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา – การส่งจรวดไปลงจอดที่ดวงจันทร์, ยาเพนนิซซิลีน, คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต – นั้นต่างก็ไม่ใช่สิ่งที่เราได้รับประทานมาจากกิจการหรือบรรษัทที่ดำเนินการในระบบตลาดภายใต้เงื่อนไขของการแข่งขัน หากแต่มันเป็นสิ่งที่เป็นผลงานของสถาบันของรัฐ คือ CERN และ กระทรวงความมั่นคงต่างหากที่เป็นผู้สร้างระบบอินเตอร์เน็ต ในขณะที่ห้องทดลอง Bell – หน่วยย่อยของบริษัท AT&T นั้นก็ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษด้วยการเป็นผู้ผูกขาดสัมปทานในการพัฒนาการสื่อสารและโทรคมนาคมเพียงแห่งเดียว – และหน่วยย่อยนี้ก็ได้สร้างนวัตกรรมอย่างทรานซิสเตอร์, เรดาห์, ทฤษฎีเทคโนโลยีสารสนเทศ, “การควบคุมคุณภาพ” และนวัตรกรรมอื่นๆออกมา

หรือยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวมากขึ้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์นั้นเกิดขึ้นจากการที่ผู้คนเข้ามาทำงานร่วมกันในมหาวิทยาลัยโดยได้รับการสนับสนุนจากทุนของรัฐบาล ความคิดสร้างสรรค์และนวัตรกรรมนั้นเกิดขึ้นได้จากหลากหลายที่ บรรดาบรรษัททั้งหลายอาจจะสร้างนวัตรกรรมที่มีอิทธิพล หากแต่สถาบันทางสังคมอื่นๆก็สร้างนวัตรกรรมออกมาเช่นกันเพียงแต่มันดำเนินการอยู่นอกปริมณฑลและขอบเขตของการแสวงหากำไร และการแข่งขันในระบบตลาด

ดังเช่นที่ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริจน์อย่าง Ha-Joon Chang เสนอว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของการพูดคลุมเครือในทางทฤษฎี และก็ไม่ใช่การพยายามแสวงหา “ข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์ แต่มันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องนำเอาเรื่องเราทางประวัติศาสตร์มาทำให้ถูกต้องเพราะเรื่องเล่าที่พูดกันนี้ “ส่งผลอย่างยิ่งต่อความเข้าใจของเราที่มีต่อธรรมชาติและพัฒนาการของระบบตลาด ตลอดจนส่งผลต่อความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสถาบันอื่นๆ”

การกำหนดเอาว่าระบบตลาดนั้นคือสภาวะธรรมชาติ และรัฐนั้นคือสภาวะที่ไม่เป็นธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องเล่าที่มีประโยชน์ต่อบรรดาผู้ที่ควบคุมสภาพที่เป็นอยู่ มันเป็นเรื่องเล่าที่ทำให้คนในสังคมเข้าใจว่าการกระจายอำนาจ, การกระจายความมั่งคั่ง และการกระจายทรัพยากรที่เป็นอยู่นี้เป็นเรื่องปกติธรรมชาติแล้ว และมันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

แต่แน่นอนว่าเรื่องเล่าพวกนี้มันไม่เป็นจริง บ่อยครั้งที่รัฐเองก็เป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างน้อยก็ระบบเสรีนิยมใหม่นี่แหละที่รัฐมีส่วนสร้างขึ้น รูปลักษณ์ของระบบตลาดจะมีหน้าตาอย่างไรนั้นล้วนแต่ขึ้นอยู่กับสมดุลของกลุ่มพลังทางชนชั้นในช่วงเวลาต่างๆ ระบบตลาดแบบทุนนิยม และความเลวทรามรวมถึงความเหลื่อมล้ำที่มันสร้างขึ้นมา ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตทางการเมืองไม่ใช่ผลผลิตจากธรรมชาติ ธรรมชาติและสังคม (และรัฐและระบบตลาด) เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะแยกขาดจากกันได้ – ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นมาด้วยกันผ่านกระบวนการทางอุดมการณ์, การเมือง และเศรษฐกิจ

การทำความเข้าใจต่อเรื่องนี้จะทำให้เราสามารถท้าทายและตั้งคำถามต่อความคิดที่ครองอำนาจนำเหนือประเด็นเรื่องสภาวะธรรมชาติ, ตลาดเสรี และการปลดปล่อยศักยภาพของบรรษัทตามเรื่องเล่าของ John Mackey ได้

ประเด็นถัดมาก็คือ เอาล่ะ สมมุติว่าระบบตลาดเสรีสลายหายไป และสถาบันอื่นๆอย่างรัฐนั้นมีความสำคัญขึ้นมา คำถามคือบรรดาสถาบันอื่นๆเหล่านี้จะดำเนินการเพื่อหยุดยั้งภาวะโลกร้อนและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้รวมถึงหยุดยั้งความล่มสลายของมนุษยชาติได้อย่างไร? เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รัฐ ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ผู้เล่นหลักอีกต่อไปแล้ว รัฐปรากฏตัวในฐานะของตัวแสดงที่อ่อนแออย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และความสามารถของรัฐในการควบคุมบรรดาบรรษัทต่างๆก็ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยความต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสถานะความเป็นสมาชิกภาพในโครงสร้างระดับสากลเช่น ดารเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก

ในทางกลับกัน บรรดาบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายนั้นกลับทวีความเข้มแข็งขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน บรรษัทขนาดใหญ่หนึ่งบรรษัท อย่างเช่น Unilever หรือ Walmart นั้นส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านคนทั่วโลกในทุกๆวันฝ่ายห่วงโซ่อุปทานของบริษัท หากว่าระบบตลาดเสรีไม่ได้ดำรงอยู่ บางทีบรรดาบรรษัทเหล่านี้อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เป็นกลไกที่สมเหตุสมผลที่สุด และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการจะเยียวยาโลก

ในเรื่องเล่าของ Mackey นั้นบรรษัทที่ตื่นรู้ทางปัญญาพร้อมด้วยภารกิจอันสูงส่งและผู้ถือหุ้นที่เปี่ยมด้วยเกียรติยศนั้นจะสามารถเยียวยาโลกใบนี้ได้ เขากล่าวว่าบริษัทสามารถสร้างวงจรการผลิตและบริโภคอันสะอาดบริสุทธิ์ที่จะสามารถรักษาสมดุลผ่านกาลเวลาได้

“ทุนนิยมที่มีสำนึก” ที่ฟังดูสวยงามน่าดึงดูดนั้น ไม่ใช่กระบวนการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งนี้ก็เพราะตัวมันเองนั้นทำงานร่วมกับระบบการผลิตที่เดินหน้าเพื่อแสวงหากำไร ดังนั้นแล้ว “กฎของการแข่งขัน” นั้นย่อมเป็น “สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” ในระบบทุนนิยม นั่นหมายความว่าปรัชญาเรื่องธุรกิจที่มีสำนักนั้นย่อมไม่อาจจะดำรงอยู่ได้นานภายใต้การแข่งขันของระบบทุนนิยม

ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่การผลิตแบบยั่งยินภายใต้ระบบการผลิตเพื่อแสวงหากำไรนั้นก็ย่อมจะบริโภคและทำลายทรัพยากรของโลกได้เช่นเดียวกัน ภาคปฏิบัติการอย่างยั่งยืนของธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อทำให้กระบวนการผลิตในระดับโลกทำได้ง่ายมากขึ้นและทำกำไรได้มากขึ้นด้วยการเพิ่มการแข่งขันในตลาดด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เมื่อธุรกิจเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภครู้สึกดีที่ได้บริโภคสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หากแต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงในเชิงระบบเลยว่าสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรเท่าไหร่เลย ในทางกลับกันการเปิดตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้กลับทำให้เกิดการเร่งใช้ทรัพยากรมากขึ้นไปอีก

การแพร่ขยายอย่างกว้างขวางของการบริโภคอย่างมีจิตสำนึกและการเมืองเรื่องวิถีชีวิตนั้นสะท้อนให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าผู้คนให้ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและไม่ต้องการจะทำลายโลกใบนี้ หากแต่บรรดากิจการทั้งหลายนั้นไม่อาจจะเข้ามารับหน้าที่ผู้ผลักดันโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมนี้ได้ เพราะบรรษัททั้งหลายนั้นไม่ใช่สถาบันแบบประชาธิปไตย และบริษัทเหล่านี้ไม่อาจจะหลีกหนีกฎของระบบทุนนิยมไปได้

เมื่อผู้บริโภคและ NGO ด้านสิ่งแวดล้อมเรียกร้องเรื่องความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่อบริษัททั้งหลาย บรรดาข้อเรียกร้องเหล่านี้จะถูกควบรวมและครอบงำเอาไว้ด้วยความหมกมุ่นในการแสวงหากำไร และในที่สุดแผนด้านสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจเพื่อความเติบโตและการขยายกิจการ เมื่อเราพุ่งความสนใจและมอบภาระด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่บริษัท เรากำลังทำให้กิจการเหล่านี้กลายเป็นศูนย์กลางและกลับกลายเป็นการสถาปนาสถาปัตยกรรมในการแสวงหากำไรผ่านหน้าฉากของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สังคมทั้งมวลนั้นจำเป็นต้องตัดสินใจร่วมกันว่าโลกแบบไหนที่เราต้องการจะอาศัยอยู่ และการตัดสินใจดังกล่าวนี้จำเป็นต้องดำเนินการอยู่บนโครงสร้างและกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย การเลือกสิ่งที่ดีกว่านั้นไม่ใช่เรื่องของการเลือกสิ่งใหม่เข้าแทนที่ที่เป็นเรื่องยากในการเลือกทางการเมือง อันหมายถึงการที่สังคมต้องกำหนดการควบคุมและร่างขีดจำกัดการบริโภคและการใช้ทรัพยากร

รัฐนั้นอาจจะดูไร้เขี้ยวเล็บเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อม หากแต่มันยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ รัฐยังคงเป็นภาพแสดงตัวแทนของสมดุลที่ดำรงอยู่ของพลังทางชนชั้น และหากเราไม่ต้องการจะอาศัยอยู่ในโลกที่ทำลายล้างทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างไร้ค่า เราจำเป็นต้องสร้างสถาบันแบบประชาธิปไตยขึ้นเพื่อบริหารจัดการการผลิตและการบริโภคให้ตอบสนองต่อความต้องการของมนุษยชาติ มิใช่ปล่อยให้การผลิตและการบริโภคเป็นไปเพื่อตอบสนองการแสวงหากำไรและตอบสนองต่อความต้องการของทุน.

 

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
        ทุนนิยมและเสรีภาพ
จักรพล ผลละออ
กลุ่มผู้ไร้ความมั่นคง* : กลุ่มพลังใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมGuy Standing (2014)
จักรพล ผลละออ
 อิสรภาพของคาตาลูญญา: แรงกดดันต่อพรรค Podemos
จักรพล ผลละออ
 ใครว่าฝ่ายซ้ายไม่มีทางชนะ?