Skip to main content

บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ของโตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) ส่วนใหญ่เขียนกันออกมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่หนังสือติดอันดับหนังสือขายดีลำดับต้น ๆ ในเดือนเมษายน แต่ผมคิดว่าการอ่านหนังสือทั้งเล่มให้จบก่อนจะเสนอความเห็นของตัวเองออกไปเป็นเรื่องฉลาดกว่า ผมจึงใช้เวลา 5 เดือนในการอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวจนจบ

ประเด็นหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้สอดคล้องกับงานเรื่อง Capital ของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) คือมันทำหน้าที่เป็นหมุดหมายสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเข้าใจหรือเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของปิเก็ตตี้หรือไม่ก็ตาม กล่าวอย่างเป็นธรรมแก่ผู้เขียน ในขณะที่งานของมาร์กซ์ใช้ข้อมูลสถิติทางเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังน้อยมาก ไม่นับว่าข้อมูลส่วนใหญ่ยังเป็นข้อมูลที่แปลกประหลาด ผลงานของปิเก็ตตี้กลับเขียนขึ้นบนฐานข้อมูลสถิติทางเศรษฐกิจที่เก็บรวบรวมอย่างระมัดระวัง และมีข้อมูลที่แปลกประหลาดอยู่ไม่มากนัก

ในสหรัฐฯ ตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางรายได้จากการคำนวณส่วนใหญ่แล้วเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 1981 และเพิ่มสูงสุดแตะระดับเดียวกับเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ในปี 2007 ข้อมูลนี้เป็นจริงเช่นกันในสหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย ในประเทศเหล่านี้ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลงอย่างรวดเร็วจากปี 1914 ถึง 1950 เช่นเดียวกับในฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และสวีเดน ทว่าสำหรับ 4 ประเทศหลัง การกระจายรายได้ในปัจจุบันจะเป็นธรรมกว่าในช่วงที่ความเหลื่อมล้ำแตะระดับสูงสุดเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน

นักเศรษฐศาสตร์ อย่างน้อยในสหรัฐฯ ต่างให้ความสำคัญกับสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุประการแรก คือความแตกต่างของค่าแรงระหว่างแรงงาน “ฝีมือ” กับแรงงาน “ไร้ฝีมือ” ซึ่งปรับตัวตามระดับของการได้รับการศึกษา ในแง่นี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า ค่าแรงที่สูงกว่าสะท้อนถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของฝีมือแรงงานที่เหมาะกับเศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น คำถามจึงอยู่ที่ว่า เราจะปรับปรุงทักษะฝีมือแรงงานได้อย่างไร

สาเหตุประการต่อมา คือค่าตอบแทนมหาศาลของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรและบรรดาผู้ที่เกี่ยวพันกับภาคการเงิน ซึ่งวิกฤตการเงินในปี 2008 ยังคงทำให้ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากฉงนสงสัยกับคำกล่าวอ้างที่ว่า ค่าตอบแทนเหล่านี้คือผลตอบแทนสำหรับกิจกรรมที่มีมูลค่าทางสังคม

สาเหตุประการที่สาม คือลักษณะที่ผู้ชนะได้ทุกอย่างในสายอาชีพต่าง ๆ ในสังคมที่เราสามารถระบุได้ว่าใครคือทันตแพทย์ที่เก่งที่สุดในจังหวัดหรือนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลก ความแตกต่างทางความสามารถเล็ก ๆ น้อย ๆ นำไปสู่ความแตกต่างทางรายได้ที่มหาศาลกว่าในอดีต และประการสุดท้าย คือ “การหาคู่ที่มีลักษณะเหมือน ๆ กัน” (assortative mating) เมื่อผู้ชายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในสายอาชีพของตนไปแต่งงานกับผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในสายอาชีพของตน

ทว่าปิเก็ตตี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งรายได้ (ค่าแรงและเงินเดือน) เหล่านี้เลย ซ้ำยังมุ่งความสนใจหลักไปยังสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็น แนวโน้มสู่ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งในศตวรรษที่ 21 ที่เกิดขึ้นจากการสะสมเงินออมอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งส่งต่อไปยังลูกหลานของตนพร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สะสมมา

เป็นความจริงที่ส่วนแบ่งของรายได้จากทุน (ดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไรจากการขายทรัพย์สิน) เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่ประเทศที่ร่ำรวยเป็นลำดับต้น ๆ ระหว่างช่วงปี 1975-2007 ในขณะที่ส่วนแบ่งของรายได้จากกำลังแรงงาน (ค่าแรงและเงินเดือน) กลับลดลง และหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป แนวโน้มที่ว่านี้อาจจะสนับสนุนสมมติฐานของปิเก็ตตี้เอง ทั้งนี้ ปิเก็ตตี้ควรได้รับคำชื่นชมสำหรับการชี้ให้เห็นว่า ไม่มีหลักฐานสนับสนุนใด ๆ บ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นที่ว่าส่วนแบ่งจากทุนที่เพิ่มขึ้นจะหมุนกลับไปสู่อัตราคงที่ในระยะยาวนั้นเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีมานี้ อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำจนเกือบศูนย์อยู่ ทั้งที่คำกล่าวอ้างที่ว่า ในระยะยาว อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญคือหัวใจหลักของหนังสือทั้งหมดในหนังสือของปิเก็ตตี้เอง

กล่าวคือ ปิเก็ตตี้ให้ความสำคัญอย่างเต็มที่กับระบบเศรษฐกิจในระยะยาวจริง ๆ หมายถึง เป็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ยาวนานนับศตวรรษ ไม่ใช่เพียงความผันผวนในรอบทศวรรษหนึ่ง ๆ เป็นต้นว่า วิกฤตการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมาวิ่งสวนทางกับสมมติฐานในระยะยาวมากๆ ของเขาเอง กระนั้น สถิติของเขาก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเหลื่อมล้ำและส่วนแบ่งจากทุนที่ลดลงอย่างไม่ต่อเนื่องกันอันเป็นผลจากราคาสินทรัพย์ที่ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งปิเก็ตตี้วิเคราะห์ว่า นี่เป็นสัญญาณสำคัญทางประวัติศาสตร์

สาระสำคัญของหนังสือวางอยู่บนความเปลี่ยนแปลงในรอบสามศตวรรษ อันได้แก่ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในศตวรรษที่ 19 ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงในศตวรรษที่ 20 และการคาดการณ์ว่าความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มสูงสุดในประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ปิเก็ตตี้เสนอข้อโต้แย้งที่ดึงดูดใจด้วยข้อมูลสถิติ รวมถึงการอ้างอิงออโนเร่ เดอ บัลซัค (Honoré de Balzac) และเจน ออสเตน (Jane Austen) ว่า ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศสและอังกฤษในช่วงปี 1800-1860 นำไปสู่การสะสมทุนที่ผู้แสวงค่าเช่ากลุ่มเล็ก ๆ มีรายได้จากดอกเบี้ย ขณะที่คนที่เหลือในสังคมยังคงต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งที่สุดในกราฟของปิเก็ตตี้คือความเปลี่ยนแปลงระลอกที่สอง เมื่ออัตราความเหลื่อมล้ำลดลงฮวบฮาบระหว่างปี 1914-1950 เนื่องมาจากการล่มสลายของทุน อันเป็นผลของสงครามโลกทั้งสองครั้ง การพังทลายของตลาดหุ้น และอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการเติบโตครั้งประวัติศาสตร์ของรัฐบาลที่มีอำนาจมากและการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า

ทว่าน่าประหลาดใจว่าสิ่งที่แทบไม่พบเลยในข้อมูลของปิเก็ตตี้ คือหลักฐานที่ชี้ว่าความเปลี่ยนแปลงระลอกที่สามอย่างความเหลื่อมล้ำที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งนับจากปี 1980 เป็นต้นมา เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงจากแรงงานกลับสู่ทุน ส่วนแบ่งของรายได้จากทุนในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสยังคงต่ำกว่าในปี 1860 ขณะที่ตัวชี้วัดถึงความเหลื่อมล้ำอื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 นั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในส่วนแบ่งจากแรงงาน (ระหว่างรายได้ที่ได้รับในรูปแบบต่าง ๆ กัน) เอง มากกว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระหว่างรายได้จากแรงงานกับทุน คนรวยในทุกวันนี้ทำงาน ต่างจากคนรวยในยุคของบัลซัคและออสเตน

ด้วยเหตุนี้ สมมติฐานของปิเก็ตตี้จึงเป็นเพียงการคาดการณ์อนาคตมากกว่าเป็นคำอธิบายสำหรับอดีตหรือการวิเคราะห์แนวโน้มร่วมสมัย เขาคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้นเกินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

การสะสมทุนยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่คนรวยจะรวยขึ้นผ่านมรดกและรายได้จากทุนมากกว่าจากเงินเดือนและการซื้อขายหุ้นอันผิดธรรมดา จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์อันน่าประทับใจของปิเก็ตตี้ทั้งหมด การคาดการณ์ของเขาโดยมากกลับวางอยู่บนการให้เหตุผลที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ (a priori) โดยชี้ว่า การกระจายรายได้จะต้องมีแนวโน้มสร้างความเหลื่อมล้ำเพราะการสะสมเงินออม

อย่างไรก็ตาม หากช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่แปลกที่เรามองเห็นรากฐานของการคาดการณ์ที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า อำนานคัดง้างอย่างเช่นประชาธิปไตยจะปรากฏขึ้นได้ และถึงที่สุด การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าที่เติบโตขึ้นในศตวรรษที่ 20 ก็เป็นผลมาจากความล้นเกินในยุคแห่งความงดงาม (Belle Époque) นั่นเอง

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา การลดอัตราภาษีรายได้จากทุนและระงับการเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับคนที่รวยที่สุดร้อยละ 1 ของรัฐบาลสหรัฐถูกมองว่าเป็นการแสดงออกถึงอำนาจทางการเมืองของคนรวย ทว่าลองคิดจินตนาการถึงอนาคตที่เราอาศัยอยู่ในโลกของปิเก็ตตี้ ที่ซึ่งมรดกและรายได้ที่ไม่ได้มาจากการทำงานนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างมหาศาล ถึงตอนนั้น คนส่วนใหญ่ร้อยละ 99 จะยังคงถูกโน้มน้าวให้ลงคะแนนเสียงที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนเองได้อีกหรือ

หมายเหตุ:

แปลจาก Jeffrey Frankel, “Piketty’s Missing Rentiers” Project Syndicate Retreived from https://www.project-syndicate.org/commentary/jeffrey-frankel-says-that-inequality-is-rising--but-not-for-the-reason-thomas-piketty-has-given

เจฟฟรีย์ ฟรังเคล (Jeffrey Frankel) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard University) และเป็นอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton)

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา