“There is No Such Thing as Absolute Evil”:
บทสัมภาษณ์ ฌักส์ แวร์แฌส์ ใน SPIEGEL ONLINE (ตอนที่ 4)
S: คุณชั่งใจนานไหมครับก่อนจะรับว่าความให้กับเคลาส์ บาร์บี อดีตหัวหน้ากลุ่มเกสตาโป เจ้าของฉายา “นักฆ่าแห่งเมืองลียง”
JV: ไม่เลยครับ ในการพิจารณาคดีของบาร์บีในเมืองลียง ผมเผชิญหน้ากับผู้พิพากษาและทนายความฝ่ายตรงข้ามถึง 39 คน นั่นเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่ทำให้ผมรับว่าความให้กับเขา
S: คุณต้องขอการคุ้มกันจากตำรวจ หลังจากที่คุณทำให้ฝรั่งเศสต้องทบทวนตัวเอง พร้อมทั้งกล่าวหาเพื่อนร่วมชาติของคุณว่าให้ความช่วยเหลือพวกนาซี
JV: ความงดงามของการพิจารณาคดีวัดได้จากร่องรอยที่มันทิ้งไว้เบื้องหลังครับ ในช่วงเวลายาวนานหลังจากคดีความนั้นสิ้นสุดลง
S: คุณประทับใจอะไรในตัวบาร์บีเหรอครับ
JV: ผมประหลาดใจที่เขาเป็นเหมือนคนทั่ว ๆ ไป ไม่ได้บุคลิกอะไรที่โดดเด่นเป็นพิเศษเลย แต่แน่นอนว่าเราต้องไม่ลืมว่าอาชญากรรมที่เขาก่อกับการพิจารณาคดีครั้งนั้นกินเวลาห่างกันเกิน 40 ปี เขาไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไปแล้ว
S: คุณน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ดี คุณเองก็เคยหายไปอย่างไร้ร่องรอยในช่วงทศวรรษที่ 1970 คุณหายตัวไป 8 ปี โดยไม่บอกไม่กล่าวกระทั่งครอบครัวของตัวเอง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าคุณหายไปไหน
JV: อ็องเดร มาลโรซ์ (André Malraux) เคยบอกว่า ส่วนใหญ่แล้ว ความจริงเกี่ยวกับมนุษย์คนหนึ่งมักซ่อนอยู่ในสิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมา
S: … พูดอีกอย่างก็คือ คุณไม่ได้อยากจะไขความกระจ่างในประเด็นนี้อยู่แล้วด้วย?
JV: ใช่สิครับ น่าตื่นเต้นดีออกที่ไม่มีใครในรัฐตำรวจสมัยใหม่แห่งนี้รู้เลยว่าคุณหายไปไหนเกือบ 10 ปี บางคนเดาว่าผมไปอยู่กับกลุ่มเขมรแดงในกัมพูชา หรือในปาเลสไตน์ ในจีน และในฝรั่งเศส ผมสนุกกับการอ่านประกาศมรณกรรมของตัวเอง พวกนั้นมักเขียนถึงเด็กหนุ่มพรสวรรค์สูงผู้ได้จากโลกนี้ไปแล้ว
S: คุณรับงานมากมายโดยไม่รับเงินค่าแรงเลย คุณว่าความให้กับโสเภณีและเด็กยากจน คุณเอาเงินจากไหนมาเลี้ยงบริษัทของคุณเอง
JV: ไม่ต้องห่วงครับ ผมทำงานให้กับบรรษัทอุตสาหกรรมหลายแห่งอยู่ด้วย พวกนั้นจ่ายเงินดีทีเดียว ผมถึงมีเงินเหลืออยู่ตลอด
S: มีข่าวลือเหมือนกันว่าคุณถูกจ้างให้ไปเป็นที่ปรึกษาของผู้มีอิทธิพลหลายคนในแอฟริกา อย่างเช่น มัวเซ่ ฌอมเบ้ (Moise Tshombé) อดีตนักการเมืองชาวคองโก ผู้มีส่วนร่วมในคดีฆาตกรรม (อดีตนายกรัฐมนตรีของคองโก) พาทริซ ลูมุมบา (Patrice Lumumba) นอกจากนี้คุณยังยื่นเรื่องฟ้องร้อง องค์การนิรโทษกรรมสากล ในนามของญาสแซงเบ้ เอยาเดม่า (Gnassingbé Eyadéma) อดีตประธานาธิบดีมือเปื้อนเลือดของโตโกอีกด้วย
JV: นั่นเพราะพวกเขาชอบอ้างข้อมูลมั่วซั่ว องค์กรดี ๆ ไม่ว่าที่ไหนก็ตามย่อมต้องเคารพขีดจำกัดบางอย่างด้วยเหมือนกัน
S: แต่คุณก็สามารถบอกเอยาเดม่า ฌอมเบ และคนประเภทนั้นได้ไม่ใช่เหรอครับว่า ตัวคุณเองไม่อยากยุ่งเกี่ยวอะไรกับพวกเขาเลย
JV: ครับ ผมทำยังงั้นได้ แต่มันจะเหมือนกับการที่หมอบอกคนไข้ของเขาว่า “เสียใจด้วยนะครับ คุณติดเชื้อเอดส์ แต่ผมไม่ชอบคนดำ ผมคิดว่าพวกนั้นเป็นอาชญากรและผมรู้สึกขยะแขยง เพราะฉะนั้น ผมจะไม่รักษาคุณ”
S: แต่หมอต้องช่วยรักษาคนไข้ ขณะที่ทนายความไม่จำเป็นต้องรับว่าความให้กับทุกกรณีก็ได้
JV: ถ้าคุณไปพบหมอที่เห็นเลือดไม่ได้ เห็นหนองมองแผลก็ไม่ได้ ผมว่าเขาก็ไม่ควรมาเป็นหมอ ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่คุณไปพบทนายความที่ไม่ชอบอาชญากรหรือเผด็จการนั่นแหละครับ
S: คุณเคยเขียนไว้ว่า “ศีลธรรมของผมคือการต่อต้านศีลธรรมทุกรูปแบบ เพราะมันจะคอยกระหน่ำซ้ำเติมชีวิต”
JV: ใช่ครับ ผมเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง ซึ่งผมตั้งชื่อตามสมญาที่นักข่าวเรียกผมว่า “Le Saluad Luminuex”
S: เป็นไปได้ไหมว่าคุณมักใช้อาชีพของคุณไปเพื่อการยั่วยุทางความรู้อยู่เสมอมา
JV: ผมใช้อาชีพส่วนใหญ่ของผมไปกับการส่งเสริมความรู้เสมอมาครับ ผมมองโลกเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเพราะเห็นโลกในมุมที่แตกต่างออกไป ต้องขอบคุณอาชีพทนายความที่ทำให้ผมคุ้นเคยกับการมองโลกจากมุมของผู้ก่อการร้ายและตำรวจ อาชญากรและคนโง่ หญิงบริสุทธิ์และหญิงร่านสวาท และผมยืนยันกับคุณได้ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เรามองโลกได้ดีขึ้น
S: มิสเตอร์แวร์แฌส์ ขอบคุณสำหรับการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ครับ