Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 2)
โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)
G: ขอกลับไปที่คำถามแรกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ระบบจะล่มสลาย ผมคิดว่าการคาดการณ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอะไรแบบนี้เป็นกับดัก สิ่งที่แน่นอนคือทุกระบบต้องมีจุดสิ้นสุด แต่เป็นเรื่องยากที่จะเดาว่ามันจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ เราอาจมองเห็นสัญญาณการชะลอตัวของระบบทุนนิยม เช่นในด้านเทคโนโลยี เราไม่รู้สึกว่าจะได้เห็นนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่เหมือนในช่วงทศวรรษ 1960-70 อีกต่อไป หรือในด้านทัศนะทางการเมือง ดูเหมือนเราจะอยู่ห่างไกลจากโครงการยักษ์ใหญ่ในช่วงหลังสงครามอย่างสหประชาชาติหรือการริเริ่มโครงการทางอวกาศ ชนชั้นนำของสหรัฐฯ ไม่สามารถรับมือกับภาวะโลกร้อนได้ แม้มันจะทำให้สิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ตกอยู่ในอันตราย ความรู้สึกสิ้นหวังของเราเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา เครื่องมือในการจูงใจและบีบบังคับได้รับการตระเตรียมไว้เพื่อใช้ในการทำสงครามทางอุดมการณ์เพื่อสนับสนุนทุนนิยม มากกว่าจะใช้สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้ทุนนิยมยังคงพัฒนาต่อไปได้ เสรีนิยมใหม่ให้ความสำคัญกับการพินิจพิเคราะห์ทางการเมืองและอุดมการณ์มากกว่าทางเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ของมันคือการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบชวนฝัน เป็นโฆษณาที่มีประสิทธิภาพมากเสียจนผู้คนที่ทำงานที่ไร้อนาคตต่างเชื่อว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นอีกต่อไป
ค่อนข้างชัดเจนว่าอำนาจนำทางอุดมการณ์นี้เดินทางถึงทางตันแล้ว แต่นี่หมายถึงว่าระบบกำลังใกล้ล่มสลายหรือเปล่า ผมว่าเรื่องนี้ตอบได้ยาก อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมไม่ใช่สิ่งเก่าแก่ มันจะไม่คงอยู่ตลอดไป และดูเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะคิดจินตนาการว่าทุนนิยมจะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสิ่งอื่นที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง พอ ๆ กับการคิดจินตนาการว่ามันจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าดวงอาทิตย์จะมอดดับ หรือจนกว่าทุนนิยมจะทำลายเราด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติบางอย่าง
M: คุณคิดว่าทุนนิยมเป็นสาเหตุของปัญหาโดยตัวมันเอง หรือพวกเราเองสามารถปฏิรูประบบทุนนิยมได้ด้วย?
P: ประเด็นหนึ่งที่น่าชื่นชมในงานของเกรเบอร์คือการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบทาสกับการเป็นหนี้ เขาบอกว่า รูปแบบการเป็นหนี้ขั้นสูงสุดคือการตกเป็นทาสของคนอื่นไปตลอดกาล ไม่เว้นกระทั่งเมื่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของตัวเอง โดยหลักการแล้ว หนึ่งในความก้าวหน้าทางอารยธรรมครั้งสำคัญ คือการยกเลิกระบบทาส
เหมือนที่เกรเบอร์อธิบายไว้ หัวใจของระบบทาสอย่างการส่งต่อหนี้สินระหว่างคนรุ่นต่าง ๆ ได้กลายมาอยู่ในรูปของหนี้สินสาธารณะในยุคสมัยใหม่ ซึ่งอนุญาตให้คนรุ่นหนึ่งส่งต่อหนี้สินไปยังคนอีกรุ่นได้ ตัวอย่างที่สุดขั้วของกรณีนี้ก็คือปริมาณหนี้สาธารณะมหาศาลเทียบเท่ากับอัตรา GNP รวมเป็นเวลาไม่ใช่แค่หนึ่ง แต่ถึงสิบหรือยี่สิบปี ซึ่งผลลัพธ์ในทางปฏิบัติก็คือการทำให้เกิดระบบทาสซึ่งการผลิตและความมั่งคั่งทั้งหมดต้องใช้ไปกับการชำระหนี้ ในแง่นี้ คนส่วนใหญ่จึงอาจเป็นทาสของคนส่วนน้อย ซึ่งหมายถึงการย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ของพวกเราอีกครั้ง
ในความเป็นจริง เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะยังมีปริมาณทุนไว้ถ่วงดุลกับหนี้สินอยู่มากมาย แต่การมองมุมมองนี้ก็ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์อันแปลกประหลาดเมื่อลูกหนี้ถูกประณามว่าเป็นคนผิด ขณะที่เรายังคงถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่องด้วยข้ออ้างที่ว่าเราแต่ละคน “มีหนี้สิน” อยู่คนละราวสามหมื่นถึงห้าหมื่นยูโรจากหนี้สินสาธารณะทั้งหมดได้เช่นกัน
เรื่องนี้เพี้ยนเอามาก ๆ เพราะอย่างที่ผมพูดไป เรามีทรัพยากรอยู่มากกว่าหนี้สิน ผู้คนจำนวนมากถือครองทุนคนละนิดละหน่อยเพราะทุนเองค่อนข้างกระจุกตัวอยู่มาก จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 การสะสมทุนทั้งหมดร้อยละ 90 อยู่ในมือคนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ทุกวันนี้ อะไรต่อมิอะไรเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ในสหรัฐ ทุนร้อยละ 73 กระจุกตัวอยู่ในมือของคนร้อยละ 10 การกระจุกตัวของทุนเช่นนี้หมายความว่าประชากรครึ่งหนึ่งไม่ได้มีอะไรอยู่ในมือเลยนอกจากหนี้สิน สำหรับพวกเขา ปริมาณหนี้สินสาธารณะต่อหัวมากกว่าทรัพย์สินที่พวกเขามี แต่คนอีกครึ่งหนึ่งกลับที่มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องไร้สาระมาก ๆ ที่จะมาโจมตีประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายการรัดเข็มขัด
แต่ถึงที่สุดแล้ว ปัญหาคือการยกเลิกหนี้สินทั้งหมดเป็นทางออกเหมือนที่เกรเบอร์เขียนไว้หรือเปล่า ผมไม่มีอะไรจะแย้งในเรื่องนี้ แต่ผมเองคิดว่า การเก็บภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้าและเก็บภาษีผู้มีรายได้มากให้สูงเข้าไว้เป็นหนทางที่ดีกว่า ถามว่าทำไม ผมคิดว่าคำตอบอยู่ตรงที่ว่า แล้วเราจะเอายังไงกับวันรุ่งขึ้น จะทำยังไงถ้าหนี้สินได้หมดไปแล้ว แผนคืออะไร การยกเลิกหนี้สินคือการทำราวกับเจ้าหนี้คนสุดท้าย หรือคนที่เป็นเจ้าของหนี้สินคนสุดท้าย ต้องเป็นคนรับผิดชอบกับทุกอย่าง แต่ทว่าระบบการทำธุรกิจทางการเงินอย่างที่เป็นอยู่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นคนสำคัญที่สุด (เจ้าหนี้) สามารถบอกเลิกตราสารเครดิต (letters of credit) ได้ก่อนที่จะยกหนี้ให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้คนสุดท้ายไม่จำเป็นต้องเป็นคนรวยเสมอไป ฉะนั้น การยกเลิกหนี้จึงไม่ได้หมายความว่าคนที่รวยที่สุดคือคนที่ต้องเสียเงิน
G: ไม่มีใครบอกว่าการยกเลิกหนี้เป็นทางออกเดียวนะครับ สำหรับผม มันเป็นเพียงองค์ประกอบสำคัญของทางออกที่มีทั้งหมดเท่านั้น ผมไม่เชื่อว่าการยกเลิกหนี้จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทั้งหมด กลับกันผมคิดว่ามันสร้างความแตกหักเชิงมโนทัศน์ได้ พูดตามตรง ผมคิดจริง ๆ ว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การยกเลิกหนี้ปริมาณมหาศาลกำลังจะเกิดขึ้น สำหรับตัวผมเอง ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างไร เกิดขึ้นโดยเปิดเผย โดยการตัดสินใจจากบนลงล่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสถาบันทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ หรือเกิดขึ้นโดยการกดดันจากขบวนการทางสังคม ผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ผมเคยคุยด้วยล้วนยอมรับว่าการยกเลิกหนี้ในบางรูปแบบเป็นเรื่องจำเป็น
P: นั่นคือปัญหาของผมเลย เพราะนายธนาคารเห็นด้วยกับคุณ
G: เมื่อใดก็ตามที่เรายอมรับว่าการยกเลิกหนี้กำลังจะเกิดขึ้น คำถามย่อมอยู่ที่ว่าเราจะควบคุมกระบวนการนี้อย่างไร และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผลลัพธ์ของมันจะเป็นที่พึงพอใจ ประวัติศาสตร์มีตัวอย่างของการยกเลิกหนี้สินเพียงเพื่อจะรักษาโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมอยู่มากมายหลายกรณี
แต่ขณะเดียวกัน การยกเลิกหนี้ก็สร้างผลดีต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย ตัวอย่างเช่นในรัฐธรรมนูญของเอเธนส์หรือโรมัน ซึ่งล้วนมีต้นกำเนิดจากการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง สาธารณรัฐโรมันและประชาธิปไตยของเอเธนส์คือผลผลิตของวิกฤตหนี้สิน เอาเข้าจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ ๆ ก็ล้วนเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตกันทั้งนั้น ระหว่างการปฏิวัติอเมริกา หนึ่งในข้อเรียกร้องของนักปฏิวัติก็คือการให้สหราชอาณาจักรยกเลิกหนี้สินให้กับชาวอเมริกัน ผมรู้สึกว่าเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน และสิ่งที่เราต้องการก็คือความประดิษฐ์คิดสร้างทางการเมือง
การยกเลิกหนี้ไม่ใช่ทางออกโดยตัวมันเองเพราะมีตัวอย่างกรณีที่ล้มเหลวอยู่มากมาย นักวิจัยจาก Boston Consulting Group เขียนบทความวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ในชื่อ “ย้อนกลับไปสู่เมโสโปเตเมีย?” (Back to Mesopotamia?) พวกเขาใช้โมเดลต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากมีการยกเลิกหนี้จำนวนมหาศาล ข้อค้นพบของพวกเขาก็คือ เราจะเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่ทว่าความล้มเหลวของการยกเลิกหนี้เองกลับสร้างปัญหาที่ร้ายแรงยิ่งกว่า พูดอีกอย่างคือ การปกป้องโครงสร้างทางเศรษฐกิจในตอนนี้จำต้องอาศัยการยกเลิกหนี้
สำหรับระบบทุนนิยม ผมเองมีปัญหากับการคิดจินตนาการว่ามันจะดำรงอยู่ต่อไปได้เกิน 50 ปี โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ตอนที่ขบวนการ Occupy Wall Street ถูกโจมตีว่าไม่สามารถสร้างข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมใด ๆ ได้ (ทั้งที่จริง ๆ แล้วพวกเขาทำได้) ผมเองได้เสนอว่า เราควรยกเลิกหนี้สินและลดเวลาทำงานเหลือแค่สี่ชั่วโมงต่อวัน ข้อเสนอนี้นี่น่าจะเป็นประโยชน์เมื่อมองในมุมนิเวศวิทยา ขณะเดียวกันก็ช่วยแก้ปัญหาการทำงานมากเกินไปของคนทุกวันนี้ได้ด้วย (นี่หมายความว่าเราทำงานอย่างหนักเพื่อรับมือกับอาชีพการงานที่มีเป้าหมายเดียวคือทำให้เราไม่มีเวลาว่าง) วิถีการผลิตในปัจจุบันวางอยู่บนหลักศีลธรรมมากกว่าหลักเศรษฐศาสตร์ การขยายตัวของหนี้สิน เวลาทำงาน และวินัยในการทำงาน ดูจะเป็นสิ่งที่สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน หากเงินคือความสัมพันธ์ทางสังคมที่วางอยู่บนสมมติฐานว่าทุกคนจะให้คุณค่ากับธนบัตรที่แต่ละคนมีเหมือน ๆ กัน เราไม่ควรคิดหรอกหรือว่า เมื่อมองไปถึงผลิตภาพในอนาคตและข้อผูกมัดในการทำงาน เราเองต้องการสมมติฐานแบบใด
นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมจึงบอกว่าการยกเลิกหนี้สินมีนัยถึงการสร้างจุดแตกหักทางมโนทัศน์ วิธีการของผมคือการพยายามช่วยให้เราคิดจินตนาการพันธะสัญญาทางสังคมรูปแบบอื่น ๆ ที่เราอาจต่อรองได้อย่างเป็นประชาธิปไตย