Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต โดย เดวิด เกรเบอร์ และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (ตอนที่ 3)

Soak the Rich การแลกเปลี่ยนว่าด้วยทุน หนี้ และอนาคต (ตอนที่ 3)
โดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber - G) และ โตมาส์ ปิเก็ตตี้ (Thomas Piketty - P)

M: คุณปิเก็ตตี้ เวลาคนอ่านงานของคุณ พวกเขามักเข้าใจว่า สำหรับคุณแล้ว การยกเลิกหนี้สินไม่ใช่ทางออกที่อารยะนัก ประเด็นนี้คุณหมายความว่าอย่างไร

P: อย่างที่ผมบอกไป ประเด็นอยู่ที่ว่า เจ้าหนี้คนสุดท้ายไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ถูกบีบให้รับผิดชอบ เดวิด คุณคิดยังไงบ้างเกี่ยวกับข้อเสนอให้เก็บภาษีความมั่งคั่งในอัตราก้าวหน้า ซึ่งดูเหมือนเป็นวิธีการที่อารยะกว่าและนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกัน ผมเองต้องย้ำว่าตัวผมเองสับสนแค่ไหนกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ที่สนับสนุนให้ยกเลิกหนี้สินอย่างกระตือรือร้นที่สุดนอกจากตัวคุณแล้ว ยังรวมถึงกลุ่มที่เรียกตามภาษาของ IMF และธนาคารกลางเยอรมันว่า เป็นพวกส่งเสริม “การตัดผม” (haircuts)[1] ข้อเสนอดังกล่าวลงเอยด้วยความคิดที่ว่า ในเมื่อเจ้าหนี้ในหนี้สินสาธารณะเป็นคนเลือกจะเสี่ยงเอง ฉะนั้นพวกเขาจึงต้องจ่าย [ราคาของความเสี่ยงนั้น] โอเค งั้นเราลดมาหนี้ให้กรีซ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือลดหนี้ให้ไซปรัส 60 เปอร์เซ็นต์ - ผมไม่เห็นว่านี่เป็นวิธีการที่ก้าวหน้าตรงไหนเลย

 

ขอประทานโทษ แต่ผมประหลาดใจมากๆ  ที่คุณให้ความสำคัญน้อยนิดกับคำถามที่ว่า เราควรใช้เครื่องมืออะไร หรือควรสร้างสถาบันร่วมอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นเป้าหมายของเราได้มากกว่า หน้าที่ส่วนหนึ่งของเราในฐานะนักวิชาการก็คือการตอบคำถามว่าเราต้องการสร้างสถาบันร่วมอะไรขึ้นมาบ้าง การเก็บภาษีเป็นคือส่วนหนึ่งของสถาบันที่ว่านี้

 

G: สำหรับผม ดูเหมือนการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของยุคเคนส์เชี่ยนและกลไกการกระจายความมั่งคั่งที่วางอยู่บนฐานของการคาดหวังอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไปแล้ว กลไกการกระจายความมั่งคั่งแบบนี้อาศัยการประมาณการณ์ว่า ผลิตภาพที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในทางประวัติศาสตร์แล้ว มันเติบโตมาพร้อมกับการปรับใช้นโยบายการเก็บภาษีเพื่อกระจายความมั่งคั่ง แต่คำถามคือ นโยบายเหล่านั้นทำงานได้ในบริบทที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำหรือเปล่า และมันจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง

 

P: ครับ การเติบโตต่ำย่อมทำให้เครื่องมือทางการเงินเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น ผมไม่ได้กำลังคิดถึงแค่การเก็บภาษีรายได้แบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่รวมถึงการเก็บภาษีความมั่งคั่งและภาษีทุนในอัตราก้าวหน้าด้วย ผู้คนถือครองทุนหรือหนี้สินสุทธิประมาณหนึ่ง ถ้าคุณเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ากับสิ่งเหล่านี้ ผู้ที่มีสินทรัพย์น้อยก็อาจจะมีอัตราภาษีติดลบ ซึ่งก็หมายถึงการยกหนี้ให้พวกเขาเองด้วย นี่เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากนโยบายการเก็บภาษีแบบเคนส์เชี่ยนแบบคนละเรื่อง

 

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำยังทำให้การเก็บภาษีรายได้และภาษีความมั่งคั่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นเพราะอัตราการเติบโตที่ต่ำได้ขยายช่องว่างระหว่างอัตราตอบแทนจากทุนกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กว้างมากยิ่งขึ้น จากประวัติศาสตร์ที่ผ่าน ๆ มา อัตราการเติบโตอยู่ในระดับเกือบศูนย์ ขณะที่ผลตอบแทนจากทุนอยู่ที่ราว ๆ ร้อยละ 5 ฉะนั้น เมื่ออัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5 อย่างเช่นในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่องว่างระหว่างอัตราทั้งสองก็มีไม่มากนัก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อัตราการเติบโตเหลือร้อยละ 1 หรือติดลบ เช่นในประเทศยุโรปบางประเทศในทุกวันนี้ ความต่างระหว่างอัตราทั้งสองจะใหญ่โตมาก ๆ นี่ไม่ใช่ปัญหาจากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ที่เคร่งครัด แต่เป็นปัญหาในทางสังคม เพราะมันทำให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งปริมาณมหาศาล การเก็บภาษีความมั่งคั่งและภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้าจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในแง่นี้

 

G: แต่ว่าเราไม่ควรเก็บภาษีทุนในอัตราก้าวหน้าให้เหมือนกันทั่วทั้งโลกเหรอครับ

 

P: ควรสิครับ แน่นอน ผมเป็นนักสากลนิยมเช่นเดียวกับคุณ เราไม่มีอะไรแตกต่างกันในเรื่องนี้

 

G: ทำนองเดียวกัน นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก เพราะในทางประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าสู่ยุคที่มีหนี้สินปริมาณมาก ๆ มาตรการที่มักนิยมใช้กันทั่วไปคือการปกป้องลูกหนี้จากเจ้าหนี้ จนบางครั้งก็เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างกระตือรือร้น กลไกที่ใช้ในการควบคุมอำนาจของเจ้าหนี้เหนือลูกหนี้ปรากฏในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของสถาบันกษัตริย์ในเมโสโปเตเมียที่มีอำนาจภายใต้เทวสิทธิ์ (divine rights) กฎเกณฑ์ในไบเบิลเกี่ยวกับปีอันศักดิ์สิทธิ์ (Jubilee) กฎหมายศาสนจักรในยุคกลาง พระพุทธศาสนา คำสอนของขงจื่อ และอะไรอีกมากมาย พูดสั้น ๆ ก็คือ สังคมต่าง ๆ ที่ใช้หลักการเหล่านี้ล้วนแต่มีโครงสร้างทางสถาบันหรือศีลธรรมที่ออกแบบมาเพื่อรักษาการควบคุมการกู้หนี้ยืมสินบางรูปแบบไว้นั่นเอง

 

ทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคที่การกู้ยืมเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย  แต่เรากลับทำอะไรตรงกันข้าม เรามีสถาบันที่เป็นมีอำนาจสูงสุด ซึ่งดูคล้าย ๆ เป็นสถาบันทางศาสนาหากเรามองว่าเสรีนิยมใหม่คือความศรัทธารูปแบบหนึ่ง ทว่าแทนที่จะปกป้องลูกหนี้ สถาบันเหล่านี้กลับทำสิ่งตรงกันข้าม

 

เป็นเวลากว่าสามสิบปีที่ ทั้ง IMF และ WTO สถาบันการเงินที่มาจากระบบเบรตตันวู้ด รวมถึงธนาคารเพื่อการลงทุน บรรษัทข้ามชาติ และองค์กร NGOs ระหว่างประเทศ ต่างร่วมกันสร้างระบบการบริหารงานระหว่างประเทศที่ครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก แตกต่างจากสหประชาชาติ ระบบการบริหารงานนี้มีวิธีการในการบังคับใช้การตัดสินใจของตน และในเมื่อสถาบันเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักการเงินและเจ้าหนี้อย่างเห็นได้ชัด ในทางการเมืองแล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะปฏิรูปสถาบันเหล่านี้ให้ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเป้าหมายที่ตัวสถาบันเหล่านี้ถูกออกแบบมา

 

P: ผมพูดได้เพียงแค่ว่า คนจำนวนมากอาจต้องการการโน้มน้าวใจ แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้ให้ชัดว่าเป้าหมายเราอยู่ตรงไหนกันแน่ สิ่งที่ทำให้ผมรำคาญใจคือข้อเท็จจริงที่ว่าสถาบันขนาดใหญ่ที่คุณพูดถึงนั้นโอเคกับการยกหนี้ให้ลูกหนี้กว่าที่คุณคิด คุณคิดว่าทำไมพวกเขาถึงชอบคำว่า “การตัดผม” มากนักล่ะครับ ข้อเสนอของคุณมันติดอยู่กับกรอบศีลธรรมของตลาด เจ้าหนี้ต้องเป็นผู้ร้ายตลอด อันตรายที่ผมเห็นคือ สถาบันทางการเงินเหล่านี้เดินตามทิศทางที่คุณว่าไว้ทีแรกทุกประการ

 

ตัวอย่างก็เช่นในกรณีวิกฤตในไซปรัส หลังจากสนุกสนานกับความคิดเรื่องการเก็บภาษีจากทุนในอัตราก้าวหน้า (เล็กน้อย) ได้สักพัก ท้ายที่สุด IMF และธนาคารกลางยุโรปก็หันมาเลือกใช้ “การตัดผม” ควบคู่กับการเก็บภาษีอัตราคงที่

 

ในฝรั่งเศสระหว่างปี 1945-46 หนี้สาธารณะสูงมาก พวกเขาใช้สองมาตรการในการแก้ปัญหา หนึ่งคือการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในทางประวัติศาสตร์แล้วเป็นวีธีการหลักในการกำจัดหนี้สิน แต่มาตรการนี้ไปบั่นทอนมูลค่าสินทรัพย์ของคนยากคนจน เช่นคนชราจน ๆ ที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป ผลก็คือ ในปี 1956 ประชาชนลงมติเอกฉันท์สนับสนุนการให้บำนาญผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวิธีการันตีรายได้ที่คนวัยเกษียณชื่นชอบมาก

 

ขณะเดียวกัน คนรวยกลับไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ เงินเฟ้อไม่ได้ลดมูลค่าสินทรัพย์ในมือพวกเขาเพราะพวกเขาลงทุนในทุนที่แท้จริง (ไม่ใช่เงิน) ซึ่งคอยปกป้องคุ้มครองพวกเขาอยู่ สิ่งที่ทำให้คนรวยต้องเสียเงินคือมาตรการที่สองที่เรียกว่า การเก็บภาษีทุนและความมั่งคั่งในอัตราก้าวหน้าเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งบังคับใช้ในปี 1945 ทุกวันนี้ เจ็ดสิบปีให้หลัง ผมเกรงว่าสถาบันที่คุณพูดถึงจะมีเหตุผลเชิงอุดมการณ์ที่ทรงพลังให้นิยมการตัดผม [มากกว่าที่คุณคิด]

 

M: แล้วเรื่องความเสี่ยงของการหนีภาษีหละครับ ผู้ถือครองทุนไม่ได้หนีภาษีได้ง่ายกว่าเลี่ยงผลกระทบของการยกเลิกหนี้เหรอครับ

 

P: ไม่เลยครับ การเลี่ยงผลกระทบจากการยกเลิกหนี้เป็นเรื่องง่ายมากพอ ๆ กับการป้องกันไม่ให้ตัวเองได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ หลักทรัพย์ขนาดใหญ่ไม่ได้มีตราสารเครดิตนะครับ พวกนั้นลงทุนแต่ในทุนจริง ๆ เท่านั้น ทีนี้ การสู้กับการหนีภาษีเป็นไปได้หรือเปล่า? ครับ ถ้าคุณอยากสู้ คุณก็ทำได้ เวลาที่รัฐบาลยุคใหม่อยากให้ประชาชนเคารพการตัดสินใจของตนเองจริง ๆ พวกเขาก็ทำให้ประชาชนเคารพการตัดสินใจนั้นได้ เวลาที่รัฐบาลตะวันตกต้องการส่งทหารเป็นล้านคนไปคูเวตเพื่อป้องกันไม่ให้อิรักเข้ามายึดบ่อน้ำมันคูเวต พวกเขาก็ทำได้ พูดกันจริง ๆ นะครับ ถ้าพวกเขาไม่กลัวอิรัก ก็ไม่เหตุผลอะไรให้กลัวบาฮามาสหรือนิว เจอร์ซีย์[2] การเก็บภาษีทุนและความมั่งคั่งในอัตราก้าวหน้าไม่ได้สร้างปัญหาในเชิงเทคนิคใด ๆ เลย ทั้งหมดเป็นเรื่องของเจตจำนงทางการเมืองล้วน ๆ

 

[1] หมายถึง สถานการณ์ที่เจ้าหนี้ยอมเจรจาลดหนี้เพื่อแก้ปัญหาการผิดชำระหนี้ของลูกหนี้เอง

 

[2] ทั้งสองสถานที่เป็นแหล่งหลบภาษีสำคัญของโลก