ภาพ: The Economist
*หมายเหตุ มโนทัศน์เรื่อง Anthropocene และ Capitalocene กลายเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญในหมู่นักวิชาการต่างประเทศมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดเมื่อกลางปีก่อน ดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway - DH) นักปรัชญาชาวอเมริกัน ได้ทดลองเสนอมโนทัศน์ใหม่ที่ชื่อประหลาดกว่าเก่าขึ้นมา นั่นคือ Chthulucene มิตรสหายท่านหนึ่งเคยสรุปประเด็นข้อเสนอของเธอไว้แล้ว ผมเองเพิ่งมีโอกาสได้ฟังจริง ๆ จัง ๆ โพสต์นี้เป็นสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องดังกล่าว โดยพยายามไล่เรียงบริบทที่คำทั้งสามคำถูกนำมาใช้อย่างคร่าว ๆ คิดว่าอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจครับ
Anthropocene Capitalocene และ Chthulucene กับข้อเสนอของ Donna Haraway
ในความหมายทั่ว ๆ ไป Anthropocene หรือ ยุคของมนุษย์ ซึ่งมีความหมายตามรากศัพท์ภาษากรีกว่า มนุษย์ใหม่ (New Human) เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของยุคสมัยทางธรณีวิทยาที่มนุษย์ พฤติกรรม และกิจกรรมของมนุษย์มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศหรือธรรมชาติ และได้เปลี่ยนแปลง "โลก" ไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ภายใต้กรอบคิดนี้ มนุษย์คือผู้ที่กระทำและทำลายธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสื่อมสลายของระบบนิเวศ (ภาวะโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำท่วมโลก ไฟป่า ปัญหาหมอกควันพิษ ดินถล่ม ฯลฯ) และการสูญพันธุ์ของเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ทั่วโลกด้วย
DH เสนอว่า Anthropocene สัมพันธ์กับสัญลักษณ์ของ Gaia เทพกรีก ซึ่งเป็นภาพแทนของโลกเมื่อ "มนุษย์" (Anthropos) หันมองกลับไปจากอวกาศ ตามข้อเสนอเรื่อง สมมติฐานไกอา (Gaia's hypothesis) ของเจมส์ เลิฟล็อก (James Lovelock) นักวิทยาศาสตร์และนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ในแง่นี้ โลกในสายตามนุษย์ โลกที่มนุษย์เห็นเมื่อมองย้อนกลับไปจึงไม่ใช่อะไรเลย นอกจากตัวมนุษย์เองที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง โลกสำหรับมนุษย์ไม่ใช่อะไรนอกจากระบบเครือข่ายของการผลิตสร้างตัวเองของมนุษย์ (autopoeisis) ภายในตัวของมนุษย์เอง
อย่างไรก็ตาม มโนทัศน์ หรือ "ญาณวิทยา" แบบนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่า ละเลยต่อความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์ ปัญหาใหญ่คือมนุษย์คนไหน กลุ่มไหน ช่วงเวลาใด ที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศกันแน่ เพราะใช่ว่าทุกการกระทำของมนุษย์ทุก ๆ คน ในทุก ๆ สังคม จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือธรรมชาติในลักษณะเดียวกัน หรือตลอดเวลา
ทำนองเดียวกัน มโนทัศน์เรื่อง Anthropocene ยังถูกโจมตีว่า เป็นมโนทัศน์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง มนุษย์เป็นผู้กระทำและกำกับความหมายให้กับสรรพสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ นอกจากนี้ ยังตกอยู่ภายใต้ "Ontology" ที่แบ่งแยก มนุษย์ กับ ธรรมชาติ (สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์) ออกจากกันอย่างเด็ดขาด ในแง่นี้ ไม่ได้เกี่ยวกับว่า เราจะเชื่อว่ามนุษย์เป็นศัตรูกับธรรมชาติ (human and nature) หรือมนุษย์ควรดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยแยกจากกันไม่ได้ (human-in-nature) เพราะถึงที่สุด การอยู่ร่วมกับธรรมชาติก็ยังเป็นการอาศัยอยู่โดยแยกธรรมชาติและมนุษย์ออกจากกันโดยสาระสำคัญอยู่ดี
การมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและเชื่อในความสามารถในการผลิตสร้างเองอย่างไม่สิ้นสุดและอย่างเป็นอิสระจากสิ่งอื่น ๆ ของมนุษย์ ยังทำให้มโนทัศน์เรื่อง Anthropocene ละเลยบทบาทของ "สิ่งอื่น" ที่เอาเข้าจริง มีส่วนรับผิดชอบในฐานะสาเหตุหลักของความเปลี่ยนแปลงเชิงนิเวศวิทยาและภัยพิบัตินานัปการที่เกิดขึ้นกับโลกของเรา นั่นก็คือ ทุน
กรอบคิดที่สองคือ ยุคของทุน หรือ Capitalocene เสนอคำอธิบายยุคสมัยที่ทุนและการก่อตัวของทุนต่อผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของโลก เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์ (Jason W. Moore) นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษเสนอกรอบคิดนี้และชี้ให้เห็นว่า ยุคของทุนใหม่ (New Capital) หมายถึง ช่วงเวลาที่ทุนนิยมก่อตัวขึ้นในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ในช่วงกลางศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา การสะสมทุนและการผลิตในรูปแบบต่าง ๆ การพัฒนาอุตสาหกรรม การถลุงใช้แร่ธาตุ การแปรรูปทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิดเพื่อใช้เป็น "ทุน" อย่างมหาศาล ล้วนแต่เป็นตัวการสำคัญต่อวิกฤติเชิงนิเวศวิทยาที่เราพบอยู่ในทุกวันนี้ ฉะนั้น จึงไม่ใช่มนุษย์ทุก ๆ คนที่เป็นตัวการหลักในการเปลี่ยนแปลงและทำลายธรรมชาติ แต่คือมนุษย์ภายใต้ระบบทุน ที่ทั้งเปลี่ยนแปลงและทำลาย (metabolism) ธรรมชาติเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือ ทุนนิยมเริ่มต้นขึ้นจริงเมื่อไหร่ แล้วกิจกรรมของมนุษย์ก่อนหน้าการเกิดขึ้นของระบอบทุนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาบ้างเลยหรือ และถึงที่สุด ทุกกิจกรรมของมนุษย์ภายใต้ระบอบทุนล้วนต้องรับผิดชอบการความล่มสลายของระบบนิเวศเท่า ๆ กันอย่างนั้นหรือเปล่า
ภายใต้ข้อถกเถียงเชิงญาณวิทยาดังกล่าว สิ่งที่ DH เสนอคือการไปให้ไกลกว่าญาณวิทยาที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และพยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในระบบนิเวศอย่างที่เป็นจริง กรอบคิดที่สามคือ Chthulucene มีความหมายตามรากศัพท์ว่า "อยู่ใต้โลก" "ใต้พื้นโลก" ซึ่งตรงข้ามกับสัญลักษณ์ของกรอบคิดแบบ Anthropocene นั่นก็คือ Gaia หรือ "โลก"
คุณุปการสำคัญของ Chthulucene ซึ่ง DH เห็นว่าเป็นกรอบคิดที่น่าสะพรึงกลัว (dreadful) ที่สุด เพราะขัดแย้งกับความเข้าใจทั่ว ๆ ไปที่เรามีต่อโลกและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่นภายในระบบนิเวศ คือการชี้ให้เห็นการดำรงอยู่ของสิ่งอื่นและตัวเรา ซึ่งสอดประสานกันจนทำให้ตัวมนุษย์ไม่ได้เป็น "มนุษย์" อย่างที่เราทึกทักกันว่าเป็น
Chthulucene หมายถึง ยุคที่มนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ("สิ่งใต้โลก") ดำรงอยู่ร่วมกันจนไม่เหลือสิ่งที่เรียกว่า "มนุษย์" ในฐานะ "ปัจเจกชน" ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระจากสิ่งอื่นและไม่สัมพันธ์กับสิ่งใดอีกต่อไป ภายใต้กรอบคิดที่วางตัวอยู่บนวิธีคิดแบบนิเวศวิทยา Chthulucene เสนอภาพความสัมพันธ์แบบเครือข่ายหรือ ร่างแห (mesh) ของระบบนิเวศที่สิ่งต่าง ๆ ทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกัน แม้กระทั่งในตัวของมนุษย์เอง
ผลก็คือ ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ตัวตนของมนุษย์ที่ประกอบขึ้นจากเซลล์ ดำรงอยู่ด้วยความสมดุลขององค์ประกอบภายใน (homeostasis) และถูกแทรกซอนด้วยเชื้อโรคและแบคทีเรียอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นตัวตนที่คลุมเครือ พร่าเลือน อยู่ในสภาวะการเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มีลักษณะตายตัว แน่นอน ชัดเจน และแยกขาดออกจากสิ่งอื่นอย่างเด็ดขาดแบบที่ทัศนะที่แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิงเคยเข้าใจกัน
มนุษย์สำหรับ Chthulucene จึงไม่อาจเป็นมนุษย์ได้ถ้าไม่เป็นธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน "มนุษย์" ไม่ใช่แค่ต้องดำรงอยู่ร่วมกันกับสิ่งอื่น แต่ตัวมนุษย์คือไลเคน (We are all lichens) ไม่ใช่เพราะมนุษย์ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ แต่เพราะ ไลเคน คือการรวมตัวของสิ่งมีชีวิต (organism) สองชนิดคือ เห็ดราและสาหร่าย ไลเคนจึงไม่ได้ดำรงอยู่ลำพัง แต่ดำรงอยู่ได้จากการดำรงอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งอื่น (symbiosis) และดำรงอยู่ด้วยการผลิตสร้างร่วมกันของสิ่งอื่น ๆ (symbiogenesis/symbiopoeisis) ฉะนั้น ร่างกายและตัวตนของมนุษย์ จึงเป็นสถานที่ที่สิ่งอื่นดำรงอยู่ร่วมกัน เช่นเดียวกับที่วัตถุ (objects) หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นนั่นเอง
สำหรับ DH ความสัมพันธ์ที่อันตรายและน่าสะพรึงกลัวภายใต้ Chthulucene นี่เองที่ทำให้มนุษย์ต้องตั้งคำถาม ทั้งกับญาณวิทยา และ Ontology ในการทำความเข้าใจโลกและการดำรงอยู่ของตนเองร่วมกับสิ่งอื่นภายในโลกใหม่อีกครั้ง
พูดให้ถึงที่สุด ภายใต้มโนทัศน์แบบ Chthulucene มนุษย์ที่เป็น "มนุษย์" ไม่มีอยู่อีกแล้ว และอาจไม่เคยมีอยู่เลย จะมีก็แต่มนุษย์ครึ่งสัตว์แบบ "เมดูซ่า" หรือไม่ก็ "ระตู คิดุล" (Ratu Kidul) เทพีผู้ปกปักษ์ทะเลชวาตอนใต้ ผู้มีร่างกายเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งปลา.