Skip to main content

สลาวอย ชิเชค – คำชี้แจงฉบับย่อว่าด้วยประชานิยม[1]

 

ภาพ: EFE

 อเล็กซิส ซีปราส (Alexis Tsipras) นายกรัฐมนตรีของกรีซ ผู้นำพรรค Syriza
ภาพโดย EFE

 

บทสัมภาษณ์ล่าสุดของผมที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในเม็กซิโกและพิมพ์ซ้ำในบางประเทศในละตินอเมริกา รวมถึงในหนังสือพิมพ์ El Pais อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนยิ่งเกี่ยวกับจุดยืนที่ผมมีต่อกระแสการเมืองราดิคัลแบบประชานิยมในช่วงที่ผ่านมา

 

แม้ว่าการปฏิวัติโบลิวาร์ในเวเนซุเอล่าควรได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น กระนั้น เราเองก็ควรจำให้ขึ้นใจว่ามันเองตกเป็นเหยื่อของการโต้ปฏิวัติที่มีการเตรียมการเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเหยื่อของสงครามทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาอย่างยาวนานอีกด้วย พฤติการณ์ข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในต้นทศวรรษ 1970 ในบันทึกที่ส่งถึง CIA เพื่อให้คำแนะนำว่าจะโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยของซัลวาดอร์ อาเยนเด ในชิลีได้ด้วยวิธีใด เฮนรี คิสซิงเจอร์เขียนไว้อย่างรวบรัดว่า “ทำให้เศรษฐกิจชิลีย่อยยับ” (Make the economy scream) ผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ ยอมรับโดยเปิดเผยว่า ในทุกวันนี้ พวกเขาใช้ยุทธศาสตร์เดียวกันนี้กับเวเนซุเอล่า เมื่อสองปีก่อน ลอวเรนซ์ อีเกลเบอร์เกอร์ (Lawrence Eagleburger) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าว Fox News ว่า ความนิยมที่ประชาชนชาวเวเนซุเอลามีต่ออูโก ชาเวซ “มีผลตราบเท่าที่ประชากรของเวเนซุเอลามองเห็นความสามารถบางอย่างในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้ดีขึ้นได้ หากเศรษฐกิจย่ำแย่ถึงขีดสุดในจุดในจุดหนึ่ง ความนิยมภายในประเทศต่อตัวชาเวซจะลดลงอย่างแน่นอน และนี่เป็นไม้ตายที่สำคัญที่สุดที่เรามีและเราควรใช้เพื่อต่อสู้กับชาเวซ กล่าวคือ ใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อพยายามทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่จนความนิยมของชาเวซในประเทศและในภูมิภาคลดลง… ในเวลานี้ การทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาย่ำแย่กว่าเดิมได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใด ย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรทำในแบบที่ไม่ต้องให้เรากับเวเนซุเอลาขัดแย้งกันโดยตรง”  

 

อย่างน้อยที่สุดที่เราพูดได้ก็คือ ข้อความข้างต้นช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อสันนิษฐานที่ว่าความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลชาวิสตา (Chavista government) เผชิญอยู่มิได้ยังผลมาจากความไร้ความสามารถของการเมืองเรื่องเศรษฐกิจของพวกเขาเพียงอย่างเดียว ประเด็นสำคัญในทางการเมืองซึ่งพวกเสรีนิยมบางคนยากจะยอมรับอยู่ตรงที่ว่า ชัดเจนว่าสิ่งที่เรากำลังรับมืออยู่ไม่ใช่กระบวนการและปฏิกิริยาของตลาดที่คาดการณ์ไม่ได้ (ตัวอย่างเช่น การที่เจ้าของร้านพยายามทำกำไรมากขึ้นด้วยการเก็บสินค้าบางชนิดออกจากชั้นวางสินค้า) แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่วางแผนมาอย่างเพียบพร้อมและประณีต ฉะนั้น ในสถานการณ์แบบนี้ ใช่หรือไม่ว่าความหวาดกลัวบางอย่าง (การที่ตำรวจบุกคลังสินค้าลับ จับกุมผู้เก็งกำไรและผู้ร่วมประสานงานให้เกิดการขาดแคลนสินค้า ฯลฯ) ในฐานะมาตรการโต้กลับเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว ใช่หรือไม่ว่าการที่ประธานาธิบดีโอบามาออกคำสั่งประกาศให้เวเนซุเอลาเป็น “ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ” เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 คือการเปิดไฟเขียวให้กับการทำรัฐประหาร สิ่งเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นในกรีซในรูปแบบที่ดู “อารยะ” มากกว่า

 

เราทุกวันนี้ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลจากสิ่งที่เราควรเรียกได้โดยไม่ต้องเหนียมอายว่า โฆษณาชวนเชื่อของศัตรู ผมขออ้างสิ่งที่อแล็ง บาดิยูกล่าวไว้ “เป้าประสงค์ของโฆษณาชวนเชื่อของศัตรูหาใช่การทำลายพลังที่มีอยู่ (หน้าที่นี้โดยทั่วไปเป็นของกำลังตำรวจ) แต่เป็นการทำลายความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่ผู้คนมองข้าม” กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ศัตรูกำลังพยายามทำลายความหวัง สารในโฆษณาชวนเชื่อกระแสหลักจำนวนมากคือความเชื่ออย่างสยบยอมที่ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่ แม้ไม่ใช่โลกที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นโลกที่เลวร้ายน้อยที่สุด ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่ขุดรากถอนโคนใดๆ ก็ตามจึงมีแต่จะทำให้โลกของเราเลวลง นี่เองเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงควรสนับสนุนการต่อต้านทุกรูปแบบอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านของพรรค Syriza ในกรีซ พรรค Podemos ในสเปน เรื่อยไปจนถึง “ประชานิยม” ในละตินอเมริกา แน่นอน เราควรวิพากษ์วิจารณ์พวกเขาอย่างรุนแรงในกรณีที่จำเป็น แต่การวิพากษ์ควรเป็นแต่เฉพาะการวิพากษ์จากภายใน (internal critique) คือเป็นการวิพากษ์โดยพันธมิตรของเรา ดังที่เหมา เจ๋อ ตุง คงเคยกล่าวไว้ ความตึงเครียดเหล่านี้เป็น “ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน” ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับศัตรู

 

โลกอุดมคติค่อยๆ ปรากฏให้เราเห็นผ่านปฏิกิริยาของผู้มีอำนาจในยุโรปที่มีต่อชัยชนะของพรรค Syriza ในกรีซ และอุดมคติที่ดีที่สุดสะท้อนจากชื่อบทความของกีเดียน รัชมัน (Gideon Rachman) ใน Financial Times ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม 2557 เรื่อง “จุดอ่อนของยูโรโซนอยู่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” (Eurozone’s weakest link is the voters.) ในโลกอุดมคติที่คนเหล่านี้ใฝ่ฝัน ยุโรปสามารถกำจัด “จุดอ่อน” ที่ว่านี้ได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมีอำนาจในการกำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจที่จำเป็นได้โดยตรง และหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น มันจะมีหน้าที่เพียงเพื่อรับรองฉันทามติของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเท่านั้น โอกาสที่ผลการเลือกตั้งจะออกมาในทางที่ “ผิด” ทำให้ผู้มีอำนาจหวาดวิตก เพราะพวกเขาได้วาดภาพความโกลาหล ความยากจน และความรุนแรงในสังคมเอาไว้ เป็นธรรมดา บุคลาธิษฐานทางอุดมการณ์กำลังอยู่ในโมงยามที่รุ่งโรจน์ เมื่อตลาดเริ่มพูดเหมือนคนที่มีชีวิต พร้อมแสดงความ “วิตกกังวล” ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากการเลือกตั้งไม่อาจสร้างรัฐบาลที่มีอำนาจสั่งการในการสานต่อโครงการรัดเข็มขัดทางการเงินและการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่อไปได้

 

ไม่นานมานี้ สื่อมวลชนในเยอรมันพรรณนาลักษณะของยานิส วารูฟาคิส รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกรีซว่าเป็นคนโรคจิตที่ใช้ชีวิตอยู่ในคนละจักรวาลกับเรา แต่คำถามคือเขาเป็นพวกราดิคัลขนาดนั้นหรือเปล่า สิ่งที่น่าบั่นทอนกำลัง (enervating) ไม่ใช่ความราดิคัลของวารูฟาคิส แต่เป็นความพอประมาณที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติและมีความสมเหตุสมผล ฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดสมาชิกสายราดิคัลในพรรค Syriza จึงกล่าวหาว่าวารูฟาคิสยอมอ่อนข้อให้กับอียู หากพิจารณาข้อเสนอของวารูฟาคิสโดยละเอียด เราจะสังเกตได้เองว่ามีหลายมาตรการที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยสายกลางตามแบบฉบับเมื่อ 40 ปีก่อน (โครงการของรัฐบาลสวีเดนในทศวรรษที่ 1960 ราดิคัลกว่านี้มาก) นี่เป็นสัญญาณอันน่าเศร้าของยุคสมัยของเราตรงที่ว่า ในทุกวันนี้ คุณต้องเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายซ้ายราดิคัลเสียก่อน ก่อนที่จะผลักดันมาตรการในลักษณะเดียวกันนี้ออกมาได้ กระนั้น แม้จะเป็นสัญญาณที่น่าเศร้า แต่มันก็เป็นโอกาสดีสำหรับฝ่ายซ้ายในการช่วงชิงพื้นที่ที่เคยตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายซ้ายกลางมาเมื่อหลายทศวรรษก่อนด้วยเช่นกัน

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาล Syriza ล้มเหลว? ผลลัพธ์อาจจะเป็นหายนะ ไม่เฉพาะเพียงต่อกรีซ แต่ยังเป็นหายนะสำหรับยุโรปเองด้วย ความพ่ายแพ้ของ Syriza ที่จะเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งจะเพิ่มน้ำหนักให้กับความคิดเห็นของพวกมองโลกในแง่ร้ายที่มองว่าภารกิจของการปฏิรูปด้วยความอดทนมีแต่จะคว้าน้ำเหลว และการปฏิรูปเป็นยูโทเปียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทุกวันนี้ หาใช่การปฏิวัติอย่างขุดรากถอนโคนไม่ (เหมือนที่อัลแบร์โต ทอสคาโนว่าไว้) โดยสรุป ความพ่ายแพ้ของ Syriza จะเป็นสิ่งยืนยันว่าเรากำลังเข้าใกล้ยุคสมัยของการต่อสู้ฟาดฟันกันด้วยความรุนแรงมากขึ้นทุกที.  

 

 

[1] แปลจาก Slavoj Zizek. “A Brief Clarification about Populism”. TeleSUR. Retrieved from http://www.telesurtv.net/english/opinion/A-Brief-Clarification-about-Populism-20150424-0013.html

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา