Skip to main content

ใครที่ติดตามข้อถกเถียงเกี่ยวกับ GMO ในตอนนี้ คงจะเห็นคล้ายๆ กันว่า นอกจากจุดสนใจที่ค่อนข้างแตกต่างกันของหลายฝ่าย (เศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม) ประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับการถกเถียงไม่แพ้กันคือการเลือกใช้คำและความหมายของคำสำคัญอย่าง GMO หรือ Genetic Modified Organism ซึ่งดูเหมือนจะหมายถึงอะไรได้มากมาย จนบางคนคิดว่าการพูดถึง GMO ในความหมายกว้าง ซึ่งรวมพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering-GE) เข้ากับการคัดเลือกสายพันธุ์ด้วยวิธีการดั้งเดิม เป็นเพียงเรื่องมั่วๆ ของพวกไม่รู้วิทย์พื้นฯ คำถามคือมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า

ผมเองไม่ได้ถูกเทรนด์มาทางสายวิทย์และมีความรู้วิทย์พื้นฐานต่ำต้อยกว่าหลายๆ ท่านมาก ทั้งหมดที่เขียนขึ้นต่อไปนี้ มาจากการครูพักลักจำ อ่าน และตั้งข้อสังเกตส่วนตัวทั้งสิ้น ผมเห็นว่ามี "สองสามประเด็นเดียวกัน" ที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่องนี้ นั่นคือ GMO หมายถึงอะไรได้บ้าง แต่ละฝ่ายใช้คำนี้โดยหมายถึงอะไรกันแน่ และเฉพาะในแง่ชีววิทยา เราต่อต้าน GMO กันในระดับไหนบ้าง

ความหมายตรงตัวของ GMO คือ สิ่งมีชีวิตดัดแปรทางพันธุกรรม ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่ว่านี้ในบางกรณีก็รวมมนุษย์และบางกรณีก็ไม่รวมมนุษย์ GMO ที่เราคุ้นเคยกันและเป็นสิ่งที่หลายคนต่อต้านก็คือ สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมผ่านเทคนิคพันธุวิศวกรรม หลายคนใช้ GMO ในความหมายนี้ความหมายเดียว และค่อนข้างเป็นความหมายที่นิยมกันมากกว่า แต่บางคน รวมถึงบางองค์กรก็ไม่

นิยามของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ระบุว่า วิธีการดัดแปรทางพันธุกรรม (Genetic Modification-GM) หมายถึง 

"The production of heritable improvements in plants or animals for specific uses, via either genetic engineering or other more traditional methods."[1]

ซึ่งถ้าเดินตามนิยามนี้ วิธีการต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกอย่างหยาบๆ ได้ว่า "การคัดสรรโดยมนุษย์" (artificial selection) ทั้งหมด ตั้งแต่ selective breeding จนถึง genetic engineering ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการดัดแปรทางพันธุกรรมทั้งสิ้น และสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปรทางพันธุกรรมในความหมายนี้ก็แทบจะครอบจักรวาล

แน่นอนว่านิยามนี้ไม่ใช่นิยามที่แพร่หลาย แต่ก็ไม่ได้เป็นนิยามที่ "มั่ว" โดยสิ้นเชิงเช่นกัน เพราะหากพิจารณากันจริงๆ แล้ว การคัดสรรโดยมนุษย์ทั้งหมดก็ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับยีโนไทป์ ยีโนม หรือในระดับ "พันธุกรรม" เพื่อให้เกิดฟีโนไทป์ หรือ ลักษณะปรากฏบางอย่างที่เราต้องการ ดังนั้น การคัดเลือกสายพันธุ์สุนัขด้วยการให้สุนัขบางตัวผสมพันธุ์กันเท่านั้น การเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์โดยอาศัยสารเหนี่ยวนำ (mutagen) ต่างๆ ไปจนถึงการชักนำให้เกิดโพลิพลอยด์เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืช เหล่านี้ล้วนทำไปเพื่อต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าวทั้งสิ้น 

วิธีการดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น selective breeding, mutation breeding/mutagenesis และอาจรวมถึงวิธีการอย่าง embryo manipulation ต่างอาศัยระยะเวลามากน้อยต่างกันไป แต่หัวใจสำคัญคือผลลัพธ์ของวิธีการเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงชุดข้อมูลพันธุกรรมทางอ้อม และจะได้ลักษณะปรากฏที่มีอยู่แต่เดิมในพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นเสมอ แม้จะเป็นลักษณะที่ "พึงประสงค์" มากขึ้นในสายตาของผู้คัดสรรก็ตาม

ในทางกลับกัน นวัตกรรมของพันธุวิศวกรรมช่วยตัดตอนการคัดสรรโดยมนุษย์แบบเดิม โดยมุ่งตรงเข้าไปเปลี่ยนแปลงชุดข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตโดยตรง  ทางลัดที่เกิดขึ้นจากความสามารถของ GE ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้ฝ่ายต่อต้าน GMO จำนวนมาก คือการตัดต่อ/ดัดแปลงสารพันธุกรรม (genetic material) ของสิ่งมีชีวิตข้ามสายพันธุ์ หรือที่เรียกในทางเทคนิคว่า "Transgenic Organisms-TO"[2] หรือบางที่เรียก "Intragenetic Organisms"[3]  เช่น การตัดต่อสารพันธุกรรมแบคทีเรียบางชนิดไปใส่ในฝ้ายเพื่อให้ฝ้ายสร้างสารเคมีที่ช่วยกำจัดหนอนที่เป็นศัตรูฝ้ายได้

วิธีการนี้แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตที่ถูกตัดต่อสารพันธุกรรมในสายพันธุ์เดียวกันหรือสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันจนพอจะสืบพันธุ์กันได้ (crossable organisms) หรือที่เรียกว่า "Cisgenic Organisms-CO" เช่น การเพิ่มยีนต้านโรคใบไหม้ (Phytophthora infestans) ที่พบในพืชป่าสกุลมะเขือ (wild Solanum) ลงไปในมันฝรั่ง [4] 

ผลลัพธ์ของ GE จึงไม่ได้เกิดจากการวิเคราะห์จากลักษณะปรากฏ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับชีวโมเลกุลโดยตรง ในกรณีของ TO ผลลัพธ์ที่ได้คือลักษณะที่เกิดขึ้นไม่ได้เองตามธรรมชาติ หรือไม่มีอยู่ในพันธุกรรมเดิมของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ขณะที่ในกรณี CO ผลลัพธ์ที่ได้นั้นเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากการตัดต่อสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกันหรือพอจะสืบพันธุ์กันได้ ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยบางคนจึงเสนอว่าเราควรแบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง TO กับ CO เพราะกลุ่มต่อต้าน GMO มักหวาดกลัวเฉพาะกับ TO เท่านั้น[5] 

ถึงตรงนี้ ผมคิดว่าเราได้ข้อสังเกตสำคัญสองสามอย่าง หนึ่งคือในบางกรณีและเป็นกรณีที่สำคัญด้วย การใช้คำว่า GMO ในทางเทคนิคอาจหมายรวมถึงการดัดแปรทางพันธุกรรมที่เกิดจากการเข้าแทรกแซงจากมนุษย์ได้ทั้งหมด ฉะนั้น การเทียบเคียง GE กับการคัดสรรโดยมนุษย์อื่นๆ จึงทำได้ส่วนหนึ่งเพราะเป้าหมายและกระบวนการเหมือนๆ กัน ต่างกันที่วิธีการ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่า GE จะเท่ากับหรือ "เป็นอย่างเดียวกับ" การคัดสรรโดยมนุษย์รูปแบบอื่น ความแตกต่างชัดๆ คือ GE ให้ผลลัพธ์ได้ 2 ทาง คือ TO และ CO โดยเฉพาะผลลัพธ์ในแบบของ TO ซึ่งเป็นสิ่งที่การคัดสรรด้วยวิธีการดั้งเดิมทำไม่ได้

ทำนองเดียวกัน ฝ่ายต่อต้าน GMO จำนวนมากจึงไม่ได้ต่อต้าน GMO ในความหมายกว้าง หรือกระทั่ง GMO ในความหมายแคบที่หมายถึงทั้ง TO และ CO ด้วย กลับกัน ส่วนใหญ่ต่อต้านเฉพาะการดัดแปรพันธุกรรมที่ให้ผลลัพธ์แบบ TO เท่านั้น และนี่เองเป็นเหตุผลให้มีความพยายามแยก  GEO (Genetic Engineered Organisms) และ GMO (Genetic Modified Organisms) ออกจากกัน

ถึงแม้กลุ่มต่อต้านบางกลุ่มจะเห็นว่า ทั้ง TO และ CO ควรถูกมองในระนาบหรือมาตรฐานเดียวกัน [6] แต่ไม่ได้แปลว่า ผู้ต่อต้าน GEO ซึ่งเรียกรวมๆ ด้วยคำว่า GMO จะต่อต้านการคัดสรรโดยมนุษย์ด้วย "วิธีการ" อื่นทั้งหมดอยู่ดี

ความสับสนและเลื่อนไหลในนิยามนี้เอง ไม่ว่าด้วยความจงใจหรือไม่ น่าจะเป็นที่มาของความสับสนในข้อถกเถียงที่ดำเนินอยู่ตอนนี้ ผมเห็นว่าการเข้าใจให้ชัดเจนว่าสิ่งที่ตนเองต่อต้านหรือปกป้องอยู่ รวมถึงการ "พยายาม" เข้าใจสิ่งที่คนอื่นต่อต้านและปกป้องอยู่ น่าจะช่วยให้การถกเถียงลงเอยด้วยความรู้มากกว่าคำกล่าวหาฝ่ายหนึ่งเป็นพวกมั่วหรือรับเงินมอนซานโท ส่วนอีกฝ่ายเป็นพวกโง่เขลาเบาปัญญา.

 

[1] http://www.usda.gov/wps/portal/usda/usdahome?navid=BIOTECH_GLOSS&navtype=RT&parentnav=BIOTECH

[2] http://knowgenetics.org/transgenic-organisms/

[3] http://www.efsa.europa.eu/sites/default/files/scientific_output/files/main_documents/2561.pdf

[4] http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1439-0523.2008.01619.x/abstract

[5] http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1525145/

[6] http://www.efsa.europa.eu/sites/default/files/scientific_output/files/main_documents/2561.pdf

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา