Skip to main content

Capitalism in the Web of Life: บทสัมภาษณ์ เจสัน ดับเบิลยู. มัวร์[1]
สัมภาษณ์โดย คามิล อะห์ซัน

เจสัน ดับเบิลยู มัวร์ (Jason W. Moore) เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน (Binghamton University) หนังสือเล่มล่าสุดของเขาเรื่อง Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital (Verso, 2015) เสนอบทวิเคราะห์ทุนนิยมในฐานะระบบนิเวศวิทยารูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ

คามิล อะห์ซัน (Kamil Ahsan) เป็นนักเขียนอิสระและนักศึกษาปริญญาเอกด้านชีววิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยชิคาโก

คามิล: คุณตอบโต้คู่ตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับสังคม ด้วยการเสนอแนวคิดใหม่เรื่อง “oikos” แนวคิดที่ว่านี้คืออะไร และมันช่วยให้เราวิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างลึกซึ้งกว่าเดิมได้อย่างไร

เจสัน: พื้นฐานสำคัญของความคิดแบบราดิคัลคือการเพิกเฉยต่อการให้น้ำหนักกับประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโยงใยของชีวิต  สิ่งที่เกิดขึ้นคือความคิดแบบนี้มองธรรมชาติว่าอยู่ภายนอกความสัมพันธ์ของมนุษย์มาตั้งแต่ต้น มองธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่ความคิดที่ว่าธรรมชาติอยู่ตรงนั้นและเราต้องอนุรักษ์ธรรมชาติเพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดหายนะ การคิดเช่นนี้ถูกต้องส่วนหนึ่ง แต่ในทางกลับกันก็เป็นการทำในสิ่งที่พวกราดิคัลถนัด นั่นคือการกล่าวถึงระบบอย่างผิดๆ

พวกราดิคัลพูดถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติส่วนอื่นๆ แต่กลับไม่พูดถึงความสัมพันธ์ของการสร้างชีวิตที่ผลิตทั้งสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ขึ้นมา เผ่าพันธุ์มนุษย์วิวัฒนาการขึ้นผ่านกิจกรรมของการสร้างสภาพแวดล้อมนานัปการ ซึ่งมิได้เปลี่ยนแปลงเพียงภูมิทัศน์ที่พวกเขาอาศัยอยู่ แต่ยังเปลี่ยนชีววิทยาของมนุษย์เองด้วย ตัวอย่างเช่น การควบคุมไฟช่วยให้บรรพบุรุษของมนุษย์พัฒนาระบบการย่อยอาหารที่เล็กลงและใช้ไฟประหนึ่งกระเพาะอาหารภายนอกร่างกาย

แนวคิดหลักเรื่องหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ โดยทั่วไปแล้ว มีธรรมชาติหลายรูปแบบที่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงน้อย เช่น การที่โลกหมุนโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่ธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน

เรากำลังพูดถึงความสัมพันธ์ของการสร้างชีวิต และเรียกความสัมพันธ์ที่ให้กำเนิดระบบนิเวศที่หลากหลาย รวมถึงตัวมนุษย์เองด้วยว่า oikos มนุษย์สร้างสภาพแวดล้อมที่ตนเองอาศัยอยู่ สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกันและสายสัมพันธ์ร่วมกับชีววิทยาของตนเองอยู่ตลอดเวลา โครงสร้างของอำนาจ การผลิต และที่สำคัญมากๆ คือโครงสร้างของการเจริญพันธุ์ เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเกี่ยวกับการที่มนุษย์สร้างภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม รวมถึงการที่สภาพแวดล้อมเหล่านั้นกำลังสร้างมนุษย์ แต่คลังศัพท์และชุดความคิดต่างๆ ภายใต้วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับสังคมนั้นยากจะเปลี่ยนแปลง เราจึงจำเป็นต้องทำลายคู่ตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับสังคมและเสนอชุดความคิดใหม่ๆ บางอย่างขึ้นมาทดแทน

คามิล: ในช่วงต้นของหนังสือ คุณอ้างถึงข้อสังเกตของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ว่ากระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรมได้เปลี่ยน “เลือดให้กลายเป็นทุน” คุณพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอันน่าสะพรึงกลัวนี้ต่อไปเมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงงานของธรรมชาติทุกรูปแบบให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่า ตามประวัติศาสตร์แล้ว มีธรรมชาติรูปแบบใดบ้างที่ทุนนิยมนำไปใช้ประโยชน์ และอะไรคือแนวโน้มของทุนนิยมที่มีต่อธรรมชาติในส่วนที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์

เจสัน: ทุนนิยมเป็นระบบที่แปลกประหลาด เพราะมันไม่ใช่ระบบที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างที่พวกนักอนุรักษ์ชอบพูดกัน ทุนนิยมมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในทิศทางที่จำกัด นั่นคือการที่มนุษย์ทำงานอยู่ภายในระบบของสินค้าซึ่งวางรากฐานอยู่บนการขูดรีด เช่น แรงงานทำงาน 4 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ค่าแรงของตน และทำงานอีก 4-10 ชั่วโมงเพื่อนายทุน นั่นเป็นมิติหนึ่งที่มาร์กซ์สนใจ แต่เขาเองตระหนักถึงมิติที่กว้างกว่านี้  

ทุนนิยมปฏิบัติต่อส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ภายในความสัมพันธ์ที่ผูกไว้ด้วยเงินตราและถูกผลิตซ้ำภายในความสัมพันธ์ที่ผูกไว้ด้วยเงินตรา ในฐานะที่เป็นสังคม แต่ในทางตรงกันข้าม ทุนนิยมยังเป็นดินแดนเอกเทศของการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้าภายในมหาสมุทรของการใช้ประโยชน์จากงาน/พลังงานไร้ค่าจ้างอันกว้างใหญ่กว่ามาก กระบวนการทำงานทุกขั้นตอนของคนงานโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ในเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน หรือในดีทรอยต์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว พึ่งพาการใช้ประโยชนจากงาน/พลังงานไร้ค่าจ้างจากธรรมชาติส่วนอื่นๆ เหนือสิ่งอื่นใด ทุนนิยมเป็นระบบอันเรืองรองและเป็นอันตรายของการ “ใช้ประโยชน์จากผู้หญิง ธรรมชาติ และดินแดนอาณานิคม” ตามถ้อยความที่ยอดเยี่ยมของมาเรีย มีส

ปัญหาของทุนนิยมในทุกวันนี้คือ โอกาสในการใช้ประโยชน์จากงานอย่างฟรีๆ ทั้งจากป่าไม้ มหาสมุทร สภาพภูมิอากาศ พื้นดิน และมนุษย์กำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน กระแสของทุนที่ล่องลอยอยู่ทั่วโลกคอยมองหาอะไรก็ตามมาลงทุนกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มุมมองต่อทุนนิยมในหนังสือเล่มนี้บ่งชี้ถึงบางสิ่งที่มีพลวัตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและจะก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่มีเสถียรภาพมากขึ้นในอีกหนึ่งหรือสองทศวรรษข้างหน้า เรามีทุนมากมายที่ต้องการการลงทุนและโอกาสในการได้งานอย่างฟรีๆ หดตัวอย่างมหาศาล  นี่หมายความว่าทุนนิยมต้องเริ่มจ่ายต้นทุนธุรกิจของตน ซึ่งก็หมายความว่าโอกาสในการลงทุนกำลังลดลง เงินเหล่านี้เองที่ไม่มีใครรู้ว่าควรทำอย่างไรกับมัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับคำวิจารณ์ของพวกราดิคัลมีอยู่สองเรื่องคู่ขนานกัน อย่างแรกคือโลกกำลังถึงจุดจบตามแนวคิดว่าด้วยหายนะของดาวเคราะห์ดวงนี้ของจอห์น เบลลามี ฟอสเตอร์ และอีกอย่างหนึ่งคือเห็นว่าทุนนิยมประสบปัญหาเรื่องการบริโภคต่ำเกินไปและปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งสองนี้จะไม่สมบูรณ์หากปราศจากกันและกัน และมันจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาร่วมกัน เมื่อใดก็ตามที่คุณนำวิกฤตทางนิเวศวิทยามาพิจารณาร่วมกับทฤษฎีว่าด้วยวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชุดคำที่ใช้ทำความเข้าใจความรุ่งเรืองและร่วงโรย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะเริ่มเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับในทางกลับกัน สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ การที่ประเด็นหลักของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่แตกต่างกันไปตามชนชั้น เชื้อชาติ และเพศสภาพ เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับวิธีการทำงานของทุนนิยมภายในโยงใยของชีวิต

[1] แปลจาก Kamil Ahsan, “Capitalism in the Web of Life: Interview with Jason W. Moore,” Viewpoint September 28, 2015 https://viewpointmag.com/2015/09/28/capitalism-in-the-web-of-life-an-interview-with-jason-moore/

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา