ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Are We Smart Enough to Know How Smart Animals Are?"*
โดย คลอเดีย คาฟซินสกา (Claudia Kawczynska)
จากนิตยสารบาร์ค (The Bark)
บาร์ค: คอนราด ลอเรนซ์ เขียนหนังสือเรื่อง Man Meets Dog ในปี 1954 มันอาจมีข้อผิดพลาดนิดหน่อย แต่ก็ยังเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเกี่ยวกับพฤติกรรมสุนัข ทำไมถึงใช้เวลานานมากกว่าที่นักพฤติกรรมวิทยาและนักวิจัยสาขาอื่นๆ จะเขียนถึงพฤติกรรมของสุนัข
ฟรานส์ เดอ วาล: สุนัขเคยถูกมอง (จนปัจจุบัน) ว่าเป็นหัวข้อการศึกษาที่ไม่ดีนักเพราะว่ามัน “ไม่เป็นธรรมชาติ” นักพฤติกรรมวิทยาหลายคน รวมถึงลอเรนซ์เอง รู้สึกว่า เราควรมุ่งศึกษาพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรมชาติ ขณะที่สุนัขเป็นผลผลิตของการคัดเลือกโดยมนุษย์ ยังไงก็ตาม ลอเรนซ์เองชอบสัตว์ทุกชนิด สุดท้ายเลยเขียนอธิบายเรื่องสุนัขของเขาออกมา และเราทุกคนควรดีใจที่เป็นอย่างนั้น
สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายอย่าง ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ในตอนนี้จึงมองเห็นข้อเท็จจริงว่าการที่พวกมันถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ก็มีข้อได้เปรียบเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น สุนัขกระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกับมนุษย์ โดยทั่วไปแล้วมันไม่เป็นอันตราย พวกมันฉลาด และมีความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่น สุนัขทำอะไรยิ่งใหญ่ได้มากมาย พวกมันยังทำงานร่วมกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น เอปและโลมา ได้ง่ายกว่าด้วย
บาร์ค: ช่วยยกตัวอย่างได้ไหมว่าสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงสุนัขเอง แสดงความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่นออกมายังไง
ฟรานส์ เดอ วาล: แคโรลีน ซาห์น-แวกซ์เลอร์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันพยายามค้นหาว่าเด็กเริ่มปลอบโยนสมาชิกในครอบครัวที่ร้องไห้หรือร้อง “โอ้ย” ออกมาตอนอายุเท่าไหร่ เธอพบว่าเด็กทำแบบนั้นได้ตั้งแต่อายุขวบเดียว ในการศึกษาเดียวกัน ซาห์น-แวกซ์เลอร์ค้นพบโดยบังเอิญว่าสุนัขเลี้ยงก็มีปฏิกิริยาคล้ายๆ กัน สุนัขแสดงท่าทีไม่สบายใจเหมือนกับเด็กๆ เมื่อเห็นสมาชิกในครอบครัวทำทีเป็นกำลังโศกเศร้า พวกมันจะเดินเข้าไปใกล้ๆ แล้วเอาหัวไปหนุนตักด้วยทีท่าว่าเป็นกังวลมากๆ การศึกษานี้เพิ่งได้รับการทดลองซ้ำอีกหลายครั้งโดยมุ่งความสนใจไปที่สุนัขเองมากขึ้น และไม่ต้องสงสัยว่าสัตว์เหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจมนุษย์เช่นกัน
บรรพบุรุษของสุนัขและหมาป่าน่าจะมีพฤติกรรมเหมือนกัน ถ้าหาก “มนุษย์คือหมาป่าสำหรับมนุษย์” เหมือนที่โธมัส ฮอบส์ชอบพูดไว้ เราก็ควรเข้าใจประโยคนี้ในความหมายที่ดีที่สุดและเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงลักษณะนิสัยที่ชอบปลอบประโลมคนที่กำลังร้องไห้และช่วยเหลือผู้ที่ต้องการให้ช่วย แน่นอนว่าความรู้เรื่องนี้จะทำลายปรัชญาทางการเมืองส่วนใหญ่ที่วางอยู่ทัศนะเกี่ยวกับธรรมชาติที่เต็มไปด้วยการต่อสู้อย่างโหดเหี้ยม (dog-eat-dog) ของฮอบส์เอง
บาร์ค: คุณคิดไหมว่าอคติของมนุษย์มีบทบาทเหมือนกันในงานศึกษาการรู้คิดของสุนัขบางชิ้น
ฟรานส์ เดอ วาล: ตอนแรกๆ สุนัขถูกจัดอันดับให้เป็นสัตว์ที่ฉลาดกว่าเอปหรือหมาป่า เพราะมันไปตามจุดที่มนุษย์ชี้ให้ไปได้ (ตะกร้าใส่อาหาร) ขณะที่เอปและหมาป่าไม่ทำแบบนั้น ต่อมาเราค้นพบว่าหมาป่าที่ถูกเลี้ยงในบ้านของมนุษย์จะทำสิ่งต่างๆ คล้ายสุนัข นั่นคือไปตามจุดที่มนุษย์ชี้ให้ไป ข้อค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า ความล้มเหลวก่อนหน้านี้เกี่ยวกับหมาป่าอาจเกิดจากการขาดความผูกพันและความใส่ใจ เช่นเดียวกับกรณีของเอป ปัจจุบัน สุนัขไม่ได้ถูกมองว่าเพียงแค่ฉลาด แต่ยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสายพันธุ์ที่เลี้ยงพวกมันได้ด้วย
สุนัขมีความผูกพันเป็นพิเศษกับมนุษย์ สิ่งนี้สะท้อนอยู่เช่นกันในการศึกษาเกี่ยวกับฮอร์โมนอ็อกซิท็อกซิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับสุนัขส่งผลให้ฮอร์โมนแห่ง “ความผูกพัน” ของทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้น สุนัขอาจเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ระหว่างที่ถูกทดลองโดยมนุษย์ ในขณะที่สัตว์อื่นๆ ไม่ได้อินกับเราขนาดนั้น ดังนั้นจึงต้องทดลองในวิธีที่แตกต่างกันไป นี่ยังเป็นหลักฐานยืนยันอีกด้วยว่าการทดสอบการรู้คิดของสัตว์จำเป็นต้องใส่ใจเสมอว่าเรากำลังทดสอบสัตว์ชนิดไหนอยู่ และต้องหาวิธีที่เหมาะสมกับสายพันธุ์นั้นมากที่สุด
บาร์ค: ตรงข้ามกับโมเดลเรื่องการให้รางวัลและการลงโทษแบบพฤติกรรมศาสตร์ (behaviorism) นักพฤติกรรมวิทยามองว่าสัตว์ “มีความต้องการและพยายามสนองความต้องการของตัวเอง" ทำไมคุณจึงรู้สึกว่าแนวทางหลังจะเป็นประโยชน์กว่าในการศึกษาสัตว์
ฟรานส์ เดอ วาล: นักพฤติกรรมศาสตร์หลายคน (ผู้สมาทานแนวคิดของบี. เอฟ. สกินเนอร์) มองข้ามลักษณะนิสัยตามธรรมชาติของสัตว์ไปโดยสิ้นเชิง พวกเขาพยายามอธิบายพฤติกรรมต่างๆ บนฐานคิดเรื่องรางวัลและการลงโทษ ทำให้ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมคุณจึงสามารถฝึกสุนัขให้วิ่งไปเอาของกลับมาได้ แต่ฝึกกระต่ายหรือแพะให้ทำแบบเดียวกันไม่ได้
สัตว์นักล่าจะหลงใหลกับวัตถุเล็กๆ ที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งเราเห็นกันเป็นปกติในสุนัขหรือแมว ความสนใจของพวกมันได้สร้างสถานการณ์การเรียนรู้ที่พวกมันจะซึมซับบทเรียนต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการจับและหลอกล่อวัตถุเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่เหล่านี้ สุนัขเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้ด้วยความกระตือรือร้น
รางวัลและการลงโทษเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ จริงๆ แล้ว แรงขับดันของกระบวนนี้มาจากสัญชาตญาณการเป็นนักล่าตามธรรมชาติ นี่คือสิ่งที่พฤติกรรมศาสตร์มองไม่เห็น พฤติกรรมศาสตร์มีแนวคิดดีๆ อยู่บ้าง หลายอย่างปรับใช้กับการฝึกสัตว์ได้ แต่มันมีมุมมองที่คับแคบจนเกินไปเนื่องจากไม่ใส่ใจกับลักษณะนิสัยตามธรรมชาติและวิวัฒนาการของพฤติกรรม
บาร์ค: ทำไมคุณถึงคิดว่าดาร์วินใช้สุนัขเพื่ออธิบายถึงความต่อเนื่องทางอารมณ์
ฟรานส์ เดอ วาล: ดาร์วินเป็นคนรักสุนัข และเขารู้ว่าสุนัขน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับความต่อเนื่องระหว่างอารมณ์ของมนุษย์กับสัตว์ให้เข้าใจกันทั่วไป งานส่วนใหญ่ของดาร์วินเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางอารมณ์ แน่นอนว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่แสดงอารมณ์ออกมาอย่างชัดเจนผ่านท่าทาง การแสดงสีหน้า การกระดิกหาง การส่งเสียงขู่ ฯลฯ ดาร์วินรู้ว่าคนส่วนใหญ่นึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้และคงจะเป็นปัญหามากกว่าถ้าเขากล่าวถึงสัตว์สายพันธุ์อื่นที่มนุษย์ไม่ได้คุ้นเคยนัก
บาร์ค: ในแง่ของข้อได้เปรียบทางวิวัฒนาการ การที่สายพันธุ์หนึ่งๆ มีสำนึกรู้ตัวเป็นสิ่งสำคัญแค่ไหน
ฟรานส์ เดอ วาล: ความสามารเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยสมองขนาดใหญ่ ในแง่ของการตระหนักรู้ถึงตัวเองในกระจกหรือเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นรู้ สายพันธุ์ที่ทำได้ดีมากคือเอป โลมา ช้าง และอาจรวมถึงสัตว์ในกลุ่มนกกา (corvid) ด้วย ไม่ใช่ว่าสุนัขไม่มีความสามารถที่ว่านี้ มันอาจจะเข้าใจอะไรคล้ายๆ กัน เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมาอย่างเต็มที่
ยิ่งสังคมของสายพันธุ์หนึ่งๆ มีความซับซ้อนมากเท่าไหร่ การรู้คิดก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น และบางทีสัตว์ตระกูลสุนัขอาจไม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจทางสังคมในระดับเดียวกับเอปหรือโลมา ผมรู้สึกว่าเราจำเป็นต้องประเมินคุณค่าสัตว์ด้วยสิ่งที่มันถนัดและสิ่งที่มันจำเป็นต้องรู้เพื่อความอยู่รอด ในแง่นี้ สัตว์สายพันธุ์สุนัขมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวมากมาย หลายครั้งเป็นความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการดมกลิ่น การล่าเหยื่อ และความจำเป็นในการช่วยเหลือกันในฝูง เราควรทดสอบสุนัขที่สิ่งเหล่านี้ และบางทีเราอาจค้นพบความสามารถที่น่าทึ่งก็ได้
บาร์ค: อารมณ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างแน่นอนสำหรับการทำความเข้าใจพฤติกรรม คำถามคือทั้งสองสิ่งเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกันและกันอย่างไร
ฟรานส์ เดอ วาล: ในหนังสือของผม ผมตัดประเด็นเรื่องอารมณ์ออกไปเพราะรู้สึกมันน่าจะเป็นเรื่องที่ชวนสับสน แต่ไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการรู้คิดใดๆ ที่ไม่ใส่ใจประเด็นเรื่องอารมณ์ เช่นเดียวกับในทางกลับกัน ทั้งอารมณ์และพฤติกรรมเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น ในการทดลองที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับลิงคาปูชินที่ได้รับองุ่นและแตงกวา คุณจะเห็นว่าลิงไม่เพียงประเมินคุณค่าสิ่งที่ตัวเองได้รับเทียบกับสิ่งที่ลิงตัวอื่นๆ ได้รับ แต่พวกมันยังตอบสนองทางอารมณ์อย่างรุนแรงด้วย คุณไม่สามารถศึกษาสิ่งหนึ่งโดยมองข้ามอีกสิ่งหนึ่งไปได้
*แปลจาก Claudia Kawczynska. "Q&A with Author Frans de Waal." The Bark. Available from http://thebark.com/content/qa-author-frans-de-waal (accessed Jan 15, 2017)
ภาพ: Nathaniel Gold