Skip to main content

ไซเฟอร์พังก์ (Cypherpunks) เชื่อว่าความเป็นส่วนตัว (privacy) คือสิ่งที่ดีและอยากให้โลกนี้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พวกเขาเข้าใจว่าหากต้องการความเป็นส่วนตัว เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ไม่ใช่รอให้รัฐบาล บริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ไร้ตัวตนเมตตามอบให้ ไซเฟอร์พังก์รู้ว่ามนุษย์ปกป้องความเป็นส่วนตัวของตัวเองมาตลอดหลายศตวรรษ ด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการกระซิบ การใช้ซองจดหมาย การปิดประตูให้สนิท และการใช้ผู้ส่งสารส่วนตัว ไซเฟอร์พังก์ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะขัดขวางผู้อื่นจากการพูดถึงประสบการณ์หรือความคิดเห็นของตัวเอง

วิธีสำคัญที่สุดในการปกป้องความเป็นส่วนตัวคือการเข้ารหัส (encryption) การเข้ารหัสคือการแสดงความต้องการความเป็นส่วนตัว แต่การเข้ารหัสด้วยระบบที่อ่อนแอ แสดงว่าคุณไม่ได้ใส่ใจในความเป็นส่วนตัวมากนัก ไซเฟอร์พังก์หวังว่าทุกคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวจะเรียนรู้วิธีปกป้องมันอย่างดีที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ไซเฟอร์พังก์จึงทุ่มเทให้กับวิทยาการการเข้ารหัส (cryptography) ไซเฟอร์พังก์อยากเรียนรู้ อยากสอน อยากพัฒนา และอยากสร้างระบบการเข้ารหัสให้มากขึ้น ไซเฟอร์พังก์รู้ว่าระบบการเข้ารหัสสร้างโครงสร้างทางสังคม และรู้วิธีโจมตีและปกป้องระบบเหล่านี้ ไซเฟอร์พังก์เข้าใจว่าการสร้างระบบเข้ารหัสที่ดีเป็นเรื่องยากเพียงใด

ไซเฟอร์พังก์รักการฝึกฝนลงมือทำ พวกเขาสนุกกับการเล่นกับการเข้ารหัสกุญแจสาธารณะ (public key cryptography) การส่งต่ออีเมลที่ไม่ระบุตัวตน (anonymous) หรือใช้นามแฝง (pseudonymous) การส่งข้อมูลแบบ DC-nets และการสื่อสารที่ปลอดภัยในทุกรูปแบบ

ไซเฟอร์พังก์เขียนโค้ด เพราะพวกเขารู้ว่ามีคนต้องเขียนโค้ดเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว และในเมื่อมันคือความเป็นส่วนตัวของพวกเขาเอง พวกเขาจะเขียนมันด้วยตัวเอง ไซเฟอร์พังก์เผยแพร่โค้ดของตัวเองให้ไซเฟอร์พังก์คนอื่นๆ ได้ทดลองและพัฒนา ไซเฟอร์พังก์เข้าใจดีว่าความปลอดภัยไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว พวกเขาจึงอดทนและยอมรับความก้าวหน้าทีละน้อย

ไซเฟอร์พังก์ไม่สนใจหากคุณไม่ชอบซอฟต์แวร์ที่พวกเขาสร้างขึ้น เพราะพวกเขารู้ว่าซอฟต์แวร์ไม่สามารถถูกทำลายได้ และระบบที่ถูกกระจายไปอย่างกว้างขวางก็ไม่สามารถถูกปิดกั้นได้

ไซเฟอร์พังก์จะทำให้เครือข่ายปลอดภัยสำหรับความเป็นส่วนตัว
-------------------------------

แปลจากข้อความท้ายอีเมลของ Majordomo@toad.com หรือ ทิโมธี ซี. เมย์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไซเฟอร์พังก์และคริปโตอนาธิปไตย (crypto-anarchy) วันที่ 25 ตุลาคม 1995 (https://mailing-list-archive.cryptoanarchy.wiki/archive/1995/10/3214b9730f38d7bd1b9a676a4cb27b5c39a785431fd5c255bc52382e43da3022/)

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
ทุนนิยมจะอยู่รอดได้ก็ด้วยรัฐสวัสดิการ---------------------แต่เราต้องปฏิรูปรัฐสวัสดิการเพื่อรับมือกับสังคมสูงอายุและการย้ายถิ่น
Apolitical
บทสัมภาษณ์บรูโน ลาตูร์โดยวารสาร Science ในโอกาสเกษียณอายุการทำงานในวัย 70 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
Apolitical
คุยกับฟรานส์ เดอ วาลผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Are We Smart Enough to Know How Smart Animals Are?"*โดย คลอเดีย คาฟซินสกา (Claudia Kawczynska)จากนิตยสารบาร์ค (The Bark)