Skip to main content

 

        ในการสร้างสรรค์ Star Wars ของจอร์จ ลูคัส ของทุกภาคนั้นล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากผู้กำกับภาพยนตร์และภาพยนตร์ก่อนหน้านี้หลายเรื่องที่ถูกสร้างระหว่างทศวรรษที่ 30 ถึง 50 อย่างภาพยนตร์แฟนตาซีเช่น Flash Gordon (1936)  Wizard of Oz (1938)  หรือภาพยนตร์คาวบอยดังเช่น The Searchers (1956)  เช่นเดียวกับการที่เราไม่สามารถปฏิเสธอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของนาซีที่สร้างโดยเรเน รีฟเฟนสตาห์ลคือ Triumph of the Will (1935)  ที่มีต่อ Star Wars   โดยเฉพาะฉากที่มองจากเบื้องสูงเหนือขบวนแถวของบรรดาทหารฝ่ายจักรวรรดิในภาคต่างๆ  หรือพวกทหารฝ่าย First Order ในภาค 7 The Force Awakens ซึ่งเจ. เจ. แอบรัมส์ อาจจะได้รับอิทธิพลจากเรเนผ่านลูคัส

 

      อย่างไรก็ตามผู้มีอิทธิพลต่อลูคัสมากที่สุดกลับเป็นผู้ที่มาจากฝั่งตะวันออกนั่นคือยอดผู้กำกับชาวญี่ปุ่น อาคิระ คุโรซาวา ซึ่งลูคัสให้ความเคารพอย่างสูงในฐานะเป็น “เซ็นเซ” (อาจารย์)  มีภาพถ่ายหลายภาพแสดงให้เห็นว่าทั้งลูคัส และเพื่อนผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นเดียวกันไม่ว่าฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา หรือสตีเวนส์ สปีลเบิร์กได้ไปเยี่ยมเยียนคุโรซาวาหรือคุโรซาวาเองเดินทางไปเยือนกองถ่ายของ Star Wars ดังภาพที่เขายืนอยู่เคียงข้างลูคัสและหุ่นจำลองที่พวกจักรวรรดิใช้โจมตีพวกขบถในภาค The Empire Strikes Back (อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฉากฮันไปช่วยเหลือลุคท่ามกลางพายุหิมะอันโหดร้ายในภาคนี้มีความคล้ายคลึง Dersu Uzala ของคุโรซาวา)   อันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างผู้กำกับภาพยนตร์จากตะวันออกและตะวันตกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือแม้แต่ในปัจจุบันก็ตาม นอกจากนี้ทั้งลูคัสและสปีลเบิร์กยังทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพร่วมกันในการมอบรางวัลออสการ์สาขาเกียรติยศให้กับคุโรซาวาในงานมอบรางวัลประจำปี 1990 ราวกับจะเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงต่อเซ็นเซซึ่งมีอายุครบรอบ 80 ปีพอดี

 

                        

                                        

                                                                          ภาพจาก kitbashed.com 

 

     ลูคัสนั้นน่าจะหมกมุ่นในภาพยนตร์ของคุโรซาวาอย่างมาก เขาถึงกลับเสนอให้โตชิโร มิฟูเน ดาราคู่บุญที่แสดงภาพยนตร์ร่วม 14 เรื่องของคุโรซาวาให้มารับบทของโอบิวัน เคนเนบี แต่มิฟูเนเกรงว่าภาพพจน์ยอดซามูไรของตนจะเสียหายเพราะในสมัยนั้นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์แฟนตาซีมักถูกมองว่าเป็นภาพยนตร์เกรดต่ำและยังใช้ทุนสร้างไม่มากนัก  ลูคัสยังเสนอให้มิฟูเนมารับบทของดาร์ธ เวเดอร์ซึ่งต้องสวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลา จึงได้รับการปฏิเสธไปในที่สุด เป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งนัก หากอย่างน้อยมิฟูเนมารับบทอาจารย์ของลุค สกายวอล์คเกอร์ แทนที่จะเป็นเซอร์อาเล็กซ์ กินเนส เบนน่าจะมีความพลิ้วไหวและสมจริงในการเป็นเจไดเพราะมิฟูเนซึ่งคว่ำวอดอยู่กับภาพยนตร์ซามูไรมาตลอดชีวิตย่อมใช้ดาบหรือกระบี่เลเซอร์ได้เก่งกว่ากินเนส กระนั้นมาลองจินตนาการเล่นๆ ว่าในระดับจิตใต้สำนึกเบนอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของคุโรซาวา ส่วนลุคนั้นเปรียบได้กับลูคัส

      มีการวิเคราะห์ว่าภาพยนตร์ของคุโรซาวาที่มีอิทธิพลต่อเนื้อเรื่องของ Star Wars มากที่สุดก็คือ The Hidden Fortress ซึ่งมีตัวละครและเนื้อเรื่องที่คล้ายคลึงกันในหลายมุม ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากคือช่วงสงครามในยุคกลางของญี่ปุ่น ชาวนากระจอก 2 คนคือ มาตาชิชิและตาไฮพากันหลบหนีออกจากคุก ต่อมาพวกเขาได้พบกับนายพลโรคุโรตะ มากะเบ (โตชิโร มิฟูเน) ผู้ซึ่งทำหน้าที่อารักขาเจ้าหญิงยูกิอย่างลับ ๆ ในที่ซ่อนบริเวณหุบเขาที่สูงชันโดยบังเอิญ มากะเบได้ทั้งข่มขู่ทั้งล่อลวงชายทั้ง 2 คนซึ่งดูโง่เขลาและเปี่ยมด้วยความละโมบให้ช่วยเขาอารักขาเจ้าหญิงยูกิกับแท่งทองคำให้เดินทางผ่านสมรภูมิไปยังไปยังต่างเมืองซึ่งปลอดภัยจากศัตรู  ในบทสัมภาษณ์ที่มากับดีวีดีของ The Hidden Fortress ลูคัสให้สัมภาษณ์ไว้ว่า Star wars ได้รับอิทธิพลในบางด้านจากภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ C-3po และ R2D2 ที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากมาตาชิชิและตาไฮ แม้ว่าหุ่นยนต์ทั้ง 2 จะเหมือนกับคนทั้งคู่คือคนหนึ่งสูงและอีกคนหนึ่งเตี้ย แถมยังทะเลาะกันจนดูน่าขบขันและน่ารำคาญระคนกัน แต่คุณสมบัติของการเป็นคนเห็นแก่ได้และนักฉวยโอกาสของตัวละครของคุโรซาวาน่าจะถูกส่งผ่านไปยังนักขนของเถื่อนอย่างเช่นฮัน โซโล และชิวเบกาเสียมากกว่า โดยคนทั้งคู่นั้นเคยนึกถึงแต่ผลประโยชน์ของตนก่อนจะหันมาภักดีกับฝ่ายขบถซึ่งก็มีลักษณะเหมือนกับมาตาชิชิและตาไฮในตอนท้ายของเรื่อง นอกจากนี้เจ้าหญิงเรอาหรือเจ้าหญิงอามิดาราก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับเจ้าหญิงยูกิ ตัวเอกอีกคนของ The Hidden Fortress ในด้านความห้าวหาญ (แม้ว่าลูคัสจะบอกว่าตัวเอกหญิงใน Star Wars มีบทต่อสู้มากกว่าก็ตาม)  จึงทำให้ตัวเอกผู้หญิงใน Star wars  มีความแตกต่างจากเจ้าหญิงในภาพยนตร์ฝรั่งยุคกลางซึ่งมักเป็นหญิงสาวผู้อ่อนแอน่าทะนุถนอม ยิ่งไปกว่านั้นใน Star Wars ภาค 7  บุคลิกนักสู้อย่างเจ้าหญิงยูกิได้ปรากฏอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับนางเอกของเรื่องคือเรย์ซึ่งเก่งในด้านการต่อสู้แบบโบราณมากกว่าเรอาและอามิดาราซึ่งใช้ปืนเป็นอาวุธ  และน่าสนใจอีกว่าทั้งเรย์และฟินน์ก็เป็นคนตัวเล็กๆ เหมือนกับ C-3po และ R2D2 จึงเป็นไปได้ว่าอาแบรมส์จะได้รับอิทธิพลจากลูคัสหรือคุโรซาวาโดยตรงก็ได้ เพราะผู้กำกับภาค 7 ยอมรับถึงผู้มีอิทธิพลต่อการสร้างของภาพยนตร์ของเขาว่าหนึ่งในนั้นคือคุโรซาวา แม้เขาจะบอกว่าเป็นเพียงรูปแบบการสร้างภาพยนตร์อย่าง High and Low (1963) แต่น่าสนใจไม่น้อยว่าเขาจะพูดตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ 

 

 

                                   

 

                                               ภาพจาก  screenaddkict.worldpress.com  

 

      นอกจากนี้ใน Star wars ยังมีอิทธิพลด้านอื่นของการสร้างสรรค์ของคุโรซาวาแทรกเข้ามาอยู่ประปรายนอกจากการยอมรับของลูคัสเองและก็มีความแตกต่างสลับกันไปอย่างเช่นโยดา ปรมาจารย์เจไดร่างเล็กซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าลูคัสได้แรงบันดาลใจมาจากกัมบาย ชิมาดะ ซึ่งรับบทโดยตาคาชิ ชิมูระ หัวหน้ากลุ่มโรนิน (ซามูไรที่ไร้เจ้านาย) ในภาพยนตร์เรื่องเจ็ดเซียนซามูไร หรือ Seven Samurai (1954)  โดยเฉพาะฉากที่โยดาเอามือถูศีรษะของตนก็ถือได้ว่าเป็นการเลียนแบบท่าทางของชิมาดะซึ่งทำเช่นนี้กับหัวของตนที่ล้านเลี่ยนเพราะถูกโกนเพื่อปลอมตัวเป็นพระในการเข้าช่วยเหลือเด็กซึ่งถูกโจรจับเป็นตัวประกอบในตอนต้นเรื่อง นอกจากนี้อัศวินเจไดมีนั้นลักษณะค่อนไปทางซามูไรมากกว่าอัศวินในยุคกลางของฝรั่งดังจะเห็นได้จากลักษณะการฟันดาบของเจไดซึ่งดูพลิ้วไหวแต่มีพลัง ประกอบกับหลักประพฤติปฏิบัติซึ่งเคร่งครัดด้านกายและการฝึกจิตให้ว่างจนสามารถละกิเลสได้ในระดับหนึ่งเช่นเดียวกับคำสอนในศาสนาพุทธนิกายเซน แต่ Star Wars ได้เลยระดับขั้นไปถึงการเกิดพลังจิตสำหรับช่วยในการต่อสู้ ด้วยคุโรซาวาดูเหมือนจะไม่เคยให้ตัวละครมุ่งเน้นไปทางการฝึกจิตหรือมีพลังจิตเพราะเขาเน้นความสมจริงในด้านสังคมและการเมืองมากกว่าเพื่อถ่ายทอดปรัชญาหรือแนวคิดอันลึกซึ้งบางอย่างที่แตกต่างจาก Star Wars 

 

   แนวคิดที่ทั้งลูคัสและคุโรซาวาเหมือนกันอีกประการก็คือเจไดเป็นชนชั้นหนึ่งของสาธารณรัฐที่มองว่าตนไม่ยุ่งกับการเมืองแต่ความจริงแล้วตัวเองเป็นฟันเฟืองชิ้นใหญ่ของการเมืองเหมือนดังภาพยนตร์ของคุโรซาวาคือ Sanjuro (1962) ซึ่งเป็นภาคต่อของ Yojimbo (1961) ที่บรรดาซามูไรกลายเป็นกลุ่มนักรบที่เข้ามาแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองแทนที่จะทำตามคำสั่งของผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว  กระนั้นลูคัสก็ได้ขยายความของเจไดให้ไปไกลกว่าคุโรซาวาเช่น วงการเจไดมีการตั้งเป็นสภาและการฝึกซ้อมอย่างเป็นกิจจะลักษณะรวมไปถึงการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ที่ซับซ้อน (ปนกับความรักผสมความเกลียดฉันท์บิดาและบุตร)  ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์ซามูไรของคุโรซาวาบางเรื่องเช่น Seven Samurai  และ Red Beard (1965)

 

 

                                          

                                          โปสเตอร์ The Hidden Fortess จาก www. tysto.com

 

   สุดท้ายนี้ หากมองตามบริบททางการเมืองโลกในทศวรรษที่ 70 ไจไดเปรียบได้ดังนักรบในสมรภูมิสงครามเย็นที่นำโลกเสรีเพื่อเอาชนะสหภาพโซเวียต พี่ใหญ่แห่งโลกคอมมิวนิสต์ซึ่งดำมืดและเต็มไปด้วยความชั่วร้ายเช่นเดียวกับจักรวรรดิเพื่อเป็นการเอาใจตลาดของผู้ชมที่เป็นคนอเมริกัน แม้แต่ปัจจุบันแนวคิดนี้ในภาค 7 ก็ยังทันสมัยอยู่ไม่น้อยเพราะมีผู้คาดการณ์ถึงการเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ที่สื่อตะวันตกหัวอนุรักษ์นิยมมักแบ่งโลกออกเป็น 2 ส่วนคือด้านสว่างคือสหรัฐฯและตะวันตก และด้านมืดคือรัสเซียกับประเทศเผด็จการที่เป็นเจ้าปัญหาทั้งหลายไม่ว่าอิหร่าน เกาหลีเหนือและซีเรีย แนวคิดเช่นนี้ Star Wars ถือว่าเป็นการแยกตัวออกจากคุโรซาวาซึ่งไม่เคยมีการแบ่งโลกออกเป็นด้านมืดและด้านสว่างอย่างชัดเจนเลยเพราะโลกของคุโรซาวานั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสนอันได้รับการสะท้อนมาจากภาพยนตร์เรื่อง Ran (1985)  อย่างไรก็ตามหากพิจดูตัวละครใน Star Wars ซึ่งมักเต็มไปด้วยโศกนาฎกรรมและความดำมืดในจิตใจแล้ว โดยเฉพาะภาคล่าสุดที่ลูกฆ่าพ่อแล้ว อาจบอกได้ว่า Star Wars ของลูคัส (โดยเฉพาะ ภาค 1-3 ) หรือฉบับของอับแบรมส์ก็มักมีภาพเงาของคุโรซาวาเข้ามาทาบผ่านอยู่เสมอ

            

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เข้าใจว่าผลงานของ William Shakespeare ที่คนไทยรู้จักกันดีรองจากเรื่อง Romeo and Julius ก็คือวานิชเวนิส หรือ Merchant of Venice ด้วยเหตุที่ล้นเกล้ารัชกาลที่หกทรงแปลออกมาเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กนักเรียนได้อ่านกัน และประโยค ๆ หนึ่งกลายเป็นประโยคยอดฮิตที่ยกย่องดนตรีว่า &nbsp
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงหนังเพลงหรือ musical ที่มีสีสันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในทศวรรษที่ห้าสิบและหกสิบ เราก็คงจะนึกถึงเรื่อง West Side Story เป็นเรื่องแรก ๆ อาจจะก่อน Singin' in The Rain หรือ Sound of Music เสียด้วยซ้ำ ด้วยหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นคือเพลงทั้งบรรเลงและเพลงร้องที่แสนไพเราะ ฝีมือการกำกับวงของวาทยากรอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
มักเป็นที่เข้าใจว่าอเมริกาเป็นประเทศแห่งความเท่าเทียมกัน อาจด้วยอเมริกานั้นไม่เคยเปลี่ยนผ่านยุคศักดินาเหมือนกับประเทศในเอเชียและยุโรป อเมริกาถึงแม้จะมีชนชั้นกลางมากแต่บรรดาในชนชั้นกลางก็มีการแบ่งแบ่งแยกที่ดีที่สุดคือเงิน รองลงมาก็ได้แก่ฐานะทางสังคม สีผิว เพศ ฯลฯ เอาเข้าจริงๆ ไม่มีสังคมไหนในโลกท
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    1.นอยด์ เป็นคำแสลงที่ถือกำเนิดได้มานานหลายปีแล้ว มาจากคำว่า noid กร่อน (โดยคนไทยเอง) จากศัพท์อังกฤษ  paranoid ซึ่งแปลว่า ความวิตกกังวลว่าคนอื่นไม่ชอบหรือพยายามจะทำร้ายตัวเองแม้ว
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                                                                    &
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ผีเป็นบุคคลที่เราไม่พึงปรารถนาจะพบ แต่เราชอบนินทาพวกเขาแถมยังพยายามเจอบ่อยเหลือเกินในจอภาพยนตร์ ทั้งที่ก็ไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า ด้วยส่วนใหญ่ได้ยินกันปากต่อปาก ประสบการณ์ส่วนตัวก็ไม่ชัดเจน อาจเกิดจากความผิดปกติทางประสาทสัมผัส หรือการหลอกตัวเองก็ได้ ยิ่งหนังผีทำได้วิจิตร พิศดารออกมามากเท่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                 แปลและตัดต่อบางส่วนจากบทความ Gustav Mahler : The Austrian composer เขียนโดยเดรีก วี คุก จาก  www.britannica.com
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ทศวรรษที่ 80 ของฝรั่งคือปี 1980-1989  หรือว่าช่วง พ.ศ. 2523  ถึง พ.ศ.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถึงแม้เบโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) จะได้ชื่อว่าเป็น คีตกวีที่แสนเก่งกาจคนหนึ่งในยุคคลาสสิกและโรแมนติก แต่ศิลปะแขนงหนึ่งที่เขาไม่สู้จะถนัดนักคือการเขียนอุปรากร เหมือนกับ โมซาร์ท คาร์ล มาเรีย ฟอน เวเบอร์ หรือ โจอากีโน รอสซีนี  ดังนั้นช่วงชีวิต 50 กว่าปีของเบโธเฟนจึงสามารถสร้างอุปรากรออกมาไ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ตามความจริง คำว่า Godfather เป็นคำที่ดีมาก หมายถึงพ่อทูนหัว ของศาสนาคริสต์ที่หมายถึงใครสักคนหนึ่งยอมรับเป็นพ่อทูนหัวของเด็กซึ่งเป็นลูกของคนอื่นในพิธีศีลจุ่มหรือ Baptism เขาก็จะเป็นผู้ประกันว่าเด็กคนนั้นจะได้รับการศึกษาทางศาสนาและถ้าพ่อแม่ของเด็กคนนั้นตายก็ต้องรับอุปการะ นอกจากนี้ยังหมายถึงฝ่ายห
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 visionary ,under the shadow Prayut tries to be the most visionary politician,but he is merely under the shadow of Thacky.&