Skip to main content

นายยืนยง

 

15_07_1



ชื่อหนังสือ
: ม่านดอกไม้

ผู้เขียน : . จันทพิมพะ

ประเภท : รวมเรื่องสั้น

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ..2541


ไม่นานมานี้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวังเก่าที่เมืองโคราช เจ้าของบ้านเป็นครูสาวเกษียณราชการแล้ว คนวัยนี้แล้วยังจะเรียก “สาว” ได้อีกหรือ.. ได้แน่นอนเพราะเธอยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทั้งน้ำเสียงกังวานและแววตาที่มีความฝันเปี่ยมอยู่ในนั้น


วังเก่าหลังนั้นอยู่ใกล้หลักเมือง วางตัวสงบเย็นอยู่ใจกลางแถวของอาคารร้านค้า ลมลอดช่องตึกทำให้อากาศโล่ง เย็นชื่น พวกไม้ดอกประดับแย้มใบเขียวสดรับละอองฝน ทำให้เรือนไม้ยกใต้ถุนสูงที่ปลูกเรียงอยู่ในรั้วบ้านรู้สึกเหมือนเป็นบ้านในป่าได้เลยทีเดียว บรรดาต้นไม้ไทยหายาก ชื่อเรียกยากอย่างพิลังกังสา ลำดวน ประดู่เหลือง พวงคราม ต้นสาทรไม้ประจำเมืองโคราช สารพัดสารพันพืชแท้จริงเลย ไหนจะต้นชะมวงนั่นอีก ยามเช้าที่นี่จึงเป็นความหอมชื่นชวนเบิกบานใจ


เจ้าของบ้านวัยหกสิบสองพาชมบ้านในส่วนที่เป็นวังเก่า มีเรือนใหญ่ถูกรื้อมาสร้างเป็นเรือนเล็กหลายหลัง บ้านทรงขนมปังขิงทาสีเขียวอ่อนน่ารักหลังนั้นเธอให้คนเช่า เป็นหญิงสาววิศวกรอยู่ลำพัง อืม..เด็กสาวสมัยนี้ช่างมีความเป็นส่วนตัวมากมายเหลือเกิน เธอจะเป็นคนอย่างไรนะ คิด ๆ แล้วก็อยากกลับไปเป็นคนวัยนั้นอีกครั้ง


จมอยู่กับความฝันซึมซึ้งอยู่พักเดียว อดีตครูก็พาไปชมเรือนเก็บของเก่า ซึ่งน่าชื่นชมตามประสาคนรักของเก่าอยู่นั่นเอง แต่ที่ดึงดูดใจจนต้องนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านคือหนังสือเก่า ทั้งพวกแม็กกาซีน ทั้งพ็อกเก็ตบุ๊ค แน่นเต็มไปทุกตู้ นี่คือสวรรค์ของคนรักหนังสือโดยแท้ หรือใครจะปฏิเสธ


มาโคราชพบเจอผู้หญิงมีเสน่ห์ ก็อยากจะเล่าถึงนักเขียนหญิงคนหนึ่งที่ตัวอักษรของเธอยังมีเสน่ห์ไม่แพ้ใคร เธอเคยเป็นครูสอนโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดคือโรงเรียนสุรนารีวิทยาอยู่ประมาณ 6 ปีก็ลาออกด้วยปัญหาสุขภาพ เมื่อเอ่ยชื่อ แน่ใจว่าหลายท่านคงไม่คุ้นเคย ชื่อของเธอคือ .จันทพิมพะ


ผลงานของ .จันทพิมพะ มีทั้งเรื่องสั้นและนิยาย บางท่านอาจเคยได้ยินเรื่องยาวที่ชื่อว่า

เราลิขิต-บนหลุมศพวาสิฏฐี แต่กับเล่มรวมเรื่องสั้น ม่านดอกไม้ นี้ เป็นการรวบรวมผลงานเก่า ๆ ที่กระจัดกระจายตามนิตยสารต่าง ๆ ของ .จันทพิมพะ ที่เรียกได้ว่าเป็นการ “ต่ออายุหนังสือดี ๆ” และเหตุผลที่เลือกเล่มนี้ก็เพราะได้เหลือบไปเห็น ม่านดอกไม้ ในตู้หนังสือของครูเจ้าของวังเก่า แวบแรกคิดว่าเรามีหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน ช่างบังเอิญดีแท้ แต่ที่ไหนได้ เราทั้งคู่ต่างจัดวางหนังสือเล่มนี้แบบโชว์ปกไว้ด้านหน้าราวกับเป็นกรอบรูป ใจตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นบังเอิญยกกำลังสองล่ะทีนี้ นี่คือเหตุผล


คราวนี้มาดูประวัติย่อของเธอกันบ้าง

.จันทพิมพะ ชื่อจริงของเธอ คือ น..รวงทอง จันทพิมพะ หรือชื่อเดิมว่า เริ่ม เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ..2452 และถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ..2497 ขณะมีอายุได้ 45 ปี เป็นบุตรีของอำมาตย์โท พระประจำคดี (บัวรส จันทพิมพะ) กับนางประจำคดี (ตุ้ม)


เธอเริ่มการประพันธ์มาแต่ตอนที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยได้เขียนเรื่องยาวชื่อว่า

อวสานสวนกุหลาบ ปรากฎว่าเป็นที่โปรดปรานของนักอ่านที่เป็นเพื่อนครูและบรรดาศิษย์มาแต่ครั้งนั้น

เมื่อลาออกจากครูและกลับไปอยู่บ้าน จึงได้ขอสมัครทำงานหนังสือพิมพ์โดยเริ่มที่วิกบางขุนพรหม และไปสมัครต่อ ศรีบูรพา โดยอยู่ในความดูแลของ แม่อนงค์ หรือ คุณมาลัย ชูพินิจ ฯลฯ


วิทยากร เชียงกูล เขียนบทความไว้ในเล่มไว้ว่า .จันทพิมพะ (2452-2597) เป็นนักเขียนหญิงที่มีผลงานเด่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกือบจะถูกลืมไป อาจจะเป็นเพราะเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2497 โดยไม่มีทายาทหรือเพื่อนฝูงที่สนใจจะนำงานของเธอมาตีพิมพ์ซ้ำ ...


ถ้าจะกล่าวโดยรวม ๆ แล้ว ผมเห็นว่า .จันทพิมพะเขียนเรื่องสั้นแบบสมัยใหม่ โดยใช้ท่วงทำนองการเขียนแบบตะวันตกมากกว่าการเล่านิทานที่เล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ แบบไทย เรื่องของเธอมักจะกระชับ มีฉากมีตัวละคร บรรยากาศ บทสนทนาที่ชัดเจน ขณะเดียวกับก็สะท้อนสภาพสังคมชีวิตและสังคมท้องถิ่น ความคิด บทสนทนาของผู้คนในยุคนั้น (..2492-2495) ได้อย่างดีคือ เป็นนักเขียนที่มีความคิดอ่าน ช่างสังเกต ไม่ใช่แค่นักเล่านิทาน .ธรรมยศ ก็เป็นผู้หนึ่งที่เขียนเรื่องสั้นทำนองคล้าย ๆ กันนี้ ...

ตัวละครผู้หญิงของ .จันทพิมพะ ออกจะมีลักษณะเสรีนิยมหรืออยากลองของใหม่ อยากเผชิญโลกใหม่ ชีวิตแบบใหม่ มากกว่าตัวละครของดอกไม้สด ซึ่งเป็นคนรุ่นใกล้ ๆ กัน แต่เอาจริงก็เป็นผู้หญิงที่อยากคิดอย่างเสรี มากกว่าที่จะอยากใช้ชีวิตเสรีจริง ๆ หลายเรื่องจึงกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายชายเข้าใจฝ่ายหญิงผิด (ม่านดอกไม้, ทางสุดท้าย) โดยเธอมักจะอยู่ข้างฝ่ายหญิงหรือให้ความยุติธรรมกับผู้หญิงอยู่เสมอ ซึ่งต่างจากนักเขียนผู้หญิงหัวเก่าบางคนที่ถูกครอบงำจากกระแสคิดหลักที่ยกย่องผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ...


วิทยากร เชียงกูล เขียนถึง .จันทพิมพะไว้เช่นนั้น ขณะที่เมื่อใครก็ตามได้อ่านเรื่องสั้นของเธอต้องชื่นชมในเรื่องภาษา


ภาษาที่ใช้ในเรื่องสั้นย่อมต้องสั้น กระชับ แต่ได้ความมาก ภาษาของ .จันทพิมพะ ก็เป็นเช่นนั้น นอกจากความกระชับรัดกุมของภาษาแล้ว เค้าโครงเรื่องยังแน่นอีกด้วย ขอแทรกนิดหนึ่งตรงเรื่องของการใช้ภาษาที่กระชับแต่กินความมาก นักเขียนที่สามารถย่อมเป็นนายของภาษา มีความพิถีพิถันลึกซึ้งในการเลือกสรรคำแทนความรู้สึก นึก คิด ยกตัวอย่างชัดเจนเช่น คำว่า มะงุมมะงาหรา ที่ อิศรา อมันตกุล คิดขึ้นมาและใช้แพร่หลายจนทุกวันนี้ เป็นสำนวนที่แสดงกิริยาอาการงก ๆ เงิ่น ๆ เปิ่น งุ่มง่าม ดูเกะกะลูกตา รวบรวมอาการทั้งหลายเป็นคำว่า มะงุมมะงาหรา มี 5 พยางค์แต่สามารถแสดงออกถึงภาพพจน์ชัดเจน

เป็นที่น่าสังเกตว่านักเขียนสมัยนี้ ไม่นิยมคิดหาคำหรือสำนวนใหม่ ๆ กันเท่าไร หรือจะคิดค้นแล้วแต่ไม่ “ผ่าน” บรรณาธิการก็ไม่ทราบ


ขณะที่การเลือกใช้คำและสำนวนของ .จันทพิมพะ มีลักษณะพิเศษที่ชวนอ่านและมีเสน่ห์ อย่าพิรี้พิไรอยู่เลย ยกมาให้อ่านกันตรงนี้ดีกว่า


จากเรื่อง เพื่อเธอเท่านั้น หน้า 101 เป็นเรื่องของสัญชาติญาณระหว่างสองเพศ ซึ่งฝ่ายหญิงเป็นผู้ขับรถโดยมีชายหนุ่มแปลกหน้าขอโดยสารติดรถไปลงระหว่างทาง


เขาพูดด้วยเสียงประเล้าประโลมเรื่อยไป เป็นเสียงเอื่อย ๆ ที่มีอำนาจอย่างหนึ่งในตัว มันเป็นถ้อยคำสั้น ๆ และไม่แสดงรสนิยมอย่างใด แต่มันแสดงให้หล่อนรู้ว่าร่างกำยำอยู่ใกล้ ไม่เคยมีชายใดเข้าใกล้ชิดเช่นนี้ ทั้งที่หล่อนเคยอยู่ในวงแขนคู่เต้นรำหลายครั้ง เขาสูบความเข้มแข็งของหล่อนไป ประหนึ่งแสงอาทิตย์สูบน้ำในคูให้ระเหยเป็นไออีกได้

เป็นการเขียนแสดงอารมณ์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังถูกคุกคามด้วยความรู้สึกที่เข้มแข็งกว่าของผู้ชายแปลกหน้า แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยอุปมาโวหารที่ให้ความรู้สึกละเอียดอ่อน (ที่ขีดเส้นใต้)


หรือจากเรื่อง จิตจำลอง หน้า 139 ฉากการสนทนาระหว่างนายจิตแพทย์กับคนไข้ที่เป็นอาจารย์จิตวิทยา

ชีวิตจิตใจคนเราก็เหมือนต้นไม้ เมื่อแรกก็งอกจากดินโดยบริสุทธิ์ ต่อมาจึงมีเถาวัลย์และกาฝากขึ้นเลื้อยพันจนยากที่จะมองเห็นดอกไม้อันงดงามได้ บางทีถึงยืนต้นตายไปเพราะไม่มีโอกาสสูดกลิ่นไอโลกภายนอก ถ้าเราฟันกาฝากออกเสียแล้ว ต้นไม้นั้น ๆ ก็ย่อมเขียวสดงดงามเหมือนต้นอื่น ๆ นั่นเอง

เป็นกระชับคำที่บวกเอาอุปมาโวหารคมคายและแสดงทัศนคติต่อชีวิตได้ชัดเจนดี


จากเรื่อง ฉากเช้าตรู่ หน้า 236 237

เสียงแตรปลุกเป็นสัญญาณให้พวกเราต้องตื่นแต่เช้าตรู่ตามเคย เสียงอื่นไม่เคยทำให้ทหารแก่ระเบียบวินัย และการฝึกกระดิกกระเดี้ยได้เลย --- ตั้งแต่เช้าเช่นนั้น

เป็นฉากเปิดเรื่องที่กระชับด้วยถ้อยคำ และมีนัยยะแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของตัวละครทหารที่ผูกพันกับหมาตัวหนึ่ง


เมื่อเรากระโจนจากแคร่ สีหมอกก็กระโจนจากแคร่ เราสวมเครื่องแบบออกไป แท้ว! แท้ว!” และ

ฮั้น! ฮั้น !” ด้วยกระเพาะว่างเปล่าไปพลาง! สีหมอกก็วิ่งประชันกลับไปกลับมาเหมือนพวกเรา และไอ้หมาแสนรู้ยังอุตส่าห์หอบกระเพาะว่างเปล่าไปด้วย!

การซ้ำคำ ซ้ำประโยค ดังกล่าวนั้น นอกจากให้ความรู้สึกเหมือนเดิมทุกกระเบียดนิ้วแล้ว ยังทำให้เห็นภาพที่หมาพยายามทำตามที่คนทำด้วยทุกประการ แม้กระทั่งความหิวโดยกระเพาะอาหารว่างเปล่า


หรือจากเรื่อง ปาริชาติชีวิต หน้า 261

กระผมสะดุ้ง การปฏิสันถารของเราแหวกทางออกไปไกลเกินความคาดคิด ที่ตื่นไปด้วยความใคร่ของกระผมมาก

ดูการเลือกใช้คำของเธอสิ แหวกทางออกไปไกลเกินความคาดคิด


นั่นเป็นเรื่องของสำนวนภาษาอันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นักเขียนจะแสดงออกถึงความคิด หากแม้นจะตัดเอาเนื้อหาที่ค่อนข้างจะพ้นสมัยไปบ้าง ในแง่ของความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชาย – หญิง เราก็จะได้อิ่มเอมกับอรรถรสของเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาแทบทุกองค์ประกอบ ทั้งฉาก บรรยากาศ และตัวละครที่สมจริงเหลือเกิน ไม่ใช่เป็นการยกยอเกินจริงเลย หากจะหามาอ่านดูเพื่อให้รู้ซึ้งด้วยตัวเอง ขอรับรองว่าจะไม่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์สักนิดเดียว


.จันทพิมพะ เป็นผู้หญิงแบบไหนกันนะ ลองจินตนาการดูจากผลงานของเธอ รู้สึกว่าเธอเป็นผู้หญิงมีเสน่ห์ ลึกลับ ชวนให้ค้นหา และวางตัวได้เหมาะสมกับทุกโอกาส อันนี้เป็นการคาดเดาเท่านั้น

ถึงตรงนี้ ทำให้หวนนึกถึงนิยายเรื่องหนึ่งที่เป็นเขียนได้ลึกซึ้งมากทีเดียว เรื่องดำเนินไปคล้ายกับการสืบค้นหาความจริงในอดีต ความกระหายใคร่รู้ทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างน่าติดตามอย่างยิ่ง โดยอาศัยการตีความหานัยยะที่ซ่อนเร้นอยู่ในบทกวี จดหมาย ของคู่รักกวีในยุคก่อน นิยายเรื่องนั้นคือ

เรื่องรักข้ามศตวรรษ เล่มหนาทีเดียวแต่รับรองว่าอ่านสนุก


เอ่ยถึง .ธรรมยศ ไปนิดหนึ่ง เกิดความรู้สึกคล้ายกับจะนึกถึงเจมส์ จอยซ์ แทรกขึ้นมาพร้อมด้วย

แปลกอยู่เหมือนกัน เออ..มนุษย์นี่ช่างมีความเกี่ยวโยงกันไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง เหมือนกระแสคิดของเราเป็นประจุไฟฟ้าที่โลดแล่นอยู่ในบรรยากาศ พอขั้วต่างสัมผัสกันเข้า ก็ส่งสัญญาณเกิดกระแสไฟวูบวาบขึ้นมาได้ ช่างเป็นความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ที่น่าทึ่งทีเดียว ทำไม .ธรรมยศ นักเขียนไทยจึงคล้ายจะมีอะไรบางอย่างที่สื่อถึง นักเขียนโพสต์โมเดินอย่างเจมส์ จอยซ์ไปด้วยนะ อธิบายยากจัง... ดูอย่างครูเจ้าของวังเก่านี่เป็นไร เธอลงความเห็นลอย ๆ กับผลงานของ ร.จันทพิมพะว่า “สำนวนโบราณไปหน่อย” (แน่สิก็เรื่องเขาเขียนนานมาแล้ว) และดูเธอไม่ยี่หระความเห็นของคนอื่นเอาเสียเลย ทั้งที่อยากวิวาทะกับเธอสักสี่ห้าประโยคด้วยซ้ำ แต่เธอกลับฮัมเพลง Those were the days ที่ Marry Hopkin ร้องไว้ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย


Those were the days my friend,

We thought they’d never end,

We’d sing and dance forever and a day,

We’d live the life we choose,

We’d fight and never lose,

For we were young and sure to have our way,


นั่นล่ะ ชีวิตชีวาของผู้หญิง.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม