นายยืนยง
ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 45 (กรกฎาคม – กันยายน 2551)
ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน
บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี
จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา
หนึ่งแน่นอนว่าแรงประชาสัมพันธ์นั้นมีส่วนกระตุ้นในด้านปริมาณ สอง คือ ความผิดหวัง ทั้งผิดหวังของนักเขียนที่ไม่มีผลงานผ่านลงพิมพ์ อาจเพราะท้อแท้ ถอดใจเร็วไปหน่อย และที่ร้ายกว่า คือ ผิดหวังในคุณภาพของเรื่องที่ผ่านลงพิมพ์ในช่อการะเกด เพราะเท่าที่ได้อ่านอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังไม่เกิดความรู้สึก “สมหวัง” แต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเรื่องสั้นชั้นดีบรรจุอยู่ในช่อการะเกดเลย เนื่องจากเรื่องบางเรื่องยังมีความแวววาว น่าจับต้องอยู่พอสมควร ทั้งนี้ มันก็เป็นเพียงความคาดหวังอันรุนแรงแต่กลับว่างเปล่า ในขอบเขตวรรณกรรมไทย โดยเฉพาะเรื่องสั้นนั้น สถานการณ์ค่อนข้างย่ำแย่กว่ากวีนิพนธ์ด้วยซ้ำไป เมื่อการกลับมาของช่อการะเกดจุดประกายขึ้นท่ามกลางทะเลอักษรอันมืดมิด เป็นใครก็ย่อมมีหวัง ไม่น่าเชื่อเลยว่า ช่อการะเกดแต่ละเล่มที่บรรทุกเรื่องสั้นจำนวน 12 เรื่องมาบรรณาการต่อสังคมการอ่าน จะมีสัดส่วนของเรื่องที่ดีเยี่ยมน้อยนิดกว่าเรื่องสั้นคุณภาพปานกลางอยู่มากทีเดียว เอาเถอะ..อย่างน้อยที่สุด เราจะไม่ได้อ่านเรื่องสั้นที่แทบจะหาค่าไม่ได้จากช่อการะเกดก็แล้วกัน
ดูอย่างช่อการะเกด 45 เล่มนี้เถิด นักเขียนที่ผ่านการพิจารณาล้วนเป็นตุ๊กตาหน้าเดิม จะมีแทรกหน้าใหม่มาบ้าง ฝีไม้ลายมือก็ยังไม่เข้าฝัก การใช้ภาษายังหละหลวม เร่อร่าจนเกินไป พักหลังมานี่ช่อการะเกดค่อนข้างนิยมเรื่องประเภทที่นักเขียนมุ่งเน้นวิธีการนำเสนอที่แปลกจากขนบเดิม มีความฉูดฉาดที่ดูเหมือนจะฉลาดกว่านักเขียนรุ่นก่อน ๆ เป็นหลัก ข้อนี้บรรณาธิการมีส่วน ขณะเดียวกันนักเขียนเองยังดูจะมีการเร่งสนองนโยบายรสนิยมส่วนตัวของบรรณาธิการจนออกหน้าออกตา โดยเฉพาะเรื่องสั้นของอุเทน พรมแดง ที่ชื่อว่า ดอกไม้ในอนธการ นักเขียนผู้ผ่านการลงพิมพ์จนแทบจะบอบช้ำไปหมดแล้ว คนที่ติดตามช่อการะเกดคงพอนึกได้ว่า บทบรรณาธิการหรือที่บรรจุคำว่า กถาบรรณาธิการ ไว้นั้น เคยเรียกร้องเรื่องสั้นที่หมิ่นเหม่ศีลธรรมอยู่ครั้งหนึ่ง ไม่แน่ว่าอาจมาจากบทสัมภาษณ์ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในนิตยสาร ฅ คน ก็เป็นได้ จากนั้นไม่นานเกินรอ เรื่องที่บรรณาธิการเรียกร้องก็ปรากฏกายขึ้น บรรดาความผิดหวังเหล่านี้ย่อมเป็นผลจากรสนิยมของบรรณาธิการหนึ่งล่ะ สองคือ นักเขียน อันนี้สำคัญ จะว่านักเขียน เขียนไม่เก่งไม่ดีก็อาจวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในเมื่อนักเขียนเองก็ยังเรียกร้องให้คนอ่าน อ่านและซื้อหนังสือของตนได้เลย
ช่อการะเกดยุคที่ 3 นี้ มีออกมาแล้ว 4 เล่ม (เล่มที่ 42 -45) นับเป็นเวลาร่วม 1 ปี ขณะที่บรรณาธิการเองยังเรียกร้องผู้อ่านจากภาพปรากฏของยอดขายหนังสือ ดูจากกถาบรรณาธิการเล่มนี้ (หน้า 7)
การเกิดขึ้นและคงอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า Literary Magazine ในตลาดหนังสือบ้านเรานั้นเป็นเรื่องไม่มั่นคง ไม่แน่นอน และเป็นภาวะที่ต้องเตรียมนับหนึ่งตลอดเวลา การกลับมาของช่อการะเกด ในยุคนี้ก็เช่นกัน แม้ผมจะอยากเห็นการคงอยู่ของมันให้นานที่สุด แต่ก็ต้องไม่ประมาทและเตรียมทำใจไว้ล่วงหน้า เนื่องจากต้นทุนการผลิตในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น แต่จำนวนจำหน่ายของ ช่อการะเกด ในภาพรวมของคำว่า วรรณกรรม กลับยังอยู่ที่เดิม คือประมาณ 1,000-1,200 เล่ม ถามว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวหมายความว่าอะไร ตอบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวหมายถึงการอ่านงานวรรณกรรมอย่างจริงจังในบ้านเรานั้นไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นตามศักยภาพของการศึกษาระดับ อุดมศึกษา แม้ช่อการะเกด ในยุคที่ 3 จะมีแต้มต่อของคนชื่อ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งรายการ คนค้นฅน คอยหนุนช่วย แต่ คนดูโทรทัศน์ กับ คนอ่านหนังสือ ในบ้านเราดูเหมือนจะเป็นคนละพวกกัน พูดกันแบบเปรียบเทียบคุณภาพ คนอ่านวรรณกรรม ในยุค สุภาพบุรุษรายปักษ์ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ.2472 ซึ่งเวลานั้นประชากรชาวสยามมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน และมีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอยู่เพียงแห่งเดียว แต่เมื่อเทียบกันแล้ว คนอ่านวรรณกรรม ในสมัยของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ กลับมีความกระตือรือร้นมากกว่า คนอ่านวรรณกรรม ในระดับ อุดมศึกษา สมัยนี้
ท่านเชื่อหรือไม่ ในปัจจุบันเรามีจำนวนมหาวิทยาลัยระดับ อุดมศึกษา มากยิ่งกว่าจำนวนวารสารหรือนิตยสารทางวรรณกรรม
ท่านเชื่อหรือไม่ หนังสอ สุภาพบุรุษรายปักษ์ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อปี พ.ศ. 2472 มียอดพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์จำนวน 2,300 เล่ม ซึ่งมากกว่าจำนวนยอดพิมพ์ของ ช่อการะเกด รายสามเดือนในปัจจุบัน
นี่เป็นข้อเรียกร้องที่สุภาพและสมเหตุสมผลของบรรณาธิการ ผู้ที่เคร่งครัดในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง กล้าพูด กล้าเรียกร้อง แทนนักเขียนที่นิยมเก็บงำความรู้สึกเรื่องยอดขาย เพราะหนังสือวรรณกรรมขายไม่ออกจริง ๆ เราต้องยอมรับกันด้วย อย่าพึงหลอกตัวเองไปอีกเลย แล้วหันมาดูแล บรรเทาอาการเหล่านี้ถ้าหากอยากเห็นคนไทยอ่านวรรณกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น ช่วยกันทั้งนักอ่านและนักเขียน ถ้านักอ่านเห็นว่านักเขียนมีข้อบกพร่องก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันบ้าง นักเขียนจะได้มองเห็นผลงานตัวเองชัดเจนขึ้น ได้เห็นข้อพลาด ข้อเขลาของตัวบ้าง อย่ามัวหลงแต่รางวัลอะไรเลย หรือจะเห็นว่าไม่ใช่พรรคพวกของตัวก็อย่าไปใส่ใจ เสียเวลาวิพากษ์วิจารณ์ อย่ามัวระแวงกันเกินเหตุ เดี๋ยวนี้สื่อวรรณกรรมแทบจะไร้ค่า หมดราคาไปเลย เพราะเล่นพรรคพวกจนน่าเกลียด หลอกลวงคนอ่านไปเป็นรายสัปดาห์ หรืออย่างในบล็อกอะไรต่าง ๆ เห็นมีแต่นั่งจ้อชมกันอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เอาไหนเลย
กลับมาที่เรื่องสั้นในช่อการะเกด 45 เล่มนี้ดีกว่า หากจะใช้อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัวสาธยายมากเกินไปจะถูกตำหนิว่าเป็นพวกไร้หลักการ ไม่มีหลักวิชาการ อะไรไปเสียอีก สังคมนี้นิยมเหลือเกิน นักวิชาการ หลงใหลได้ปลื้มกับแนวคิดใหม่ ๆ ที่ท่านผู้ทรงภูมิผ่องถ่ายมาจากซอกมุมใด ๆ ของโลก แล้วนำมาเล่าใหม่เป็นภาษาไทยชั้นสูง อาการตื่นตัวทางวิชาการจนเลินเล่ออย่างนี้ เคยปรากฏเป็นปัญหาใหญ่มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกสื่อจับเข้าหม้อนึ่งแล้วนึ่งอีก จนสุกไปหลายตลบแล้วก็ยังไม่ได้การณ์อยู่นั่นเอง
เวลาสำหรับนิตยสารรายไตรมาสอย่างช่อการะเกด ยุค 3 ซึ่งออกพ้นมาแล้ว 4 เล่มด้วยกัน นับว่าได้ปรากฏตัวตนชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันเรื่องสั้นที่ผ่านลงพิมพ์ในช่อการะเกดกลับไม่ได้เพิ่มรสพิเศษชวนอ่านแต่อย่างใด จากจำนวนต้นฉบับเรื่องสั้น 87 เรื่อง มีผ่านการพิจารณาตามรายชื่อต่อไปนี้
1.ขมซ่อนหวาน โดย จิตสุภา
2.แมวกวัก โดย ดุสิต จักรศิวาทิตย์
3.หญิงขายนก โดย ทวีสิทธิ์ ประคองศิลป์
4.ความจริงที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ผมไม่รู้จัก โดย ธนาวัฒน์ อุ่นเรืองศรี
5.ธันวาเลือด โดย บุษกร เสนากุล
6.คอมมิวนิสต์ขี่ดาวเทียม โดย ปานศักดิ์ นาแสวง
7.ติดสินบน โดย ปิติ ระวังวงศ์
8.แสงฉาย โดย รวิวาร
9.2600 ภาพแห่งความทรงจำ โดย ละเวง ปัญจสุนทร
10.ดีมาร-ทรัพย์พราย โดย ศักดิ์สิทธิ์ คำหลวง
11.สูตรลับในสายเลือด โดย สมภพ นิลกำแหง
12.ดอกไม้ในอนธการ โดย อุเทน พรมแดง
12 เรื่องที่อ่านอย่างรัดกุมแล้ว พอจะแบ่งความเข้มข้นและฝีมือได้ ประมาณนี้
เรื่องสั้นชั้นดี มีอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่ ขมซ่อนหวาน ความจริงที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ผมไม่รู้จัก คอมมิวนิสต์ขี่ดาวเทียม แสงฉาย อาจจะรวมเอาเรื่อง ติดสินบน เข้าไว้ด้วย เพราะผู้เขียนคือ ปิติ ระวังวงศ์ เขียนตอนจบเรื่องได้สวย ก็เลยยอมให้ความเยิ่นเย้อของเรื่องตั้งแต่ต้นจนถึงกลางเรื่องไม่ถูกหักข้อเสียมากไป ส่วนเรื่องอื่นนั้น เป็นเพียงเรื่องสั้นที่ไม่ได้มีพิษสงอะไรนัก ราวกับเวลาแห่งการฝึกฝนหรือรสนิยมของบรรณาธิการไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้มีเรื่องสั้นที่ดีเยี่ยมยอดเกิดขึ้นมาเลย
คราวนี้มาดูเรื่องที่เขียนยาก ต้องอาศัยฝีมือพอสมควร นั่นคือเรื่อง ขมซ่อนหวาน โดย จิตสุภา เป็นเรื่องราวเรียบง่าย แสนธรรมดาของคนธรรมดา ที่ถ่ายทอดเป็นภาษาเรื่องสั้นได้อย่างแนบเนียน ภาพชีวิตที่จำเจด้วยอารมณ์สามัญของห้าคนพี่น้อง ที่คอยดูแลพี่สาวคนโตซึ่งป่วยด้วยอาการผิดปกติทางสมอง จิตสุภาใช้ภาษาเรียบง่ายแต่มีชีวิตชีวา ระบายเป็นความงดงามที่ไม่อวดโอ่ ไม่พยายามเน้นย้ำ เทศนาใด ๆ ปมขัดแย้งระหว่างพี่น้องที่มี 2 ฝ่าย คือนิยมแพทย์แผนโบราณกับแพทย์โรงพยาบาลสมัยใหม่ก็ไม่ใช่ปมขัดแย้งที่สดใหม่อะไรเลย เป็นปมที่ซ้ำซากจนชอกช้ำหมดแล้วด้วยซ้ำ แต่จิตสุภาเชื่อมโยงเรื่องราวขึ้นได้ผ่านบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความรักฉันท์พี่น้อง ความเข้าอกเข้าใจ และบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติแต่ได้เนื้อหา มุ่งเข้าสู่แก่นของเรื่องโดยตลอด และไม่มีประโยคใดที่ไม่จำเป็นต่อเรื่องปรากฏเข้ามา
ส่วนเรื่องความจริงที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ผมไม่รู้จัก โดย ธนาวัฒน์ อุ่นเรืองศรี นั้น ผู้เขียนใช้สัญลักษณ์ครอบองค์ประกอบของเรื่องไว้ ประกอบเข้ากับเรื่องราวที่อยู่ในกระแสเช่นรายการเรียลลิตี้โชว์ และรายการแสดงมายากล ซึ่งดูแล้วอาจเป็นเรื่องที่เกร่อเกินไปหน่อย แต่ธนาวัฒน์ได้นำเอาวิธีการของการแทรกนัยยะเชิงสัญลักษณ์เข้ามาด้วย นั่นคือการหายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอยของ จอร์จ ฟิบเบอร์ เกคโก นักมายากลมือปรมาจารย์ ที่ทิ้งการแสดงชุดสุดท้ายไว้กับขนนกสีขาว ตลอดทั้งเรื่องจะพบอารมณ์เสียดเย้ย ถากถางค่านิยมของสังคม ทั้งชวนขันและชวนสมเพท เรื่องสั้นนี้จะไม่น่าอ่านเลยถ้าธนาวัฒน์ไม่สามารถเชื่อมโยงองค์ประกอบ โครงเรื่องย่อยเข้ามาสู่สัญลักษณ์ขนนกสีขาวของจอร์จ นักมายากล เนื่องจากมีการบรรยายที่เยอะแยะจนล้นหลาม เช่นเดียวกับเรื่อง คอมมิวนิสต์ขี่ดาวเทียม โดย ปานศักดิ์ นาแสวง ที่ได้สำนวนการเขียนที่รวบรัดทันใจ อาการเสียดเย้ยจุดอ่อนหรือความตลบตะแลงของคนในสังคม โดยเฉพาะคนเดือนตุลา ผู้มีอำนาจในสังคม โดยใช้ดาวเทียมที่หมายถึงรองเท้าแตะยี่ห้อดัง เป็นสัญลักษณ์ที่ล้อเลียนได้เจ็บแสบดีเหมือนกัน แต่ขณะเดียวกันภาพสะท้อนมุมกลับที่เป็นความขัดแย้งนั้น ออกจะตื้นเขินสักหน่อย เพราะไม่ได้ให้ความรู้สึกแตกต่างจากการอ่านบทความ บทสัมภาษณ์ของคนในเหตุการณ์จริงที่ถูกนำมาสวมบทในเรื่องสั้น ฉะนั้นความโดดเด่นของเรื่องคือไม่มีแง่มุมใหม่ นอกจากเป็นการถ่มน้ำลายรดใบหน้าตัวเอง
สุดท้ายคือ แสงฉาย โดย รวิวาร ที่ใช้ภาษาได้มีพลัง และเนื้อเรื่องก็มีพลังอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว เป็นเรื่องของกวีสาวที่อุทิศชีวิตโดยการเผาตัวเอง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาล ภาษาที่ว่ามีพลังนั้นฉายให้เห็นอารมณ์ ความรู้สึก นึก คิดของตัวละครอย่างแสงฉาย กวีสาวผู้นั้นได้ลึกซึ้ง ขอติตรงว่า ฉากอีโรติก ระหว่างแสงฉายกับอู คนรัก ครั้งสุดท้ายในชีวิตก่อนฝ่ายหญิงจะเข้าสู่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องปรากฏในเรื่องก็ไม่ได้ทำให้เรื่องอ่อนพลังแต่อย่างใด
อันที่จริงเรื่องดอกไม้ในอนธการ โดย อุเทน พรมแดง ก็ควรนำมากล่าวถึงไว้ตรงนี้ ด้วยลักษณะเด่นของ
อุเทนที่ปรากฏชัดในเรื่องสั้นของเขาคือ การเลือกใช้ความขัดแย้งรุนแรง สุดขั้ว มาเป็นฉากหลังของเนื้อเรื่อง เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องของพระแก่จวนชราภาพที่ไม่เคยพบเห็นดอกไม้ของผู้หญิง ที่
อุเทนพรางผู้อ่านไว้อย่างลับ ๆ ล่อมาตลอดเรื่อง คนที่ไม่ดัดจริตจะไร้เดียงสาย่อมรู้ชัดแต่แรกว่า ดอกไม้นั่นหมายถึงอวัยะเพศของหญิง การเลือกใช้ขั้วขัดแย้งที่สุดโต่งเช่นนี้เอง ที่ทำให้เสน่ห์แบบมนุษย์ธรรมดาสูญสิ้นไปจากเรื่องของอุเทน อีกอย่างหนึ่งคือความพยายามที่จะทำให้เรื่องอืดอาดยืดยาดด้วยลีลาอวดโอ่ในฝีมือ แต่อุเทนก็ยังไร้เดียงสาอยู่นั่นเอง เพราะวิธีการจบเรื่องของเขาแสดงถึงความฉลาดน้อยเกินไป ผิดกับเรื่อง ติดสินบน โดย ปิติ ระวังวงศ์ ที่จบได้ใจคนอ่านมากกว่า แต่อย่างที่กล่าวไว้แล้ว คือ ปิติ นั้นหวงแหนข้อมูลในเชิงหลักการจนเกินไป อีกทั้งยังเกือบคุมทำนองของเรื่องไม่ได้ด้วยซ้ำ ขอให้ฝึกฝนและกล้าตัดทอน หาจุดขมวดปมและสรุปเป็นย่อหน้าให้ได้บ้าง เรื่องของปิติจะมีชั้นเชิงขึ้น เพราะฉลาดที่จะนำจัดวางองค์ประกอบของเรื่องอยู่
โดยสรุปแล้ว เรื่องสั้นในช่อการะเกด 45 เล่มนี้ ยังไม่มีเรื่องที่โดดเด่นและดีเยี่ยมให้ได้อ่านกันสมใจหรอก นอกจากจะได้บรรยากาศแบบชวนฝันนิด ๆ ว่า เล่มต่อไปอาจจะมีน่า อ้อ..ใช้ บรรณาธิการเขาบอกแล้วว่า ช่อการะเกด 46 จะเป็นการรวบรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนมือกระบี่ ที่จะหาอ่านที่ไหนไม่ได้แล้ว เอาล่ะ
คงได้ฝันกันอีกสักยกหนึ่งสำหรับคอเรื่องสั้น
ที่ได้เขียนยืดยาวมาทั้งหมดนี้ อาจดูเหมือนจะตั้งหน้าตั้งตาตำหนิติเตียนจนเกินงาม แต่เมื่อมีความรู้สึกรุนแรงแล้วต้องใช้ภาษาเขียนเพื่อทำให้มันเจือจางลง มันอาจเป็นแค่ศิลปะการแปลงสารอย่างหนึ่งเท่านั้น นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แก่ใครแล้ว ยังก่อโทษให้ตัวผู้เขียนเองด้วย แม้รู้ว่าการวิจารณ์ในแง่ลบเท่ากับได้สร้างศัตรูที่ไม่รู้จักหน้า แต่ฉันก็หวังว่าผู้ที่ถูกกล่าว ถูกเหน็บแนบทั้งหลายจะเห็นว่าเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยไร้ผลประโยชน์อย่างแท้จริง และยังหวังไปไกลอีกว่า ถ้านักเขียนเรื่องสั้น วรรณกรรมจะมีแก่ใจพัก พิจารณาผลงานของตัวอย่างถ่องแท้แล้ว มรรคผลอันวิเศษนั้นจะตกแก่ตัวท่านเองและสังคมโดยรวมถ้วนทั่วกัน.