Skip to main content

ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม (1)

จุดเริ่มต้นของ Buku Football Club

 

โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู  (ฺBuku Classroom)

 

คำถามแรกที่มักถูกถามเวลาบอกใครต่อใครว่าเราทำทีมฟุตบอล Buku FC ในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ ผู้หญิงมุสลิมเล่นฟุตบอลได้หรือ? และกีฬาฟุตบอลน่าจะเป็นกีฬาของผู้ชาย เหตุใดจึงเลือกกีฬาชนิดนี้?

 

หกเดือนนับตั้งแต่วันเปิดตัวทีมในวันที่ 13 สิงหาคม 2559 จนถึงวันนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะเขียนถึงการทำทีมฟุตบอลอย่างเป็นทางการ ว่าทำไมพวกเราจึงเลือกฟุตบอล และกีฬาชนิดนี้เกี่ยวข้องกับสันติภาพและความเท่าเทียมอย่างไร

 

บทความนี้จะแบ่งออกเป็นสามตอน ตอนที่หนึ่งว่าด้วยความเป็นมาของทีม ตอนที่สองจะพาไปทำความรู้จักกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมในประเด็นต่าง ๆ ด้วยฟุตบอลที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก และตอนสุดท้ายจะบอกเล่าประสบการณ์และวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากกิจกรรม Buku FC ตลอดหกเดือนที่ผ่านมา และตอบคำถามว่าฟุตบอลจะช่วยสร้างสันติภาพและความเท่าเทียมในพื้นที่ความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างไร

 

Buku FC เป็นหนึ่งในโครงการขององค์กรเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ในชื่อ Buku's Gender, Sexuality and Human Rights Classroom (ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู) เรียกสั้นๆว่า Buku Classroom ซึ่งทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ โดยเปิดพื้นที่เรียนรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศ เพศวิถี และเพศภาวะ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในพื้นที่นี้หัวข้อหลักที่มักจะถูกพูดถึงก่อนเรื่องอื่นคือสันติภาพ การเมืองและความขัดแย้ง ขณะที่เรื่องเพศมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญและไม่ใช่ปัญหาหลักในการทำงานของนักกิจกรรมชายแดนใต้

Buku Classroom จึงใช้พื้นที่ในร้านหนังสือบูคู เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศภายใต้กรอบคิดสิทธิมนุษยชน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การฉายภาพยนตร์ การเสวนา การร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ กิจกรรมศิลปะบำบัด ห้องเรียนภาษาอังกฤษสำหรับนักกิจกรรมรุ่นใหม่ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความหลากหลาย ทั้งเพศ วัย สถานะ อาชีพ ศาสนา ถิ่นกำเนิด นอกจากนี้ Buku Classroom ยังทำงานหนุนเสริมประเด็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเมือง สิทธิมนุษยชน การอ่าน และความเป็นพหุวัฒนธรรมในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน มลายู ก็ตาม

 

ย้อนกลับไปปลายปี 2558 Buku Classroom ได้จัดกิจกรรมเล็ก ๆขึ้น เนื่องในเดือนแห่งการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สสส. โดยทั่วประเทศจะมีการจัดกิจกรรมในช่วงเวลาเดียวกัน ภายใต้แนวคิด “เคลื่อน เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง”  โดย Buku Classroom ได้เป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับทางแผนงาน ในครั้งนั้นเรามีความคิดว่าอยากให้มีการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบใหม่ ๆ บ้าง จึงเลือกกีฬาฟุตบอลมาใช้ในการรณรงค์ครั้งนี้ เป้าหมายคือเพื่อให้ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้มาออกกำลังกายและเห็นความสำคัญของดูแลสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้น พร้อมกับสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างพลังภายในให้กับผู้หญิงที่ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงมาอย่างยาวนาน เราเลือกกีฬาฟุตบอลด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า เพราะสมาชิกของ Buku Classroom ชอบเล่นฟุตบอล ขณะที่ไม่ใช่เรื่องง่ายหากผู้หญิงอยากเล่นฟุตบอล เนื่องจากพื้นที่ของผู้หญิงสำหรับกีฬาชนิดนี้แทบไม่มีอยู่เลย

 

ผลปรากฏว่ากิจกรรมครั้งนั้นมีผู้หญิง เด็กผู้หญิง และเพศอื่นๆ หลากวัย หลายศาสนา จำนวนไม่ต่ำกว่า 50 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเล่นฟุตบอลด้วยกันทุกเย็นวันจันทร์ ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ปัตตานี โดยไม่มีอุปกรณ์อะไรนอกจากลูกฟุตบอล กรวยฝึกซ้อม และรองเท้าที่เอาไว้กั้นเป็นประตู ผู้หญิงหลายคนได้มีโอกาสเตะลูกฟุตบอลเป็นครั้งแรกในชีวิต ในขณะที่บางคนเคยเป็นอดีตนักฟุตบอลหญิงประจำจังหวัดปัตตานีมาก่อน กิจกรรมดำเนินไปทั้งหมดสามเดือน ก่อนที่โครงการจะจบลง และต่างคนต่างแยกย้ายไปทำกิจกรรมอื่นๆของตัวเอง หลังจบโครงการเราได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ที่มาร่วมกิจกรรม

 

กลางปี 2559 Buku Classroom จึงเริ่มต้นทำโครงการฟุตบอลอีกครั้ง ทั้งนี้จากเสียงเรียกร้องของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มาถามไถ่ว่าไม่เล่นฟุตบอลแล้วหรือ หลายคนบอกว่าชอบเล่นฟุตบอลมากอยากให้จัดกิจกรรมแบบนี้อีก ความคิดที่จะทำทีมฟุตบอล Buku FC จึงเกิดขึ้น และมีการวางแผนอย่างเป็นระบบมากขึ้น มีการออกแบบโลโก้ของทีม มีเสื้อทีม นอกจากนี้ ทีมงานยังได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนและเรียนรู้จากทีมฟุตบอลหญิง The Mighty Girl ขององค์กร Salt Academy[1] ในประเทศกัมพูชา และเปลี่ยนจากการใช้สนามหญ้าในสวนสาธารณะไปใช้สนามหญ้าเทียมแทน ด้วยเหตุผลเรื่องสภาพอากาศและความสะดวกของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งในครั้งแรกผู้จัดไม่ได้คิดว่าจะฝึกซ้อมกันเป็นประจำในสนามหญ้าเทียม แต่ผู้เข้าร่วมและสมาชิกทีมได้ลงความเห็นว่าการฝึกซ้อมในสนามหญ้าเทียมให้ความรู้สึกที่ดีกว่าในสวนสาธารณะ รู้สึกมีพลังเหมือนได้แข่งฟุตบอลในสนามจริง ๆ เป็นกิจจะลักษณะมากกว่า และไม่ถูกผู้คนจับจ้องด้วยความประหลาดใจที่เห็นผู้หญิงมุสลิมใส่ฮิญาบมาเตะฟุตบอลด้วยกัน อย่างที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อใช้สนามในสวนสาธารณะ

 

Buku FC ฝึกซ้อมกันเป็นประจำทุกค่ำวันเสาร์และอาทิตย์ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 เป็นต้นมา มีการฝึกซ้อม 32 ครั้ง ในแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมระหว่าง 7-20 คน และมีจำนวนผู้เข้าร่วมที่แวะเวียนมาร่วมกิจกรรมราวหนึ่งร้อยคน (ข้อมูลในเดือนมกราคม 2560) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและสมาชิกในทีมไม่ได้มีเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่มีทุกเพศ และที่อายุน้อยที่สุดคือเด็กผู้ชายวัย 7ขวบและมากที่สุดคือผู้หญิงมุสลิมวัย 60 ปี

 

ดังนั้น Buku FC จึงไม่ใช่ทีมฟุตบอลที่เปิดพื้นที่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นทีมฟุตบอลสำหรับทุกคน และสโลแกนของทีมคือ Football for Peace and Equality หรือ “ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม”

 

ในช่วงแรกหลายคนเข้าใจว่าถ้าผู้หญิงมาเล่นฟุตบอล ผู้ชายก็คงไม่อยากมาเล่นด้วย และผู้หญิงอาจจะไม่สะดวกใจที่จะเล่นฟุตบอลกับผู้ชาย แต่หลังจากการสื่อสารถึงแนวทางของทีมที่เป็นไปเพื่อสร้างความเท่าเทียมและเปิดพื้นที่ให้ผู้คนที่หลากหลาย เรากลับพบว่ามีผู้ชายหลายคนสนใจเข้าร่วมกิจกรรม มาเรียนรู้การเล่นกีฬาด้วยกัน และบางคนสมัครเป็นสมาชิกทีม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย นักกิจกรรม หรือเด็กผู้ชายวัยประถม นอกจากเพศและวัยแล้ว Buku FC ยังมีส่วนผสมที่หลากหลายของศาสนาและสถานะทางสังคม โดยเราจะออกแบบวิธีการฝึกซ้อมที่มีการปรับให้เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมที่หลากหลาย ในบางสัปดาห์ผู้ร่วมกิจกรรมเป็นผู้หญิงทั้งหมด ขณะที่บางสัปดาห์มีผู้ชายมาฝึกซ้อมด้วยเกินครึ่งทีม เป้าหมายหลักคือการออกแบบวิธีการฝึกซ้อมที่เรียบง่ายและเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเล่นฟุตบอลด้วยกันในสนามได้อย่างเท่าเทียมกัน

แน่นอนว่าในช่วงต้นเราประสบปัญหาและข้อท้าทายหลายประการ ทั้งจากผู้ที่ไม่คุ้นชินกับการมีผู้หญิงเข้ามาใช้พื้นที่ในสนามฟุตบอลเอกชน หรือการที่ผู้ชายบางคนในสนามข้างเคียง ไม่ให้ความเคารพกับผู้หญิงที่เล่นฟุตบอล ด้วยการพูดจาล้อเลียนหรือตะโกนแซวมาจากอีกฟากสนามในระหว่างที่ฝึกซ้อม อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปภาพของผู้หญิงเล่นฟุตบอลเริ่มเป็นที่คุ้นเคยของผู้ใช้บริการของสนามฟุตบอลมากขึ้น รวมถึงรูปแบบและทักษะในการฝึกซ้อมก็เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งจะเขียนถึงเรื่องนี้ในบทความตอนที่สามต่อไปค่ะ

 

การเปิดตัวทีมในเดือนสิงหาคม 2559 และกิจกรรมของทีมเป็นที่สนใจในระดับหนึ่ง เนื่องจากได้ถูกนำเสนอทางสื่อต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ประชาไททั้งภาคภาษาไทย[2]และภาษาอังกฤษ[3] หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์[4] รายการวิทยุเสียงของผู้หญิงชายแดนใต้ รวมถึงสื่อต่างประเทศอื่น ๆ ได้นำไปเผยแพร่ต่อ[5] และต่อมาเนื้อหาข่าวยังถูกแปลเป็นภาษาอินโดนีเซีย[6] สำหรับข่าวในภาคภาษาอังกฤษนั้นเป็นที่สนใจขององค์กรในประเทศอังกฤษที่มีชื่อว่า  Fare Network[7] ซึ่งทำงานเกี่ยวกับฟุตบอลเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน  Buku FC ได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมแคมเปญ Football People Action Weeks 2016[8] ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุก ๆ ปี ในภูมิภาคยุโรปและบางส่วนในภูมิภาคเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมและขจัดความเกลียดชังอันเนื่องมาจากเพศ เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ความพิการ และเพื่อสนับสนุนสิทธิของผู้ลี้ภัย  โดย Buku FC และ Play On Side[9] องค์กรจากประเทศฝรั่งเศสซึ่งทำทีมฟุตบอลเพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทย กะเหรี่ยง และพม่าที่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทยในจังหวัดตากได้มีพื้นที่ในการเล่นฟุตบอลด้วยกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ข้ามชาติพันธุ์ระหว่างเด็กเหล่านี้  Buku FC และ Play on Side เป็นสองทีมที่ทำงานในพื้นที่ประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมการรณรงค์ในครั้งนี้[10] ร่วมกับอีก 55 ประเทศ จาก ภูมิภาคยุโรป,อเมริกา,เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

จากการเข้าร่วมการรณรงค์ดังกล่าว กลางเดือนตุลาคม 2559 Buku FC จึงจัด Buku Football Week ซึ่งมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียมสำหรับกลุ่มทีมงานและอาสาสมัคร มีการเรียนรู้การใช้กีฬาฟุตบอลเพื่อสร้างสันติภาพรวมถึงการรณรงค์ในประเด็นต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก มีการออกแบบกิจกรรมสำหรับผู้เล่นที่ความหลากหลายทั้งในแง่เพศ วัย อัตลักษณ์ ศาสนา และสภาพร่างกาย ทีมงานที่ผ่านการอบรมได้เป็นผู้จัดกิจกรรม “Football Therapy” ซึ่งเชิญชวนให้นักกิจกรรม นักเรียน นักศึกษาผู้หญิง ในสามจังหวัดชายแดนใต้มาเล่นฟุตบอลเพื่อเยียวยาจิตใจและเสริมสร้างพลังด้วยกัน การทำงานร่วมกับ Fare Network นับเป็นกิจกรรมรณรงค์สาธารณะครั้งแรกของ Buku FC ที่ว่าด้วยการเล่นฟุตบอลเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและเสริมพลังให้กับกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยกิจกรรมรณรงค์ครั้งนั้น ถูกนำเสนอในรูปของภาพเคลื่อนไหวในเฟสบุคของสำนักข่าว BBC Thai[11] และส่งผลให้ให้ Buku FC ถูกกล่าวถึงในวงกว้างมากขึ้น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ทีมงานของ Buku FC ได้เรียนรู้ว่า ทั่วโลกนั้นใช้ฟุตบอลเพื่อสร้างสันติภาพและความเท่าเทียมกันได้อย่างไร และมีองค์กรอีกมากมายที่นำกีฬาฟุตบอลมาสนับสนุนการสร้างสันติภาพและขจัดความเกลียดชังระหว่างมนุษย์

 

แต่การถกเถียงอย่างจริงจังเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้หญิงกับกีฬาฟุตบอล รวมถึงกิจกรรมของ Buku Classroom เกิดขึ้นหลังจากการออกอากาศของรายการสารคดีก(ล)เมือง ตอน ห้องเรียนเพศวิถี[12] ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานและแนวคิดของ Buku Classroom และส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และเกิดข้อถกเถียงในวงกว้างทั้งในและนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้  ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

 

และเป็นที่มาของบทความขนาดยาวสามตอนนี้ ที่จะพยายามนำเสนอว่าเหตุใด “ฟุตบอล” จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างสันติภาพและความเท่าเทียมจากหลากหลายพื้นที่ในโลกนี้ มีประเทศใดในโลกนี้บ้างที่ใช้ฟุตบอลเพื่อยุติความรุนแรง ต่อต้านความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดเพศ ความเกลียดกลัวที่มีต่อมุสลิม ต่อคนรักเพศเดียวกัน ต่อคนข้ามเพศ และการใช้ฟุตบอลเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่สู้รบอย่างซีเรีย เมืองอเล็ปโป หรือ ในตะเข็บชายแดนไทยพม่า หรือพื้นที่ทางจารีตวัฒนธรรมที่เข้มข้นในอินเดีย พวกเขาใช้ฟุตบอลเป็นสื่อกลางสร้างสันติภาพและความเท่าเทียมกันได้อย่างไร บทความชุดนี้เขียนขึ้นเพื่อสื่อสารถึงความเป็นมาและความตั้งใจที่จะใช้กิจกรรมฟุตบอลในการทำงานเพื่อความเท่าเทียมและสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเราเห็นว่ามัน “ใช้ได้” เพราะอะไร

 

ในตอนที่ 2 ผู้เขียนจะนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟุตบอลกับการทำงานสันติภาพและความเท่าเทียมมาให้ได้อ่านกัน โปรดติดตาม

 

 

 



[1] https://www.facebook.com/SALTCambodia/

[2] http://prachatai.com/journal/2016/08/67687

[3] http://www.prachatai.com/english/node/6531

[4] http://www.bangkokpost.com/print/1026249/

[5] http://completeworldnews.com/2016/09/hijab-wearing-football-club-in-thailands-deep-south-is-a-space-for-diversity/

[6] https://goo.gl/xDcPfE

[7] http://www.farenet.org/

[8] http://www.farenet.org/campaigns/football-people-action-weeks/

[9] http://www.playonside.org/

[10] https://www.farenet.org/countries/thailand/?page_parent_id=29735

[11] https://goo.gl/vtQB1A

[12] https://www.youtube.com/watch?v=8u_0ZSzYKbw&feature=youtu.be

 

บล็อกของ (Buku Classroom)

(Buku Classroom)
ไม่ได้มาเขียนบล็อกที่นี่เกี่ยวกับการเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียน่าจะเกินหนึ่งปี เนื่องจากผู้เขียนใกล้จะเรียนจบแล้วเลยอยากเล่าประสบการณ์การเรียนที่ผ่านมา เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจมาเรียนต่อด้านเพศสถานะศึกษาที่นี่ 
(Buku Classroom)
โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (Buku Classroom) นศ.ปริญญาโท สาขาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่ อินเดีย  
(Buku Classroom)
 บทรีวิวภาพยนตร์สั้นโครงการทักษะวัฒนธรรมโดย ดาราณี ทองศิริ ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู Buku Classroom*มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อหาในภาพยนตร์ 
(Buku Classroom)
ดาราณี ทองศิริห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคูข้อพิพาทกรณีการแจกถุงยางอนามัยในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี
(Buku Classroom)
ฟุตบอล เพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม(2)การทำงานเพื่อมนุษยธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมด้วยฟุตบอลโดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom) 
(Buku Classroom)
จดหมายถึง ไผ่ ดาวดิน  
(Buku Classroom)
ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม (1)จุดเริ่มต้นของ Buku Football Club โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู  (ฺBuku Classroom) 
(Buku Classroom)
"ห้องเรียนเพศวิถี" สอนอะไร?โดย อันธิฌา แสงชัย อาจาร