Skip to main content

 

เรียนเจนเดอร์ที่อินเดีย ตอนที่2 ทำไมอยากไปเรียนที่อินเดีย

โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (Buku Classroom)

นศ.ปริญญาโท สาขาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่ อินเดีย

 

ตอนที่แล้วเขียนค้างไว้ว่า ทำไมถึงเลือกมาเรียนด้านเจนเดอร์ที่อินเดีย และว่าจะเล่าถึงช่วงตอบสัมภาษณ์และข้อเขียนก่อนจะได้รับทุนมาเรียน

ตอนนี้ผู้เขียนมาถึงอินเดีย เมืองปูเน่ ได้เกือบครบหนึ่งเดือนแล้ว เอกสารต่างๆยังไม่เรียบร้อยดี เลยทิ้งช่วงการเขียนไป แต่ช่วงหนึ่งเดือนระหว่างรอทำเรื่องเอกสาร และที่พักต่างๆ ผู้เขียนก็ได้สังเกตเห็นสิ่งที่น่าสนใจในอินเดียหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ หรือเรื่องความไม่เป็นธรรมและปัญหาเชิงโครงสร้างของที่นี่ ซึ่งคงจะได้เขียนในโอกาสต่อๆไป

ตอนนี้จะกลับมาเล่าย้อนไปถึงช่วงสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ก่อน เพื่อจะได้เห็นภาพว่าความตั้งใจของผู้เขียนที่ทำให้ได้ทุนนี้คืออะไร

ในข้อสอบข้อเขียนที่เป็นการสอบวัดระดับของสถานทูตอินเดียซึ่งเป็นการสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษนั้น นอกจากในส่วนของแกรมม่า คำศัพท์ การจับใจความสำคัญของเนื้อหาที่อ่าน ส่วนที่สำคัญที่สุดและอาจเป็นจุดที่ชี้วัดว่าควรได้รับทุนหรือไม่ คือคำถามสุดท้ายที่ให้ผู้สอบเขียนเรียงความว่า

ทำไมถึงอยากไปเรียนที่อินเดีย? ส่วนนี้จะมีกระดาษว่างๆให้หนึ่งหน้าเอสี่ ซึ่งบางคนอาจขอกระดาษเพิ่มได้ถ้าเขียนไม่พอ แต่ผู้เขียนพยายามจะเขียนให้กระชับและพอดีในหนึ่งหน้าเอสี่ และทำได้อย่างที่คิดไว้พอดี แม้ว่าในบรรทัดท้ายๆจะต้องเขียนเบียดๆจนเกือบจะตกขอบก็ตาม

สิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนตอบไปในคำถามสุดท้าย มีอยู่สองส่วนใหญ่ๆคือ ทำไมถึงเลือกที่จะไปเรียนเจนเดอร์ที่อินเดีย และเรียนแล้วจะกลับมาทำอะไรที่ไทย ในส่วนที่หนึ่ง ผู้เขียนได้เขียนถึงประสบการณ์การไปเรียนคอร์สเกี่ยวกับเรื่องสิทธิทางเพศระยะสั้นที่ประเทศตุรกี และได้พบกับนักกิจกรรมและอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวอินเดียหลายท่านมาเป็นผู้บรรยายในหัวข้อต่างๆ หนึ่งในนั้นคือผู้กำกับหญิงชาวอินเดีย ชื่อ Shohini Ghosh ที่มีองค์กรทำงานเกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศในอินเดีย และผู้กำกับได้ทำหนังสารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงข้ามเพศและตรงเพศที่ให้บริการทางเพศในชุมชนแห่งหนึ่งของกรุงนิวเดลี สารคดีเรื่องนั้นมีชื่อ Tales of the Nights fairies เล่าเรื่องชีวิตของคนที่ทำงานบริการทางเพศที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิของผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกฎกับลูกค้าเรื่องการใช้ถุงยาง หรือการปกป้องตนเองจากการถูกละเมิดของตำรวจ

การได้ดูสารคดีชิ้นนี้ในคอร์สนั้น ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนใจวิธีการทำงานทางเพศของกลุ่มองค์กรในอินเดียมาก หลังจากนั้นผู้เขียนได้กดติดตามเพจต่างๆในเฟซบุคที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวและการทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศในอินเดียหลายๆเพจ โดยเพจที่สำคัญมากๆคือเพจ Feminisminindia ซึ่งมีทั้งเว็บไซต์และเฟซบุคเพจที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา มีข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับสภาพปัญหาและการทำงานทางเพศขององค์กรต่างๆในอินเดียมาให้ได้อ่านเสมอ ทำให้ผู้เขียนเห็นความหลากหลายและได้เห็นวิธีการทำงานของคนอินเดียมากขึ้น และรู้สึกทึ่งว่า นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางเพศในอินเดียเค้าทำงานกันอย่างไรในสภาพปัญหาและสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายขนาดนั้น เพราะอินเดียขึ้นชื่อในเรื่องของคดีการข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงปัญหาความแตกต่างทางชนชั้นและวัฒนธรรมต่างๆที่ทำให้คนไม่ได้รับความเท่าเทียม

ผู้เขียนอธิบายไปในคำตอบว่าต้องการไปศึกษาวิธีการทำงานของคนที่นั่น อยากได้ประสบการณ์จากสถานที่จริงและการทำงานจริงๆ และเชื่อว่าสองปีในอินเดียจะทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้และสามารถนำกลับมาใช้ในงานของตัวเองได้ ส่วนนี้คือส่วนที่สองที่ผู้เขียนขยายความเพิ่มว่า จะกลับมาต่อยอดงานที่ทำอยู่อย่างไร โครงการที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือองค์กรเล็กๆที่เน้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเรียนรู้เรื่องความเป็นธรรมทางเพศและใช้เครื่องมือต่างๆไม่ว่าจะดนตรี ศิลปะ กีฬา ภาพยนตร์ วรรณกรรม ในการทำงานเพื่อเสริมพลังให้กับผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สร้างสังคมที่เท่าเทียมทางเพศและทำลายวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ผู้เขียนตั้งใจจะกลับมาพัฒนาหลักสูตรเรียนรู้เรื่องความเป็นธรรมทางเพศระยะสั้น สามถึงเจ็ดวัน ในรูปแบบที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เข้าอบรมที่ผ่านมาจากหลายๆองค์กร โดยจะปรับให้เข้ากับบริบทในพื้นที่

และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ตอบคำถามไปว่าทำไมถึงอยากไปเรียนที่อินเดีย ซึ่งเป็นแค่ส่วนเดียวของเหตุผลในการมาเรียนที่นี่ แต่จริงๆยังมีรายละเอียดอีกมากที่จะเอาไว้เล่าต่อไปในตอนหน้า

ทีนี้เมื่อผ่านการสอบข้อเขียนไปแล้ว การสอบสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ที่สถานทูตก็ตามมาหลังจากประกาศว่าผ่านเข้าสัมภาษณ์

ผู้เขียนได้เข้าสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่สองคน เป็นผู้หญิงและผู้ชายสูงอายุชาวอินเดียสองท่าน ตอนแรกที่ได้ยินมาหลายคนบอกว่าจะมีเจ้าหน้าที่สามคนเป็นคนสัมภาษณ์และจะมีหนึ่งคนที่ทำหน้าเครียดใส่ตลอดเวลา แต่พอไปถึงจริงๆ สิ่งที่เจอคือบรรยากาศการพูดคุยที่สบายๆเป็นกันเอง เจ้าหน้าที่เริ่มต้นด้วยการถามถึงเรื่องทั่วๆไป เช่น พ่อแม่อยู่ไหน เลือกเรียนสาขาอะไร เคยไปเที่ยวอินเดียไหม แล้วมีปัญหากับการใช้ชีวิตในอินเดียไหม ก่อนจะเข้าสู่คำถามที่เกี่ยวกับการทำงานของผู้เขียน เช่น ทำทีมฟุตบอลด้วยหรือ ทำยังไง และโดนต่อต้านจากชุมชนที่เคร่งศาสนาไหม ซึ่งในช่วงเวลาที่ต้องเข้าไปสัมภาษณ์นั้นบังเอิญเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่องค์กรของผู้เขียน ซึ่งก็คือห้องเรียนเพศวิถี Buku Classroom กำลังถูกโจมตีต่อต้านจากฝ่ายสุดโต่งและอนุรักษนิยมในสังคมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้พอดี ทั้งในเรื่องของการทำทีมฟุตบอล สารคดีที่ถูกถอดออกทางไทยพีบีเอส และการทำงานสร้างพื้นที่พูดคุยเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ ผู้เขียนจึงได้เล่าอุปสรรคปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งสองคนฟัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสองคนมีท่าทีที่สนใจเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ผู้หญิง ที่ซักถามผู้เขียนโดยละเอียดเกี่ยวกับการทำงานและมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม เมื่อผู้เขียนพูดถึงความเข้มแข็งของเฟมินิสต์ในอินเดียที่ผู้เขียนรับรู้และศึกษามา

หลังการสัมภาษณ์ประมาณสิบนาทีจบลง เจ้าหน้าที่ทั้งสองคนอวยพรให้ผู้เขียนโชคดี ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยที่เลือกไว้ และผู้เขียนก็กล่าวขอบคุณ กลับออกมาจากการสัมภาษณ์ หลังจากนั้นผู้เขียนรอผลสัมภาษณ์และการตอบรับของมหาลัยเป็นเวลาสี่เดือน  จนกระทั่งมหาวิทยาลัยที่เลือกไว้เป็นอันดับหนึ่งในสาขา Master of Art in Gender, Culture and Development Studies มีจดหมายตอบรับผู้เขียนเข้าศึกษาในที่สุด โดยกำหนดรายงานตัวเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา และจะเริ่มเปิดเทอมวันแรกวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้

ชีวิตการศึกษาในอินเดียนั้นไม่ง่าย นอกจากเรื่องเรียนแล้ว สภาพแวดล้อมและความไม่เป็นธรรมต่างๆนั้นเป็นสิ่งที่ต้องรับมือ มันต่างกันค่อนข้างมาก หากผู้เขียนเลือกจะไปเรียนที่มหาลัยในทวีปอื่นซึ่งอาจเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า มีความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าอินเดียหลายเท่า และสภาพแวดล้อมอาจเอื้อต่อการเรียนหรือใช้ชีวิตมากกว่าอินเดีย แต่นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจเลือกและตั้งใจว่าจะผ่านไปให้ได้

ในตอนต่อไป น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะเขียนอย่างละเอียดว่า การเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียนั้นมีความน่าสนใจอย่างไร และที่นี่เค้าเรียนอะไรกัน มีองค์กรไหนที่เป็นพาร์ทเนอร์กับมหาวิทยาลัยปูเน่บ้าง นอกจากจะเขียนเรื่องเจนเดอร์แล้ว ผู้เขียนตั้งใจจะแทรกเรื่องวัฒนธรรม เรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างทางสังคมต่างๆเอาไว้ด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ต้องเรียนในคอร์สนี้ในส่วนของหัวข้อ Culture and Development ดังนั้นก็จะไม่ได้มีแค่เรื่องเจนเดอร์เพียงอย่างเดียว

หากใครสนใจก็สามารถติดตามกันต่อได้เรื่อยๆทางบล็อกนี้ค่ะ  หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านอยู่บ้าง

 

 

บล็อกของ (Buku Classroom)

(Buku Classroom)
ไม่ได้มาเขียนบล็อกที่นี่เกี่ยวกับการเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียน่าจะเกินหนึ่งปี เนื่องจากผู้เขียนใกล้จะเรียนจบแล้วเลยอยากเล่าประสบการณ์การเรียนที่ผ่านมา เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจมาเรียนต่อด้านเพศสถานะศึกษาที่นี่ 
(Buku Classroom)
โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (Buku Classroom) นศ.ปริญญาโท สาขาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่ อินเดีย  
(Buku Classroom)
 บทรีวิวภาพยนตร์สั้นโครงการทักษะวัฒนธรรมโดย ดาราณี ทองศิริ ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู Buku Classroom*มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อหาในภาพยนตร์ 
(Buku Classroom)
ดาราณี ทองศิริห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคูข้อพิพาทกรณีการแจกถุงยางอนามัยในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี
(Buku Classroom)
ฟุตบอล เพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม(2)การทำงานเพื่อมนุษยธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมด้วยฟุตบอลโดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom) 
(Buku Classroom)
จดหมายถึง ไผ่ ดาวดิน  
(Buku Classroom)
ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม (1)จุดเริ่มต้นของ Buku Football Club โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู  (ฺBuku Classroom) 
(Buku Classroom)
"ห้องเรียนเพศวิถี" สอนอะไร?โดย อันธิฌา แสงชัย อาจาร