Skip to main content

ฟุตบอล เพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม(2)

การทำงานเพื่อมนุษยธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมด้วยฟุตบอล

โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom)

 

จากตอนที่1 ซึ่งได้อธิบายรายละเอียดความเป็นมาเป็นไปของโครงการทีมฟุตบอล Buku FC บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับทีมฟุตบอลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบหรือผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกละเมิดสิทธิจากทั่วโลก ประเทศอื่นๆมีการทำงานกันอย่างไร ฟุตบอลนั้นใช้เป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่สันติภาพและความเท่าเทียมได้อย่างไร ก่อนอื่นขอเริ่มจากการเล่าย้อนความไปในช่วงที่ BuKu FCจัดแคมเปญรณรงค์ร่วมกับองค์กรที่ชื่อว่า Fare network[1] ในเดือนตุลาคม ปี 2016 ที่ผ่านมา

อย่างที่ได้เล่าไปเมื่อตอนที่แล้วว่า Buku FC ได้เข้าร่วมแคมแปญกับ Fare Network ทำไมเราจึงเข้าร่วมกับองค์กรนี้? ก่อนอื่นต้องขอสารภาพว่าในบรรดาผู้ก่อตั้ง ไม่เคยมีใครได้ยินชื่อองค์กรนี้มาก่อน แต่จู่ๆวันหนึ่งมีคนส่งอีเมล์มาแนะนำตัวเองและองค์กร โดยอธิบายว่า Fare Network นั้นทำอะไร และชักชวนให้ผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งเข้าร่วมการสังเกตการณ์ในเกมฟุตบอลนัดหนึ่งซึ่งจะจัดแข่งขึ้นที่ประเทศรัสเซีย  การแข่งขันนั้นคือการแข่งขัน FIFA Federation cup 2017 โดยจะมีการส่งตัวแทนจาก Fare network เข้าร่วมสังเกตการณ์แข่งขัน เพื่อรายงานเรื่องการเลือกปฏิบัติหรือการเหยียดเชื้อชาติ เพศ สีผิว ในระหว่างการแข่งขันดังกล่าว โดยจะมีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆเข้าอบรมการสังเกตการณ์และรายงานผล ก่อนจะไปนั่งอยู่ในการแข่งขันแต่ละนัด และปฏิบัติงานในฐานะอาสาสมัครของ Fare Network

ตอนแรกที่ได้อ่านอีเมล์เชิญนี้ ผู้ร่วมก่อตั้งทีมฟุตบอลกังวลว่าจะเป็นการหลอกลวง จึงได้เข้าไปหาข้อมูลในเว็บไซต์ของ Fare Network และพบว่ามีการทำงานร่วมกับ FIFA จริง ไม่ได้เป็นองค์กรที่หลอกลวงอย่างที่กังวล องค์กรมีที่อยู่ชัดเจน มีการทำงานมาต่อเนื่อง Fare network คือ องค์กรที่รวมรวมกลุ่มต่างๆไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอ็นจีโอ กลุ่มอิสระ กลุ่มที่ไม่เป็นทางการมาร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมในกีฬาฟุตบอล และใช้กีฬาฟุตบอลเป็นเครื่องมือหลักในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม เป้าหมายหลักคือเพื่อลดการเลือกปฏิบัติโดยผ่านการเล่นกีฬาฟุตบอล เพราะกีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมทั่วโลก และพวกเค้าเชื่อว่ามันจะมีผลในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้  Fare ต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดสีผิว ชาตินิยมสุดโต่ง การเหยียดเพศ การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ เครือข่ายที่ร่วมกิจกรรม เช่น กลุ่มอิสระ องค์กรเอ็นจีโอ ทีมฟุตบอลสมัครเล่นหรือทีมฟุตบอลท้องถิ่น ตอนนี้มีกลุ่มที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วจำนวน 150 องค์กรในทั้งหมด 35ประเทศจากทวีปยุโรป โดยแต่ละปีสมาชิกก็จะเข้าร่วมแคมเปญ กิจกรรมหรืองานต่างๆที่ Fare จัดขึ้น ตัวอย่างแคมเปญที่ใหญ่มากๆคือ สัปดาห์ฟุตบอลประชาชนหรือ Football People Action Week ซึ่งจะจัดขึ้นทุกเดือนตุลาคม มีกิจกรรมตลอดสัปดาห์มากกว่า1500 กิจกรรม ทั้งในยุโรปและนอกยุโรป ในช่วงเริ่มต้นจะจัดขึ้นในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้น Fare เริ่มให้ทุนกับกลุ่มที่อยู่นอกทวีปยุโรปมากขึ้น ปี2016  มีกลุ่มในไทยสองกลุ่มคือ Playonsite ที่แม่สอด จังหวัดตาก และ  Buku FC เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนด้วย  นอกนั้นก็มีกลุ่มจากอเมริกา บราซิล  แอฟริกาใต้

งานหลักๆของ Fare ก็คือการทำงานเพื่อให้คนกลุ่มน้อยหรือคนกลุ่มที่มักถูกเลือกปฏิบัติได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยเฉพาะการทำงานกับผู้ร่างนโยบาย ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง จุดประสงค์ เช่น เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติในการเล่นฟุตบอลทุกระดับ โดยใช้กีฬาฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ,สร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนการฝึกซ้อมที่ดี,เสริมพลังให้กับกลุ่มที่ไม่ได้รับความสำคัญหรือถูกเลือกปฏิบัติ,ส่งเสียงต่อการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในกีฬาฟุตบอล นอกจากนี้ Fare ยังสนับสนุนการต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมหรือการประชุมต่างๆในระดับนานาชาติ  ผลิตคู่มือในการฝึกปฏิบัติและสื่อการเรียนการสอน เป็นเจ้าภาพจัดสัปดาห์ฟุตบอลประชาชนจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ,สังเกตการณ์และจัดทำรายงานการเลือกปฏิบัติในกีฬาฟุตบอล

Football People Action Weeks เป็นงานรณรงค์ที่ใหญ่ที่สุดในการเล่นฟุตบอล มีคนเข้าร่วมกว่าแสนคนในแคมเปญนี้

เป้าหมายหลักคือเพื่อลดการเลือกปฏิบัติและสนับสนุนความเท่าเทียมและทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกคนในสังคม โดยจะจัดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลกมากกว่า 50 องค์กร โดยเฉพาะในแถบทวีปยุโรป

แคมเปญนี้สนับสนุนเงินทุนก้อนเล็กๆให้กับกลุ่มองค์กร ทีมฟุตบอล ในระดับท้องถิ่นหรือรากหญ้า ให้สามารถทำแคมเปญได้ โดยจะเน้นที่กลุ่มผู้หญิง กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ผู้อพยพ ผู้พิการ ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ พยายามจะสร้างการรณรงค์เพื่อลดการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเหตุแห่งเพศ สีผิว เชื้อชาติศาสนา ผ่านกีฬาฟุตบอล ที่เป็นตัวเชื่อมที่มีประสิทธิภาพ

แคมเปญนี้พยายามทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติในทุกกรณี ผ่านการเล่นฟุตบอล ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหน มีความเกี่ยวข้องกับกีฬายังไง หรือมีเบื้องหลังความเป็นมายังไง  จุดประสงค์ของสัปดาห์ฟุตบอลประชาชนคือ สร้างการตระหนักรู้ต่อสาธารณะเรื่องการเลือกปฏิบัติในการเล่นฟุตบอล, สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการเล่นฟุตบอล, พัฒนาความคิดและการปฏิบัติในรูปแบบใหม่ที่ต่อต้านการกีดกันคนออกไป

หัวใจสำคัญของกิจกรรมนี้คือการรวมคนที่แตกต่างหลากหลายในแต่ละพื้นที่เข้ามาร่วมกันผ่านการเล่นกีฬา เริ่มต้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2001 มีทั้งหมด 9 ประเทศ จนตอนนี้กลายเป็นกิจกรรมเพื่อการยุติการเลือกปฏิบัติที่ใหญ่ที่สุดในวงการกีฬา

ปี 2015 มีคนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทั้งหมด 67 ประเทศกว่า 2,000กิจกรรม ทั้งในและนอกยุโรป ลีกฟุตบอลดังๆในต่างประเทศเช่น ยูฟาแชมเปี้ยนลีก  บอลยูโร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย

แม้ว่าผู้ร่วมก่อตั้ง Buku FC จะไม่สามารถไปเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการแข่งขันฟุตบอลที่รัสเซียตามคำเชิญได้ เนื่องจากติดภารกิจงานที่ประเทศไทย แต่ Fare Network ก็เป็นองค์กรแรกที่ให้ทุน Buku FC ในการจัดการแข่งขันสัปดาห์ฟุตบอลประชาชนในเดือนตุลาคม ปี 2016 และทำให้ Buku FC ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกีฬาฟุตบอลกับองค์กรระดับนานาชาติ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้ไปค้นหาข้อมูลว่าทั่วโลกนั้นเค้าทำงานด้วยกีฬาฟุตบอลกันอย่างไร

จากการค้นหาข้อมูลในระหว่างการทำทีม Buku FC เราพบว่านอกจากองค์กรที่ใช้ฟุตบอลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมความเท่าเทียมอย่าง Fare Network แล้ว ยังมีองค์กรอื่นๆอีกที่ทำงานโดยใช้กีฬาฟุตบอล เช่น UNHCR[2] ซึ่งสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงในค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียได้เล่นฟุตบอล โดยก่อตั้งทีมฟุตบอลสำหรับเด็กผู้หญิงในค่ายผู้ลี้ภัย Za’atari Refugee Camp[3] ในประเทศจอร์แดน เด็กผู้หญิงหลายคนไม่เคยเล่นฟุตบอลมาก่อน การเล่นฟุตบอลในค่ายผู้ลี้ภัยทำให้พวกเธอรู้สึกมีพลังและมีกำลังใจในการใช้ชีวิตอยู่ต่อไปท่ามกลางสงครามในประเทศบ้านเกิดและการรอคอยความหวังที่จะได้กลับบ้าน  หรือ UN Women[4] ที่สนับสนุนการจัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนหญิงในค่ายผู้ลี้ภัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนจอร์แดนในชุมชนท้องถิ่นกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ เพื่อปรับตัวเข้าหากันผ่านกีฬาฟุตบอล [5]

นอกจากฟุตบอลในค่ายผู้ลี้ภัย ยังมีฟุตบอลสำหรับผู้พิการ เช่น ที่ เมืองสคาร์โบโรห์ ในมณฑลนอร์ทยอร์กเชียร์ ของอังกฤษ มีการจัดตั้งทีมฟุตบอลซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเด็กสมองพิการชนิดหดเกร็ง หรือซีพี (Cerebral Palsy) โดยผู้เล่นมีอุปกรณ์ช่วยเป็นเครื่องช่วยพยุงเดินติดล้อที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว ในช่วงแรกเริ่ม เงินทุนที่ใช้ในการจัดตั้งทีมฟุตบอลนี้มาจากองค์กรการกุศลเพื่อการเคหะท้องถิ่น แต่ปัจจุบันได้รับเงินสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากสโมสรฟุตบอลประจำเมืองสคาร์โบโรห์ (ข้อมูลจากFacebook ของ BBC Thai) [6]  หรือฟุตบอลเพื่อขจัดการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการฟุตบอลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันซึ่งทำงานร่วมกับหลายทีมทั่วโลก เช่น ทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ในประเทศอังกฤษ โดยมีการจัดการแข่งขันนัดพิเศษเพื่อรณรงค์การยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน สมาชิกทีมสวมเสื้อยืดรณรงค์ที่มีข้อความว่า “Football V Homophobia Football for Everyone” [7] โดยการแข่งขันฟุตบอลเพื่อรณรงค์ยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน หรือคนข้ามเพศ จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากการณรงค์การยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในโครงการ Football V Homophobia แล้ว อีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือทีมฟุตบอลหญิงรักหญิงจากประเทศกัมพูชา ชื่อว่า Ironlegs  โดยเป็นการรวมตัวกันของผู้เล่นเยาวชนหญิงในจังหวัดกัมปงชนัง ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่มีเพศวิถี หรือ อัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม การรวมตัวเล่นฟุตบอลของพวกเธอ ก็เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มเยาวชนหญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งภายในให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีพลัง ปัจจุบันทีม Ironlegs กำลังระดมทุนทำสารคดีเกี่ยวกับทีมฟุตบอล สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ [8]

ข้อมูลทั้งหมดที่ผู้เขียนนำมากล่าวถึง สามารถค้นหาได้ในหน้าเว็บไซต์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการใช้ฟุตบอลเพื่อสร้างความเท่าเทียมและเปลี่ยนแปลงสังคมอีกจำนวนมากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลหญิงในแอฟริกา Changing Game for Girls in South Africa [9] โดย UN Women หรือโครงการของ FIFA ที่ชื่อว่า Football for Hope [10] และองค์กร Discoverfootball[11] ในเยอรมัน ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงต่อไปในบทความตอนที่ 3 ว่าด้วยการประสบการณ์การทำทีมฟุตบอล Buku FC ความสำเร็จและการถอดบทเรียนจากการทำงาน

 

 

 

 

 



[1] รู้จักองค์กร Fanre Network โปรดดู  http://www.farenet.org/about-fare/

 

[2] UNHCR คืออะไร โปรดดู  http://www.unhcr.org/

 

[3] คลิปวีดีโอการเล่นฟุตบอลของเด็กในค่ายผู้ลี้ภัย โปรดดู https://www.youtube.com/watch?v=V8ZY60wIDz4&t=20s

 

[4]  UN Women คืออะไร โปรดดู http://www.unwomen.org/en

 

[5] การแข่งขันฟุตบอลของผู้ลี้ภัยซีเรียและชาวจอร์แดน โปรดดู  https://www.youtube.com/watch?v=M1AOd2SHicU

 

[6]  ทีมฟุตบอลสำหรับเด็กผู้พิการ โปรดดู  https://www.facebook.com/BBCThai/videos/1829865880567777/

 

[7] โครงการฟุตบอลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน โปรดดู  http://www.footballvhomophobia.com/

 

[8]  ข่าวการระดมทุนทำสารคดีของทีม Ironlegs โปรดดู http://buzz.viddsee.com/young-cambodian-lesbians-coming-football-team-documentary/

 

[9] ฟุตบอลเพื่อเด็กผู้หญิงในแอฟริกาใต้ โปรดดู https://www.youtube.com/watch?v=X-Q0klVhSt4

 

[10] โครงการฟุตบอลเพื่อความหวัง โปรดดู https://www.fifa.com/sustainability/football-for-hope.html

 

[11] องค์กร Discover Football ในเยอรมัน โปรดดู http://www.discoverfootball.de/home/

 

 

บล็อกของ (Buku Classroom)

(Buku Classroom)
ไม่ได้มาเขียนบล็อกที่นี่เกี่ยวกับการเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียน่าจะเกินหนึ่งปี เนื่องจากผู้เขียนใกล้จะเรียนจบแล้วเลยอยากเล่าประสบการณ์การเรียนที่ผ่านมา เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจมาเรียนต่อด้านเพศสถานะศึกษาที่นี่ 
(Buku Classroom)
โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (Buku Classroom) นศ.ปริญญาโท สาขาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่ อินเดีย  
(Buku Classroom)
 บทรีวิวภาพยนตร์สั้นโครงการทักษะวัฒนธรรมโดย ดาราณี ทองศิริ ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู Buku Classroom*มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อหาในภาพยนตร์ 
(Buku Classroom)
ดาราณี ทองศิริห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคูข้อพิพาทกรณีการแจกถุงยางอนามัยในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี
(Buku Classroom)
ฟุตบอล เพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม(2)การทำงานเพื่อมนุษยธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมด้วยฟุตบอลโดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom) 
(Buku Classroom)
จดหมายถึง ไผ่ ดาวดิน  
(Buku Classroom)
ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม (1)จุดเริ่มต้นของ Buku Football Club โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู  (ฺBuku Classroom) 
(Buku Classroom)
"ห้องเรียนเพศวิถี" สอนอะไร?โดย อันธิฌา แสงชัย อาจาร