เรียน Gender ที่อินเดีย ตอนที่ 1

โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (Buku Classroom) 
นศ.ปริญญาโท สาขาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่ อินเดีย

 

หลังจากรอคอยมาประมาณสี่เดือน ในที่สุดทางสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยก็ส่งข่าวมาว่า มหาวิทยาลัยที่อินเดียตอบรับผู้เขียนเข้าเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขา Gender, Culture and Development Studies ณ มหาวิทยาลัยปูเน่ หรือชื่อเต็มๆว่า Savitribai Phule Pune University แล้ว และกำหนดการรายงานตัวกับทางมหาวิทยาลัยคือภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แปลว่าผู้เขียนมีเวลาเตรียมตัวเดินทางไม่เกินสองอาทิตย์ เพราะได้รับจดหมายตอบรับวันที่ 14 มิถุนายน ดังนั้นกระบวนการทำวีซ่า จัดกระเป๋า ซื้อตั๋ว ต้องเสร็จก่อนสิ้นเดือน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของทุนนี้ เพื่อนที่เคยได้ทุนบางคนบอกว่าบางครั้งนักเรียนทุนก็มีเวลาเตรียมตัวแค่ 3-4 วันเท่านั้น กรณีของผู้เขียนถือว่าโชคดีที่พอมีเวลาบ้าง อย่างน้อยก็ได้จัดกระเป๋าเป็นอย่างดี ไม่ถึงกับยัดของลงกระเป๋าโดยไม่ได้คิดอะไร

 

ก่อนจะเล่าถึงเรื่องเรียน Gender ที่อินเดีย ผู้เขียนอยากรีวิวทุน ICCR ซึ่งเป็นทุนที่ทำให้มีโอกาสได้ไปเรียนในครั้งนี้ หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างแล้ว เพราะช่วงปีที่ผ่านมา มีหนังสือที่เขียนโดยอดีตนักเรียนทุน ICCR ออกมาหนึ่งเล่ม ชื่อ ลูกสาวคนเดียวก็เรียนจบอินเดียได้ โดยคุณมะปราง หนังสือเล่มนี้ติดอันดับขายดีเสียด้วย ผู้เขียนอยากโปรโมทให้ เพราะข้อมูลหลายๆเรื่องเกี่ยวกับทุนนี้ก็มาจากเพจของคุณมะปราง โดยเฉพาะกำหนดการเปิดรับสมัครทุน ซึ่งมีการอัปเดทในเพจอยู่ตลอด รวมไปถึงรายละเอียดข้อมูลเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับทุนนี้ที่น่าสนใจ ตอนที่รู้ข่าวว่าสถานทูตอินเดียเปิดรับสมัครทุนแล้ว ผู้เขียนมีเวลาเตรียมตัวสองอาทิตย์ในการเดินเรื่องเอกสาร

 

การเปิดรับสมัครจะเริ่มช่วงปลายปีหรือต้นปี แล้วแต่ว่าจะเป็นเดือนไหน แต่ปี 2017-2018 ประกาศช่วงมกรา และหมดเขตส่งใบสมัครวันที่ 13 มกราคม สอบข้อเขียนภาษาอังกฤษวันที่ 23 มกราคม และสอบสัมภาษณ์วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ส่วนการตอบรับของมหาวิทยาลัย จะเริ่มตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมไปจนถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องรอคอยกันอย่างมีความหวัง

 

ทุน ICCR คือทุนของรัฐบาลอินเดีย ชื่อเต็มๆคือ Indian Council for Cultural Relation หรือชื่อภาษาไทยว่า สภาวัฒนธรรมแห่งรัฐบาลอินเดีย ทุนนี้เปิดรับสมัครทุกปี ทุกระดับทั้งป.ตรี โท และเอก สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.iccr.gov.in/

หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ของสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย http://www.indianembassy.in.th/

 

ข้อดีของทุนนี้คือ ไม่ต้องใช้คะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษเช่น IELTS หรือ TOEFL แต่ทางสถานทูตจะจัดสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษเอง ถ้าผ่านข้อเขียนถึงจะได้ไปรอบสัมภาษณ์ แต่การได้ทุนจากสถานทูต ไม่ได้หมายถึงได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยแล้ว การตอบรับจะเป็นอำนาจในการตัดสินใจของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจมีบางแห่งไม่ตอบรับก็เป็นไปได้

 

ทางสถานทูตจะให้ผู้สมัครเลือกมหาวิทยาลัยและสาขาที่ต้องการเรียนทั้งหมด 3 แห่ง และ 3 สาขา เมื่อผ่านการสัมภาษณ์ ทางสถานทูตจะส่งใบสมัครของเราไปให้มหาวิทยาลัยที่เราเลือกไว้ และทางมหาวิทยาลัยจะมีจดหมายตอบรับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับเลือกไปรายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนด

 

เนื่องจากทุนนี้เป็นทุนเพื่อให้นักเรียนไทยไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย ความป๊อบปูล่าของทุนจึงไม่เท่ากับทุนจากประเทศอื่นๆอย่างโซนยุโรป หรืออเมริกา ดังนั้นการแข่งขันก็อาจจะน้อยกว่า คนที่จะสมัครทุนนี้ต้องแน่ใจว่าจะอยู่อาศัยในประเทศอินเดียได้อย่างไม่เป็นทุกข์มากนัก เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศอินเดียมีเสียงร่ำลือหลายด้าน ทั้งเรื่องความสะอาด  ความไม่มีระเบียบ อาชญกรรมต่างๆ อาหารหรือกระทั่งการเดินทาง ดังนั้นตัวเลือกของการไปเรียนที่อินเดียอาจอยู่ในลำดับท้ายๆของใครหลายคน แต่สำหรับผู้เขียน อินเดียคือตัวเลือกอันดับหนึ่ง นับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจจะเรียนต่อ ซึ่งจะได้เล่าเหตุผลต่อไปว่าทำไมต้องเป็นอินเดีย

 

เนื่องจากผู้แข่งขันน้อย โอกาสจะได้ทุนนี้ก็มีพอสมควร สำหรับปีที่ผู้เขียนสมัคร มีคนมาสอบข้อเขียนทั้งหมดประมาณร้อยสี่สิบกว่าคน คัดเหลือเข้าสัมภาษณ์ประมาณ 25 คน แต่ตัวเลขในการได้รับจดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัยผู้เขียนยังไม่ทราบแน่ชัด ทุนนี้เท่าที่คุยกับคนที่เคยได้ จะมีลักษณะพิเศษตรงที่ กรรมการจะดูจากความต้องการของเราว่า ทำไมเราถึงอยากไปเรียนที่อินเดีย ดังนั้นข้อสอบในหน้าสุดท้ายจึงสำคัญมากๆ กับคำถามที่ว่า ขอให้อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงอยากไปเรียนที่อินเดีย ซึ่งข้อนี้จะแสดงให้กรรมการเห็นว่า เราสมควรได้รับทุนนี้ไหม เนื่องจาก ทุนนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมไปถึงส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินเดีย ผู้เขียนเดาเอาเองว่า สิ่งที่เขียนไปหนึ่งหน้าเอสี่ในวันสอบ น่าจะมีพลังพอให้ได้รับเลือกทุนนี้ เพราะผู้เขียนจำได้ว่า ตอนทำข้อสอบภาษาอังกฤษในส่วนของแกรมม่าและคำศัพท์ ผู้เขียนไม่ได้ตอบถูกทั้งหมด เนื่องจากทักษะทางภาษาอังกฤษนั้นอยู่ในระดับที่แค่พอสื่อสารและอ่านออกเขียนได้เท่านั้น ไม่ถึงขั้นใช้ได้ในระดับวิชาการ ดังนั้นในส่วนของเรียงความจึงสำคัญมากๆ แต่อย่างไรก็ดี ในวันสอบสัมภาษณ์ก็ต้องพูดรู้เรื่อง โต้ตอบได้ถูกต้อง มิเช่นนั้นก็อาจจะไม่ผ่านรอบสัมภาษณ์

 

ทุน ICCR มีหลายประเภท บางประเภทจะไม่มีค่าตั๋วเครื่องบินให้ แต่บางประเภทก็มีให้ ในส่วนของประเภทที่ผู้เขียนเลือก ชื่อทุนว่า General Scholarship Scheme ซึ่งหมายถึงทุนทั่วไป ดังนั้นจะไม่มีตั๋วเครื่องบินให้ ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่หากต้องการทุนที่ครอบคลุมค่าตั๋วเครื่องบิน ต้องเลือกทุนที่ชื่อว่า Mekong Gangka Scholarship Scheme ซึ่งโอกาสได้อาจมีน้อยกว่า เพราะจำนวนทุนมีแค่ 5 ทุน ส่วน GSS มีทั้งหมด 10 ทุน ในส่วนนี้ก็ต้องแล้วแต่การตัดสินใจของผู้สมัครเองว่จะเลือกทุนประเภทไหน

 

ทุน ICCR นี้ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ เป็นทุนให้เปล่า ค่าใช้จ่ายหลักๆเช่น ค่าเทอม ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าทำธีสิท ค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ทาง ICCR เป็นคนจ่ายให้ทั้งหมด แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็น่าจะพอใช้ได้จนจบการศึกษา

 

สำหรับคนที่มองหาทุนที่ไม่ใช่ฝั่งยุโรปหรือเมริกา ทุน ICCR ของรัฐบาลอินเดียเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่อาจะลองพิจารณาดูได้ หากใครคิดว่าการศึกษาที่อินเดียน่าสนใจ และต้องการไปศึกษาที่นั่นโดยเฉพาะ ขั้นตอนการสมัครไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป แต่อาจต้องใจเย็นเวลารอเอกสารหรือข่าวคราวต่างๆจากทางสถานทูต ถ้าคิดว่ารับกับระบบของอินเดียได้ แนะนำให้ลองสมัครดูค่ะ

 

ตอนต่อไปจะเขียนถึงประสบการณ์การเข้าสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่สถานทูต และเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกเรียนด้าน Gender ที่อินเดีย จะพยายามหาเวลามาเขียนบ่อยๆ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน Buku Classroom คิดว่าน่าจะเก็บเรื่องราวที่เป็นประโยชน์มาเล่าสู่กันฟัง ระหว่างที่ไม่สามารถทำงานในไทยได้ ส่วนกิจกรรมต่างๆในประเทศไทย ก็ยังมีสมาชิกของเราทำงานต่อนะคะ สามารถติดตามกันได้เรื่อยๆผ่านทางบล็อกนี้หรือทางเพจเฟซบุค Buku Classroom https://www.facebook.com/bukuclassroom/

 

 

เรียน Gender ที่อินเดีย ตอนที่ 3

ไม่ได้มาเขียนบล็อกที่นี่เกี่ยวกับการเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียน่าจะเกินหนึ่งปี เนื่องจากผู้เขียนใกล้จะเรียนจบแล้ว

เลยอยากเล่าประสบการณ์การเรียนที่ผ่านมา เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจมาเรียนต่อด้านเพศสถานะศึกษาที่นี่

 

เรียน Gender ที่อินเดีย ตอนที่ 1

โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (Buku Classroom) 
นศ.ปริญญาโท สาขาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่ อินเดีย

 

ขัดกันฉันมิตร : คล้ายกันแต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ต่างกันแต่ไม่จำเป็นต้องเกลียดกัน

 

บทรีวิวภาพยนตร์สั้นโครงการทักษะวัฒนธรรม

โดย ดาราณี ทองศิริ ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู Buku Classroom

*มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อหาในภาพยนตร์

 

จากยะลาวาเลนไทน์สู่บายเฟรชชี่ที่ปัตตานี เราเรียนรู้อะไรจากกิจกรรมแจกถุงยาง?

ดาราณี ทองศิริ

ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู

ข้อพิพาทกรณีการแจกถุงยางอนามัยในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี