Skip to main content

ไม่ได้มาเขียนบล็อกที่นี่เกี่ยวกับการเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียน่าจะเกินหนึ่งปี เนื่องจากผู้เขียนใกล้จะเรียนจบแล้ว

เลยอยากเล่าประสบการณ์การเรียนที่ผ่านมา เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจมาเรียนต่อด้านเพศสถานะศึกษาที่นี่

 

หนึ่งปีครึ่งหรือสามเทอมที่ผ่านมา เราเรียนอะไรไปบ้าง หลักๆเลยคือการเรียนเกี่ยวกับเรื่องความเป็นเพศ แต่ไม่ใช่เรื่องเพศแบบเดี่ยวๆ

เพราะชื่อสาขาวิชานี้คือ Gender, Culture and development studies แปลว่าเราต้องเรียนเรื่องความเป็นเพศ เรื่องวัฒนธรรมและการพัฒนา

โดยการเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและการพัฒนาจะเน้นไปที่การวิเคราะห์ผ่าน Gender Lens หรือมุมมองเรื่องเพศที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและการพัฒนาเป็นหลัก ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ ก็อาจจะวิเคราะห์การพัฒนาผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ หรือคนที่เรียนมานุษยวิทยา อาจจะวิเคราะห์เรื่องการพัฒนาผ่านมุมมองทางมานุษยวิทยา แต่เราวิเคราะห์การพัฒนาผ่านมุมมองทางเพศ เช่น ในประเทศกำลังพัฒนา การควบคุมปริมาณของประชากรในประเทศที่ออกมาเป็นนโยบายลูกคนเดียวของจีน หรือ จำนวนบุตรในอินเดีย ส่งผลอย่างไรต่อ ผู้หญิง เช่น ในอินเดีย เด็กผู้หญิงจะมีอัตราการเกิดต่ำ เพราะครอบครัวเลือกที่จะทำแท้งตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ หรือ การคุมกำเนิด ภาระจะตกอยู่ที่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายไม่จำเป็นต้องทำหมันหรือใช้ถุงยาง

การที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ต้องเป็นคนคุมกำเนิด ส่งผลกระทบ เช่น การใช้ยาคุม เกิดผลข้างเคียงจากยา หรือการทำแท้ง ส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิงอย่างไร

การวิเคราะห์เรื่องวัฒนธรรมผ่านมุมองทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์บอลลีวู้ดนำเสนอภาพของครอบครัวรักต่างเพศอย่างไร หรือนำเสนอภาพผู้หญิงที่ดีและผู้หญิงที่ถูกมองว่าไม่ดีอย่างไร รวมไปถึงการวิเคราะห์วัฒนธรรมอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมอาหาร ทำไมวัวถึงถูกห้ามไม่ให้มีการซื้อขายและบริโภค คนที่กินอาหารมังสวิรัตกับคนที่กินเนื้อสัตว์ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น

เนื้อหาที่เรียน มีทั้งในและนอกประเทศ  อย่างเทอมแรกๆ เราเรียนเรื่องเพศกับการพัฒนา โดยรวมๆก็จะมีทั้งหัวข้อการพัฒนาในอินเดีย เช่น การควบคุมประชากร นโยบายต่างๆของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง สิ่งแวดล้อมกับภาระของผู้หญิง นโยบายเศรษฐกิจในครัวเรือนที่ส่งผลต่อผู้หญิงและเด็ก

วิชาที่จะเน้นทางอินเดียเยอะหน่อยในเทอมแรก คือวิชา เพศกับประวัติศาสตร์ วิชานี้เน้นเรื่องการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเรื่องเล่า นวนิยาย แบบเรียน ตำรา ภาพยนตร์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อการประกอบสร้างเรื่องเพศในอินเดีย

ส่วนอีกวิชาในเทอมแรกที่สำคัญมากๆกับพื้นฐานเรื่องเพศ คือการศึกษาแนวคิดเฟมินิสต์ในช่วงเวลาต่างๆ ทั้งในอินเดียและต่างประเทศ อย่างพวก เฟมินิสต์คลื่นลูกที่หนึ่งสองสามนี่คือต้องเรียนหมด รวมไปถึงแบล็คเฟมินิสต์และลาตินเฟมินิสต์ด้วย

เทอมที่สอง เราขยับมาเรียนเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะมากขึ้น เช่น วิชาที่ว่าด้วยการวิเคราะห์วัฒนธรรมด้วยมุมมองทางเพศ โดยจะเน้นเป็น pop culture พวกวัฒนธรรมการดื่มชากาแฟ ภาพยนตร์ เพลง หนังสือโป๊ หนังสือพิมพ์ วิถีชีวิตประจำวันตั้งแต่ การใช้สบู่ การพักผ่อนหย่อนใจในบ้าน 

อีกวิชาก็เน้นเรื่อง การพัฒนาโดยเฉพาะเลย และเน้นไปที่นโยบายรัฐในอินเดียเป็นหลัก และวิชาที่สำคัญมากๆ ก็คือวิชาที่ว่าด้วยแนวคิดเฟมินิสต์จากทั่วทุกมุมโลก ทั้งในอินเดีย ในยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา เอเชียใต้ วิชานี้เราจะได้เห็นว่าแต่ละประเทศมีแนวคิดเฟมินิสต์แบบไหน ใครเน้นเรื่องความรุนแรง เรื่องสิทธิทางเพศ เรื่องความเป็นแม่เป็นเมีย เรื่องการแต่งงาน การศึกษา ทำให้เห็นภาพกว้างของการต่อสู้ทางความคิดเรื่องเพศ

ส่วนอีกวิชาที่เราชอบ คือวิชาที่ว่าด้วย ที่ดิน ความเป็นอยู่ และทรัพยากร วิชานี้คือศึกษาเรื่องการถูกแย่งยึดที่ดินในอินเดีย การไม่มีที่ดินทำกิน การสร้างเขื่อน ส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนที่อยู่ในวรรณะล่างหรือชนเผ่าพืันเมือง และส่งผลอย่างไรต่อผู้หญิงอีกที

มาถึงเทอมล่าสุด มีวิชาว่าด้วยเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในอินเดีย วิชานี้คือศึกษาการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงในอินเดีย

ทั้งขบวนการเคลื่อนไหวเอกราชของคานธี ที่มีผู้หญิงเข้าร่วม ขบวนการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงการจัดตั้งองค์กร การวิพากษ์ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงในอินเดียยุคปัจุบัน 

อีกวิชาที่สำคัญมากๆกับการทำวิทยานิพนธ์ คือวิชาระเบียบวิธีวิจัยแบบเฟมินิสต์ คือเป็นวิชาที่ว่าด้วยวิธีการวิจัยในรูปแบบต่างๆ แต่ใช้มุมมองแบบเฟมินิสต์ในการทำวิจัย เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิด การออกแบบวิธีการ ไปจนถึงการตั้งคำถามและข้อสรุปซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานวิธีคิดแบบเฟมินิสต์ วิชานี้ออกจะยากสำหรับคนไม่คุ้นกับวิชา epistemology หรือ ญาณวิทยา เพราะหลายๆคำอธิบายมันดูเป็นนามธรรมมาก แต่ถ้าเข้าใจคอนเซปต์พื้นฐาน จะไปไว้ขึ้น 

วิชาที่สามของเทอมคือ ทฤษฎีเรื่องเพศในอินเดีย วิชานี้คือเรียนเกี่ยวกับวิธีคิดเรื่องเพศในอินเดียโดยเฉพาะ เช่น นักคิดชาวอินเดียมองเรื่องเฟมินิสต์ในประเทศตะวันตกยังไง มีการอธิบายเรื่องเพศในอินเดียต่างไปจากเฟมินิสต์ทางตะวันตก มีความพยายามจะสร้างคำอธิบายที่เป็นของตัวเองโดยเฉพาะ ไม่อิงกับวิธีคิดแบบเฟมินิสต์ในโลกตะวันตก เป็นต้น

ส่วนวิชาสุดท้ายของเทอมนี้ที่เป็นวิชาเลือก คือวิชาว่าด้วยการถูกกีดกันทางสังคม ภาษาไทยใช้คำว่าอะไรไม่แน่ใจ ภาษาอังกฤษคือ social exclusion

วิชานี้เรียนเรื่องกลุ่มคนต่างๆที่ถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่างๆทางสังคม เช่น กลุ่มคนวรรณะล่าง คนพิการ คนรักเพศเดียวกัน ชนเผ่า ผู้หญิง วิชานี้เน้นว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม และรัฐมีนโยบายอย่างไรบ้างในการแก้ปัญหาเรื่องนี้

โดยสรุปรวมๆ ผ่านมาสามเทอม เราเรียนรู้เยอะมากจากที่เคยรู้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องในอินเดีย เช่นเรื่อง วรรณะ ที่คนไทยมักรู้แบบผิวเผิน จากการเรียนการสอนในไทย ที่สอนแค่ว่ามีสี่วรรณะ แล้วจบเลย ไม่ได้อธิบายต่อว่ามันส่งผลยังไงอะไร วรรณะจัณฑาลไม่ใช่แค่นั้น แต่มีมากกว่านั้น Dalit คืออะไร เราไม่เคยได้ยินจนกระทั่งมาเรียนที่อินเดีย เรื่องวัฒนธรรมความเชื่อต่างๆที่ส่งผลสาหัสกับผู้หญิงอินเดีย เช่น การบังคับแต่งงาน การฆ่าตัวตายของแม่ม่าย การฆ่าเพื่อปกป้องเกียรติของครอบครัว เพราะการแต่งงานข้ามวรรณะหรือศาสนา เรื่องเลือดประจำเดือนที่ทำให้ผู้หญิงต้องตายอย่างโดดเดี่ยวในกระท่อม หรือ การที่ผู้หญิงดาลิทถูกข่มขืนแล้วฆ่าจากผู้ชายวรรณะพราห์มณ์ แล้วไม่มีใครเอาผิดได้ เป็นต้น

เรารู้สึกว่าคิดถูกที่มาเรียนที่นี่ เพราะเรื่องเพศที่นี่หนักจริง ความเชื่อจากการตีความทางศาสนาและเรื่องวรรณะมันยังส่งผลกระทบกับผู้หญิงหนักมาก จากที่รู้สึกว่าการทำงานในสามจังหวัดนั้นยากแล้ว ทำงานในอินเดียยากกว่าไม่รู้กี่เท่า และอันตรายถึงชีวิตแบบโดนฆ่าทิ้งได้ง่ายๆ แต่ถึงจะทำงานยาก การได้ใช้ชีวิตที่นี่ ก็ทำให้เห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องผู้หญิง เรื่องเพศที่นี่ก็ก้าวหน้ามากๆ และมีความพยายามทำงานในทุกๆด้าน

อย่างล่าสุดที่การต่อสู้เพื่อให้ยกเลิกกฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกระบุว่าผิดธรรมชาติ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่แค่ถูกใช้กับคนรักเพศเดียวกัน แต่คำอธิบายรวมถึงคนรักต่างเพศที่มีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือการใช้ปาก เป็นต้น แต่หลักๆกฎหมายนี้ถูกใช้เพื่อข่มขู่และเอาผิดคนรักเพศเดียวกัน แล้วในที่สุดศาลสูงที่อินเดียก็ตัดสินให้มีการยกเลิกกฎหมายนี้ หลังจากใช้มานานตั้งแต่อังกฤษเข้ามาปกครอง โดยที่กลุ่มศาสนาอย่าง อิสลามและคริสต์ก็ประท้วงคำตัดสิน แต่ก็ไม่มีผลอะไร เพราะศาลสูงของอินเดียตัดสินมาแล้ว หลังจากสู้กันมาหลายรอบ

นอกจากเรียนในชั้นเรียนแล้ว เราก็มีโอกาสเข้าร่วมกับการประท้วงในหลายๆครั้ง เช่น คดีการข่มขืนเด็กอายุแปดขวบ หรือการจับกุมนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน การประชุมครั้งใหญ่ของกลุ่มผู้หญิงดาลิททั่วอินเดีย และเทอมที่แล้วไปฝึกงานกับองค์กรที่ทำเรื่องผู้ให้บริการทางเพศและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเมืองบังกาลอร์ 

เทอมที่จะถึงนี้จะเป็นเทอมสุดท้าย หลังจากเรานำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ผ่านไปแล้วในเทอมนี้ เทอมหน้าเราต้องลงมือเขียนและมีเวลาสามเดือน นอกจากนี้จะมีงานวิจัยที่จะออกเป็นหนังสือร่วมกับเพื่อนในชั้นหนึ่งเล่ม รวมถึงการจัดงานนำเสนองานวิจัยระดับนักศึกษาในปีนี้ด้วย ถือว่าเป็นเทอมส่งท้ายที่ค่อนข้างหนัก แต่ก็ต้องผ่านไปให้ได้

ส่งท้ายข้อเขียนนี้ สำหรับใครที่สนใจมาเรียนต่อที่อินเดีย ทุนรัฐบาลอินเดียกำลังจะเปิดรับสมัครปีการศึกษานี้ ติดตามข่าวทางเว็บไซต์ของ ICCR เอาไว้ดีๆ เข้าใจว่าตั้งแต่ปีก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการรับสมัคร โดยต้องสมัครออนไลน์ และเงินเดือนนักศึกษาก็ขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากหกพันรูปี เป็นสองหมื่นรูปี ทำให้ชีวิตนักศึกษาที่นี่ไม่เลวร้ายเกินไปนัก ส่วนใครสนใจเรียนต่อด้านเจนเดอร์แบบที่เราเรียน สอบถามได้ในคอมเม้นท์

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ

 

 

 

 

บล็อกของ (Buku Classroom)

(Buku Classroom)
ไม่ได้มาเขียนบล็อกที่นี่เกี่ยวกับการเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียน่าจะเกินหนึ่งปี เนื่องจากผู้เขียนใกล้จะเรียนจบแล้วเลยอยากเล่าประสบการณ์การเรียนที่ผ่านมา เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจมาเรียนต่อด้านเพศสถานะศึกษาที่นี่ 
(Buku Classroom)
โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (Buku Classroom) นศ.ปริญญาโท สาขาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่ อินเดีย  
(Buku Classroom)
 บทรีวิวภาพยนตร์สั้นโครงการทักษะวัฒนธรรมโดย ดาราณี ทองศิริ ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู Buku Classroom*มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อหาในภาพยนตร์ 
(Buku Classroom)
ดาราณี ทองศิริห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคูข้อพิพาทกรณีการแจกถุงยางอนามัยในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี
(Buku Classroom)
ฟุตบอล เพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม(2)การทำงานเพื่อมนุษยธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมด้วยฟุตบอลโดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom) 
(Buku Classroom)
จดหมายถึง ไผ่ ดาวดิน  
(Buku Classroom)
ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม (1)จุดเริ่มต้นของ Buku Football Club โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู  (ฺBuku Classroom) 
(Buku Classroom)
"ห้องเรียนเพศวิถี" สอนอะไร?โดย อันธิฌา แสงชัย อาจาร